คัมภีร์ลลิตวิสตระ อัธยายที่ ๑ ตอนที่ ๒

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

คัมภีร์ลลิตวิสตระ
อัธยายที่ ๑ นิทานปริวรรต
ตอนที่ ๒

 

อัธยายที่ ๑ ชื่อนิทานปริวรรต (ว่าด้วยเหตุบังเกิดพระสูตร)

ในตอนที่ ๒ นี้กล่าวถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงประทับในมหานครศราวัสตี ว่าเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั้งหลาย และกล่าวสรรเสริญสดุดีพระคุณของพระองค์ มีเนื้อหาดังต่อไปนี้


เตน ขลุ ปุนะ สมเยน ภควานฺ ศฺราวสฺตีํ มหานครีมุปนิศฺริตฺย วิหรติ สฺม สตฺกฤโต คุรุกฤโต มานิตะ ปูชิตศฺจ ติสฤณํา ปริษทํา ราชฺญํา ราชกุมาราณํา ราชมนฺตฺริณํา ราชมหามาตฺราณํา ราชปาทมูลิกานํา กฺษตฺริยพฺราหฺมณคฤหปตฺยมาตฺยปารฺษทฺยานํา เปารชานปทานามนฺยตีรฺถิกศฺรมณพฺราหฺมณจรกปริวฺราชกานามฺฯ

ก็และสมัยนั้นแล พระผู้มีภคะทรงสำราญพระอิริยาบถอาศัยมหานครศราวัสตี ทรงเป็นที่สักการเคารพนับถือบูชาของพระราชผู้เป็นประชุมชน (บริษัท) ของพวกนับถือไตรสรณาคม ราชกุมาร ราชมนตรี ราชมหาอมาตย์ ราชปาทมูลิกา (ผู้เฝ้าแหนใกล้ชิตแทบพระยุคลบาทของพระราชา) ประชุมชน (บริษัท) แห่งกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี อมาตย์ ผู้อยู่ในเมืองหลวงและอยู่ในชนบท เดียรถีย์อื่นๆ สมณะพราหมณ์ นักบวชเร่ร่อนและปริพาชกฯ

 

ลาภี จ ภควานฺ ปฺรภูตานํา ขาทนียํ โภชนียมาสฺวาทนียากลฺปิกานํา จีวรปิณฺฑปาตฺรศยนาสนคฺลานปฺรตฺยยไภษชฺยปริษฺการาณามฺฯ

พระผู้มีภคะมีปรกติได้รับของขบเคี้ยว ของกินที่กำหนดด้วยสิ่งของมีรสอร่อยและเครื่องใช้สอยคือ จีวร บาตร เสนาสนะ ยารักษาโรค อย่างเพียงพอ

 

ลาภาคฺรฺยยโศคฺรฺยปฺราปฺตศฺจ ภควานฺ สรฺวตฺร จานุปลิปฺตะ ปทฺม อิว ชเลนฯ อุทารศฺจ ภควตะ กีรฺติศพฺทโศฺลโก โลเก‘ภฺยุทฺคโต’รฺหนฺ สมฺยกฺสํพุทฺโธ วิทฺยาจรณสํปนฺนะ สุคโต โลกวิตฺ ประ ปุรุษทมฺยสารถิะ ศาสฺตา เทวานํา จ มนุษฺยาณํา จ พุทฺโธ ภควานฺ ปญฺจจกฺษุะสมนฺวาคตะฯ

พระผู้มีภคะทรงได้รับลาภอันเลิศ ทรงได้รับเกียรติยศชื่อเสียงอันประเสริฐ ทรงได้รับการเอาอกเอาใจ ประคับประคองในที่ทั่วไป ดังว่าบัวได้รับการประคับประคองด้วยน้ำ มีคำกล่าวสรรเสริญพรรณนาคุณของพระผู้มีภคะอย่างใหญ่หลวงเอิกเกริกขึ้นในโลกว่า “พระผู้มีภคะเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองถึงพร้อมด้วยวิชชา (๑) และจรณะ (๒) เสด็จไปดีแล้ว (คือทรงพระดำเนินไปในทางที่ดี) ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกหัดบุรุษ (ปวงชน) อย่างยอดเยี่ยม ทรงเป็นศาสดาผู้สั่งสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นผู้ตรัสรู้แล้วตื่นแล้ว ทรงเป็นผู้มีภคะทรงประกอบด้วยจักษุ ๕ ดวง (๓)

 

ส อิมํ จ โลกํ ปรํ จ โลกํ สเทวกํ สมารกํ สพฺรหฺมกํ สศฺรมณพฺราหฺมณีนฺ ปฺรชานฺ สเทวมานุษานฺ สฺวยํ วิชฺญาย สากฺษาตฺกฤตฺย อุปสํปทฺย วิหรติ สฺมฯ

พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้โลกหน้าพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ทรงรู้แจ้งด้วยพระองค์เองซึ่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ ทรงกระทำ(ความรู้)ให้ปรากฏบรรลุแล้ว ประทับอยู่แล้วๆ

 

สทฺธรฺมํ เทศยติ สฺม อาเทา กลฺยาณํ มธฺเย กลฺยาณํ ปรฺยวสาเน กลฺยาณํ สฺวรฺถํ สุวฺยญฺชนํ เกวลํ ปริปูรฺณํ ปริศุทฺธํ ปรฺยวทาตํ วฺรหฺมจรฺยํ สํปฺรกาศยติ สฺม๚

พระองค์ทรงแสดงสัทธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย(สัทธรรมนั้น)ประกอบด้วย อรรถพยัญชนะ สมบูรณ์บริศุทธ และสะอาดที่สุด ได้ทรงประกาศพรหมจรรย์(ศาสนา)แล้วฯ


หมายเหตุ

(๑) วิชชามี ๘ อย่างคือ ๑.วิปัสสนาญาณ ๒.มโนมยิทธิ ๓.อิทธิวิธิ ๔.ทิพพโสต  ๕.เจโตปริยญาณ ๖.ปุพเพนิสานุสติญาณ ๗.ทิพจักษุญาณ ๘.อาสวขยะญาณ

(๒) จรณะมี ๑๕ อย่าง แบบหีนยาน คือ  ๑.สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล ๒.อินทรีย์สังวร สำรวมอินทรีย์ ๓.โภชนมัตตัญญุตา รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ๔.ชาคริยานุโยค ประกอบด้วยความเพียรตื่นอยู่เสมอ ๕.สัทธา มีศรัทธา ๖.หิริ มีความละอายใจ ๗.โอตัปปะ เกรงกลัวบาป ๘.พหุสัจจะ สดับตรับฟังเล่าเรียนมาก ๙.วิริยะ มีความเพียร ๑๐.สติ มีสติ ๑๑.ปัญญา มีปัญญา ๑๒.ปฐมฌาน ๑๓.ทุติยฌาน ๑๔.ตติยฌาน ๑๕.จตุตถฌาน

(๓) จักษุ ๕ ดวงแบบหีนยาน คือ ๑.มังสะจักษุ จักษุคือดวงตา ๒.ทิพพจักษุ จักษุทิพย์ ๓.ปัญญาจักษุ จักษุคือปัญญา ๔.พุทธจักษุ จักษุแห่งพระพุทธ ๕.สมันตจักษุ จักษุรอบคอบ

 

ตารางเปรียบเทียบอักษรต้นฉบับ และคำอ่าน : ลลิตวิตระ อัธยายที่ ๑ ตอนที่ ๒ 


เชิงอรรถ

savatti

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงเขตเมืองของ เมืองสาวัตถี หรือ ศราวัสตี
ตำแหน่งในปัจจุบัน ดูบนแผนที่

เมืองสาวัตถี (บาลี) หรือ ศราวัสตี (สันสกฤต) คือเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล ตั้งอยู่ใน ตำบลสะเหถ-มะเหถ(Saheth-Maheth)รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน ในอดีตเมืองนี้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล 1 ใน แคว้นมหาอำนาจใน 16 มหาชนบทในสมัยพุทธกาล เมืองนี้รุ่งเรืองจากการที่เป็นชุมนุมการค้าขาย การทหาร เป็นเมืองมหาอำนาจใหญ่ควบคู่กับเมืองราชคฤห์แห่งแคว้นมคธในสมัยโบราณ

นัยหนึ่งเมืองสาวัตถีมาจากคำภาษาบาลีที่แปลว่า มีสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคเพียบพร้อมทุกอย่าง หรือจากตำนานที่ว่าเมื่อพ่อค้ามาที่เมืองนี้มักถูกถามว่ามีข้าวของอะไรมาขายบ้าง ซึ่งคำว่าทุกอย่างมาจากภาษาบาลีว่า สพฺพํ อตฺถิ ซึ่ง สพฺพํ แปลว่า ทุกอย่าง หรือมาจากภาษาสันสกฤตว่า สรฺวํ อสฺติ จึงกลายมาเป็นชื่อเมืองนี้ว่า สาวัตถี หรือ ศราวัสตี

สาวัตถี ปัจจุบันยังมีซากโบราณสถานที่สำคัญปรากฏร่องรอยอยู่ คือวัดเชตวันมหาวิหาร พระมูลคันธกุฎี , บริเวณวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล, บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี (สถูป), บ้านบิดาขององคุลีมาล (สถูป), สถานที่พระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ (หน้าวัดพระเชตวันมหาวิหาร), ที่แสดงยมกปาฏิหาริย์[1]

800px-sravasti-citywall800px-sravasti-gandhakuti
800px-twinmiracle
anandabodhi800px-angulimalastupa

ภาพจากบนซ้ายไปขวา 1.ซากประตูเมืองสาวัตถีในด้านที่ภิกษุจากวัดเชตวันมหาวิหารต้องผ่านไปบิณฑบาตในเมือง  2.พระมูลคันธกุฎีภายในวัดเชตวันมหาวิหาร 3.ยมกปาฏิหาริย์สถูป 4.ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในวัดเชตวันมหาวิหาร 5.องคุลิมาลสถูป [2][3][4][5][6]


680px-triratna_and_yaksha_with_chamara_-_architrave_top_west_-_rear_side_-_north_gateway_-_stupa_1_-_sanchi_hill_2013-02-21_4478
รูปสลักตรีรัตนะและศรีวัตสะ บนคานบนของซุ้มประตูโตรณะ พุทธศตวรรษที่ 4
ที่สถูปสาญจี รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย[7]

ไตรสรณาคม หรือ ไตรสรณคมน์ แปลว่า การเข้าถึงพระรัตนตรัย อันมี พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งของตน เป็นหลักข้อเชื่อหลักใหญ่ที่สำคัญในศาสนาพุทธเกือบทุกๆนิกาย

สัญลักษณ์พระรัตนตรัย ปรากฎในพุทธศิลป์อินเดียโบราณ เรียกว่า ตรีรัตนะ (Triratana Symbol)ก่อนมีการสร้างพระพุทธรูปโดยชาวอินโด-กรีก นอกจากชาวพุทธจะทำรอยพระพุทธบาทแทนพระพุทธเจ้าแล้ว และธรรมจักรแทนพระธรรมแล้ว ในสมัยพระเจ้าอโศกยังมีสัญลักษณ์หนึ่งซึ่งแทนพระรัตนตรัยทั้งสามได้ นั่นก็คือสัญลักษณ์ ตรีรัตนะ มีดังปรากฏเป็นรูปแกะสลักที่สถูปสาญจี และนิยมต่อเนื่องมาจนถึงสมัยมถุรา และอมราวดี และพบในโบราณสถานในประเทศไทย สมัยทราวดีและศรีวิชัยจำนวนมาก สัญลักษณ์ตรีรัตนะสามารถอธิบายได้ดังนี้

ดอกบัว หมายถึง การตรัสรู้ หรือการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์

วงกลม หมายถึง ความไม่มีที่สิ้นสุด หรือความว่าง อันมีลักษณะไม่มีที่สิ้นสุด
ดอกบัวในวงกลมจึงหมายถึง ธรรมะ อันมีลักษณะไม่มีที่สิ้นสุด

เปลวรัศมี คือ แสงสว่าง อันแผ่ไปได้รอบตัวที่พุ่งขึ้นไปเป็น 3 ยอด
ทำนองว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทำให้เกิดรัตนะทั้งสามขึ้นในโลก


0110

ฉากประณิธิเลขที่ 14 (Praṇidhi scene No. 14) [8]

ฉากประณิธิ เป็นภาพสมัยศวรรตที่ 9 จาก ถ้ำสหัสพุทธเบเซลิค , ถ้ำพันพระพุทธ (Bezeklik Thousand Buddha Caves) ในหมู่วัดเลขที่ 9 ถ้ำที่ 20 ใกล้เมืองถูหลู่ฟาน(เตอร์ฟาน) เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน

ในฉากประณิธิเลขที่ 14 ภาพแสดงหมู่พุทธบริษัทหลายชาติพันธุ์ในเมืองเตอร์ฟาน(Turfan)  กำลังคุกเข่ากำลังเคารพสักการะพระพุทธเจ้า เป็นนัยยะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั้งหลายในเมืองเตอร์ฟาน เหมือนเหตุการในลลิตวิสตระตอนนี้ ในคำอธิบายภาพ มุมซ้ายล่างเป็นชาวซอกเดีย   มุมขวาล่างมีลาและอูฐแบกเตรียจากเอเชียกลางบรรทุกเครื่องบรรณาการมอบอยู่

  • ปฺรณิธิ ในภาษาสันสกฤต หรือ ปณิธิ ในภาษาบาลี  แปลว่า การตั้งความปรารถนา, ความตั้งใจแน่วแน่
  • เมืองเตอร์ฟาน ในอดีตเป็นชุมทางการค้าในเอเชียกลางบนทางสายไหม ในอดีตพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและฝ่ายสาวกยานนิกายสรวาทสติวาทินก็ได้ตั้งมั่นที่นี้ จนศตวรรษที่ 15 ชาวมุสลิมเติร์กก็ได้มีอิทธิพลเหนือชนกลุ่มเดิม ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมเรื่อยมา

อ้างอิง

  1. เมืองสาวัตถี https://th.wikipedia.org/wiki/สาวัตถี
  2. Anandabodhi tree in Jetavana Monastery, Sravasti, Uttar Pradesh, India. This is one of the 3 most holy Bodhitrees in Buddhism. The original tree was a sapling of the Mahabodhi tree in Bodhgaya. https://th.wikipedia.org/wiki/สาวัตถี
  3. Gandhakuti in Jetavana, Sravasti, Uttar Pradesh, India.
    https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%96%E0%B8%B5
  4. Stupa of Angulimala, in Sravasti, India. It is identified with the remains of the Angulimala Stupa as seen by the Chinese Pilgrims in 500 AD. Locally known as Pakki Kuti.
    https://th.wikipedia.org/wiki/สาวัตถี
  5. View of the old city walls of Sravasti. The walking-path in the front is one of the four ancient major city gates of Sravasti. This gate is the gate closest to Jetavana Monastery, and so many monks would have walked through this gate (every day) when going alsmround in Sravasti.
    https://th.wikipedia.org/wiki/สาวัตถี
  6. Site of the Twin Miracle, performed by Buddha in Sravasti. Picture from the top of the Stupa/structure. Currently this place is locally known as Orajhar.
    https://th.wikipedia.org/wiki/สาวัตถี
  7. Buddhist monument at the Sanchi Hill, Raisen district of the state of Madhya Pradesh, India. https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Triratna_and_Yaksha_with_Chamara_-_Architrave_Top_West_-_Rear_Side_-_North_Gateway_-_Stupa_1_-_Sanchi_Hill_2013-02-21_4478.JPG
  8. Bezeklik Thousand Buddha Caves https://en.wikipedia.org/wiki/Bezeklik_Thousand_Buddha_Caves#cite_note-7

Loading

Be the first to comment on "คัมภีร์ลลิตวิสตระ อัธยายที่ ๑ ตอนที่ ๒"

Leave a comment