อนันตริยกรรม ๕ ประการ และ กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม ๕ ประการ ฝ่ายสันสกฤต

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

อนันตริยกรรม ๕ ประการ และ กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม ๕ ประการ ฝ่ายสันสกฤต

อนันตริยกรรม หรือ กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาปอกุศล ๕ ประการ ปรากฏในอยู่ในพุทธศาสนา ในธรรมข้อนี้ ทั้งฝ่ายสาวกยาน และมหายาน กล่าวไว้ตรงกัน

ส่วน กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม ในธรรมข้อนี้ มีการกล่าวถึงในฝ่ายสาวกยานบางนิกาย อย่าง นิกายสรรวาสติวาท และ ฝ่ายมหายานได้นำไปขยายความต่อ ไม่ปรากฏในฝ่ายเถรวาท โดยมีรายละเอียดที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้
————————————————–

อนันตริยกรรม ใน ภาษาบาลี เรียกว่า :

ปญฺจานนฺตริกา หรือ ปญฺจ กมฺมานิ อานนฺตริกานิ
[pañcānantarikā : pañca kammāni ānantarikāni]

————————————————–

ภาษาสันสกฤต เรียกว่า

पञ्चानन्तरीयाणि หรือ पञ्चानन्तर्याणि
ปญฺจานนฺตรียาณิ : ปญฺจานนฺตรฺยาณิ
[pañcānantarīyāṇi : pañcānantaryāṇi]

หรือ

पञ्चानन्तर्याणि कर्माणि
ปญฺจานนฺตรฺยาณิ กรฺมาณิ : (ปญฺจ อานนฺตรฺยาณิ กรฺมาณิ)
[pañcānantaryāṇi karmāṇi : (pañca ānantaryāṇi karmāṇi)]

————————————————–

อนันตริยกรรม มาจากคำว่า ป. “อานนฺตริก” ส. “อานนฺตรฺย” แปลว่า ไม่มีช่องว่าง, ไม่มีอะไรหยุดระหว่างกลาง, ต่อเนื่องกันทันที กับคำว่า ส. “กรฺม” ซึ่งหมายถึง การกระทำที่ทำด้วยความจงใจ

อนันตริยกรรม ตามความหมายรูปศัพท์ว่า การกระทำที่ไม่มีช่องว่าง กรรมที่ต่อเนื่องกันทันที หมายถึง กรรมที่ไม่เปิดโอกาสให้กรรมอื่นแสดงผลก่อน ไม่มีช่องว่างระหว่างกรรมที่กระทำลงไปกับวิบากหรือผลที่จะตามมา

แต่ อนันตริยกรรม ตามบัญญัติในพุทธศาสนา มิได้หมายถึงกรรมโดยทั่วๆ ไป แต่หมายเอาเฉพาะ กรรมอันเป็นครุกรรม คือเป็น กรรมชั่วที่เป็นบาปอกุศลที่หนักและร้ายแรงที่สุดในศาสนา

ตามความเชื่อในพุทธศาสนา ผู้ที่ทำอนันตริยกรรมแล้ว วิบากที่เกิดขึ้นยังขัดขวางไม่ให้ผู้ก่อกรรม ถึงมรรคผล นิพพาน ทางแห่งความหลุดพ้น ในภพปัจจุบันชาติอีกด้วย

และเมื่อตายไปแล้ววิบากยังปิดกั้นทางไปสุคติภูมิ จะปฏิสนธิจิตไปเกิดในอบายภูมิอย่างเดียว

———————

ส่วนในมหายาน ขยายความว่า วิบากของผู้ที่ทำอนันตริยกรรมยังปิดกั้นทางไป พุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าในโลกธาตุอื่นๆ อีกด้วย อย่างเช่น สุขาวตีโลกธาตุ พุทธเกษตรของพระอมิตภพุทธเจ้า

ที่กล่าวใน มหาสุขาวตีวยูหสูตร วิสตรมาตฤกา ปณิธานข้อ ๑๘ กล่าวถึง การตั้งปณิธานของพระอมิตภพุทธเจ้า เมื่อคราวเป็นภิกษุโพธิสัตว์ว่า ผู้ที่ภาวนาพุทธานุสติถึงพระองค์(พระอมิตภพุทธเจ้า) ๑๐ วาระก่อนสิ้นใจจะได้อุบัติยังโลกธาตุของพระองค์ ยกเว้น

———————

स्थापयित्वा आनन्तर्यकारिणः सद्धर्मप्रतिक्षेपावरणकृतांश्च सत्त्वान्
สฺถาปยิตฺวา อานนฺตรฺยการิณะ สทฺธรฺมปฺรติกฺเษปาวรณกฤตําศฺจ สตฺตฺวานฺ
(sthāpayitvā ānantaryakāriṇaḥ saddharmapratikṣepāvaraṇakṛtāṃśca sattvān)

“เว้นไว้เสียแต่สัตว์ผู้ทำอนันตริยกรรม และผู้ดูหมิ่นดูแคลนเป็นปรปักษ์ต่อพระสัทธรรม”

———————

แต่ในหมู่ชาวมหายาน เองมีความเห็นต่างกันในเรื่องนี้ว่า ผู้ที่ประกอบอนันตริยกรรมว่าสามารถไปเกิดยังสุขาวดีได้หรือไม่ บางพวกเห็นว่าได้ บางพวกว่าไม่ได้ และยังมีหลักข้อเชื่อใน พุทธศาสนาแบบมนตรยาน ซึ่งเป็นพุทธศาสนาแขนงหนึ่งของมหายาน เชื่อว่า มนตรธารณี ที่ศักสิทธิ์บางธารณี สามารถดับอกุศลอนันตริยกรรมได้

———————

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเชื่อส่วนใหญ่ในพุทธศาสนาทั้งฝ่ายสาวกยานและมหายาน ก็เชื่อว่า วิบากของผู้ที่ประกอบอนันตริยกรรม จะปิดกั้นทางไปสุคติภูมิ หรือในสำนวนที่ว่า ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน วิบากของผู้ที่ประกอบกรรมจะปฏิสนธิจิตไปเกิดในอบายภูมิ คือ ในมหานรกที่ชื่อว่า “อเวจีมหานรก” หรือ “อวีจิ” (अवीचि : Avīci) ตามรูปศัพท์ ในภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า “ปราศจากคลื่น” หรือโดยนัย แปลว่า หรือ ไม่มีสิ่งอื่น ไม่มีระหว่าง นอกจากความทุกข์ คือไม่เว้นว่างจากทุกข์ ไม่มีการหยุดพัก (ลงโทษไม่มีการพัก) เป็นนรกขุมชั้นต่ำที่สุด มีไว้สำหรับที่ผู้กระทำอนันตริยกรรม จวบจนหมดวิบากหรือเบาบาง พ้นนรกนี้แล้ว จึงจะเปิดทาง ให้สามารถเข้าถึงมรรคผลได้อีกครั้ง

————————————————–

ซึ่ง อนันตริยกรรม ๕ ประการ ได้แก่

๑. ฆ่ามารดา
ป. มาตุฆาต (mātughāta)
ส. มาตฤวธ (मातृवध : mātṛvadha) หรือ มาตฤฆาต (मातृघात : mātṛghāta)

๑.โจรองคุลิมาลผู้เกือบกระทำมาตุฆาต

ในพระสูตรและขยายความในอรรถกถากล่าวถึง เรื่อง อหิงสกะ บุตรนางพราหมณ์ชื่อ มันตานี ภรรยาของ คัคคพราหมณ์ ปุโรหิตในราชสำนัก เกิดที่แคว้นโกศล สมัยพระเจ้าปเสนทิโกศล

โตขึ้นบิดามารดาจึงส่งไปเรียนกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักกศิลา

อหิงสกะ เป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ฝ่ายศิษย์อื่น ๆ บังเกิดความริษยา หาอุบายทำลายอหิงสกกุมาร โดยบอกกับอาจารย์ว่า อหิงสกะ จะประทุษร้ายท่านอาจารย์

ฝ่ายอาจารย์ฟังนานเข้าจึงเชื่อ อาจารย์จึงออกอุบาย ยืมมือผู้อื่นกำจัด อหิงสกะ โดยให้อหิงสกะ ฆ่าคนให้ได้พันคน เพื่อประกอบพิธีบูชาครู (ครุทักษิณา) อหิงสกะ เป็นผู้เชื่อฟังครู ยอมปฏิบัติตาม โดยออกไปสู่ป่าชาลิวันในแคว้นโกศล ออกฆ่าคน

แต่ไม่เป็นอย่างแผนที่วางไว้ ไม่มีใครฆ่า อหิงสกะ ได้เลย อหิงสกะ เมื่อฆ่าคนตายแล้วก็ตัดเอานิ้วร้อยเป็นพวงไว้ดุจพวงมาลานับได้ ๙๙๙ นิ้ว เพราะเหตุนั้นจึงมีนามปรากฏว่า “องคุลิมาลโจร” แปลว่า โจรผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลา

ข่าวคราวเรื่องนี้ ถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงสั่งให้ตระเตรียมกำลังพล เพื่อจะไปจับองคุลิมาลโจรฆ่าเสีย

ผู้เป็นบิดาทราบว่า อันตรายจะมีแก่บุตร จึงปรึกษากับนางพราหมณี ให้นางพราหมณีรีบออกไปก่อนเพื่อบอกเหตุนั้นให้บุตรทราบ

ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็น อุปนิสัยแห่งพระอรหัตตผลขององคุลิมาลโจรว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงเป็นพระภาระก็จะกระทำมาตุฆาต (ฆ่ามารดา) เสีย เอานิ้วมือนิ้วที่ ๑๐๐๐ จากมารดาเป็นแน่ ซึ่งเป็นเหตุ ขัดขวางมรรคผลนิพพาน และมีวิบากอันหนัก

จึงรีบเสด็จไปแต่ผู้เดียวระหว่างทางชาวบ้านได้ห้ามพระองค์อยู่หลายครั้ง จนเมื่อพบ องคุลิมาลโจร เข้าแล้ว ก็ตรงเข้าไล่ทันที หมายจะพิฆาตฆ่าเอานิ้วพระหัตถ์ องคุลิมาลวิ่งจนสุดกำลัง ก็ไม่อาจทันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้

จนองคุลิมาลร้องไป จงหยุดก่อนสมณะ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด

ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า ท่านหยุดแล้วเป็นอย่างไร ข้าพเจ้ายังไม่หยุด เป็นอย่างไร?

พระพุทธองค์มีพระดำรัสตอบว่า “องคุลิมาลเราได้หยุดคือเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว ส่วนตัวเธอยังไม่หยุด”

โจรองคุลิมาล รู้สึกสำนึกผิดได้ทันทีแล้ววางดาบ ทิ้งธนู ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา



โจรองคุลิมาลเกือบจะกระทำมาตุฆาต อันเป็นอนันตริยกรรม ขัดขวางมรรคผลนิพพาน และมีวิบากอันหนัก แต่ด้วยพระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปโปรด ได้กลับใจออกบวช ภายหลังได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เป็นพระเถระทรงคุณรูปหนึ่งในพุทธศาสนา

Artist : Junaidi Lim
Jakarta, Indonesia


๒.ฆ่าบิดา
ป. ปิตุฆาต (pitughāta)
ส. ปิตฤวธ (पितृवध : pitṛvadha) หรือ ปิตฤฆาต (पितृघात : pitṛghāta)

๒.พระเจ้าอชาตศัตรูผู้ทำปิตุฆาตแม้กลับตัวได้ภายหลังก็ยังต้องลงนรก

พระเจ้าอชาตศัตรูทำการยึดอำนาจ พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระบิดาตามคำแนะนำของพระเทวทัตได้แล้ว ทรงขังพระบิดาไว้ในห้องมืด และให้อดพระกระยาหารการกรีดฝ่าพระบาทของผู้เป็นบิดาบังเกิดเกล้า เพื่อมิให้พระเจ้าพิมพิสารทรงเดินจงกรมได้อีกต่อไป จนสุดท้ายสิ้นพระชนม์

แม้ภายหลังพระเจ้าอชาตศัตรูทรงซาบซึ้งในรสพระธรรมและยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะแห่งชีวิต หากพระองค์ไม่มีเคราะห์กรรมใหญ่หลวงจากการกระทำปิตุฆาต พระองค์ก็คงจะได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นโสดาบันตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว

ในช่วงบั้นปลายชีวิต วิบากกรรมได้ตามทันพระเจ้าอชาตศัตรู พระองค์ถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์เพื่อยึดอำนาจ ผลกรรมจากการกระทำปิตุฆาตทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูต้องเสวยทุกขเวทนาในนรก

ภาพวาดจาก เจดีย์วิปัสสนาสากล (Global Vipassana Pagoda) อินเดีย


๓.ฆ่าพระอรหันต์
ป.อรหนฺตฆาต (arahantaghāta)
ส. อรฺหทฺวธ (अर्हद्वध ; arhadvadha) หรือ อรฺหทฺฆาต (अर्हद्घात : arhadghāta)

๓.พวกเดียรถีย์ ๕๐๐ กับโจร ๕๐๐ ฆ่าพระอรหันต์ผู้ทรงคุณและมีฤทธิ์มาก

พระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นพระภิกษุอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นพระอสีติมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีฤทธิ์มาก คู่กับพระสารีบุตร ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขว

ก่อนท่านจะนิพพาน อรรถกถากล่าวถึง พวกเดียรถีย์ ได้ติดต่อจ้างโจรให้ฆ่าพระเถระ

พวกโจร ได้รับเงินสินบนแล้วพากันไปล้อมจับพระเถระถึงที่พัก แต่พระเถระรู้ตัวและหลบหนีไปได้ถึง 2 ครั้งในครั้งที่ 3 พระเถระได้พิจารณาเห็นกรรมเก่า ที่ตนเคยทำไว้ในอดีตชาติติดตามมา และเห็นว่ากรรมนั้นทำอย่างไรก็หนีวิบากไม่พ้น จึงยอมให้พวกโจรจับอย่างง่ายดาย และถูกพวกโจรทุบตีจนกระดูกแตกแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี

ส่วนวิบาก พวกเดียรถีย์ ๕๐๐ กับโจร ๕๐๐ ในชาตินั้นพระเจ้าอชาติศัตรู แต่งสายสืบไปจับ เมื่อจับได้ทั้งหมด ท่านให้ฝั่งดินพวกเดียรถีย์ กับโจร ฟางสุมใส่แล้วเผา ให้ไถด้วยไถเหล็ก ให้เป็นท่อนและหาท่อนมิได้ ทำการเสียบหลาวประจาน

อรรถกถากล่าวถึง บุพกรรมของพระเถระ อีกว่า ที่ท่านถูกทำร้าจนนิพพาน เพราะเศษแห่งวิบาก จากกรรมที่ท่านทำอนันตริยกรรม คือท่านทำมาตุฆาต ปิตุฆาตอันเป็นกรรมหนัก ท่านไหม้ในนรกอยู่อย่างยาวนาน ด้วยวิบากที่ยังเหลือจึงถูกทุบตีร่างละเอียดมรณะอย่างนี้อยู่หลายอัตภาพ จนชาติสุดท้ายของท่าน

พระอรหันต์ท่านท่านถึงวิมุตติธรรม ตัดกรรมได้หมดจดแล้ว ไม่มีเหลือให้ก่อภพชาติได้อีกเลย แต่วิบากนั้นหากมีเหตุปัจจัยครบพร้อมประจวบเหมาะก็ยังให้ผลอยู่ เช่นเศษวิบากจากกรรมอันหนักนั้นก็ไม่ละเว้นเช่นในพระเถระผู้ทรงคุณ

ภาพปฏิมากรรม พระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า
https://pixabay.com/photos/buddha-statue-meditation-sculpture-3153414/


๔. ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต
ป. โลหิตุปฺปาท (lohituppāda) [ทำพระโลหิตให้ห้อ]
ส. ตถาคตทุษฺฏจิตฺตรุธิโรตฺปาท (तथागतदुष्टचित्तरुधिरोत्पाद : tathāgataduṣṭacittarudhirotpāda) [จิตประทุษร้ายพระตถาคตเจ้า ทำพระโลหิตให้ห้อ]

 

ความเชื่อในพุทธศาสนา เชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่อยู่ในฐานะ และโอกาสที่ผู้อื่นจะทำร้ายให้สิ้นพระชนม์ได้ ผู้มีจิตคิดประทุษร้ายให้สิ้นพระชนม์ ทำได้อย่างยิ่งเพียงให้พระองค์ห้อพระโลหิตเท่านั้น ข้อนี้พ้นสมัยที่จะทำได้แล้ว

๔.พระเทวทัตทำโลหิตุปบาทบนเขาคิชฌกูฏ

หลังจากที่พระเทวทัตได้หลอกให้เจ้าชายอชาติศัตรูมกุฎราชกุมารให้ยึดอำนาจพระเจ้าพิมพิสารพระราชบิดาที่เป็นกษัตริย์แคว้นมคธลง ก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน หลังจากนั้นพระเทวทัตซึ่งเป็นพระอาจารย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่

จากนั้นพระเทวทัตได้ไปทูลต่อพระผู้มีพระภาคว่าทรงชราภาพแล้ว ขอให้ทรงมอบตำแหน่งและกิจการบริหารคณะสงฆ์ให้แก่ตนเสีย แต่ถูกพระผู้มีพระภาคทรงตักเตือน พระเทวทัตฟังแล้วเสียใจผูกพยาบาทพระพุทธเจ้ายิ่งนัก จึงได้ดำเนินแผนการร้าย หวังที่จะประหารพระพุทธเจ้า จึงได้เริ่มแผนการ

แผนการที่ ๑ ลอบสังหารโดยพลธนูมือขมังของพระเจ้าอชาติศัตรู ๓๑ คน แต่เมื่อถึงเวลาบรรดาพลธนูทั้ง ๓๑ คน เกิดหวั่นหวาดกลัวพระผู้มีพระภาคเจ้า แผนนี้จึงไม่สำเร็จ

แผนการที่ ๒ กลิ้งหินลงมาจากภูเขาคิชฌกู
พระเทวทัตได้เริ่มแผนการใหม่ คือแกล้งว่ามีหินกลิ้งลงมาจากภูเขาคิชกูฏลงมาทับพระผู้มีพระภาค ขณะเสด็จพระพุทธดำเนินจากภูเขาคิชฌกูฏเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้าน

เมื่อถึงเวลาพระเทวทัตก็ผลักก้อนหินลงมาจากภูเขาลงมาสังหารพระผู้มีพระภาค แต่หินก้อนนั้นได้กระทบกับแง่หินแล้วก็แตกกระจายกระเด็นมาต้องพระบาทของพระผู้มีพระภาค ทำพระโลหิตให้ห้อขึ้นแล้ว

ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแหงนขึ้นไปได้ตรัสกะพระเทวทัตว่า “โมฆบุรุษ เธอสั่งสมบาปมิใช่บุญไว้มากนัก เพราะมีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดฆ่ายังโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น”

พระผู้มีพระภาคตรัสแก่คณะสงฆ์ว่า “จิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดฆ่ายังโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น นี้เป็นอนันตริยกรรม”

ภาพวาดจาก เจดีย์วิปัสสนาสากล (Global Vipassana Pagoda) อินเดีย


๕.ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน (สังฆเภท)
ป. สงฺฆเภท (saṅghabheda) หรือ สํฆเภท (saṃghabheda)
ส. สํฆเภท (संघभेद : saṃghabheda)

 

ข้อนี้ทำได้เฉพาะพระภิกษุ คือ พระภิกษุที่เป็นอธรรมวาที สร้างความร้าวรานแห่งสงฆ์ ยุแยงให้สงฆ์ให้บาดหมางกัน ดูหมิ่นซึ่งกันและกัน จนขับไล่กัน หากทำสำเร็จ จนคณะสงฆ์ไม่ยอมทำอุโบสถร่วมกันอีก แยกกันทำปวารณา แยกกันทำสังฆกรรม ถึงจะเป็นสังฆเภท ข้อนี้มีรายละเอียดมาก ในที่นี้กล่าวแต่เพียงเท่านี้

๕.พระเทวทัตทำสังฆเภท พระอัครสาวกทำสังฆสามัคคี

พระเทวทัตผูกพยาบาทพระพุทธเจ้า ดำเนินแผนการร้าย จนกระทั่งปล่อยช้างนาฬาคิรีให้ไปทำร้ายก็ยังไม่เป็นผล พระเทวทัตจึงวางแผนทำสังฆเภท คือแยกสงฆ์ออกจากกัน โดยวางแผนกับ เข้าไปหาพระโกกาลิกะ พระกตโมรกติสสกะ พระขัณฑเทวีบุตร พระสมุททัตตะ โดยออกอุบาย ไปทูลขอวัตถุ ๕ ประการกับพระพุทธเจ้า หากไม่ทรงอนุญาตจะได้หาเหตุทำสังฆเภทแยกหมู่ออกไป

วัตถุ ๕ ประการได้แก่
๑.ให้ภิกษุอยู่ป่าตลอดชีวิต ๒.ถือเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ๓.นุ่งห่มเฉพาะผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ๔.อยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ๕.ไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต ภิกษุรูปใดไม่ปฏิบัติ รูปนั้นต้องโทษ

สุดท้าย พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตที่จะบังคับตามกฎที่เสนอ แต่พระองค์อนุญาตตามความสมัครใจ

เข้าทางพระเทวทัตและพวก จึงได้โฆษณาชวนเชื่อวัตถุ ๕ ประการ ได้พระนวกะผู้บวชใหม่ ยังไม่รู้จักธรรมวินัยดี โดยมากชาวเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประมาณ ๕๐๐ รูป เรียกว่ากลุ่ม พระวัชชีบุตร มาเป็นพวก ทำสังฆเภท แยกออกจากหมู่สงฆ์ทั้งปวง แล้วพาภิกษุเหล่านั้นไปยังตำบลคยาสีสะประเทศ

ต่อมาพระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระ ได้รับพระบัญชาไปยังตำบลคยาสีสะประเทศ นำภิกษุพวกนั้นกลับมา แต่พระเทวทัตลำพองในตนเข้าใจว่าพระอัครสาวก จะมาเข้ากับพวกตน จึงมีความยินดี สบายใจจึงเข้าไปพักผ่อนจำวัดอยู่ครู่หนึ่ง

ซึ่ง พระโกกาลิกะ ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของพระเทวทัตได้เตือนพระเทวทัตก่อนหน้าว่า อย่าไว้ใจพระอัครสาวกทั้งสองนี้

พระเถระทั้งสองแนะนำพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้น ให้กลับใจ แล้วพาภิกษุเหล่านั้นกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระโกกาลิกะ มีความโกรธมาก เข้าไปปลุก กล่าวโทษแก่พระเทวทัต ที่ให้พระอัครสาวกทั้งสองพาภิกษุทั้งหลายกลับไปหมดสิ้น พระเทวทัตตื่นขึ้นมารู้ข่าวถึงกับอาเจียนเป็นโลหิต

ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า พระโกกาลิกะ เข้าไปปลุกพระเทวทัตลุกแล้ว ด้วยความความโกรธ จับตีเข่ากระแทกที่ทรวงอกพระเทวทัต อย่างแรงด้วยกำลังโทสะ เป็นเหตุให้พระเทวทัตเจ็บปวดอย่างสาหัส ถึงอาเจียนเป็นโลหิต

ที่มาภาพพุทธประวัติของ วัดพระบาทน้ำพุ


ส่วน กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม ๕ ประการ มีความร้ายแรงเทียบเท่าอนันตริยกรรม แต่ปรากฏใน ฝ่ายสันสกฤต เพียงอย่างเดียว มีการกล่าวถึงในพระอภิธรรม ในนิกายสรรวาสติวาท เช่นในคัมภีร์อภิธรรมโกศภาษยะ คัมภีร์อภิธรรมโกศวยาขยา

และ ฝ่ายมหายาน เช่นใน คัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์และ มีการขยายความเพิ่มเติม คัมภีร์อรรถกถามหายานในเอเชียตะวันออก เช่น อรรถกถาคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ ชื่อ 瑜伽師地論略纂 (yújiā Shī Dì Lùn Lüè Zuǎn) และ 瑜伽論記(yújiā Lùn Jì ) โดยอรรถกถาจารย์ชาวเกาหลี 遁伦 (เสียงจีน Dùn-Lún :เสียงเกาหลี Tor-Yun หรือ Tull-Yun ) เป็นต้น
———————

กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม เรียกในภาษาสันสกฤต ดังนี้

ในคัมภีร์มหาวยุตปัตติ ของทิเบต ใช้คำว่า

पञ्चोपानन्तरीयाणि
ปญฺโจปานนฺตรียาณิ (ปญฺจ อุปานนฺตรียาณิ)
[pañcopānantarīyāṇi (pañca upānantarīyāṇi)]

———————

หรือในคัมภีร์อภิธรรมโกศ คัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ ใช้คำว่า

आनन्तर्यसभागानि
อานนฺตรฺยสภาคานิ
(ānantaryasabhāgāni)

———————

หรือ ในพจนานุกรม จีน ไทย สันสกฤต ฉบับวัดโพธิ์แมนคุณาราม ใช้คำว่า

पञ्चानन्तर्य सहगतानि
ปญฺจานนฺตรฺย สหคตานิ
(pañcānantarya sahagatāni)

————————————————–

กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะ ในคัมภีร์อภิธรรมโกศ ในนิกายสรรวาสติวาท เป็นหลัก และฝ่ายมหายานไว้เพียงสังเขป เพราะคัมภีร์อื่นๆ ในฝ่ายมหายานมีการตีความไว้หลากหลาย

กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม มี ๕ ประการ ได้แก่

————————————————–

๑. ล่วงเกินประทุษร้ายหญิง ที่เป็นพระอรหันต์และมารดา (เทียบได้กับ ฆ่ามารดา)

สันสกฤต : มาตุรรฺหตฺยา ทูษณํ
(मातुरर्हत्या दूषणं : māturarhatyā dūṣaṇaṃ)

ล่วงเกินประทุษร้ายหญิง ที่เป็นพระอรหันต์และมารดา หรือ การข่มขืนหรือขืนใจ ประทุษร้ายต่อพรหมจรรย์ของพระอรหันต์ (ทูษยตฺยพฺรหฺมจรฺยกรณาตฺ)

เฉพาะมหายานแบบวัฒนธรรมจีน อาจรวมไปถึงล่วงเกินประทุษร้ายพระภิกษุณีด้วย

๖.นันทมาณพข่มขืนพระอุบลวรรณาเถรี
พระอรหันต์สตรีผู้ทรงคุณ พระอัครสาวิกาที่พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นพระธิดา

พระอุบลวัณณาเถรี เกิดในสกุลเศรษฐี ณ กรุงสาวัตถี บิดามารดาก็ตั้งชื่อของนางว่า อุบลวรรณา เพราะมีผิวพรรณเสมอ ด้วยวรรณะของดอกอุบลขาบ

พระพุทธเจ้าทรงตรัสเล่าเวสสันดรชาดกและอปทาน ว่าพระอุบลวรรณาเถรี ในอดีตชาติคือ กัณหา พระธิดาของพระเวสสันดรและเกิดเป็นธิดาของพระองค์อยู่หลายชาติ

ในสมัยพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงห้ามการอยู่ป่าของภิกษุณี พระอุบลวัณณาเถรีอาศัยอยู่ป่าอันธวัน
ชาวบ้านได้ทำกระท่อม ตั้งเตียงกั้นม่านไว้ในป่านั้นแก่พระเถรี พระเถรีนั้นเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี แล้วเข้าไปสู่ป่าอันธวัน ก็มาพักที่กระท่อมนี้

พระเถรีมีลุงอยู่คนหนึ่ง ซึ่งมีลูกชายชื่อ นันทมาณพ มีความรักใคร่พระเถรีมากตั้งแต่สมัยที่นางเป็นฆราวาส แม้พระเถรีจะออกบวชแล้วก็ยังหลงรักอยู่ นันทมาณพได้ยินมาว่าพระเถรีไปมาอยู่กระท่อม จึงต้องหาช่องทางที่จะข่มขืนใจ ไปกระท่อมซ่อนอยู่ใต้เตียง พอเมื่อพระเถรีมาแล้ว กลับจากบิณฑบาต ล้างเท้าแล้วเข้ากุฎีนั่งบนเตียง จึงออกมาจากใต้เตียง มาณพนั้นจึงเข้าปลุกปล้ำประทุษร้าย ถูกพระเถรีห้ามอยู่ว่า “คนพาล เธออย่าฉิบหายเลย, คนพาล เธออย่าฉิบหายเลย”

นันทมาณพข่มขืนกระทำกรรมอันลามกตามตนปรารถนาแล้วก็หนีไปห่างจากกระท่อมไม่เท่าไหร่

มหาปฐพีนี้ถึงจะสามารถทานน้ำหนักแห่งภูเขาสิเนรุไว้ได้ ไม่อาจจะทานความชั่วช้าแห่งบุรุษนี้ได้ มหาปฐพีแยกช่องประมาณวาหนึ่งไว้ได้ สูบเขาลงสู่มหานรก ถึงความเป็นเชื้อเพลิงแห่งเปลวไฟในอเวจี

พระผู้มีพระภาคทราบเรื่องแล้ว ทรงวินิฉัยว่าพระเถรีไม่ต้องอาบัติปาราชิก เพราะ ภิกษุณีผู้ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ. จากเหตุนี้ทรงห้ามภิกษุณีอยู่ป่าอีก

พระเถรีรูปนี้พระผู้มีพระภาคยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ และเป็นอัครสาวิกาเบื้องซ้าย เป็นเลิศของเหล่าภิกษุณีผู้มีฤทธิ์

ภาพวาดจาก เจดีย์วิปัสสนาสากล (Global Vipassana Pagoda) อินเดีย


๒. ฆ่าพระนิตยโพธิสัตว์ (เทียบได้กับ ฆ่าบิดา)

สันสกฤต : นิยติปติตโพธิสตฺตฺวมารณํ
(नियतिपतितबोधिसत्त्वमारणं : niyatipatitabodhisattvamāraṇaṃ )

นิยตโพธิสัตว์ในที่นี้มีนัยใกล้เคียง อย่างเถรวาท คือ พระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอย่างแน่นอน

ส่วนมหายานฝ่ายสันสกฤต ใช้สำนวนต่างเล็กน้อย คัมภีร์มหาวยุตปัตติ กล่าวว่า

นิยตภูมิสฺถิตสฺย โพธิสตฺตฺวสฺย มารณํ
(नियतभूमिस्थितस्य बोधिसत्त्वस्य मारणं : niyatabhūmisthitasya bodhisattvasya māraṇaṃ)

ฆ่าพระโพธิสัตว์ที่ดํารงอยู่ในนิตยภูมิ คือ พระโพธิสัตว์อยู่ในภูมิที่ไม่เสื่อมถอยจากพระโพธิญาณแล้ว ซึ่งเกี่ยวพันกับหลักการ ภูมิ ๑๐ ของพระโพธิสัตว์ในมหายาน

เฉพาะมหายานแบบวัฒนธรรมจีน อาจรวมไปถึงการ การทำร้ายฆ่าผู้อื่นหรือผู้บาดเจ็บ ผู้ลี้ภัย ในเขตสังฆาราม (คงเกี่ยวกับเรื่องการสงคราม บ้างว่าเทียบได้กับ ฆ่าพระอรหันต์ )

๗.ความหมายของพระนิตยโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ เป็นชื่อเรียกของผู้ที่กำลัง บำเพ็ญบารมี เพื่อจะมาตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต พระโพธิ สัตว์เป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังต้องเวียนเกิดเวียนตาย ในสังสารวัฏฏ์อยู่ บางครั้งท่านก็กระทำ อกุศลส่งผลให้ไปบังเกิดในนรกเป็นเวลานานแสนนาน เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานผจญความทุกข์นานับประการ เป็นเวลานานแสนนาน

จนกว่าจะได้รับการพยากรณ์จาก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งก่อน ถึงจะอยู่ได้ว่าเป้าหมายที่ตั้งความปราถนาไว้ใกล้ที่จะถึงหรือยัง หลังจากพระพุทธเจ้าทรงพุทธพยากรณ์ให้แล้ว พระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ได้ในระยะเวลาอันใกล้เลย พระโพธิสัตว์ยังต้องบำเพ็ญบารมี ต่อไปอีกอย่างยาวนาน

แต่เป็นการบำเพ็ญบารมี อย่างที่มีความหวังได้ว่า พระองค์ต้องได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน เหตุที่ท่านกระทำไว้สมควรแก่ผลที่จะได้รับในอนาคตข้างหน้า ด้วยน้ำพระทัยที่เด็ดเดี่ยว และด้วยจิตที่เป็นมหากุศล ท่านจึงประกอบความเพียร ตั้งใจบำเพ็ญบารมีเพื่อ พระโพธิญาณ เพื่อนำพระธรรมคำสอนมาโปรด เวไนยสัตว์ทั้งหลายที่จมอยู่ในความทุกข์

พระโพธิสัตว์มี 2 ประเภท

1. อนิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่ยังมิได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจาพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอดีตกาล ยังไม่แน่นอนว่าจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ในกาลอันใกล้หรือไกล แต่ตนเองก็บำเพ็ญบารมีปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่เสมอมิได้ขาดและยังคงต้องทำทั้งกุศลและอกุศลปะปนกันไป บางชาติเกิดในสุคติภูมิ บางครั้งก็เกิดในทุคติภูมิ

2. นิยตโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่จะต้องเข้าถึงพุทธภูมิแน่นอน หมายความว่าในชาติใดชาติหนึ่งได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง เขาจึงเป็นพระโพธิสัตว์ที่ต้องได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอนในอนาคตกาล แต่จะเป็นเมื่อใดนั้น มิอาจทราบได้ พระองค์จะไม่ทำอกุศลกรรมเลย ทำแต่กุศลกรรมฝ่ายเดียว

ภาพพระสุเมธดาบสผู้บำเพ็ญในโพธิสัตว์จริยา และสุมิตตาพราหมณี ถือดอกบัวเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่ พระทีปังกรพุทธเจ้า ในหนังเรื่อง Bimba Devi Alias Yashodhara

จากนั้น พระสุเมธดาบสนอนทอดกายให้พระทีปังกรพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันตสาวกเหยียบดำเนินข้ามเลนตม แล้วพระทีปังกรทรงพยากรณ์ว่า ในเบื้องหน้าสุเมธดาบสจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

ด้วยเหตุนี้พระสุเมธดาบสจึงได้เป็นพระนิตยโพธิสัตว์ เพราะได้รับพุทธพยากรจากพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้ว พระสุเมธดาบสชาติในชาตินั้น ได้บำเพ็ญบารมีอีกเอนกอนันตชาติ จนในพระชาติสุดท้าย ทรงตรัสรู้เป็น พระโคดมพุทธเจ้า หรือพระศากยมุนี (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)

ที่มา
http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/theravade06.htm


๓. ฆ่าพระไศกษะ (เทียบได้กับ ฆ่าพระอรหันต์)

สันสกฤต : ไศกฺษมารณํ
(शैक्षमारणं : śaikṣamāraṇaṃ)

พระไศกษะ ภาษาบาลีเรียกว่า เสขะ แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษา แต่คำนี้ไม่ได้หมายเอานักเรียน นักศึกษา แต่หมายถึง พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ๓ ประเภท เรียก พระเสขะบุคคล ได้แก่

พระโสดาบัน (ส.โสฺรตาปนฺน : स्रोतापन्न : srotāpanna)
พระสกทาคามี (ส. สกฤทาคามินฺ : सकृदागामिन् : sakṛdāgāmin)
พระอนาคามี (ส. อนาคมินฺ : अनागमिन् : anāgamin)

เฉพาะมหายานแบบจีน อาจรวมไปถึงการฆ่าและทำร้ายพระภิกษุ ภิกษุณี

๘.พระนางสามาวดีเทวีผู้รับการสั่งสอนจากสาวใช้จนสำเร็จเป็นเสขะบุคคล และถูกฆ่าโดยพระนางมาคันทิยาผู้อาฆาตแค้นในพระพุทธองค์

พระนางสามาวดีเทวี เป็นธิดาของเศรษฐีนามว่าภัททวดีย์ แห่งเมืองภัททวดีย์ เดิมชื่อว่า “สามา” ต่อมาได้รับการอภิเษกขึ้นเป็นอัครมเหสี ของพระเจ้าอุเทน แห่งเมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ

พระนางสามาวดีเทวี บรรลุโสดาปัตติผล จากหญิงบริวาร ชื่อ นางขุชชุตตรา รับหน้าที่จัดซื้อดอกไม้

เนื่องจาก นางขุชชุตตรา ได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระศาสดาในบ้านของนายสุมนมาลาการผู้ขายดอกไม้ จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

เมื่อนำดอกไปให้พระนางสามาวดีเทวี แล้วได้แสดงธรรมที่ตนฟังมานั้นแก่ พระเทวีพร้อมทั้งหญิงบริวาร จนพระเทวียกให้เป็นพระอาจารย์ พระเทวีพร้อมทั้งหญิงบริวารจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้งหมด

ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าอุเทนได้พระนางวาสุลทัตตา พระราชธิดาของพระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี มาอภิเษกเป็นมเหสีองค์ที่สอง และได้นางมาคันทิยา สาวงามแห่งแคว้นกุรุ มาอภิเษกเป็นมเหสีองค์ที่สา

ก่อนที่นางมาคันทิยา จะได้รับการอภิเษกเป็นมเหสี เดิมทีนางเป็น ธิดาของเศรษฐีในแคว้นกุรุ เนื่องจากนางมีรูปงามดุจนางเทพอัปสร เมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จมายังแคว้นกุรุ ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของนาง พบพระศาสดา เห็นพระลักษณะถูกตาต้องใจ จะยกธิดาให้ พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามแล้วตรัสตอบ ท่านไม่ปรารถนาในร่างกายแล้วเต็มไปด้วยมูตรและกรีส (ปัสสาวะและอุจจาระ) แล้วทรงแสดงธรรมโปรดสองสามีภรรยาจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

ฝ่ายนางมาคันทิยา ได้ยินพระดำรัส รู้สึกโกรธ จึงผูกอาฆาตของเวรต่อพระศาสดา ตั้งแต่นั้น เมื่อบิดามารดาของนางออกบวชหมดแล้ว นางได้มาเป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน เมื่อคราวพระศาสดาเสด็จมายังเมืองโกสัมพี นางก็ได้จ้างนักเลงด่าพระศาสดา เมื่อกลั่นแกล้งไม่ได้ผล ก็หันไปกลั่นแกล้ง พระนางสามาวดีเทวี เพราะเป็นพระมเหสีคู่แข่ง และทราบว่ามีศรัทธาในพระพุทธองค์ จนพระนางสามาวดีเทวี เกือบถูกพระเจ้าอุเทนประหารชีวิต

ภายหลังพระเจ้าอุเทนหันมาศรัทธาในพระพุทธองค์ด้วยกับพระนางสามาวดีเทวี ถึงกับทรงถวายจีวร ๕๐๐ ผืนแก่พระอานนท์ ตามพระนางสามาวดีเทวีและบริวารได้ถวายไปก่อนหน้า นางมาคันทิยาก็เพิ่มควาอาฆาตมากขึ้น

จนคราวพระเจ้าอุเทนเสด็จประพาสอุทยาน นางมาคันทิยาสั่งคนรับใช้ และบรรดาญาติให้เอาผ้าชุบน้ำมันแล้วนำไปพันที่เสาในปราสาทของพระนางสามาวดี ออกอุบายเกลี้ยกล่อมให้พระนางสามาวดีเทวีและบริวารเข้าไปรวมอยู่ในห้องเดียวกันแล้วจึงลั่นกลอนข้างนอกแล้วจุดไฟเผาพร้อมทั้งปราสาท

จนพระเจ้าอุเทนกลับมา ทรงให้ประหาร นางมาคันทิยา และบรรดาญาติ คนรับใช้ ของนางอย่างทารุณ

พระพุทธเจ้าทรงยกพระนางสามาวดีเทวี ไว้เอตทัคคะผู้เป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งปวงในด้านผู้อยู่ด้วยเมตตา และยก นางขุชชุตตรา เป็นเอตทัคคะผู้เป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งปวงในด้านการแสดงธรรม

ที่มาภาพพุทธประวัติของ วัดพระบาทน้ำพุ


๔.ลักขโมยของสงฆ์ (เทียบได้กับ ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน)

สันสกฤต : สํฆายทฺวารหาริกา : สํฆายทฺวารหรณํ
(संघायद्वारहारिका : saṃghāyadvārahārikā , संघायद्वारहरणं : saṃghāyadvāraharaṇaṃ)

สงฆ์ หรือ สังฆะ ในที่นี้หมายเอาหมู่พระภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ของคือของส่วนกลางอันเป็นสาธารณที่สงฆ์ที่ใช้ร่วมกัน ลักขโมยหรือทำลาย เทียบได้กับ ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน

เฉพาะมหายานแบบจีน อาจรวมไปถึง ภิกษุที่บวชแสวงหาลาภสักการะ หรือกระทำชั่วสร้างความด่างพร้อยจนความเสื่อมเสียมาสู่หมู่สงฆ์และศาสนา หรือผู้ทำอกุศลในเขตสังฆารามและศาสนสถานให้มัวหมอง เช่น การทำลามกอนาจาร ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในศาสนสถาน ในเขตสงฆ์

๙.การปล้นสะดมในอารามในการปฏิวัติวัฒนธรรมปี 1966-1976

การปฏิวัติทางวัฒนธรรมใหญ่ของกรรมาชีพ (Great Proletarian Cultural Revolution) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า การปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) เป็นขบวนการทางสังคม-การเมืองซึ่งเกิดขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปี 1966-1976 เหมาเจ๋อตงซึ่งขณะนั้นเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นผู้ริเริ่มขับเคลื่อน เป้าหมายที่แถลงไว้ คือ เพื่อบังคับใช้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศโดยการขจัดองค์ประกอบที่เป็นทุนนิยม ประเพณีและวัฒนธรรมจีน ออกจากวัฒนธรรมคอมมิวนิสต์และเพื่อกำหนดแนวทางแบบเหมาภายในพรรค

ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรม คือ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของจีนมาตั้งแต่โบราณต้องถูกทำลาย เช่น โครงกระดูกมนุษย์โบราณ หลุมฝังศพ ป้ายวิญญาณบรรพบุรุษ หนังสือที่เขียนขึ้นไม่ใช่ลัทธิของประธานเหมา เครื่องดนตรีโบราณ พระราชวัง กำแพงเมืองจีน รูปปั้นบุคคลที่ประกอบคุณงามความดี งานศิลปะอันประมาณค่ามิได้ต่าง ๆ มีการปล้นสะดมเผาทำลาย ทรัพย์สินในศาสนสถาน

รูปจากบทความ burn, loot and pillage! Destruction of antiques during China’s Cultural Revolution.

http://www.antique-chinese-furniture.com/blog/2013/02/10/burn-loot-and-pillage-destruction-of-antiques-during-chinas-cultural-revolution/


๕.ทําลายพระสถูป (เทียบได้กับ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต)
สันสกฤต : สฺตูปเภทนํ
स्तूपभेदनं : stūpabhedanaṃ

ได้แก่ การทําลายสิ่งก่อสร้างไว้สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าและพระธาตุของพระอรหันต์

เฉพาะมหายานแบบวัฒนธรรมจีน อาจรวมไปถึง การเผาและทำลายคัมภีร์ในพุทธศาสนา การเผาและทำลายวัดวาอารามวิหารศาสนสถานด้วย

๑๐.การทำลายพระสถูปที่เกละณิยะรัชมหาวิหาร โดยชาวโปรตุเกส ปี พ.ศ. 2048

วัดเกละณิยะรัชมหาวิหาร (කැලණිය රජ මහා විහාරය : Kelaniya Raja Maha Vihara) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโคลัมโบประมาณ 13 กิโลเมตรทางทิศเหนือ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเกละณิยะ วัดแห่งนี้มีความสำคัญต่อชาวพุทธศรีลังกาเพราะเชื่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ที่เป็นสาวกอีก 500 รูปได้เคยเสด็จมายังวัดแห่งนี้

วัดนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกช่วงประมาณปี พ.ศ. 300 โดยกษัตริย์ยัฎฐาลาติสสะ (King Yathalatissa) และได้เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในรัชสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 6 (King Parakramabahu VI) แห่งราชอาณาจักรโกฏเฏ (Kingdom of Kotte) ซึ่งโปรดให้สร้างวัดแห่งนี้ให้เป็นวัดที่ยิ่งใหญ่ จนกลายเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่สำคัญ เมื่อปี 2048 วัดได้ถูกผู้รุกรานชาวโปรตุเกสเผาทำลายลงจนสิ้นซาก

ต่อมากษัตริย์กีรติศรีราชสิงหะ (King Kirthi Sri Rajasinghe) ซึ่งปกครองราชอาณาจักรแคนดี้ (Kingdom of Kandy) ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2290 – 2325 ได้ทำข้อตกลงกับผู้ปกครองลังกาในยุคนั้น คือ ฮอลันดา ให้สามารถส่งพระสงฆ์เข้าไปบูรณะวัดได้ ดังนั้น เมื่อปี 2310 ได้โปรดให้พระมปิฏิกามะ พุทธรักขิตตะเถระ (Venerable Mapitigama Buddharakkhita Thera) พร้อมพระสงฆ์จำนวนหนึ่งเดินทางไปปฏิสังขรณ์วัด แต่เหตุการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายซึ่งส่งผลให้ลังกากลายเป็นอาณานิคมของ อังกฤษใด้ทำให้ภารกิจดังกล่าวต้องชะงักลง

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2431 นางเฮเลนา วิเจวาร์เดนา (Mrs. Helena Wijewardena) เศรษฐีนีแห่งกรุงโคลัมโบได้สนใจและได้อุทิศทรัพย์สินในการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่

เนื้อหาจาก
http://www.thaiembassy.org/colombo/th/news/27883-วัดเกลาณียะราชมหาวิหาร.html

รูปโดย Prasanna Weerakkody

Loading

Be the first to comment on "อนันตริยกรรม ๕ ประการ และ กรรมอันเสมือนกับอนันตริยกรรม ๕ ประการ ฝ่ายสันสกฤต"

Leave a comment