คัมภีร์ลลิตวิสตระ อัธยายที่ ๑ ตอนที่ ๑

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

คัมภีร์ลลิตวิสตระ
อัธยายที่ ๑ นิทานปริวรรต
ตอนที่ ๑

 

อัธยายที่ ๑ เรียกว่านิทานปริวรรต ว่าด้วยเหตุที่พระพุทธทรงแสดงธรรมปริยายคือ ลลิตวิสตรนี้ โดยเล่าว่ามีเทพเจ้ามาทูลขอร้องให้พระองค์ทรงแสดงไวปุลยสูตรดั่งกล่าว พระพุทธทรงเล่าเรื่องราว โดยตรัสเป็นคำประพันธ์ว่า

ตตฺภิกฺษโว เม ศฺฤณุเตห สรฺเว

ไวปุลฺยสูตฺรํ หิ มหานิทานมฺ

ยทฺภาษิตํ สรฺวตถาคไตะ ปฺราคฺ

โลกสฺย สรฺวสฺย หิตารฺถเมวมฺ ฯ

คำแปล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งปวงจงฟังมหานิทานของตถาคต อันเป็นสูตรที่กว้างขวางไพบูลย์
ซึ่งพระตถาคตทั้งปวงได้ตรัสแสดงในครั้งก่อนๆ แล้วเพื่อประโยชน์ชาวโลกทั้งปวงดั่งนี้แล ฯ

 

ในตอนที่ ๑ นี้กล่าวถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่พระอารามเชตวัน ท่ามกลางมหาสันนิบาตอันประกอบด้วยพระสาวกและพระโพธิสัตว์จำนวนมาก โดยมีเนื้อหาต่อไปนี้


นมะ สรฺวพุทฺธโพธิสตฺตฺเวภฺยะฯ

ลลิตวิสฺตระฯ
ลลิตวิสตระ

๚ โอํ นโม ทศทิคนนฺตาปรฺยนฺตโลกธาตุปฺรติษฺฐิตสรฺวพุทฺธโพธิสตฺตฺวารฺยศฺราวกปฺรตฺเยกพุทฺเธภฺโย’ตีตานาคตปฺรตฺยุตฺปนฺเนภฺยะ๚

ความนอบน้อมของข้าพเจ้าจงมีแด่พระพุทธ พระโพธิสัตว์ พระอารยศราวก และพระปรัตเยกพุทธทั้งหลายทั้งปวง ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบันอันประดิษฐานดำรงอยู่ในโลกธาตุ อันไม่มีเขตสุด และไม่มีขอบเขตในทิศทั้ง ๑๐

๑ นิทานปริวรฺตะ ปฺรถมะฯ
อัธยายที่ ๑ ชื่อนิทานปริวรรต (ว่าด้วยเหตุบังเกิดพระสูตร)

เอวํ มยา ศฺรุตมฺฯ เอกสฺมินฺสมเย ภควานฺ ศฺราวสฺตฺยํา วิหรติ สฺม เชตวเน’นาถปิณฺฑทสฺยาราเม มหตาภิกฺษุสํเฆน สารฺธํ ทฺวาทศภิรฺภิกฺษุสหไสฺระฯ

เอวํ  มยา  ศฺรุตมฺ  ข้าพเจ้าผู้มีนามว่า อานันทะ ได้สดับมาแล้วอย่างนี้–
เอกสฺมินสมเย  ภควานฺ  ในสมัยกาลครั้งหนึ่ง พระผู้มีภคะ(*)ทรงสำราญพระอิริยบถ อยู่ในพระอารามเชตวันอันเป็นอารามของท่านอนาถปิณฑทะในนครศราวัสตี พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ใหญ่มีจำนวนประมาณ ๑๒,๐๐๐ รูป

 

* ผู้มีภคะ คือผู้มีสมบัติ ๖ อย่าง ได้แก่ ๑.ทรัพย์ ๒.วีรยะ ๓.ปรัชญาชญาน ๔.วิรคะธรรม ๕.ยศ ๖.ศรีหรือสิริ คำว่า ภควาเป็นภาษามคธ ภควานฺเป็นภาษาสํสกฤต ไทยแปลว่า พระผู้มีพระภาค

 

ตทฺยถา-อายุษฺมตา จ ชฺญานเกาณฺฑินฺเยนฯ
อายุษฺมตา จาศฺวชิตาฯ อายุษฺมตา จ พาษฺเปณฯ

นั่นคือ ท่านชญานเกาณฑินยะ  ท่านอัศวชิตะ  ท่านพาษปะ

 

อายุษฺมตา จ มหานามฺนาฯ อายุษฺมตา จ ภทฺริเกณฯ
อายุษฺมตา จ ยโศเทเวนฯ อายุษฺมตา จ วิมเลนฯ

ท่านมหานาม  ท่านภัทริกะ  ท่านยศเทวะ  ท่านวิมละ

 

อายุษฺมตา จ สุพาหุนาฯ อายุษฺมตา จ ปูรฺเณนฯ
อายุษฺมตา จ ควําปตินาฯ อายุษฺมตา โจรุพิลฺวากาศฺยเปนฯ

ท่านสุพาหุ  ท่านคะวำปติ  ท่านปูรณะ ท่านอุรุวิลวากาศยปะ

 

อายุษฺมตา จ นทีกาศฺยเปนฯ อายุษฺมตา จ คยากาศฺยเปนฯ
อายุษฺมตา จ ศาริปุเตฺรณฯ อายุษฺมตา จ มหาเมาทฺคลฺยายเนนฯ

ท่านนทีกาศยปะ ท่านคยากาศยปะ  ท่านศาริปุตระ  ท่านมหาเมาทคัลยายนะ

 

อายุษฺมตา จ มหากาศฺยเปนฯ อายุษฺมตา จ มหากาตฺยายเนนฯ
อายุษฺมตา จ กผิเลนฯ อายุษฺมตา จ เกาณฺฑินฺเยนฯ

ท่านมหากาศยปะ  ท่านมหากาตยายนะ   ท่านกผิละ  ท่านเกาณฑินยะ

 

อายุษฺมตา จ จุนนฺเทนฯ อายุษฺมตา จ ปูรฺณไมตฺรายณีปุเตฺรณฯ
อายุษฺมตา จานิรุทฺเธนฯ อายุษฺมตา จนนฺทิเกนฯ

ท่านจุนันทะ  ท่านปูรณไมตรายณีปุตระ  ท่านอนิรุทธะ  ท่านนันทิยะ

 

อายุษฺมตา จ กสฺผิเลนฯ อายุษฺมตา จ สุภูตินาฯ
อายุษฺมตา จ เรวเตนฯ อายุษฺมตา จ ขทิรวนิเกนฯ

ท่านกัสผิละ  ท่านสุภูติ  ท่านเรวตะ  ท่านขทิรวนิกะ

 

อายุษฺมตา จาโมฆราเชนฯ อายุษฺมตา จ มหาปารณิเกนฯ
อายุษฺมตา จ พกฺกุเลนฯ อายุษฺมตา จ นนฺเทนฯ

ท่านอโมฆราชะ  ท่านมหาปารณิกะ  ท่านพักกุละ  ท่านนันทะ

 

อายุษฺมตา จ ราหุเลนฯ อายุษฺมตา จ สฺวาคเตนฯ อายุษฺมตา จานนฺเทนฯ

ท่านราหุละ  ท่านสวาคตะ  และท่านอานันทะ ฯ

 

เอวํปฺรมุไขรฺทฺวาทศภิรฺภิกฺษุสหไสฺระ สารฺธํ ทฺวาตฺริํศตา จ โพธิสตฺตฺวสหไสฺระ สรฺไวเรกชาติปฺรติพทฺไธะ

เช่นเดียวกัน พระองค์พร้อมด้วยประมุข คือพระภิกษุ ๑๒,๐๐๐ รูป พระโพธิสัตว์ ๓๒,๐๐๐ รูป สืบเนื่องด้วยสหชาต คือ เกิดคราวเดียวกันทั้งหมด

 

สรฺวโพธิสตฺตฺวปารมิตานิรฺชาไตะ สรฺวโพธิสตฺตฺวาภิชฺญตาวิกฺรีฑิไตะ
สรฺวโพธิสตฺตฺวธารณีปฺรติภานปฺรติลพฺไธะสรฺวโพธิสตฺตฺวธารณีปฺรติลพฺไธะ
สรฺวโพธิสตฺตฺวปฺรณิธานสุปริปูรฺไณะ

เป็นผู้ถือกำเนิดบำเพ็ญบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้สนุกสำราญอยู่ด้วยอภิชญาตาแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ได้รับการแตกฉาน (มีปฏิภาณ) ในสิ่งที่ทรงจำแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ได้รับมนตร์ธารณีแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยประณิธาน (ความตั้งใจในอันจะเป็นพระโพธิสัตว์) ทั้งปวง

 

สรฺวโพธิสตฺตฺวปฺรติสมฺยคฺคติํคไตะ สรฺวโพธิสตฺตฺวสมาธิวศิตาปฺราปฺไตะ
สรฺวโพธิสตฺตฺววศิตาปฺรติลพฺไธะ สรฺวโพธิสตฺตฺวกฺษานฺตฺยวกีรฺไณะ สรฺวโพธิสตฺตฺวภูมิปริปูรฺไณะฯ

เป็นผู้บรรลุถึงสัมยักคติ คือ ทางดำเนินชอบแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ที่มีความปรารถนาเพื่อจะเป็นพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้หว่านโปรยความเพียรในอันจะเป็นพระโพธิสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้บำเพ็ญภูมิธรรมแห่งพระโพธิสัตว์ทั้งปวง

 

ตทฺยถา- ไมเตฺรเยณ จ โพธิสตฺตฺเวน มหาสตฺตฺเวนฯ ธรณีศฺวรราเชน จ โพธิสตฺตฺเวน มหาสตฺตฺเวนฯ

นั่นคือ พระองค์ทรงสำราญพระอริยาบถพร้อมด้วยพระไมตรีผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์  พระธรณีศวรราชผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์

 

สิํหเกตุนา จ โพธิสตฺตฺเวน มหาสตฺตฺเวนฯ สิทฺธารฺถมตินา จ โพธิสตฺตฺเวน มหาสตฺตฺเวนฯ

พระสิงหเกตุผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์  พระสิทธารถะผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์

 

ปฺรศานฺตจาริตฺรมตินา จ โพธิสตฺตฺเวน มหาสตฺตฺเวนฯ ปฺรติสํวิตฺปฺราปฺเตน จโพธิสตฺตฺเวน มหาสตฺตฺเวนฯ

พระประศานตะจาริตระมติผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์  พระประติสังวิตปราปตะผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์

 

นิตฺโยทฺยุกฺเตน จ โพธิสตฺตฺเวน มหาสตฺตฺเวนฯ มหากรุณาจนฺทฺริณา จโพธิสตฺตฺเวน มหาสตฺตฺเวนฯ

พระนิโตยทยุกตะผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์  พระมหากรุณาจันทริณะผู้เป็นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์

 

เอวํปฺรมุไขรฺทฺวาตฺริํศตา จ โพธิสตฺตฺวสหไสฺระ๚

พระโพธิสัตว์เหล่านี้เป็นประมุขในจำนวนพระโพธิสัตว์ ๓๒,๐๐๐ พรองค์

 

  1. ตารางเปรียบเทียบอักษรต้นฉบับ และคำอ่าน: ลลิตวิตระ อัธยายที่ ๑ ตอนที่ ๑ 

 


เชิงอรรถ

untitled
ตำแหน่งพุทธสถานในวัดเชตวันมหาวิหารในปัจจุบัน ดูบนแผนที่

800px-jetavana

ซากพุทธสถานในวัดเชตวันมหาวิหาร[1]

วัดเชตวันมหาวิหาร หรือ วัดพระเชตวัน อารามของบิณฑิกเศรษฐีเป็นอารามที่สร้างโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี บนที่ตั้งของเชตวัน หรือสวนเจ้าเชต นอกเมืองสาวัตถี วัดแห่งนี้นับว่าเป็นวัดสำคัญในสมัยพุทธกาล และเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุดถึง 19 พรรษาวัดเชตวันมหาวิหารเป็นสถานที่เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในนานานิกายมากมาย

ปัจจุบันวัดเชตวันมหาวิหารเหลือเพียงซากโบราณสถาน ได้รับการบูรณะจากทางราชการอินเดียเป็นอย่างดี ตั้งอยู่ทางใต้ของแม่น้ำราปติ (Rapti) หรือแม่น้ำอจิรวดีในสมัยพุทธกาล นอกกำแพงเมืองสาวัตถีไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ ตำบลสะเหต (Saheth) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

jetvan_bharhut

ภาพสลักหินจากพระสถูปภารหุต ที่มัธยประเทศ อินเดียกลาง แสดงภาพท่านอนาถบิณฑิกะ
ซื้อที่จากเจ้าเชต โดยการปูลาดกหาปณะจำนวนหลายโกฏิ เพื่อสร้างสังฆาราม
ด้านล่างมีอักษรพราหมีกำกับว่า “เชตวน อนนฺถปินฺทิโก เทติ โกติสนฺถเตน เกต [2]

     เดิมวัดเชตวันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสของเจ้าเชต เจ้าชายในราชวงศ์โกศลแห่งเมืองสาวัตถี เป็นพระราชอุทยานร่มรื่นนอกตัวเมืองหลวง มีเนื้อที่ 80 ไร่ วัดเชตวันมหาวิหารมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่า “วัดพระเชตวัน อารามของบิณฑิกเศรษฐี” ที่เรียกเช่นนี้เพื่อให้ทราบว่าวัดนี้เป็นวัดที่อนาถบิณฑิกะสร้างถวายแต่ใช้ชื่อวัดของเจ้าของที่เดิม เพราะวัดแห่งนี้เดิมเป็นที่ของเจ้าเชต เศรษฐีเจ้าที่ดินในสมัยนั้น ซึ่งอนาถบิณฑิกะซื้อต่อมาด้วยราคาที่แพงมหาศาลถึง 18 โกฏิ โดยเจ้าเชตกำหนดให้นำเหรียญกหาปณะมาปูเต็มพื้นที่ ๆ ต้องการซื้อ

 

12_ex

ภาพจิตรกรรมบนกำแพง รูปพระพุทธเจ้าท่ามกลางมหาสันนิบาต ประกอบด้วยหมู่พระสาวกและพระโพธสัตว์  ในถ้ำ Nyag Lhakhang Kharpo ศิลปะธิเบต-กูเก สมัยยุคต้นอาณาจักรกูเก ราวต้นศตวรรษที่ 11 ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตซาด้า (Zhada) ทิเบตตะวันตก ที่มีพรมแดนติดกับลาดักห์และแคชเมียร์[3]

20130419-dunhuang-samirabouaou-img_3094

รูปปั้นและภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธเจ้ากับหมู่พระสาวกและพระโพธสัตว์ ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์ถัง  ในถ้ำตุนหวง มณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน   [4]

อ้างอิง

  1. Scene in Jetavana. https://en.wikipedia.org/wiki/Jetavana
  2. Anathapindika covers Jetavana with coins  https://en.wikipedia.org/wiki/Anathapindika
  3. A Painted Book Cover from Ancient Kashmir
    Fig. 12: Detail of Buddha Preaching to an Assembly of Monks
    North Wall, Nyag Lhakhang Kharpo cave-temple, Khartse, Zada district,Tibet
    Photo: Courtesy Thomas J. Pritzker.
    http://www.asianart.com/articles/kashmir/11.html
  4. Buddhist septad in the main niche, Mogao Cave 45, High Tang period (705–781). Replica in paint and fiberglass by Zhang Li and Li Lin, 2004. (Samira Bouaou/Epoch Times)
    http://www.theepochtimes.com/n3/31735-a-piece-of-dunhuang-comes-to-new-york/

 

Loading

Be the first to comment on "คัมภีร์ลลิตวิสตระ อัธยายที่ ๑ ตอนที่ ๑"

Leave a comment