อัษฏโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ทั้งแปดในฝ่ายมหายาน

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

อัษฏโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ทั้งแปด

अष्टबोधिसत्त्व
aṣṭabodhisattva
อษฺฏโพธิสตฺตฺว

จากที่แฟนเพจได้แนะนำให้ทางเพจนำเสนอภาษาสันสกฤตกับพระโพธิสัตว์มหายานบ้าง แอดมินจึงได้เรียบเรียงเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เนื่องจากผู้เรียบเรียงไม่ได้มีความรู้ด้านมหายานมากนัก ผิดพลาดตรงใหนขอให้ผู้รู้ช่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้องนะครับ

อัษฏโพธิสัตว์ หรือ อัษฏมหาโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่สำคัญในพุทธศาสนานิกายมหายานและวัชรยาน มี 8 พระองค์เป็นผู้แวดล้อมพระพุทธเจ้าทั้งหลายอยู่ทั้งแปดทิศ ในพจนานุกรม ทิเบต สันสกฤต อังกฤษ ให้ความหมายว่า พระโพธิสัตว์ที่ผู้แวดล้อมพระพุทธเจ้าพระศากยมุนีพุทธเจ้า 8 พระองค์ (พระโคตมพุทธเจ้า) และเป็นบุคลาธิษฐาน แสดงถึงพระคุณอันไม่มีประมาณ ของพระพุทธเจ้าในด้านต่างๆ

อัษฏโพธิสัตว์ ยังถูกเรียกอีกนามว่า บุตรผู้ใกล้ชิด (อษฺฏ อุตปุตฺร : aṣṭa utaputra) เปรียบดังบุตรชายที่สนิทกับบิดา คือพระพุทธเจ้า(พุทธบุตร)นั้นเอง 

คติการนับถือพระอัษฏมหาโพธิสัตว์ในปัจจุบัน ยังปรากฏอยู่ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนานิกายมหายานและวัชรยาน ในเอเชียตะวันออก มักพบเป็นพุทธศิลป์บนภาพพระบฏ เป็นรูปพระพุทธเจ้าพระองค์ต่างๆ แวดล้อมด้วยอัษฏโพธิสัตว์ ทั้งศิลปะทิเบต จีน เกาหลี ญี่ปุ่น

ยังพบหลักฐานโบราณคดี การนับถือพระอัษฏมหาโพธิสัตว์ ในอินเดียและภูมิภาคอาเซียน อย่างเช่นในอินเดีย รูปเคารพและพระพิมพ์ศิลปะคุปตะและปาละ อัษฏมหาโพธิสัตวมณฑล ในถ้ำเอลโลร่า (Ellora) รัฐมหาราษฏระ และ รูปเคารพในถ้ำอุทยคีรีและขัณฑคีรี (Udayagiri and Khandagiri) รัฐโอริสสา

อย่างในไทยและอาเซียน เช่น พระพิมพ์อัษฏมหาโพธิสัตว์ พบในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด สร้างคล้ายคลึงกับศิลปะสมัยปาละ พบมากใน จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี

ภาพสลักพระอัษฏมหาโพธิสัตว์ เก็จมุมของจันทิเมนดุต (Candi Mendut ) ภาคกลางของชวา อินโดนีเซีย สลักพระโพธิสัตว์แปดองค์ผู้ประทับยืนล้อมรอบพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในจันทิ

พระอัษฏมหาโพธิสัตว์ มีการกล่าวถึงในคัมภีร์ชั้นเก่าสุดที่ปรากฏมาถึงปัจจุบัน อยู่ในคัมภีร์ธรรมสังเคราะห์ หรือ ธรรมสังครหะ (धर्मसंग्रहः : ธรฺมสํคฺรหะ) เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมคำศัพท์ทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน รจนาโดย พระนาคารชุนะ (नागार्जुन) ผู้ก่อตั้งแนวคิดสายมัธยมกะ คัมภีร์ธรรมสังเคราะห์ ข้อที่ ๑๒ กล่าวว่า

अष्टौ बोधिसत्त्वाः | तद्यथा मैत्रेयः गगनगञ्जः समन्तभद्रः वज्रपाणिः मञ्जुश्रीः सर्वनिवरणविष्कम्भी क्षितिगर्भः खगर्भश्चेति ||१२||

อษฺเฏา โพธิสตฺตฺวาะ ฯ ตทฺยถา ไมเตฺรยะ คคนคญฺชะ สมนฺตภทฺระ วชฺรปาณิะ มญฺชุศฺรีะ สรฺวนิวรณวิษฺกมฺภี กฺษิติครฺภะ ขครฺภศฺเจติ ๚

แปลว่า พระโพธิสัตว์ทั้ง ๘ ได้แก่ : ๑. ไมเตรยะ ๒. คคนคัญชะ ๓. สมันตภัทร ๔. วัชรปาณิ ๕. มัญชุศรี ๖. สรรวนิวรณวิษกัมภี ๗. กษิติครรภ์ ๘. ขครรภ์ ดังนี้


ส่วนการนับถือและตีความพระอัษฏมหาโพธิสัตว์ ในคัมภีร์ยุคหลัง ต่อมานั้นแตกต่างจากที่ระบุใน คัมภีร์ธรรมสังเคราะห์ของพระนาคารชุนเล็กน้อย  พระคคนคัญชะ ถูกสับเปลี่ยนเป็น พระอวโลกิเตศวร และการตีความพระอัษฏมหาโพธิสัตว์ในบุคลาธิษฐานต่าง หรือตัวแทนความหมายพุทธคุณของพระพุทธเจ้าในด้านต่างๆ ก็มีหลายแบบ แต่ในที่นี้จะนำเสนอมีดังต่อไปนี้

๑.พระไมเตรยะ บุคลาธิษฐาน มหาไมตรี
๒.พระอวโลกิเตศวร บุคลาธิษฐาน มหากรุณา และ มหาอุปายะ
๓.พระสมันตภัทร บุคลาธิษฐาน มหาจรรยา
๔.พระวัชรปาณี บุคลาธิษฐาน มหาพละ
๕.พระมัญชุศรี บุคลาธิษฐาน มหาปรัชญา
๖.พระสรรวนีวรณวิษกัมภีน บุคลาธิษฐาน มหาคุณ
๗.พระกษิติครรภ์ บุคลาธิษฐาน มหาปรณิธาน
๘.พระขครรภ์ พระอากาศครรภ์ บุคลาธิษฐาน มหาสมาธิ


 

ทั้งนี้ ได้มีสมาชิกเพจอยากให้นำเสนอ มนตร์ประจำพระโพธิสัตว์ทั้ง ๘ อีก ทางแอดมินจึงได้ลองสืบค้นดู พบว่า มนตร์ และธารณีของ พระโพธิสัตว์แต่ละองค์ มีอยู่หลายที่ทั้งแยกเป็นเอกเทศของแต่ละโพธิสัตว์ และรวมกันในแต่คัมภีร์เดียวกันก็มี ทั้งคัมภีร์จีน ทิเบต สันสกฤต

เนื่องจากแอดมิน ไม่ได้สันทันด้าน วัชรยานตันตระ หรือ มนตรยานมากนัก และยังไม่ได้ศึกษาลงลึกว่าบรรดาศาสนิก ในทิเบต จีน ญีปุ่น ใช้ มนตร์และธารณีบทใดในคัมภีร์อะไรเป็นหลัก ในการภาวนาถึงพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ จึงขอนำเสนอ ตามข้อมูลที่หามาได้ ไว้เป็นเกร็ดปกิณกะแล้วกันนะครับ ข้อมูลที่นำมานั้นมาจาก คัมภีร์ไวโรจนาภิสัมโพธิสูตร เป็นคัมภีร์ในฝ่ายวัชรยานธรรม อ้างว่าเป็นคำสอนของพระไวโรจนพุทธเจ้า


คัมภีร์ไวโรจนาภิสัมโพธิสูตร ยังเป็นคัมภีร์สำคัญของฝ่ายมนตรยาน ในจีนและญีปุ่น หรือ คุหยนิกาย (密宗) หรือนิกายลับ คุยหยาน ก็เรียก ซึ่งเป็นนิกายย่อยในฝ่ายวัชรยาน ที่อยู่ในจีนและญีปุ่น รายละเอียดของนิกายนี้ ลองหาอ่านดูในปรัชญามหายาน ของเสถียร โพธินันทะ นะครับ



คัมภีร์ไวโรจนาภิสัมโพธิสูตร หรือ คัมภีร์มหาไวโรจนาภิสัมโพธิตันตระ เรียกสั้นๆว่า คัมภีร์มหาไวโรจนะ
ต้นฉบับสันสกฤตสูญ เหลือฉบับแปล 2 ฉบับ

1.ฉบับแปลจีน ชื่อ 大毘盧遮那成佛神變加持經 (Da Piluzhena chengfo shen bian jiachi jing )

แปลจากสันสกฤตเป็นจีนใน ราว ปีค.ศ. 724 โดยพระศุภกรสิงหะ ภิกษุชาวอินเดีย (शुभकरसिंह : śubhakarasiṃha) และ พระอี้ซิง ภิกษุชาวจีน (一行 :I-hsing ) ตรงกับรัชสมัย จักรพรรดิถังเสวียนจง ราชวงศ์ถัง

2.ฉบับแปลทิเบต ชื่อ རྣམ་པར་སྣང་མཛད་མངོན་པར་རྫོགས་པར་བྱང་ཆུབ་པའི་རྒྱུད། (rnam par snang mdzad mngon par rdzogs par byang chub pa’i rgyud)

แปลจากสันสกฤตเป็นทิเบตใน อย่างช้าสุดราว ปี ค.ศ. 812 โดยพระศีเลนทรโพธิ(शीलेन्द्रबोधि : śīlendrabodhi) ภิกษุชาวอินเดีย และ พระคาบา ปาลตแซก หรือฉายา พระรักษิตะ (Kawa Paltsek Rakṣita [སྐ་བ་དཔལ་བརྩེགས : ska ba dpal brtsegs ]) ภิกษุชาวทิเบต ผู้เป็นเป็นสัทธิวิหาริกในพระศานตรักษิต[* พระศานตรักษิต เป็นพระนักวิชาการฝ่ายมหายาน จากมหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นพระอุปัชฌาย์ องค์แรกที่ทำการอุปสมบทกุลบุตรในแผ่นดินทิเบต โดยใช้พระวินัยแบบสรรวาสติวาท ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าตรีซงเดเชน (ตริสองเดซัน)]

ฉบับแปลทิเบต ได้รักษาชื่อ คัมภีร์ไวโรจนาภิสัมโพธิสูตร สันสกฤตแบบเต็ม คือ

हावैरोचनाभिसंबोधि ­विकुर्विताधिष्ठानवैपुल्य­सूत्रेन्द्रराज­नामधर्मपर्याय
mahāvairocanābhisaṃbodhi ­vikurvitādhiṣṭhānavaipulya­sūtrendrarāja­nāmadharmaparyāya
มหาไวโรจนาภิสํโพธิ ­วิกุรฺวิตาธิษฺฐานไวปุลฺย­สูเตฺรนฺทฺรราช­นามธรฺมปรฺยาย



ในคัมภีร์วัชรยานทรรศนมีมามสา (วชฺรยาน ทรฺศน มีมําสา) คัมภีร์เกี่ยวกับทฤษฎีและการปฏิบัติของวัชรยาน ตันตระ ภาษาสันสกฤต อ้างอิงออกชื่อคัมภีร์นี้ไว้ว่า

महावैरोचनाभिसम्बोधि व्याकृताधिष्ठानवैपुल्यसूत्रेन्द्रराजनामधर्मपर्याय
mahāvairocanābhisambodhi vyākṛtādhiṣṭhānavaipulyasūtrendrarājanāmadharmaparyāya
มหาไวโรจนาภิสมฺโพธิ วฺยากฤตาธิษฺฐานไวปุลฺยสูเตฺรนฺทฺรราชนามธรฺมปรฺยาย


คัมภีร์ไวโรจนาภิสัมโพธิสูตร ฉบับแปลจีน ฉบับแปลทิเบตทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสลับเรียงต่างกันอยู่ สันนิษฐานว่าต้นฉบับสันสกฤตเป็นคนละฉบับกันอีก และคัมภีร์มีมนตร์ประจำพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ ธรรมบาลและอื่นๆ อยู่ด้วย ไม่มีเฉพาะพระโพธิสัตว์ทั้ง ๘ นะครับ


ในการนำเสนอ มนตร์ของพระโพธิสัตว์ ๘ คัมภีร์ไวโรจนาภิสัมโพธิสูตร จะใช้ข้อมูลจาก แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Rolf W. Giebel แปลจาก ฉบับจีน พระไตรปิฎกพากย์จีน ฉบับไทโช


ภาพชุดและมนตร์ของพระโพธิสัตว์ทั้งแปด

มนตร์ของพระโพธิสัตว์ทั้งแปด จากคัมภีร์ไวโรจนาภิสัมโพธิสูตร ปริวรรตอักษรโดย เพจ Thai-Sanscript อนึ่งการปริวรรตอักษรเป็นการถอดรูปอักษร ใช้ในการออกเสียงได้พอสังเขปเท่านั้น ส่วนการออกเสียงพยัญชนะแต่ละตัว พึงศึกษาการออกเสียงพยัญชนะสันสกฤต

ภาพชุดพระโพธิสัตว์ทั้งแปด วาดในศิลปะอินเดียร่วมสมัย (สมาชิกเพจแนะนำว่าเป็นคอลเล็กชั่นของท่านจงซาร์ จัมยัง เคนเซ รินโปเช)  องค์ประกอบของพระโพธิสัตว์อาจจะไม่ได้ตรงตามประติมานวิทยาทั่วไปที่พบตามแหล่งโบราณคดี แต่หาก วาดจากการประยุกต์ ที่ระบุในคัมภีร์มรณศาสตร์ของทิเบต สังเกตจากรูปพระโพธิสัตว์ส่วนใหญ่ถือระฆังหรือกระดิ่ง(ฆัณฏา) และ กระดิ่งวัชระ (วัชรฆัณฏา) เป็นส่วนมาก พร้อมสัญลักษณะประจำตัวของพระโพธิสัตว์ดังนี้

๑.พระไมเตรยะ กิ่งนาคเกศร(บุนนาค)
๒.พระอวโลกิเตศวร บัวหลวง
๓.พระสมันตภัทร พระอาทิตย์และระฆัง
๔.พระวัชรปาณี วัชระ
๕.พระมัญชุศรี บัวขาบ
๖.พระสรรวนีวรณวิษกัมภีน พระจันทร์
๗.พระกษิติครรภ์ จินดามณี
๘.พระขครรภ์ พระอากาศครรภ์ พระขรรค์


พระไมเตรยโพธิสัตว์


สันสกฤต : मैत्रेय, Maitreya, ไมเตฺรย (ไมเตรยะ) บาลี : Metteyya, เมตฺเตยฺย (เมตเตยยะ) หรือ พระศรีอริยเมตไตรย เป็นที่รู้จักกันดี เป็นที่นับถือของชาวพุทธทุกนิกาย ตามความเชื่อเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ที่จะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าต่อจากพระศากยมุนีหรือพระโคตมพุทธเจ้า


พระไมเตรยโพธิสัตว์ เป็นบุคลาธิษฐานแสดงถึง

มหาไมตรี (महामैत्री : mahāmaitrī : มหาไมตฺรี)
[Great Friendliness & Loving Kindness]


ความเป็นมิตร ไมตรี ความเมตตาปรารถนาดีอันไม่มีประมาณของพระพุทธเจ้างต่อสรรพสัตว์ ปวงพระพุทธเจ้าทรงอยู่ในฐานะกัลยาณมิตรยิ่งต่อสรรพสัตว์ ทรงเมตตาเกื้อกูลคุณประโยชน์แนะนำสัตว์ทั้งหลายให้เดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง บ้างว่าเป็น เป็นบุคลาธิษฐาน มหาจรรยา ดังจะอธิบายในลำดับถัดไป


มนตร์พระไมเตรยโพธิสัตว์

नमः समन्तबुद्धानां। अजितंजय सर्वसत्त्वाशयानुगत स्वाहा ॥
Namaḥ samantabuddhānāṃ। ajitaṃjaya sarvasattvāśayānugata svāhā ॥
นมะ สมนฺตพุทฺธานําฯ อชิตํชย สรฺวสตฺตฺวาศยานุคต สฺวาหา ๚

แบบอ่านง่าย
[นะมะห์ สะมันตะพุทธานามฯ อะชิตัญชะยะ สรรวะสัตตวาศะยานุคะตะ สวาหา ๚]

พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
(เดิมเป็น พระคคนคัญชโพธิสัตว์ ซึ่งมีผู้นับถือน้อย ภายหลังจึงถูกเปลี่ยนออก )


[สันสกฤต] अवलोकितेश्वर, Avalokiteśvara, อวโลกิเตศฺวร (อะวะโลกิเตศวะระ)

พระอวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญของพระพุทธศาสนามหายาน ที่มีผู้เคารพศรัทธามากที่สุด มีเรื่องราวปรากฏอยู่มากมายในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

พระอวโลกิเตศวรถือเป็นพระโพธิสัตว์อุดมคติอย่างยิ่งในฝ่ายมหายาน เป็นพระโพธิสัตว์ที่ถูกกล่าวในคัมภีร์ ในทุกแง่ทุกมุมของหลักการใหญ่มหายาน คุณลักษณะโดดเด่นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษคือ ปณิธานที่จะโปรดสัตว์ทั้งหลายให้หมดสิ้น และ คุณสมบัติพระโพธิสัตว์ คือ มหากรุณา

ประติมากรรมพระอัษฏโพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวร มักสร้างเป็นปางพระปัทมปาณีโพธิสัตว์ ( पद्मपाणि,ปทฺมปาณิ )


พระอวโลกิเตศวร เป็นบุคลาธิษฐานแสดงถึง

มหากรุณา (महाकरुणा : Mahākaruṇā : มหากรุณา) และ
มหาอุปายะ (महोपाय : Mahopāya : มโหปาย [มะโหปายะ สนธิคำจาก มหา + อุปายะ] )
[Great Compassion & Great Appropriate Methods]


กล่าวคือพระกรุณาธิคุณอันไม่มีประมาณของพระพุทธเจ้าทั้งปวงที่ทรงมีแก่สรรพสัตว์ เป็นพระกรุณาที่ประกอบด้วย ปัญญาและอุบายวิธีอันชาญฉลาดในการแนะนำอบรมสั่งสอนสรรพสัตว์หลากหลายประเภท แสวงหาประโยชน์แก่สัตว์ด้วยหลากหลายวิธี

ด้วยมหากรุณาอย่างนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลายข้ามพ้นทุกข์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงไม่ละทิ้งสรรพสัตว์ แต่ยังพระกรุณาพาสัตว์ที่ถึงความวิบัติเหล่านั้นให้ข้ามพ้นด้วย


มนตร์พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

नमः समन्तबुद्धानां। सर्वतथागतावलोकित करुणामय र र र हूं जः स्वाहा॥
namaḥ samantabuddhānāṃ। sarvatathāgatāvalokita karuṇāmaya ra ra ra hūṃ jaḥ svāhā॥
นมะ สมนฺตพุทฺธานําฯ สรฺวตถาคตาวโลกิต กรุณามย ร ร ร หูํ ชะ สฺวาหา๚

แบบอ่านง่าย
[นะมะห์ สะมันตะพุทธานามฯ สรรวะตะถาคะตาวะโลกิตะ กะรุณามะยะ ระ ระ ระ หูม ชะห์ สวาหา๚]


ส่วน พระคคนคัญชโพธิสัตว์ สันสกฤต : गगनगञ्ज, Gaganagañja, คคนคญฺช (คะคะนะคัญชะ) หรือ गगणगञ्ज, Gagaṇagañja, คคณคญฺช (คะคะณะคัญชะ)

พระคคนคัญชโพธิสัตว์ เป็นที่รู้จักกันน้อยในปัจจุบัน แต่เดิมในอินเดียนับถือเป็นพระโพธิสัตว์ที่เป็นเอกเทศ พระองค์หนึ่ง ปรากฏพระนามใน คัมภีร์ลลิตวิสตระ คัมภีร์วิมลเกียรตินิรเทศ คัมภีร์­การัณฑ­วยูหสูตร และ คัมภีร์­โพธิจรรยาวตาร คัมภีร์ศึกษาสมุจจัย ของศานติเทวะ

พระคคนคัญชะ เป็นพระโพธิสัตว์ที่มีคุณวิเศษเกี่ยวข้องกับสมาธิ เป็น 1 ใน 4 ชื่อสมาธิที่ปรากฏในคัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ คัมภีร์รัตนโคตรวิภาค ได้แก่ ศูรังคมสมาธิ คคณคัญชสมาธิ วิมลปรภสมาธิ สิงหวิกรีฑิตสมาธิ

คคนคัญชะ ยังปรากฏเป็นชื่อพระสูตรมหายาน เช่น คัมภีร์คคนคัญชปริปฤจฉา หรือ คคนคัญชสมาธิสูตร คัมภีร์อารยคคนคัญชสูตร (ในจีนกล่าวว่าเป็นพระสูตรของ พระอากาศครรภโพธิสัตว์)

ในพุทธศาสนาแบบตันตระ พบในคัมภีร์เช่น คัมภีร์ ไวโรจนาภิสัมโพธิ คัมภีร์สวยัมภูปุราณะ ในคัมภีร์มัญชุศรีมูลกัลป์ กล่าวว่าเป็น พระโพธิสัตว์ ในวัชรธาตุมณฑล ทั้ง ๑๖ พระองค์

ภายหลัง พระคคนคัญชะ คงลดความนิยมลง ได้รวมเข้ากับพระโพธิสัตว์ที่มีคุณวิเศษคล้ายกัน เช่น พุทธศาสนาแบบตันตระบางคัมภีร์รวมคุณวิเศษของพระคคนคัญชะ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระมัญชุศรี อย่างในคัมภีร์มัญชุศรีนามสังคีติ

พุทธศาสนามหายานในจีนและเอเชียตะวันออก รวมพระคคนคัญชะ กับ พระอากาศครรภ์ ไว้ด้วยกัน เพราะมีทั้งคุณวิเศษและชื่อคล้ายกัน (คคน = ไร้ขอบเขต,ท้องฟ้า,อากาศ, คญฺช = คลังสมบัติ,เหมืองมณีรัตนชาติ) อย่างใน คัมภีร์วิมลเกียรตินิรเทศ ฉบับจีน แปล พระคคนคัญชะ เป็น พระอากาศครรภ์ แต่ฝ่ายทิเบตยังออกพระนาม คคนคัญชะ อยู่ และ ในคัมภีร์­โพธิจรรยาวตาร คัมภีร์ศึกษาสมุจจัย ของศานติเทวะ กล่าวแยก พระคคนคัญชะ พระอากาศครรภ์ เป็นคนละองค์กัน ในปัจจุบัน พระคคนคัญชะ ก็ยังมีปรากฏการบูชาเอกเทศในหมู่พุทธศาสนิกนิกายวัชรยาน

หรือแม้แต่ พระอัษฏโพธิสัตว์ ในลำดับที่ 2 ปรากฏพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ถูกสับเปลี่ยนแทนที่ พระคคนคัญชโพธิสัตว์ โดยพบเป็นรูปเคารพทั้งพบหลักฐานโบราณคดี และการกล่าวถึงในคัมภีร์สมัยหลัง


พระสมันตภัทรโพธิสัตว์


[สันสกฤต] समन्तभद्र : samantabhadra : สมนฺตภทฺร (สะมันตะภัทระ)

พระสมันตภัทร เป็นพระโพธิสัตว์มหายานยุคต้น เป็นที่รู้จักกันมาก ปรากฏในหลาย มีคัมภีร์สำคัญที่กล่าวถึง เช่น คัมภีร์สัทธรรมปุณฑรีกสูตร สมันตภัทโรตสาหนปริวรรต และ ในคัมภีร์คัณฑวยูหสูตร สมันตภัทรจริยาปณิธานปริวรรต และ มหาสุขาวดีวยูหสูตร

อยู่ในฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ผู้อำนวยความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมและเป็นผู้รักษาส่งเสริมผู้ปฏิบัติธรรม และยังถือว่าเป็น พระโพธิสัตว์ผู้อำนวยความสำเร็จในงานหรือธุรกิจทางโลกอีกด้วย

ยังเป็นพระโพธิสัตว์สัญลักษณ์ แทน ปารมิตา ๖ (บารมีในฝ่ายมหายาน) ได้แก่ ๑.ทาน ๒.ศีล ๓.กฺษานฺติ ๔.วีรฺย ๕.ธฺยาน ๖.ปฺรชฺญา (และที่ขยายความได้อีก ๓ ปารมิตาได้แก่ ๗. อุปาย ๘.ปฺรณิธาน ๙.พล ๑๐.ชฺญาน)


พระสมันตภัทร เป็นบุคลาธิษฐานแสดงถึง
มหาจรรยา (महाचर्या : Mahācaryā : มหาจรฺยา)
[Great Activities, Great Career]


มหาจรรยา คือ จริยาวัตรของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ล้วนเริ่มต้นด้วย โพธิสัตว์จรรยา (बोधिसत्वचर्या : bodhisatvacaryā) เป็นหลักที่สำคัญ ในมหายานกล่าวไว้อย่างละเอียดหลายแง่มุม ในหลายคัมภีร์ สรุปลงได้ เริ่มตั้งแต่เป็นบุคคลธรรมดา ในประพฤติกุศลกรรมบถเป็นปกติ พัฒนาตนเป็นผู้สมบูรณ์ธรรม บังเกิดศรัทธาหยั่งลงในพุทธศาสนาไม่เสื่อมถอย เกิดโพธิจิตอยากจะเป็นพระพุทธเจ้าในชาติใดชาติหนึ่ง จนกระทัั้งมีปณิธานี่จะรื้อขนสรรพสัตว์ออกจากสังสารวัฏ ได้รับพุทธพยากรณ์ บำเพ็ญเพียรปารมีทั้ง ๖ ตามปณิธานี่ที่ตั้งไว้ ด้วยความวิริยะ บำเพ็ญในแต่ละขั้นที่กล่าวมา ต้องใช้เวลานับชาติไม่ถ้วน และเมื่อลุถึงภูมิทั้ง 10 ได้บรรลุธรรมขั้นสูง รอตรัสรู้

จนถึงพระชาติสุดท้าย ลงสู่พระครรภ์ ออกอภิเนษกรมณ์ ตรัสรู้พระโพธิญาณ เรียก พุทธจรรยา (बुद्धचर्या : buddhacaryā) ทรงหมุนธรรมจักร แล้วยังพระปณิธานอันแน่วแน่ในการสั่งสอนธรรมแก่เวไนยสัตว์ และการกระทำพุทธกิจ บัญญัติวินัยประดิษฐานพระศาสนาให้ยั่งยืนก่อนพระปรินิพพาน เพื่ออนุเคราะห์สรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นในกาลต่อมาด้วย

บ้างว่าเป็น เป็นบุคลาธิษฐาน มหาปรณิธาน ดังจะอธิบายในลำดับถัดไป


มนตร์พระสมันตภัทรโพธิสัตว์

नमः समन्तबुद्धानां। समतानुगत विरजधर्मनिर्जात महामह स्वाहा ॥
namaḥ samantabuddhānāṃ। samatānugata virajadharmanirjāta mahāmaha svāhā ॥
นมะ สมนฺตพุทฺธานําฯ สมตานุคต วิรชธรฺมนิรฺชาต มหามห สฺวาหา ๚

แบบอ่านง่าย
[นะมะห์ สะมันตะพุทธานามฯ สะมะตานุคะตะ วิระชะธรรมะนิรชาตะ มะหามะหะ สวาหา ๚]

พระวัชรปาณีโพธิสัตว์


สันสกฤต : वज्रपाणि, Vajrapāṇi, วชฺรปาณิ (วัชระปาณิ)
บาลี : Vajirapāṇī, วชิรปาณี (วะชิระปาณี)

พระวัชรปาณีโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์มหายานยุคต้น มีหน้าที่คอยคุ้มครองพระพุทธเจ้า และพระธรรมวินัย ที่เรียกว่าพระธรรมบาล

พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นที่รู้จักกันมากเช่นกัน มีงานพุทธศิลป์โดดเด่น ในศิลปะแบบคันธาระ ที่เป็นศิลปะอินเดียผสมกรีก มักทำรูปพระวัชรปาณี เป็นรูปเฮอร์คิวลิสถือกระบอง(Heraklean club) หรือไม่ก็ วัชระ ยืนเคียงข้าง พระพุทธเจ้าเสมอ

ในส่วนของ วัชระนี้มิใช่เพียงอาวุธ ที่หมายถึงสายฟ้าและเพชร แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งญาน (สันสกฤต : ชฺญาน) อันเป็นญานพิจารณาอย่างเฉียบคมดุจดั่งวัชรฟาดฟันกิเลสได้

วัชรปาณี มีการกล่าวถึงก่อนแล้วปรากฏหลักฐานฝ่ายบาลีเถรวาท ถือว่าเป็นยักษ์ที่คอยคุ้มครองพระพุทธเจ้า ปรากฏอยู่ในสองพระสูตร ได้แก่ อัมพัฏฐสูตร เป็น ยักษ์วชิรปาณีถือค้อนเหล็กใหญ่ และ จูฬสัจจกสูตร เป็นยักษ์วชิรปาณีถือวชิระ (ฉบับหลวงแปลว่า กระบองเพชร) แต่ในอรรถกถาเถรวาทแก้ว่า วชิรปาณี จริงๆ แล้วไม่ใช่ยักษ์ แต่เป็น สักกเทวราชจำแลงกายมา

พระวัชรปาณียังอยู่ในฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ขจัดสิ่งชั่วร้ายและอุปัทวันตราย


พระวัชรปาณี เป็นบุคลาธิษฐานแสดงถึง

มหาพละ (महाबल : mahābala : มหาพล)
[Great Power]


มหาพละ ในที่นี้คือ ทศพล (दशबल : daśabala) หมายถึง พละกำลัง ๑๐ ประการของพระพุทธเจ้า พละกำลังในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพลังอำนาจ หรือพละกำลังในการต่อสู้ แต่หมายถึง พละกำลังแห่งญาน หรือเรียกว่าในชื่ออื่น ๆ เช่น สันสกฤต : ชฺญานพล, บาลี : ตถาคตพลญาณ, ทสพล


พละกำลังแห่งญาน พระพุทธเจ้าทรงมี คือ

१.स्थानास्थान २.कर्मविपाक ३.सर्वत्रगामिनीप्रतिपद् ४.नानाधातु ५.नानाधिमुक्ति ६.इन्द्रियपरापर ७.ध्यानविमोक्षसमाधिसमापत्ति ८.पूर्वनिवसानस्मृति ९.च्युत्पपाद १०. आस्रवक्षय

๑.สฺถานาสฺถาน ๒.กรฺมวิปาก ๓.สรฺวตฺรคามินีปฺรติปทฺ ๔.นานาธาตุ ๕.นานาธิมุกฺติ ๖.อินฺทฺริยปราปร ๗.ธฺยานวิโมกฺษสมาธิสมาปตฺติ ๘.ปูรฺวนิวสานสฺมฤติ ๙.จฺยุตฺปปาท ๑๐. อาสฺรวกฺษย


นัยยะสันกฤตเป็นอย่างเดียวกับบาลี อ่านความหมายเบื้องต้นที่
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=323

ธรรมดังกล่าวนี้ทำให้พระพุทธเจ้าทรงมีพระนามอีกพระนามว่า พระทศพล


มนตร์พระวัชรปาณีโพธิสัตว์

नमः समन्तवज्राणां। चण्डमहारोषण हूं॥
namaḥ samantavajrāṇāṃ। caṇḍamahāroṣaṇa hūṃ॥
นมะ สมนฺตวชฺราณําฯ จณฺฑมหาโรษณ หูํ๚

แบบอ่านง่าย
[นะมะห์ สะมันตะวัชราณามฯ จัณฑะมะหาโรษะณะ หูม๚]


พระมัญชุศรีโพธิสัตว์


สันสกฤต : मञ्जुश्री, Mañjuśrī, มญฺชุศฺรี, (มัญชุศรี)

พระโพธิสัตว์มัญชุศรี เป็นพระโพธิสัตว์มหายานยุคต้น เป็นที่รู้จักกันมาก บ้างก็ว่าเป็นพระโพธิสัตว์มหายานที่เก่าแก่ที่สุดที่มีกล่าวถึงในคัมภีร์ ว่าพระมัญชุศรีเป็นโพธิสัตว์ผู้เลิศด้วยปัญญา ปรากฏในพระสูตรมหายานอยู่เนื่องๆ

พระมัญชุศรี ยังอยู่ในฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ผู้คุ้มครองนักปราชญ์ พระโพธิสัตว์แห่งตำราและศิลปวิทยาการ


พระมัญชุศรี เป็นบุคลาธิษฐานแสดงถึง

มหาปรัชญา (महाप्रज्ञा : Mahāprajñā : มหาปฺรชฺญา)
[Great Wisdom]


ปรัชญา ภาษาสันสกฤต คือ ปัญญา ในภาษาบาลี กล่าวคือ พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าอันไม่มีประมาณ ความรอบรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล ความเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามความเป็นจริง เป็นอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัพพัญญุตญาณ คือ พระญาณเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เป็นพระญาณที่รู้สิ่งทั้งปวงเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์

มนตร์พระมัญชุศรีโพธิสัตว์

नमः समन्तबुद्धानां। हे हे कुमारक विमुक्तिपथस्थित स्मर स्मर प्रतिज्ञां स्वाहा॥
namaḥ samantabuddhānāṃ। he he kumāraka vimuktipathasthita smara smara pratijñāṃ svāhā॥
นมะ สมนฺตพุทฺธานําฯ เห เห กุมารก วิมุกฺติปถสฺถิต สฺมร สฺมร ปฺรติชฺญํา สฺวาหา๚

แบบอ่านง่าย
[นะมะห์ สะมันตะพุทธานามฯ เห เห กุมาระกะ วิมุกติปะถัสถิตะ สมะระ สมะระ ประติชญาม สวาหา๚]


พระสรรวนีวรณวิษกัมภีนโพธิสัตว์


สันสกฤต : सर्वनीवरणविष्कम्भिन्, Sarvanīvaraṇaviṣkambhin, สรฺวนีวรณวิษฺกมฺภินฺ (สรรวะนีวะระณะวิษกัมภิน) หรือ सर्वनिवरणविष्कम्भी, Sarvanivaraṇaviṣkambhī, สรฺวนิวรณวิษฺกมฺภี, (สรรวะนิวะระณะวิษกัมภี)

หรือในชื่ออื่น พระมาตสรรวัชรโพธิสัตว์ (मात्सर्यवज्र:มาตฺสรฺยวชฺร) หรือ พระวิษกัมภีนโพธิสัตว์ ( विष्कम्भिन्:วิษฺกมฺภินฺ ) ทับศัพท์ภาษาไทยบางที่ ใช้คำว่า พระสรรพนิวรณ์วิษกัมภี

พระสรรวนีวรณวิษกัมภีนโพธิสัตว์ แปลว่า พระโพธิสัตว์ผู้ขจัดนิวรณธรรมทั้งปวง เป็นที่รู้จักกันน้อย ปรากฏในพระสูตรมหายานไม่มากนัก เช่น ­การัณฑ­วยูหสูตร สัทธรรมปุณฑรีกสูตร มีพระสูตรโดยตรงเช่น พุทธวจนสรรวนีวรณวิษกัมภินสูตร มหายานรัตนเมฆาสูตร หรือ รัตนเมฆสูตร มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำถามเกี่ยวกับเรื่องสมถะและวิปัสสนา ที่พระสรรวนีวรณวิษกัมภินถามกับพระพุทธเจ้า

และปรากฏในคัมภีร์พุทธตันตระอย่าง คุยหสมาชตันตระ ท่านเป็นหัวหน้าพระโพธิสัตว์ผู้ที่สงสัยและตำหนิในคำสอนแบบตันตระของพระวัชรธรพุทธะ ซึ่งตรัสคำสอนเป็นรหัสนัย (เป็นข้อความลับพูดอย่างหนึ่ง แต่มีความหมายอีกอย่าง ต้องถอดความไขความลับออกมาให้ได้) แต่เป็นถ้อยคำหยาบโลน ไม่สามารถเข้าใจได้ทันที ท่านและเหล่าโพธิสัตว์เหล่านั้นตะลึงจนเป็นลมหมดสติไป (ในที่นี้น่าจะเป็นบุคลาธิษฐานแสดงศีลธรรม คุณธรรม ในจิต) 

พระสรรวนิวรณวิษกัมภีน ยังอยู่ในฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ขจัดอุปสรรคในการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะผู้ทำสมาธิภาวนา และผู้ปฏิบัติในโพธิสัตวมรรค ในทางโลกยังเป็น พระโพธิสัตว์ผู้ขจัดภัยพิบัติและอุปสรรค

เนื่องจากพระโพธิสัตว์ที่ไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าไหร่ เพราะเป็นพระโพธิสัตว์ที่เกี่ยวกับเรื่องทางธรรม จึงไม่เป็นที่นิยม ที่มักบูชาในหมู่บรรพชิตและผู้ปฏิบัติธรรมมากกว่า ในบทความที่กล่าวถึง พระสรรวนิวรณวิษกัมภีน มักกล่าวว่าเป็น พระโพธิสัตว์ที่ถูกลืม


พระสรรวนีวรณวิษกัมภีน เป็นบุคลาธิษฐานแสดงถึง

มหาคุณ (महागुण : Mahāguṇa : มหาคุณ)
[Great Qualities, Great Virtue]


คือ องค์คุณของของพระพุทธเจ้าเป็นองค์คุณแห่งการตรัสรู้

นิวรณ์ หรือ นิวรณธรรม ธรรมที่ขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี กิเลสสิ่งขุ่นมัวที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในธรรม มี ๕ อย่าง คือ

๑. กามจฺฉนฺท(कामच्छन्द) : พอใจในกามคุณ
๒. วฺยาปาท(व्यापाद) : คิดร้ายผู้อื่น
๓. สฺตฺยานมิทฺธ(स्त्यानमिद्ध) : ความหดหู่ซึมเซา
๔. เอาทฺธตฺยเกากฤตฺย(औद्धत्यकौकृत्य) : ความฟุ้งซ่านและรำคาญ
๕. วิจิกิตฺสา(विचिकित्सा) : ความลังเลสงสัย

(ไทยทับศัพท์ตามบาลี ดังนี้ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา)


นิวรณ์ ๕ ถูกกำจัดแล้ว โพธยังคะ (बोध्यङ्ग : Bodhyaṅga : โพธฺยงฺค หรือ โพชฌงค์ ในฝ่ายบาลี) ๗ ประการ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์

ก็ โพธยังคะ คือธรรมที่เป็นองค์คุณแห่งการตรัสรู้ เป็นธรรมจักษุ ทำให้เกิดญาณและปัญญา ทำให้ถึงซึ่ง วิชชา (สันสกฤต. วิทยา )และวิมุตติ (สันสกฤต. วิมุกติ) กล่าวคือพระนิพพาน

โพธยังคะ ๗ ประการ ได้แก่

१.स्मृति २.धर्मप्रविचय ३.वीर्य ४.प्रीति ५.प्रश्रब्धि ६.समाधि ८.उपेक्षा
๑.สฺมฤติ ๒.ธรฺมปฺรวิจย ๓.วีรฺย ๔.ปฺรีติ ๕.ปฺรศฺรพฺธิ ๖.สมาธิ ๗.อุเปกฺษา

นัยยะสันกฤตเป็นอย่างเดียวกับบาลี อ่านความหมายเบื้องต้นที่
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=281

พระพุทธเจ้าทรงหลุดพ้นจากนิวรณธรรม ยังทรงนำพระธรรมอันสามารถขจัดเสียซึ่งนิวรณ์ธรรมที่ขัดขวางไม่ให้บรรลุความดีของเหล่าสรรพสัตว์อันจะนำมาซึ่งทางพ้นทุกข์ได้


มนตร์พระสรรวนีวรณวิษกัมภีนโพธิสัตว์

नमः समन्तबुद्धानां। आः सत्त्वहिताभ्युद्गत त्रं त्रं रं रं स्वाहा ॥

namaḥ samantabuddhānāṃ। āḥ sattvahitābhyudgata traṃ traṃ raṃ raṃ svāhā ॥

นมะ สมนฺตพุทฺธานําฯ อาะ สตฺตฺวหิตาภฺยุทฺคต ตฺรํ ตฺรํ รํ รํ สฺวาหา ๚

แบบอ่านง่าย

[นะมะห์ สะมันตะพุทธานามฯ อาห์ สัตตวะหิตาภยุทคะตะ ตรัม ตรัม รัม รัม สวาหา ๚]


พระกษิติครรภโพธิสัตว์


สันสกฤต : क्षितिगर्भ, kṣitigarbha, กฺษิติครฺภ (กษิติครรภะ)

พระกษิติครรภโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์ที่รู้จักกันมาก และเป็นที่นับถืออย่างมากใน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อีกพระองค์หนึ่ง ในปัจจุบันมักปรากฏการบูชาในพิธีที่เกี่ยวข้องกับการอุทิศคนตายและดวงวิญญาณ

กษิติครรภ์ แปลว่า ครรภ์แห่งแผ่นดิน กฺษิติ หมายถึง แผ่นดิน, โลก ครฺภ หมายถึง การตั้งครรภ์, มดลูก, ด้านใน, ห้องสำคัญที่อยู่ด้านใน เช่น ห้องศักดิ์สิทธ์ในโบสถ์วิหาร ห้องเก็บสมบัติในพระคลังสมบัติ โดยนัยยะสื่อ ถึงสิ่งมีค่าที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

ปรากฏในพระสูตรโดยตรงเช่น ทศจักรกษิติครรภสูตร กษิติครรภ์โพธิสัตว์ปูรวปรณิธานสูตร หรือ กษิติครรภ์โพธิสัตว์มูลปณิธานสูตร

พระกษิติครรภ์ มีคุณลักษณะคล้าย พระอวโลกิเตศวร คือ คือเด่นในคุณสมบัติ คือ มหากรุณา แต่โดดเด่นที่สุดในปณิธาน โดยเฉพาะข้อที่ว่า จะโปรดสัตว์ทั้งหลายให้หมดสิ้น ตราบใดนรกยังไม่ว่าง จะไม่ขอตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า


ในเอเชียตะวันออก มักทำรูปเคารพพระกษิติครรภโพธิสัตว์ ในลักษณะของพระภิกษุมหายานถือคฑาธุดงค์ ไม่เหมือนกับที่พบในอินเดียและอาเซียนที่ทำลักษณะอย่างมหาบุรุษ เนื่องจาก มีตำนาน เจ้าชายคิมเกียวกัค (김교각) แห่งอาณาจักรซิลลาในเกาหลีโบราณ ได้ออกผนวชเป็นพระภิกษุและมีคุณวิเศษอัศจรรย์ ทำให้เชื่อว่าเป็นพระกษิติครรภโพธิสัตว์ นิรมาณกายมาโปรดสัตว์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก


ในศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท มีเรื่องราวที่คล้ายคลึงกับพระกษิติครรภโพธิสัตว์ คือ เรื่องพระมาลัย ซึ่งเป็นเป็นพระอรหันต์ ภิกษุชาวลังกา สำเร็จอภิญญาญานต่างๆ อาศัยฤทธิ์เดชของท่านท่องไปยังนรกเพื่อเทศนาโปรดสัตว์นรกทั้งปวงให้บรรเทาจากทุกขเวทนา และชี้มูลเหตุบาปบุญและผลกรรมให้มนุษย์ฟัง


พระกษิติครรภโพธิสัตว์ ยังอยู่ในฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานในอบายภูมิ และ ในความเชื่ออย่างชาวบ้านนับถือในฐานะ พระโพธิสัตว์แห่งคนตายและดวงวิญญาณ ผู้คุ้มครองสตรีมีครรภ์

ประเทศญี่ปุ่นนับถือในฐานะพระโพธิสัตว์แห่งผู้พิทักษ์เด็ก ผู้อ่อนแอ นักเดินทาง และวิญญาณเด็กที่แท้ง เป็นพระโพธิสัตว์ผู้รักษาโรคที่รักษาไม่หาย


พระกษิติครรภ์ เป็นบุคลาธิษฐานแสดงถึง

มหาปรณิธาน (महाप्रणिधान : mahāpraṇidhāna : มหาปฺรณิธาน)
[Great Vows, Great Aspirations]


ปรณิธาน หรือ ปณิธาน เทียบได้กับ เป้าหมายหลักของอธิษฐานบารมี ของฝ่ายบาลี จัดเป็น หนึ่ง ในบารมี ๑๐ ที่พระโพธิสัตว์ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ต้องบำเพ็ญ ๓ ระดับ อธิษฐานบารมี อธิษฐานอุปบารมี อธิษฐานปรมัตถบารมี

กล่าวคือ พระพุทธเจ้าเมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ภพชาติย้อนหลังไปอันยาวนานพระองค์ได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ก็ทรงได้เป็นพระโพธิสัตว์ ทรงด้ปรารถนาพระโพธิญาณมาโดยลำดับ แม้จะต้องสละทรัพย์สิน สูญเสียคนรัก สูญเสียอวัยวะ สูญเสียชีวิตก็จะไม่ละทิ้งเป้าหมายหลักนี้

เป้าหมายดังกล่าวคือ พระโพธิญาณ หรือ พระสัพพัญญุตญาณ (สันสกฤต : सर्वज्ञान : สรฺวชฺญาน ) พระญานดังกล่าวไม่ได้แสวงหาเพื่อตน หรือครอบครัวคนที่รักเท่านั้น แต่เพื่อสิ่งที่รักที่สุดของพระโพธิสัตว์คือ สรรพสัตว์

คณาจารย์มหายานในจีนได้สรุป มหาปรณิธานของมหายาน ลงไว้ ๔ ประการ ซึ่งถือเป็นหลักการของผู้ดำเนินตามวิถีมหายานด้วย ดังนี้

๑.ละกิเลสทั้งปวงให้สิ้น
๒.ศึกษาพระธรรมให้เจนจบ
๓.โปรดสรรพสัตว์ให้ถึงความตรัสรู้
๔.บรรลุพุทธภูมิอันประเสริฐ

บ้างว่าเป็น เป็นบุคลาธิษฐาน มหาปุณย์ (महापुण्य : mahāpuṇya : มหาปุณฺย) กล่าวคือพระพุทธเจ้าเป็นบุญกุศลอันยิ่งของสัตว์ทั้งหลาย เป็นเหตุให้สัตว์เหล่านั้นพ้นทุคติไปสู่สุคติภูมิ ถึงที่สุดคือพระนิพพาน


มนตร์พระกษิติครรภโพธิสัตว์

नमः समन्तबुद्धानां। ह ह ह सुतनु स्वाहा ॥
namaḥ samantabuddhānāṃ। ha ha ha sutanu svāhā ॥
นมะ สมนฺตพุทฺธานําฯ ห ห ห สุตนุ สฺวาหา ๚

แบบอ่านง่าย
[นะมะห์ สะมันตะพุทธานามฯ หะ หะ หะ สุตะนุ สวาหา ๚]


พระอากาศครรภโพธิสัตว์ หรือ พระขครรภโพธิสัตว์


สันสกฤต : खगर्भ : Khagarbha : ขครฺภ (ขะครรภะ) หรือ
आकाशगर्भ : Ākāśagarbha : อากาศครฺภ (อากาศะครรภะ)

อากาศครรภ์ และ ขครรภ์ แปลว่า ครรภ์แห่งอากาศ

อากาศ และ ข เป็นคำที่เป็นไวพจน์ต่อกัน ในความหมายว่า ความว่างเปล่า, พื้นที่ว่าง, อากาศ, ท้องฟ้า อากาศ ในที่นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่บรรยากาศในโลก ยังหมายถึง อวกาศ หรือช่องว่างอันไม่มีสิ้นสุดด้วย ส่วนคำว่า ครฺภ ได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งโดยนัยยะหมายถึง สิ่งมีค่าที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

อากาศครรภ์ ยังมีนัยยะสื่อถึง ศูนยตา หรือ สุญญตา หรือ อนัตตา ความไม่มีตัวเป็นตนของสิ่งต่างๆ สิ่งทั้งหลายประกอบขึ้นจากเหตุปัจจัย อีกทั้งยังหมายความถึง ความกรุณาแก่สรรพสัตว์มีไม่ประมาณไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งทั้งสองเป็นหลักการใหญ่ของมหายานด้วย

พระอากาศครรภ์ ปรากฏพระนามใน วิมลเกียรตินิรเทศ กษิติครรภโพธิสัตตวปูรวปรณิธานสูตร คัมภีร์­โพธิจรรยาวตาร คัมภีร์ศึกษาสมุจจัย ของศานติเทวะ เป็นต้น มีพระสูตรเอกเทศอยู่จำนวนหนึ่ง ชื่อ เช่น อากาศครรภสูตร มหาสันนิปาตมหาอากาศครรภโพธิสัตวปริปฤจฉาสูตร ภาวนาอากาศครรภโพธิสัตวสูตร  โดยมากเป็นพระสูตรที่โดดเด่นเกี่ยวกับการภาวนาสมาธิ และวิธีการสารภาพผิด(ปาปเทศนา)และการเริ่มโพธิจิตใหม่สำหรับผู้ปฏิบัติในโพธิสัตวมรรค

มีลักษณะคล้ายกันทั้งชื่อและคุณสมบัติกับ พระคคนคัญชะ ภายหลังในจีนได้รวม พระคคนคัญชะ รวมเป็นกับพระอากาศครรภ์ นาม คคนคัญชะ จึงเป็นพระนามหนึ่งของ พระอากาศครรภ์

พระอากาศครรภ์ ยังมีคุณลักษณะเด่น คล้ายกับพระพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ คือโดดเด่นด้านปัญญาด้วย โดยสัญลักษณ์ของพระองค์คือพระขรรค์ (ดาบสองคม) คือปัญญา ที่สามารถตัดกิเลสได้

และในบางแห่งมักกล่าวคู่กับ พระกษิติครรภโพธิสัตว์ เช่นใน กษิติครรภโพธิสัตตวปูรวปรณิธานสูตร พระกษิติครรภ์ เป็นพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์นรก

ส่วน พระอากาศครรภ์ พระโพธิสัตว์ผู้โปรดสัตว์ผู้กระทำชั่ว และชำระจิตให้กลับมาประพฤติธรรม  ปฏิบัติในโพธิสัตวมรรค เป็นผู้อำนวยพร ขจัดอุปสรรคให้แก่พระนวกโพธิสัตว์(ผู้เพิ่งเริ่มการบำเพ็ญบารมี)ในการบำเพ็ญปารมิตา ๖   เป็นพระโพธิสัตว์แห่งการปลงอาบัติ การสารภาพบาปและการกลับใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการบูชาแบบมหายานที่ที่เรียกว่า อนุตตรบูชา หนึ่งในนั้นจะมี การสารภาพบาป สันสกฤตเรียก ปาปเทศนา ( पापदेशना : pāpadeśanā) หรือ ในไทยเรียก ขอขมากรรม นั้นเอง

พระอากาศครรภ์ ยังอยู่ในฐานะเป็นพระโพธิสัตว์แห่งสมาธิ พระโพธิสัตว์แห่งความบริสุทธิ พระโพธิสัตว์แห่งการให้พร ความโชคดี ความสำเร็จ ความสุข ประเทศญี่ปุ่นนับถือในฐานะพระโพธิสัตว์แห่ง ความทรงจำ ความฉลาด ความรู้ภูมิปัญญา และเป็นพระโพธิสัตว์ผู้อุปถัมภ์ของช่างฝีมือและช่างศิลปะ


พระอากาศครรภโพธิสัตว์ เป็นบุคลาธิษฐานแสดงถึง

มหาสมาธิ (महासमाधि : Mahāsamādhi : มหาสมาธิ)
[Great Meditative Concentration]


ในมหายาน สมาธิ แตกต่างจากเถรวาทอยู่เรื่องหนึ่งคือ ไม่ใช่เฉพาะการกำหนดจิตหรือสติตั้งมั่นด้วยสมถวิปัสสนาที่ทำให้เกิดองค์ฌานเท่านั้น แต่ยังมี สมาธิ ในมหายาน อีกประเภท เป็นสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงเข้าสู่สมาธินั้นๆเพื่อแสดงธรรมอันมีหัวข้อแตกต่างกันไป มีอยู่หลายประเภทหลายชื่อเรียก มีคุณวิเศษอิทธิปาฎิหาริย์มากมายที่แตกต่างกันไป

บางแห่งว่าเป็น เป็นบุคลาธิษฐานแสดงถึง

อธิษฐาน (ส.अधिष्ठान : adhiṣṭhāna : อธิษฺฐาน, ป.อธิฏฺฐาน)
[Great Blessing]

คำนี้ทั้งคำในความหมายในภาษาไทย และอังกฤษไม่ตรงตาม บาลีสันสกฤตเท่าไหร่นัก และไม่ใช่การขอพรให้เกิดขึ้นกับตัวเอง

แต่ อธิษฐาน ในที่นี้ ทั้งฝ่ายมหายาน และเถรวาทให้ความหมายตรงกัน คือ การกำหนดเป้าหมายหวังผลในสิ่งที่พึงประสงค์ ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำการให้สำเร็จลุล่วง

อย่างที่กล่าวไปว่า มหาปรณิธาน  เทียบได้กับ เป้าหมายหลักของอธิษฐานบารมี ส่วน การอธิษฐาน ที่จะกล่าวนี้ เป็นวิธีการดำเนินมหาปรณิธาน หรืออธิษฐานบารมี

อธิษฐาน ในที่นี้ ทั้งฝ่ายมหายาน และเถรวาท จำแนกไว้เท่ากัน เรียก อธิษฐานธรรม ๔

๑.สัจจาธิษฐาน หรือ สัตยาธิษฐาน (सत्याधिष्ठान : สตฺยาธิษฺฐาน) ป.สจฺจาธิฏฺฐาน ตั้งสัจจะปรารถนาการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า กำหนดเป้าหมายบำเพ็ญบารมีทั้งปวง เพื่อทำกิจของพระมหาสัตว์ผู้อนุเคราะห์สรรพสัตว์ สะสมบุญ

๒.จาคาธิษฐาน หรือ ทานาธิษฐาน (दानाधिष्ठान : ทานาธิษฺฐาน) ป.จาคาธิฏฺฐาน กำหนดเป้าหมายที่จะสละสิ่งใดก็ตามเป็นปฏิปักษ์ขัดขวาง สัจจาธิษฐาน ที่ได้ตั้งไว้ 

๓.อุปสมาธิษฐาน หรือ อุปศมาธิษฐาน (उपशमाधिष्ठान :  อุปศมาธิษฺฐาน) ป.อุปสมาธิฏฺฐาน กำหนดเป้าหมายที่จะสงบจากกิเลสทั้งปวง ที่จะเป็นเป็นปฏิปักษ์ขัดขวางการบำเพ็ญบารมี

ปัญญาธิษฐาน หรือ ปรัชญาธิษฐาน (प्रज्ञाधिष्ठान : ปฺรชฺญาธิษฺฐาน) ป.ปญฺญาธิฏฺฐาน กำหนดเป้าหมายในปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง การตรัสรู้ การรู้แจ้งแทงตลอด การเป็นผู้ฉลาดในอุบายอันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ในสิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ

แม้พระโพธิสัตว์ จะตั้งมหาปรณิธาน กำหนดและปฏิบัติในอธิษฐานธรรม ๔ ไม่เสื่อมถอยมาในทุกภพชาติแล้ว แม้ในภพสุดท้ายนั้น พระโพธิสัตว์ยังบำเพ็ญอธิษฐานธรรม ๔ อยู่โดยตลอด

พระโพธิสัตว์เริ่มด้วยปัญญาธิษฐาน ทรงกำหนดการเลือกในการหยั่งลงสู่พระครรภ์ การดำรงอยู่และการประสูติ
ทรงกำหนดสัจจาธิษฐาน เมื่อประสูติ มีพระวาจาว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก. เราเป็นผู้เจริญแห่งโลก. เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก.
ทรงกำหนดอุปสมาธิษฐาน ออกจากกามจะสงบจากกิเลสทั้งปวง เมื่อเห็นเทวฑูตทั้ง ๔
ทรงกำหนดจาคาธิษฐาน สละความเป็นหนุ่ม ชีวิตและสมบัติ พระญาติ ราชสมบัติ อันจะขัดขวาง สัจจาธิษฐานที่ได้กล่าวไว้

แม้วันสิ้นสุดความเป็นพระโพธิสัตว์ที่ต้นศรีมหาโพธิ์นั้น  โดยทรงเริ่มด้วยสัจจาธิษฐานกำหนดตรัสรู้อริยสัจ ๔ สัจจาธิษฐานนั้นก็สำเร็จ ตั้งจาคาธิษฐานกำหนดสละเสียกิเลสทั้งปวง จาคาธิษฐานนั้นก็สำเร็จ ตั้งอุปสมาธิษฐานกำหนดการบรรลุถึงความสงบอย่างยิ่ง อุปสมาธิษฐานนั้นก็สำเร็จ ตั้งปัญญาธิษฐานกำหนดในพระสัพพัญญุตญาณ  ปัญญาธิษฐานก็สำเร็จ ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมของโลก


มนตร์พระอากาศครรภโพธิสัตว์

नमः समन्तबुद्धानां। आकाशसमतानुगत विचित्राम्बरधर स्वाहा ॥
namaḥ samantabuddhānāṃ। ākāśasamatānugata vicitrāmbaradhara svāhā ॥
นมะ สมนฺตพุทฺธานําฯ อากาศสมตานุคต วิจิตฺรามฺพรธร สฺวาหา ๚

แบบอ่านง่าย
[นะมะห์ สะมันตะพุทธานามฯ อากาศะสะมะตานุคะตะ วิจิตรามพะระธะระ สวาหา ๚]


Loading

Be the first to comment on "อัษฏโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ทั้งแปดในฝ่ายมหายาน"

Leave a comment