อารยตริรัตนานุสมฤติสูตร บทอิติปิโสฝ่ายมหายาน

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

อารฺยตฺริรตฺนานุสฺมฤติสูตฺรมฺ
พระสูตรว่าด้วยการระลึกถึงพระรัตนตรัยอันประเสริฐ

อารยตริรัตนานุสมฤติสูตร แปลเป็นภาษาไทย พร้อมเสียงอ่านภาษาสันสกฤต

 

บทระลึกถึงพระรัตนตรัยหรือคนไทยเรียกบทอิติปิโสนั้น ปรากฎมีอยู่โดยทั่วๆไปปนในพระสูตรอื่นๆ ทั้งฝ่ายบาลีและสันสกฤต ทั้งสาวกยานและมหายาน เนื้อหาก็ใกล้เคียงกัน แต่บางพระสูตรอาจจะขยายความมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นพระสูตรเอกเทศแต่อย่างใด

ในฝ่ายมหายานนั้นมี พระสูตรที่ว่าด้วยการระลึกถึงพระรัตนตรัย เป็นเอกเทศอยู่พระสูตรหนึ่งชื่อ อารยตริรัตนานุสมฤติสูตร มีเนื้อหาใกล้เคียงกับบทอิติปิโสของฝ่ายบาลี แต่ในส่วนระลึกถึงพระพุทธคุณ มีส่วนขยายมีเนื้อหาคล้ายใน สมาธิราชสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรมหายานในยุคแรก ๆ ซึ่งส่วนท้ายของพระพุทธคุณ จะปรากฏมติที่เป็นหลักข้อเชื่อใหญ่ของมหายานโดยเฉพาะ ที่เกียวกับคุณลักษณะและการดำรงอยู่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และลักษณะแห่งพระนิพพานในแบบมหายาน

อารยตริรัตนานุสมฤติสูตร นี้เป็นฉบับที่ธิเบตเก็บรักษาไว้ ชื่อในภาษาธิเบต ชื่อ ’phags pa dkon mchog gsum rjes su dran pa’i mdo และยังมีเนื้อหาภาษาสันสกฤตปรากฏในรายการดัชนีศัพท์ของคัมภีร์อภิธานศัพท์ ชื่อคัมภีร์มหาวยุตปัตติ เป็นอภิธานศัพท์สันสกฤต-ธิเบต-จีน อีกด้วย ปัจจุปันมีการแปลออกเป็นหลายฉบับหลายภาษา มีอรรถาธิบายไว้หลายฉบับเช่นกัน ในชื่อภาษาอังกฤษว่า The sutra of the recollection of the noble three jewels

อารยตริรัตนานุสมฤติสูตร
ต้นฉบับเทวนาครีจาก dsbcproject
ปริวรรตโดย thai-sanscript
เสียงสาธยาย  Vidya Rao
แปลโดย ธนกฤต พรหมศิริ


[กดปุ่มเล่นเพื่อฟังเสียงสาธยาย หากไม่มีเสียงรีเฟรชหน้านี้อีกครั้ง]


आर्यत्रिरत्नानुस्मृतिसूत्रम्
อารฺยตฺริรตฺนานุสฺมฤติสูตฺรมฺ
พระสูตรว่าด้วยการระลึกถึงพระรัตนตรัยอันประเสริฐ

 नमः सर्वबुद्धबोधिसत्त्वेभ्यः
นมะ สรฺวพุทฺธโพธิสตฺตฺเวภฺยะ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่ปวงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

बुद्धानुस्मृतिः
พุทฺธานุสฺมฤติะ
ระลึกถึงพระพุทธคุณ

इत्यपि बुद्धो भगवांस्तथागतोऽर्हन्
อิตฺยปิ พุทฺโธ ภควําสฺตถาคโต ‘รฺหนฺ
เหตุว่า พระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้มีพระภาค พระตถาคตเจ้า[ผู้เสด็จมาอย่างนั้น] และพระอรหันต์

सम्यक्संबुद्धो
สมฺยกฺสํพุทฺโธ
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[ผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง]

 विद्याचरणसम्पन्नः
วิทฺยาจรณสมฺปนฺนะ
ผู้ถึงพร้อมด้วยวิทยาและจรณะ

सुगतो
สุคโต
เป็นพระสุคตเจ้า[ผู้ไปแล้วด้วยดี]

लोकविदनुत्तरः पुरुषदम्यसारथिः
โลกวิทนุตฺตระ ปุรุษทมฺยสารถิะ
เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นสารถีฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก
ยอดเยี่ยมอย่างไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน

शास्ता देवमनुष्याणां
ศาสฺตา เทวมนุษฺยาณํา
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

बुद्धो भगवानिति।
พุทฺโธ ภควานิติ ฯ
ทรงเป็นพุทธะ ทรงเป็นผู้มีพระภาค เพราะเหตุดังนี้

निष्यन्दः स तथागतः पुण्यानाम्
นิษฺยนฺทะ ส ตถาคตะ ปุณฺยานามฺ
พระตถาคตเจ้านั้นเป็นผลิตผลแห่งบุญทั้งหลาย
[ทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบุญ]

अविप्रणाशः कुशलमूलानाम्
อวิปฺรณาศะ กุศลมูลานามฺ,
เหตุว่าพระองค์ทรงไม่กําจัดกุศลมูลทั้งหลายทิ้งเสีย

अलङ्कृतः क्षान्त्या
อลงฺกฤตะ กฺษานฺตฺยา,
ทรงตกแต่งไว้ดีด้วยธรรมแห่งกษานติ[ขันติธรรม]

आलयः पुण्यनिधानानाम्
อาลยะ ปุณฺยนิธานานามฺ,
ทรงเป็นฐานแห่งขุมทรัพย์คือบุญทั้งหลาย

चित्रितोऽनुव्यञ्जनैः कुसुमितो लक्षणैः
จิตฺริโต’นุวฺยญฺชไนะ กุสุมิโต ลกฺษไณะ,
ประดับประดาไว้ด้วยอนุพยัญชนะ [ลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ]
และงดงามด้วยดอกไม้ผลิบานแห่งพุทธลักษณะ [ลักษณะของมหาบุรุษ]

प्रतिरूपो गोचरेण
ปฺรติรูโป โคจเรณ,
ทรงมีวีถีทางที่เหมาะสม

अप्रतिकूलो दर्शनेन
อปฺรติกูโล ทรฺศเนน,
การปรากฎพระองค์ไม่เป็นที่น่ารังเกียจของผู้ใด

अभिरतिः श्रद्धाधिमुक्तानाम्
อภิรติะ ศฺรทฺธาธิมุกฺตานามฺ,
แต่เป็นความยินดีของผู้น้อมใจไปด้วยศรัทธาทั้งหลาย

अनभिभूतः प्रज्ञया
อนภิภูตะ ปฺรชฺญยา,
ทรงไม่ถูกปรัชญาครอบงํา
[ทรงมีปัญญาเลิศไม่มีผู้ใดจะครอบงำพระองค์ได้ด้วยปัญญาอื่นๆ]

अनवमर्दनीयो बलैः
อนวมรฺทนีโย พไละ,
ไม่อาจทำลายพระองค์ได้ด้วยพลังทั้งหลาย

शास्ता सर्वसत्त्वानाम्
ศาสฺตา สรฺวสตฺตฺวานามฺ
ทรงเป็นครูของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

पिता बोधिसत्त्वानाम्
ปิตา โพธิสตฺตฺวานามฺ
เป็นบิดาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

राजा आर्यपुद्गलानाम्
ราชา อารฺยปุทฺคลานามฺ
เป็นพระราชาของพระอริยบุคคลทั้งหลาย

सार्थवाहः निर्वाणनगरसम्प्रस्थितानाम्
สารฺถวาหะ นิรฺวาณนครสมฺปฺรสฺถิตานามฺ
เป็นผู้นำทางของบรรดานักเดินทางที่มุ่งสู่นิรวาณนคร

अप्रमेयो ज्ञानेन
อปฺรเมโย ชฺญาเนน
มีพระญาณไม่อาจประมาณได้

अचिन्त्यः प्रतिभानेन
อจินฺตฺยะ ปฺรติภาเนน
มีพระปฏิภานอันไม่สามารถนึกคิดได้

विशुद्धः स्वरेण
วิศุทฺธะ สฺวเรณ
มีพระสุรเสียงบริสุทธิ์

आस्वदनीयो घोषेण
อาสฺวทนีโย โฆเษณ
มีเสียงกังวานอันน่าพอใจ

असेचनको रूपेण
อเสจนโก รูเปณ
มีพระรูปอันน่าชม

अप्रतिसमः कायेन
อปฺรติสมะ กาเยน
มีพระกายอันไม่มีผู้ใดเปรียบได้

अलिप्तः कामैः
อลิปฺตะ กาไมะ
ไม่แปดเปื้อนด้วยกามทั้งหลาย

अनुपलिप्तो रूपैः असंसृष्ट आरूप्यैः
อนุปลิปฺโต รูไปะ อสํสฤษฺฏ อารูปฺไยะ
ไม่ติดด้วยรูปทั้งหลาย  ไม่ยินดีด้วยอรูปทั้งหลาย 

विप्रमुक्तः स्कन्धेभ्यः
วิปฺรมุกฺตะ สฺกนฺเธภฺยะ
ทรงหลุดพ้นเป็นอิสระจากสกันธ์[ขันธ์]ทั้งหลาย

विसम्प्रयुक्तो धातुभिः
วิสมฺปฺรยุกฺโต ธาตุภิะ
ทรงไม่ประกอบด้วยธาตุทั้งหลาย

संवृत आयतनैः
สํวฤต อายตไนะ
ทรงควบคุมอายตนะทั้งหลายไว้ดีแล้วด้วย

प्रच्छिन्नो ग्रन्थैः
ปฺรจฺฉินฺโน คฺรนฺไถะ
ทรงตัดขาดแล้วจากเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย

विमुक्तः परिदाघ्नैः
วิมุกฺตะ ปริทาฆฺไนะ
หลุดพ้นจากความเร่าร้อน

परिमुक्तस्तृष्णया
ปริมุกฺตสฺตฤษฺณยา
หลุดพ้นจากความทะยานอยาก 

ओघादुत्तीर्णः परिपूर्णो ज्ञानेन
โอฆาทุตฺตีรฺณะ ปริปูรฺโณ ชฺญาเนน
ทรงข้ามขึ้นแล้วจากห้วงน้ำ ทรงเต็มรอบด้วยพระญาณ

प्रतिष्ठितोऽतीतानागतप्रत्युत्पन्नानां बुद्धानां भगवतां ज्ञाने
ปฺรติษฺฐิโต’ตีตานาคตปฺรตฺยุตฺปนฺนานํา พุทฺธานํา ภควตํา ชฺญาเน,
ดํารงมั่นอยู่ในพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ในอดีต อนาคต และปัจจุบัน

अप्रतिष्ठितो निर्वाणे
อปฺรติษฺฐิโต นิรฺวาเณ,
ทรงไม่ดํารงอยู่ในนิรวาณ[1]

स्थितो भूतकोट्याम्
สฺถิโต ภูตโกฏฺยามฺ
ทรงดํารงอยู่ในสภาวะสูงสุด

स्थितः सर्वसत्त्वालोकनीयायां भूमौ
สฺถิตะ สรฺวสตฺตฺวาโลกนียายํา ภูเมา
ทรงดํารงอยู่ในภูมิที่ทรงเหลียวมองลงมายังสรรพสัตว์ได้

सर्व इमे तथागतानां विशेषतः सम्यग् गुणाः।
สรฺว อิเม ตถาคตานํา วิเศษตะ สมฺยคฺคุณาะฯ
พระตถาคตเจ้าทรงประกอบด้วยคุณธรรมอันวิเศษทั้งหลายเหล่านี้


धर्मानुस्मृतिः
ธรฺมานุสฺมฤติะ
ระลึกถึงพระธรรมคุณ

सद्धर्मस्तु आदौ कल्याणः
สทฺธรฺมสฺตุ อาเทา กลฺยาณะ
พระสัทธรรมนั้นงามในเบื้องต้น

मध्ये कल्याणः
มธฺเย กลฺยาณะ
งามในท่ามกลาง

पर्यवसाने कल्याणः 
ปรฺยวสาเน กลฺยาณะ
งามในเบื้องปลาย

स्वर्थः सुव्यञ्जनः
สฺวรฺถะ สุวฺยญฺชนะ
ประกอบด้วย อรรถะ [โดยความหมาย]
พยัญชนะ [โดยตัวอักษรหรือตามคํา] อันเลิศ

केवलः, परिपूर्णः, परिशुद्धः, पर्यवदातः
เกวละ, ปริปูรฺณะ, ปริศุทฺธะ, ปรฺยวทาตะ
อันไม่เจือปน สมบูรณ์ บริสุทธิ ไร้มลทิน 

स्वाख्यातः भगवतो धर्मः
สฺวาขฺยาตะ ภควโต ธรฺมะ
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว

सान्दृष्टिकः
สานฺทฤษฺฏิกะ
เป็นสิ่งทีผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง

निर्ज्वरः
นิรฺชฺวระ,
ปราศจากความเร้าร้อน[คือความทุกข์]

आकालिकः
อากาลิกะ,
ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา

औपनायिकः
เอาปนายิกะ,
ทำให้ผู้ปฏิบัติไปถึงที่หมาย[นิรวาณ]

ऐहिपश्यिकः
ไอหิปศฺยิกะ,
เป็นสิ่งทีควรเชิญชวนให้มาดู

प्रत्यात्मवेदनीयो विज्ञैः
ปฺรตฺยาตฺมเวทนีโย วิชฺไญะ,
วิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตน[ให้หรือขอกันไม่ได้]

स्वाख्यातो भगवतो धर्मविनयः सुप्रवेदितः नैर्याणिकः
สฺวาขฺยาโต ภควโต ธรฺมวินยะ สุปฺรเวทิตะ ไนรฺยาณิกะ,
พระธรรมและวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว
ทรงประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมอันจะพาออกไปจากสังสารวัฏ

संबोधिगामी
สํโพธิคามี,
เป็นธรรมที่ทำให้เกิดพระสัมโพธิ[การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า]

अभिन्नः संस्तूपः
อภินฺนะ สํสฺตูปะ,
เป็นธรรมอันกว้างขวางครอบคลุม สอดรับกันไม่ขัดแย้ง

सप्रतिशरणः
สปฺรติศรณะ,
เป็นธรรมถูกต้องสมบูรณ์วางใจเชื่อถือได้

छिन्नप्लोतिकः।
ฉินฺนโปฺลติกะ ฯ
เป็นธรรมตัดเหตุคือกรรมทั้งหลายได้


 

संघानुस्मृतिः
สํฆานุสฺมฤติะ
ระลึกถึงพระสังฆคุณ

सुप्रतिपन्नो भगवत आर्यसंघः
สุปฺรติปนฺโน ภควต อารฺยสํฆะ
พระอริยสงฆ์[2]ของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี

न्यायप्रतिपन्नः
นฺยายปฺรติปนฺนะ
เป็นผู้ปฏิบัติถูก

ऋजुप्रतिपन्नः
ฤชุปฺรติปนฺนะ
เป็นผู้ปฏิบัติตรง

सामीचीप्रतिपन्नः
สามีจีปฺรติปนฺนะ
เป็นผู้ปฏิบัติสมควร

अञ्जलीकरणीयः
อญฺชลีกรณียะ
เป็นผู้ควรแก่การไหว้

सामीचीकरणीयः
สามีจีกรณียะ
เป็นผู้ควรแก่การกราบ

पुण्यश्रीक्षेत्रः
ปุณฺยศฺรีเกฺษตฺระ
เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ

महादक्षिणापरिशोधकः
มหาทกฺษิณาปริโศธกะ
เป็นผู้ควรแก่ของทักษิณาอันบริสุทธิ์

प्राहवनीयः
ปฺราหวนียะ
เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ

आहवनीयः।
อาหวนียะฯ
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวายสักการะ

॥ आर्यत्रिरत्नानुस्मृतिसूत्रं समाप्तम्॥
๚ อารฺยตฺริรตฺนานุสฺมฤติสูตฺรํ สมาปฺตมฺ๚
จบ พระสูตรว่าด้วยการระลึกถึงพระรัตนตรัยอันประเสริฐ


หมายเหตุ

[1] นิรวาณในมหายาน

มหายานมี นิรวาณ หรือ นิพพาน 2 ประเภท
1.ประเภทแรก นิรฺวาณ คือ นิพพานสภาวะอันดับทุกข์โดยสิ้นเชิง หมดสิ้นเชื้อที่จะทำให้มาเกิดอีกในสังสารวัฏ

ในทางเถรวาทมีเพียงนิพพานชนิดนี้เพียงอย่างเดียว และหลักข้อเชื่อของเถรวาทนั้นเชื่อว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระอรหันต์ทั้งปวงต่างก็บรรลุพระนิพพานนี้

ส่วนมหายานนั้นเชื่อว่า นิพพานชนิดนี้เป็นสภาวะที่พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระสาวกคือ พระอรหันต์บรรลุเท่านั้น ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบรรลุพระนิพพานอีกประเภท

2. ประเภทสอง อปฺรติษฺฐิต นิรฺวาณ คือ สภาวะการไม่เข้านิพพาน หรือ นิพพานไม่หยุดนิ่ง (non-abiding nirvana) หมายความว่า เป็นพระนิพพานที่ไม่ได้ตัดขาดออกจากสังสารวัฏ การบรรลุพระนิพพานแบบนี้ทางมหายานมีความเชื่อว่า ผู้บรรลุตัดขาดกิเลสทั้งหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว จะประกอบไปด้วยจิตตั้งมั่นที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ จะอยู่ในนิพพานแบบแรกก็ย่อมได้ [ดูเพิ่มเติมเรื่อง เรื่อง ยาน (มหายาน)] แต่ท่านไม่ทำเช่นนั้นเนื่องจากยังมีจิตที่ปรารถนาจะช่วยเหลือสรรพสัตว์

สัตว์ที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ที่บรรลุพระโพธิสัตว์ภูมิที่ 10 แล้ว[ดูเพิ่มเติมเรื่อง โพธิสัตว์ทศภูมิ(มหายาน)] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้เหล่านี้จะดำรงอยู่ [ดูเพิ่มเติมเรื่อง ตรีกาย(มหายาน)] และปณิธานว่าจะช่วยเหลือดูแลสรรพสัตว์ ว่าตราบใดที่สัตว์โลกสุดท้ายยังไม่บรรลุพระนิพพานประเภทแรก ตราบนั้นก็จะยังอยู่ในสังสารวัฏเพื่อช่วยเหลือสัตว์เหล่านั้นต่อไป นิพพานประเภทนี้เถรวาทและพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ

สรุปคำสอนของเถรวาทกับมหายานนั้น ทั้งสองฝ่ายเข้าใจพระนิพพานตรงกัน จุดมุ่งหมายสูงสุดก็คือนิพพานประเภทแรกเหมือนกัน แต่วัตถุประสงค์และวิธีการนั้นต่างกัน

 

[2] สังฆะมหายาน

สังฆะมหายาน หรือสงฆ์ แบ่งไว้ 2 ประเภท ได้แก่ ภิกฺษุสํฆ  อารฺยสํฆ

ภิกฺษุสํฆ ( भिक्षुसंघ , bhikṣusaṃgha) บาลีเรียก ภิกขุสงฆ์ หรือ สมมุติสงฆ์ คือ ชุมชนสงฆ์ หรือหมู่ภิกษุทีทำสังฆกรรมต่างๆ ร่วมกัน

อารฺยสํฆ ( आर्यसंघ , āryasaṃgha ) บาลีเรียก อริยสงฆ์ หรือ สาวกสงฆ์   ในฝ่ายสาวกยานหมายถึง เฉพาะพระอริยบุคคล 4 ประเภท ในพระสูตรนี้ ฉบับแปลอังกฤษ แปลว่า สงฆ์แห่งมหายาน เหตุเพราะพระสูตรนี้เป็นพระสูตรมหายาน  คำว่า อารฺยสํฆ นี้ในมหายานจึงนับพระโพธิสัตว์ในภูมิทั้ง 10 เข้าไปด้วยเป็นอริยสงฆ์ ไม่ได้หมายถึง สาวกสงฆ์  เพียงอย่างเดียว

 


อ้างอิง

Technical Details
Text Version: Devanāgarī
Input Personnel: DSBC Staff
Input Date: 2006
Proof Reader: Miroj Shakya
Supplier: Nagarjuna Institute of Exact Methods
Sponsor: University of the West

आर्यत्रिरत्नानुस्मृतिसूत्रम्
http://www.dsbcproject.org/canon-text/content/411/1877

Sutra of Recollection of the Three Jewels (sanskrit)

Methods of spiritual praxis in the Sarvāstivāda: A Study Primarily Based on the Abhidharma-mahāvibhāṣā ,Stephen Suen ,The University of Hong Kong

THE TREATISE ON THE GREAT VIRTUE OF WISDOM OF NĀGĀRJUNA (MAHĀPRAJÑĀPĀRAMITĀŚĀSTRA) ÉTIENNE LAMOTTE  VOL. III CHAPTERS XXXI-XLII

The Sutra of The Recollection of the Noble Three Jewels
https://www.nalandatranslation.org/offerings/notes-on-the-daily-chants/commentaries/the-sutra-of-the-recollection-of-the-noble-three-jewels/

Noble Sūtra of Recalling the Three Jewels
http://www.lotsawahouse.org/words-of-the-buddha/sutra-recalling-three-jewels

Noble Sutra of Recalling the Three Jewels
http://www.rigpawiki.org/index.php?title=Noble_Sutra_of_Recalling_the_Three_Jewels

การศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์สมาธิราชสูตร โดย ร้อยโทพรชัย หะพินรัมย์
หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร

นิพพานสองแบบ : soraj hongladarom
https://soraj.wordpress.com/tag/เถรวาท/

Loading

Be the first to comment on "อารยตริรัตนานุสมฤติสูตร บทอิติปิโสฝ่ายมหายาน"

Leave a comment