การอ่านภาษาสันสกฤตที่เขียนด้วยอักษรไทย

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

การเขียนภาษาสันสกฤตด้วยอักษรไทยนั้นมีแบบแผนที่นิยมใช้กันมาช้านาน แต่อาจไม่มีกติกาที่ตายตัว  แตกต่างกันบ้างเล็กน้อยๆ และคล้ายคลึงกับการเขียนภาษาบาลีเล็กน้อย แต่ใช้หลักการคล้ายๆ กัน คือ

๑. พยัญชนะที่ไม่มีสระประสมด้วย ให้ออกเสียงเหมือนมีสระอะ เช่น รถ อ่านว่า ระถะ (ไม่ใช่อ่านว่า รด), นคร ก็อ่านว่า นะคะระ… ง่ายมากๆ ข้อนี้

๒. พยัญชนะที่มีสระอื่นประสม ก็อ่านเหมือนภาษาไทย เช่น สา, วาริ, นานา, มุนิ, ไร, โค, โย, อิติ ฯลฯ สำหรับ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ มีการอ่านดังนี้ :  สระ ฤ ฤๅ ออกเสียงเหมือนมี ริ รี ควบ, เช่น กฺฤ อ่านว่า กริ (ก ควบ ร) , กฺฤๅ  อ่านว่า กรี (ก ควบ ร), กฺฦ อ่านว่า กลิ (ก ควบ ล) เป็นต้น

อนึ่ง การเขียนสระฤ ฤๅ ฦ ฦๅ นั้น บางท่าน ให้ใส่จุดที่พยัญชนะก่อน เช่น กฺฤ (ก ประสมด้วยสระ ริ) เพื่อแยกจากกณีที่พยัญชนะข้างหน้าประสมสระอะ แล้ว ฤ ที่ตามมาเป็นสระลอย เช่น มนฤงฺคา อ่านว่า มะ-นะ-ริง-คา. กรณีนี้ น ไม่ได้ประสมด้วยสระ ฤ (หาก น ประสมด้วย ฤ จะอ่าน มะ-นริง-คา และเขียน มนฺฤงฺคา)

๓. พยัญชนะสันสกฤตทั้งหมดออกเสียงต่างกัน ไม่มีตัวไหนเหมือนกันเลย แต่อนุโลม สำหรับผู้เริ่มเรียน จะออกเสียงพยัญชนะแบบไทยไปก่อนก็ได้. ส่วนเสียงสระทั้งสันสกฤตและไทยจะใกล้เคียงกัน

๔. คำที่มีเครื่องหมายวงกลมเล็กๆ ข้างบน (นฤคหิต) ให้ออกเสียงขึ้นจมูก, แต่อธิบายง่ายๆ ว่าให้ออกเสียงเหมือนมี  ม เป็นตัวสะกด(ก็แล้วกัน) อันที่จริงมีกติกาปลีกย่อยอีกเล็กน้อย ในที่นี้ขอเว้น. แบ่งง่ายๆ เป็น 2 กรณี

๔.๑) พยัญชนะที่ไม่มีรูปสระอะไรเลย แล้วมีนฤคหิต,  ออกเสียงเหมือนมีสระอะแล้วมี ม เป็นตัวสะกด เช่น โยคํ อ่านว่า โยคัม. ตํ อ่านว่า ตัม.

๔.๒) พยัญชนะที่ประสมด้วยสระอื่น แล้วมีนฤคหิต ก็อ่านเหมือนมีสระอื่นประสม แล้วสะกดด้วย ม. เช่น ตำ [ต สระ อา แล้วมีนฤคหิต] อ่านว่า ตาม, อรึ อ่านว่า อะริม. เธนํ อ่านว่า เท นุม

อนึ่ง สระอิ แล้วมีนฤคหิต บางครั้งก็พิมพ์สระอึแทน, มุนึ จึงต้องอ่านว่า มุนิม ไม่ใช่ มุนึม. << โปรดอ่านอีกครั้ง

๕. พยัญชนะที่มีจุดข้างใต้ หมายถึงพยัญชนะที่ไม่มีเสียงสระ. พบมากในภาษาสันสกฤต แบ่งง่ายๆ เป็นสามแบบ [ตรงนี้ควรอ่านละเอียด]

๕.๑) พยัญชนะมีจุด อยู่ท้ายคำ อ่านเป็นตัวสะกดได้เลย เช่น สนฺ อ่านว่า สัน. ราชานฺ อ่านว่า รา-ชาน. ชลมฺ อ่านว่า ชะลัม. ตมสฺ อ่านว่า ตะ-มัส. ปกติจะมีพยัญชนะใส่จุดท้ายคำได้เพียง ๑ ตัว.

๕.๒) พยัญชนะมีจุด อยู่ต้นคำ อ่านแบบตัวควบกล้ำ เช่น ปฺรีย อ่านว่า ปรี-ยะ (สองพยางค์). ตฺริ (ต ควบ ร สระอิ, พยางค์เดียว).  ศฺรี (ศ ควบ ร สระ อี, พยางค์เดียว).  ทฺวิช (ท ควบ ว สระอิ, ทวิ-ชะ,  ๒พยางค์). สฺตฺรี (ส ควบ ต ควบ ร, คำนี้ ควบสามตัวเข้าด้วยกัน แล้วประสมด้วยสระ อี,  อ่านพยางค์เดียว).

สระที่อาจดูยาก เช่น เกฺษ, อ่าน ก ควบ ษ ประสมสระเอ, ไม่อ่านว่า เกด, หรือ กะ-เส; โปฺร อ่านว่า โปร, ป ควบ ร ประสมสระโอ. สระข้างหน้านี้ บางครั้งก็เขียนพยัญชนะควบคร่อมสระ  เช่น เกฺษ หรือ กฺเษ ก็อ่านอย่างเดียวกัน

๕.๓) พยัญชนะมีจุด อยู่กลางคำ อ่านแยกพยางค์ตามความสะดวกไปก่อน เช่น อินฺทฺร อ่านว่า อิน-ทระ (สองพยางค์), พฺรหฺม อ่านว่า พระ-หมะ(ห ควบ ม, ไม่ใช่ ห นำ) สองพยางค์. อันที่จริงก็ยึดหลักเดียวกัน คือ ตัวไหนมีจุด แสดงว่าไม่มีเสียงสระ ก็ควบไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอสระ. ไสนฺย ออกเสียง ไส แล้วมีเสียง น ตามมา, ก่อนออกเสียง ยะ. คำนี้ 2 พยางค์ คำแบบนี้คนไทยออกเสียงได้ไม่สะดวกปาก จึงแผลงเป็น แสน-ยา. เกฺราญฺจ อ่านยากหน่อย ก ควบ ร ประสมสระเอา. อ่านว่า เกรา แล้วมี ญ เป็นตัวสะกด, ส่วน จ ออกเสียง จะ ตามปกติ, เกฺราญฺ-จ ออกเสียง 2 พยางค์

๖. เครื่องหมายวิสรรคะ (ะ) [บางตำราใช้ ห ใส่เครื่องหมายยามักการ] ให้ออกเสียงลมหายใจหนักๆ เป็นเสียงก้องของพยางค์ข้างหน้า เช่น นระ ออกเสียงว่า นะระ แล้วมีเสียงลมหายใจหนักๆ ตามมา คล้ายๆ หึ หรือ ฮึ ซึ่งเป็นเสียงสั้นๆ.  เครื่องหมายวิสรรคะตามหลังสระอะไรก็ได้ เช่น นไระ, มุนิะ ฯลฯ.

เพื่อความสะดวกบางตำราจึงแนะให้ออกเสียง ห ตามด้วยสระเสียงข้างหน้า (แต่หดเสียงให้สั้นลง ได้แก่ อะ อิ อุ เอะ โอะ) แต่ถ้าคำนั้นเป็นสระไอ หรือ เอา จะกลายเป็น หิ และ หุ ตามลำดับ.

นไระ  ออกเสียง นะไรหิ. เชปุะ ออกเสียง เชปุหุ. เกาะ ออกเสียง เกาะหุ [*ระวังสับสน ระหว่างเสียง หุ กับ หิ.]

๗. เครื่องหมายอวครหะ เป็นเครื่องหมายวรรคตอน ซึ่งในภาษาไทยอาจใช้เครื่องหมายอัญประกาศเดี่ยว ( ’) เช่น คเต’ปิ  ก็อ่านตามปกติ คะเต ปิ

การอ่านภาษาสันสกฤตที่เขียนด้วยอักษรไทยตามแบบฉบับทั่วไป คงมีเท่านี้ แต่รายละเอียดยังมีอีกมาก อาจารย์แต่ละท่านอาจมีรสนิยมการใช้แตกต่างกันไป แต่วิธีข้างต้นนี้น่าจะพอช่วยให้ผู้สนใจภาษาสันสกฤตเบื้องต้นได้ฝึกอ่านไปพลางๆ จนกว่าจะได้แนวทางที่ชัดเจน.

Loading

Be the first to comment on "การอ่านภาษาสันสกฤตที่เขียนด้วยอักษรไทย"

Leave a comment