อุษณีษวิชัยธารณี ฉบับที่เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

อุษณีษวิชัยธารณี ฉบับที่เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต

อุษณีษวิชัยธารณี เป็นธารณีที่เป็นที่รู้จักกันมาก อีกธารณีหนึ่งของฝ่ายมหายาน ซึ่งปรากฏอยู่หลายฉบับ หลายสำนวนมาก นอกจากพบฉบับสันสกฤตที่มีหลายฉบับซึ่งพบในหลายแหล่งแล้ว ยังพบฉบับแปลใน มองโกล อูยกูร์ โขตาน ทิเบต จีน โดยเฉพาะในพระไตรปิฎกจีนและทิเบต ก็ปรากฎฉบับแปลอยู่หลายสำนวน


อุษณีษวิชัยธารณี นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นต้นฉบับให้ อุณหิสสวิชัยคาถา คาถาต่ออายุของพุทธศาสนาเถรวาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในฉบับของฝ่ายมหายานบอกอานิสงค์ไว้ว่า สามารถชำระอุปสรรค ๓ คือ กรรม กิเลส วิบาก ให้บริสุทธิ์ ทำให้ผลวิบากจากอกุศลกรรมที่เคยทำไว้ เช่น การมีอายุสั้น การเกิดในทุคติอบายภูมิ ไม่มีผล จึงทำให้มีอายุยืนยาว แม้เสียชีวิตจักได้เกิดในสุคติ คือ เป็นมนุษย์และเทวดา


อุษณีษวิชัยธารณี ฉบับที่เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่ฉบับดั้งเดิม แต่เป็นฉบับชำระ โดย พุทธสมาคมเมืองราวัง รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย (Rawang Buddhist Association) โดย อ. Chua Boon Tuan (จีนฮกเกี้ยน : 蔡文端 ) ผู้เป็นประธานสมาคม และเจ้าของเว็บไซต์ ธารณีปิฎก (dharanipitaka) โดยท่านศึกษาภาษาสันสกฤต และอักษรสิทธัมในพระไตรปิฎกจีนด้วยตัวเอง

อุษณีษวิชัยธารณี ฉบับที่ อ. Chua Boon Tuan ถอดถ่ายเสียงกลับเป็นภาษาสันสกฤต ดูเหมือนว่า เป็นงานที่มีพื้นฐานจากงานของ ไดเซ็ตสึ เททาโร่ ซูซูกิ (鈴木 大拙 貞太郎) นักวิชาการและนักบวช ชาวญี่ปุ่น-อเมริกัน ที่ทำการศึกษาในปี ค.ศ. 1935


ซึ่งมีการปรับแก้เล็กน้อย โดยมากเป็นการปรับเสียงสระ และการตัดบทสมาสสนธิ โดยอิงเนื้อหาธารณีฉบับอักษรจีน จาก อุษณีษวิชัยธารณีสาธยายวิธี (佛頂尊勝陀羅尼念誦儀軌法) หมายเลข ๙๗๒ ฉบับแปลโดย พระอโมฆวัชระ ในสมัยราชวงศ์ถัง ในการถอดถ่ายเสียง

และอาจจะ โดยอาศัยฉบับอักษรสิทธัม ภาษาสันสกฤต ในพระไตรปิฎกจีน ช่วยในการชำระ เช่น คู่มือวิธีปฏิบัติโยคะแห่งอุษณีษวิชัย ( 尊勝佛頂脩瑜伽法軌儀 ) หมายเลข ๙๗๓ แปลโดย พระศุภกรสิงหะ ในสมัยราชวงศ์ถัง

ซึ่งธารณีฉบับชำระนี้ ถูกปรับอีกครั้งเล็กน้อยนำไปใช้ในหนังสือ อุษณีษวิชัยธารณีสูตร ฉบับแปล ภาษาจีน/อังกฤษ/มาเลย์ แปลโดย สมาคมพุทธอุษณีษวิชัยแห่งมาเลเซีย (Malaysian Usnisa Vijaya Buddhist Association : MUVBA) ซึ่งตัวเนื้อความพระสูตรแปลจาก อุษณีษวิชัยธารณีสูตร (佛頂尊勝陀羅尼經) หมายเลข ๙๖๗ แปลโดย พระพุทธปาละ สมัยราชวงศ์ถัง แต่ตัวธารณีเป็น ธารณีฉบับชำระของ อ. Chua Boon Tuan


และถูกนำไปทำเป็นเพลงโดย ไอมี โอย (Imee Ooi) นักร้องเพลงแนวพุทธร่วมสมัย ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน และ Tinna Tinh นักร้องชาวเวียดนาม-เชค ในชื่อเพลง Usnisa Vijaya Dharani

โดยปกติ ตัวบทธารณี มักจะไม่แปล เพราะถือเป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ ให้สวดตามนั้น ซึ่งส่วนมากแปลเอาความหมายทั้งประโยคไม่ได้ เพราะว่า ๑.ไม่มีความหมายโดยตรง ๒.ผิดไวยากรณ์ หรือ ไม่ครบประโยค ๓.เป็นเสียงของมนตร์ที่เปล่งออกมาเป็นจังหวะ

แต่ในที่นี้จะแปลไว้ให้เห็น ความหมายของศัพท์ โดยธารณีเป็นภาษาสันสกฤตแบบผสม ปริวรรตโดยยังไม่ตัดบทสมาสสนธิ และแปลโดยเพจวิตรรกะ มีเนื้อหาดังนี้

————————–

ตัวบทปริวรรตแบบแผน

————————–

[I] นโม ภควเต ไตฺรโลกฺย ปฺรติวิศิษฺฏาย พุทฺธาย ภควเต๚ ตทฺยถาฯ

[II] โอํ วิโศธย วิโศธย ฯ อสมสมสมนฺตาวภาสสฺผรณ คติคหน สฺวภาววิศุทฺเธฯ อภิษิญฺจตุ มามฺ๚ สุคต วรวจน อมฤตาภิเษไก มหามนฺตฺรปไท๚

[III] อาหร อาหร อายุะสํธารณิฯ โศธย โศธย คคนวิศุทฺเธ๚ อุษฺณีษวิชยวิศุทฺเธ สหสฺรรศฺมิ สํโจทิเต๚

[IV] สรฺวตถาคตาวโลกนิ ษฏฺปารมิตาปริปูรณิ๚ สรฺวตถาคตมติ ทศภูมิปฺรติษฺฐิเต๚ สรฺวตถาคตหฤทยาธิษฺฐานาธิษฺฐิต มหามุเทฺรฯ วชฺรกาย สํหตนวิศุทฺเธ๚ สรฺวาวรณาปายทุรฺคติ ปริวิศุทฺเธฯ ปฺรตินิวรฺตย อายุะ ศุทฺเธฯ สมยาธิษฺฐิเต๚

[V] มณิ มณิ มหา มณิฯ ตถตา ภูตโกฏิ ปริศุทฺเธฯ วิสฺผุฏ พุทฺธิ ศุทฺเธ๚ ชย ชยฯ วิชย วิชยฯ สฺมร สฺมรฯ สรฺว พุทฺธาธิษฺฐิต ศุทฺเธฯ วชฺรี วชฺรครฺเภ วชฺรํา ภาวตุ มม ศรีรํ๚

[VI] สรฺวสตฺตฺวานามฺ จ กาย ปริวิศุทฺเธฯ สรฺวคติ ปริศุทฺเธ๚ สรฺวตถาคต สิญฺจ เม สมาศฺวาสยนฺตุฯสรฺวตถาคต สมาศฺวาสาธิษฺฐิเต ๚

[VII] พุธฺย พุธฺยฯ วิพุธฺย วิพุธฺยฯ โพธย โพธยฯ วิโพธย วิโพธยฯ สมนฺตปริศุทฺเธ๚ สรฺวตถาคต หฤทยาธิษฺฐานาธิษฺฐิต มหามุเทฺร สฺวาหา๚


คำอ่านและคำแปล

ส่วนที่ [I]

[คำอ่าน]

นะโม ภะคะวะเต ไตร-โลกฺยะ ประติ-วิศิษฏายะ พุทธายะ ภะคะวะเต๚ ตัทยะถาฯ

————-

[คำแปล]

ขอน้อบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประเสริฐที่สุดใน ๓ โลก [1] พระพุทธเจ้า พระภควันต์[2]พระองค์นั้น ๚
(มนตร์ธารณีมี) ดังนี้ ฯ

————-

[หมายเหตุ]

[1] ๓ โลก ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ

[2] ภควต แปลว่า โชค ความเจริญ เกียรติ ความงาม เป็นการเรียกสิ่งที่เคารพบูชาสูงสุด หรือ พระผู้เป็นเจ้า ในสังคมอินเดียโบราณ ไทยมักแปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า พระภควันต์ ในที่นี้แปลไว้ทั้งสองแบบ


ส่วนที่ [II]

[คำอ่าน]

โอม วิ-โศธะยะ วิ-โศธะยะ ฯ อะสะมะ-สะมะ-สะมันตา-วะภาสัส-ผะระณะ [1] คะติ-คะหะนะ สฺวะ-ภาวะ-วิ-ศุทเธฯ อะภิษิญจะ-ตุ มาม๚

สุคะตะ วะระ-วะจะนะ อะ-มฺฤตา-ภิเษไก[2] มะหา-มันตระ-ปะไท๚

————-

เนื้อร้องบางแห่งตัดบทสมาสสนธิ

[1] สมนฺตาวภาสสฺผรณ เป็น สมนฺต อวภาส สฺผรณ (สะมันตะ อะภาสะ สฺผะระณะ)

[2] อมฤตาภิเษไก เป็น อมฤต อภิเษไก (อะมฺฤตะ อะภิเษไก )

————-

[คำแปล]

โอม จงชำระให้บริสุทธิ์ จงชำระให้บริสุทธิ์ ฯ สิ่งที่ไม่มีอะไรมาเทียบได้อันส่องแสงสว่างไสว [1] ที่แผ่ซ่านไปทั่วทุกหนทุกแห่งถึงป่ารกชัฏแห่งคติ [2] ข้าแต่ผู้มีสวภาวะบริสุทธิ์หมดจด [3] ฯ ขอจงอภิเษก[4]แก่ข้าพระองค์๚ จงอภิเษกน้ำอมฤตด้วยบทมหามนตร์ ซึ่งเป็นถ้อยคำอันประเสริฐของพระสุคตเจ้า (พระพุทธเจ้า)

————-

[หมายเหตุ]

[1] อาจหมายถึง องค์พระพุทธเจ้าเอง หรืออาจหมายถึง พระอุณหิส หรือ พระอุษณีษะ คือ แผ่นกระดูกส่วนหน้าผากหรือกระหม่อมที่นูนออกมา ของพระพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในลักษณะมหาบุรุษ ( บาลี: อุณหิสสีโส หรือ สันสกฤต อุษฺณีษศีรฺษะ )

ในทางมหายาน มักมีเรื่องราวเกี่ยว พระอุษณีษะของพระพุทธเจ้าที่สำแดงอานุภาพเปล่งแสงพุทธรังสี ในเชิงปาฏิหารย์อยู่บ่อยครั้ง เช่นใน ศูรางคมมนตร์ เป็นต้น

หรือไม่ก็หมายถึง ตัวอุษณีษวิชัยธารณีเอง ซึ่งมาจากปวงพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่มีพระไวโรจนะเป็นประธาน โดยมีพระอุษณีษวิชัยเทวีโพธิสัตว์เป็น บุคคลาธิษฐานของธารณี

[2] คติ ๖ ได้แก่ ๑.นรก ๒.เปรต ๓.เดรัจฉาน ๔. อสูร ๕.มนุษย์ ๖.เทวดา (รวมพรหม) แต่ในฝ่ายเถรวาทมีเพียง ๕ คติ คือไม่มี อสูร

[3] สวภาวะ สภาวะที่อยู่ได้ด้วยตนเอง

[4] อภิเษก ความหมายเดิมคือการ การใช้น้ำรดลงศีรษะ ในพิธีสถาปนาหรือแต่งตั้ง


ส่วนที่ [III]

[คำอ่าน]

อาหะระ อาหะระ อายุห์-สัน-ธาระณิฯ[1] โศธะยะ โศธะยะ คะคะนะ-วิ-ศุทเธ๚

อุษณีษะ-วิชะยะ-วิ-ศุทเธ สะหะสระ-รัศมิ สัญ-โจทิเต๚ [2]

————-

[1] สํธารณิ สํ ในที่นี้อักษรอนุนาสิก คือ น จึงอ่านว่า สัน แต่บางแห่งถอดเป็น สัม

[2] สํโจทิเต สํ ในที่นี้อักษรอนุนาสิก คือ ญ จึงอ่านว่า สัญ แต่บางแห่งถอดเป็น สัม

————————–

[คำแปล]

จงนำมา จงนำมาด้วยเถิด[1] ผู้ค้ำชูชีวิตให้ยืนยาว ฯ จงชำระ จงชำระด้วยเถิด ผู้บริสุทธิ์ดุจท้องฟ้านภากาศ ๚ บริสุทธิ์สมบูรณ์ด้วยพระอุษณีษะอันมีชัย ที่มีแสงรัศมีนับพันส่องแสงพวยพุ่งออกมามากมาย

————-

[หมายเหตุ]

[1] อาหะระ มีหลายความหมาย เช่น ทำให้ นำเข้ามา นำไปถวายหรือสังเวย การทำให้สำเร็จ การจับ ยึด ยื้อ ไว้ และในที่นี้ ยังมีความหมายซ้อนอยู่ คือยังแปลได้ว่า อากาศที่หายใจเข้าไป การหายใจเข้า ซึ่งเป็นกิริยาเกี่ยวข้องกับการมีชีวิต


ส่วนที่ [IV]

[คำอ่าน]

สรรวะ-ตะถาคะตา-วะโลกะนิ ษัฏ-ปาระมิตา-ปะริปูระณิ๚ [1] สรรวะ-ตะถาคะตะ-มะติ ทะศะ-ภูมิ-ประติษฐิเต๚

สรรวะ-ตะถาคะตะ-หฤทะยา-ธิษฐานา-ธิษฐิตะ มะหา-มุเทร ฯ [2] วัชฺระ-กายะ สังหะตะนะ-วิ-ศุทเธ๚

สรรวา-วะระณา-ปายะ-ทุรคะติ ปะริ-วิ-ศุทเธฯ [3] ประติ-นิวรรตะยะ อายุห์ ศุทเธฯ สะมะยา-ธิษฐิเต๚ [4]

————-

เนื้อร้องบางแห่ง ตัดบทสนธิ ของ

[1] ตถาคตาวโลกนิ เป็น ตถาคต อวโลกนิ (ตะถาคะตะ อะวะโลกะนิ)

[2] หฤทยาธิษฺฐานาธิษฺฐิต เป็น หฤทย อธิษฺฐาน อธิษฺฐิตะ (หฤทะยะ อธิษฐานะ อะธิษฐิตะ )

[3] สรฺวาวรณาปายทุรฺคติ เป็น สรฺว อาวรณ อปาย ทุรฺคติ (สรรวะ อาวะระณา อะปายะ ทุรคะติ)

[4] สมยาธิษฺฐิเต เป็น สมย อธิษฺฐิเต (สะมะยะ อะธิษฐิเต)

————-

[คำแปล]

ปวงพระตถาคตเจ้า ผู้ทรงเพ่งมองดู[โลก]อยู่ทั้งหลาย ทรงสำเร็จบริบูรณ์ดีแล้ว ในปารมิตาทั้ง ๖ ๚ [1] ปวงพระตถาคตเจ้า ผู้ทรงพระปรีชาญาณทั้งหลาย ทรงสำเร็จมั่นคงดีแล้ว ในภูมิทั้ง ๑๐ ๚ [2]

ก็มหามุทรานี้ [3] มาจากปวงพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ที่ทรงได้อธิษฐาน[4]ด้วยอำนาจจากพระหฤทัยของพระองค์เอง ฯ ด้วยวัชระกาย (กายเพชร) อันแข็งแกร่งและบริสุทธิ์ ๚

(ซึ่งธารณีนี้) สามารถชำระอุปสรรคเครื่องขวางกั้น [5] ที่จะนำไปสู่อบายภูมิและทุคติ[6] ทั้งปวง ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ ฯ ทำให้เวียนกลับไปสู่ชีวิตที่บริสุทธิ์หมดจดฯ เป็นไปด้วยด้วยอำนาจแห่งคำมั่นสัญญา(ของพระพุทธเจ้า)

————-

[หมายเหตุ]

[1] ปารมิตาทั้ง ๖ คือบารมีที่พระโพธิสัตว์ฝ่ายมหายานควรบำเพ็ญ อันได้แก่ ทาน ศีล กษานติ (ขันติ) วีรยะ ธยานะ(ฌาน) ปรัชญา(ปัญญา)

[2] ภูมิทั้ง ๑๐ หรือ ทศภูมิ หรือ โพธิสัตว์ทศภูมิ เป็นลำดับขั้นการบรรลุพระโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายาน หากบรรลุครบทั้ง ๑๐ ภูมิแล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้แก่ ประมุทิตา วิมลา ประภากรี อรจิษมตี สุทุรชยา อภิมุขี ทูรังคมา อจลา สาธุมตี ธรรมเมฆ

[3] มหามุทรา เฉพาะในที่นี้ หมายถึง การบำเพ็ญภาวนาในธารณีนี้ เช่น สวดสาธยาย หรือการทำสาธนะกรรม โยคะกรรมในธารณีนี้

[4] อธิษฐาน มีความหมายหลายนัยยะ เช่น ตั้งใจกำหนดเอาไว้ ความตั้งใจมั่นคงในจุดมุ่งหมายของตน ความตั้งจิตปรารถนา ในพุทธแบบตันตระ อย่าง มนตรยานและวัชรยาน อธิษฐาน (加持 : อธิษฺฐาน) มักหมายถึง อำนาจ ในการให้พร ให้คุณ ช่วยเหลือ ก็ได้ ในความหมายอย่างนี้ในภาษาไทยก็มีการใช้แนว ๆ นี้ เช่น การอธิษฐานจิตปลุกเสก เป็นต้น

[5] อาวรณ (อาวะระณะ) คือ อุปสรรค หรือ เครื่องกั้น พุทธศาสนาจำแนกไว้ จำแนกไว้ ๓ อย่าง ๑. กรรมเป็นเครื่องกั้น (บาลี.กมฺมาวรณ, สัน.กรฺมาวรณ ) ๒.กิเลสเป็นเครื่องกั้น (บาลี.กมฺมาวรณ , สัน. เกฺลศาวรณ) ๓. วิบากเป็นเครื่องกั้น (บาลี. สัน. วิปากาวรณ) ในที่นี้หมายถึง เฉพาะ กรรม กิเลส วิบาก ฝ่ายอกุศล ที่จะนำไปสู่ อบาย และ ทุคติ

[6] ทุคติ อบายภูมิ คือ ภพภูมิที่เป็นทุกข์แบ่งตาม คติ ๖ ได้ ๓ ประเภท คือ ๑.นรก ๒.เดรัจฉาน ๓.เปรต แบ่งตามภูมิได้ ๔ หรือที่เรียกว่า อบายภูมิ มี ๑.สัตว์นรก ๒.กำเนิดดิรัจฉาน ๓.เปรตวิสัย ๔.พวกอสุรกาย (ตามคติ อสุรกาย ถือเป็นคติเปรต แต่อยู่คนละภูมิกับเปรต )


ส่วนที่ [V]

[คำอ่าน]

มะณิ มะณิ มะหา-มะณิฯ ตะถะตา ภูตะโกฏิ ปะริ-ศุทเธฯ วิสผุฏะ พุทธิ ศุทเธ๚

ชะยะ ชะยะฯ วิชะยะ วิชะยะฯ สฺมะระ สฺมะระฯ สรรวะ-พุทธา-ธิษฐิตะ[1] ศุทเธฯ วัชฺรี วัชฺระ-ครรเภ วัชฺราม ภาวะตุ มะมะ ศะรีรัม๚

————-

เนื้อร้องบางแห่ง ตัดบทสนธิ ของ

[1] พุทฺธาธิษฺฐิต เป็น พุทฺธ อธิษฺฐิต (พุทธะ อะธิษฐิตะ)

————-

[คำแปล]

แก้วมณี แก้วมณี แก้วมณีอันยิ่ง ฯ ความเป็นเช่นนั้นเอง(ตถตา) คือความเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งปวง (ภูตโกฏิ) นั้นบริสุทธิ์หมดจด ฯ พุทธิปัญญาอันแจ่มแจ้งยิ่ง นั้นบริสุทธิ์หมดจด ๚

ชัยชนะ ชัยชนะ ฯ ชัยชนะอันยิ่ง ชัยชนะอันยิ่ง ฯ จดจำไว้ จดจำไว้ ฯ อำนาจแห่งปวงพระตถาคตเจ้าทั้งหลายนั้นบริสุทธิ์หมดจด ฯ ขอพระวัชรครรภ์ผู้ถือวัชระ จงให้ร่างกายของข้าพระองค์เป็นเหมือนวัชระ๚


ส่วนที่ [VI]

[คำอ่าน]

สรรวะ-สัตตวานาม จะ กายะ ปะริ-วิศุทเธฯ สรรวะ-คะติ ปะริ-ศุทเธ๚

สรรวะ-ตะถาคะตะ สิญจะ เม สะมาศวาสะ-ยันตุฯ สรรวะ-ตะถาคะตะ สะมาศวาสา-ธิษฐิเต[1] ๚

————-

เนื้อร้องบางแห่ง ตัดบทสนธิ ของ

[1] สมาศฺวาสาธิษฺฐิเต เป็น สมาศวาสะ อะธิษฐิเต (สะมาศวาสะ อะธิษฐิเต)

————-

[คำแปล]

และสรรพสัตว์ทั้งปวง ก็มีกายบริสุทธิ์หมดจด ฯ คติทั้งปวง ก็บริสุทธิ์หมดจด๚

ขอปวงพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย จงเทน้ำแห่งการปลอบประโลม [1] ลงที่ข้าพระองค์๚

ซึ่งปวงพระตถาคตเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ทรงอำนาจในการปลอบประโลมฯ

[หมายเหตุ]

[1] สมาศฺวาส แปลว่า ปลอบประโลม ให้กำลังใจ, ปลอบใจ บรรเทา(ทำให้โล่งใจ) และยังหมายถึง มั่นใจ วางใจ เชื่อถือได้ และในที่นี้ ยังมีความหมายซ้อนอยู่ คือยังแปลได้ว่า ฟื้นคืนลมหายใจ เทียบบาลี คือ สมสฺสาส คือ ทำให้สดชื่น ให้เบาใจ ให้หายใจออก


ส่วนที่ [VII]

[คำอ่าน]

พุธยะ พุธยะฯ วิ-พุธยะ วิ-พุธยะฯ โพธะยะ โพธะยะฯ วิ-โพธะยะ วิ-โพธะยะฯ สะมันตะ ปะริศุทเธ๚

สรรวะ-ตะถาคะตะ-หฤทะยา-ธิษฐานา-ธิษฐิตะ มะหา-มุเทร สฺวาหา๚

————-

ประโยคตัดบทสนธิ ได้อธิบายด้านบนแล้ว

————-

[คำแปล]

จงตื่นรู้ จงตื่นรู้ฯ จงรู้แจ้ง จงรู้แจ้งฯ จงถึงโพธิ จงถึงโพธิฯ จงตรัสรู้ จงตรัสรู้ฯ ทุกสิ่งทุกอย่างถ้วนทั่วทั้งหมดทั้งสิ้น ก็บริสุทธิ์หมดจด ๚

ก็มหามุทรานี้ มาจากปวงพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงได้อธิษฐานด้วยอำนาจจากพระหฤทัยของพระองค์เหล่านั้น ฯ สวาหา๚


Loading

Be the first to comment on "อุษณีษวิชัยธารณี ฉบับที่เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต"

Leave a comment