เกี่ยวกับเรา

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

การทำงาน
ไทย-สันสคริปท์ เป็นโปรแกรมช่วยในการปริวรรตอักษร จาก โรมัน-สันสกฤต มาเป็น ไทย-สันสกฤต
ตามมาตรฐาน International Alphabet of Sanskrit Transliteration (IAST)

พื้นฐานงาน
ไทย-สันสคริปท์ ทำงานอยู่บนพื้นฐานงานโปรแกรม SANSCRIPT ที่ learnsanskrit.org
ซึ่งจะปริวรรตอักษรอินเดียชนิดต่างและอักษรโรมันมาตรฐานต่างๆ ให้เป็น อักษรโรมันมาตรฐาน IAST

ผลลัพท์และการตรวจทาน
ไทย-สันสคริปท์ เป็นแต่เพียงเครื่องมือช่วยในการปริวรรตเท่านั้น ผลลัพท์ที่ได้อาจมีบางส่วนที่ยังผิดพลาดอยู่
ควรตรวจทานอีกรอบก่อนใช้งานจริง ทั้งนี้โปรแกรมมีตารางเปรียบเทียบผลลัพท์ ท่านสามารถตรวจทานได้อย่างง่ายดาย

 

ภาษาพระเวท หรือ ไวทิกภาษา


ภาษาสันสกฤตมีพัฒนาการมาจาก ภาษาพระเวท ที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวท เมื่อราว 1,200 ปีก่อน ค.ศ.
อันเป็นบทสวดสรรเสริญพระเจ้าในลัทธิพราหมณ์ในยุคต้น ๆ ภาษาพระเวทดั้งเดิมยังมิได้มีการวางกฎเกณฑ์
ให้เป็นระเบียบรัดกุมและสละสลวยและมีหลักทางไวยากรณ์อย่างกว้าง ๆ

 

 สันสกฤตแบบแผน หรือ ตันติสันสกฤต

ราว 57 ปีก่อน พ.ศ. พราหมณ์ชื่อ “ปาณินิ” ชาวแคว้นคันธาระ ท่านเห็นว่าภาษาสันสกฤตแบบพระเวทนั้นมีภาษาถิ่นปนเข้ามา หากไม่เขียนไวยากรณ์ที่เป็นระเบียบแบบแผนไว้จะคละกับภาษาถิ่น ปาณินิได้ศึกษาและจัดเรียบเรียงตำราไวยากรณ์ขึ้น 8 บท ชื่อว่า “อัษฏาธยายี” ภาษาที่ปรับปรุงใหม่นี้เรียกว่า “ตันติสันสกฤต” หรือ สันสกฤตแบบแผน วรรณคดีสันสกฤตแบบแผนที่สำคัญและเป็นที่รู้จักมากคือ มหาภารตะ และ รามายณะ

ภาษาสันสกฤตผสม หรือ ภาษาสันสกฤตผสมในพุทธศาสนา

ภาษาสันสกฤตอีกสาขาหนึ่ง เรียกว่า ภาษาสันสกฤตผสม หรือ ภาษาสันสกฤตผสมในพุทธศาสนา
เป็นภาษาสันสกฤตยุคหลังถัดจากภาษาสันสกฤตแบบแผน พบในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาทั้ง
ในนิกายสรรวาสติวาทและพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตสาขานี้ที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง
เป็นที่รู้จักทั้งในอินเดียและจีน คือ พระภิกษุชาวจีนชื่อ พระเสวียนจั้ง หรือในชื่อที่ชาวไทยเรียกว่า พระถังซัมจั๋ง

 

ที่มาและจุดประสงค์

 

ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาโบราณของอินเดีย และเป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดภาษาหนึ่งในภาษากลุ่มอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European)   ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาในกลุ่มภาษาเดียวกับภาษาบาลี ทั้งสองภาษาเป็นภาษาที่มาจากอินเดียที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อภาษาพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะภาษาสันสกฤตนั้นดังจะเห็นได้จากบันทึกและหลักศิลาจารึกโบราณถูกบันทึกเป็นภาษาสันสกฤต ในบริบทของภาษาไทยเอง แม้จะเป็นภาษาคนละตระกูลกับภาษาบาลีและสันสกฤต แต่ภาษาไทยยืมคำภาษาทั้งสองนี้มาใช้เป็นจำนวนมาก และมักจะเรียกคู่กันเสมอว่าเป็น “ภาษาบาลีสันสกฤต” ส่วนคำในภาษาสันสกฤตนั้นถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งในมิติทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี งานวิชาการ  อีกทั้งวรรณคดีสันสกฤตหลายเรื่องมีอิทธิพลต่อภูมิภาคแห่งนี้ อาทิ รามายณะ มหาภารตะ เป็นต้น

การศึกษาภาษาสันสกฤตจึงมีคุณประโยชน์ในการเข้าใจภาษา วรรณคดี รวมทั้งพื้นฐานวัฒนธรรมไทยในด้านต่างๆที่มีความเกี่ยวพันกับอินเดียมาแต่โบราณ ส่วนระบบการเขียนภาษาบาลีและสันสกฤตมีความหลากหลายเนื่องจากเป็นภาษาที่ไม่มีระบบการเขียนเป็นของตนเอง แต่จะเขียนด้วยอักษรหลายชนิด เช่นในการตีพิมพ์งานภาษาสันสกฤตส่วนมากมักจะใช้อักษรเทวนาครี ซึ่งเป็นอักษรในกลุ่มอักษรอินเดียหรือไม่ก็ใช้อักษรโรมัน ส่วนภาษาบาลีก็มักใช้ตามเขียนด้วยอักษรหลายชนิดตามแต่ประเทศของผู้ที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท   แต่เดิมการบันทึกภาษาบาลีและสันสกฤตในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบันนั้น บันทึกด้วยตัวอักษรต่างๆกันไปตามยุคสมัย ใช้อักษรเช่น อักษรปัลลวะ อักษรมอญโบราณ อักษรขอมโบราณ อักษรขอมไทย และยังไม่มีการบันทึกภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นอักษรไทย[1] จวบจนใน  พ.ศ. 2436 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดให้ จัดทำระบบปริวรรตอักษร จากอักษรขอมไทยเป็นอักษรไทยและยังได้นำอักษรโรมันที่ใช้เขียนมาเทียบกับอักษรไทยที่เป็นต้นแบบไว้ด้วย และทรงโปรดให้มีการปริวรรตอักษรจากพระไตรปิฎกบาลีอักษรขอมไทยเป็นอักษรไทยและตีพิมพ์เป็นครั้งแรก และต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงการปริวรรตอีกเล็กน้อย การเขียนภาษาบาลีและสันสกฤตด้วยอักษรไทยจึงเป็นที่นิยมใช้จนถึงปัจจุบัน เพราะสามารถศึกษาเข้าใจได้ง่าย

ประเทศไทยในปี 2559   มีสถานศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนภาษาสันสกฤต อยู่  5 แห่งคือ 1.มหาวิทยาลัยศิลปากร 2.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4.มหามกุฏราชวิทยาลัย และ 5.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยเปิดการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับปรัชญา ศาสนา ภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์และจารึกในงานโบราณคดี ส่วนสภาพการศึกษาภาษาสันสกฤตในประเทศไทยนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาภาษาบาลี การศึกษาภาษาสันสกฤตจะมีผู้ศึกษาน้อยกว่าหลายเท่า เนื่องจากพุทธศาสนาในไทยนั้นเป็นแบบเถรวาทใช้ภาษาบาลีเป็นหลัก ทั้งมีหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาบาลีอยู่หลายระดับและสถานศึกษาที่ทำการสอนอยู่ทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยสงฆ์ วัด สำนักเรียนบาลี เอกสารตำราบาลีก็ล้วนปริวรรตออกมาเป็นอักษรไทย แปลเป็นภาษาไทยจำนวนมาก ดังนั้นภาษาบาลีในไทยจึงมีผู้เชี่ยวชาญ อยู่เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันในทางตรงข้ามภาษาสันสกฤตมีการศึกษาอยู่ในวงที่ไม่กว้างนัก สถานศึกษาที่ทำการสอนก็มีอยู่น้อย เอกสารและตำราโดยมากนั้นเป็นอักษรเทวนาครี หรือไม่ก็ปริวรรตเป็นอักษรโรมัน มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ การปริวรรตออกเป็นอักษรไทย หรือแปลเป็นภาษาไทย มีน้อยมาก อาจจะกล่าวได้ว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคต่อการศึกษาภาษาสันสกฤต จึงทำให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาสันสกฤตในประเทศไทยน้อยมาก  และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาสันสกฤตที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระราชหฤทัยสันสกฤตศึกษา และทรงสำเร็จการศึกษาสาขาจารึกภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งยังทรงส่งเสริมและสนับสนุนด้านสันสกฤตศึกษามาโดยตลอด   อีกทั้งสภาวัฒนธรรมสัมพันธ์แห่งอินเดีย (Indian Council for Cultural Relations: ICCR) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้กระทรวงต่างประเทศอินเดีย จะทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “World Sanskrit Award” ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2559 ในฐานะที่ทรงมีบทบาทส่งเสริมภาษาสันสกฤตในต่างประเทศ

ในปัจจุบันความสนใจในการศึกษาภาษาสันสกฤตในประเทศไทยก็ยังคงน้อยอยู่ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับอดีตนั้นก็นับว่า ภาษาสันสกฤตได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าในอดีต เป็นผลมาจากเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์(Social Media) ที่สามารถมีพื้นที่ให้ผู้สนใจในภาษาสันสกฤตการจัดตั้งกลุ่มสนทนาได้โดยง่าย สมาชิกไม่เพียงเฉพาะแต่นักศึกษาและคณาจารย์ผู้ทำการเรียนการสอนภาษาสันสกฤตเท่านั้น  ยังมีผู้ที่สนใจในศาสนา วรรณคดี ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และกลุ่มครูสอนภาษาไทยจนไปถึงผู้เชี่ยวชาญภาษาอื่นๆ อีกทั้งข้อมูลสื่อภาษาสันสกฤตที่อยู่ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ เอกสารภาษาสันสกฤตออนไลน์ ทำให้เอื้อต่อการศึกษาของ นักศึกษา และผู้สนใจ ให้สะดวกยิ่งขึ้น แต่เอกสารภาษาสันสกฤตดังกล่าว นั้นมีหลากหลายตัวอักษรแต่โดยมากเป็น อักษรเทวนาครี   ดังนั้นการศึกษาข้อมูลและเอกสารภาษาสันสกฤตนี้จะประกอบด้วย การปริวรรตอักษร(Transliteration) และการแปล(Translation)  ซึ่งการปริวรรตอักษร คือ การทับศัพท์แบบถอดอักษร จะการดำเนินการแปลงระบบการเขียนหรือภาษาหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่งอย่างมีหลักการ การปริวรรตอักษรต่างจากการถอดเสียง (Transcription) คือ การปริวรรตอักษรเคร่งครัดในการคงตัวอักษร ไม่สนใจความแตกต่างของเสียงในภาษา  การปริวรรตตัวอักษรเทวนาครีเพื่อใช้ในการศึกษาภาษาสันสกฤตในภาษาไทยนั้นจะปริวรรตเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ปริวรรตเป็นอักษรโรมันและอักษรไทย ซึ่งแต่ละลักษณะนั้นมีประโยชน์แตกต่างกันไป การปริวรรตตัวอักษรเทวนาครีเป็นตัวอักษรโรมันมีความเป็นสากลในการศึกษาและจำเป็นในการศึกษาภาษาสันสกฤตในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ส่วนการปริวรรตตัวอักษรเทวนาครีเป็นตัวอักษรไทยนั้นจะทำให้ผู้ศึกษาที่เป็นคนไทยสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ง่าย[9] ในด้านงานค้นคว้าทางวิชาการภาษาสันสกฤต หากยังไม่รวมขั้นตอนการแปล การปริวรรตอักษรนี้ก็ยังถือว่าเป็นงานที่ใหญ่พอสมควร เอกสารภาษาสันสกฤต เช่น คัมภีร์ต่างๆนั้นมีเนื้อหาจำนวนมาก ผู้ศึกษานั้นจะต้องใช้เวลาและความวิริยะอุตสาหะในการปริวรรตอักษรและพิสูจน์อักษรเป็นอย่างมาก

จากที่มาและปัญหาดังกล่าว การศึกษาโครงการเฉพาะเรื่อง จึงได้เสนอแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ “การปริวรรตอักษรด้วยเครื่องสำหรับภาษาสันสกฤตแบบอักษรโรมันเป็นอักษรไทย”  ขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ ปริวรรตอักษรจะสามารถทำได้รวดเร็ว พร้อมกับตารางเปรียบเทียบอักษรให้สามารถตรวจสอบผลลัพธ์และพิสูจน์อักษรได้สะดวกขึ้น และสามารถปริวรรตชุดอักษรอินเดีย(Indian Script) และอักษรโรมันมาตรฐานต่างๆ(Romanization) ได้หลายชุด  เนื่องจากมีซอฟแวร์ชุดไลบรารี่ที่เป็นโอเพนซอร์สอยู่หลายชุด โดยผู้ศึกษาได้เลือกชุดไลบรารี่โอเพนซอร์ส ชื่อว่า “SANSCRIPT” [10],[11] โดยจะทำการปริวรรตอักษรภาษาสันสกฤต อักษรอินเดียและอักษรโรมันมาตรฐานต่างๆ ให้เป็น อักษรโรมันตามการปริวรรตอักษรภาษาสันสกฤตสากล หรือ IAST (International Alphabet of Sanskrit Transliteration) จากนั้นผู้ศึกษาทำการศึกษาวิธีการปริวรรตอักษรโรมันมาตรฐาน IAST ให้เป็นอักษรไทย 2 รูปแบบ คือ 1. ปริวรรตอักษรแบบคงรูป คือการ ปริวรรตอักษรแบบตรงตามรูปศัพท์เดิมโดยใช้เครื่องหมายอื่นๆร่วมกำกับด้วย เพื่อให้ถอดกลับเป็นอักษรโรมันหรืออักษรเทวนาครีได้ถูกต้อง ส่วนมากใช้ในหนังสือหรือเอกสารทางวิชาการ 2.ปริวรรตอักษรแบบปรับรูป โดยปรับให้เข้ากับอักขรวิธีไทย เพื่อให้ออกเสียงได้ง่ายและรูปคำกลมกลืนกับภาษาไทย เพื่อความสะดวกในการอ่านสำหรับบุคคลทั่วไป พบในบทสวดมนต์ต่างๆ ทั้งนี้การศึกษาโครงการเฉพาะเรื่อง จะประเมินความสมบูรณ์ของการปริวรรตอักษร โดยผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต ทดสอบและเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้จากระบบ

Loading