น้ำอัฏฐบาน จากพระวินัยปิฎก บาลี สันสกฤต จีน

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

น้ำอัฏฐบาน

 

น้ำอัฏฐบาน ตอนที่ ๑ จากพระวินัยปิฎกนิกายเถรวาท ภาษาบาลี มหาวรรค เภสัชชขันธกะ เรื่องชฏิลเกณิยะ

น้ำอัฏฐบาน หรือ น้ำอัฐบาน เป็นคำวัดเก่า ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยจะใช้กันแล้ว ในปัจจุบัน มักเรียกว่า น้ำปานะ มากกว่า
 
คำว่า อัฐบาน หรือ อัฏฐบาน (อ่านว่า อัด-ถะ-บาน) เป็นการแปลงรูปมาจาก ภาษาบาลี อฏฺฐ+ปาน อัฏฐะ แปลว่า แปด กับคำว่า ปานะ แปลว่า น้ำ เครื่องดื่ม
 
น้ำอัฏฐบาน เป็น ยามกาลิก คือของที่พระภิกษุเก็บไว้ดื่มหลังเที่ยงได้ และเก็บไว้ได้เวลา หนึ่งวันกับหนึ่งคืน ได้แก่ น้ำคั้นผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่ทรงอนุญาตไว้
 
อัฏฐบาน ที่แปลว่า น้ำที่คั้นจากผลไม้ ๘ ชนิด ๘ ชนิดนี้เป็นแต่เพียงผลไม้ที่เป็นพุทธานุญาตในครั้งแรก ที่ทรงออกชื่อผลไม้ไว้เท่านั้น ซึ่งภายหลัง ทรงอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด น้ำใบไม้ น้ำดอกไม้ รวมถึงน้ำอ้อยสด และยกเว้นน้ำบางชนิดไว้ด้วย ในที่นี้ขอไม่กล่าวถึง
น้ำอัฏฐบานยังมีปรากฎในพระวินัยฉบับอื่นๆอีกด้วย เช่น ในพระวินัยปิฎกนิกายมูลสรรวาสติวาท ไภษัชยวัสตุ ภาษาสันสกฤต พระวินัยปิฎกนิกายธรรมคุปต์ ไภษัชยสกันธกะ ภาษาจีน แต่ออกชื่อไว้ไม่ตรงกันบางชนิด แต่มี ๘ ชนิดเท่ากัน
 
ฝ่ายเถรวาท ในพระวินัย เภสัชชขันธกะ หมวดว่าด้วยยารักษาโรค เกณิยชฏิลวัตถุ เรื่อง ชฏิล(นักบวชประเภทหนึ่งไว้ผมยาว) ชื่อ เกณิยะ ชาวอาปณนิคม ดำริคั้นน้ำผลไม้ถวายพระพุทธเจ้าและหมู่ภิกษุสงฆ์ โดยคิดว่าน้ำคั้นผลไม้เหล่านี้ เพราะฤๅษีองค์สำคัญแต่โบราณ เป็นผู้ทรงศีล เป็นบูรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ทั้งหลายก็ดื่มกัน จึงทำการคั้นถวาย ในครั้งนั้นพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ อนุญาตน้ำที่คั้นจากผลไม้ ๘ ชนิด เป็นครั้งแรก ความว่า
 
กตฺวา ภิกฺขู อามนฺเตสิ อนุชานามิ ภิกฺขเว อฏฺฐ ปานานิ อมฺพปานํ ชมฺพุปานํ โจจปานํ โมจปานํ มธุปานํ มุทฺทิกปานํ สาลุกปานํ ผารุสกปานํ ฯ
 
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอัฏฐบาน คือ
 
๑. น้ำมะม่วง ๒. น้ำหว้า ๓. น้ำกล้วยมีเมล็ด ๔. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด ๕. น้ำมะซาง ๖. น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น ๗. น้ำเหง้าบัว ๘. น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่
 
ในคำแปลในพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับต่างนั้น แปลผลไม้ชนิดต่างๆไว้ ล้วนแต่เป็นชื่อผลไม้ในไทยทั้งสิ้น แต่ในพจนานุกรมอื่นๆ แปลไว้แตกต่างบ้าง ดังจะนำมาเสนอบางส่วน ดังนี้
 
_____________________________
 

๑. อมฺพ [ amba : อัมพะ] (บาลี)  อามฺร [ āmra : อามระ ] (สันสกฤต)

 
คือ มะม่วง (วิท. Mangifera indica : Mango) พืชพื้นถิ่นในเอเชีย ผลไม้ประจำชาติของอินเดีย ปากีสถาน และต้นไม้ประจำชาติบังกลาเทศ
 
_____________________________
 

๒. ชมฺพุ [jambu : ชัมพุ] (บาลี และ สันสกฤต)

 
คือ ลูกหว้า (วิท.Syzygium cumini ) ผลไม้สีม่วงเข้มลักษณะคล้ายลูกองุ่น มีรสชาติหวานออกฝาดเล็กน้อย ถือเป็น ต้นไม้ประจำชมพูทวีป (บาลี: ชมฺพุทีป, สันสกฤต: ชมฺพูทฺวีป) ชื่ออื่นๆ เช่น black plum, jamun,jambolan Jambul
 
_____________________________
 

๓. โจจ [coca : โจจะ] (บาลี และ สันสกฤต)

 
กล้วยชนิดหนึ่ง ตามอรรถกถาอธิบายเพิ่มไว้ว่า เป็น กล้วยมีเมล็ด (อฏฺฐิเกหิ กทลิผเลหิ) สันนิษฐานอาจจะเป็นจำพวกกล้วยป่า(วิท.Musa acuminata และ วิท.Musa balbisiana) เช่นในไทยก็อาจเป็นจำพวก กล้วยนวล กล้วยผา กล้วยตานี ในสันสกฤต คำนี้มีความหมายหลายนัยใช้เรียก กล้วยชนิดหนึ่ง หรือ เรียก อบเชย ก็ได้ นักวิชาการบางท่านให้ความหมายว่าเป็น กล้วยกล้าย (plantains) เป็นกล้วยลูกใหญ่จำพวกให้แป้งสูง
 
_____________________________
 

๔. โมจ [moca : โมจะ] (บาลี และ สันสกฤต)

 
กล้วยชนิดหนึ่ง ตามอรรถกถาอธิบายเพิ่มไว้ว่า เป็น กล้วยไม่มีเมล็ด (อนฏฺฐิเกหิ กทลิผเลหิ) น่าจะเป็นพวกกล้วยสำหรับบริโภคโดยทั่วๆไป ที่เป็นพันธุ์กล้วยป่าลูกผสมที่พัฒนาคัดเลือกขึ้นเพื่อการเพาะปลูกบริโภค (จำพวก Musa × paradisiaca, Musa Sapientum)
น้ำกล้วยทั้งสองชนิดนี้อาจทำจากกล้วยสุกหงอมจัดคั้นแล้วกรองเอาแต่น้ำ
 
_____________________________
 

๕. มธุก [madhuka : มธุกะ] (บาลี และ สันสกฤต)

 
คือ มะซางอินเดีย (วิท. Madhuca longifolia) เป็นพืชในพันธุ์เดียวกันกับมะซางในไทย (วิท. Madhuca pierrei)
การอนุญาตการคั้นเอาน้ำมะซาง พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเฉพาะผลมะซาง ส่วนน้ำดอกไม้ทุกชนิดให้เว้นน้ำดอกมะซางไว้เท่านั้น แต่ไม่ได้บอกเหตุผลไว้ แต่อรรถกถาอธิบายเพิ่มเติมว่า ดอกมะซางใช้ทำสุราเมรัยได้
 
มะซางอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า mahua, madkam, mahuwa, Mahula หรือ Butter Tree เป็นพืชเศรษฐกิจ ผลและเมล็ดใช้ทำอาหาร โดยเฉพาะเมล็ด สามารถหีบเอาน้ำมันไปใช้เป็นอาหาร ยา และส่วนประกอบเครื่องสำอาง เรียกว่า mahua oil หลายท้องถิ่นในอินเดีย ยังนำดอกมะซางอินเดีย ทำเป็นเมรัย หรือจะกลั่นเป็นสุรา เหมือนอย่างที่อรรถกถาอธิบายไว้อยู่ เรียกว่า Mahua Wine สามารถค้นหาวิธีการผลิตได้ใน Youtube
 
_____________________________
 

๖.มุทฺทิกา [muddikā: มุททิกา] (บาลี) มุทฺทิยา muddiyā (ปรากฤต)

มฤทฺวีกา [mṛdvīkā : มฤทวีกา] หรือ ทราษ [drāṣa : ทราษะ หมายถึง องุ่นและ ลูกเกดด้วย] (สันสกฤต)

 
ในชั้นหลังต่อมา คัมภีร์อมรโกศ จำแนกชื่อองุ่น ในภาษาสันสกฤต ไว้ ๕ ชื่อด้วยกันคือ มฤทฺวีกา โคสฺตนี ทฺรากฺษา สฺวาทฺวี มธุรส
ไทยแปลว่า ผลองุ่น ผลจันทน์ ควบคู่กัน แต่ในเอกสารอินเดียโบราณ มักหมายถึง องุ่น เสียมากกว่า
 
ในอนุทวีปอินเดียปรากฎมีพืชจำพวกองุ่นป่าอยู่แล้ว มีทั้งชนิดกินได้และกินไม่ได้ ยกตัวอย่าง เช่น
 
องุ่นป่าอินเดีย (วิท.Vitis indica,Ampelocissus latifolia, Ampelocissus indica) เปลือกหนา เมล็ดใหญ่ สุกแล้วเปลือกสีม่วงเข้ม รสชาติหวานอมเปรี้ยว ลูกดิบประกอบอาหารได้ พบในภาคพื้นอนุทวีปถึงเกาะลังกา
 
องุ่นป่าภูเขา ในอยู่แถบเชิงเขาหิมาลัย เช่น องุ่นหิมาลัย (วิท.Vitis parviflora) และ (วิท.Vitis himalayana, Ampelopsis himalayana หรือ องุ่นป่า Bhambti ) หรือ องุ่นป่า bhambay (วิท.Vitis lanata) เป็นต้น
 
องุ่นป่าภูเขาจำพวกนี้ อาจเป็นชนิดเดียวกันกับที่ มีการกล่าวถึงใน เวสสันดรชาดก ขุททกนิกาย
ปาเรวตา ภเวยฺยา จ มุทฺทิกา จ มธุตฺถิกา
มธุ ํ อเนลกํ ตตฺถ สกมาทาย ภุญฺชเร ฯ
 
หมู่ไม้ที่มองเห็น ณ เชิงเขาปาเรวตะ ผลองุ่นผลจันทน์ มีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง รวงผึ้งที่ปราศจากตัวผึ้ง คนเอื้อมมือนำมาบริโภคได้เองในอาศรมนั้น
 
แต่ องุ่นสวน ชนิดที่ถูกคัดเลือกสายพันธุ์สำหรับปลูกเพื่อการบริโภคนั้น (วิท. Vitis vinifera : common grape vine) เป็นพืชนอกอินเดีย ที่มีการนำเข้ามาปลูก ชาวอินเดียโบราณอาจรู้จักองุ่นชนิดนี้จากชาวอิราเนียนโบราณทั้งในเปอร์เซีย และเอเชียกลางผ่านการค้าขาย และเป็นไปได้ว่ามีการนำเข้ามาปลูกในตอนเหนือของอินเดียโบราณ ในช่วงที่จักรวรรดิเปอร์เซียร์เข้ามาปกครองลุ่มแม่น้ำสินธุ ในช่วงก่อนพุทธกาลเล็กน้อย
 
จากนั้นหลังพุทธกาล องุ่นชนิดหลังนี้ก็เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป มีการอ้างถึงในเอกสารโบราณช่วงนั้นก็ทำให้รู้ว่า องุ่นสวน เป็นที่รู้จักกันดีแล้ว โดยถูกทำให้แพร่หลายโดยพวกกรีกในอินเดียเหนือในสมัยต่อมา โดยมีปรากฎรูปสลักเป็นทหารชาวโยนกถือช่อองุ่น ที่ภารหุต และรูปเครือเถาองุ่นที่สาญจี ตอนกลางของอินเดีย
 
_____________________________
 

๗. สาลุก[ sāluka: สาลุกะ] (บาลี) ศาลุก [ śāluka: ศาลุกะ ] (สันสกฤต)

 
คือ เหง้าบัว หรือ รากบัวนั้นเอง ข้อนี้แตกต่างจากพวกตรงที่ไม่ใช่ผลไม้
 
_____________________________
 

๘. ผารุสก [ phārusaka : ผารุสะกะ] (บาลี) ปารุษก [Pāruṣaka : ปารุษะกะ](สันสกฤต)

 
ไทยมักแปลว่ามะปรางหรือลิ้นจี่ แต่ในพจนานุกรมอื่น ๆ หมายถึง ต้นฝาลซา, ฟาลซา (phalsa, falsa ) ในปากีสถานและอินเดีย หรือ ในไทยเป็นไม้ที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เรียกว่า ต้นมาลัย (วิท.Grewia asiatica) เป็นไม้พื้นเมืองในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นพืชรุกรานในออสเตรเลียและฟิลิปปินส์
 
ผลสดแบบเมล็ดเดียว รูปกลม สีแดงหรือสีม่วง เนื้อผลนุ่ม ผลสุก รับประทานเป็นของหวาน ในปากีสถานและอินเดียคั้นทำเป็นเครื่องดื่มเป็นที่นิยมมาก เรียกว่า Falsa Sharbat
 
 
 
 

น้ำอัฏฐบาน ตอนที่ ๒ จากในพระวินัยปิฎกนิกายมูลสรรวาสติวาท ไภษัชยวัสตุ เรื่องฤษีไกเนยะ ภาษาสันสกฤต


น้ำอัฏฐบาน เป็นเครื่องดื่มประเภท ยามกาลิก ในภาษาสันสกฤต เรียกว่า ยามิกะ คือของที่พระภิกษุเก็บไว้ดื่มหลังเที่ยงได้ และเก็บไว้ได้เวลา หนึ่งวันกับหนึ่งคืนเท่านั้น ได้แก่ น้ำคั้นผลไม้ชนิดต่าง ๆ
ในพระวินัยปิฎกนิกายมูลสรรวาสติวาท ไภษัชยวัสตุ พระวินัยหมวดว่าด้วยยารักษาโรค เทียบได้กับ พระวินัยเภสัชชขันธกะ กล่าวเรื่องที่มาของ น้ำอัฏฐบาน แตกต่างจากฝ่ายเถรวาทอยู่บ้าง

โดยมีเนื้อหาจาก ไภษัชยวัสตุ เรื่อง ฤษีไกเนยะ ซึ่งฤษีตนนี้น่าจะเป็นบุคคลเดียวกันกับ ชฏิล ที่นามว่า เกณิยะ ของฝ่ายเถรวาท
แต่กล่าวแตกต่างกับเถรวาทอยู่ว่า เกณิยชฏิล เป็น ชาวอาปณนิคม

มูลสรรวาสติวาท กล่าวว่า ฤษีไกเนยะ อยู่ที่เมืองอุทุมะ มีวิหารที่พักอยู่ริมฝั่งสระปุษกริณีมันทากินี โดยเรื่องมีอยู่ว่า
พระพุทธเจ้าทรงเสด็จเมืองอุทุมะ เพื่อไปโปรด ฤษีไกเนยะ ที่ วิหารริมฝั่งสระปุษกริณีมันทากินี ทรงเทศนาสั่งสอน จน ฤษีไกเนยะ ได้บรรลุอนาคามิผล ฤษีไกเนยะเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างมาก จึงคิดคั้นน้ำผลไม้ ๘ ชนิดเพื่อถวาย โดยอ้างว่า น้ำผลไม้ ๘ ชนิดเหล่านี้หมู่ฤษีในปางก่อนทั้งหลายได้กล่าวสรรเสริญเอาไว้ จึงขอพระผู้มีพระภาคเจ้าอนุเคราะห์และอนุญาตรับน้ำผลไม้เหล่านี้
 
จากนั้นทรงอนุญาตแล้ว ความในพระวินัยจึงบัญญัติว่า

यामिकमष्टौ पानानि |
चोचपानं मोचपानं कोलपानमश्वत्थपानमुदुम्बरपानं पारुषिकपानं मृद्वीकापानं खर्जूरपानं च |

ยามิกมษฺเฏา ปานานิ ฯ
โจจปานํ โมจปานํ โกลปานมศฺวตฺถปานมุทุมฺพรปานํ ปารุษิกปานํ มฤทฺวีกาปานํ ขรฺชูรปานํ จ ฯ

ยามิกะ ได้แก่ น้ำทั้ง ๘ ชนิดนี้ มีน้ำกล้วยโจจะ น้ำกล้วยโมจะ น้ำพุทรา น้ำผลอัศวัตถะ (ต้นโพธิ์) น้ำมะเดื่ออุทุมพร น้ำผลปารุษิกะ (ต้นมาลัย) น้ำองุ่น น้ำอินทผาลัม

_____________________________

ในจำนวนผลไม้ ๘ ชนิดนี้ระบุเหมือนเถรวาท อยู่ ๔ ชนิด คือ
๑. บาลี,สันสกฤต : โจจ [โจจะ] คือ กล้วยมีเมล็ด ๒. บาลี,สันสกฤต : โมจ [ โมจะ] คือ กล้วยธรรมดา ๓. บาลี : ผารุสก [ผารุสะกะ] . สันสกฤต : ปารุษก [ปารุษะกะ] หรือ สันสกฤตผสม : ปารุษิก [ปารุษิกะ] คือ ต้นมาลัย (วิท.Grewia asiatica) ๔. บาลี : มุทฺทิกา [มุททิกา] , สันสกฤต : มฤทฺวีกา [มฤทวีกา] คือ องุ่น

อีก ๔ ชนิดที่แตกต่างกันอีก ๔ ชนิดคือ ๑.น้ำพุทรา ๒.น้ำผลอัศวัตถะ (ต้นโพธิ์) ๓. น้ำมะเดื่ออุทุมพร ๔.น้ำอินทผาลัม

_____________________________


๑. โกล [kola : โกละ] (บาลี และ สันสกฤต)


พุทรา (Ziziphus jujuba, Ziziphus mauritiana) เป็นพืชพื้นถิ่นในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลไม้ที่นิยมกินกันโดยทั่วไปอีกชนิดหนึ่ง

_____________________________


๒. อศฺวตฺถ [aśvattha : อัศวัตถะ] (สันสกฤต) อสฺสตฺถ [assattha : อัสสัตตะ] (บาลี)


คือต้นอัศวัตถะ หรือ ต้นอัสสัตตะ ต้นโพธิ์ (Ficus religiosa) เป็นต้นไม้ตระกูลมะเดื่อ เป็นพืชพื้นถิ่นในอินเดียใต้แพร่ไปในที่ต่าง ๆ ด้วยเหตุผลทางศาสนา ที่ไทยเรียก โพ หรือ โพธิ์ เพราะเหตุว่าเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงนั่งใต้ร่มไม้นี้ในคืนที่บรรลุอภิสัมโพธิ หรือ ตรัสรู้ ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม

_____________________________


๓. อุทุมฺพร [udumbara : อุทุมพะระ] (บาลี และ สันสกฤต)


มะเดื่ออุทุมพร (Ficus racemosa) พืชพื้นถิ่นเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยถือเป็นไม้มงคล และใช้ประกอบราชพิธีสำคัญหลายอย่าง ผลจะออกเกาะกลุ่มตามต้นและกิ่งห้อยระย้า ผลสุกมีสีแดงม่วง รับประทานได้ รสฝาดอมหวาน

_____________________________


๔.ขรฺชูร [kharjūra : ขรรชูระ] (สันสกฤต) ขชฺชูร [khajjūra : ขัชชูระ] (บาลี, ปรากฤต)


อินทผาลัม (Phoenix dactylifera) ในส่วนบาลี ขชฺชูร นี้ในไทย บ้างก็แปลว่า เป้ง (Phoenix acaulis) ซึ่งเป็นปาล์มป่า ต้นคล้าย อินทผาลัม แต่เล็กกว่ามาก ผลกินได้แต่ฝาด

อินทผาลัม มีต้นกำเนิดในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกาตอนเหนือ คาบสมุทธเปอร์เซียร์และลุ่มน้ำสินธุในอินเดีย
อินทผาลัมเป็นอาหารหลักของตะวันออกกลางและลุ่มแม่น้ำสินธุ มาเป็นเวลาหลายพันปี และมีหลักฐานทางโบราณคดีของการเพาะปลูกอินทผาลัมในลุ่มแม่น้ำสินธุ ที่เมห์รการห์ (Mehrgarh) อารยธรรมยุคหินใหม่(Neolithic civilization) ในปากีสถานตะวันตก ประมาณ ๗,๐๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช รวมทั้งช่วง โมเฮนโจ-ดาโร และ ฮารัปปา จาก ๒,๖๐๐ ถึง ๑,๙๐๐ ก่อนคริสตศักราช และในอารเบียตะวันออกระหว่างปี ๕,๕๓๐ ปีก่อนคริสตศักราช

อินทผาลัมได้รับการพัฒนาสายพันธ์เพาะปลูกมาในสมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่เมโสโปเตเมียจนถึงอียิปต์ และถูกทำให้แพร่หลายไปทางตะวันตกอาจจะเป็น ชาวไมโนอันหรือชาวฟินีเซียน และอินทผาลัมยังกระจายแพร่หลายยิ่งขึ้น เมื่อศาสนาอิสลามเกิดขึ้นในคาบสมุทรอารเบีย เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ศาสนาให้คุณค่า และเป็นอาหารที่แนะนำใช้ในการละศีลอด
 

น้ำอัฏฐบาน ตอนที่ ๓ จากพระวินัยปิฎกนิกายธรรมคุปต์ (จาตุรวรรคียวินัย) ไภษัชยสกันธกะ ภาษาจีนโบราณ


จาตุรวรรคียวินัย แปลเป็นจีน โดยพระพุทธยศ (佛陀耶舍) ชาวอินเดียเหนือ แคว้นกัศมีระ-คันธาระ และพระผู้ช่วยนามว่า พระจุ๊ฝอเนี่ยน(竺佛念) โดยแปลจาก การสาธยายจากการทรงจำ โดย ภาษาต้นฉบับอาจจะเป็น ภาษาปรากฤตคานธารี หรือภาษาสันสกฤต แปลราวปี ค.ศ. ๔๐๘-๔๑๓ หรือราว ๑๖๐๐ ปีที่ผ่านมา จาตุรวรรคียวินัยนี้ต่อมาฝ่ายมหายานแบบวัฒนธรรมจีน ได้เอาเป็นพระวินัยหลักของตน


น้ำอัฏฐบาน ของฝ่ายนิกายธรรมคุปต์ อยู่ในพระวินัยปิฎกนิกายธรรมคุปต์(จาตุรวรรคียวินัย) ไภษัชยสกันธกะ พระวินัยหมวดว่าด้วยยารักษาโรค เทียบได้กับ พระวินัยเภสัชชขันธกะ ของเถรวาท

เนื้อเรื่องส่วนการอนุญาตน้ำอัฏฐบาน ของฝ่ายธรรมคุปต์ คล้ายคลึงกับเรื่องในเถรวาท มากกว่า เรื่องในฝ่ายมูลสรรวาสติวาท แต่ไปคล้ายเรื่องราวในพระสูตรในมัชฌิมนิกาย มากกว่าในพระวินัยเภสัชชขันธกะ คือมีความคล้าย ใน เสลสูตร มัชฌิมนิกาย เรื่องพระพุทธเจ้าทรงโปรดเสลพราหมณ์ และเกณิยชฎิลนิมนต์พระพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหาร

แต่ก็มีแตกต่างจาก ฝ่ายเถรวาท และ ฝ่ายมูลสรรวาสติวาท ว่าผู้ถวายน้ำอัฏฐบาน ไม่ใช่ เกณิยะ หรือ ไกเนยะ แต่เป็น พราหมณ์ชื่อ เสละ

________________

ในพระวินัยปิฎกนิกายธรรมคุปต์ ไภษัชยสกันธกะ กล่าวถึงในเรื่อง พราหมณ์ผู้มีผมมุ่นเป็นชฎา (編髮婆羅門 : เถรวาทเรียก ชฎิล) นามว่า เกนุ ?? (翅㝹) ชาวเมืองอาปณะ (阿摩那) กำลังจัดเตรียมของภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ ๑๒๕๐ รูป
ขณะนั้น พราหมณ์ชื่อ เสละ ?? (施盧) มีบริวาร ๕๐๐ คน (บาลีว่า ๓๐๐ คน) เสลพราหมณ์เป็นพราหมณ์ผู้ใหญ่ ที่ เกนุพราหมณ์ นับถือ
เสลพราหมณ์ ได้ผ่านมา ในบริเวณอาศรมของเกนุพราหมณ์ ได้เห็นว่าเกนุพราหมณ์กำลังจัดเตรียมอาหาร กับหมู่คณะหลายคนอยู่จึงได้ไถ่ถามว่าจัดงานอะไรกัน

เกนุพราหมณ์ ก็ตอบว่า จัดเตรียมของภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้า ส่วนเสลพราหมณ์ ก็ใคร่อยากจะพบพระพุทธเจ้า เพราะได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธเจ้ามานานแล้ว จึงถามเกนุพราหมณ์ ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน

เกนุพราหมณ์จึงแจ้งว่า พระพุทธเจ้าทรงประทับที่ป่า

เสลพราหมณ์ เมื่อทราบแล้วจึงได้คั้นน้ำผลไม้ ๘ ชนิดเข้าไปถวาย ความว่า

施盧作如是念:「我不應空往,當持何物往見沙門瞿曇也?」即自[念言:「今有八種漿,是古昔無欲仙人所飲:梨漿、閻浮漿、酸棗漿、甘蔗漿、蕤菓漿、舍樓伽漿、婆樓師漿、蒲桃漿。」爾時施盧婆羅門持此八種漿往詣佛所

ครั้นแล้ว เสลพราหมณ์มีความดำริว่า : เราไม่ควรเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยมือเปล่า เราควรนำสิ่งของไปเข้าเฝ้าพระสมณเคาตมะด้วย
ทันใดนั้นก็ดำริในใจว่า : ยังมีน้ำผลไม้ ๘ อย่าง อันเหล่าฤษีผู้สิ้นราคะใช้ดื่มมาแต่โบราณ ได้แก่ :
๑. ลูกแพร์หรือสาลี(梨) ๒. ชัมพู หรือ ลูกหว้า (閻浮) ๓. พุทรา (酸棗) ๔. น้ำอ้อย (甘蔗) ๕.ผลไม้เล็ก ๆ ( 蕤菓) ๖.ศาลุกะ หรือ รากบัว (舍樓伽) ๗. ปารุษิกะ ?? (婆樓師) ๘.องุ่น ( 蒲桃)

เมื่อนั้น เสลพราหมณ์ ได้ถือเอาน้ำผลไม้ทั้ง ๘ อย่างนี้ ไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ฯลฯ

________________

ในจำนวนผลไม้ ๘ ชนิดนี้ระบุเหมือนเถรวาท อยู่ประมาณ ๔ ชนิด คือ ลูกหว้า รากบัว ปารุษิกะ ?? องุ่น และจะเห็นว่าศัพท์ผลไม้บางศัพท์ ใช้การทับศัพท์จากอินเดียอยู่


๑. 梨 จีนกลาง : LÍ , จีนโบราณยุคกลาง : liɪ

ลูกแพร์หรือสาลี แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า ผลไม้ชนิดนี้ ในต้นฉบับที่มาจากอินเดีย เรียก ในภาษาสันสกฤต หรือปรากฤตอื่นๆ ว่าอย่างไร


๒. 閻浮 จีนกลาง : Yán fú , จีนโบราณยุคกลาง : jiᴇm bɨu

ใช้ทับศัพท์ ถ่ายเสียงคำว่า จัมบู (บาลีสันสกฤต : ชมฺพู : jambū) คือ ลูกหว้า ข้อนี้มีตรงกับนิกายเถรวาท ในจีน อาจเรียกว่า 乌墨, 海南蒲桃(องุ่นไหหลำ) พบได้ในจีนตอนใต้ เช่น ยูนนาน กวางตุ้ง ไหหลำ กว่างซีจ้วง


๓. 酸棗 จีนกลาง : suānzǎo, จีนโบราณยุคกลาง : suɑn t͡sɑuX

คือ พุทรา ข้อนี้มีตรงกันกับนิกายมูลสรรวาสติวาท ในจีนมีพุทราพื้นถิ่นอยู่แล้วหลายพันธุ์ เช่น พุทราจีน


๔. 甘蔗 จีนกลาง : Gānzhè ,จีนโบราณยุคกลาง : kɑm t͡ɕiaH


คือ น้ำอ้อย ข้อนี้มีในนิกายเถรวาทเช่นกัน แต่เป็นพระบัญญัติเพิ่มเติมต่อมา


๕. 蕤菓 จีนกลาง : Ruí guǒ, จีนโบราณยุคกลาง : ȵiuɪ kuɑX


蕤果 ในส่วนตัวต้นฉบับตัวจีนใช้อักขระจีนโบราณอีกตัว แต่ระบบอักขระคอมพิวเตอร์มาตรฐานปกติไม่สามารถแสดงผลได้ จึงใช้ตัว 蕤 แทนในฉบับต้าถังแทน

อรรถกถาจารย์ในจีน เรียกว่า 微菓 คือ ผลไม้เล็ก ๆ น่าจะเป็นพืชตระกูลเบอร์รี่ เพราะอธิบาย ว่าเป็น ไม้ขนาดเล็กมีลูกสีม่วงแดงกินได้ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า ผลไม้ชนิดนี้ ในต้นฉบับที่มาจากอินเดีย เรียก ในภาษาสันสกฤต หรือปรากฤตอื่นๆ ว่าอย่างไร


๖. 舍樓伽 จีนกลาง : Shě lóu jiā จีนโบราณยุคกลาง : ɕiaH ləu ɡɨɑ


ใช้ทับศัพท์ ถ่ายเสียงคำว่า ศาลุกะ (สันสกฤต : ศาลุก : śāluka ) ที่แปลว่า รากบัว อรรถกถาจารย์ในจีน ก็หมายเอารากบัวเช่นกัน ข้อนี้มีตรงกันกับนิกายเถรวาท รากบัว นี้ชาวจีนรับเป็นอาหารและยาสมุนไพรตั้งแต่โบราณอยู่แล้ว
 
 


๗. 婆樓師 จีนกลาง : Pó lóu shī, จีนโบราณยุคกลาง : buɑ ləu ʃˠiɪ


ใช้ทับศัพท์ ถ่ายเสียงคำว่า ปารุษิกะ (สันสกฤตผสม : ปารุษิก , สันสกฤต : ปารุษก ,บาลี : ผารุสก คือ ต้นมาลัย (วิท. Grewia asiatica) ข้อนี้มีตรงกันกับนิกายเถรวาท และ นิกายมูลสรรวาสติวาท

ใน สุทรรศนวินยภาษา (善見律毘婆沙 : สมันตปาสาทิกา ฉบับธรรมคุปต์) กลับกล่าวไปอีกทางคือ บอกว่า ผลไม้ชนิดนี้คล้ายมะม่วง (此似菴羅果) ซึ่งอาจจะคล้ายที่ไทยแปลบาลีคำว่า ผารุสก ว่า มะปราง เพราะมะปรางมีส่วนคล้ายมะม่วงอยู่ แต่เพียงผลเล็กกว่า (เป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับมะม่วงด้วย แต่มะปราง เป็นพืชพื้นถิ่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ในสมัยหลังต่อมา พระอี้จิง พระภิกษุจีนผู้ไปอินเดีย ได้อธิบายว่าเป็น ต้นไม้ที่มีผลเหมือนองุ่นป่าในจีน (蘡薁子) ตรงนี้ก็จะคล้ายผลของต้นมาลัย ซึ่งได้กล่าวไปในบทความก่อนๆแล้ว

๘. 蒲桃 จีนกลาง : Pú táo , จีนโบราณยุคกลาง : buo dɑu


หรือ 葡萄 ในจีนโบราณ คือ องุ่น ข้อนี้มีตรงกันกับนิกายเถรวาท และ นิกายมูลสรรวาสติวาท ในจีน และโดนเฉพาะภูมิภาคซินเจียงมีองุ่นพื้นถิ่นอยู่แล้วหลายพันธุ์
 

*หมายเหตุ

อาปณะ 阿摩那 (Ā mónà) ถอดเสียงตามการทับศัพท์พยัญชนะอินเดีย ได้ อาบะนะ หรือ อามะนะ คำอธิบายในบทความวิชาการในภาษาจีน กล่าวว่าเป็น เมืองเดียวกับ อาปณนิคม

เกนุ, เกณุ 翅㝹 (Chì nóu) ถอดเสียงตามการทับศัพท์พยัญชนะอินเดีย 翅 เก 㝹 นุ, นู, นะ(รวมถึงเสียงพยัญชนะ ณ ) บางฉบับชำระถอดเป็น 翅兔 (Chì tù) อาจเป็น เกตุ และ 翅少 (Chì shǎo) อาจเป็น เกษะ คำอธิบายในบทความวิชาการในภาษาจีน กล่าวว่าเป็น บุคคลเดียวกันกับ ฝ่ายเถรวาท คือ เกณิยะ ฝ่ายมูลสรรวาสติวาท เรียก ไกเนยะ
การทับศัพท์แบบอื่น เช่น พระวินัยสรรวาสติวาท ว่า 雞尼耶 (Jī ní yé) พระวินัยมหิสาสก ว่า 罽那 (Jì nà) พระสูตรหมวดเอโกตตราคม ว่า 翅甯 (Chì níng)

施盧 (Shī lú) หรือ 施羅 (shī luó) คำอธิบายในบทความวิชาการในภาษาจีน บุคคลเดียวกันกับ ฝ่ายเถรวาท คือ เสลพราหมณ์ หรือ ไศละ (Śaila : शैल) ของฝ่ายสันสกฤต

Loading

Be the first to comment on "น้ำอัฏฐบาน จากพระวินัยปิฎก บาลี สันสกฤต จีน"

Leave a comment