สาปตาหิกะ ยาชูกำลังสำหรับพระภิกษุ ในพระวินัยฝ่ายสันสกฤต

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

साप्ताहिक (sāptāhika)
สาปฺตาหิก (สาปตาหิกะ)

#สาปตาหิกะ ในพระวินัยฝ่ายสันสกฤต เป็นหมวดหนึ่งใน ไภษัชย์ ๔ ประการ กล่าวถึงในไภษัชยวัสตุ  พระวินัยของนิกายมูลสรวาสติวาทวินัย เทียบได้กับ กาลิก ๔ ประการ ที่ปรากฏใน เภสัชชขันธกะ ของฝ่ายบาลี คือของที่ขบฉันภิกษุรับและฉันได้ในเวลาต่อไปนี้

(1) กาลิก ฉันได้เวลาเช้าถึงเที่ยง เทียบกับ ยาวกาลิก ในฝ่ายบาลี
(2) ยามิก เก็บฉันได้วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง เทียบกับ ยามกาลิก
(3) สาปตาหิก เก็บฉันได้ ๑ สัปดาห์ หรือ ๗ วัน เทียบกับ สัตตาหกาลิก
(4) ยาวัชชีวิก เก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต เทียบกับ ยาวชิวิก

สาปตาหิกะ ในพระวินัยฝ่ายสันสกฤต เป็น ไภษัช หรือ เภสัช คือเป็นยาชูกำลังอย่างหนึ่งของพระภิกษุ ใช้บำรุงร่างกายหลังฟื้นตัวจากอาพาธ หรือใช้เมื่อมีอาการเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลีย หรือไม่มีเรียวมีแรง หรือใช้รักษาผู้มีร่างกายผอมแห้ง

มีพุทธานุญาติให้ภิกษุสามารถรับประเคนไว้เก็บไว้ฉันได้ภายใน ๑ สัปดาห์ หรือ ๗ วัน หลัง ๗ วันต้องสละทิ้ง (สัปดาห์ มาจากคำว่า สปฺตาห)

หรือที่ในฝ่ายบาลีเรียกว่า #สัตตาหกาลิก ( สตฺตาหกาลิก) นั้นเอง ในฝ่ายบาลีนั้นเป็นสิ่งเดียวกันกับ เภสัช ๕ ประการ (ปญฺจเภสชฺช : pañcabhesajja) ได้แก่

(1) เนยใส, น้ำมันเนย (สปฺปิ : สัปปิ : sappi )
(2) เนยข้น (นวนีตะ : นะวะนีตะ : navanīta )
(3) น้ำมัน (เตล : เตละ : tela)
(4) น้ำผึ้ง (มธุ : มะธุ : madhu )
(5) น้ำอ้อย (ผาณิต : ผาณิตะ : phāṇita)

ที่ปรากฎในพระวินัยและสิกขาบทใน #พระปาฏิโมกข์ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ข้อที่ ๒๓ ภาษาบาลีความว่า



“ยานิ โข ปน ตานิ คิลานานํ ภิกฺขูนํ ปฏิสายนียานิ เภสชฺชานิ เสยฺยถีทํ สปฺปิ นวนีตํ เตลํ มธุ ผาณิตํ ฯ ตานิ ปฏิคฺคเหตฺวา สตฺตาหปรมํ สนฺนิธิการกํ ปริภุญฺชิตพฺพานิ ตํ อติกฺกามยโตฯ นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ ๚”

[แปล] อนึ่ง มีเภสัช อันควรลิ้มของภิกษุผู้อาพาธคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ฯ ภิกษุรับ (ประเคน) ของนั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างยิ่ง ฯ ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไปเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์๚


สาปตาหิกะ ส่วนในพระวินัยฝ่ายสันสกฤตมีรายละเอียดและคำอธิบายศัพท์แตกต่างกัน แยกเป็น 4 บ้าง 5 บ้าง ตามคัมภีร์, นิกายและอรรถาธิบาย เช่น

ในคัมภีร์ #พระปราติโมกษ์ ภาษาสันสกฤต 4 นิกาย คือนิกายมหาสางฆิกะและโลโกตรวาท นิกายสรรวาสติวาท นิกายมูลสรรวาสติวาท กล่าวตรงกัน แต่กล่าวเพียง 4 อย่าง เรียกในภาษาสันสกฤตว่า

(1) เนยใส, น้ำมันเนย ( สรฺปิสฺ : สรรปิส , सर्पिस् : sarpis)
(2) น้ำมัน ( ไตล : ไตละ , तैल : taila)
๓. น้ำผึ้ง ( มธุ : มะธุ , मधु : madhu)
๔. น้ำอ้อย ( ผาณิต : ผาณิตะ , फाणित : phāṇita)

ยกตัวอย่างความใน #คัมภีร์มูลสรรวาสติวาทปราติโมกษ์สูตร ว่า


यानि तानि भगवता ग्लानानां भिक्षूणां सांप्रेयाणि प्रतिसेवनीयानि भैषज्यान्य् आख्यातानि तद्यथा सर्पिस् तैलं मधु फाणितं तान्य् आकांक्षता ग्लानेन भिक्षुणा सप्ताहपरमं स्वयम् अधिष्ठाय संनिधिकारपरिभोगेन परिभोक्तव्यानि तत उत्तरि परिभुंजीत नैसर्गिका पायन्तिका |

ยานิ ตานิ ภควตา คฺลานานํา ภิกฺษูณํา สําเปฺรยาณิ ปฺรติเสวนียานิ ไภษชฺยานฺยฺ อาขฺยาตานิ ตทฺยถา สรฺปิสฺ ไตลํ มธุ ผาณิตํ ตานฺยฺ อากํากฺษตา คฺลาเนน ภิกฺษุณา สปฺตาหปรมํ สฺวยมฺ อธิษฺฐาย สํนิธิการปริโภเคน ปริโภกฺตวฺยานิ ตต อุตฺตริ ปริภุํชีต ไนสรฺคิกา ปายนฺติกา ฯ

[แปล] อนึ่ง ไภสัษที่เหมาะสมและควรลิ้มของภิกษุผู้อาพาธ อันพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ มี เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย หากภิกษุผู้อาพาธปรารถนา ตั้งใจไว้ทำการสั่งสมไว้บริโภคสำหรับตน ควรบริโภคภายใน ๗ วันเป็นอย่างยิ่ง ฯ หากเกินยิ่งกว่านั้นไป เป็นไนสรรคิกาปายันติก๚ (นิสสัคคิยปาจิตตีย์๚ หมวดอาบัติที่จะต้องทำการสละของ)


ส่วน #คัมภีร์มูลสรวาสติวาทวินัยวัสตุ ไภษัชยวัสตุ กล่าวว่ามี 5 อย่าง กล่าวว่า

साप्ताहिक सर्पिस्तथा तैल फाणित मधु शर्करा |

สาปฺตาหิก สรฺปิสฺตถา ไตล ผาณิต มธุ ศรฺกรา ฯ

[แปล] สาปตาหิก ได้แก่ เนยใส น้ำมัน น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด


พจนานุกรมพุทธศาสนา จีน-สันสกฤต ( Charles Muller)
พจนานุกรมกล่าวว่าพบคำว่า 五藥 หรือ 五種藥 ใน #คัมภีร์มหีศาสกวินัย แปลว่า ไภษัช ๕ ประการ พจนานุกรมเทียบศัพท์บาลีว่า

(1) 生酥 : navanīta – เนยข้น
(2) 熟酥 : sappi – เนยใส, น้ำมันเนย
(3) 油 : tela – น้ำมัน
(4) 蜜 : madhu – น้ำผึ้ง
(5) 石蜜 : phāṇita – น้ำอ้อย


และ พบคำว่า 七日藥 ใน #คัมภีร์สรรวาสติวาทวินัยสังครหะ แปลว่า ไภษัช ๗ วัน มี 4 อย่างมี

(1) 生酥 เนยข้น
(2) 油 น้ำมัน
(3) 蜜 น้ำผึ้ง
(4) 石蜜 น้ำอ้อย,น้ำตาลกรวด

และ 石蜜 ใช้แปลจากคำในภาษาสันสกฤตได้ 2 คำคือ ผาณิต (น้ำอ้อย) หรือ ศรฺกรา (น้ำตาลกรวด) ก็ได้


คำอธิบายศัพท์ #คัมภีร์ประวรัชยาวัสตุ ฉบับธิเบตแปลอังกฤษ มีกล่าวถึง สาปตาหิกะ (ཞག་བདུན་པར་བཅང་བ། : zhag bdun par bcang ba : sāptāhika) มี ๔-๕ อย่างประกอบด้วย

(1) butter – เนยข้น
(2) ghee – เนยใส
(3) oil – น้ำมัน
(4) molasses – น้ำอ้อย
(5) lotus root – รากบัว (่ในตัวคัมภีร์มีส่วนอื่น แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็น สาปตาหิกะ ยกไว้เพียง 4 อย่าง แต่ในอรรถาธิบายมีเพิ่มเติมเข้ามา)


#สรุป

ภาพรวมโดยส่วนมากเป็นวัตถุชนิดเดียวกัน กับฝ่ายบาลี คือเป็นกลุ่มที่ให้ไขมัน เช่น เนยใส เนยข้น น้ำมัน กลุ่มที่ให้น้ำตาล เช่น น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด

มีเพียงคำอธิบายของทางธิเบตเท่านั้นที่ เพิ่มรากบัวเข้ามา

**********************

#คำอธิบายรูปภาพ

1.การปั่นเนยแบบดั้งเดิมของอินเดียเพื่อแยกมันเนย ออกจากน้ำนม

2.เนยข้น ในขณะที่ยังเป็นครีม หากปั่นต่อไปครีมนมจะแยกตัวออกน้ำเป็น เนยข้น หรือ เนยสด (มันเนย)

3. การเจียวเนยข้น หรือ เนยสด (มันเนย) ซึ่งคนไทยมักสับสนกับเนยแข็งหรือชีส

4.เนยใส มันเนยในลักษณะของเหลวทำได้หลายวิธี วิธีที่ง่ายที่สุดคือการเจียวเนยข้น

5.น้ำมันที่กล่าวถึง หมายถึง น้ำมันได้จากสัตว์โดยการเจียวไขมันสัตว์ และจากพืชโดยการหีบ ในรูปเป็นการหีบ น้ำมันมธุกะ หรือมะซางอินเดีย แบบดั้งเดิม

5.การหาน้ำผึ้งในแถบอินเดียเหนือ

6.การทำน้ำอ้อยแบบดั้งเดิมในอินเดียปัจจุบัน โดยทำจากอ้อยมาหีบให้ได้ น้ำอ้อยสด จากนั้นไปต้ม ทำเป็นก้อน หรือ ผงต่อไป

8.น้ำตาลกรวด(ศรฺกรา) เดิมคือน้ำตาลที่ทำมาจาก อ้อย มะพร้าว ตาล อินทผาลัม แล้วทำเป็นก้อน จนเมื่อ ในสมัยคุปตะ ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5 ชาวอินเดียโบราณสามารถคิดค้น วิธีการตกผลึกของน้ำตาลได้(Crystallized ) สามารถส่งออกไปยังต่างแดนได้ สะดวกและเก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย จากรูปเป็น น้ำตาลกรวดแบบผลึกแบบดั้งเดิม หรือ Misri


#อ้างอิง

การศึกษาเชิงวิเคราะห์คัมภีร์มูลสรวาสติวาทวินัยวัสตุ-ศึกษาเฉพาะไภษัชยวัสตุ โดย นายเสกสรรค์ สว่างศรี วิทยานิพนธ์นี้ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร
http://ithesis-ir.su.ac.th/…/…/123456789/1154/1/57116807.pdf

พระปราติโมกษ์ ภาษาสันสกฤต 4 นิกาย
https://suttacentral.net/

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/item.php…

กาลิก ๔
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A1%D2%C5%D4%A1

คัมภีร์ประวรัชยาวัสตุ ฉบับธิเบตแปลอังกฤษ
http://read.84000.co/translation/toh1-1.html

พจนานุกรมพุทธศาสนา จีน-สันสกฤต ( Charles Muller)
http://www.buddhism-dict.net/

Loading

Be the first to comment on "สาปตาหิกะ ยาชูกำลังสำหรับพระภิกษุ ในพระวินัยฝ่ายสันสกฤต"

Leave a comment