มโหระทึก ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับแปลไทย คืออะไรกันแน่

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

มโหระทึก ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับแปลไทย คืออะไรกันแน่


เมื่อมีคนเสนอว่า พระไตรปิฎกฉบับแปลไทย มีการอ้างถึง มโหระทึก เครื่องดนตรีที่ใช้ประโคมชนิดหนึ่งที่ทำด้วยโลหะ ซึ่งไม่ปรากฎว่ามีอยู่ที่อินเดีย แต่มีอยู่ที่ไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนใต้ของจีน ดังนั้นการที่ พระไตรปิฎกฉบับแปลไทย อ้างถึง มโหระทึก ก็เท่ากับ อินเดียไม่ใช่แหล่งกำเนิดพระพุทธศาสนา นี้เป็นข้อเสนอของคนบางกลุ่ม

ตัวอย่างบนสื่อออนไลน์ ที่ใช้การอ้างถึงกลองมโหระทึก

บทความนี้จะอธิบายลูกเพจให้หายสงสัย ในกรณีที่เห็นข้อมูลทำนองนี้ในโลกอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะที่มาจากกลุ่มที่เชื่อว่า พุทธศาสนาเกิดที่แผ่นดินไทย โดยกลุ่มนี้มักกล่าวว่า ไม่มีใครสามารถอธิบาย หรือโต้แย้งเรื่องนี้ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว มีผู้รู้อยู่มากแต่ท่านเหล่านั้นไม่ได้มีความจำเป็นที่จะมาอธิบายในเรื่องเหล่านี้


ขอเกริ่นสักเล็กน้อย หนึ่งในความยากลำบากของการแปลเอกสารโบราณในทุกภาษา โดยเฉพาะคัมภีร์ทางศาสนา ความยากประการหนึ่ง นอกจากระบบไวยากรณ์แต่ละภาษาที่ไม่เหมือนกันแล้ว คือการแปลสิ่งที่มีอยู่ในสมัยโบราณให้เหมาะสมสอดคล้องกับยุคสมัย และให้คนในแต่ละท้องถิ่นเข้าใจ

เช่น มาตราวัดชั่งตวง พันธุ์สัตว์และพืช วัตถุอุปกรณ์ต่างๆ ชื่อเฉพาะ ชื่อกลุ่มคนชนชาติ ฯลฯ

ซึ่งบางท้องถิ่นไม่มีสิ่งเหล่านั้น หรือ สิ่งเหล่านั้นไม่มีแล้วในปัจจุบัน การแปลจึงเป็นสิ่งยาก สิ่งที่มักทำกันก็คือ การทับศัพท์ แต่วิธีนี้หากผู้อ่านไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาก็ยากที่จะเข้าใจว่าสิ่งนั้นคืออะไรกันแน่ ผู้แปลอาจจะใช้วิธีการเทียบกับสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นแทน


ในการแปลลักษณะนี้ก็มีปรากฎใช้ในการแปลพระไตรปิฎกในจีนและทิเบต และพระไตรปิฎกบาลีแปลไทยก็ใช้วิธีเหล่านี้เช่นกัน พระเถระผู้แปลมีจำนวนหลายท่าน มีรูปแบบคำแปลแตกต่างกันออกไป บางท่านใช้ทับศัพท์ บางท่านแปลเทียบกับสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นแทน หรืออ้างอิงตามโบราณจารย์ที่ได้อธิบายไว้ก่อน โดยความประสงค์จะให้ผู้อ่านได้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นโดยง่าย ซึ่งสิ่งเหล่านั้นอาจไม่มีในไทย แต่เมื่อท่านแปลเทียบสิ่งที่มีในไทยแทน แต่ก็เผอิญไม่มีที่อินเดีย คำแปลบางคำนั้นแม้เป็นคำเดียวกันแต่แปลไปคนละแบบก็มี

ตัวอย่างการแปลเทียบกับสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น ในพระวินัยจีนยุคแรก แปลคำว่า อมฤต โสมะ ว่าเป็น 甘露 หมายถึง น้ำค้างหวาน ที่เล่าจื๊อ ใช้เรียกน้ำค้างอันอร่อยที่แผ่ซ่านไปทั่วอาณาจักรในรัชสมัยของราชาปราชญ์( Sage King) แต่ ใช้สื่อถึง น้ำโสม หรือ น้ำอมฤต คือ น้ำแห่งความไม่ตาย ในเทวปกรณัมของพวกอารยัน ซึ่งในความหมายของพุทธศาสนา หมายถึง ความอมตะ ความไม่ตาย อมตธรรม คือพระพุทธธรรมที่นำไปสู่ความไม่ตายหรือพระนิพพาน

ในดีก็มีเสีย มีหลายคนไม่เข้าใจจุดประสงค์การแปลในข้อนี้ ประกอบกับในปัจจุบันเทคโนโลยีการสืบค้นนั้นง่ายขึ้น หลายคนจึงมีข้อสงสัยว่า สิ่งที่แปลนั้นมีอยู่ที่ อินเดียจริงหรือ บางคนอาจจะเลยเถิดไปถึงว่า ไทยนี้แหละคือ ดินแดนในพระไตรปิฎก

เช่น คำว่า “มโหระทึก” ในพระไตรปิฎกฉบับแปลไทย ฉบับมหาจุฬา ใส่เชิงอรรถไว้ที่ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ตติยปัณณาสก์ ราชวรรค อักขมสูตร ไว้ว่า

มโหระทึก หมายถึง กลองโลหะชนิดหนึ่งของชนชาติที่อยู่ตอนใต้ประเทศจีน ใช้ตีเป็นสัญญาณ และประโคม (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)

กลองทอง (สำริด) หรือ มโหระทึก อายุราว สองพันกว่าปี ที่พบในเวียดนาม ที่ยังมีความสมบูรณ์ : Metmuseum

ทำให้หลายท่านเข้าใจว่า มีการใช้กลองมโหระทึกจริง ๆ ในพระไตรปิฎก แต่กลองมโหระทึก ไม่มีหลักฐานว่าถูกใช้ในอินเดีย ทำให้หลงประเด็นไปว่า

หากอินเดียไม่มีหลักฐานการใช้กลองมโหระทึก ก็เท่ากับว่า อินเดียไม่ใช่ดินแดนที่พระไตรปิฎกกล่าวถึงที่แท้จริง

ซึ่งในภาษาไทย เราเรียกกลองมโหระทึก อีกคำว่า กลองทอง เพราะเป็นกลองที่ทำจากทองสำริด (ฺBronze) ดังนั้น กลองทอง จึงเป็นกลองชนิดเดียวกันกับ กลองมโหระทึก ที่ถูกระบุในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลไทย

เพราะในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา ในฉบับแปลไทยมีเรียกกลองชนิดหนึ่งว่า “สุวรรณเภรีย์” ที่แปลว่า กลองทอง แต่ปัจจุบันประเทศอินเดียที่อ้างเป็นชมพูทวีปหรือ มัชฌิมประเทศ และ ประเทศศรีลังกาที่อ้างว่าเป็นลังกาทวีป ไม่มีหลักฐานการใช้กลองมโหระทึกเลย

สรุปว่า ชมพูทวีป หรือ มัชฌิมประเทศ และลังกาทวีป ไม่ได้อยู่ที่ ประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา นี้คือข้อเสนอของบางท่านกล่าว บทความนี้จะอธิบายถึงความเข้า


มาดูคำว่า “มโหรทึก” ที่ใช้แปลพบที่ใดบ้าง โดยท่านใช้ทั้งคำว่า “มโหรทึก” และ “มโหระทึก” แต่พบไม่มากนัก

ในพระไตรปิฎกฉบับแปลไทย ฉบับหลวง เจอเฉพาะในพระสูตร ราว ๑๐ แห่ง ส่วนใน ฉบับมหาจุฬา เจอเฉพาะในพระสูตร ราว ๑๓ แห่ง ซึ่งเจอในพระสูตรต่างกันเล็กน้อยแต่ใช้ศัพท์ประเภทเดียวกัน โดยศัพท์บาลีที่แปลว่า มโหระทึก พบถึง ๓ กลุ่ม ซึ่งในบางพระสูตรพบคำเหล่านี้อยู่ด้วยกัน โดยพระเถระผู้แปล จะเลือกแปลคำใดคำหนึ่งว่า มโหระทึก เพียงคำเดียว

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างจากฉบับหลวงจาก

อังคุตตรนิกาย ๓ แห่ง : ในอักขมสูตร ๒ แห่ง โสตวสูตร ๑ แห่ง

ขุททกนิกาย ชาดก ๔ แห่ง : ในโสณนันทชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก วิธูรชาดก มีอย่างละแห่ง

ขุททกนิกาย อปทาน ๒ แห่ง ในโสณณกิงกณิยเถราปทาน มหากัปปินเถราปทาน มีอย่างละแห่ง

และพุทธวงศ์ ๑ แห่ง ในรัตนะจงกรมกัณฑ์

จัดกลุ่มได้ ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้


๑. “ติณว”

พบใน อักขมสูตร และ โสตวสูตร ( เภริปณวสงฺขติณว : กลอง บัณเฑาะว์ สังข์ มโหระทึก)


๒. “ทินฺทิม”

และพบรูปที่แตกต่าง ในฉบับบาลีอื่นและในพระสูตรสลับกันอีกหลายรูปคือ ทิณฺฑิม เทนฺทิม เทณฺฑิม ในอรรถกถายังพบ เฑณฺฑิม ฑิณฺฑิม

โสณนันทชาดก และ ภูริทัตชาดก ใช้ “ทินฺทิม” (เภรี มุทิงฺคา จ สงฺขา ปณวทินฺทิมา : กลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ และมโหรทึก )

วิธูรชาดก ใช้ เทนฺทิม (..ปณวเทนฺทิมา : .. บัณเฑาะว์ มโหรทึก)

โสณณกิงกณิยเถราปทาน ใช้ เทณฺฑิม (เภริโย ปณวาปิจ สงฺขา จ เทณฺฑิมา … ทุนฺทุภิ : กลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ มโหระทึก ) และมีคำว่า ทุนฺทุภิ ด้วย

รัตนะจงกรมกัณฑ์ ใช้ เทณฺฑิม (สงฺขา จ ปณวา …เทณฺฑิมา : สังข์ บัณเฑาะว์และมโหรทึก)


๓. “ทุนฺทุภิ”

ฉบับหลวง พบใน มโหสถชาดก ใช้ ทุนฺทุภี ส่วน เทนฺทิม ท่านแปลว่ากลองเล็ก (สพฺพวีณา เภริโย เทนฺทิมานิ… ทุนฺทุภี : พิณทั้งปวง.. กลองเล็กกลองใหญ่และมโหรทึก)

มหากัปปินเถราปทาน ใช้ ทุนฺทุภิ (หํสทุนฺทุภินิสฺสโน : พระสุรเสียงเหมือนหงส์และมโหรทึก)


ส่วนในพระไตรปิฎกแปลภาษาไทยฉบับจุฬาและอรรถกถาแปลไทย ก็มีลักษณคล้ายๆกัน โดยจะยกส่วนที่น่าสนใจมาบางส่วน

มัชฌิมนิกาย ทันตภูมิสูตร บาลีว่า “เภริปณฺฑวสงฺขทิณฺฑิม”

ฉบับหลวง แปลว่า กลองใหญ่(เภริ) บัณเฑาะว์(ปณฺฑว) สังข์(สงฺข) และกลองเล็ก(ทิณฺฑิม) ส่วนฉบับมหาจุฬา แปล กลองศึก(เภริ) มโหระทึก(ปณฺฑว) สังข์(สงฺข) และกลองเล็ก(ทิณฺฑิม)

ทิณฺฑิม ในฉบับมหาจุฬากลับไม่ถูกแปลว่า มโหระทึก แต่แปล ปณฺฑว ว่า มโหระทึก แทน เพราะในคัมภีร์ปปัญจสูทนี ส่วนอรรถกถาทันตภูมิสูตร แปลไทยกล่าวว่า “บทว่า ปณฺฑโว แปลว่า มโหระทึก” ซึ่งในฉบับบาลีใช้ว่า “ปณฺฑโวติ ฑิณฺฑิโม” (ม. ทินฺทิโม) แต่ที่น่าแปลกคือ ท่านกลับไม่แปล ทิณฺฑิม ว่า มโหระทึก

ในอังคุตตรนิกาย นาคสูตร บาลีว่า “เภริปณวสงฺขติณว”

ฉบับหลวง แปลเพียง “กลอง บัณเฑาะว์และสังข์” ไม่แปล ติณว ส่วนฉบับมหาจุฬา แปลว่า “กลอง บัณเฑาะว์ สังข์ และมโหระทึก” เพราะในคัมภีร์มโนรถปูรณี ส่วนอรรถกถานาคสูตร แปลไทยกล่าวว่า “มโหระทึก ชื่อว่าติณวะ” ซึ่งในฉบับบาลีใช้ว่า “ติณโวติ เฑณฺฑิโม” (ฉ.ม. ฑิณฺฑิโม)

ในขุททกนิกาย ทัพพมัลลปุตตเถราปทาน บาลีว่า “จตุทฺทิสา ทุนฺทุภิโย นาทยึสุ อมานุสา”

ฉบับหลวงว่า “อมนุษย์ตีกลองดังทั่วทั้งสี่ทิศ” ฉบับมหาจุฬาว่า “เหล่าอมนุษย์ตีกลองอยู่ทั่วทั้ง ๔ ทิศ” ในที่นี้ไม่มีฉบับใดเลยที่แปล ทุนฺทุภิ ว่า กลองมโหระทึก

ซึ่งทั้งที่ใน คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี ส่วนอรรถกถาทัพพมัลลปุตตเถราปทาน แปลไทยกล่าวว่า “บทว่า ทุนฺทุภิโย ความว่า เภรีท่านเรียกว่าทุนทุภิ กลองมโหระทึกเพราะเปล่งเสียงว่า ทุง ทุง ดังนี้” ในฉบับบาลีใช้ว่า “ทุนฺทุภิโยติ ทุนฺทุ ํ อิติ สทฺทายนโต ทุนฺทุภิสงฺขาตา เภริโย”


ซึ่งจะเห็นว่าการแปลบางแห่งไม่สอดคล้องกัน สรุปคำต่าง ๆ นอกจากแปลว่า มโหระทึก มักถูกแปล หรือมีความหมายอื่น ๆ อย่างไรบ้าง

๑. “ติณว” (ติ-ณะ-วะ)

คัมภีร์อภิธานวรรณนา | ติณว : กลองเล็ก, กลองติณวะ. ตโนตีติ ติณโว กลองที่แผ่เสียงไป ชื่อว่าติณวะ

พจนานุกรมสมาคมบาลีปกรณ์ | ติณว : กลองชนิดหนึ่ง

คัมภีร์มโนรถปูรณี อธิบายว่าเป็น | กลองเฑณฑิม(ทินฺทิม)

– เทียบเคียงภาษาสันกฤต

พจนานุกรมภาษาสันสกฤตแบบผสมในพุทธศาสนาของแฟรงคลิน เอ็ดการ์ตัน | “ตุณว” ในภาษาสันสกฤตแบบผสมในพุทธศาสนา เทียบภาษาบาลีว่า “ติณว” เป็นกลองชนิดหนึ่ง หรืออาจจะมีความหมายอีกอย่างว่า เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งอาจจะเป็นเครื่องเป่า (เทียบภาษาสันสกฤตคำว่า “ตูณว” หมายถึงปรากฎในสังหิตาและพราหมณะ )

* “ตุณว” ยังพบในภาษาดราวิเดียนปัจจุบัน เช่น ภาษากันนาดา (ตุณว : ತುಣವ) เป็นชื่อของกลอง หรือเครื่องตีชนิดหนึ่ง


๒. “ทินฺทิม” (ทิน-ทิ-มะ) และรูปอื่นๆ ที่คล้ายกัน

คำแปลอื่น ๆ ในพระสูตรนอกจากแปลว่า มโหระทึก ยังแปลว่า กลองเล็ก และกลองเปิงมาง อีกด้วย

คัมภีร์อภิธานวรรณนา | ฑิณฺฑิม กลองเล็ก, กลองฑิณฑิมะ. ฑิณฺฑิอิติ มายเต สทฺทายเตติ ฑิณฺฑิโม กลองที่ส่งเสียงว่า ฑิณฑิ ชื่อว่า ฑิณฑิมะ

พจนานุกรมสมาคมบาลีปกรณ์ | ทินฺทิม (หรือ เฑณฺฑิม เทียบสันสกฤตว่า ฑิณฺฑิม หรือ ทุนฺทุภิ ) เครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง, กลองเล็ก

– เทียบเคียงการใช้ในอินเดียโบราณอื่น ๆ มีปรากฏการใช้ในวรรณกรรมสันสกฤตอยู่มากเช่นกัน

ในวายุปุราณะ หริวงศ์ กถาสริตสาคร และรามายณะ กล่าวว่า | ฑิณฺฑิม คือ กลองชนิดหนึ่ง รามายณะอธิบายเพิ่มว่าเป็นกลองหน้าเดียวขึงด้วยหนังสัตว์

ในศิวปุราณะ และดัชนีคำศัพท์ในปุราณะ (โคโลญ) ฑิณฺฑิม คือ กลองศึกชนิดหนึ่ง

เชิงอรรถคัมภีร์นาฏยศาสตร์ | กลองชื่อว่า มฤทังคะ, เภรี, ปฏหะ, ทิณฑิมะ, ทรรทุระ , ปณวะ เป็นกลองที่มีขนาดและรูปร่างต่างกัน และทำจากวัสดุต่างๆ เช่น ดินเหนียว ไม้ เป็นต้น

เพจไวทิกทรฺศน ผู้รู้ด้านไวทิกภาษาและพระเวทในไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า กลองฑิณฑิมะ เป็นกลองที่ใช้ในสงครามด้วย กลองฑิณฑิมะ จะตีเป็นสามช่วง ตีปลุกขวัญก่อนรบ เพิ่มความกล้าหาญเรียก อภยฑิณฑิมะ ตีตอนเข้ารบเพื่อเพิ่มความหวาดกลัวให้ข้าศึกเรียก ภยฑิณฑิมะ และตีเมื่อรบจนได้รับชัยชนะ เรียก วิชยฑิณฑิมะ ทั้งกลองทุนฺทุภิ และ กลองฑิณฺฑิมะ จัดเป็นกลองนำรบเหมือนกัน แต่กลองทุนฺทุภิมีขนาดใหญ่กว่า


๓. “ทุนฺทุภิ” (ทุน-ทุ-ภิ)

ในบรรดาที่คำบาลีที่ถูกแปลว่าเป็นกลองมโหระทึกน้อยที่สุด แต่กลับมีคำปรากฎในฉบับบาลีมากกว่า ๒ คำก่อน

คำแปลอื่น ๆ ในพระสูตรนอกจากแปลว่า มโหระทึก ยังแปลว่า กลอง, กลองใหญ่ ยังใช้อุปมา หมายเอากลองศักดิ์สิทธิ์บางประเภท อีกด้วย ซึ่งตรงนี้มีที่มาค่อนข้างชัดเจน

คัมภีร์อภิธานวรรณนา | ทุนฺทุภิ แปลว่า กลองใหญ่, กลองทุนทุภิ. อุภนํ อุภิ, “ทุนฺท” อิติ สทฺเทน อุภิ ยตฺร ส ทุนฺทุภิ เสียงเต็ม ชื่อว่า อุภิ, กลองที่มีเสียงเต็มว่า ทุนทะ ชื่อว่า ทุนทุภิ

พจนานุกรมสมาคมบาลีปกรณ์ | กลองก้นกลมรีหน้าเดียว , กลองที่มีเสียงดุจฟ้าร้องฟ้าผ่า (ประกอบคำว่า อมต- เทว-)

ทุนฺทุภิ ใช้ประกอบคำอื่นมีนัยยะแห่งความเป็นเป็นกลองทิพย์ กลองศักดิ์สิทธิ์ เช่น

๑. อมตทุนฺทุภิ ในชั้นพระไตรปิฎกแปลไทย แปลว่า กลองอมฤตธรรม กลองอมตธรรม หรือ กลองประกาศอมตธรรม ในอรรถกถาแปลไทยว่า อมตเภรี (อาหญฺฉํ อมตทุนฺทุภินฺติ ธมฺมจกฺกปฏิลาภาย อมตเภรึ ปหริสฺสามีติ คจฺฉามิ : บทว่า อาหญฺญึ อมตทุนฺทุภึ ความว่า เดินทางหมายจะตีอมตเภรี เพื่อให้สัตว์ได้ดวงตาเห็นธรรม)

๒. เทวทุนฺทุภิ ในชั้นพระไตรปิฎกและอรรถกถาอธิบายหลายนัยยะดังนี้ ได้แก่ เมฆฟ้าคำรามในหน้าแล้ง, กลองเทวดา, กลองทิพย์ ( เมื่อบันลือลั่น ทำให้ฝนคำรามกระหึ่ม สายฟ้าแลบแปลบปลาบ)

ทุนฺทุภิ มีปรากฏการใช้ในวรรณกรรมสันสกฤตอยู่มากเช่นกัน เพราะเป็นกลองศักดิ์สิทธิ์โบราณมาตั้งแต่สมัยพระเวท พบในคัมภีร์ฤคเวท อถรรพเวท พราหมณะ มหาภารตะ วรรณกรรมปุราณะและกาวยะต่างๆ และยังปรากฎในวรรณกรรมศาสนาเชน ซึ่งถือว่าเป็นกลองสวรรค์หรือกลองเทวดา เช่นใน ตริษัษฏิศลากาปุรุษจริต ของเหมจันทระ เป็นต้น

เพจไวทิกทรฺศน ได้อธิบายในบทความ “มนตร์สำหรับพลีสังเวยแด่กลองทุนฺทุภิในพระคัมภีร์อถรฺวเวทสํหิตา” กล่าวสรุปโดยย่อว่า

กลองทุนฺทุภิ ซึ่งเป็นกลองหน้าเดียวขนาดใหญ่ประเภทหนึ่ง ตัวกลองทำมาจากไม้ หน้ากลองทำมาจากหนังวัวหรือหนังอูฐ ใช้ลั่นในเวลาออกรบหรือทำสงคราม หรือ บอกชัยชนะ เป็นกลองโบราณที่มีใช้กันในยุคพระเวท พบการกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งทั้งในพระคัมภีร์ฤคฺเวทสํหิตา เรื่อยมาจนถึงพระคัมภีร์อถรฺวเวทสํหิตา สถานะของกลองทุนฺทุภิในยุคพระเวทถือเป็นสิ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะสามารถสร้างเสียงที่ดังกึกก้องได้ กลองชนิดนี้จึงถูกเปรียบประดุจเทพเจ้า


กลองทินทิมะ (ฑิณฑิมะ) และทุนทุภิ ส่วนมากมักอธิบายว่าเป็น กลองหน้าเดียว ที่มีตัวกลองก้นกลม โดยรูปทรงนี้เป็นรูปทรงกลองโบราณยุคแรก ๆ ที่พบใด้ในพื้นที่ต่าง ๆ ในโลก ซึ่งทินทิมะนั้นเป็นกลองขนาดเล็ก ส่วนทุนทุภิ มีขนาดใหญ่ ทั้งสองอาจถูกใช้ทั้งในการบันเทิง พิธีกรรมและโดยเฉพาะการสงคราม

อาร์ริอานุสแห่งนิโคมีเดีย นักประวัติศาสตร์กรีก เป็นผู้บันทึกพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ไว้อย่างละเอียด

ในส่วนที่ใช้ในการสงคราม พบในบันทึกต่างชาติ เช่นในบันทึกของชาวกรีกยังอธิบายรายละเอียดไว้ การใช้กลองของชาวอินเดียในสงครามอย่างน่าสนใจ เช่น อาร์ริอานุส-อินดิกา (Arrianus – Indica) 5:9 “พวกอินเดียมักออกออกรบพร้อมด้วยเสียงกลองติมปานา(τύμπανα [พหู.] ) และเสียงฉาบ” 7:9 แม้เมื่อคราวเมื่อพวกเขาออกมาสู้รบกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ พวกอินเดียก็ออกมาต่อสู้กับพระองค์ด้วยเสียงฉาบและกลอง

*ติมปานา คือกลองของพวกกรีกโรมัน ( ละติน : tympanum , กรีกโบราณ τύμπανον [เอก.]) เป็นกลองก้นกลม (kettle drum )พัฒนามาเป็นกลองทิมปานี ในวงออร์เคสตรา ในปัจจุบัน คำนี้แปลว่า กลองทั่วๆไป หรือกลองชุดในคำพหูพจน์

กลองทิมปานี

ส่วนเหลือของหนังสือภูมิศาสตร์สตราโบ (Strabo – Geographica) XV, 1: 52 กล่าวถึงระเบียบตำแหน่งในกองทัพของชาวอินเดียว่ามีตำแหน่งพิเศษเรียก พลตีกลอง ที่เรียกว่า τυμπανιστάς (ติมปานิสตาส) 1:62 สตราโบ อ้างบันทึก อริสโตบูโลส (᾿αριστόβουλος) ในกล่าวถึงเหตุการณ์ในเมืองตักษศิลาว่า กลองเป็นอาณัติสัญญาณในกองทัพอินเดีย ซึ่งบันทึกนี้น่าจะอยู่ในช่วงราวรัชสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์

Strabo – Geographica
Strabo

ปทานุกรมซูดา : ปทานุกรมภาษากรีกของโรมันไบแซนไทน์ (Suda lexicon) รวบรวมเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ตรงกับราชวงศ์โจฬะในอินเดียใต้ ราชวงศ์คุชราต-ประติหาระ(ก่อนราชวงศ์ปาละ) อธิบายศัพท์ τύμπανα (ติมปานา) หมายเลข : tau,1164 ไว้ค่อนข้างน่าสนใจ ความว่า

“τύμπανα” แปลว่า กลองหน้าเดียวก้นกลม ชาวอินเดียแทนที่พวกเขาจะเป่าแตรเป็นอาณัติสัญญาน แต่พวกเขากลับใช้แส้ตีขึ้นไปในอากาศ และ ใช้การตีกลองชนิดนี้ เพื่อให้เกิดเสียงดังอย่างรุนแรง พวกเขาผลิตมันจากซุงต้นสน โดยขุดให้เป็นตัวกลอง แล้วใส่ระฆังเข้าไปในตัวกลอง ขึงหนังวัวที่ปากกลอง กลองนี้จะอยู่ด้านขวามือของขบวนรบ หากพวกเขาต้องการทำเสียงดังติดๆ กัน หรือให้สัญญาณบางอย่าง เขาจะพลิกตัวกลองแล้วแล้วเขย่า เสียงจากระฆังนั้นจะดังจากข้างในกลอง สำหรับผู้ที่ไม่รู้ จะฟังไม่ออกว่ามันเป็นเสียงจากเครื่องมือหรือเสียงร้องของสัตว์อะไร เพราะมันเหมือนเสียงคำราม”

เราไม่รู้ว่ารายละเอียดดังกล่าวนักภาษาศาสตร์ชาวกรีกได้ยินมาจากแหล่งข้อมูลที่ใด แต่แสดงให้เห็นว่า ชาวอินเดียมีพิธีกรรมเกี่ยวกับกลองในสงครามดังที่กล่าวมาในพระเวทอย่างแน่นอน

ปทานุกรมซูดา ฉบับพิมพ์ฉบับแรก

ปัจจุบันกลองทินทิมะ (ฑิณฑิมะ) และกลองทุนทุภิ เมื่อการทำสงครามแบบจารีตดั้งเดิมค่อยๆ หายไป ธรรมเนียมพิธีกรรมด้านสงครามที่เกี่ยวกับกลองลดน้อยลง

แต่กลองนี้ก็ไม่ได้หายไปใหน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ด้านสงคราม ดนตรีและภาษา กล่าวว่า

กลองทินทิมะ (ฑิณฑิมะ) และกลองทุนทุภิ ในปัจจุบันสืบมาเป็นกลองก้นกลม ซึ่งตัวกลองอาจทำมาจากไม้ ดินเผา และโลหะ ที่ในอินเดียและเนปาล ปัจจุบันเรียกว่า หลายรูปแบบตามท้องถิ่นเช่น นครา, นครี, นคาฑี นคาฑา (Nagara, Nagari, Nagadi , Nagada)

กลองนครา (nagarā) ในศาสนสถานฮินดู
เครื่องตีกลองนครา (temple drum bell machine) ที่นิยมใช้ใน ในศาสนสถานฮินดู ในปัจจุบัน

เหตุที่ถูกเรียกว่า นครา ภายหลัง นักวิชาการบางส่วนสันนิษฐานว่า อาจได้รับอิทธิพลภาษาอาหรับในยุคหลังที่ราชวงศ์อิสลามเข้ามาปกครองอินเดีย ที่เรียกกลองก้นกลมนี้ว่า naqqāra (نقاره) เพราะมีรูปทรงคล้ายๆกัน

กลองนัคคาระ (naqqāra) จากคาบสมุทรอาระเบีย ถูกสันนิษฐานว่า ชื่อของกลองชนิดนี้ ถูกนำมาแทนชื่อกลองก้นกลมในอินเดีย ในภายหลัง : Metmuseum

กลองชนิดนี้ ยังถูกใช้ในสงครามอยู่บ้าง เช่นในศาสนาซิกข์ ใน ปี ค.ศ ๑๖๘๔ (ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์) คุรุโควินทสิงห์ มีพระบัญชาให้ทำกลองชนิดนี้เป็นกลองศึก ชื่อ รานจิต นครา (Ranjit Nagara : กลองแห่งชัยชนะ) ใช้สู้กับพวกฮินดูราชปุต ในสงครามภังคาณี

กลองนครา ในศาสนสถานชาวซิกข์
การตีกลองนครา ในเทศกาลทางศาสนาของชาวซิกข์

แต่ในภาษาเบงกาลีและภาษาท้องถิ่นอื่นๆ ในอินเดียตะวันออก มักเรียกว่า ธูมสะ หรือ ธามสา (Dhumsa: Dhāmsā) ใช้ในการบันเทิงในเทศกาลต่างๆ

การตีกลองธามสา ในเทศกาลในรัฐทางตะวันออกของอินเดีย

ในเนปาลอาจเรียก กลองลักษณะนี้ที่มีขนาดเล็กว่า ดะมาหา (Damāhā) ฏยามโก (Ṭyāmkō) ขนาดกลางนี้เรียกว่า นครา (nagarā) ซึ่งในประวัติระบุว่ากลองนี้แต่เดิมใช้ในการประกอบพิธีกรรมเมื่อชนะสงคราม ปัจจุบันใช้ในเทศกาล วิชัยทัศมี เฉลิมฉลองชัยชนะของความดีเหนือความชั่ว และกลองขนาดใหญ่เรียกว่า ทิพยะ นครา (Dibya nagarā) จัตุรัสดูร์บาร์ กรุงกาฐมาณฑุ ตัวกลองทำจากทองแดงขนาดใหญ่

กลองดามาฮา หนึ่งในชุดปัญเจ บาจา (pañcai bājā) เครื่องดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมของเนปาล
พิธีตีกลองนครา (nagarā) ในเทศกาล วิชัยทัศมี ของเนปาล ในอำเภอโรลปา จังหวัดลุมพีนี ตัวกลองทำจากทองแดง
กลองนครา (nagarā) กลองขนาดใหญ่ 280 กก. ในเทศบาลกาเฐโขลา
กลองทิพยะ นครา (Dibya nagarā) ที่จัตุรัสดูร์บาร์ กรุงกาฐมาณฑุ ตัวกลองทำจากทองแดงขนาดใหญ่

ปัจจุบันกลองชนิดนี้ยังถูกใช้ในทั่วทั้งอินเดียและเนปาล ในทางศาสนาถูกใช้ในวัดในศาสนฮินดู และศาสนาซิกข์ อาจไว้ที่หน้าวิหาร และใช้ในเวลาบูชา ขบวนแห่ในโอกาสพิเศษ และใช้ในการบันเทิงและสันทนาการ เช่นในเทศกาลต่าง งานเฉลิมฉลองประจำปีทางศาสนา งานพิธีสำคัญเช่น งานแต่ง งานเต้นรำพื้นบ้าน

กลองนคดี หรือ นครา รัฐราชสถาน และรัฐมัธยประเทศ จะพบเห็นหลายขนาดทั้งเล็กใหญ่ เห็นได้โดยทั่วไปใน ตามงานพิธี และงานรื่นเริง และตามแหล่งท่องเที่ยว

ขออธิบายต่อ ในส่วนของกลองทอง ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ไม่มีส่วนใดที่บอกว่า ศัพท์ ๓ คำนั้น ที่แปลเป็นไทยว่า กลองมโหระทึก เป็น กลองทอง หรือ สุวรรณเภรีย์ เลยแม้แต่แห่งเดียว เป็นแค่การลากความเข้าของผู้เสนอเพียงเท่านั้น

ส่วนกลองที่ทำด้วยสำริดทั้งใบ ทั้งส่วนที่เป็นตัวกลองและหนังกลอง ในอารยธรรมโบราณในตอนใต้ของจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ในไทยเรียกกันว่า กลองทอง หรือคำอื่นๆอีกเช่น กลองกบ ฆ้องบั้ง

โดยมากมักใช้คำในความหมายว่า กลองทอง มากที่สุด และเป็นคำที่เก่าแก่ที่สุด เช่น จีน : 铜鼓, ภาษาจ้วง : gyongdoengz, เวียดนาม : Trống đồng โดยทางนิรุกติศาสตร์ ในทั้ง ๔ ภาษา คำว่า ทอง, 銅, doengz, đồng มีรากศัพท์ร่วมกัน โดยต้นทางอาจมาจากเสียงจีนโบราณของคำว่า 銅 (doːŋ) เสียงจีนกลางปัจจุบันคือ tóng โดยความหมายดั้งเดิม คือ ทองแดง ต่อมาหมายถึง โลหะผสมสีเหลือง อย่างทองเหลือง (brass) และทองสำริด (bronze) ด้วย และไม่ได้หมายถึง ทองคำ

โดยคำที่ใช้เรียก ทองคำ ในภาษากลุ่มไท คือคำว่า “คำ” เช่น ลาว ຄຳ (kham),ไทลื้อ ᦆᧄ (xam), ไทใหญ่ ၶမ်း (khám), ไทอาหม (khaṃ) หรือ (khraṃ), จ้วง gim โดยทางนิรุกติศาสตร์ ต้นทางอาจมาจากเสียงจีนโบราณว่า คำว่า 金 (*krɯm) เสียงจีนกลางปัจจุบันคือ jīn แต่คำนี้เสียงจีนกวางตุ้งคือ (gam1)

ดังนั้น สุวรรณเภรีย์ ที่มีการกล่าวอ้างนั้น คำว่า สุวรรณ เป็นรูปแผลงของสันสกฤต คือคำว่า สุวรฺณ หรือภาษาบาลีว่า สุวณฺณ นั้นหากพูดในบริบทโลหะนั้นหมายถึง เฉพาะ ทองคำ เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีความหมายพ้องกับโลหะอื่นเช่นในภาษาไทยในปัจจุบัน ที่ต้องใช้คำประสมหรือต้องจำแนกอีกชั้นหนึ่ง เช่น ทองแดง ทองสำริด ทองเหลือง ทองคำ จากเหตุผลสองส่วนที่ได้กล่าวมา ดังนั้น กลองทองสำริดนี้ ไม่ใช่กลองสุวรรณเภรี หรือ กลองทองคำ

และในบันทึกจีนเรียก กลองทองสำริดนี้ว่า 蠻夷之樂 หรือ เครื่องดนตรีคนเถื่อนอีกด้วย


ส่วนคำว่า “มโหระทึก” เพิ่งจะมีความความหมาย ถึงกลองทองสำริด อย่างมากไม่เกินช่วงสุโขทัย เพราะคำว่า มโหระทึก นั้นปรากฏ อย่างเร็วสุดคือในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 คือ ในไตรภูมิพระร่วง มีกล่าวถึง มหรทึก และในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ มีกล่าวถึงกฏมณเฑียรบาลถึง ขุนดนตรีตีหรทึก

ก่อนหน้านั้นไม่ปรากฎคำทั้ง มหรทึก, หรทึก หรือ มโหระทึก เลย ทั้งที่เป็น ภาษาบาลีหรือสันสกฤต หรือมีอยู่ในพระไตรปิฎกอรรถกถาฉบับบาลีใด ๆ หรือ ไม่ปรากฎมีอยู่ในบันทึก จารึกภาษาอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้แต่อย่างไร

แม้แต่ความพยายามในการผูกศัพท์ภาษาบาลีใน คัมภีร์ใบลานมอญ “กฺยาจ เจ นู ฟอ” ” เรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ใน พศ. ๒๓๙๐ โดยการสร้างคำของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดมาผูก ร้อยเรียงกับคำศัพท์บาลีเพื่อแสดงความหมายสำหรับสรรเสริญพระพุทธเจ้า เรียก กลองมโหระทึก กำกับภาษาบาลีว่า ทุทรเภรี (แผลงกลับเป็นมอญว่า พอมตุตตระภิ ) ซึ่งก็เป็นคำสร้างใหม่ไม่มีในสารบบ

ซึ่งยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยอยู่ในวงการประวัติศาสตร์อยู่ ซึ่งนักวิชาการบางท่านเสนอว่า คำเหล่านี้อาจถูกใช้เรียก กลองชนิดอื่นก่อน ก่อนที่จะถูกใช้เรียกกลองทองสำริดภายหลัง


สรุป มโหระทึกในพระไตรปิฎก ฉบับแปลไทย นั้นมีที่มาจากการแปลเป็นไทยเพียงเท่านั้นและรูปศัพท์ดังกล่าวมีการแปลเป็นคำอื่นๆที่ไม่ใช่ มโหระทึก อีกด้วย การแปลในศัพท์ที่ยกมามีความไม่สม่ำเสมอในการแปล เหตุว่าพระเถระท่านได้แปลเทียบเข้ากับสิ่งที่มีอยู่ในไทย แปลตามอรรถาธิบาย แปลตามอภิธานศัพท์บาง แปลตามครูอาจารย์ ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดพลาดแต่อย่างใด

อนึ่งรูปศัพท์ดังกล่าวมีการอ้างถึงในอินเดียตั้งแต่โบราณ มีที่มาที่ไปและมีหลักฐาน จากหลายฝ่ายหลายคัมภีร์ มีข้อสนับสนุนจากนักวิชาการที่ทำการวิจัยอย่างจริงจัง ไม่ใช่คำพูดเลื่อนลอยอย่างที่บางท่านกล่าวถึงว่า มโหระทึก มีในอภิธานศัพท์ต่าง ๆ และมีมายาวนาน นับย้อนหลังถึงยุคพุทธกาล ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุน คำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยดังกล่าว


อ้างอิง :

มนตร์สำหรับพลีสังเวยแด่กลองทุนฺทุภิในพระคัมภีร์อถรฺวเวทสํหิตา : ไวทิกทรฺศน – वैदिकदर्शन

Loading

Be the first to comment on "มโหระทึก ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับแปลไทย คืออะไรกันแน่"

Leave a comment