พระสูตร ๒ สารบบ ของฝ่ายมหายาน

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

ภาพ ใบลานคัณฑวยูหสูตร ภาษาสันสกฤต : The Cleveland Museum of Art

ในสูตรปิฏก หรือ สุตตันตปิฎก ของฝ่ายมหายาน มีพระสูตร จำแนกเป็น ๒ สารบบใหญ่ ๆ คือ ๑. อาคมสูตร ๒.มหายานสูตร

ในคำอธิบายใน ทวาทศางคะ (ทฺวาทศางฺค) หรือ องค์ ๑๒ คือ ลักษณะถ้อยคำของพระพุทธเจ้า ๑๒ ประการ ของฝ่ายมหายาน ปรากฎใน มหาปรัชญาปารมิโตปเทศ หรือ มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ (T1509 ) อรรถาธิบายคัมภีร์ ปัญจวิญศติสาหัสริกาปรัชญาปารมิตา โดยพระนาคารชุน แปลเป็นภาษาจีนโดยพระกุมารชีพ อธิบายว่าความว่า


【經】

「復次,舍利弗!菩薩摩訶薩欲聞十方諸佛所說十二部經:修多羅、祇夜、受記經、伽陀、優陀那、因緣經、阿波陀那、如是語經、本生經、廣經、未曾有經、論議經,諸聲聞等聞與不聞,盡欲誦受持[15]者,當學般若波羅蜜!」

【論】

先說「盡欲聞十方諸佛所說法者,當學般若波羅蜜」,所說法者,即此十二部經。

諸經中直說者,名「修多羅」,所謂四阿含、諸摩訶衍經,及二百五十戒經;出三藏外亦有諸經,皆名「修多羅」。

ภาพปัญจวิญศติสาหัสริกา มหาปรัชญาปารมิตาสูตร

[สูตรปาฐะว่า]
(ถ้อยความในปัญจวิญศติสาหัสริกา)

ยิ่งกว่านั้นฯ ศารีปุตร ! พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ผู้ใดปรารถนาจะสำเร็จในการฟังคำสอนแห่งพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไปทั้ง ๑๐ ทิศ อันประกอบด้วยองค์ ๑๒ (ทวาทศางคะ) คือ ๑.สูตระ, ๒.เคยะ , ๓.วยากรณะ, ๔.คาถา, ๕.อุทาน, ๖.นิทาน, ๗.อวทาน, ๘.อิตยุกตกะ (อิติวฤตตกะ), ๙.ชาตกะ, ๑๐.ไวปุลยะ, ๑๑.อัทภุตธรรม, ๑๒.อุปเทศ แม้นจะเป็นสิ่งที่เหล่าพระสาวกจะเคยได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ตาม พระโพธิสัตว์นั้นพึงหวังอยู่ในการสวดทรงจำรักษาไว้ อันเป็นสิ่งที่ควรแก่การบำเพ็ญในปรัชญาปารมิตา

[แก้อรรถว่า]
(พระนาคารชุนอธิบายขยายความ)

จากความก่อนหน้า ผู้ปรารถนาจะสำเร็จในการฟังพระธรรมคำสอนแห่งพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไปทั้ง ๑๐ ทิศ อันควรแก่การบำเพ็ญในปรัชญาปารมิตา พระธรรมคำสอนเหล่านั้น ในที่นี้คือ องค์ ๑๒ ฯ

[องค์ที่ ๑ ] บรรดา สุตตันตะ ทั้งหลายที่พระองค์ทรงตรัสมาโดยตรงเหล่าใด เหล่านั้นชื่อว่า สูตระ อันได้แก่ จตุราคม (อาคมทั้ง ๔) มหายานสูตรทั้งหลาย จนกระทั่งถึงปราติโมกษ์สูตร ๒๕๐ สิกขาบท ฯ นอกจากนี้ยังมีสูตรบางส่วนแยกออกจากพระไตรปิฎกอีกด้วย ทั้งหมดนี้เรียกว่า สูตระ


จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากจะเอาเฉพาะสูตระ ในสูตรปิฏก คือ ตัดส่วนปราติโมกษ์สูตร ที่อยู่ในวินัยปิฎกออก ก็จะเหลือพระสูตร ๒ ประเภท คือ ๑. อาคมสูตร ๒.มหายานสูตร

๑.อาคมสูตร

อาคมสูตร หรือบางทีเรียก ศราวกยานสูตร คือ พระสูตรในพระสุตตันตปิฎก ของฝ่ายสาวกยานทั้งหมดนั้นเอง ซึ่งก็มีหลายฉบับ ตามแต่ละนิกายนั้น ๆ

สาวกยานบางนิกาย จำแนกไว้ ๕ หมวด และสาวกยานอีกส่วนหนึ่งและมหายาน จำแนก อาคมสูตรไว้ ๔ หมวดใหญ่ เรียก จตุราคม

ส่วนที่ต่างกันคือ ระหว่างฝ่ายที่จัด ๔ หมวดและฝ่ายที่จัด ๕ หมวด คือ อาคมสูตร อื่นๆ ที่ลงหมวดทั้ง ๔ ไม่ได้ เช่น ธรรมบท อุทาน คาถาภาษิต ต่างๆ ชาตกะ อวทาน พระสูตรเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ

ฝ่ายที่จัด ๔ หมวด จะจัดลงหมวด ที่ไม่ได้เรียกว่า อาคม แต่เรียกว่า กษุทรกปิฏก
ฝ่ายที่จัด ๕ หมวด จะจัดลงหมวด ที่เรียกว่า อาคม เรียกว่า กษุทรกาคม

ความสำคัญของอาคมสูตรที่มหายานยังต้องใช้อยู่ คือเป็นที่รวบหลักธรรมพื้นฐานทั้งหมดของพุทธศาสนา ก่อนที่จะไปต่อยอดหรือขยายความไปเป็นแบบมหายาน หรือ วัชรยานในภายหลัง

สรุปหมวดหมู่ของอาคมสูตร จำแนกได้ ๕ หมวด ดังนี้

๑.๑ หมวด ทีรฆาคม หรือ ทีฆนิกาย
๑.๒ หมวด มัธยมาคม หรือ มัชฌิมนิกาย
๑.๓ หมวด สัมยุกตาคม หรือ สังยุตตนิกาย
๑.๔ หมวด เอโกตตราคม หรือ อังคุตตรนิกาย
๑.๕ หมวด กษุทรกาคม หรือ กษุทรกปิฏก หรือ ขุททกนิกาย


๒. มหายานสูตร

มหายานสูตร คือพระสูตร ที่มีเนื้อหาเป็นมติหรือความเชื่อเป็นแบบมหายาน ที่เกี่ยวข้องกับพระโพธิสัตว์ หรือการบำเพ็ญเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า หรือ อธิบายพุทธภาวะแบบมหายาน และรวมไปถึงพระสูตรแบบมนตรยานและตันตรยานในชั้นหลังด้วย

มหายานสูตร มีการจำแนกหลายแบบ เช่น การจัดหมวดต้นฉบับสันสกฤตที่ขุดค้นเจอหรือที่เหลืออยู่, แบบทิเบต, แบบจีน, แบบญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละแบบ ในแต่ละยุคที่ชำระคัมภีร์ ก็มีการจัดหมวดไม่เท่ากัน และยังจัดพระสูตรลงหมวด ไม่เหมือนกัน แต่ในที่นี้จะผสานแบบต่าง ๆ พอเป็นประเภทใหญ่ให้เห็นภาพกัน

๒.๑. หมวด ชาตกะและอวทาน
๒.๒. หมวด ปรัชญาปารมิตา
๒.๓. หมวด สัทธรรมปุณฑรีกะ
๒.๔. หมวด อวตังสกะ
๒.๕. หมวด รัตนกูฎ
๒.๖. หมวด นิรวาณ
๒.๗. หมวด มหาสันนิบาต
๒.๘. หมวด สูตรสันนิบาต
๒.๙. หมวด ตันตระ


รายละเอียดแต่ละประเภทจะนำเสนอในครั้งต่อๆ ไป

(หมายเหตุ ทวาทศางคะ ในทางเถรวาท เรียกว่า หมวดธรรมชุดนี้ว่า นวังคสัตถุสาสน์ เพราะจำแนกไว้ ๙ ประเภท คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ซึ่งฝ่ายมหาสังฆิกะ และมหายานบางคัมภีร์ก็จำแนก ๙ ประเภท เช่นกัน แต่แตกต่างกันอยู่เล็กน้อย เรื่องนี้มีความยาวมากไม่ขอลงรายละเอียด )

 

Loading

Be the first to comment on "พระสูตร ๒ สารบบ ของฝ่ายมหายาน"

Leave a comment