ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายสันสกฤต

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายสันสกฤต

จากคัมภีร์มหาวัสตุอวทาน และ คัมภีร์มัธยมกศาสตร์ของนาคารชุน

พร้อมตัวอักษรเทวนาครี บทปริวรรตอักษรไทย และแปลไทย ในส่วนคัมภีร์มัธยมกศาสตร์ มีเสียงอ่านประกอบด้วย

 

 

ปฏิจจสมุปบาท  (บาลี : ปฏิจฺจสมุปฺปาท  ,  สันสกฤต : ปฺรตีตฺยสมุตฺปาท ) เป็นชื่อพระธรรมหัวข้อหนึ่งในพุทธศาสนา ที่สำคัญมาก ๆ ในทุกนิกาย เรียกอีกอย่างว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ปัจจยาการ เป็นหลักธรรมที่อธิบายถึงการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น เช่น ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย 12 เรื่องเกิดขึ้นสืบ ๆ เนื่องกันมาตามลำดับ

ปฏิจจสมุปบาท นี้ปรากฎอยู่ในคัมภีร์ทั้งฝ่ายบาลี-สันสกฤต ทั้งฝ่ายสาวกยาน-มหายาน ถูกถ่ายเป็นภาษาจีนและธิเบต มีอรรถาธิบายอยู่มากหลายภาษา  วันนี้นำเสนอปฏิจจสมุปบาทฝ่ายคัมภีร์สันสกฤต จากคัมภีร์มหาวัสตุอวทาน และ คัมภีร์มัธยมกศาสตร์ของนาคารชุนคัมภีร์มูลมัธยมกการิกา หรือ มัธยมกศาสตร์ ของท่านนาคารชุน

ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นหลักธรรมที่มีความสำคัญ มีสารัตถะที่ละเอียดลึกซึ้ง รู้ได้ยาก เห็นได้ยาก ดังนั้นทำให้ให้การตีความปฏิจจสมุปบาท จึงมีการตีความได้หลายแนวทางหลายทัศนะ แม้แต่พระพุทธโฆสาจารย์ ผู้ชำระอรรถกถา กล่าวไว้ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค ว่า

“จะกล่าวพรรณนาปัจจยาการ ทั้งที่ยังหาที่อาศัยไม่ได้ เหมือนดังก้าวลงสู่สาครยังไม่มีที่เหยียบยัน ก็แต่ว่า คำสอนปฏิจจสมุปบาทนี้ ประดับประดาไปด้วยนัยแห่งเทศนาต่างๆ”

เหตุว่าปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมอันลึกซึ่งมีความหมายละเอียดกว้างขวาง  ซึ่งส่วนประเด็นประหาในการการตีความ ในที่นี้จะไม่กล่าวถึง อนึ่ง ผู้เรียบเรียงไม่ได้มีความรู้ความชำนาญในภาษาบาลีสันสกฤต บทความนี้เป็นแต่เพียงการเรียบเรียงการแปลใหม่ และนำเสนอ ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายคัมภีร์สันสกฤต ไว้สำหรับเทียบเคียง ไม่ได้เป็นอรรถาธิบายหรือการตีความใดๆ ที่ชี้ไปในทัศนะใดทัศนะหนึ่ง ดังนั้นจึงใช้การทับศัพท์เฉพาะและ อธิบายศัพท์เทียบฝ่ายบาลีพอประมาณเท่านั้น หากมีข้อผิดพลาดอันใด ที่สามารถแก้ไขให้เกิดประโยชน์ได้ สามารถแจ้งผู้เรียบเรียงได้โดยตรง

 

“โย ปฏิจจสมุปฺปทามํ ปสฺสติ โส ธมฺมํ ปสฺสติ”
ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม

“โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ”
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา

วักกลิสูตร , มูลปัณณาสก(บาลี)

————————————————————


“โย ภิกฺษวะ ปฺรตีตฺยสมุตฺปาทํ ปศฺยติ, ส ธรฺมํ ปศฺยติ ฯ 

โย ธรฺมํ ปศฺยติ, ส พุทฺธํ ปศฺยติ ฯ”

ภิกษุใดเห็นประตีตยสมุปาท ภิกษุนั้นเห็นธรรม,
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระพุทธองค์

ศาลิสตัมพสูตร(สันสกฤต)


ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายสันสกฤต

จากคัมภีร์มหาวัสตุอวทาน
ในทวิตียขัณฑ์ อวโลกิตสูตร

มหาวัสตุอวทาน หรือ มหาวัสตุ (มหาวสฺตุ หมายถึง เหตุการณ์ครั้งสำคัญ หรือ เรื่องที่ยิ่งใหญ่) เป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญคัมภีร์หนึ่ง มีข้อความระบุในนิทานคาถาว่า มหาวัสตุเป็นพระวินัยปิฎกของนิกายโลโกตตรวาท (สำนักย่อยของนิกายมหาสังฆิกะ ซึ่งรุ่งเรืองในมัธยมประเทศของอินเดีย)  มีเนื้อหาของคัมภีร์มีความเกี่ยวข้องกับพระวินัยที่เป็นเรื่องสิกขาบทของพระสงฆ์ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นงานประพันธ์ประเภทชาดกและอวทาน

มหาวัสตุอวทาน  นี้เป็นฉบับที่พบในประเทศเนปาล เอมิล เซนาร์ต (Émile Senart) ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตชาวฝรั่งเศสได้ตรวจชำระ ทำเชิงอรรถไว้  และมีฉบับภาษาไทยนั้น รศ.ดร.สำเนียง เลื่อมใส ได้แปลจากต้นฉบับภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี ที่พิมพ์เผยแพร่ในอินเดีย และจัดพิมพ์ฉบับภาษาไทยเพื่อเผยแพร่ ทั้งสิ้น 3 เล่ม ณ ปัจจุบัน (เมษายน 2561) เล่ม 1 , 2 ยังจัดจำหน่ายอยู่ และเล่ม 3 ยังอยู่ในขั้นตอนการพิมพ์ สนใจติดต่อได้ที่ ศูนย์สันสกฤตศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร

เนื้อหา ปฏิจจสมุปบาท ที่ปรากฎในมหาวัสตุอวทาน นั้นปรากฎในส่วนที่ 2 ที่เรียกว่า ทวิตียขัณฑ์ (มหาวสฺตุอวทานมฺ ทฺวิตียะ ขณฺฑะ)  มีเนื้อว่าด้วยการอุบัติของพระโพธิสัตว์ การอภิเษกสมรส การสละชีวิตทางโลก และเสด็จออกจากพระราชวัง เพื่อแสดงหาทางหลุดพ้น และในสูตรที่ชื่อว่า อวโลกิตสูตร ที่อยู่ในส่วนที่ 2 นี้เอง ที่มีเนื้อถึง การเผชิญหน้าของพระโพธิสัตว์กับพญามาร และตรัสรู้สัจธรรมอันสูงสุดภายใต้ร่มโพธิ์ และ ปฏิจจสมุปบาท ดังจะคัดมานำเสนอต่อไปนี้


ต้นฉบับภาษาสันสกฤต อักษรโรมัน จากโครงการ GRETIL 
ปริวรรตเป็นไทยและปริวรรต กลับเป็นเทวนาครี โดยโปรแกรมไทย-สันสคริปท์
โดยเรียบเรียงใหม่การทับศัพท์ในการแปลอาศัยการทับศัพท์สันสกฤต โดยใช้อักขรวิธีไทย


*บทความนี้เป็นการเรียบเรียงคำแปลใหม่ในรูปแบบของของผู้เรียบเรียงเอง
และแสดงความสามารถในการปริวรรตของโปรแกรม
โดยต้นฉบับภาษาสันสกฤตที่ใช้แตกต่างกัน มีตัดบทสนธิไม่เหมือนกัน
ผลจากโปรแกรมซึ่งแตกแตกต่างจากการปริวรรตในหนังสือ มหาวัสตุอวทาน ฉบับแปลไทย
โดยโปรแกรมไม่พินทุพยัญชนะ หน้า สระ ฤ

หากจะอ้างอิงข้อความปริวรรตและคำแปลถึงหนังสือของ รศ.ดร.สำเนียง เลื่อมใส
ต้องใช้ บทปริวรรต และคำแปลในหนังสือของท่านอาจารย์โดยตรงเท่านั้น


 

ปณามคาถาคัมภีร์มหาวัสตุอวทาน

ओं नमः श्रीमहाबुद्धाय अतीतानागतप्रत्युत्पन्नेभ्यः सर्वबुद्धेभ्यः
โอํ นมะ ศฺรีมหาพุทฺธาย อตีตานาคตปฺรตฺยุตฺปนฺเนภฺยะ สรฺวพุทฺเธภฺยะ
โอม ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าทั้งปวงทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน



यदिदं इमस्य सतो इदं भवति इमस्य असतो इदं न भवति ।

ยทิทํ อิมสฺย สโต อิทํ ภวติ อิมสฺย อสโต อิทํ น ภวติ ฯ
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี  เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี 

इमस्योत्पादादिदमुत्पद्यते ।
อิมสฺโยตฺปาทาทิทมุตฺปทฺยเต ฯ
เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

इमस्य निरोधादिदं निरुध्यति इति पि ।
อิมสฺย นิโรธาทิทํ นิรุธฺยติ อิติ ปิ ฯ
เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ

अविद्याप्रत्ययाः संस्काराः 
อวิทฺยาปฺรตฺยยาะ สํสฺการาะ
เพราะอวิทยาเป็นปัจจัย จึงมีสังสการ

संस्कारप्रत्ययं विज्ञानं 
สํสฺการปฺรตฺยยํ วิชฺญานํ
เพราะสังสการเป็นปัจจัย จึงมีวิชญาน

विज्ञानप्रत्ययं नामरूपं 
วิชฺญานปฺรตฺยยํ นามรูปํ
เพราะวิชญานเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป

नामरूपप्रत्ययं षडायतनं 
นามรูปปฺรตฺยยํ ษฑายตนํ
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีษฑายตนะ

षडायतनप्रत्ययं स्पर्शः 
ษฑายตนปฺรตฺยยํ สฺปรฺศะ
เพราะษฑายตนะเป็นปัจจัย จึงมีสปรรศะ

स्पर्शप्रत्यया वेदना
สฺปรฺศปฺรตฺยยา เวทนา
เพราะสปรรศะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา

वेदनाप्रत्यया तृष्णा
เวทนาปฺรตฺยยา ตฤษฺณา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตฤษณา

तृष्णाप्रत्ययम् उपादानं 
ตฤษฺณาปฺรตฺยยมฺ อุปาทานํ
เพราะตฤษณาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน

उपादानप्रत्ययो भवो
อุปาทานปฺรตฺยโย ภโว
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ

भवप्रत्यया जाति 
ภวปฺรตฺยยา ชาติ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ

जातिप्रत्यया जरामरणशोकपरिदेवदुःखदौर्मनस्योपायासा भवन्ति । 
ชาติปฺรตฺยยา ชรามรณโศกปริเทวทุะขเทารฺมนสฺโยปายาสา ภวนฺติ ฯ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมี ชรา มรณะ  โศก[ความโศก] ปริเทวะ[ความคร่ำครวญ]
ทุห์ข[ทุกข์] เทารมนัส[โทมนัส] และอุปายาส[ความคับแค้นใจ] ก็มีพร้อม

एवमस्य केवलस्य महतो दुःखस्कन्धस्य समुदयो भवति ।
เอวมสฺย เกวลสฺย มหโต ทุะขสฺกนฺธสฺย สมุทโย ภวติ ฯ
กองทุกข์ใหญ่ถึงเพียงนี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้

इत्यपि अविद्यानिरोधात् संस्कारनिरोधः
อิตฺยปิ อวิทฺยานิโรธาตฺ สํสฺการนิโรธะ
อนึ่ง เพราะอวิทยาดับโดยไม่เหลือ สังสการจึงดับ

संस्कारनिरोधाद् विज्ञाननिरोधः
สํสฺการนิโรธาทฺ วิชฺญานนิโรธะ
เพราะสังสการดับ วิชญาณจึงดับ

विज्ञाननिरोधात् नामरूपनिरोधः
วิชฺญานนิโรธาตฺ นามรูปนิโรธะ
เพราะวิชญาณดับ นามรูปจึงดับ

नामरूपनिरोधात् षडायतननिरोधः
นามรูปนิโรธาตฺ ษฑายตนนิโรธะ
เพราะนามรูปดับ ษฑายตนะจึงดับ

षडायतननिरोधात् स्पर्शनिरोधः
ษฑายตนนิโรธาตฺ สฺปรฺศนิโรธะ
เพราะษฑายตนะดับ สปรรศะจึงดับ

स्पर्शनिरोधाद् वेदनानिरोधः
สฺปรฺศนิโรธาทฺ เวทนานิโรธะ
เพราะสปรรศะดับ เวทนาจึงดับ

वेदनानिरोधात् तृष्णानिरोधः
เวทนานิโรธาตฺ ตฤษฺณานิโรธะ
เพราะเวทนาดับ ตฤษณาจึงดับ

तृष्णानिरोधाद् उपादाननिरोधः
ตฤษฺณานิโรธาทฺ อุปาทานนิโรธะ
เพราะตฤษณาดับ อุปาทานจึงดับ

उपादाननिरोधाद् भवनिरोधः
อุปาทานนิโรธาทฺ ภวนิโรธะ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

भवनिरोधाज् जातिनिरोधः
ภวนิโรธาชฺ ชาตินิโรธะ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

जातिनिरोधाज् जरामरणशोकपरिदेवदुःखदौर्मनस्योपायासा निरुध्यन्ते ।
ชาตินิโรธาชฺ ชรามรณโศกปริเทวทุะขเทารฺมนสฺโยปายาสา นิรุธฺยนฺเต ฯ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ  โศก[ความโศก] ปริเทวะ[ความคร่ำครวญ] 
ทุห์ข[ทุกข์]  เทารมนัส[โทมนัส] และอุปายาส[ความคับแค้นใจ] จึงดับ

एवमस्य केवलस्य महतो दुःखस्कन्धस्य निरोधो भवति ॥
เอวมสฺย เกวลสฺย มหโต ทุะขสฺกนฺธสฺย นิโรโธ ภวติ ๚
เป็นอันว่ากองทุกข์ใหญ่นั้นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้.

सर्वसंस्कारा अनित्याः सर्वसंस्कारा दुःखा सर्वधर्मा अनात्मानः ॥
สรฺวสํสฺการา อนิตฺยาะ สรฺวสํสฺการา ทุะขา สรฺวธรฺมา อนาตฺมานะ ๚
สังสการทั้งปวงไม่เที่ยง สังสการทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนาตมัน[อนัตตา]

एतं शान्तं एतं प्रणीतं एतं यथावदेतं अविपरीतं यमिदं सर्वोपधिप्रतिनिःसर्गो सर्वसंस्कारसमथा धर्मोपच्छेदो तृष्णाक्षयो विरागो निरोधो निर्वाणं ॥
เอตํ ศานฺตํ เอตํ ปฺรณีตํ เอตํ ยถาวเทตํ อวิปรีตํ ยมิทํ สรฺโวปธิปฺรตินิะสรฺโค สรฺวสํสฺการสมถา ธรฺโมปจฺเฉโท ตฤษฺณากฺษโย วิราโค นิโรโธ นิรฺวาณํ ๚ *
ธรรมนั่นสงบ ประณีต เป็นจริง ไม่เปลี่ยนแปลง นั้นคือ ความสละคืนอุปธิทั้งปวง** ความสงบสังสการทั้งปวง ความตัดขาดแห่งสภาวะธรรม  ความสิ้นไปแห่งตฤษณา ความปราศจากราคะ ความดับ นิรวาณ

ในฝ่ายบาลีว่า : 
 เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานนฺติ
ธรรมชาตินั่นสงบ ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ความสงบสังขารทั้งปวงความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสิ้นกำหนัด ความดับ นิพพาน
 สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย พยสนสูตร
** อุปธิ คือ สภาพธรรมซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์

 



ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายสันสกฤต

จากคัมภีร์มัธยมกศาสตร์ของนาคารชุน
(มูลมัธยมกการิกา)
ปกรณ์ที่ ๒๖ ทฺวาทศางฺคปรีกฺษา 

คัมภีร์มูลมัธยมกการิกา หรือ มัธยมกศาสตร์ เป็นผลงานชิ้นเอกของท่านนาคารชุน ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาชาวอินเดีย เป็นพื้นฐานสำคัญของแนวคิดศูนยวาท ซึ่งส่งผลสำคัญต่อแนวคิดแบบมหายาน  โดยพระนาคารชุนะอธิบายหลักพุทธพจน์บนพื้นฐานของปรัชญาศูนยตวาท คำว่า มาธยมิกะ หมายถึงทางสายกลาง คือปรัชญาสายกลางระหว่างสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่ามีอยู่อย่างเที่ยงแท้) และอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ)

เนื้อหาของคัมภีร์นี้ เน้นหนักในเรื่อง ธรรมชั้นสูงมากกว่าธรรมในระดับชาวบ้าน เพราะทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเรื่อง อภิธรรม เพราะวัตถุประสงค์ของการรจนาคัมภีร์นี้ก็เพื่อเป็นคู่มือการโต้วาทีและอธิบายอภิธรรมสำหรับผู้รู้เป็นหลัก

ความหมายของ มูลมัธยมกการิกา ประกอบจากคำว่า มูล หมายถึง แรกเริ่มหรือพื้นฐาน มธฺยมก แปลว่า ทางสายกลาง และ การิกา หมายถึง คัมภีร์ที่รจนาขึ้นในรูปแบบฉันทลักษณ์ ใช้ถ้อยคำน้อยสั้น ๆ แต่มีความหมายลึกซึ้ง ในทีนี้ใช้ ลำนำ เนื้อหาของคัมภีร์มูลมัธยมกการิกา อยู่ในรูปภาษาสันสกฤตแบบแผน หรือ ตันติสันสกฤต เนื้อหาอยู่ในลักษณะฉันทลักษณ์ที่เรียกว่า โศลก จำนวน 450 โศลก แบ่งเป็น 27 ปกรณ์ แต่ละปกรณ์เรียกว่า ปะรีกษา แปลว่า การตรวจสอบ หรือ การพินิจวิเคราะห์ โดยปกรณ์ ที่่ 26 นั้นจะเป็นเนื้อหา ปฏิจจสมุปบาท ชื่อว่า ทฺวาทศางฺคปรีกฺษา ษฑฺวิํศติตมํ ปฺรกรณมฺฯ ว่าด้วย การวิเคราะห์ เหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท แต่ละเหตุปัจจัย ที่เรียกว่า องค์ (องฺค) หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า การวิเคราะห์องค์ธรรมอันสืบเนื่องกัน ๑๒ ประการ



ต้นฉบับภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครีจากโครงการ DSBC

ปริวรรตเป็นไทยโดยโปรแกรมไทย-สันสคริปท์
เสียงจากโครงการ Bodhisvara
ในส่วนคำแปลเรียบเรียงใหม่และอธิบายศัพท์ตามอ้างอิง ดังมีรายละเอียดด้านล่าง
โดยอิงจากฉบับแปลอังกฤษ และแจงศัพท์ของ อ้างอิงที่ 3 เป็นหลัก และอ้างอิงที่ 4
การทับศัพท์ในการแปลอาศัยการทับศัพท์สันสกฤต โดยใช้อักขรวิธีไทย

* Shih-Foong Chin แปลจากฉบับสันสกฤตเป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้ฉบับแปลภาษาจีนและศัพท์ในภาษาบาลีแปลร่วม โดยมีการแสดงการแปลยกศัพท์ แยกสมาสสนธิ แจงไวยากรณ์ของศัพท์ด้วย : ดูเพิ่มเติมอ้างอิงที่ 3

 


ปณามคาถาคัมภีร์มัธยมกศาสตร์

अनिरोधम् अनुत्पादम् अनुच्छेदम् अशाश्वतम् |
अनेकार्थम् अनानार्थम् अनागमम् अनिर्गमम् ||१||
อนิโรธมฺ อนุตฺปาทมฺ อนุจฺเฉทมฺ อศาศฺวตมฺ ฯ
อเนการฺถมฺ อนานารฺถมฺ อนาคมมฺ อนิรฺคมมฺ ๚๑๚

1.ธรรมอัน ไม่มีความดับ, ไม่มีความเกิดขึ้น, ไม่มีความขาดสูญ, ไม่มีความเที่ยงแท้
ไม่มีความหมายเพียงอย่างเดียว , ไม่มีความหมายนานาประการ, ไม่มีการมา, ไม่มีการไป

यः प्रतीत्यसमुत्पादं प्रपञ्चोपशमं शिवम् |
देशयामास संबुद्धस्तं वन्दे वदतां वरम् ||२||
ยะ ปฺรตีตฺยสมุตฺปาทํ ปฺรปญฺโจปศมํ ศิวมฺ ฯ
เทศยามาส สํพุทฺธสฺตํ วนฺเท วทตํา วรมฺ ๚๒๚

2.ธรรมอันชื่อว่า ประตีตยสมุตปาท [1] อันประเสริฐ มีธรรมอันสงบปราศจาก ประปัญจธรรม[2]
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงสอนธรรมเหล่านี้ ข้าพเจ้าขอน้อบนอมวันทาแด่ พระผู้มีวาทะเลิศยิ่งกว่าวาทะทั้งหลาย พระองค์นั้น

 


नागार्जुन कृत मध्यमकशास्त्रम् |
นาคารฺชุน กฤต มธฺยมกศาสฺตฺรมฺ ฯ
มัธยมกศาสตร์ของนาคารชุน

 

[คลิกเพื่อฟังเสียงอ่าน]

 

द्वादशाङ्गपरीक्षा षड्विंशतितमं प्रकरणम्।
ทฺวาทศางฺคปรีกฺษา ษฑฺวิํศติตมํ ปฺรกรณมฺฯ
ปกรณ์ที่ ๒๖ ว่าด้วย การวิเคราะห์องค์ธรรมอันสืบเนื่องกัน ๑๒ ประการ
( ๑๒ เหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท) 

 

पुनर्भवाय संस्कारानविद्यानिवृतस्त्रिधा।
अभिसंस्कुरुते यांस्तैर्गतिं गच्छति कर्मभिः॥१॥

ปุนรฺภวาย สํสฺการานวิทฺยานิวฤตสฺตฺริธาฯ
อภิสํสฺกุรุเต ยําสฺไตรฺคติํ คจฺฉติ กรฺมภิะ๚๑๚

 ๑. ผู้มืดบอดด้วยอวิทยา[3] ย่อมกระทำในสังสการทั้งสามทาง[4]อันที่จะนําไปสู่ภพใหม่[5]
ด้วยการกระทำ[ในสังสการ]เหล่านี้ เขาย่อมไปสู่คติ[6]ด้วยกรรมนั้น ๚


विज्ञानं संनिविशते संस्कारप्रत्ययं गतौ।

संनिविष्टेऽथ विज्ञाने नामरूपं निषिच्यते॥२॥

วิชฺญานํ สํนิวิศเต สํสฺการปฺรตฺยยํ คเตาฯ
สํนิวิษฺเฏ’ถ วิชฺญาเน นามรูปํ นิษิจฺยเต๚๒ ๚

๒. เพราะสังสการเป็นปัจจัย วิชญาน[7]จึงมีขึ้นย่อมไปสู่คติ ฯ
ครั้นเมื่อวิชญานเข้าถึง[คตินั้น]แล้ว นามรูป[8]จึงเจริญขึ้น ๚

निषिक्ते नामरूपे तु षडायतनसंभवः।
षडायतनमागम्य संस्पर्शः संप्रवर्तते॥३॥

นิษิกฺเต นามรูเป ตุ ษฑายตนสํภวะฯ
ษฑายตนมาคมฺย สํสฺปรฺศะ สํปฺรวรฺตเต๚๓๚

๓. เมื่อนามรูปเจริญแล้ว ษฑายตนะ[9]จึงเกิดขึ้น ฯ
เมื่อษฑายตนะเกิดแล้ว  สปรรศะ[10]จึงเกิดตาม ๚

चक्षुः प्रतीत्य रूपं च समन्वाहारमेव च।
नामरूपं प्रतीत्यैवं विज्ञानं संप्रवर्तते॥४॥

จกฺษุะ ปฺรตีตฺย รูปํ จ สมนฺวาหารเมว จฯ
นามรูปํ ปฺรตีตฺไยวํ วิชฺญานํ สํปฺรวรฺตเต๚๔๚

๔. อาศัยตา รูป และความสนใจอันเดียวกันนี้ ฯ
และด้วยอาศัยนามรูป   [จักษุร]วิชญาน[11]จึงเกิดตาม ๚

संनिपातस्त्रयाणां यो रूपविज्ञानचक्षुषाम्।
स्पर्शः सः तस्मात्स्पर्शाच्च वेदना संप्रवर्तते॥५॥

สํนิปาตสฺตฺรยาณํา โย รูปวิชฺญานจกฺษุษามฺฯ
สฺปรฺศะ สะ ตสฺมาตฺสฺปรฺศาจฺจ เวทนา สํปฺรวรฺตเต๚๕๚

สิ่งใดประกอบด้วยสามสิ่งอันมี รูป วิชญาน และตา
สิ่งนั้นคือสปรรศะ ด้วยเหตุจากสปรรศะนี้เอง เวทนา[12]จึงเกิดตาม

वेदनाप्रत्यया तृष्णा वेदनार्थं हि तृष्यते।
तृष्यमाण उपादानमुपादत्ते चतुर्विधम्॥६॥

เวทนาปฺรตฺยยา ตฤษฺณา เวทนารฺถํ หิ ตฤษฺยเตฯ
ตฤษฺยมาณ อุปาทานมุปาทตฺเต จตุรฺวิธมฺ๚๖๚

เวทนาเป็นปัจจัยให้ตฤษณา[13] ตฤษณาจึงมีขึ้นเพราะวัตถุแห่งเวทนานั้นแหละ
ผู้มีตฤษณาย่อมยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน ๔ [14]

उपादाने सति भव उपादातुः प्रवर्तते।
स्याद्धि यद्यनुपादानो मुच्येत न भवेद्भवः॥७॥

อุปาทาเน สติ ภว อุปาทาตุะ ปฺรวรฺตเตฯ
สฺยาทฺธิ ยทฺยนุปาทาโน มุจฺเยต น ภเวทฺภวะ๚๗๚

เมื่ออุปาทานมีอยู่ ภพ[15]ของผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นย่อมเกิดขึ้นตามมา
ถ้าผู้นั้นไม่มีอุปาทานเสียแล้ว เขาย่อมปล่อยวางเป็นอิสระได้ ภพก็จักไม่มี

पञ्च स्कन्धाः स च भवः भवाज्जातिः प्रवर्तते।
जरामरणदुःखादि शोकाः सपरिदेवनाः॥८॥

ปญฺจ สฺกนฺธาะ ส จ ภวะ ภวาชฺชาติะ ปฺรวรฺตเตฯ
ชรามรณทุะขาทิ โศกาะ สปริเทวนาะ๚๘๚

สกันธ์ทั้ง ๕ นี้[16] ก่อให้เกิดภพ และชาติ[17]ก็มาจากภพ,
มี ชรา มรณะ[18] ทุกข์ เป็นอาทิ พร้อมด้วย ความโศกปริเทวนาการ [ความเศร้าคร่ำครวญ]

दौर्मनस्यमुपायासा जातेरेतत्प्रवर्तते।
केवलस्यैवमेतस्य दुःखस्कन्धस्य संभवः॥९॥

เทารฺมนสฺยมุปายาสา ชาเตเรตตฺปฺรวรฺตเตฯ
เกวลสฺไยวเมตสฺย ทุะขสฺกนฺธสฺย สํภวะ๚๙๚

โทมนัส อุปายาส [ความเสียใจคับแค้นใจ] ก็เกิดเนื่องจากชาติ
เช่นนั้นแล้ว จึงเป็นการเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ 

संसारमूलान्संस्कारानविद्वान् संस्करोत्यतः।
अविद्वान् कारकस्तस्मान्न विद्वांस्तत्त्वदर्शनात्॥१०॥

สํสารมูลานฺสํสฺการานวิทฺวานฺ สํสฺกโรตฺยตะฯ
อวิทฺวานฺ การกสฺตสฺมานฺน วิทฺวําสฺตตฺตฺวทรฺศนาตฺ๚๑๐๚

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีอวิทยาย่อมกระทำในสังสการ ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งสังสาระ [19]
ดังนั้น ผู้ที่มีอวิทยาย่อมเป็นผู้กระทํา[ในสังสการ]  ส่วนผู้ที่มีวิทยาย่อมไม่กระทําเพราะเห็นตามความเป็นจริง

अविद्यायां निरुद्धायां संस्काराणामसंभवः।
अविद्याया निरोधस्तु ज्ञानेनास्यैव भावनात्॥११॥

อวิทฺยายํา นิรุทฺธายํา สํสฺการาณามสํภวะฯ
อวิทฺยายา นิโรธสฺตุ ชฺญาเนนาสฺไยว ภาวนาตฺ๚๑๑๚

เมื่ออวิทยาดับลง สังสการก็ไม่เกิดขึ้น
แต่การดับลงของอวิทยา เกิดขึ้นจากการเจริญภาวนาเพื่อให้ได้ชญาน[20] คือ ความรู้แจ้ง

तस्य तस्य निरोधेन तत्तन्नाभिप्रवर्तते।
दुःखस्कन्धः केवलोऽयमेवं सम्यङ् निरुध्यते॥१२॥

ตสฺย ตสฺย นิโรเธน ตตฺตนฺนาภิปฺรวรฺตเตฯ
ทุะขสฺกนฺธะ เกวโล’ยเมวํ สมฺยงฺ นิรุธฺยเต๚๑๒๚

เนื่องด้วยการดับลงของสิ่งนั้นๆ[คือองค์ในปฏิจจสมุปบาทที่มาก่อน]
สิ่งนี้[คือองค์ในปฏิจจสมุปบาทที่ตามมา]ก็จักไม่เกิดขึ้น

เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งปวงย่อมดับมอดลงไม่เหลือ ด้วยประการฉะนี้


เชิงอรรถ


บ. : บาลี  ,  ส. : สันสกฤต
[1]  ประตีตยสมุตปาท,  ปฏิจจสมุปบาท (บ.ปฏิจฺจสมุปฺปาท  ,  ส. ปฺรตีตฺยสมุตฺปาท ) คือ หลักธรรมที่อธิบายถึงการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน,การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น

[2]  ประปัญจธรรม, ปปัญจธรรม   (บ. ปปญฺจ  , ส. ปฺรปญฺจ ) คือ ปัจจัยหลายปัจจัยปรุงแต่งอย่างสลับซับซ้อน  แล้วแสดงเป็นปรากฎการณ์ต่างๆ  ทำให้การรับรู้ความเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง         ในฝ่ายบาลีว่า เป็นกิเลสเครื่องเนิ่นช้า, กิเลสที่เป็นตัวการทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร ทำให้เขวห่างออกไปจากความเป็นจริง ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริงหรือทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกทางตรงไปตรงมา ว่า กิเลสดังกล่าวมี ตัณหา มานะ และทิฏฐิ   เรียกว่า ปปัญจธรรม   ในฝ่าย อไทฺวตเวทานตะของฝ่ายฮินดู หมายถึง ปรากฎการณ์ของจักวาล (phenomenal universe)

[3]    อวิทยา หรือ อวิชชา (บ. อวิชฺชา, ส. อวิทฺยา) หมายถึง ความไม่รู้ตามความเป็นจริงแห่งธรรม ตรงข้ามกับ วิชฺชา หรือ วิทฺยา

[4]   สังสการ หรือ สังขาร (บ. สํขาร, ส. สํสฺการ ) มีความหมายหลายนัยยะ ขึ้นอยู่กับบริบท ในบริบทปฏิจจสมุปบาท นั้นหมายถึง สิ่งปรุงแต่งทางใจ ตามที่เคยสั่งสม,อบรม,ประพฤติ,ปฏิบัติไว้แต่อดีต ที่ทำให้เกิดการกระทํา  3 อย่าง เรียกในภาษาบาลีสันสกฤต ตามลำดับดังนี้
1. สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี  (ส. ปุณฺย สํสฺการ ,  บ. ปุญญาภิสังขาร ) 
2.สภาพที่ปรุงแต่กรรมฝ่ายชั่ว (ส. อปุณฺย สํสฺการ , บ. อปุญญาภิสังขาร )
3.สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว หรือ สภาพกลางๆ (ส. อนิญฺชฺย สํสฺการ ,  บ. อาเนญชาภิสังขาร )
ในฝ่ายบาลียังหมายถึง  กายสังขาร  วจีสังขาร มโนสังขาร

[5]  ส. ปุนรฺภว  หรือ บ. ปุนพฺภว ในบาลีมีอีกคำคือ  ปฏิสนฺธิ

[6]  คติ คำนี้มีความหมายหลายนัยยะ ขึ้นอยู่กับบริบท หมายถึง ที่ไป, ที่ ๆ จะไป  ในความหมายทั่วๆไป ซึ่งก็มีทั้งที่ไปดี (สุคติ) กับ ที่ไปที่ไม่ดี (ทุคติ)  หมายถึง ที่ไปของจิตก็ได้ หรือหมายถึง คติภพ  ภพที่สัตว์กำลังเป็นอยู่ และภพที่จะไปเกิดต่อไป  ก็ได้ ฝ่ายเถรวาท มี 5 คติ เรียกในภาษาบาลีสันสกฤต ตามลำดับดังนี้
1.นรก   (บ. นิรย  , ส. นรก )
2.กำเนิดดิรัจฉาน  (บ. ติรจฺฉานโยนิ   , ส. ติรฺยคฺโยนิ )
3.เปรตวิสัย   (บ. ปิตฺติวิสย,เปตฺติวิสย  , ส. เปฺรตวิษย )
4.มนุษย์ (บ. มนุสฺสา  , ส. มนุษฺย )
5.เทวดา  (บ. ส. เทวา )
ฝ่ายมหายานว่า มี 6 เพิ่ม  อสูร เข้ามา
6.อสูร (บ. ส. อสุร)

[7]   วิญญาณ  หรือ วิชญาน (บ. วิญฺญาณ , ส. วิชฺญาณ) คือความรู้แจ้งอารมณ์ อภิธรรมในนิกายต่างๆ มีรายละเอียด การจำแนกวิญญาณ ทรรศนะเรื่องวิญญาณ เรื่องปลีกย่อยต่างกัน แต่มีใจความหลัก เรียกในภาษาบาลีสันสกฤต ตามลำดับดังนี้
ส.จกฺษุรฺวิชฺญาณ , บ. จกฺขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา คือรู้รูปด้วยตา หรือการเห็น
ส.โศฺรตฺรวิชฺญาณ , บ. โสตวิญฺญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู คือรู้เสียงด้วยหู หรือการได้ยิน
ส. ฆฺราณวิชฺญาณ , บ. ฆานวิญฺญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก คือรู้กลิ่นด้วยจมูก หรือการได้กลิ่น
ส. ชิหฺวาวิชฺญาณ , บ. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น คือรู้รสด้วยลิ้น หรือการรู้รส
ส. กายวิชฺญาณ , บ. กายวิญฺญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย คือรู้โผฏฐัพพะด้วยกาย หรือการรู้สึกกายสัมผัส
ส.มโนวิชฺญาณ , บ. มโนวิญฺญาณ  ความรู้อารมณ์ทางใจ คือรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ หรือการนึกคิด

 [8]   นามรูป (บ. ส. นามรูป) นามและรูป, มนุษย์เรา ประกอบด้วยส่วนต่างๆ 5 อย่าง เรียกว่าขันธ์ 5   เราอาจย่นย่อลงอีกก็ได้ คือ รูปเรียกว่ารูป ส่วนอีก ๔ อย่างเรียกว่านาม, คำว่านามรูป จึงหมายถึง ขันธ์ 5 นั่นเอง (ดูที่ ขันธ์ 5 ด้านล่าง )
หรือหมายถึง  การทำงานของครบองค์แห่งชีวิต คือ ขันธ์ 5  เกิดการทำงาน หรือเกิดการตื่นตัว พร้อมทำงานในกิจต่างๆที่เกิดขึ้น หรือเกิดการทำงานในสังขารกิเลสนั้นๆขึ้น
ในฝ่ายบาลียังหมายถึงเวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่านาม มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป ร่วม เรียกว่านามรูป

[9]    ษฑายตนะ,สฬายตน  (บ. สฬายตน, ส. ษฑายตน) อายตนะ 6 ตามศัพท์แปลว่าเขต หรือแดน หมายถึงเป็นที่ต่อ ที่บรรจบ ที่ประชุมกัน ทำให้เกิดการรับรู้ในสิ่งต่างๆ มีอายตนะภายใน และ นอก แบ่งเป็น 6 คู่ หรือ 12 ชนิด อายตนะภายใน มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก มี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์  เรียกในภาษาบาลีสันสกฤต ตามลำดับดังนี้
1.   ส . จกฺษุรายตน – รูปายตน : บ. จกฺขายตน –  รูปายตน    ได้แก่ ตา(ประสาทรับภาพ) –  รูป แสงและสี(คลื่นแสง)
2.   ส .  โศฺรตฺรายตน – ศพฺทายตน  :  บ. โสตายตน – สทฺทายตนะ  ได้แก่ หู(ประสาทรับเสียง) – เสียง (คลื่นเสียง)
3.   ส .  ฆฺราณายตน – คนฺธายตน : บ. ฆานายตน -คนฺธายตน ได้แก่ จมูก(ประสาทรับกลิ่น) – กลิ่น(อนุภาคทางเคมีชนิดหนึ่ง)
4.   ส .  ชิหฺวายตน –  รสายตน : บ.  ชิวหายตน – รสายตน ได้แก่ ลิ้น(ประสาทรับรส) – รส (อนุภาคทางเคมีชนิดหนึ่ง)
5.   ส .  กายายตน – สฺปฺรษฺฏวฺยายตน  : บ. กายายตน – โผฏฺฐพฺพายตน   ได้แก่ กาย(ประสาทสัมผัส) – สิ่งที่มาถูกต้องกาย ความเย็นร้อน ความอ่อนแข็ง ความหย่อนตึงหยาบละเอียด
6.   ส .  มนายตน – ธรฺมายตน : บ. มนายตน – ธมฺมายตน  ได้แก่ จิตหรือใจ –  ธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ที่ใจรู้ หรืออารมณ์ที่เกิดทางใจ ความจำ ความคิด จินตนาการ

[10] สปรรศะ,ผัสสะ (บ. ผสฺส , ส. สฺปรฺศ) คือ การสัมผัส การกระทบ การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก การประจวบกระทบกันทั้ง 3 ของ อายตนะภายใน, ภายนอก และวิญญาณ

[11] จักษุรวิชญาน ตามความหมายที่กล่าวมาก่อนหน้า ในคัมภีร์ยกไว้เป็นตัวอย่าง ไม่ได้กล่าวถึง วิชญาน ทั้งหมด

[12]เวทนา (บ. ส. เวทนา ) เวทนา นี้ถูกกล่าวในหมวดธรรมหลายหมวด จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายแบบ และในอภิธรรมทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ซึ่งมีความหมายหลักๆ หมายถึง  ความรู้สึก การเสวยอารมณ์, การเสพในสิ่งใดๆที่มากระทบสัมผัส(ผัสสะ) หรือก็คือสิ่งที่จิตไปยึดเหนี่ยวในขณะนั้นๆนั่นเอง  เวทนาที่กล่าวในปฏิจจสมุปบาท  มักจำแนกเป็น เวทนา  3  และยังทำให้ อนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดที่สั่งสม นอนเนื่องในจิตอยู่แล้ว คุกรุ่นสะสมขึ้นอีก เรียกในภาษาบาลีสันสกฤต ตามลำดับดังนี้
1.  สุขเวทนา (บ. ส. สุขเวทนา ) ความรู้สึกสุข สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม  ผู้ที่รู้สึกสุขเวทนา ย่อมเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงมีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่  (สิ่งย้อมใจให้ติด) (บ.ราคานุสย , ส. ราคานุศย)
2. ทุกขเวทนา(บ. ทุกฺขเวทนา , ส.  ทุะขเวทนา) ความรู้สึกทุกข์ ไม่สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม  ผู้ที่รู้สึกทุกขเวทนา ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไห้ คร่ำครวญ โกรธ หลง จึงมีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ (สิ่งกระทบใจให้ไม่ชอบ)   ( บ. ปฏิฆานุสย , ส. ปฺรติฆานุศย)
3. อทุกขมสุขเวทนา (บ. อทุกฺขมสุขเวทนา , ส.  อทุะขาสุขเวทนา )  ความรู้สึกเฉยๆ จะสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่   ผู้ที่รู้สึกอทุกขมสุขเวทนา ย่อมไม่ทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงมีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่  (ความไม่รู้)   ( อวิชฺชานุสย , ส. อวิทฺยานุศย )

[13] ตฤษณา , ตัณหา ( บ. ตณฺหา , ส. ตฤษฺณา) คือ ความทะยานอยาก และไม่อยาก , ความดิ้นรน, ความปรารถนา, ความเสน่หา มี 3 ประการ เรียกในภาษาบาลีสันสกฤต ตามลำดับดังนี้
1. กามตัณหา ( บ. กามตณฺหา , ส. กามตฤษฺณา)ความทะยานอยากในกามคุณ คือ ใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความติดใจ ความพอใจในกามภพ
2.  ภวตัณหา ( บ. ภวตณฺหา , ส. ภวตฤษฺณา) ความทะยานอยากในภพ อยากเป็นนั่น อยากได้นี่, หรือความอยาก, จึงอาจรวมทั้งความอยากให้คงอยู่
3.  วิภวตัณหา( บ. วิภวตณฺหา , ส. วิภวตฤษฺณา)  ความทะยานอยากในวิภพ คือ อยากไม่เป็นนั่น อยากไม่ให้เป็นอย่างนี้ อยากให้สิ่งนั้นๆพรากพ้นดับสูญ อยากให้สิ่งที่ไม่ดีหรือที่ไม่ต้องการนั้นๆไม่ให้เกิดขึ้น

[14]   อุปาทาน (บ. ส.อุปาทาน) ความยึดมั่น, ความถือมั่นยึดมั่นด้วยอำนาจของกิเลส หรือความยึดมั่นถือมั่นให้เป็นไปตามอำนาจของตัณหา หรือความยึดมั่น ถือมั่นตามความพึงพอใจของตัวของตน มี 4 ประการ เรียกในภาษาบาลีสันสกฤต ตามลำดับดังนี้
1.ความยึดมั่นถือมั่นในกาม  ( บ. กามุปาทาน , ส. กาโมปาทาน)
กามในภาษาธรรม ไม่ได้หมายถึงเรื่องทางเพศ  อย่างเดียวแต่หมายถึง   ยึดมั่นใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เนื่องด้วยตัณหาความกำหนัดในสิ่งต่างๆ ที่อยากได้ อยากมี อยากเป็น
2.ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ ( บ. ทิฏฺฐุปาทาน , ส. ทฤษฺตฺยุปาทาน)
ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี คือ ยึดมั่นในความเห็น  ลัทธิ หรือหลักคำสอนต่างๆ  ความเชื่อ ความคิด หรือในทฤษฎีของตัวของตน
3.ความยึดมั่นถือมั่นในศีล(ข้อสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิด) และพรต(ข้อที่พึงถือปฏิบัติ)  (บ. สีลพฺพตุปาทาน , ส.  ศีลวฺรโตปาทาน)
ความยึดมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีต่างๆ ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยสักว่า กระทำสืบๆ กันมาหรือปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล
4. ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน (บ. อตฺตวาทุปาทาน , ส. อาตฺมวาโทปาทาน) 
คือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน ที่จะได้ จะเป็น จะมี จะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลายหรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ได้ ไม่มอง เห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวงอันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วนๆ 

[15]   ภพ (บ. ส. ภว)  มีความหมายหลายนัยยะ ขึ้นอยู่กับบริบท หมายถึง ความมี หรือความเป็น   โลกอันเป็นที่อยู่ของสัตว์, ภาวะชีวิตของสัตว์ ภาวะของชีวิตหรือภาวะของจิตที่อยู่ภายใต้การครอบงำของอุปาทาน ณ ช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ
นัยยะ ภาวะของจิต หมายถึง
1. กามภพ สภาวะหรือบทบาทต่างๆในแบบทางโลกๆ ข้องกับกาม อันเนื่องมาจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์
2. รูปภพ สภาวะหรือสถานะที่ยังยึดติดยึดถือในรูปอันวิจิตรที่สัมผัสได้ด้วยใจ กล่าวคือ ละเอียดอ่อนซ่อนรูปกว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
3. อรูปภพ สภาวะหรือสถานะในอรูปอันวิจิตรอันสัมผัสได้ด้วยใจ ใน อรูปฌาน
หรือ อีกนัยยะหมายถึง ภาวะชีวิตของสัตว์ กามภพ คือภพของผู้ที่ติดอยู่ในกาม ตั้งแต่ ฉกามาพจรลงมาถึงนรกภูมิ, รูปภพ คือภพของพรหมที่มีรูป, อรูปภพ คือภพของพรหมที่ไม่มีรูป  

[16]   สกันธ์ 5 หรือ ขันธ์ 5 (บ. ขนฺธ ส. สฺกนฺธ) แปลว่า กอง, หมวด, หมู่, ส่วน ขันธ์ 5 จึงหมายถึง กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม 5 หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เรียกในภาษาบาลีสันสกฤต ตามลำดับดังนี้
1.  รูป (บ. ส. รูป ) 
คือ กองแห่งธรรมชาติที่จะต้องแตกสลายไปด้วยเหตุต่างๆ  สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาบ้าง เห็นไม่ได้ด้วยตาบ้าง
2.  เวทนา (บ. ส. เวทนา) คือ การเสวยอารมณ์ การรับอารมณ์ การรู้อารมณ์ [อธิบายด้านบน]
3.  สัญญา (บ.สญฺญา ส. สญฺชฺญา ) คือ ความจำได้หมายรู้ ระลึกได้ ระลึกถึง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ที่เคยประสบมาได้
4.  สังขาร (บ. สํขาร ส. สํสฺการ) คือ สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นทั้งหลายทั้งปวง จึงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย มาประชุมปรุงแต่งกัน เช่น ความคิดปรุงแต่ง  [อธิบายด้านบน]
5.  วิญญาณ (บ.วิญฺญาณ ส. วิชฺญาน)คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ความรู้แจ้งอารมณ์ ความรับรู้เรื่องราว ต่างๆ ได้ [อธิบายด้านบน]

[17]   ชาติ (บ. ส. ชาติ)  มีความหมายหลายนัยยะ ขึ้นอยู่กับบริบท แปลว่า การเกิด ดังเช่น การเกิดเป็นตัวตนจากท้องแม่ที่มีพ่อเป็นเหตุปัจจัยร่วม, การเกิดของสิ่งต่างๆ, การเกิดแต่เหตุปัจจัยคือสังขารต่างๆ, การเกิดของเหล่ากองทุกข์   

[18]   ชรา มรณะ (บ. ส. ชรามรณ) สองคำนี้ เนื่องกัน มีความหมายหลายนัยยะ ขึ้นอยู่กับบริบท ชรา โดยความหมายทั่วไป มีความหมายแปลว่า ความแก่ ความทรุดโทรม, อันล้วนเกิดขึ้นเพราะความไม่เที่ยง จึงมีการเปลี่ยนแปลง หรืออาการแปรปรวน ชราในบริบทปฏิจจสมุปบาท อาจหมายถึง สภาวะของความวนเวียน และแปรปรวนของเหล่าอุปาทานขันธ์ มรณะ มีความหมายว่า การดับไป ความแตกทำลาย ความตาย ความแตกดับแห่งขันธ์ อันเป็นสภาวธรรม   การแตกดับ การดับไปของบรรดาสังขารทั้งปวง มรณะ ที่หมายถึงความดับไปแห่งกองทุกข์ในขณะหนึ่งๆหรือเรื่องหนึ่งๆในปฏิจจสมุปบาทก็มี  หรือหมายถึงความแตกดับถดถอยของสังขารร่างกาย ก็มี

[19]   สังสาระ(บ. ส. สํสาร) การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกหรือในภพต่างๆ ตามกระแสแห่งอวิชชา  กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้

[20] ชฺญาน , ญาณ (บ. ญาณ, ส. ชฺญาน) แปลว่า ความรู้ คือ ปรีชาหยั่งรู้ ปรีชากำหนดรู้ หรือ กำหนดรู้ได้ด้วยอำนาจการภาวนา ทำสมาธิและวิปัสสนา เรียกว่า วิชชา,วิทยา บ้าง ญาณ เป็นไวพจน์คำหนึ่งของปัญญา

 


อ้างอิง

1 มหานิทานสูตร พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=10&A=1455&Z=1887

2 ปัจจัยสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=16&A=590&Z=641

3. ฉฉักกสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=10324&Z=10554

3 Mūlamadhyamakakārikā Chap 26 : Shih-Foong Chin, Australia
มูลมัธยมกการิกา ฉบับสันสกฤตแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยใช้ฉบับแปลภาษาจีนและศัพท์ในภาษาบาลีแปลร่วม โดยมีการแสดงการแปลยกศัพท์ แยกสมาสสนธิ แจงไวยากรณ์ของศัพท์ด้วย

https://www.academia.edu/10401233/Mūlamadhyamakakārikā_Chap_26

4 การศึกษาเชิงวิเคราะห์การใช้เหตุผลแบบวิภาษวิธีในคัมภีร์มูลมัธยมกการิกา 2011 , กฤษฎา ภูมิศิริรักษ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
http://digi.library.tu.ac.th/thesis/lib/1063/01title-illustrations.pdf

5 ภาษาคน ภาษาธรรม ของพระนาคารชุน ในคัมภีร์ “มูลมัธยมกการิกา” , ธรรมธารา วารสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา ฉบับที่ 1 ปี 2559 : สมบัติ มั่งมีสุขศิริ
http://www.dhammadhara.org/wp-content/uploads/2017/11/DDR_02_02.pdf

6 ปัญญามูลฐานแห่งทางสายกลาง : ชยธมฺโม
มูลมัธยมกการิกา แปลไทย
http://old.ebooks.in.th/download/8429/ปัญญามูลฐานแห่งทางสายกลาง

7 ปฏิจจสมุปบาท กระบวนธรรมของจิต ในการเกิดขึ้น และดับไปแห่งทุกข์ : พนมพร คูภิรมย์
http://www.nkgen.com/patitja1.htm

8 Mūlamadhyamakakārikā : Faculty of Humanities, The University of Oslo, Sweden
มูลมัธยมกการิกา แปลอังกฤษ

https://www2.hf.uio.no/polyglotta/index.php?page=fulltext&view=fulltext&vid=27&cid=47146&mid=119507

9 MŪLAMADHYAMAKAKĀRIKĀ : Edited by Dai Sung Han, Dongguk University, South Korea
มูลมัธยมกการิกา แปลอังกฤษ

http://daisunghan.tistory.com/48
http://cfile1.uf.tistory.com/attach/2309204254DD879C3B3F34

10 “Bondage, Freedom & Interconnection – The 12 Links of Interdependent Arising” with Lama Marut
มูลมัธยมกการิกา แปลอังกฤษ

http://lamamarut.org/Lama-Marut-New-Teachings/BondageFreedom/Bondage-Freedom.pdf

11 Root Verses of Wisdom (chapter 26) : Buddhist Open Online Translation Lab (aka: BOOTL)
มูลมัธยมกการิกา แปลอังกฤษ

http://bootl.org/html/mula.htm

12 MŪLAMADHYAMAKAKĀRIKĀ COMPARE TRANSLATIONS : DIAMOND MOUNTAIN UNIVERSITY
มูลมัธยมกการิกา แปลอังกฤษ และ แปลเทียบฉบับอื่นๆ

http://mahasukha.org/ALLAUDIO/Sanskrit/DM_Sanskrit12/Trans_Ch-26.pdf

13 The Śālistambha sūtra : Tibetan original, Sanskrit reconstruction, English translation, critical notes (including Pali parallels, Chinese version, and ancient Tibetan fragments)
ศาลิสตัมพสูตร ต้นฉบับภาษาธิเบต แปลกลับเป็นภาษาสันสกฤต และแปลเป็นภาษาอังกฤษ หมายเหตุเทียบกับ พระธรรมใน ภาษาบาลี จีน และฉบับธิเบตโบราณ
RESPONSIBILITY N. Ross Reat. UNIFORM TITLE  Tripiṭaka. Sūtrapiṭaka. Śālistambasūtra Polyglot. EDITION 1st ed. IMPRINT Delhi : Motilal Banarsidass Publishers, 1993. PHYSICAL DESCRIPTION xiii, 74 p. ; 23 cm.

14 ŚĀLISTAMBASŪTRAM
ศาลิสตัมพสูตร อักษรโรมัน

http://www.dsbcproject.org/canon-text/content/55/485

15 สำเนียง เลื่อมใส, รศ.ดร. (ผู้แปล) มหาวัสตุอวทาน เล่ม ๒

16 Mahavastu-Avadana – GRETIL
มหาวัสตุอวทาน ภาษาสันสกฤต อักษรโรมัน

gretil.sub.uni-goettingen.de/gretil/1_sanskr/4_rellit/buddh/mhvastuu.htm
Based on the ed. by Émile Senart, 3 vols., Paris 1882-1897.Cf. also : Emmanuel Faure, B. Oguibénine, M. Yamazaki, and Y. Ousaka, Mahavastu-avādana, vol.I: word index and reverse word index Tokyo 2003 (Philologica Asiatica, Monograph Series 20) The Chuo Academic Research Institute (Tokyo, 2003 (July)), Input by Emmanuel Fauré (formerly Université Marc Bloch, Strasbourg), under the supervision of Prof. Boris Oguibénine
Data conversion in cooperation with Stefan Baums, Seattle

17 Mahavastu Avadana Vol.II
มหาวัสตุอวทาน ภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี ฉบับตีพิมพ์

https://archive.org/details/in.ernet.dli.2015.408380

18 THE TREATISE ON THE GREAT VIRTUE OF WISDOM
https://www.wisdomlib.org/buddhism/book/the-treatise-on-the-great-virtue-of-wisdom-volume-iii/d/doc82363.html

 

 


 

 

Loading

Be the first to comment on "ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายสันสกฤต"

Leave a comment