ศูรางคมมนตร์ บทนำ

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

ศูรางคมมนตร์

ที่มาและความสำคัญ

ศูรางคมมนตร์  มีหลายชื่อเรียก ศูรางคมธารณี, สิตาตปัตรา ธารณี, สิตาตปัตราอุษณีษ์ ธารณี, สิตาตปัตโตรษณีษ์ ธารณี ศูรางคมมนตร์นี้มีหลายสำนวน บางสำนวนก็ยกเป็นปกรณ์วิเศษเป็นเอกเทศออกจากพระสูตรเลยก็มี ดังนั้นเนื้อหาธารณีจึงสั้นยาวไม่เท่ากัน โดยเพื่อง่ายต่อการศึกษา ผู้เรียบเรียงจึงใช้ ฉบับที่ปริวรรตและเรียบเรียงโดย Malaysian Buddhist Association เป็นหลัก

ศูรางคมมนตร์ เป็นธารณีที่อยู่ในพระสูตรมหายานชื่อ ศูรางคมสูตร พระสูตรนี้อ้างถึงความสำคัญของการบำเพ็ญสมาธิว่า เป็นมูลเหตุให้บรรลุการตรัสรู้ ความเป็นพระโพธิสัตว์และสัจธรรม และในผูกที่ ๓ นี้เอง มีเนื้อหาของ ศูรางคมมนตร์ บรรจุอยู่โดยมีส่วนธารณีแบ่งเป็น ๕ บท และนอกจากนี้ ศูรางคมมนตร์ ยังปรากฏในพระไตรปิฎกฉบับทิเบต และเป็นธารณีมนต์ที่น่าศึกษาสำหรับผู้สนใจพุทธศาสนาในนานานิกายและผู้สนใจในภาษาสันสกฤต เพราะศูรางคมธารณีสูตรเป็นธารณีมนต์ที่สำคัญบทหนึ่งของฝ่ายมนตรยานและฝ่ายมหายานในประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี

ส่วนฝ่ายมหายานในจีนนั้น บูรพาจารย์ในจีนยกย่องว่ามีอานุภาพมาก มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบรรดาธารณี ไม่มีคาถาในธารณีใดเทียบได้ บูรพาจารย์จีนจึงกำหนดให้สวดเป็นบทแรกในการทำวัตรเช้าของอารามทั่วไปในประเทศจีน

ในฝ่ายมนตรยานนับถือว่าเป็นธารณีประจำพระองค์ของพระสิตาตปัตราโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ผู้ทรงสิตปัตร คือ มีพันหัตถ์ ทั้งยังนับถือกันว่าจะทรงปกป้องคุ้มครองสรรพสัตว์ทั้งหลายและเหล่าผู้บูชา ประดุจฉัตรสีขาวบริสุทธิ์ ที่กางกั้นบนพระเศียรของปวงพระพุทธเจ้า หรืออีกนัยหนึ่ง ฉัตรเป็นหนึ่งในของวิเศษแปดสิ่งในพุทธศาสนาวัชรยาน ซึ่งเปรียบเสมือนการอยู่ห่างไกลจากสิ่งไม่ดีทั้งมวล  คือเปรียบดังพระบารมีของพระพุทธองค์ ประดุจฉัตรสีขาว ซึ่งปกคลุมป้องภัยแก่สรรพสัตว์ทั่วจักรวาล

 

 พระสิตาตปัตราโพธิสัตว์ ในพระหัตถ์ถือฉัตรสีขาว[3]

 

เนื้อเรื่องที่มาของธารณี 

ในพระสูตรยกย่องว่าเป็นพระคาถาที่ทรงบุญญานุภาพมากหลาย ในศูรางคมธารณี มีเนื้อหากล่าวถึงพระอานนท์เถระถูกนางมาตังคีทำร้ายด้วยมนต์ดำ พระพุทธองค์ทรงอยู่ในสมาธิจึงทรงเปล่งพุทธรัศมีจากพระอุษณีย์(คือ ส่วนนูนกลางพระเศียร) แสดงพระธารณีบทนี้เพื่อช่วยพระอานนท์ จากนั้นจึงทรงตรัสแสดงธารณีนี้แก่สรรพสัตว์

      ในพระสูตร ศูรางคมสูตร ผูกที่ ๓ มีเนื้อหากล่าวถึงพระอานนท์  เป็นภิกษุที่ความมีอัธยาศัยดี เจรจาดี ไปถึงไหนก็ถูกตาต้องใจชนทั้งหลาย ในระหว่างทางกลับจาก บิณฑบาตพระอานนท์ รู้สึกกระหายน้ำ ท่านหยุดที่บ่อน้ำในหมู่บ้านชาวจัณฑาล  ที่บ่อน้ำแห่งนั้นมีนางจัลฑาลเป็นบุตรีในตระกูลมาตังกา ชื่อปรากฤติ กำลังตักน้ำในบ่ออยู่  พระอานนท์จึงได้เข้าไปขอขอน้ำดื่มจากนาง แต่นางปฏิเสธ บอกว่าตนเป็นชาวจัณฑาล เกรงจะเป็นมลทินแก่พระอานนท์ ที่วรรณะสูงกว่า และเป็นบาปแก่นางที่ถวายน้ำ     พระอานนท์จึงกล่าวว่า พระอานนท์เป็นสมณศากยบุตร มิได้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ ศูทร หรือจัณฑาล อย่างใดอย่างหนึ่งเลย นางปรากิฤติถวายน้ำแก่พระอานนท์

จากนั้นนางปรากิฤติ รู้สึกหลงใหล เฝ้าคิดถึงแต่พระอานนท์ มารดาให้นิมนต์พระอานนท์ เข้ามาฉันภัตตาหารในบ้านของพวกตน พระอานนท์รับนิมนต์ถึงสองครั้ง แต่เมื่อรู้สึกได้ว่าหญิงสาวได้ตกหลุมรักในตัวท่าน พระอานนท์จึงปฏิเสธที่จะรับนิมนต์อีก นางปรากฤติจึงล้มป่วย ในที่สุดนางจึงบอกมารดาว่า นางบอกว่าต้องการให้ พระอานนท์สึกออกมาแต่งงานกับนาง นางยอมตายเสียดีกว่าเลิกรักพระอานนท์ ด้วยความกลัวว่าบุตรสาวจะตาย ผู้เป็นมารดาจึงทำคุณไสยยาเสน่ห์หวังว่า จะทำให้พระอานนท์รับรักบุตรสาวของนาง  และนำพระอานนท์มาสู่เรือนของตนเมื่อพระอานนท์ต้องคุณไสยยาเสน่ห์แล้ว พระอานนท์ก็ให้รู้สึกงงงวย เดินมาบ้านเรือนของนางอย่างสลึมสลือ นางพอรู้ว่าพระอานนท์มาก็ดีใจมาก ออกมาพาพระอานนท์เข้าไปในห้องของนาง นางก็อยากจะจับพระอานนท์มาแต่งงานกับนาง

พระพุทธเจ้าในเวลานั้นทราบด้วยญาณทัศนะ จึงพระอุษณีย์เปล่งพุทธรังสีหลากสีมากมาย ในแสงแต่ละสีมีบัวทิพย์พันกลีบบนบัวทิพย์พันกลีบมีพระนิรมาณกายของพระพุทธเจ้าหนึ่งองค์ เป็นดังนี้ในแต่ละแสงสี จึงมากมายด้วยพระนิรมาณกายทุกๆองค์ทรงนั่งขัดสมาธิ ตรัสมนตร์คาถาอันศักดิ์สิทธิ์ แล้วตรัสเรียกพระมัญชุศรีมหาโพธิสัตว์ เชิญพระธารณีคาถาอันศักดิ์สิทธิ์นั้นไปสลายมนต์ดำ แล้วช่วยพระอานนท์ให้มีสติกลับมา และพระอานนท์ก็เข้าสมาธิจนพ้นมนตร์ดำ และกลับไปหาพระพุทธเจ้า นางปรากฤติตอนนั้นก็ตามพระอานนท์ไปด้วย ครั้งพระพุทธเจ้าเรียกนางปรากฤติมาเจรจาตกลง นางอยากอยู่ใกล้พระอานนท์ พระพุทธเจ้าก็บอกให้นางบวชเป็นภิกษุณี 1 ปี แล้วจะดูความก้าวหน้าของการปฏิบัติบำเพ็ญ ครบ 1 ปี จึงจะจัดแต่งงานให้  แต่ต่อภายหลังนางปรากฤติได้รับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้าได้บรรลุพระอรหันต์ก่อนพระอานนท์ ในเวลาต่อมา ในพระสูตรได้บรรยาย พระธรรมเทศนา ดังกล่าวด้วย

และส่วน มนตร์คาถาอันศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสช่วยพระอานนท์ ก็คือ ศูรางคมมนตร์ หรือ  สิตาตปัตรา ธารณี นั้นเอง

เรื่องนี้ในพระไตรปิฏกฝ่ายเถรวาทไม่ปรากฎชัดเจน แต่มีเค้าลางอยู่ สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ภิกขุนีสูตร ว่าด้วยภิกษุณีส่งบุรุษไปหาพระอานนท์ให้มาเยี่ยมไข้

พระไตรปิฏกฝ่ายมหายานนั้นเอาเรื่องนี้ในพุทธประวัติด้วย และโครงเค้าเรื่องนี้ยังอยู่ในวรรณกรรมสมัยใหม่ เช่น
คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่ (Old path white clouds) :  เป็นหนังสือพุทธประวัติแบบธรรมดาไม่เน้นอิทธิปาฏิหาร ที่เขียนโดยท่านติช นัท ฮันห์และแปลโดย รสนา โตสิตระกูลและสันติสุข โสภณสิริ
พระอานนท์ พุทธอนุชา : ของ อ.วศิน อินทสระ
จันฑาลิกา :  ของ รพินทรนาถ ฐากุร นักกวีปราชญ์ รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
หนังชุด พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก คลิ๊กชม

ปกหนังสือ จันฑาลิกา แสดงเป็นรูปพระอานนท์รับน้ำจากนางปรากฤติ

ปกหนังสือ พระอานนท์ พุทธอนุชา  ในเรื่องออกชื่อนางปรากฤติ เป็น นางโกลิกา


ฉากพระอานนท์รับน้ำจากนางปรากฤติ ในหนังชุด พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก

ประวัติความเป็นมาการเผยแพร่และการแปล ศูรางคมธารณี[1][2]

ในช่วงประมาณปี ค.ศ. ๑๖๘-๑๗๙ พระสมณะโลกะเกษม (支婁迦讖) พระภิกษุชาวกุษาณะ ได้นำพระศูรางคมสูตร ภาษาสันสกฤต มาถึงประเทศจีนและแปลเป็นภาษาจีน

ศูรางคมธารณีสูตร ฉบับที่นิยมในปัจจุบัน ได้รับการแปลใหม่และทับศัพท์(แบบถอดเสียง)จากเสียงภาษาสันสกฤตเป็นอักษรจีน ช่วงราชวงศ์ถัง ประมาณ ปี ค.ศ. ๗๐๕ โดย พระสมณะปรมิติ (般刺蜜帝) พระภิกษุชาวอินเดีย จากมัชฌิมประเทศ และสอบทานโดย พระสมณะเมฆศิกร(Meghashikara) จากแคว้นอุทยาน ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน

ศูรางคมธารณีสูตรได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ ให้ได้รับความนิยมยิ่งขึ้น โดยไต้ซือเสวียนฮว่า(Hsuan Hua) พระเถระจีนท่านสำคัญซึ่งเดินทางไปประกาศพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา ทำให้ศูรางคมธารณีสูตรได้รับความนิยมในอเมริกาและในชุมชนชาวพุทธจีนทั่วโลก โดยท่านถือว่าเป็นพระธารณีที่คุ้มครองพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่

ไต้ซือเสวียนฮว่า(Hsuan Hua) [4]

      ศูรางคมมตร์นี้ เดิมนั้นตัวต้นฉบับเป็นสันกฤต แต่ถูกบันทึกทั้งใน อักษรจีน และอักษรสิทธัม และตัวต้นฉบับสันกฤตเดิมนั้นได้หายสาบสูญไปหมดแล้ว และโดยข้อจำกัดของการออกเสียงอักษรทั้งสองแบบ ต่อมามีผู้ปริวรรตกลับคืนเป็น ภาษาสันสกฤตโดยอักษรโรมัน และ เทวนาครี โดยยังเหลือเพียง สิตาตปัตราธารณี(sitātapatrā dhāraṇī)  เท่านั้นที่เป็นธารณีที่ใกล้เคียงกับศูรางคมธารณีสำนวนจีน ซึ่งยังมีต้นฉบับเป็นภาษาสันสกฤตอยู่

ศูรางคมมตร์ อักษรจีน และอักษรสิทธัม ปริวรรตกลับคืนเป็น ภาษาสันสกฤตโดยอักษรโรมัน
โดย Malaysian Buddhist Association [5]

 

อ้างอิง

[1]https://en.wikipedia.org/wiki/Śūraṅgama_Sūtra
[2]https://en.wikipedia.org/wiki/Shurangama_Mantra
[3] http://buddha.goodweb.cn/music/musictxt/images/dabaisangai_b.jpg
[4] http://www.cttbusa.org/parinirvana/images_paintings.htm
[5]http://www.malaysianbuddhistassociation.org/Downloads/2013/290313_3.pdf ดาวน์โหลด

Loading

Be the first to comment on "ศูรางคมมนตร์ บทนำ"

Leave a comment