รักแรกของพระเจ้าอโศกมหาราช

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

รักแรกของพระเจ้าอโศกมหาราช

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชสนใจในพระพุทธศาสนา


ภาพ Ashoka’s Queen (1910) เป็นภาพพระนางเวทิสาเทวี ประทับที่หน้าพระมหาสถูปสาญจี ซึ่งสร้างขึ้นโดย พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เป็นพระสวามีของพระนาง ภาพวาดต้นฉบับเป็น งานสะสมศิลปะหลวง ของพระราชวงศ์อังกฤษ ที่ปราสาทวินด์เซอร์ ผลงานของ ท่านอาจารย์อพนีนทรนาถ ฐากุร (Abanindranath Tagore 1871-1951) จิตรกร ชาวอินเดีย (เบงกอล) ผู้มีศักดิ์เป็นหลานของ คุรุเทพรพินทรนาถ ฐากุร
 
ความรักครั้งแรกนั้นลืมยาก อันนี้จริงหรือไม่ครับ ?
 
ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ และพระเจ้าพินทุสาร ศาสนาที่มีบทบาทในราชสำนักเมารยะ คือ พราหมณ์, เชนและลัทธิอาชีวกะ ส่วนศาสนพุทธยังเป็นแต่เพียงศาสนาภาคประชาชน ยังไม่มีบทบาทในราชสำนัก แต่กระนั้นราชวงศ์นี้ ก็ไม่ได้เบียดเบียนบีฑาศาสนิกศาสนาอื่น
 
ภาพ Chandragupta’s Court ภาพศิลปะร่วมสมัย  ฉากราชสำนักของพระเจ้าจันทรคุปต์ ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิเมารยะ ผู้เป็นพระบรมอัยกา(ปู่) ของพระเจ้าอโศก ปรากฎภาพพระอัครมเหสีชาวกรีกของพระเจ้าจันทรคุปต์ ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเซลลูคัส นิเคเตอร์  ราชทูตกรีกเมกัสเธเนส และ พราหมณาจารย์จาณักยะ ที่ปรึกษาส่วนพระองค์  ผลงานอสิต กุมาร ฮัลดาร์ (Asit Kumar Haldar) จิตรกร ชาวอินเดีย (เบงกอล) ผู้เป็นญาติห่างๆ ชั้นหลาน และผู้ช่วยของคุรุเทพรพินทรนาถ ฐากุร 

 
ศาสนาพุทธเข้ามาสู่ราชสำนักเมารยะ เมื่อหลังพระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์ โดยมีหลักฐานชัดเจนว่าหลังสงครามกลิงคะ พระเจ้าอโศกทรงประกาศเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา ในชีวิตส่วนตัวท่านปฏิบัติในวิถีพุทธศาสนา ในฐานะองค์จักรพรรดิทรงอุดหนุนทุกศาสนาในจักรวรรดิ และสนับสนุนให้ประชาชนมีขันติธรรมระหว่างศาสนาอีกด้วย
จุดเปลี่ยนที่ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเปลี่ยนศาสนามานับถือพระพุทธศาสนา มีอยู่หลายประเด็นหลายหลักฐาน เช่น

 
1. ผลจากสงครามกลิงคะ เนื่องจากนโยบายการทำสงครามของพระองค์ที่แผ่แสนยานุภาพขยายจักวรรดิ จนทำให้พระองค์สลดพระทัย จนทรงเปลี่ยนมาใช้นโยบายแสนยานุภาพทางธรรมแทน  โดยพระเจ้าอโศกทรงอ้างในจารึกของพระองค์เอง (จารึกศิลา ฉบับที่ ๑๓ : Major Rock Edict 13)
 
Kandahar Greek Edicts of Ashoka จารึกศิลา ฉบับที่ ๑๓ ที่กันดาฮาร์ อัฟกานิสถาน กล่าวถึงการทำสงครามที่แคว้นกลิงคะ (Καλίγγην) องพระเจ้าอโศกมหาราช บันทึกเป็นภาษากรีก และภาษาอราเมอิก ให้พวกหัวเมืองชายแดนด้านเหนือและตะวันตกได้ทราบถึงพระกรณียกิจของพระองค์
 
2. เรื่อง คำเทศนาของสามเณรนิโครธ ผู้เป็นโอรสของเจ้าชายสุมน ผู้ที่พระเจ้าอโศกช่วงชิงราชสมบัติมา ในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท เช่นใน สมันตปาสาทิกา ทีปวงศ์ มหาวงศ์ สารัตถทีปนีฎีกา
 
3. เรื่อง การแสดงปาฏิหารย์ของพระสมุทระผู้บรรลุอรหันต์อยู่ในคุกนรกาลัยของพระเจ้าอโศก ในคัมภีร์ทิวยาวทานของนิกายสรรวาสติวาท ใน อโศกาวทาน ที่มีอิทธิพลให้กับคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายเหนือที่เกี่ยวกับพระราชประวัติของพระเจ้าอโศก
 

หนึ่งปัจจัยที่ทำให้พระเจ้าอโศกสนใจในพระพุทธศาสนา ที่มีหลักฐานรับทราบกันอยู่ แต่ไม่ถูกพูดถึงกันไม่บ่อยนัก คือ ความรักครั้งแรกในสมัยวัยรุ่นของพระองค์ กับสาวชาวท้องถิ่น เมืองเวทิสะในแคว้นอวันตี ซึ่งอาจมีอิทธิพลให้พระเจ้าอโศก รู้พื้นฐานธรรมเนียมประเพณี หลักธรรมของพุทธศาสนา ก่อนการจะเปลี่ยนศาสนาจริงๆ ครับ
 
ประวัติของพระเจ้าอโศก หลาย ๆ แห่ง จะทราบว่าพระองค์มีพระภรรยาเจ้า หลายพระองค์ เช่น ในมหาวงศ์ กล่าวถึง พระนางอสันธิมิตตา พระอัครมเหสีองค์แรกที่สถาปนาเมื่อขึ้นครองราชย์ ดูจะมีศรัทธาปสาทะในพุทธศาสนา เป็นที่โปรดปรานมากพระองค์หนึ่ง แต่สิ้นพระชนม์ก่อนพระเจ้าอโศก ในจารึกในอัลลาหะบัด (ประยาคะ) กล่าวถึง พระนางการุวากี พระมเหสีรอง ทรงบริจาคถวายทานในเมืองประยาคะ ในอโศกาวทาน กล่าวถึง พระนางปัทมาวตี พระมารดา กุณาลราชกุมาร
 
และสุดท้าย ในบั่นปลายพระชนม์ชีพ ของพระเจ้าอโศกนั้น ทั้งในฝ่ายบาลี(มหาวงศ์)และสันสกฤต(อโศกาวทาน) กล่าวตรงกัน คือ พระอัครมเหสีองค์ใหม่ พระนามว่า พระนางติษยรักษิตา (สันสกฤต) หรือ ติสสรักขา (บาลี) ผู้ปั่นป่วนราชสำนักฝ่ายใน ทำให้มีความวุ่นวายและสร้างปัญหาให้พระเจ้าอโศกเป็นอย่างมาก
 
ภาพสลักหิน ฉากพระเจ้าอโศกและเหล่าพระมเหษี ที่พบในซากพระมหาสถูปกะนะคะนะหัลลิ (Kanaganahalli) รัฐกรณาฏกะ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย 
ภาพศิลปะร่วมสมัย ระบุว่าเป็นพระเจ้าจันทรคุปต์ แต่น่าจะได้แบบจากภาพสลักหิน ฉากพระเจ้าอโศกและเหล่าพระมเหษี ที่พบในซากพระมหาสถูปกะนะคะนะหัลลิ ที่พบในลักษณะนี้อยู่หลายฉาก เทคนิคศิลปะจากคอมพิวเตอร์กราฟิกโดย Joan Francesc Oliveras Pallerols
 
แต่พระนางอสันธิมิตตา ที่เป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกของพระเจ้าอโศก ซึ่งเป็นชาวพุทธ แต่พระนางไม่ใช่รักแรกของพระเจ้าอโศกครับ
 
เรื่องนี้ความรักครั้งแรก มีระบุในหลักฐานเฉพาะในพุทธศาสนาฝ่ายใต้ (คัมภีร์บาลีเถรวาท และลังกา) ที่กล่าวถึงเท่านั้น ในเรื่องนี้คัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายเหนือ (คัมภีร์ของสาวกยานฝ่ายสันสกฤต และมหายาน) ไม่ได้กล่าวถึงโดยตรง
 
แต่มีกล่าวพอสังเขปอยู่ใน สุทรรศนะวินยวิภาษา ( 善見律毗婆沙 : sudarśanavinayavibhāṣā : สุทรฺศนวินยวิภาษา) อรรถกถาพระวินัยที่แปลสู่พากย์ภาษาจีน โดยพระสังฆภัทร ภิกษุชาวเอเชียกลาง ที่มีเนื้อหาคล้าย สมันตปาสาทิกา ในฝ่ายบาลี
 
สำเนา สุทรรศนะวินยวิภาษา หรือ สมันตปาสาทิกาฉบับพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ จาก พระไตรปิฎกอักษรจีนจากแม่พิมพ์แกะไม้ ฉบับเกาหลี หมายเลข K.0937
เรื่องเล่า ในอรรถกถา ฎีกา เหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเลือนลอยไปเสียทั้งหมด เหมือดังมีบางท่านกล่าว เรื่องจากประเด็นนี้ ก็พอจะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชิงประจักษ์มาสนันสนุนอยู่ ก็ที่พอจะบอกได้ว่า เมืองเวทิสะเป็นชุมชนพุทธ และ อโศกราชกุมารมีความสัมพันธ์ค่อนข้างที่ผูกพันธ์กับพระชายาสาวชาวท้องถิ่นผู้นี้ เป็นบุคคลสำคัญที่พระเจ้าอโศกทรงระลึกถึงเสมอ ถึงแม้จะแยกทางกันก็ตาม
———————–
 

 

มาดูหลักฐานกันครับ

 
หลักฐานแรกอยู่ที่หมู่พุทธสถานแห่งสาญจี ซึ่งเป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่มีพระสถูปโครงสร้างหินเก่าแก่ที่สุดในอินเดียและในโลก อยู่ ณ ชานเมือง ที่ออกนามเมืองในจารึกและเอกสารโบราณว่า เมืองเวทิสะ (บาลี,ปรากฤต 𑀯𑁂𑀤𑀺𑀲 : vedisa, สันสกฤต विदिश : vidiśa :วิทิศะ)
 
มหาสถูปสาญจี หรือ สถูปหมายเลข 1 เป็นศาสนาสถานที่สำคัญที่สุดในกลุ่มพุทธสถานแห่งสาญจี
ซึ่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2532
 
 
 
ปัจจุบันตั้งอยู่บนภูเขาเล็กๆ บ้านสาญจี ในเขตรายเซน อยู่ชานเมืองเมืองเวทิศะ รัฐมัธยประเทศ อินเดีย ในปัจจุบัน ราว 8 ก.ม.
 
ภูเขาเล็กๆ บ้านสาญจี ในเขตรายเซน หรือ เวทิสะคิรี ที่ตั้งมหาสถูปสาญจี 
ภาพร่างโครงสร้างโดยสันนิษฐานภายในพุทธสถาน ที่จัดทำปี 1900
 
พุทธสถานแห่งนี้ปรากฏหลักฐาน จากจารึกในสิ่งก่อสร้าง วัดหมายเลข 40 (Sanchi Temple 40 ) ว่าเริ่มก่อสร้าง ในสมัยพระเจ้าพินทุสาร พระบิดาของพระเจ้าอโศก อาจเป็นช่วงที่อโศกราชกุมาร รั้งตำแหน่งอุปราชที่เมืองอุชเชนี แคว้นอวันตีอันเป็นเมืองเอกด้านทิศใต้ของจักรวรรดิเมารยะ (ปัจจุบันคือเมืองอุชเชน รัฐมัธยประเทศ อินเดีย ห่างจาก สาญจี ราว 230 ก.ม. )
 
และเริ่มก่อสร้างให้ใหญ่โตยิ่งขึ้น ก่อสร้างพระมหาสถูปเมื่อพระเจ้าอโศกทรงขึ้นครองราชย์ และต่อเติมให้ใหญ่โตยิ่งขึ้นในยุคสมัยต่อๆมา
 
วัดหมายเลข 40 (Sanchi Temple 40 ) 
ภาพร่างโครงสร้าง วัดหมายเลข 40 คาดว่าส่วนบนของอาคารเป็นโครงสร้างไม้
 
สถูปสาญจีได้ถูกทำการสำรวจในยุคสมัยใหม่เป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ.1818  โดย พลเอก เฮนรี เทย์เลอร์  (General Henry Taylor)  นายทหารชาวอังกฤษ ได้บันทึกของการมีอยู่ของพระสถูป
 
ต่อมา เซอร์ เฮอร์เบิร์ต แมดด็อค (Sir Herbert Maddock) ข้าราชการชาวอักฤษ ไดสเก็ตภาพไว้ในปี 1822 ต่อมา เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Sir Alexander Cunningham) เฟรดเดอริค ชาล์ส เมซี่ย์ (Frederick Charles Maisey) ได้ทำการสำรวจและขุดค้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1851 
 
ภาพวาดสีน้ำพุทธสถานสาญจี ของเฟรดเดอริค ชาล์ส เมซี่ย์
 
ในระหว่างปี ค.ศ. 1912 และ 1919 ได้รับการบูรณะให้กลับมาอยู่ในสภาพที่เป็นในปัจจุบันภายใต้การดูแลของเซอร์จอห์น มาร์แชล (Sir John Hubert Marshall)
 
แบบแปลนการบูรณะพุทธสถานสาญจี ของเซอร์จอห์น มาร์แชล
 
เมื่อเริ่มแรกมีการศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดีที่สาญจี ค่อนข้างเป็นที่ฉงนสนเท่ห์ของนักวิชาการว่า เป็นเรื่องน่าแปลก เหตุใดพระเจ้าอโศกมหาราชจึงเลือกมาสร้างพุทธสถานใหญ่โต ณ ชานเมืองเวทิสะ ที่เป็นเมืองเล็กน้อย ไม่ได้เป็นเมืองเอก หรือเมืองใหญ่ของจักรวรรดิ เป็นเพียงกิ่งเมืองปลายแดนแคว้นอวันตี และไม่มีสำคัญหรือความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า และพระสาวกองค์ใดๆ เลย
 
แต่ภายหลังไม่นานก็มีการศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น จากประวัติพระเจ้าอโศกจากในอรรถกถา ฎีกา และพงศาวดารจากทางลังกา ก็พบว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงมีความสัมพันธ์กับเมืองนี้
 
 
คือ พระองค์มีพระชายาชาวพุทธอยู่ที่เมืองเวทิสะ แห่งนี้ด้วย
 
 
ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ทรงคุ้นชินกับพระพุทธศาสนา แต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ยังดำรงตำแหน่ง ราชกุมาร ในรัชสมัยของพระเจ้าพินทุสาร นั้น ในสมันตปาสาทิกา สารัตถทีปนีฎีกา กล่าวว่า
 
อโศกราชกุมาร เมื่ออายุได้ประมาณ 14 ปี ได้ พระเจ้าพินทุสารมีพระราชบัญชาให้ไปเป็นอุปราชครองแคว้นอวันตี ที่เมืองอุชเชนี ระหว่างทางก่อนถึงเมืองอุชเชนี มีเมืองชื่อว่า เมืองเวทิสะ อโศกกุมารได้พบกับธิดาเศรษฐีประจำเมือง นามว่า เทวี หรือ เวทิสาเทวี ตามชื่อเมือง และเป็นครอบครัวชาวพุทธ
 
และอโศกราชกุมารได้ เวทิสาเทวี เป็นพระชายา นําไปอยู่ด้วยที่นครอุชเชนีแล้วประสูติโอรสธิดา 2 พระองค์ นามว่า มหินทราชกุมาร และ สังฆมิตตาราชกุมารี
 
ในคัมภีร์ฎีกาในลังกาชั้นหลัง ยังระบุว่าซึ่งออกพระนามพระชายาว่า เวทิสา มหาเทวี สักยกุมารี เพื่อระบุว่าพระชายา อยู่ในครอบครัวที่สืบเชื้อสายศากยวงศ์สายหนึ่ง ที่ลี้ภัยมาคราพระเจ้าวิฑูฑภะ ทำลายล้างศากยวงศ์
 
นักวิชาการบางท่าน วิเคราะห์ว่าอาจจะเป็นการเน้นย้ำความเป็นมาความเป็นพุทธศาสนิกชนของครอบครัวนี้ รวมถึงและเพื่อเชื่อมโยงความสายสัมพันธ์ของพระพุทธเจ้ากับ เจ้าชายมหินท์และเจ้าหญิงสังฆมิตตา ซึ่งเป็นพระมหาเถระ และมหาเถรีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในลังกา ในเวลาต่อมา
 
คล้ายกับในมหาวงศ์กล่าวอ้างว่า ราชวงศ์เมารยะ หรือ โมริยะ สืบเชื้อสายศากยวงศ์สายหนึ่งเช่นกัน
 
หากเป็นเช่นนี้จริงก็เท่ากับว่า มหินทราชกุมาร และ สังฆมิตตาราชกุมารี สืบเชื้อสายศากยวงศ์ทั้งสองทางทั้งข้างบิดาและมารดา
 
เมื่อ อโศกราชกุมาร พระชันษาได้ 30 ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งคู่ต้องแยกทางกัน คือ พระเจ้าพินทุสารเสด็จสวรรคต อโศกราชกุมาร ขึ้นไปช่วงชิงราชสมบัติจากพระเชษฐา คือ สุมนะราชกุมาร องค์รัชทายาท (ในอโศกาวทานเรียก สุสีมะราชกุมาร) ที่นครหลวงกรุงปาฏลีบุตร
 

เมื่อพระเจ้าอโศกได้ราชสมบัติ พระนางเวทิสาเทวี ไม่ได้ขึ้นตามไปอยู่ด้วยกับพระสวามีและพระโอรสธิดา ที่กรุงปาฏลีบุตร แต่พระนางได้เลือกที่จะกลับมาอยู่ที่ เมืองเวทิสะ กับหมู่พระญาติตามเดิม โดยไม่ได้รับการอภิเษกขึ้นในตำแหน่งใดๆ ในราชสำนักในปาฏลีบุตรเลย

 

ข้อนี้มีความเห็นจากผู้รู้หลายทางเช่นว่า การพระนางเวทิสาเทวี เป็นเพียงแต่ลูกพ่อค้า ถึงจะเป็นเศรษฐีก็ เศรษฐีบ้านนอก คือ เมืองเวทิสะ ซึ่งอยู่ฐานะเมืองกิ่งของเมืองอุเชนนีเท่านั้น เป็นที่ยอมรับได้ยากในราชสำนัก หรือแม้แต่เหตุผล จากความพยายามของพระนางเวทิสาเทวี ที่จะเปลี่ยน อโศกราชกุมาร ให้มานับถือพุทธแต่ไม่สำเร็จ รวมถึงประเด็น การที่ไม่เห็นด้วยในการขึ้นไปช่วงชิงราชสมบัติ ที่พระเทวีตัดสินใจแยกทางกัน ข้อนี้มีความเห็นในหลายทัศนะครับ รวมถึงวรรณกรรมร่วมสมัยยุคปัจจุบัน เช่นในภาพยนต์ อาจให้เหตุผลว่าทรงไม่เห็นด้วยในการทำสงครามกลิงคะ

 
แล้วหมู่พุทธสถานแห่งสาญจีเกี่ยวข้องอะไรกับพระนางเวทิสาเทวีละ ?
 
ในสมันตปาสาทิกา ยังเล่าต่อว่า หลังจากเจ้าชายมหินทะ ขึ้นไปอยู่กับพระบิดาแล้ว จากนั้นทรงผนวชแล้วก็ได้มาเยี่ยมพระมารดาที่เมืองเวทิสะ ก่อนจะเสด็จไปลังกาทวีป พระนางเวทิสาเทวีทรงสร้างวัดไว้ที่ภูเขาแห่งหนึ่งในเมืองเวทิสะ (เวทิสคิรี) ชื่อว่า เวทิสคิรีมหาวิหาร ต่อมาทรงถวายให้พระมหินทเถระ ตามความใน สมันตปาสาทิกา ดังนี้
 

อถานุปุพฺเพน มาตุ นิวาสนฏฺฐานํ เวทิสนครนฺนาม สมฺปตฺโต ฯ

ครั้งนั้น พระเถระได้ไปถึงเมืองชื่อเวทิสนครอันเป็นสถานที่ประทับของพระมารดาโดยลำดับ.

อโสโก กิร กุมารกาเล ชนปทํ ลภิตฺวา อุชฺเชนึ คจฺฉนฺโต เวทิสนครํ ปตฺวา เวทิสเสฏฺฐิสฺส ธีตรํ อคฺคเหสิ ฯ

ได้ยินว่า พระเจ้าอโศกทรงได้ชนบท (ได้กินเมือง) ในเวลายังทรงพระเยาว์ เมื่อเสด็จไปกรุงอุชเชนี ผ่านเวทิสนคร ได้ทรงรับธิดาของเวทิสเศรษฐี (เป็นอัครมเหสี),

สา ตํทิวสเมว คพฺภํ คเหตฺวา อุชฺเชนิยํ มหินฺทกุมารํ วิชายิ ฯ กุมารสฺส จุทฺทสวสฺสกาเล ราชา อภิเสกํ ปาปุณิ ฯ

ในวันนั้นนั่นเอง พระนางก็ทรงครรภ์ แล้วได้ประสูติมหินทกุมาร ที่กรุงอุชเชนี. ในเวลาที่พระกุมารมีพระชนม์ได้ ๑๔ พรรษา พระราชาทรงได้รับการอภิเษกขึ้นครองราชย์.

สา ตสฺส มาตา เตน สมเยน ญาติฆเร วสติ ฯ เตน วุตฺตํ อนุปุพฺเพน มาตุ นิวาสนฏฺฐานํ เวทิสนครนฺนาม สมฺปตฺโตติ ฯ

สมัยนั้น พระนางที่เป็นมารดาของมหินทกุมารนั้น ก็ประทับอยู่ที่ตำหนักของพระประยูรญาติ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า พระเถระได้ไปถึงเมืองชื่อเวทิสนคร อันเป็นสถานที่ประทับของพระมารดาโดยลำดับ.

สมฺปตฺตญฺจ ปน เถรํ ทิสฺวา เถรมาตา เทวี ปาเท สิรสา วนฺทิตฺวา ภิกฺขํ ทตฺวา เถรํ อตฺตนา กตํ เวทิสคิริมหาวิหารํ นาม อาโรเปสิ ฯ

ก็แล พระเทวีผู้เป็นพระมารดาของพระเถระ ทอดพระเนตรเห็นพระเถระผู้มาถึงแล้ว ก็ทรงไหว้เท้าทั้งสองด้วยเศียรเกล้า แล้วถวายภิกษาทรงมอบถวายวัดชื่อ เวทิสคิรีมหาวิหาร ที่ตนสร้างถวายพระเถระ.

แต่จากหลักฐานในปัจจุบันก็เป็นที่ทราบกันว่า วัดที่สร้างบนภูเขาเวทิสคิรีนั้น พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชโองการให้สร้างไว้เอง เมื่อคราวหันมานับถือพุทธศาสนาแล้ว ทรงสร้างอย่างใหญ่โต โดยมีพระสถูปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระธาตุของพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ รวมถึงพระธรรมทูตอีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งทรงตั้งเสาอโศกอันเป็นจารึกห้ามมิให้พระสงฆ์ทำสังฆเภทอีกด้วย
 
 
การสมโภชน์พระมหาสถูปสาญจี จากหนังสือ Hutchinson’s story of the nations
 
กล่าวคือ เมื่อพระเจ้าอโศกทรงนับถือพุทธศาสนาเต็มตัวแล้วทรงออกจาริกแสวงบุญ เสด็จนมัสการบูชาพุทธสังเวชนียสถานและพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในที่ต่าง ๆ แล้วทรงให้ขุดพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ * ออกมาแล้วบูรณะพระสถูปขึ้นใหม่ และทรงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไว้บางส่วนแล้วแจกไปทั่วจักรวรรดิของพระองค์ โดยทรงแบ่งมาที่ เมืองเวทิสะ และสร้างพระมหาสถูปหิน ขึ้นที่บนภูเขาเวทิสคิรีเป็นแห่งแรกในจักรวรรดิ
 
( * ยกเว้นพระสถูปที่รามคาม ทรงขุดพระสถูปไม่สำเร็จ เพราะเหล่านาคแห่งรามคาม หวงห้ามไว้ เรื่องนี้ปรากฏบน รูปสลักหินซุ้มโตรณะ ประตูทางทิศใต้ของสาญจีสถูป หมายเลข 1 กับคัมภีร์อรรถกถาสุมังคลวิลาสีนี อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร )
 
รูปสลักหิน บนโตรณะประตูทางเข้าทางทิศใต้ของมหาสถูปสาญจีหมายเลข ๑ แสดงเป็นเรื่องราวการเสด็จไปเมืองรามคามของพระเจ้าอโศก
 
ในปัจจุบันก็เป็นที่เชื่อถือกันว่า การสร้างพระมหาสถูปและมหาวิหารที่เวทิสคิรี (พุทธสถานแห่งสาญจี) ของพระเจ้าอโศกมหาราช นอกจากเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นการฉลองศรัทธาแก่พระนางเวทิสาเทวี พระชายาชาวพุทธพระองค์แรก ผู้เป็นที่รักของพระองค์ นัยว่าให้เป็นสถานที่ที่บูชาพระรัตนตรัย โดยเฉพาะแก่พระเทวี และอาจรวมไปถึง เป็นอนุสรณ์แด่ พระมหินทเถระ และ พระสังฆมิตตาเถรี พระโอรสธิดา ผู้เป็นแม่ทัพธรรมของพระองค์ด้วย
 
ภาพวาดของศิลปินชาวศรีลังกา Prasanna Weerakkody ภาพพระเจ้าอโศกทรงสร้างมหาสถูปที่เมืองเวทิสะอุทิศแก่พระมหินทะ ผู้เป็นราชโอรส และส่งพระมหินทะไปลังกา ภายหลังทรงส่งพระสังฆมิตตา พระราชธิดาไปสมทบพร้อมส่งหน่อต้นพระศรีมหาโพธิไปที่ลังกาถวายแด่ถวายแก่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ นับว่าพระเถระพระเถรีสองพี่น้องนี้ เป็นผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในเกาะลังกา ซึ่งต่อมาเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พุทธศาสนาแบบเถรวาท

ภาพจิตรกรรมฝาฝนังวัดเกลาณียะราชมหาวิหาร(Kelaniya ) ในกรุงโคลัมโบ แสดงภาพพระมหินทเถระ พร้อมคณะโดยมีสุมนสามเณร พระนัดดา ผู้เป็นโอรสของพระสังฆมิตตา เป็นต้น เมื่อมาถึงเกาะลังกา ได้พำนักอยู่ที่เขามิสสกะบรรพต (เจติยบรรพต) อยู่นอกเมืองเมืองอนุราธปุระ ได้พบพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเมื่อเสด็จออกล่าเนื้อ จากนั้นได้แสดงจูฬหัตถิปโทปมสูตร จนพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะยินดีรับพระไตรสรณคมน์ 
เขามิสสกะบรรพต (เจติยบรรพต) หรือมหินตเล (หรือมิหินตเล) ตั้งชื่อตามพระมหินทเถระ ผู้ได้ชื่อว่านำพระพุทธศาสนาเข้ามาที่ศรีลังกาเป็นครั้งแรก
ภาพจิตรกรรมฝาฝนังวัดเบลลันวิละราชมหาวิหาร(Bellanwila) ในกรุงโคลัมโบ ภาพพระเจ้าอโศกส่งพระสังฆมิตตาพระราชธิดาลงเรือ ไปลังกาสมทบพระมหินทะ และสุมนสามเณร ซึ่งเป็นโอรสของพระสังฆมิตตาเอง เพื่อไปอุปสมบทภิกษุณี พร้อมส่งหน่อต้นพระศรีมหาโพธิไปที่ลังกา(ปัจจุบันยังยืนต้นอยู่นับเป็นต้นที่อายุมากที่สุดในปัจจุบัน) ถวายแก่พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ พระเจ้ากรุงอนุราธปุระ
อีกหลักฐานหนึ่งมาจาก
 
พุทธสถาน สรู มารุ (सरू मारु : sarū māru) หรือ ปางกุราริอา (pāṅkurāriā)
 
เป็นโบราณสถานในพุทธศาสนา มีซากพระสถูปวิหาร และหมู่ถ้ำ อยู่เมืองสีโหร (Sehore District) เขตโพปาล รัฐมัธยประเทศ อินเดีย ห่างจากหมู่พุทธสถานแห่งสาญจี ไปทางใต้ประมาณ 100 กม. พบจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช 2 หลัก
 
พุทธสถาน สรู มารุ (सरू मारु : sarū māru) หรือ ปางกุราริอา (pāṅkurāriā) เป็นโบราณสถานในพุทธศาสนา มีซากพระสถูปวิหาร และหมู่ถ้ำ อยู่เมืองสีโหร (Sehore District) เขตโพปาล รัฐมัธยประเทศ อินเดีย ห่างจากหมู่พุทธสถานแห่งสาญจี ไปทางใต้ประมาณ 100 กม. พบจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช 2 หลัก ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก
 
หลักแรกเป็น ศิลาจารึก ฉบับน้อย (Minor Rock Edict No.1) เป็นข้อความพระราชโองการประกาศความเป็นอุบาสกของพระองค์
 
ศิลาจารึก ฉบับน้อย (Minor Rock Edict No.1)  ในพุทธสถาน สรู มารุ
 
หลักที่สอง คือ จารึกอนุสรณ์แห่ง สรู มารุ (Commemorative inscription : Saru Maru) หรือ จารึกพระราชปรารถแห่งปางกุราริอา (The Preamble at Pāṅkurāriā)
พระราชปรารถแห่งปางกุราริอา (The Preamble at Pāṅkurāriā ) ในปัจจุบัน
 
จารึกนี้กล่าวถึงการเสด็จมาเยือนของพระเจ้าอโศก ณ อารามพุทธแห่งนี้ เมื่อครั้งยังเป็นหนุ่ม ในขณะที่เป็นราชกุมาร ดำรงตำแหน่ง อุปราชกรุงอุชเชนี หลักทรงให้จารึกสั้น ๆ ถึงเหตุการณ์เมื่อวัยหนุ่ม พระองค์เป็นได้เคยมาวัดของชาวพุทธแห่งนี้
 
ศาสตราจารย์แฮร์รี ฟอล์ก (HARRY FALK) ได้อ่านและตีความใหม่ว่า ในพระราชปรารถแห่งปางกุราริอา (The Preamble at Pāṅkurāriā : 1997) ว่า

𑀧𑀺𑀬𑀤𑀲𑀻 𑀦𑀸𑀫

𑀭𑀸𑀚𑀸 𑀓𑀼𑀫𑀸𑀭𑁂 𑀯

𑀲𑀁𑀯𑀲𑀫𑀸𑀦𑁂 𑀇

𑀫𑀁 𑀤𑁂𑀲𑀁 𑀧𑀸𑀧𑀼𑀦𑀺𑀣

𑀯𑀺𑀳𑀸𑀭𑀬𑀸𑀢𑀸𑀬𑀸

ถอดความได้ว่า

ปิยทสี นาม ราชา กุมาเร ว สํวสมาเน อิมํ เทสํ ปาปุนิถ วิหารยาตายา
แปลว่า
 
พระราชาผู้มีนามว่า “ปิยทสี” ครั้งหนึ่งได้มาที่สถานที่แห่งนี้ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจในขณะที่ยังเป็นพระราชกุมาร ซึ่งอยู่ด้วยกับคู่ครองของท่าน
 
ซึ่ง คู่ครอง ( Unwedded Consort) ศ.แฮร์รี ระบุว่าเป็นพระนางเวทิสาเทวี พระชายาชาวพุทธของ อโศกราชกุมาร อุปราชกรุงอุชเชนี นั้นเอง
 
ท่าน Sãi Bản Mường ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เทียบกับปกรณ์บาลี ใน มหาวังสฏีกา ว่า “ตาย ปฏิพทฺธจิตฺโต มาตาปิตูนํ กถาเปตฺวา ตํ เตหิ ทินฺนํ ปฏิลภิตฺวา ตาย สทฺธิํ สํวาสํ กปฺเปสิ” (พระเจ้าอโศกมีจิตปฏิพัทธ์ในตัวนางจึงบอกแก่มารดาบิดา ครั้นได้ตัวนางซึ่งบิดามารดาได้ให้แล้ว ก็อยู่ร่วมกับนาง) ใช้คำว่า “สํวาสํ” เช่นเดียวกับในจารึกว่า “สํวสมาเน” ซึ่งน่าจะเป็นการอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้แต่งงานในช่วงวัยรุ่น ระหว่างเป็นอุปราชที่อุชเชนี
 
หากเป็นเช่นนี้จริงก็เน้นย้ำว่า พระนางเวทิสาเทวีมีส่วนทำให้ พระเจ้าอโศกให้ทรงรับรู้พื้นฐานธรรมเนียมประเพณี หลักธรรมของพุทธศาสนา ตั้งแต่ก่อนการขึ้นครองราชย์แล้ว ไม่มากก็น้อย
 
แต่อย่างไรก็ตามความรักของทั้งสองถึงแม้ไม่ได้อยู่ร่วมกัน ตราบจนบั้นปลายชีวิต แต่ก็มีเงื่อนเค้าว่าพระเจ้าอโศกทรงมีความผูกพันธ์และระลึกนึกถึง พระนางเวทิสาเทวี ซึ่งอาจเป็นคนแรกที่นำสรณะใหม่มาสู่พระองค์อยู่เสมอ ตามหลักฐานที่กล่าวมา
———-
อ้างอิง
———-
คัมภีร์มหาวงศ์
[พระราชประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช]
[ประวัติย่อของพระมหินทเถระ]
สุทรรศนะวินยวิภาษา ( 善見律毘婆沙)
The Preamble at Panguraria

Loading

Be the first to comment on "รักแรกของพระเจ้าอโศกมหาราช"

Leave a comment