การสวดโอวาทปาติโมกข์ของนิกายธรรมคุปต์และมหายาน เปรียบเทียบ ๓ ภาษา

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

(โอวาทปาติโมกข์ของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ เทียบ ๓ ภาษา ภาษาจีนโบราณ บาลี และ สันสกฤต)


นิกายธรรมคุปต์ เป็นนิกายที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในอินเดียเหนือและเอเชียกลาง นักวิชาการจำแนกแนวคิดของนิกายนี้ ว่าอยู่กลุ่มเดียวกันกับ นิกายเถรวาทแบบลังกา คือ เป็นนิกายในกลุ่มสถวีรวาท (เถรวาทดั้งเดิม) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนิกายมหาสังฆิกะในสังคายนาครั้งที่ ๒ และเป็นอยู่ในกลุ่มวิภัชชวาท คือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแบบนิกายสรรวาสติวาทในสังคายนาครั้งที่ ๓

นิกายธรรมคุปต์มีสารบบพระวินัยค่อนข้างใกล้ชิดกับเถรวาทกว่านิกายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยวิภังค์ ขันธกะ และอรรถกถา พระภิกษุนิกายธรรมคุปต์ เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เข้าไปเผยแพร่พุทธศาสนาในจีน และต่อมาพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองในจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นมหายาน แต่เดิมฝ่ายมหายานอุปสมบทด้วยพระวินัยหลายนิกาย และต่อมาทางการจีนในสมัยโบราณได้ประกาศให้ใช้พระวินัยจากนิกายนี้เพื่ออุปสมบทกุลบุตรธิดา และเป็นพระวินัยหลักที่ใช้ในการประพฤติปฏิบัติของภิกษุภิกษุณีในจักวรรดิจีนโบราณ ซึ่งส่งผลต่อมา คือ ทำให้พระฝ่ายมหายานแบบจารีตจีน เช่นใน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ต้องถือพระวินัยของนิกายนี้


ส่วน โอวาทปาติโมกข์ หรือ ปราติโมกษ์สุภาษิต เป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่ทรงประทานแนวทางที่นำไปสู่ความหลุดพ้น ในเถรวาทมีระบุไว้ใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร

จากหลักฐานพระวินัยในนิกายต่าง ๆ มักจะสวดโอวาทปาติโมกข์ หลัง การสวดภิกขุปาติโมกข์ ( หรือ ภิกษุปราติโมกษ์ ในการทับศัพท์แบบสันสกฤต คือการสวดทบทวนสิกขาบทของพระภิกษุ )ในวันอุโบสถ

ยกเว้นนิกายเถรวาทเท่านั้นที่ไม่มีสวดโอวาทปาติโมกข์หลังการสวดพระปาติโมกข์

(ทับศัพท์แบบบาลี : ปาติโมกข์, ปาฏิโมกข์, สันสกฤต : ปราติโมกษ์ อ่านเพิ่มเติมในเรื่อง ปาติโมกข์ ๒ แบบที่ทางเพจได้นำเสนอไปก่อนหน้า)


การสวดโอวาทปาติโมกข์ของนิกายธรรมคุปต์ ปรากฎเนื้อความจาก จาตุรวรรคียวินัยภิกษุปราติโมกษสูตร นิกายธรรมคุปต์ หมายเลข ๑๔๒๙ [ 四分僧戒本(曇無德出) ] แปลเป็นภาษาจีน โดยพระตรีปิฏาจารย์ นามว่า พุทธยศ (พุทฺธยศสฺ : 佛陀耶舍) ชาวกัษมีระ-คันธาระ (罽賓) ภาษาต้นฉบับไม่ชัดเจน อาจจะเป็นภาษาสันสกฤต หรือ ภาษาปรากฤตคานธารี แปลในสมัยราชวงศ์โฮ่วฉิน (後秦 : ยุค ๑๖ ราชวงศ์ ราวปีพุทธศักราช ๙๒๗-๙๖๐ )


พุทธศิลป์หมู่ถ้ำคีซิล (Kizil Caves) ในแคว้นอัคซู (Aksu) ของเขตปกครองตัวเองชนชาติอุยกูร์แห่งซินเจียง ประเทศจีน

โดยมีเนื้อหาดังนี้

เมื่อพระภิกษุผู้สวดภิกษุปราติโมกษ์ (ภิกขุปาติโมกข์) ในวันอุโบสถ จบแล้ว จะสวดสรุปภิกษุปราติโมกษ์ และจะสวดปราติโมกษ์สุภาษิต (โอวาทปาติโมกข์) ของพระพุทธเจ้าพระองค์ต่างๆ ต่อ มีการสวดดังนี้


[ พระภิกษุผู้สวดแสดงภิกษุปราติโมกษ์จบแล้ว สวดสรุปว่า ]

[ #สรุปภิกษุปราติโมกษ์ ]


「諸大德!我已說戒經序,已說四波羅夷法,已說十三僧伽婆尸沙法,已說二不定法,已說三十尼薩耆波逸提法,已說九十波逸提法,已說四波羅提提舍尼法,已說眾學戒法,已說七滅諍法,此是佛所說戒經,半月半月說,戒經中來。「若更有餘佛法,是中皆共和合,應當學。


ท่านผู้เจริญทั้งหลายฯ

ข้าพเจ้าได้สวดนิทานในปราติโมกษ์แล้ว ฯ

ได้สวดปาราชิกธรรม ๔ สิกขาบทแล้ว ฯ

ได้สวดสังฆาวเศษธรรม (สังฆาทิเสส) ๑๓ สิกขาบทแล้ว ฯ

ได้สวดอนิยตธรรม ๒ สิกขาบทแล้ว ฯ

ได้สวดไนห์สรรคิกปายัตติกธรรม (นิสสัคคิยปาจิตตีย์) ๓๐ สิกขาบทแล้ว ฯ

ได้สวดปายัตติกธรรม (ปาจิตตีย์) ๙๐ สิกขาบทแล้ว ฯ

ได้สวดประติเทศนียธรรม(ปาฏิเทสนียะ) ๔ สิกขาบทแล้ว ฯ

ได้สวดศึกษาธรรม (เสขิยวัตร) ทั้งหลายแล้ว ฯ

ได้สวดอธิกรณศมถธรรม (อธิกรณสมถะ) ๗ สิกขาบทแล้ว ฯ

สิกขาบทเหล่านี้คือพระปราติโมกษ์สูตรที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ฯ ปราติโมกษ์สูตรนี้ให้นำมาสวดแสดงทุกกึ่งเดือน ฯ อนึ่งยังมีพระธรรมของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ๆ ที่สอดคล้องกับธรรมเหล่านี้ ก็จงพึงศึกษาด้วย ฯ

[หมายเหตุ] :

๑. สิกขาบทของพระภิกษุฝ่ายนิกายธรรมคุปต์มี ๒๕๐ สิกขาบท ต่างจาก สิกขาบทของพระภิกษุฝ่ายนิกายเถรวาทที่มี ๒๒๗ สิกขาบท

๒. ส่วนนี้มีความคล้ายใน พระวินัยปิฎกเถรวาท มหาวิภังค์ คำนิคม (ส่วนสุดท้าย)


พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ แห่งวัดเฟิ่งกั๋ว มณฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน

[ ปราติโมกษ์ของพระวิปัศยี ]

「忍辱第一道,佛說無為最,出家惱他人,不名為沙門。「此是毘婆尸如來、無所著、等正覺,說是戒經。


ความอดกลั้น เป็นแนวทางอันประเสริฐ ฯ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย กล่าวว่า อสังขตธรรม เป็นธรรมอันยิ่ง ฯ บรรพชิตผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่สมควรถูกเรียกว่าสมณะ ฯ

พระวิปัศยี ตถาคตอรหัตสัมยักสัมพุทธเจ้า ทรงได้ตรัสพระปราติโมกษ์สูตรดังกล่าวนี้

[หมายเหตุ] :

๑. กษานติ หรือ ขันติ คือ ความอดกลั้น

๒. อสังขตธรรม แปลว่า สิ่งที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือ นิพพาน

๓. ศรมณะ หรือ สมณะ แปลว่า ผู้บำเพ็ญพรต ในที่นี้หมายถึง นักบวชในพุทธศาสนา

๔. พระวิปัศยี เป็นการทับศัพท์แบบสันสกฤต คือ พระวิปัสสีพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต สมัยที่พระโคตมพุทธเจ้า ยังเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น พญานาค พระนามว่า อตุลนาคราช

๕. ตถาคตอรหัตสัมยักสัมพุทธเจ้า เป็นการทับศัพท์แบบสันสกฤต แปลไทยว่า ผู้ไกลจากกิเลส ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

๖. ส่วนนี้มีข้อความคล้ายใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร บาลีฉบับสยามรัฐ แปลไทยฉบับหลวง

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ๚

“ขันติคือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย”

เทียบกับ ฉบับสันสกฤต จากสรรวาสติวาทปราติโมกษ์สูตร

क्षान्तिः परमं तपस् तितीक्षा निर्वाणं परमं वदन्ति बुद्धाः
न हि प्रव्रजितः परोपतापी श्रमणो भवति परान् विहेठयानः ॥

กฺษานฺติะ ปรมํ ตปสฺ ติตีกฺษา นิรฺวาณํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธาะ
น หิ ปฺรวฺรชิตะ ปโรปตาปี ศฺรมโณ ภวติ ปรานฺ วิเหฐยานะ ๚


[ #ปราติโมกษ์ของพระศิกษี ]

「譬如明眼人,能避嶮惡道,世有聰明人,能遠離諸惡。「此是尸棄如來、無所著、等正覺,說是戒經。


อุปมาบุคคลผู้มีตาดี ยังสามารถหลีกทางขรุขระอันตรายได้ ฉันใด ฯ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตในโลก ยอมหลีกห่างปาปทั้งปวงได้ฉันนั้น ฯ

พระศิกษี ตถาคตอรหัตสัมยักสัมพุทธเจ้า ทรงได้ตรัสพระปราติโมกษ์สูตรดังกล่าวนี้

[หมายเหตุ] :

๑. พระศิกษี เป็นการทับศัพท์แบบสันสกฤต คือ พระสิขีพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต สมัยที่พระโคตมพุทธเจ้า ยังเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าอรินทมะ

๒.ส่วนนี้มีข้อความคล้ายใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน สุปปพุทธกุฏฐิสูตร บาลีฉบับสยามรัฐ แปลไทยฉบับหลวง

จกฺขุมา วิสมานีว วิชฺชมาเน ปรกฺกเม
ปณฺฑิโต ชีวโลกสฺมิํ ปาปานิ ปริวชฺชเยติ ฯ

บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงละเว้นบาปทั้งหลายในสัตว์โลก
เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ เมื่อทางอื่นที่จะก้าวไปมีอยู่ ย่อมหลีกที่อันไม่ราบเรียบเสียฉะนั้น ฯ

เทียบกับ ฉบับสันสกฤต จากสรรวาสติวาทปราติโมกษ์สูตร

चक्षुष्मान् विषमानीव विद्यमाने पराक्रमे
पण्डितो जीवलोके ऽस्मिन् पापानि परिवर्जयेत् ॥

จกฺษุษฺมานฺ วิษมานีว วิทฺยมาเน ปรากฺรเม
ปณฺฑิโต ชีวโลเก ‘สฺมินฺ ปาปานิ ปริวรฺชเยตฺ ๚


[ #ปราติโมกษ์ของพระวิศวภู ]

「不謗亦不嫉,當奉行於戒,飲食知止足,常樂在空閑,心定樂精進,是名諸佛教。「此是毘葉羅如來、無所著、等正覺,說是戒經。


การไม่กล่าวร้าย การไม่ริษยา ปฏิบัติรักษาศีลด้วยดี เป็นผู้รู้จักประมาณในการกินดื่ม พึงพอใจอยู่ในที่อันสงบสงัด ทำจิตตั้งมั่นพึงพอใจในความเพียร นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

พระวิศวภูตถาคตอรหัตสัมยักสัมพุทธเจ้า ทรงได้ตรัสพระปราติโมกษ์สูตรดังกล่าวนี้

[หมายเหตุ] :

๑. พระวิศวภู เป็นการทับศัพท์แบบสันสกฤต คือ พระเวสสภูพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต สมัยที่พระโคตมพุทธเจ้า ยังเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าสุทัสนะ

๒. ส่วนนี้มีข้อความคล้ายใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร บาลีฉบับสยามรัฐ แปลไทยฉบับหลวง

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนนฺติ ฯ

การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร
ที่นอนที่นั่งอันสงัด การประกอบความเพียรในอธิจิต หกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

เทียบกับ ฉบับสันสกฤต จากสรรวาสติวาทปราติโมกษ์สูตร

नोपवादी नोपघाती प्रातिमोकेฺष च संवरः
मात्रज्ञता च भक्तेषु प्रान्तं च शयनासनम्
अधिचित्ते समायोग एतद् बुद्धस्य शासनम् ॥

โนปวาที โนปฆาตี ปฺราติโมเกฺษ จ สํวระ
มาตฺรชฺญตา จ ภกฺเตษุ ปฺรานฺตํ จ ศยนาสนมฺ
อธิจิตฺเต สมาโยค เอตทฺ พุทฺธสฺย ศาสนมฺ ๚


[ #ปราติโมกษ์ของพระกระกุจฉันทะ ]

「譬如蜂採華,不壞色與香,但取其味去,比丘入聚然。 不違戾他事,不觀作不作,但自觀身行,若正若不正。「此是拘樓孫如來、無所著、等正覺,說是戒經。


ดุจผึ้งเที่ยวดอมดมดอกไม้ ไม่ทำลายสีและกลิ่นของดอกให้ชอกช้ำ เอาแต่เฉพาะรส( คือ น้ำหวาน)แล้วบินออกไปอย่างไร ภิกษุเมื่อเข้าชุมชนก็ควรทำอย่างนั้นฯ

ไม่ควรล่วงเกินผู้อื่น ไม่เฝ้าสังเกตการงานของเขาว่าทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ แต่ควรเฝ้าสังเกตดูแต่การกระทำและความประพฤติของตนเอง ว่าถูกหรือผิดเท่านั้นฯ

พระกระกุจฉันทะตถาคตอรหัตสัมยักสัมพุทธเจ้า ทรงได้ตรัสพระปราติโมกษ์สูตรดังกล่าวนี้

[หมายเหตุ] :

๑. พระกระกุจฉันทะ เป็นการทับศัพท์แบบสันสกฤต คือ กกุสันธพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต สมัยที่พระโคตมพุทธเจ้า ยังเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าเขมะ

๒.ส่วนนี้มีข้อความคล้ายใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ปุปผวรรค มัจฉริโกสิยเสฏฐิวัตถุ และ ปาฏิกาชีวกวัตถุ

ยถาปิ ภมโร ปุปฺผํ วณฺณวนฺตํ อเหฐยํ
ปเลติ รสมาทาย เอวํ คาเม มุนี จเร ฯ
น ปเรสํ วิโลมานิ น ปเรสํ กตากตํ
อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย กตานิ อกตานิ จ ฯ

ภมรไม่ยังดอกไม้อันมีสีให้ชอกช้ำ ลิ้มเอาแต่รสแล้วย่อมบินไป แม้ฉันใด มุนีพึงเที่ยวไปในบ้าน ฉันนั้น

บุคคลไม่พึงใส่ใจคำแสลงหูของชนเหล่าอื่น ไม่พึงแลดูกิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของชนเหล่าอื่น
พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของตนเท่านั้น

เทียบกับ ฉบับสันสกฤต จากสรรวาสติวาทปราติโมกษ์สูตร

यथापि भ्रमरः पुष्पाद् वर्णगन्धाव् अहेठयन्
परैति रसम् आदाय तथा ग्रामां मुनिश् चरेत् ॥
न परेषां विलोमानि न परेषां कृताकृतम्
आत्मनस् तु समीकेฺषत समानि विषमानि च ॥

ยถาปิ ภฺรมระ ปุษฺปาทฺ วรฺณคนฺธาวฺ อเหฐยนฺ
ปไรติ รสมฺ อาทาย ตถา คฺรามํา มุนิศฺ จเรตฺ ๚
น ปเรษํา วิโลมานิ น ปเรษํา กฤตากฤตมฺ
อาตฺมนสฺ ตุ สมีเกฺษต สมานิ วิษมานิ จ ๚


[ #ปราติโมกษ์ของพระกนกมุนี ]

「心莫作放逸,聖法當勤學,如是無憂愁,心定入涅槃。「此是拘那含牟尼如來、無所著、等正覺,說是戒經。


จงมีจิตอันไม่ประมาท เพียรศึกษาในพระธรรมอันประเสริฐ เมื่อเป็นเช่นนี้จักไม่มีความโศก จิตตั้งมั่นแล้วจะนำไปสู่พระนิพพาน

พระกนกมุนีตถาคตอรหัตสัมยักสัมพุทธเจ้า ทรงได้ตรัสพระปราติโมกษ์สูตรดังกล่าวนี้

[หมายเหตุ] :

๑. พระกนกมุนี เป็นการทับศัพท์แบบสันสกฤต คือ พระโกนาคมนพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต สมัยที่พระโคตมพุทธเจ้า ยังเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าปัพพตะ

๒.ส่วนนี้มีข้อความคล้ายใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน สารีปุตตสูตร

อธิเจตโส อปฺปมชฺชโต มุนิโน โมนปเถสุ สิกฺขโต
โสกา น ภวนฺติ ตาทิโน อุปสนฺตสฺส สทา สตีมโตติ ฯ

ความโศกทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ผู้ที่มีจิตยิ่ง ไม่ประมาท
เป็นมุนี ศึกษาอยู่ในครองแห่งมุนี คงที่ สงบ มีสติทุกเมื่อ ฯ

เทียบกับ ฉบับสันสกฤต จากสรรวาสติวาทปราติโมกษ์สูตร

अधिचेतसि मा प्रमद्यत प्रततं मौनपदेषु शिक्षत
शोका न भवन्ति तायिनो ह्य् उपशान्तस्य सदा स्मृतात्मनः ॥

อธิเจตสิ มา ปฺรมทฺยต ปฺรตตํ เมานปเทษุ ศิกฺษต
โศกา น ภวนฺติ ตายิโน หฺยฺ อุปศานฺตสฺย สทา สฺมฤตาตฺมนะ ๚


[ #ปราติโมกษ์ของพระกาศยปะ ]

「一切惡莫作,當奉行諸善,自淨其志意,是則諸佛教。「此是迦葉如來、無所著、等正覺,說是戒經。


เว้นจากการทำบาปทั้งปวง ทำกุศลทั้งหลายด้วยดี ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พระกาศยปตถาคตอรหัตสัมยักสัมพุทธเจ้า ทรงได้ตรัสพระปราติโมกษ์สูตรดังกล่าวนี้

[หมายเหตุ] :

๑. พระกาศยปะ เป็นการทับศัพท์แบบสันสกฤต คือ พระกัสสปพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต สมัยที่พระโคตมพุทธเจ้า ยังเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพราหมณ์ ออกบวชเป็นภิกษุ นามว่า โชติปาละ

๒. ส่วนนี้มีข้อความคล้ายใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร

สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ ฯ

การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อมการทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

เทียบกับ ฉบับสันสกฤต จากสรรวาสติวาทปราติโมกษ์สูตร

सर्वपापस्याकरणं कुशलस्योपसंपदः
स्वचित्तपर्यवदनम् एतद् बुद्धस्य शासनं ॥

สรฺวปาปสฺยากรณํ กุศลสฺโยปสํปทะ
สฺวจิตฺตปรฺยวทนมฺ เอตทฺ พุทฺธสฺย ศาสนํ ๚


[ #ปราติโมกษ์ของพระศากยมุนี ]

「善護於口言,自淨其志意,身莫作諸惡,此三業道淨,能得如是行,是大仙人道。

「此是釋迦牟尼如來、無所著、等正覺,於十二年中,為無事僧說是戒經。從是已後,廣分別說。諸比丘自為樂法、樂沙門者,有慚有愧,樂學戒者,當於中學。」


สำรวมวาจาให้ดี ทำใจของตนให้บริสุทธิ์ อย่าทำบาปทางกายทั้งปวง สำรวมระวังทั้งการกระทำทั้ง ๓ (กาย วาจา ใจ) ให้บริสุทธิ์ การปฏิบัติเช่นนี้เป็นทางแห่งมหามุนี

ก็พระโอวาทเหล่านี้ พระศากยมุนี ตถาคตอรหัตสัมยักสัมพุทธเจ้า ทรงได้ตรัสแสดงไว้ในพระปราติโมกษ์สูตรตลอด ๑๒ พรรษาแรก ท่ามกลางหมู่สงฆ์ผู้ไม่มีกิจที่ต้องทำแล้ว (พระอรหันต์ )

แต่หลังจากนั้น พระองค์จึงทรงบัญญัติโดยจำแนก (สิกขาบท) ไว้โดยละเอียด ภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในพระธรรม ยินดีในการเป็นสมณะ มีหิริโอตัปปะคือการละอายและเกรงกลัวบาป ยินดีในศีลอันควรฝึก ก็จงพึงฝึกศึกษาในสิกขาบทเหล่านี้

[หมายเหตุ] :

๑. พระศากยมุนี คือ พระโคตมพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ซึ่งในพระชาติสุดท้ายของการเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็น เจ้าชายสิทธัตถะ

๒. เรื่องปี(พรรษา)ของการบัญญัติสิกขาบท ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ฝ่ายเถรวาท คัมภีร์สมันตปาสาทิกา กล่าวว่าเป็นหลังจาก ๒๐ พรรษาแรก คือ พรรษาที่ ๒๑ ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

๓. ส่วนนี้มีข้อความคล้ายใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ภิกขุวรรค ปัญจภิกขุวัตถุ และ มัคควรรค สูกรเปตวัตถุ

วาจานุรกฺขี มนสา สุสํวุโต
กาเยน จ อกุสลํ น กยิรา
เอเต ตโย กมฺมปเถ วิโสธเย
อาราธเย มคฺคํ อิสิปฺปเวทิตํ ฯ

บุคคลพึงตามรักษาวาจา พึงสำรวมดีแล้วด้วยใจ และไม่พึงทำอกุศลด้วยกาย
พึงชำระกรรมบถ ๓ ประการนี้ให้หมดจด พึงยินดีมรรคที่ฤาษีประกาศแล้ว

เทียบกับ ฉบับสันสกฤต จากสรรวาสติวาทปราติโมกษ์สูตร

वाचानुरक्षी मनसा सुसंवृतः
कायेन चैवाकुशलं न कुर्यात्
एतां शुभां कर्मपथां विशोधयन्न्
आराधयेन् मार्गम् ऋषिप्रवेदितम् ॥

วาจานุรกฺษี มนสา สุสํวฤตะ
กาเยน ไจวากุศลํ น กุรฺยาตฺ
เอตํา ศุภํา กรฺมปถํา วิโศธยนฺนฺ
อาราธเยนฺ มารฺคมฺ ฤษิปฺรเวทิตมฺ ๚


พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ แห่งวัดเฟิ่งกั๋ว มณฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน

[ #นิคมคาถา ]

明人能護戒,  能得三種樂,

名譽及利養,  死得生天上。

當觀如是處,  有智勤護戒,

戒淨有智慧,  便得第一道。

如過去諸佛,  及以未來者,

現在諸世尊,  能勝一切憂,

皆共尊敬戒,  此是諸佛法。

若有自為身,  欲求於佛道,

當尊重正法,  此是諸佛教。

七佛為世尊,  滅除諸結使,

說是七戒經,  諸縛得解脫。

已入於涅槃,  諸戲永滅盡,

尊行大仙說,  聖賢稱譽戒,

弟子之所行,  入寂滅涅槃。


วิญญูชนผู้สามารถรักษาศีล จะได้รับความพึงพอใจ ๓ ประการ คือ

๑ ย่อมมีเกียรติ ๒ ยังประโยชน์แก่ตน ๓ เมื่อตายแล้วจักได้เกิดเป็นเทวดา ๚

พึงพิจารณาในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า บัณฑิตต้องหมั่นรักษาศีล (สิกขาบท)

เพราะศีลอันบริสุทธิ์ย่อมก่อให้เกิดปัญญา อันจะนำไปสู่มรรคผลอันสูงสุดได้โดยตรง ๚

เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าในอดีต หรือพระองค์ที่จะมาในอนาคต

หรือพระผู้มีพระภาคเจ้าในปัจจุบัน เป็นผู้ทรงชนะความโศกทั้งปวงแล้ว

ทุก ๆ พระองค์ล้วนเคารพศีล นี้เป็นธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย๚

หากผู้ใดหวังประโยชน์เฉพาะตน หรือแสวงหาโพธิมรรคก็ดี

พึงเคารพพระสัทธรรมนี้ ที่เป็นธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย๚

พระพุทธเจ้าทั้ง ๗ เป็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำลายสังโยชน์คือกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง

ด้วยการเทศนาสั่งสอนด้วยกับปราติโมกษ์สูตรทั้ง ๗ ก็เพื่อนำไปสู่วิโมกษ์คือความหลุดพ้นจากพันธนาการทั้งปวง๚

เมื่อเข้าสู่พระนิพพานแล้ว ปปัญจธรรมทั้งปวงก็ดับสนิทไปตลอดกาล

การปฏิบัติที่ประเสริฐนี้พระมหามุนีตรัสไว้ว่า อริยบัณฑิตสรรเสริญศีล

เพราะเป็นสิ่งที่อันผู้ศึกษาต้องนำมาปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงพระนิพพานอันดับสนิทสงบเย็น๚


 

世尊涅槃時,  興起於大悲,

 集諸比丘眾,  與如是教誡。

 莫謂我涅槃,  淨行者無護,

 我今說戒經,  亦善說毘尼。

 我雖般涅槃,  當視如世尊,

 此經久住世,  佛法得熾盛,

 以是熾盛故,  得入於涅槃。

 若不持此戒,  如所應布薩,

 喻如日沒時,  世界皆闇冥。

 當護持是戒,  如犛牛愛尾,

 和合一處坐,  如佛之所說。

 我已說戒經,  眾僧布薩竟,

 我今說戒經,  所說諸功德,

 施一切眾生,  皆共成佛道。

เมื่อเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจวนจะเสด็จปรินิพพาน ทรงลุกขึ้นด้วยพระมหากรุณา

ทรงให้เรียกประชุมภิกษุสงฆ์แล้ว ทรงตรัสแสดงธรรมอย่างนี้ว่า ๚

จงอย่ากล่าวว่าเราปรินิพพานไปแล้ว เหล่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์จะถูกทิ้งไม่มีผู้รักษาคุ้มครอง

บัดนี้เราขอบอกว่า ปราติโมกษ์สูตร อีกทั้งวินัยอันเราได้กล่าวสั่งสอนไว้ดีแล้ว ๚

เมื่อเราปรินิพพานไปแล้วก็ตาม จงเห็นคำสั่งสอนเหล่านั้นเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้าของท่าน

เมื่อ(ปราติโมกษ์)สูตรนี้ยังปรากฎอยู่ในโลกนานเท่าไร พุทธธรรมก็ยังจะปรากฎเจริญอยู่เท่านั้น

ก็เพราะด้วย(พุทธธรรม)ยังเจริญอยู่ ท่านก็ยังสามารถเข้าสู่พระนิพพานได้

อนึ่งการที่ไม่รักษาศีล(สิกขาบท)และกระทำโปษธกรรม(อุโบสถกรรม)นี้

ก็เหมือนเวลาดวงอาทิตย์ตก โลกก็ถูกปกคลุมด้วยความมืดมิดไปทั่ว๚

ขอจงป้องกันรักษาศีลนี้ ดุจจามรีรักขนหางของตัว

จงสามัคคีกันนั่งลงในที่เดียวกัน(ทำอุโบสถกรรม) พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้อย่างนี้ ๚

กระผมได้สวดปราติโมกษ์สูตร และทำสังฆโปษธะ(สังฆอุโบสถ)เสร็จแล้ว

บัดนี้ กระผมขอบุญกุศลแห่งการสวดปราติโมกษ์สูตรทั้งหลายทั้งปวง

จงเป็นเหตุให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ได้บรรลุโพธิมรรค ๚

Loading

Be the first to comment on "การสวดโอวาทปาติโมกข์ของนิกายธรรมคุปต์และมหายาน เปรียบเทียบ ๓ ภาษา"

Leave a comment