คำว่า อาสาฬห ในบริบทต่างๆ

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

อาสาฬห ในบริบทต่างๆ 

อาสาฬฺห เป็นคำเดียวกันกับ อษาฬฺห อาษาฒ

อษาฬฺห (अषाळ्ह: aṣāḷha :อษาฬหะ ) เป็น ภาษาพระเวท
อาษาฒ (आषाढ : āṣāḍha :อาษาฒะ) เป็น ภาษาสันสกฤต
อาสาฬฺห (āsāḷha : อาสาฬหะ) เป็น ภาษาบาลี


คำว่า อษาฬฺห ปรากฎในพระเวท และ คำว่า อาษาฒ ภาษาสันสกฤต มีความหมายในตัวว่า

ไม่สามารถเอาชนะได้ ไม่เคยถูกพิชิต ยากที่จะเอาชนะ ไม่สามารถทำลายได้
(Unconquerable, Never vanquished, Hard to be overcome, Invincible)


และคำที่ใกล้เคียงอย่าง คำว่า สาฬฺห ซึ่งเป็นชื่อบุคคล หลายบุคคล ในพระบาลี
อาจเทียบกับภาษาพระเวท คำว่า
สาฬฺหฤ (साळ्हृ : sāḷhṛ : สาฬหฤ )

หรือภาษาสันสกฤต คำว่า

สาฒ (साढ : sāḍha :สาฒะ ) หรือ
สาฒฤ (साढृ: sāḍhṛ : สาฒฤ) หรือ สหเต(सहते :sahate:สะหะเต )

ก็มีความหมายเป็นนัยเดียวกัน ซึ่งแปลว่า พิชิต การชนะ ผู้ชนะ (overcome ,conquering , a conqueror)


ในพจนานุกรมภาษาสันสกฤต คำว่า อาษาฒ
ใช้เป็น ชื่อกลุ่มดาวนักษัตรกลุ่มหนึ่งเรียก อาษาฒนักษัตร และชื่อเดือนในปฏิทินจันทรคติอินเดียโบราณ เรียก เดือนอาษาฒ ชื่อวันพระจันทร์เต็มดวงในเดือนอาษาฒ เรียก อาษาฒี และเป็นชื่อบุคคล ภูเขา ชื่อเทศกาลหนึ่งของพระอินทร์


แอดมินเพจ ไวทิกทรฺศน – वैदिकदर्शन

ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า อาษาฒ ยังใช้เป็นเรียกชื่ออิฐชนิดหนึ่ง

ในส่วนของพิธีกรรมตามขนบพระเวทที่ปรากฏใน คัมภีร์ศตปถพฺราหฺมณมฺ และ คัมภีร์กาตฺยายนเศฺราตสูตฺรมฺ

อิฐชนิดนี้ใช้ในขั้นตอนสถาปนาอัคนิเวทิของพิธอคฺนิจยนมฺ

ที่เรียกชื่ออิฐชนิดนี้ว่า “อาษาฒ” เพราะเป็นอิฐที่แข็งมาก ไม่มีสิ่งใดทำให้แตกหักได้ตามความหมายของ อาษาฒ

ตามตำนานเล่าว่าอิฐอาษาฒเป็นอิฐที่ถูกวางไว้ ณ ส่วนหน้าสุดของอัคนิเวทิ เมื่อแรกสร้างโลกของพระประชาปติ

เมื่อพราหมณ์สถาปนาอัคนิเวที ก็จะอิงการวางตำแหน่งอิฐตามตำนานดังกล่าวด้วย คือ สถาปนาไว้ส่วนหน้าของอัคนิเวทิ

ภาพอัคนิเวทิ ในพิธีอคฺนิจยนมฺ ตามขนบพระเวท


และที่น่าสนใจ คือ คำว่า อาษาฒ เป็นชื่อเรียกแทน ไม้เท้า หรือไม้คาน ชนิดหนึ่งชื่อ ปะลาศะทัณฑะ (ปลาศทณฺฑ)

ใช้แบกหรือถือในพิธีกรรมบางอย่าง ทำจาก ไม้ปะลาศะ (palāśa : Butea Frondosa : ไม้ต้นทองกวาว)

รูปต้นปะลาศะ หรือ ต้นทองกวาว หรือ ต้นปะลาศ (पलाश) รูปจาก indianexpress.com

พจนานุกรม กล่าวว่า ไม้อาษาฒ เป็นไม้บรรดามุนีฤๅษีจะใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา หรือใช้สำหรับเด็กนักเรียนในพิธีกรรมบางอย่าง

รูปวาด ปี 1750 ผู้แสวงบุญแบกไม้ทัณฑะไว้ที่บ่า รูปจาก Jodhpur, Museum.

เท่าที่สืบค้นคร่าว ๆไม้เท้าทำจากไม้ปะลาศะใช้ในอีกหลายพิธีกรรม เช่น พิธีอุปนยนสังสการ และปรากฎในคัมภีร์มนุสมฤติ ข้อนี้ผมสืบค้นแต่เพียงเท่านี้ ต้องรอผู้รู้ท่านอื่นอธิบายความต่ออีก

รูป พิธีอุปนยนสังสการ ในคัมภีร์มนูสมฤติ กล่าวว่า วรรณะพราหมณ์จะใช้ไม้จากต้นทองกวาว รูปจาก wikipedia


ส่วนฝ่ายบาลีนั้นคำว่า อาสาฬหะ (อาสาฬฺห)
พจนานุกรม กล่าวแต่เพียงว่า เป็นชื่อกลุ่มดาวนักษัตร และชื่อเดือน

แต่ส่วนคัมภีร์อภิธานวรรณนา ที่ขยายเนื้อความในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ก็กล่าวถึง ไม้ชนิดหนึ่งเช่นกัน กล่าวว่า


อาสาโฬฺห นาม ภตีนํ ทณฺโฑ

ไม้คานของคนรับจ้าง ชื่อว่าอาสาฬหะ.

ตํสณฺฐานตฺตา อาสาฬฺหา นาม

เพราะเป็นดาวที่มีรูปสัณฐานเหมือนไม้คาน จึงชื่อว่าอาสาฬหา


มีเกร็ดเล็กๆ เกี่ยวกับความสับสนของชาวตะวันตก เกี่ยวกับไม้อาษาฒ

และในหนังสือ A Descriptive Catalogue of Indian Astronomical Instruments: Abridged Version ของ Sreeramula Rajeswara Sarma

อธิบายเครื่องมือดาราศาสตร์อินเดีย กล่าวว่า

ในปี 1898 ศาสตราจารย์ Franz Reuleaux ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกล ที่มีชื่อเสียงระดับโลก อยู่ที่เยอรมนี ท่านศาสตราจารย์ ได้จัดงานนิทรรศการศาสตร์ของนาฬิกา (horological exhibition )

โดยท่านได้ ไม้วัดแดดจากอินเดีย มีแปดเหลี่ยม สลักชื่อชื่อเดือนเป็นภาษาสันกฤต 8 เดือน มีเหลี่ยมอยู่ด้านหนึ่ง สลักชื่อเดือน อาษาฒะ

รูป Ashada Stick หรือ Time Stick ที่ถูกเข้าใจว่าเป็นไม้อาษาฒ รูปจาก Science Museum, London

ในเอกสารของท่านจึงอธิบายว่า ไม้วัดแดดจากอินเดีย เรียกว่า Ashadah ทำมาจากไม้ Palaca ท่านได้รับมาจากผู้แสวงบุญชาวอินเดีย ข้อความมีอธิบายอยู่ยาวพอสมควร

แต่ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้เชื่อว่า ศาสตราจารย์ท่านนี้ เปิดพจนานุกรมแปลเอา ผูกเรื่องขึ้นเองและเข้าใจว่าเป็น ไม้อาษาฒทำจากไม้ปะลาศะ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะไม้วัดแดดนี้มีชื่อเรียกเป็นสันสกฤตอยู่หลายชื่ออยู่แล้ว

แม้แต่ในปัจจุบัน ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหราชอาณาจักร ไม้วัดแดดดังกล่าว ก็ยังถูกระบุว่าเป็น ไม้อาชาดาร์ (Ashadar Stick) ซึ่งเป็นการออกเสียง อาษาฒะ แบบชาวตะวันตกนั้นเอง


อาสาฬห อาษาฒ ในความหมาย ชื่อกลุ่มดาวนักษัตร ว่าคือกลุ่มดาวอะไร


อาสาฬหะ ในความหมาย ชื่อกลุ่มดาวนักษัตร
เนื่องจากปราชญ์อินเดียโบราณมีความคุ้นเคยกับดวงดาวบนท้องฟ้าเป็นอย่างดี สามารถจำแนก ทั้งดาวเคราะห์ที่เคลื่อนที่ไปมาได้และกลุ่มดาวฤกษ์ที่ไม่เคลื่อนที่ ได้มานมนานกาเลแล้วครับ

ยังสามารถคิดสูตร คำนวณคาดการว่าดาวจะเคลื่อนที่อย่างไร ในมุมมองที่มองจากโลกได้ด้วย โดยอาศัยศาสตร์หนึ่งของอินเดียโบราณ ที่เรียกว่า ชฺโยติษ (ज्योतिष : jyotiṣa :ชโยติษะ) หรือที่เรียกอย่างสามัญในภาษาอังกฤษปัจจุบันว่า Vedic Astrology หรือ Hindu Astrology

ชโยติษ คือศาสตร์ที่ว่าด้วย ดาราศาสตร์ (ศาสตร์ว่าด้วยตำแหน่งดวงดาว) โหราศาสตร์(ศาสตร์การทำนายโดยใช้ตำแหน่งของดวงดาว) การดูฤกษ์ยามสำหรับประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ชั้นสูง ถือเป็นวิชาที่สำคัญ 1 ใน 6 วิชา อันเป็นองค์ประกอบของพระเวท ที่เรียกว่า เวทางคศาสตร์ (เวทางคะ)

ศาสตร์นี้มีมาก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว และในสมัยหลังของการเข้ามาของวัฒนธรรมกรีกในอินเดียเหนือ เกิดการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม ศาสตร์นี้ได้ผสมหลักการดาราศาสตร์ โหราศาสตร์แบบกรีก(Hellenistic astrology)เข้าไปอีกด้วย


ชโยติษ เป็นระบบดาราศาสตร์แบบโบราณ เป็นชนิดที่เรียกว่า Geocentric model คือ ระบบดาราศาสตร์ที่ใช้โลกเป็นศูนย์กลาง หรือ ใช้มุมมองจากโลก

แนวคิด Heliocentrism การสังเกตดาวเคราะห์และวัดวิถีการโคจรโดยอ้างอิงกับดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ในดาราศาสตร์ปัจจุบัน

แนวคิด Geocentrism การสังเกตดาวเคราะห์และวัดวิถีการโคจรโดยอ้างอิงกับโลกเป็นศูนย์กลาง

รูปแนวคิด Heliocentrism และ แนวคิด Geocentrism

โดยจำแนกดาวเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มดาวเคราะห์ กลุ่มดาวฤกษ์

กลุ่มดาวเคราะห์ หรือ ดาวพระเคราะห์ เป็นคนละความหมายกับ ดาวเคราะห์ในดาราศาสตร์ปัจจุบัน

เคราะห์ หรือ คฺรห ( สันสกฤต. ग्रह : graha : คระหะ) แปลว่า จับ, คว้า, ถือ หรือแปลว่า ดาวเคราะห์ ในที่นี้หมายเอา ดาวที่เคลื่อนที่ได้บนฟากฟ้า มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่สังเกตุได้ด้วยตาเปล่าอีก 5 ดวง คือ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ จุดตัดของวงโคจรพระอาทิตย์และพระจันทร์ อีก 2 จุด เรียกว่า ราหู เกตุ


รวมเป็น 9 ดวง ที่เรียกว่า นวคฺรห (नवग्रह : navagraha : นะวะคระหะ) หรือดาวนพเคราะห์ และในทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ยังถือว่าดาวเหล่านี้เป็นพระเป็นเจ้าอีกด้วย

ภาพไอคอนเทพนพเคราะห์ทั้ง 9 แบบศิลปะร่วมสมัย

ส่วนกลุ่มดาวฤกษ์ที่ไม่เคลื่อนที่บนท้องฟ้าไว้ ได้แบ่ง สำหรับเป็นเรือนพระอาทิตย์และพระจันทร์

เรือนของพระอาทิตย์ แบ่งเป็น 12 กลุ่ม เรียกกลุ่มดาวจักรราศี ที่เราเรียก ราศี เวลาดูดวงนั้นแหละครับ พระอาทิตย์โคจรครบทั้ง 12 กลุ่มใช้เวลา 365-366 วันโดยประมาณ หรือ ปี นั้นแหละครับ


เรือนของพระจันทร์ เรียกว่ากลุ่มดาวนักษัตร (สันสกฤต. นกฺษตฺร : नक्षत्र : nakṣatra ) หรือ นักขัต (บาลี. นกฺขตฺต : nakkhatta) หรือ ฤกษ์ (สันสกฤต. ฤกฺษ :ऋक्ष :ṛkṣa ) แบ่งเป็น 28 กลุ่มและ ในสมัยหลังมีลดลงเป็น 27 กลุ่ม

ในชั้นเก่าสุดกล่าวในพระเวท ในคัมภีร์อถรรพเวทสัมหิตา (อถรฺวเวทสํหิตา : เศานกียศาขา) กาณฑะที่ 19 สูกตะที่ 7 กล่าวว่ามี 28 กลุ่ม


คัมภีร์ชโยติษในสมัยถัดมาได้ตัด นักษัตรอภิชิต ที่ขอบเขตขนาดเล็กออกอาจเพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณรอบโคจรของพระจันทร์ เป็น 27 กลุ่ม

คุณ Napat Patrapongphaiboon ให้ข้อมูลเสริมว่า กล่าวโดยสรุป อภิชิตนักษัตรก็ยังใช้อยู่ในสายโหราศาสตร์พระเวท ยังไม่ได้ตัดขาดออกไปอย่างสิ้นเชิง ยังมีส่วนที่ใช้ในการทำนายอยู่

จริงๆแล้วปัจจุบันนี้อภิชิตนักษัตรก็ยังใช้อยู่ในโหราศาสตร์พระเวท ไม่ได้ตัดออกไป เพียงแค่อภิชิตนักษัตรเริ่มตั้งแต่นวางศ์บาทสุดท้ายของอุตราษาฒจนถึง1/15 ส่วนของบาทแรกของศราวณะนักษัตรเท่านั้นเอง แต่หากใครเกิดมาภายใต้อภิชิตนักษัตรนี้จะกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงและใช้ชีวิตดุจราชา


แต่ในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายสันสกฤต ยังใช้ 28 กลุ่ม เมื่อจีนรับพุทธศาสนาไปจึงใช้ระบบนี้


และปรากฏใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส ซึ่งเป็นภาษิตของพระสารีบุตร โดยพระสังคีติกาจารย์ ยกขึ้นไว้ในพระไตรปิฏก มีกล่าวถึงนักษัตร 28 กลุ่ม


พวกชนที่ดูฤกษ์ ย่อมตรวจดูฤกษ์ว่า “ฤกษ์มีอยู่ ๒๘ ฤกษ์ (aṭṭhavīsati nakkhattāni) งานมงคลขึ้นบ้านใหม่ พึงทำโดยฤกษ์นี้ งานมงคลผูกเครื่องประดับ พึงทำโดยฤกษ์นี้ งานมงคลแต่งงาน พึงทำโดย ฤกษ์นี้ งานมงคลปลูกพืช พึงทำโดยฤกษ์นี้ งานมงคลอยู่เรือน พึงทำโดยฤกษ์นี้ พวกชนผู้ดูฤกษ์ ย่อมตรวจดูฤกษ์อย่างนี้.

ตุวฏกสุตตนิทเทสที่ ๑๔ (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส ข้อ ๗๕๔)

(ขอบคุณคุณหนุ่ย วรพล สำหรับการแนะนำข้อมูล)


ส่วนคัมภีร์อภิธานศัพท์พุทธศาสนาฝ่ายบาลี มักใช้ 27 กลุ่ม

ดาวนักษัตร 28-27 กลุ่ม อะไรบ้างละ ?

ยกข้อความในคัมภีร์ทิวยาวทาน เรื่อง ศารทูลกรรณาวทาน ของนิกายมูลสรรวาสติวาท (शार्दूलकर्णावदान : śārdūlakarṇāvadāna :ศารฺทูลกรฺณาวทาน )

ที่นักวิชาการเชื่อว่าเป็นคัมภีร์ที่เป็นแบบให้ระบบ ดาวนักษัตร แบบจีน 28 กลุ่ม ได้แก่

กฤตฺติกา โรหิณี มฤคศิรา อารฺทฺรา ปุนรฺวสุะ ปุษฺยหฺ อาเศฺลษา มฆา ปูรฺวผลฺคุนี อุตฺตรผลฺคุนี หสฺตา จิตฺรา สฺวาตี วิศาขา อนุราธา ชฺเยษฺฏา มูลา ปูรฺวาษาฒา อุตฺตราษาฒา อภิชิตฺ ศฺรวณา ธนิษฺฐา ศตภิษา ปูรฺวภาทฺรปทา อุตฺตรภาทฺรปทา เรวตี อศฺวินี ภรณี

ในระบบ 27 กลุ่มก็เพียงตัด อภิชิตฺ ออกครับ


พระจันทร์จะโคจรครบทั้ง 27 กลุ่มใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน โดยประมาณ ในแต่ละรอบ พระอาทิตย์จะโคจรเลยจุดเริ่มต้นของพระจันทร์ไปราว 2 นักษัตรโดยประมาณ

ดังนั้นพระจันทร์จึงใช้เวลาในการโคจรไปยังจุดเดียวกับพระอาทิตย์ จะใช้เวลา 29-30 วัน หรือที่เรียกว่า เดือน นั้นเอง และจะเต็มดวงหรือเพ็ญในนักษัตร 12-13 กลุ่ม ต่อปีเท่านั้น


และนักษัตรนี้ มีความหมายคนละความหมายกับ นักษัตร 12 ปี ของไทยที่รับจากวัฒนธรรมจีนนะครับ (ชวด ฉลู..)


อธิบายปูพื้นอย่างคราวๆ สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้มาก่อน จริงๆมีรายละเอียดซับซ้อนมีอีกมากนะครับ

หลังจากปูพื้นพื้นฐานมาซึ่งยาวกว่าเนื้อหาหลัก เรากลับมาที่เนื้อหาที่จะนำเสนอกันเลยดีกว่า


อาสาฬหนักขัต (อาสาฬฺหนกฺขตฺต : āsāḷhanakkhatta) หรือ อาษาฒนักษัตร เป็น กลุ่มดาวนักษัตร 2 กลุ่มในทั้งหมด 27 กลุ่ม

ดาวนักษัตร 2 กลุ่มมีอะไรบ้างละ
ทีนี้เราลองมาดูคัมภีร์ทางพุทธศาสนากันบ้างว่าอย่างไร

ในคัมภีร์อภิธานวรรณนา ภาษาบาลี ความว่า

เทฺว นกฺขตฺตา ปุพฺพาสาฬฺหอุตฺตราสาฬฺหวเสน
ดาวอาสาฬหามี ๒ กลุ่ม คือ ปุพพาสาฬหาและอุตตราสาฬหา

——————-

ในคัมภีร์ลลิตรวิตระ พุทธประวัติ ภาษาสันสกฤต กล่าวถึง ดาวฤกษ์โลกบาลภาคตะวันตกว่า

อนุราธา จ เชษฺฐา จ มูลา จ ทฤฒวีรฺยตาฯ
ทฺวาวาษาเฒ อภิชิจฺจ ศฺรวโณ ภวติ สปฺตมะ ฯ

ดาวฤกษ์มี ๗ ดวง คือดาวอนุราธา ดาวเชษฐา ดาวมูลาผู้มีความเพียรมั่นคง ดาวอาษาฒาทั้ง ๒ ดาวอภิชิต* ดาวศรวณา ฯ

(นักษัตรอภิชิต เป็น นักษัตรใน ระบบ 28 นักษัตร)

——————-

คัมภีร์ทิวยาวทาน เรื่อง ศารทูลกรรณาวทาน ของนิกายมูลสรรวาสติวาท ภาษาสันสกฤต ที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า กล่าวถึง นักษัตรทั้ง ออกนามดาวอาษาฒทั้ง ๒ ว่า ปูรฺวาษาฒา อุตฺตราษาฒา


กลุ่มดาวนักษัตรเหล่านี้ คือกลุ่มดาวอะไร ในปัจจุบัน ?

1. ปุพพาสาฬหะ (ปุพฺพาสาฬฺห) ในภาษาบาลี

ปูรวาษาฒา (ปูรฺวาษาฒา :पूर्वाषाढा : pūrvāṣāḍhā) หรือ
ปูรวาษาฒานักษัตร (ปูรฺวาษาฒานกฺษตฺร : पूर्वाषाढानक्षत्र : pūrvāṣāḍhānakṣatra) ในภาษาสันสกฤตแปลว่า ดาวอาสาฬหะแรก

ปุพพาสาฬหะ มีดาวประธาน ในหมู่ดาวตามระบบดาราศาสตร์ปัจจุบัน คือ

ดาว Delta Sagittarii (δ) ชื่อสามัญ Kaus Media หรือ kaus meridionalis
ดาว Epsilon Sagittarii(ε) ชื่อสามัญ Kaus Australis

อยู่ในขอบเขตกลุ่มดาวคนยิงธนู (ราศีธนู) ระยะ 13 องศา 20 ลิปดา ถึง 26 องศา 40 ลิปดา


2. อุตตราสาฬหะ (อุตฺตราสาฬฺห) ในภาษาบาลี

อุตตราษาฒา (อุตฺตราษาฒา : उत्तराषाढा : uttarāṣāḍhā) หรือ อุตตราษาฒานักษัตร (อุตฺตราษาฒานกฺษตฺร : उत्तराषाढानक्षत्र : uttarāṣāḍhānakṣatra) ในภาษาสันสกฤต

แปลว่า ดาวอาสาฬหะหลัง

อุตตราสาฬหะ มีดาวประธานในหมู่ดาวตามในดาราศาสตร์ปัจจุบัน คือ

ดาว Zeta Sagittarii(ζ) ชื่อสามัญ Ascella
ดาว Sigma Sagittarii (σ) ชื่อสามัญ Nunki

อยู่ในขอบเขตกลุ่มดาวคนยิงธนู (ราศีธนู) 26 องศา 40 ลิปดา ถึง 10 องศา ของกลุ่มดาวแพะทะเล(ราศีมังกร)

แผนที่ดาววันอาสาฬหบูชา ปี 2562 จากโปรแกรม Star walk แสดงกลุ่มดาว ปุพพาสาฬหะ และอุตตราสาฬหะ ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (ราศีธนู)


ในฝ่ายพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ในชั้นอรรถกถา กล่าวถึงความสำคัญของ อุตตราสาฬหนักษัตร โดยมีข้อความกล่าวถึง

วันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ(อาสาฬฺหปุณฺณมาย)
อุตตราสาฬหนักษัตร (อุตฺตราสาฬฺหนกฺขตฺต)
วันเพ็ญในเดือนอาสาฬหะ ที่อุตตราสาฬหนักษัตร(อาสาฬฺหปุณฺณมายํ อุตฺตราสาฬฺหนกฺขตฺเต)

ปรากฏอยู่หลายคัมภีร์ เป็นดาวที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอยู่หลายวาระ


ยกตัวอย่างเบื้องต้นใน คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ทีปังกรพุทธวงศ์

มหาปุริโส กิร อุตฺตราสาฬฺหนกฺขตฺเตเนว มาตุกุจฺฉึ โอกฺกมิ,
มหาภินิกฺขมนํ นิกฺขมิ, ธมฺมจกฺกํ ปวตฺเตสิ, ยมกปาฏิหาริยํ อกาสิ.

ได้ยินว่า โดยดาวนักษัตรในเดือนอาสาฬหะหลังนั่นแล พระมหาบุรุษก็เสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดา เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ประกาศพระธรรมจักร ทรงทำยมกปาฏิหาริย์


เดือนอาสาฬหะ คือเดือนอะไร


ในทางพุทธศาสนา วันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ หรือ เดือนอาษาฒ เป็นวันสุดท้ายของฤดูร้อน เริ่มต้นฤดูฝน ในมัชฌิมประเทศ

เดือนอาษาฒะ (आषाढमासः : āṣāḍhamāsaḥ : อาษาฒะมาสะห์ ) หรือ
เดือนอาสาฬหะ (Āsāḷhamāsa : อาสาฬหะมาสะ) นี้

คือเดือนลำดับที่ 4 ในปฏิทินจันทรคติอินเดียโบราณ เป็นเดือน 8 ในปฏิทินจันทรคติไทย
เป็นเดือนที่ ดวงจันทร์เต็มดวง(เพ็ญ)ในขอบเขตหมู่ดาวนักษัตรอาสาฬหะ(อุตตราสาฬหนักษัตร)

ซึ่งแต่ละปี เมื่อเทียบกับปฏิทินสุริยคติ คร่าวๆ (ช่วงเดือนจริงๆ ต้องดูตาม ระบบปูรณิมานตะ กับ อมานตะ อีกที ดูหมายเหตุด้านล่าง ) เดือนนี้อาจเริ่มในปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม
หรือปีอธิกมาส อาจจะเริ่มในกรกฎาคม ถึงสิงหาคม

แต่ในช่วงที่ดวงจันทร์มักจะเพ็ญในขอบเขตหมู่ดาวนักษัตรอาสาฬหะ มักจะอยู่ภายในเดือนกรกฎาคมเป็นส่วนมาก และเพ็ญสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมบ้างในบางปี

ในระบบปฏิทินจันทรคติแบบอ้างอิงฤดูกาล หรือแบบอ้างอิงสุริยคติ จะมีการทดเดือน ที่เรียกว่าอธิกมาส เพื่อให้รอบปีใกล้เคียงกับความฤดูกาลจริง หรือ ให้ใกล้เคียงสุริยวิถี 

ซึ่งตามหลักฐานก็พบว่ามีการทดเดือนกันตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว และเป็นหน้าที่ของทางบ้านเมืองที่ต้องใช้โหรคำนวณ และต้องประกาศให้ประชาชนทราบ ดังเช่น

ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค วัสสูปนายิกขันธกะ เรื่องภิกษุหลายรูป

เรื่องเลื่อนกาลฝนความว่า
ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช มีพระราชประสงค์
จะทรงเลื่อนกาลฝนออกไป จึงทรงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ถ้ากระไร ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงจำพรรษาในชุณหปักษ์อันจะมาถึง. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระเจ้าแผ่นดิน.

 ในอรรถกถาอธิบายความเลื่อนกาลฝนออกไปว่า

วสฺสํ อุกฺกฑฺฒิตุกาโม ความว่า มีพระประสงค์จะเลื่อนเดือนต้นฤดูฝนออกไป.
อธิบายว่า มีพระประสงค์จะไม่นับเดือน ๙ จะให้นับเป็นเดือน ๘ อีก
สองบทว่า อาคเม ชุณฺเห มีอธิบายว่า ในเดือนอธิกมาส.

บทความนี้หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้รู้โปรดชี้แนะด้วยนะครับ


หมายเหตุ


1. ภาษาพระเวท หรือที่เรียกว่า ไวทิกภาษา หรือ ภาษาสันสกฤตแบบพระเวท (Vedic Sanskrit) เป็นภาษาในตระกูลภาษากลุ่มอินโด-ยุโรปที่เก่าแก่ ที่มีการสืบทอดมาในปัจจุบัน

2. ภาษาบาลี หรือ ปาฬี คือภาษาที่รักษาพุทพจน์ ซึ่งเชื่อกันว่าคือ ภาษามคธ หรือภาษามาคธี ซึ่งอยู่ใน กลุ่มภาษาปรากฤตโบราณ หรือ กลุ่มภาษาที่ใช้ในระดับท้องถิ่นของอินเดียโบราณ

3.ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาลูกที่สืบมาจาก ไวทิกภาษา โดยตรง

4. อินเดียโบราณมีระบบปฏิทินแยกอีก 2 ระบบ ปูรฺณิมานฺต ปูรณิมานตะ पूर्णिमान्त pūrṇimānta วันแรม 1 ค่ำเป็นวันแรกของเดือน วันเดือนเพ็ญเป็นวันสิ้นเดือน อินเดียเหนือ และระบบปฏิทินในพระไตรปิกฎกใช้ระบบนี้

Amānta अमान्त อมานฺต อะมานตะ วันขึ้น 1 ค่ำ เป็นวันแรกของเดือน วันเดือนดับเป็นวันสิ้นเดือน อินเดียภาคใต้ ตะวันตก รวมถึงระบบปฏิทินไทย

ระบบปฏิทินจันทรคติแบบอ้างอิงฤดูกาล แบบอ้างอิงสุริยคติ จะมีการทดเดือน ที่เรียกอธิกมาส เพื่อให้รอบปีไกล้เคียงกับความฤดูกาลจริง

ปฏิทินที่ไม่อ้างอิงตามฤดูกาล คือปฏิทินอิสลาม เพียงปฏิทินเดียว ไม่มีการทดเดือน ใช้เวลาราว 33 ปีในแต่ละรอบปฏิทิน ที่เดือนแรกของปีจะตรงกันตามระบบสุริยคติ


อ้างอิง

ไวยากรณ์ภาษาพระเวท : ว่าด้วย “ฬฺ”(ฑฺ) และ “ฬฺหฺ”(ฒฺ)
https://www.facebook.com/Vaidikadarshana/posts/1298951483602079
อาสาฬหะ & อาษาฒะ
https://www.facebook.com/groups/SanskritLiterature/permalink/742420562466931/
ฤคเวท มณฑลที่ ๙ สูกตะที่ ๙๐
https://en.wikisource.org/wi…/The_Rig_Veda/Mandala_9/Hymn_90
āṣāḍhaḥ आषाढः
https://www.sanskritdictionary.com/?q=āṣāḍha
https://www.sanskritdictionary.com/āṣāḍhaḥ/7679/4
https://www.wisdomlib.org/definition/ashadha
https://sa.wiktionary.org/wiki/आषाढ
คัมภีร์ อภิธานวรรณนา
https://www.thepathofpurity.com/ภาษาบาล/อภ-ธานวรรณนา/
Upanayana
https://en.wikipedia.org/wiki/Upanayana
พิธีเปลี่ยนสภาวะ : กรณีศึกษาพิธีอุปนยนสังสการในสังคมชาวฮินดู
https://lc.mahidol.ac.th/…/FullP…/JLC37-2-Archphurich-NN.pdf

หนังสือ Around Abhinavagupta
หนังสือ A Descriptive Catalogue of Indian Astronomical Instruments: Abridged Version

คัมภีร์ลลิตรวิตระ พุทธประวัติ ภาษาสันสกฤต
http://gretil.sub.uni-goettingen.de/…/4_…/buddh/bsu022_u.htm
คัมภีร์ทิวยาวทาน เรื่อง ศารทูลกรรณาวทาน ของนิกายมูลสรรวาสติวาท
http://gretil.sub.uni-goettingen.de/…/4_…/buddh/divyav_u.htm
คัมภีร์อถรรพเวทสัมหิตา(อถรฺวเวทสํหิตา : เศานกียศาขา) กาณฑะที่ 19 สูกตะที่ 7
http://vedicheritage.gov.in/…/shaunaka-…/kanda-19-sukta-007/
โหราศาสตร์จีน กลุ่มดาว 28 นักษัตรจีนกับ 27ดาวนักษัตรไทย
https://www.astroneemo.net/…/73-2010-01-16-14-52-…/795-28-27
คัมภีร์ อภิธานวรรณนา
https://www.thepathofpurity.com/ภาษาบาล/อภ-ธานวรรณนา/
ว่าด้วยองค์ของพระเวท(เวทางฺคศาสตร์)
https://www.facebook.com/…/a.780255395471…/1265969706900257/
ชฺโยติสฺ – ชฺโยติษ
https://www.facebook.com/groups/SanskritLiterature/permalink/1118706424838341/
The Śārdūlakarṇāvadāna from Central Asia
http://iriab.soka.ac.jp/…/Tamai2015-%C5%9A%C4%81rd%C5%ABlak…
Jyotisha
https://en.wikipedia.org/wiki/Jyotisha
Nakshatra
https://en.wikipedia.org/wiki/Nakshatra

หนังสือ The Circulation of Astronomical Knowledge in the Ancient World

Loading

Be the first to comment on "คำว่า อาสาฬห ในบริบทต่างๆ"

Leave a comment