อาคมสูตร พระสูตรของฝ่ายมหายาน สารบบที่ ๑

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

อาคมสูตร พระสูตรในสูตรปิฏก ของฝ่ายมหายาน สารบบที่ ๑ ในสูตรปิฏก หรือ สุตตันตปิฎก ของฝ่ายมหายาน มีพระสูตร จำแนกเป็น ๒ สารบบใหญ่ ๆ คือ ๑. อาคมสูตร ๒.มหายานสูตร

อาคมสูตร หรือบางทีเรียก ศราวกยานสูตร คือ พระสูตรในพระสุตตันตปิฎก ของฝ่ายสาวกยานทั้งหมดนั้นเอง ซึ่งก็มีหลายฉบับ ตามแต่ละนิกายนั้น ๆ สาวกยานบางนิกาย จำแนกไว้ ๕ หมวด และสาวกยานอีกส่วนหนึ่งและมหายาน จำแนก อาคมสูตรไว้ ๔ หมวดใหญ่ เรียก จตุราคม

ส่วนที่ต่างกันคือ ระหว่างฝ่ายที่จัด ๔ หมวดและฝ่ายที่จัด ๕ หมวด คือ อาคมสูตร อื่นๆ ที่ลงหมวดทั้ง ๔ ไม่ได้ เช่น ธรรมบท อุทาน คาถาภาษิต ต่างๆ ชาตกะ อวทาน พระสูตรเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ

ฝ่ายที่จัด ๔ หมวด จะจัดลงหมวด ที่ไม่ได้เรียกว่า อาคม แต่เรียกว่า กษุทรกปิฏก
ฝ่ายที่จัด ๕ หมวด จะจัดลงหมวด ที่เรียกว่า อาคม เรียกว่า กษุทรกาคม

ความสำคัญของอาคมสูตรที่มหายานยังต้องใช้อยู่ คือเป็นที่รวบหลักธรรมพื้นฐานทั้งหมดของพุทธศาสนา ก่อนที่จะไปต่อยอดหรือขยายความไปเป็นแบบมหายาน หรือ วัชรยานในภายหลัง

สรุปหมวดหมู่ของอาคมสูตร จำแนกได้ ๕ หมวด ดังนี้

๑.๑ หมวด ทีรฆาคม หรือ ทีฆนิกาย
๑.๒ หมวด มัธยมาคม หรือ มัชฌิมนิกาย
๑.๓ หมวด สัมยุกตาคม หรือ สังยุตตนิกาย
๑.๔ หมวด เอโกตตราคม หรือ อังคุตตรนิกาย
๑.๕ หมวด กษุทรกาคม หรือ กษุทรกปิฏก หรือ ขุททกนิกาย


อาคมสูตร หรือ ศราวกยานสูตร อาคม อ่านแบบ ดั้งเดิม คือ อา-คะ-มะ ปัจจุบัน ภาษาไทยยืมและนำมาใช้ ว่า อาคม (อา-คม) แปลว่า การมา, การถึง โดยความหมายนัยยะในบริบทนี้ คือ สิ่งที่ทรงจำสืบต่อเนื่องกันมา หรือหมายถึง คัมภีร์ต่าง ๆ หรือ คำสั่งสอนของศาสดา หรือพระเป็นเจ้า

คำนี้เริ่มใช้ในช่วงวัฒนธรรมพระเวท ต่อมาเป็นคำกลาง ๆ ใช้ในอินเดียโบราณใช้ เรียกคัมภีร์ในศาสนาในอินเดีย เช่น เชน และพุทธ แต่ปัจจุบันภาษาไทยนำคำนี้มาใช้ ที่เป็นที่รู้จักกันแบบทั่วไป มี ๒ แบบ คือ

แบบแรก ต่อท้ายชื่อเดือน เช่น มกราคม (มกร+อาคม) แปลว่า การมาถึงของราศีมกร

แบบสอง คือ คาถาอาคม หรือ วิชาอาคม มีความหมายถึง เวทมนตร์คาถาศักดิ์สิทธิ์มากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นอิทธิพลของมนตรยานในอดีต โดยที่เรียกว่า คาถาอาคม หรือ วิชาอาคม หมายถึง มนตร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ คาถา(บทร้อยกรองที่นำมาเป็นมนตร์) ที่จำสืบเนื่องกันมาจากครูสู่ศิษย์


จนภายหลังคำว่า อาคม ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า เป็นความศักดิ์สิทธิ์ ความขลังแทน เช่นคำว่า พุทธาคม แต่เป็นการผูกคำขึ้นมาจากคนไทยเอง ซึ่งหมายเอาถึง อำนาจความศักดิ์สิทธิ์ในทางเวทมนตร์ ที่มาจากพระพุทธคุณ ซึ่งต่างจากคำบาลีสันสกฤต พุทธาคม แปลว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

คำที่มีความหมายที่สื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ สันนิษฐานว่า แต่เดิมไม่ใช่คำว่า อาคม แต่เป็นคำว่า วิชา มาจากคำบาลีว่า วิชชา ภาษาสันสกฤตคือ วิทยา ซึ่งในพุทธศาสนาหมายถึง ความรู้อันวิเศษ ซึ่งในทางพุทธศาสนาทุกฝ่าย มีความหมายถึง ความรู้ที่กำจัดอวิชชา อันทำให้ไปสู่พระนิพพาน

และสมัยหลังต่อมา วิทยา หมายถึง เวทมนตร์วิเศษได้ด้วย (A spell, An incantation, Magical skill.)

ซึ่งจะเห็นได้ในฝ่ายตันตระและมนตรยาน ในชั้นหลัง ให้ความหมาย คำว่า วิทยา หมายถึง ความรู้อันลึกลับ คือ มนตร์ และ ธารณี เช่น วิทยาธร เดิมเรียก เทวดาชั้นล่างพวกหนึ่ง มนตรยาน ใช้เรียก อุบาสกของฝ่ายมนตรยาน ที่มีความรู้ในมนตร์ต่างๆ ด้วย

วิทยาราช,วิทยาราชญี เทพยดาอันเป็นนิรมาณกายของพระพุทธเจ้า หรือ โพธิสัตว์ ที่เป็นเทพ เทวี ที่ประจำมนตร์นั้นๆ (Lord or Master (f. Mistress) of magic (spells))

การอธิบายคำว่า อาคม นี้ ก็เพื่ออธิบายให้เข้าใจว่า อาคมที่จะกล่าวถึงในที่นี้ ไม่ได้เกี่ยวกับเวทมนตร์ ตามความเข้าใจของคนไทยในปัจจุบันนี้ แต่อย่างไร


ดังนั้น อาคมสูตร ที่กล่าวถึงนี้ ในพุทธศาสนาฝ่ายที่ใช้ภาษาสันสกฤต หมายถึง พระสูตรในพระสุตตันตปิฎก ของฝ่ายสาวกยานทั้งหมดนั้นเอง ซึ่งก็มีหลายฉบับ ตามแต่ละนิกายนั้น ๆ เนื้อหาจะมีแตกต่างกันอยู่บ้าง บางพระสูตรก็จัดสลับหมวดกันไม่ตรงกัน

แต่ถ้าในตัวพระสูตรเอง หากเป็นพระสูตรเดียวกัน ใจความส่วนมากจะมีเนื้อหาสอดคล้องกัน

อาคมสูตร ในปัจจุบันฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดคือ พระสุตตันตปิฎก ของนิกายเถรวาท (เถรวาท เรียกว่า พระสูตรอาคม ว่า นิกาย เช่น ทีรฆาคม ก็เรียก ทีฆนิกาย )

ส่วนนิกายอื่นๆ นั้นเหลือเพียงบางอาคม หรือบางพระสูตร และส่วนมากต้นฉบับภาษาอินเดียโบราณทั้งหลายสูญหายไปมาก เหลือบ้างเล็กน้อย โดยส่วนมากอยู่ในฉบับแปลจีน และทิเบต

ความสำคัญของอาคมสูตรที่มหายานยังต้องใช้อยู่ คือเป็นที่รวบหลักธรรมพื้นฐานทั้งหมดของพุทธศาสนา ก่อนที่จะไปต่อยอดหรือขยายความไปเป็นแบบมหายาน หรือ วัชรยานในภายหลัง


โดยอาคมสูตรนี้ ฝ่ายมหายานก็ยังคงรักษาไว้ ซึ่งแต่เดิมในอดีต การท่องจำและรักษา อาคมสูตร ของภิกษุมหายาน ในอินเดียโบราณ คงจะเป็นไปเช่นเดียวกับ การรักษาพระวินัยปิฎกในสายอุปสมบทของตน คือ พระภิกษุมหายานมาจากการอุปสมบทด้วยสายพระวินัยของสาวกยานนิกายใด ก็จะใช้อาคมสูตรจากการทรงจำในสายนิกายนั้น ๆ

เช่น พระพุทธยศ เป็นพระภิกษุมหายาน ชาวอินเดียเหนือ ที่อุปสมบทด้วยพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ ท่านก็ทรงจำ พระวินัยปิฎกและพระสูตรอาคมของนิกายธรรมคุปต์

เมื่อท่านขึ้นมาแปลคัมภีร์ที่จีน ท่านแปลพระวินัย และอาคมสูตร(ทีรฆาคม) ของนิกายธรรมคุปต์


ภายหลัง พุทธศาสนามหายาน วัชรยาน เสื่อมที่อินเดียแล้วย้ายฐานไปที่จีนและทิเบตเป็นระลอก การแปลอาคมสูตร ในแต่ละหมวดไม่ได้แปลในคราวเดียว และการแปลไม่ได้แปลโดยพระภิกษุจากสายนิกายเดียว ทำให้อาคมสูตรที่ปรากฎในพระไตรปิฏกมหายานฉบับแปล เช่น ฉบับจีน มาจากหลายนิกาย

แต่ทางทิเบตมักใช้ อาคมสูตรจากนิกายสรรวาสติวาท นิกายแม่ของมูลสรรวาสติวาท เนื่องจากทิเบตถือสายพระวินัยนิกายมูลสรรวาสติวาท


ประเภทของอาคมสูตร จำแนกได้ ๔ หรือ ๕ ประเภท ดังนี้

๑.๑ ทีรฆาคม หรือ ทีฆนิกาย คือ พระสูตรขนาดยาว เหลือฉบับสมบูรณ์ ๒ ฉบับคือ ฉบับบาลีนิกายเถรวาท และ ฉบับแปลจีนของนิกายธรรมคุปต์

และไม่ครบชุดอีก ๒ ฉบับ ต้นฉบับภาษาสันสกฤต และฉบับแปลทิเบต ของนิกายสรรวาสติวาท

1.มหาโควินทสูตร ในคัมภีร์ทีรฆาคม ภาษาสันสกฤต กิลกิต ปากีสถาน

๑.๒ มัธยมาคม หรือ มัชฌิมนิกาย คือ พระสูตรขนาดกลาง เหลือฉบับสมบูรณ์ ๒ ฉบับคือ ฉบับบาลีนิกายเถรวาท และ ฉบับแปลจีนของนิกายสรรวาสติวาท

ไม่ครบชุดอีก ๑ ฉบับ คือ ฉบับแปลทิเบต ของนิกายสรรวาสติวาท

2.ทักขิณาวิภังคสูตร ในคัมภีร์มัธยมาคม ฉบับภาษาปรากฤตคานธารี บาจัวร์ ปากีสถาน

๑.๓ สัมยุกตาคม หรือ สังยุตตนิกาย คือ พระสูตรตามเรื่องที่เนื่องกัน เหลือฉบับสมบูรณ์ ๒ ฉบับคือ ฉบับบาลีนิกายเถรวาท และ ฉบับแปลจีนของนิกายสรรวาสติวาท

ไม่ครบชุดอีก ๓ ฉบับ คือ ฉบับภาษาสันกฤตและฉบับแปลทิเบตของนิกายสรรวาสติวาท ฉบับแปลภาษาจีนของนิกายกาศยปิยะ

3.ชุดคัมภีร์สัมยุกตาคม (別譯雜阿含經) ภาษาจีนโบราณ จากแม่พิมพ์แกะไม้ ในพระไตรปิฎกเกาหลี

๑.๔ เอโกตตราคม หรือ อังคุตตรนิกาย คือ พระสูตรแสดงหลักธรรมโดยแบ่งเป็นหมวด เหลือฉบับสมบูรณ์ ๒ ฉบับคือ ฉบับบาลีนิกายเถรวาท และ ฉบับแปลจีน นิกายไม่แน่ชัด เป็นที่ถกเถียงของนักวิชาการ ว่าอาจเป็นของนิกายมหาสังฆิกะ, นิกายสรรวาสติวาท หรือ นิกายธรรมคุปต์แต่ธรรมคุปต์มีน้ำหนักมากที่สุด

4. ชุดใบลาน คัมภีร์อังคุตตรนิกาย (ส.เอโกตตราคม) ภาษาบาลี วัดกู่คำ จ.น่าน

๑.๕ กษุทรกาคม หรือ กษุทรกปิฏก หรือ ขุททกนิกาย เหลือฉบับสมบูรณ์ ๑ ฉบับ คือ ฉบับบาลีนิกายเถรวาท เป็นส่วนที่รวมพระสูตรเล็กๆ น้อยๆ คาถาภาษิต เรื่องราวเบ็ดเตล็ด ที่นอกเหนือ อาคมสูตรทั้ง ๔ เข้าด้วยกัน

สาวกยานบางนิกาย และมหายาน ไม่เรียกส่วนนี้ว่า อาคม เรียกโดยเรียก อาคมสูตรทั้ง ๔ ว่า จตุราคม และเรียกส่วนนี้ว่าเป็น กษุทรกปิฏก แต่โดยรวมยังเรียกว่าอาคมสูตรอยู่

พระสูตรอื่นฉบับแปล ของนิกายสรรวาสติวาท และ นิกายธรรมคุปต์ มีการอ้างถึงพระสูตรชุดนี้ แต่ไม่พบฉบับแปลทั้งชุด ในบันทึกพระฝาเสี่ยนมี ปรากฎนำต้นฉบับ กษุทรกปิฏก ของนิกายมหีศาสกะ จากลังกา ขึ้นไปที่จีน แต่ไม่พบการแปลที่เป็นชุดรวมเช่นกัน

ปัจจุบันมีพบฉบับต้นฉบับภาษาอินเดียโบราณ อยู่บ้างบางพระสูตร หรือแม้แต่ที่เป็นที่เป็นชิ้นส่วน เช่น ธรรมบท ฉบับนิกายสัมมิตยะ ภาษาปรากฤตผสมสันสกฤต ธรรมบท ฉบับนิกายธรรมคุปต์ ภาษาปรากฤตคานธารี สูตรนิปาตและสถวีรคาถา ฉบับสรรวาสติวาท ภาษาสันสกฤต เป็นต้น

แต่ในพระไตรปิฏกจีนและทิเบต แม้ไม่พบ กษุทรกาคม หรือ กษุทรกปิฏก ทั้งชุดที่เป็นชุดรวม แต่ปรากฎว่าพระสูตรที่อยู่ในหมวดนี้ เช่น ธรรมบท ชาดก อิติวุตตกะ อปทาน สุตตนิบาต เถรคาถา เป็นต้น อยู่ในลักษณะ พระสูตรอิสระ หรือ กลุ่มพระสูตรเล็ก ๆ ที่กระจายไปอยู่ในหมวดอื่น เช่น ในพระไตรปิฎกจีน พระสูตรเหล่านี้ จะปะปนกับมหายานสูตร ในหมวด เช่น หมวดชาดก หมวดสูตรสันนิบาต

5. ธรรมบท ในคัมภีร์กษุทรกาคม ฉบับภาษาปรากฤตคานธารี จาก Split Collection


ในส่วนที่ว่า สุตตันตปิฎก ภาษาบาลี ของเถรวาทนั้นเคยถูกใช้เป็นพระสูตรอาคมของมหายาน หรือไม่นั้น ไม่มีหลักฐานที่กล่าวโดยตรงว่ามีการใช้

แต่ถ้าพิจารณาถึงกรณีในพุทธศาสนาในลังกาโบราณ จากจารึก วัตถุโบราณ และบันทึกพระถังซำจัง(พระเสวียนจั๋ง) กล่าวถึงคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่า สถวีรวาทมหายาน คือ พระสงฆ์ฝ่ายอภัยคีรี ซึ่งก็เท่ากับว่ามหายานกลุ่มนี้อาจจะใช้สุตตันตปิฎก ภาษาบาลี ก็เป็นได้


อาคมสูตร ทั้ง ๕ ประเภท ในแต่ละฉบับที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า ปัจจุบันยังพบ เศษส่วนบางพระสูตร ที่เป็นต้นฉบับกลุ่มภาษาอินเดียโบราณ และกลุ่มภาษาเอเชียกลางโบราณ ที่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์มากนักอีกจำนวนหนึ่ง


Loading

Be the first to comment on "อาคมสูตร พระสูตรของฝ่ายมหายาน สารบบที่ ๑"

Leave a comment