พระธาตุข้าใครอย่าแตะ เรื่องเล่าของเหล่านาคแห่งรามคามสถูป ในพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

พระธาตุข้าใครอย่าแตะ


เมื่อพระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งชมพูทวีปถูกนักเลงบ้านนอกลักพาตัว เรื่องเล่าในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายสันสกฤต ของเหล่านาคแห่งรามคาม แม้พระเจ้าอโศกมหาราช ยังต้องยอม

รูปสลักหิน บนโตรณะประตูทางเข้าทางทิศใต้ของมหาสถูปสาญจีหมายเลข ๑ แสดงเป็นเรื่องราวการเสด็จไปเมืองรามคามของพระเจ้าอโศก

นาคแห่งรามคาม (สันสกฤต : รามคฺราม) นี้เป็นกลุ่มนาคท้องถิ่นที่ได้รับการกล่าวถึงในชั้นพระสูตรเลยทีเดียว พบทั้งในพระสูตรฝ่ายบาลีและสันสกฤต คือปรากฎใน มหาปรินิพพานสูตร ยังกล่าวถึงในอรรถกถาบาลี และ อวทานและวรรณคดีฝ่ายสันสกฤต ซึ่งรวมไปถึงฉบับแปลจีนด้วย เรื่องนาคแห่งรามคาม เล่าขานต่อมา ยังปรากฎในบันทึกของ พระฟาเหียน พระสมณเสวี้ยนจัง เมื่อคราวเดินทางไปอินเดียด้วย แต่ในรายละเอียดนาคแห่งรามคาม ในฝ่ายบาลีและสันสกฤตมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันอยู่หลายแห่ง

พระสถูปรามคามในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลรามคราม (rāmgrām) อำเภอนะวัลปราสี (navalparāsī) จังหวัดลุมพินี(lumbinī) ห่างจากตัวเทศบาลไปทางใต้ 4 ก.ม.

ขอนำเสนอจากคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายเหนือ สัก ๓ คัมภีร์

๑.คัมภีร์ทิวยาวทาน อโศกาวทาน

๒.มหากาพย์พุทธจริต ของอัศวโฆษ

๓.จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง ของพระเสวียนจั้ง

ผู้เขียนของเกริ่นเล่ารายละเอียดนาคแห่งรามคาม

นาคแห่งรามคาม (สันสกฤต : รามคฺราม) นี้เป็นกลุ่มนาคท้องถิ่นที่ได้รับการกล่าวถึงในชั้นพระสูตร เป็นกลุ่มนาคเฝ้าพระสถูปที่เมืองรามคาม ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เป็นส่วนแบ่งของเหล่ากษัตริย์แห่งแคว้นโกลิยะซึ่งเป็น ๑ ใน ๘ พระสถูป หลังจากถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้าที่เมืองกุสินารา

พระสถูปรามคามในอดีต จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเนปาล ไม่ระบุปีที่ถ่าย

เมื่อครั้นต่อมาสมัยพระเจ้าอโศกมีพระประสงค์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระสถูปทั้ง ๘ แห่งเพื่อสร้างพระสถูปใหม่ทั่วทั้งจักรวรรดิ พระองค์ไม่สามารถเปิดพระสถูปที่เมืองรามคามนี้ได้ เนื่องจากพวกนาคหวงห้ามไว้ และเรื่องราวของนาครามคามนี้ อาจเป็นเค้ามูลความเชื่อเรื่องนาครักษาพระสถูป

นาคแห่งรามคาม ปรากฏความทั้งในพระสูตรฝ่ายบาลีและสันสกฤต คือปรากฎใน มหาปรินิพพานสูตร ทั้งฝ่ายบาลีเถรวาท และ มหาปรินิรวาณสูตรฝ่ายสันสกฤตของนิกายสรรวาสติวาท (มหาปรินิรวาณสูตรอย่างสาวกยาน มิใช่มหาปรินิรวาณสูตรของมหายาน ) มหาปรินิพพานสูตร ฉบับบาลีสยามรัฐ กล่าวว่า

———————————-
เอกญฺจ โทณํ ปุริสวรุตฺตมสฺส
รามคาเม นาคราชา มเหนฺติ ฯ*

———————————-


มหาปรินิรวาณสูตร ภาษาสันสกฤต ฉบับถอดความ ของ Ernst Waldschmidt ใน Das Mahāparinirvāṇasūtra ที่พบในตูร์ฟาน(เขตซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน) ถอดเป็นอักษรโรมัน ไว้กล่าวว่า


———————————-
droṇam ekaṃ ca puruṣottamasya
rāmagrāme pūjyate nāgarājñā ।

———————————-
โทฺรณมฺ เอกํ จ ปุรุโษตฺตมสฺย
รามคฺราเม ปูชฺยเต นาคราชฺญา ฯ

———————————-


มีความหมาย นัยยะเดียวกัน คือ
[ส่วนพระสรีระอีก]ทะนานหนึ่งของผู้เป็นบุรุษที่ประเสริฐอันสูงสุด พวกนาคราชบูชากันอยู่ในรามคาม
———————————-


เรื่องราว นาคแห่งรามคาม ถูกขยายความและ ยังกล่าวถึงในอรรถกถาบาลี พงศาวดารในลังกา เช่นใน สุมังคลวิลาสินี, มหาวงศ์, ทีปวงศ์, ถูปวงศ์ เป็นต้น และในอวทานและวรรณคดีฝ่ายสันสกฤต ซึ่งรวมไปถึงฉบับแปลจีนและทิเบตด้วย เช่นใน คัมภีร์ทิวยาวทาน อโศกาวทาน หรือในชื่ออื่นๆ เช่น อโศกราชาวทาน หรือ อโศกราชสูตร (阿育王經 : พระสังฆปาละ จากอาณาจักรฟูนันแปลเป็นจีน) มหากาพย์พุทธจริต ของอัศวโฆษ

ยังปรากฎข้อความในงานเขียนในจีน เช่นใน ลำดับศากยวงศ์ (釋迦譜 : Shìjiā pǔ) ในสมัยราชวงศ์เหลียง เป็นต้น และในวรรณคดีพุทธประวัติในไทย เช่น คัมภีร์ปฐมสมโพธิ ซึ่งฉบับเก่าแก่สุดคาดว่าแต่งในล้านนา และแต่งเพิ่มเติมในสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์

เรื่องพระราชประวัติและกรณียกิจของพระเจ้าอโศกในคัมภีร์ชั้นหลังของฝ่ายบาลีและสันสกฤต หลายคัมภีร์มีข้อแตกต่างกันอยู่มาก
แต่ในเรื่องของนาครามคามที่หวงห้ามพระสถูป และการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๘ แห่งเพื่อสร้างพระสถูปใหม่ทั่วทั้งจักรวรรดิดูจะคล้ายกันมากที่สุด ถึงแม้เหตุการณ์หลังจากนี้ในคัมภีร์ทั้งสองฝ่าย ก็กล่าวต่างกันไปอีก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าอโศกทรงเสด็จมา ณ ที่แห่งนี้และไม่ได้ทำการเปิดพระสถูปแห่งนี้ออกมา

พระสถูปรามคาม ถ่ายระยะไกล แม้ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ทำการขุดค้นและตกแต่งทางโบราณคดี มีดินและหญ้าปกคลุม ความสูงพระสถูปวัดจากพื้นดินราว 7 เมตร ( ไม่ใช่ความสูงจากฐานพระสถูปจริง เพราะยังไม่ได้ทำการขุดค้น) ฐานพระสถูปมีพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร (50×50 เมตร)

โดยในคัมภีร์สายบาลีเถรวาทมักจะกล่าวว่าตาม คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ว่า เมื่อพระเจ้าอโศกมีบัญชาให้ขุดเพื่อเปิดพระสถูปที่รามคาม จอบที่ใช้ขุดเมื่อตกต้ององค์พระสถูป ก็หักเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย เพราะเหตุว่า เหล่านาคในรามคาม ก็ไม่ยอมให้รื้อพระสถูป (แม้ภายหลังจะมีกล่าวใน มหาวงศ์ พงศาวดารของลังกา เล่าอย่างปรัมปราว่า พระบรมสารีริกธาตุในรามคามถูกอัญเชิญไปไว้ที่ลังกา)

ส่วนคัมภีร์สายสันสกฤตมักกล่าวว่าตาม คัมภีร์ของนิกายสรรวาสติวาท ซึ่งอาจจะเป็น คัมภีร์อโศกาวทาน ว่า
เมื่อพระเจ้าอโศกได้ไปถึงพระสถูปที่รามคราม พญานาคราช ผู้เป็นราชาพวกนาครามคราม ได้พาพระเจ้าอโศกไปยังนาคพิภพ เพื่อทูลขอไม่ให้พระองค์รื้อพระสถูป เพราะพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในพระสถูปเป็นที่เคารพรักอันยิ่งของพวกนาค

ปัจจุบันพระสถูปรามคาม มีต้นใม้ใหญ่ขึ้นอยู่หนึ่งต้น รัฐบาลเนปาลจัดตั้งหน่วยงาน Lumbini Development Trust ขึ้นมาดูแลและพัฒนาโบราณสถานใน เขตจังหวัดจังหวัดลุมพินี รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบพระสถูปรามคาม ห่างจากพระสถูป ราว 600 เมตร มีวัดไทยรามคามตั้งอยู่

[การแปลหากขาดตกบกพร่องอย่างไร ผู้รู้โปรดชี้แนะ]

๑.นาคแห่งรามคราม ใน คัมภีร์ทิวยาวทาน อโศกาวทาน

รูปสลักหิน บนโตรณะของมหาสถูปสาญจี รูปสลักตรงกลางเป็นพระสถูปแห่งรามคาม

เกริ่นอย่างย่อ ๆ หลังจากถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธเจ้าที่เมืองกุสินาราแล้ว กษัตริย์แคว้นต่างๆทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ได้มาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำไปยังแคว้นของตน ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุถูกแบ่งออกเป็น ๘ ส่วน ส่วนละ ๑ โทรณะ(ทะนาน) เท่ากัน แบ่งไปบรรจุในสถูปเมืองเมืองเหล่านั้น ๘ เมือง

ส่วนแบ่งหนึ่งในนั้นคือ ส่วนแบ่งของเหล่ากษัตริย์แห่งแคว้นโกลิยะ พวกนี้เป็นเครือญาติฝ่ายพระมารดาของพระพุทธเจ้า ได้รับมา ๑ โทรณะ แล้วสร้างพระสถูปบรรจุไว้ที่เมืองรามคาม (รามคาม จริงๆ แล้วเป็นคนละเมืองกับเมืองเทวทหะ) โดยพระสถูปนั้นเป็นที่บูชาและรักษาของพวกนาคในเมืองรามคามนั้นด้วย

ในกาลต่อมาหลายร้อยปี จะกล่าวถึงพระเจ้าอโศกผู้ช่วงชิงราชสมบัติพระเชษฐาได้สำเร็จ เมื่อหลังเสวยราชสมบัติ ก็ทรงมีความศรัทธาในพุทธศาสนา ทรงมีพระประสงค์จะสร้างพระสถูปบรรจุพระสารีริกธาตุทั่วจักรวรรดิของพระองค์ ตามความใน คัมภีร์ทิวยาวทาน อโศกาวทาน นำเสนอจาก ฉบับ Sahitya Akademi, 1963. ความว่า

ततो राजा भगवच्छरीरधातुं विस्तरिष्यामीति चतुरङ्गेण बलकायेन गत्वाजातशत्रुप्रतिष्ठापितं द्रोणस्तूपमुत्पाट्य शरीरधातुं गृहीतवान् ।
ตโต ราชา ภควจฺฉรีรธาตุํ วิสฺตริษฺยามีติ จตุรงฺเคณ พลกาเยน คตฺวาชาตศตฺรุปฺรติษฺฐาปิตํ โทฺรณสฺตูปมุตฺปาฏฺย ศรีรธาตุํ คฤหีตวานฺ ฯ

เมื่อพระราชา(พระเจ้าอโศก) มีพระราชประสงค์ที่จะทรงแบ่งพระสารีริกธาตุของพระภาคเจ้าให้กว้างขว้างออกไป จึงยกพลพร้อมด้วยทัพทั้ง ๔ *เสด็จไปยังโทรณสถูป** ที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้ประดิษฐานไว้ โปรดให้เปิดพระสถูป เพื่ออัญเชิญพระธาตุอันประเสริฐออกมา

* ทัพทั้ง ๔ หรือ จาตุรงคเสนา ได้แก่ พลช้าง พลม้า พลรถศึก พลราบ ** โทรณสถูป ในที่นี้ หมายเอา บรรดาพระสถูปหลักที่ได้รับการแบ่งพระบรมธาตุทั้ง ๘ แห่ง มีพระบรมธาตุบรรจุจำนวนพระสถูปละ ๑ โทรณะ (ส. โทฺรณ บ. โทณ)
—————

รูปสลักหิน บนโตรณะของมหาสถูปสาญจี รูปสลักด้านขวา เป็นกองทัพจตุรงคเสนาของพระเจ้าอโศก โดยพระองค์ประทับอยู่ที่รถศึก


यत्र उद्धारणं च विस्तरेण कृत्वा धातुप्रत्यंशं दत्त्वा स्तूपं प्रत्यस्थापयत् ।
ยตฺร อุทฺธารณํ จ วิสฺตเรณ กฤตฺวา ธาตุปฺรตฺยํศํ ทตฺตฺวา สฺตูปํ ปฺรตฺยสฺถาปยตฺ ฯ

ครั้นเปิดแล้ว ให้อัญเชิญพระธาตุออกมาทั้งหมด ในการแบ่งนั้นทรงให้อัญเชิญพระธาตุบางส่วนกลับเข้าไปในพระสถูปเดิม ส่วนเหลือจากนั้นนำไปบรรจุในพระสถูปที่สถาปนาขึ้นใหม่
—————

एवं द्वितीयं स्तूपं विस्तरेण । भक्तिमतो यावत् सप्तद्रोणाद् ग्रहाय स्तूपांश्च प्रतिष्ठाप्य रामग्रामं गतः ।
เอวํ ทฺวิตียํ สฺตูปํ วิสฺตเรณ ฯ ภกฺติมโต ยาวตฺ สปฺตโทฺรณาทฺ คฺรหาย สฺตูปําศฺจ ปฺรติษฺฐาปฺย รามคฺรามํ คตะ ฯ

ทรงกระทําการแบ่งเช่นนี้กับ โทรณสถูปองค์ที่ ๒ และด้วยความเลื่อมใสเป็นอันมากของพระองค์กับพระสถูปทั้งหลายที่จะประดิษฐาน ทรงกระทําเช่นนี้จนถึง โทรณสถูปองค์ที่ ๗ จากนั้นเสด็จไป รามคราม*

*รามคราม มีโทรณสถูปองค์ที่ ๘
—————

ततो राजा नागैर्नागभवनमवतारितः ।
ตโต ราชา นาไครฺนาคภวนมวตาริตะ ฯ

ครั้นถึงที่แล้ว เหล่านาคได้กุมพระราชาไว้ และฉุดพระองค์ลงไปยังนาคพิภพ
—————

विज्ञप्तश्च । वयमस्य शरीरधातोः अत्रैव पूजां करिष्याम इति । यावद् राज्ञाभ्यनुज्ञातं ।
วิชฺญปฺตศฺจ ฯ วยมสฺย ศรีรธาโตะ อไตฺรว ปูชํา กริษฺยาม อิติ ฯ ยาวทฺ ราชฺญาภฺยนุชฺญาตํ ฯ

แล้วทูลว่า พวกเราจะกระทำการบูชาพระสารีริกธาตุ ใน ณ สถานที่แห่งนี้เท่านั้น ดังนี้
เมื่อนั้น พระราชาจึงโปรดอนุญาต (พระเจ้าอโศกรับปาก ไม่นำพระธาตุออกมาจากพระสถูป)
—————

รูปสลักหิน บนโตรณะของมหาสถูปสาญจี รูปสลักด้านซ้าย เป็นรูปหมู่นาคแห่งเมืองรามคามกำลังต่อแถว ถือพวงมาลัยเข้านมัสการพระสถูป โดยพวกนาคนั้นสลักเป็นรูปมนุษย์ มีงูแผ่พังพานอยู่ด้านหลัง ตนที่มีศักดิ์ใหญ่จะมีหัวงูหลายหัว

ततो नागराजेन पुनरपि नागभवनादुत्तारितः । वक्ष्यति हि ।
ตโต นาคราเชน ปุนรปิ นาคภวนาทุตฺตาริตะ ฯ วกฺษฺยติ หิ ฯ

จากนั้น พญานาคราชจึงนําพระองค์ออกจากนาคพิภพแล้วส่งกลับคืน มีคำกล่าวพรรณนา ดังนี้ว่า
(พญานาคราช ผู้เป็นพระราชาของนาคในรามคราม)
—————

रामग्रामे ऽस्ति त्वष्टमं स्तूपमद्य नागास्तत्कालं भक्तिमन्तो ररक्षुः ।
รามคฺราเม ‘สฺติ ตฺวษฺฏมํ สฺตูปมทฺย นาคาสฺตตฺกาลํ ภกฺติมนฺโต รรกฺษุะ ฯ

ในวันนี้ ที่รามคราม มีพระสถูปองค์ที่ ๘ ยังคงปรากฏอยู่ เพราะในครานั้นเหล่านาคได้เฝ้ารักษาด้วยความภักดี ฯ
—————

धातूनेतस्मान् नोपलेभे स राजा श्रद्धालू राजा यस्त्वकृत्वा जगाम ॥
ธาตูเนตสฺมานฺ โนปเลเภ ส ราชา ศฺรทฺธาลู ราชา ยสฺตฺวกฤตฺวา ชคาม ๚

พระราชาจึงมิได้อัญเชิญพระธาตุออกมา พระราชาทรงมิได้กระทำการใดเลย แล้วเสด็จออกจากที่นั่นด้วยความศรัทธา
—————


——————————-

๒. นาคแห่งรามคราม ใน มหากาพย์พุทธจริต


มหากาพย์พุทธจริต ของอัศวโฆษ (बुद्धचरित) สรรคะ ที่ ๒๘ การแจกพระบรมสารีริกธาตุ ในสรรคะ ที่ ๒๘ นี้ ต้นฉบับสันสกฤตดั้งเดิมสูญหาย เหลือเฉพาะฉบับแปลภาษาจีน และ ทิเบต ในฉบับจีน คือ 佛所行讚 (Fó suǒxíng zàn) แปลโดย พระธรรมเกษม (曇無讖 : धर्मक्षेम) แปลเป็นภาษาจีนราวปี พ.ศ. ๙๖๓ ในสมัยเหลียง ราชวงศ์เหนือ ความว่า

無憂王出世, 強者能令憂,劣者為除憂,如無憂花樹。 
เมื่อพระเจ้าอโศกได้อุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นผู้สามารถประทานความโศกเศร้าแก่ผู้ที่แข็งกร้าว* และถอนความโศกเศร้าจากผู้ที่อ่อนแอได้** ดุจดอกของต้นอโศก*** ฉะนั้น
(*อริราชศัตรู **หมู่ราษฎร ***ต้นอโศก ต้นไม้แห่งความไม่โศกเศร้า)
—————

ต้นอโศก หรือ ต้นไม้แห่งความไม่โศกเศร้า เป็นต้นไม้ประจำพระองค์ของพระเจ้าอโศก ไทยเรียก อโศกน้ำ มักสับสนกับ กับต้นอโศกอีกชนิด
Polyalthia longifolia หรือ false ashoka คือ ต้นอโศก (ต้นอโศกเทียม) ที่ถูกมักเข้าใจผิดว่าเป็น เป็นต้นไม้ประจำพระองค์ของพระเจ้าอโศก


王於閻浮提,心常無所憂,深信於正法,故號無憂王。 
ทรงเป็นราชาปกครองทั่วชมพูทวีป  มีจิตพ้นแล้วจากความโศกตลอดกาล* เพราะทรงมีศรัทธาปสาทะในพระสัทธรรม ด้วยเหตุนี้จึงถูกเรียกว่า พระเจ้าอโศก
(* เพราะเหตุว่าทรงบรรลุโสดาบัน)
—————


孔雀之苗裔,稟正性而生,普濟於天下,兼起諸塔廟,本字強無憂,今名法無憂。 
ทรงเป็นเชื้อสายแห่งราชวงศ์แห่งนกยูง* ได้รับสิทธิ์อันชอบธรรมและสิ่งที่พระองค์กระทำให้มีขึ้นเสมอกันทั่วทั้งทวีป คือการสร้างพระสถูปเจดีย์จำนวนมาก แต่เดิมพระองค์ถูกเรียกว่า พระเจ้าอโศกผู้โหดร้าย** มาบัดนี้พระองค์ถูกเรียกว่า พระเจ้าอโศกผู้ทรงธรรม***
( *ราชวงศ์เมารยะ **จัณฑาโศก **ธรรมาโศก)
—————


開彼七王塔,以取於舍利,分布一旦起,八萬四千塔。
ทรงเปิดพระสถูปที่สร้างโดยพระราชาทั้ง ๗ * โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมา ทรงให้แบ่งใหม่และส่งออกไปในที่ต่าง ๆ เพียงชั่วอรุณรุ่งเดียวเท่านั้น ได้แบ่งไปบรรจุในสถานที่อื่น ๆ ถึง ๘๔๐๐๐ แห่ง
(* กษัตริย์ผู้ที่รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ )
—————


唯有第八塔,在於摩羅村,神龍所守護,王取不能得。
เว้นเสียแต่พระสถูปแห่งที่ ๘ ใกล้หมู่บ้านรามะ (รามคฺราม) นั้นยังคงอยู่ เหตุเพราะนาคผู้มีฤทธิ์รักษาไว้ พระราชาไม่สามารถอัญเชิญออกมาได้
( คุณ Rujji Songthanapithak ได้ทักท้วงมาว่า ต้นฉบับภาษาจีนใช้ 摩羅村 เป็นการสลับกันจาก รามะ เป็น มาระ เมื่อตรวจสอบแล้วเชิงอรรถคัมภีร์ มีหมายเหตุว่า ต้นฉบับมีการสลับอักษรจริง ที่ถูกต้องคือ 羅摩村)
—————

ภาพสลักหิน ฉากพระเจ้าอโศกเสด็จ พระสถูปรามคาม ที่พบในซากพระมหาสถูปกะนะคะนะหัลลิ (Kanaganahalli) รัฐกรณาฏกะ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย พบฉากดังกล่าวอยู่หลายรูปแบบ บางภาพมีข้อความภาษาปรากฤต กำกับไว้ว่า rāmagāmilo āṭhabhāgathubho upari รามคามิโล อาฐภาคถุโภ อุปริ แปล “ด้านบนคือ รามคามสถูป เป็นหนึ่งในแปดพระสถูป”


雖不得舍利,知佛有遺骼,神龍所供養,增其信敬心。
เหตุว่าไม่สามารถนำพระบรมสารีริกธาตุออกมาได้ พึงทราบว่าเป็นเพราะพระอัฐิของพระพุทธเจ้าส่วนนี้ เป็นส่วนที่ตกแก่เหล่านาคผู้มีฤทธิ์ไว้เป็นที่บูชารักษา* ด้วยเหตุดังนี้ ยังให้พระองค์(พระเจ้าอโศก) มีจิตเคารพศรัทธายิ่งขึ้น
* อ่านรายละเอียดในปรินิพพานสูตร
—————


๓.นาคแห่งรามคราม ใน จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง ของพระเสวียนจั้ง

พระถังซัมจั๋งกับเรื่องเล่าท้องถิ่นเรื่อง: นาคแห่งพระสถูปเมืองรามะและพระเจ้าอโศก เรื่องนาคแห่งรามคาม เล่าขานต่อมา ยังปรากฎในบันทึกของ พระฟาเหียน และพระถังซัมจั๋ง (พระสมณเสวี้ยนจัง) เมื่อคราวเดินทางไปอินเดียด้วย พระถังซัมจั๋ง แปลว่า พระตรีปิฏกาจารย์แห่งราชวงศ์ถัง ตรีปิฏกาจารย์ หมายถึง อาจารย์ผู้แตกฉานพระไตรปิฏก ในที่นี้หมายถึง พระอาจารย์เสวียนจั้ง (จีน: 玄奘 : Xuánzàng) ผู้จาริกแสวงบุญในอินเดีย เพื่อนำคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายสันสกฤตกลับจีน ราวปี พ.ศ. ๑๑๗๐ ตรงกับรัชสมัยของ จักรพรรดิถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถังของจีน และจักรพรรดิหรรษวรรธนะ แห่งราชวงศ์วรรธนะ ของอินเดีย

พระถังซัมจั๋ง (พระสมณเสวี้ยนจัง) และจักรพรรดิหรรษวรรธนะ ในภาพยนต์เรื่อง เสวียนจ้าง บุรุษพุทธานุภาพ

พระถังซัมจั๋ง เป็นผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ภายหลัง อู๋ เฉิงเอิน(吳承恩) นักกวีชาวจีน สมัยราชวงศ์หมิง นำท่านไปเป็น ตัวเอก ในนิยายไซอิ๋ว

ท่านมีคุณูปการต่อพุทธศาสนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นอย่างมาก ในแง่การนำคัมภีร์จำนวนจากอินเดียไปแปลในแผ่นดินจีน อีกทั้งมีความสำคัญกับชาวพุทธ ในการระบุพุทธสถานในอินเดีย ในยุคปัจจุบัน จากจดหมายที่ท่านได้บันทึกไว้คราเดินทางมาอินเดีย มีรายละเอียดทางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ ผู้คน จารีตประเพณี วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ตำนานพื้นเมือง การเมืองการปกครอง กฎหมาย การทหารของแว่นแคว้นต่างๆ ในอินเดียเมื่อหนึ่งพันกว่าปีที่แล้วไว้อย่างละเอียด และมีการรวบรวมเรียบเรียงขึ้นโดยคำนิมนต์ของจักรพรรดิถังไท่จง ในชื่อว่า


จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง (大唐西域記) ในบรรพที่ ๖ ของบันทึกนี้ กล่าวถึงการเดินทางของท่านใน ๔ เมือง คือ ทับศัพท์ ภาษาสันสกฤต และบาลีดังนี้

———————————-
๑. 室羅伐悉底 (Shì luó fá xī dǐ)
คือ เมืองศราวัสตี (สันสกฤต. श्रावस्ती : śrāvastī : ศฺราวสฺตี )
หรือ สาวัตถี (บาลี. sāvatthī : สาวตฺถี)
———————————-


๒. 劫比羅伐窣堵 ( Jié bǐ luó fá sù dǔ )
เมืองกปิลวัสตุ (สันสกฤต. कपिलवस्तु : Kapilavastu : กปิลวสฺตุ )
หรือ กปิลวัตถุ (บาลี. kapilavatthu : กปิลวตฺถุ) ไทยเรียก เมืองกบิลพัสดุ์
———————————-


๓. 藍摩 (Lán mó )
คือ เมืองรามะ หรือ บ้านรามะ
หรือ รามคราม (สันสกฤต. रामग्राम : rāmagrāma : รามคฺราม )
หรือ รามคาม (บาลี. rāmagāma : รามคาม)
* คาม (คามะ) หรือ คฺราม (ครามะ) แปลว่า ชุมชน หรือ หมู่บ้าน
———————————-


๔. 拘尸那揭羅 (Jū shī nà jiē luó )
คือ เมืองกุศินคร (สันสกฤต. कुशिनगर : Kuśinagara : กุศินคร )
หรือ กุสินารา (บาลี. kusinārā : กุสินารา)
———————————-
หรือชื่อในชาดกบาลีว่า กุสาวตี (บาลี. kusāvatī : กุสาวตี) ไทยเรียก กุสาวดี
ในคัมภีร์ฝ่ายสันสกฤตยังออกชื่อเมืองนี้ไว้อีกหลายแบบ เช่น กุศินารา, กุศินครี, กุศิคราม, กุศนคร


ในบรรพที่ ๖ เมื่อท่านมาถึง เมืองรามะ หรือ รามคาม ท่านได้บันทึกเรื่องเล่าท้องถิ่นของ พระเจ้าอโศกที่ได้เสด็จมาที่พระสถูปในเมืองนี้ เพื่อเปิดพระสถูปนำพระบรมสารีริกธาตุมาแบ่งใหม่ และได้พบกับเหล่านาคที่เฝ้าพระสถูป ความว่า
————————-


至藍摩國 (中印度境)。
ครั้นอาตมาได้มาถึงเมืองรามะ* (ตอนกลางของสินธุประเทศ[1])
* คือ รามคาม หรือ รามคราม ณ ที่นี้ท่านเรียกเป็นเมือง 國 อโศกาวทาน พุทธจริต ฉบับแปลจีน เรียกเป็น บ้าน 村 (บาลี : คาม, สันสกฤต : คฺราม แปลว่า ชุมชน หรือ หมู่บ้าน)
————————-


藍摩國,空荒歲久,疆場無紀,城邑丘墟,居人稀曠。
เมืองรามะนี้ ได้ถูกทิ้งร้างมาหลายปี ขอบเขตสถานที่ต่างๆไม่ปรากฎชัดเจน ในเขตเมืองและหมู่บ้านเหลือเพียงแต่ซากปรักหักพัง มีประชากรอยู่อาศัยเบาบาง
————————-


故城東南有甎窣堵波,高減百尺。
ที่ซากเมืองเก่าด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีพระสถูปอิฐมีความสูงน้อยกว่า ๑๐๐ ฉื่อ [2]
————————-


昔者如來入寂滅已,此國先王分得舍利,持歸本國,式遵崇建,靈異間起,神光時燭。
แต่กาลก่อน ครั้นพระตถาคตเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว บูรพกษัตริย์แห่งเมืองนี้ได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุมา ได้อัญเชิญกลับมายังเมืองของพระองค์ และสร้างพระสถูปเพื่อบรรจุไว้สำหรับเป็นที่เคารพบูชา บางคราวองค์พระสถูปแสดงเหตุอัศจรรย์ และมักเปล่งรัศมีเป็นแสงไฟอยู่เนือง ๆ
————————-


窣堵波側有一清池,龍每出遊,變形蛇服,右旋宛轉,繞窣堵波,野象群行,採花以散,冥力警察,初無間替。
ด้านข้างส่วนหนึ่งของพระสถูปมีสระน้ำใสอยู่ ๑ สระ มักมีนาคออกมาจากที่นั้น จำแลงกายเป็นงู ออกมาทำทักษิณาวรรต เวียนรอบพระสถูป ยังมีโขลงช้างป่านำเอาดอกไม้มาโปรยที่พระสถูป ซึ่งภูตมีฤทธิ์เหล่านี้ได้ทำการเฝ้าระวังตรวจตรา ผลัดเปลี่ยนกันอย่างไม่ขาดสาย*
*เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า นาค นี้ในภาษาบาลีสันสกฤตยังแปลว่าช้างได้ด้วย
————————-

พระสถูปรามคามตั้งอยู่บริเวณที่คล้ายเป็นเกาะกลางน้ำ มีแหล่งน้ำล้อมรอบด้าน ด้านทิศตะวันออกขนาบข้าง เป็นแม่น้ำฌาไร(Jharai river) ด้านทิศตะวันตก เป็นสระน้ำธรรมชาติ ที่เป็นบึงโค้ง หรือ กุด อันเกิดร่องน้ำแต่โบราณ


昔無憂王之分建窣堵波也,七國所建,咸已開發,
เมื่อกาลต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศก พระองค์มีพระประสงค์จะสร้างพระสถูปให้กว้างขวางออกไป ซึ่งในครานั้นยังมีเมือง อยู่ ๗ เมือง มีพระสถูปที่ถูกสร้างไว้มาแต่เดิม ทรงให้เปิดพระสถูปเหล่านั้นแล้วอัญเชิญ[พระธาตุ]ออกมา
————————-

รูปสลักหิน บนโตรณะประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกด้านหลังแถวล่างสุด ของมหาสถูปสาญจีหมายเลข ๑ ถูกระบุว่าเป็นพระสถูปรามคาม อีกจุดหนึ่ง โดยสลักหินเป็นรูปช้างกำลังบูชาพระสถูป


至於此國,方欲興功,而此池龍恐見陵奪,乃變作婆羅門,
จากนั้นเสด็จมาที่เมืองนี้ ด้วยมีพระประสงค์จะทำการอัญเชิญ[พระธาตุ] นาคในสระน้ำนั้นบังเกิดความกลัวเพราะเล็งเห็นว่าพระธาตุในพระสถูปจะถูกแย่งชิงไป จึงได้จำแลงกายเป็นพราหมณ์
————————-

ภาพสลักหิน ฉากนาครักษาพระสถูปรามคาม ทั้งที่ร่างเป็นงูและในร่างมนุษย์ ที่พบในซากพระมหาเจดีย์อมราวตี (ในจารึกเรียก มหาเจติยะ) รัฐอานธรประเทศ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย พบฉากดังกล่าวอยู่หลายรูปแบบเช่นกัน


前叩象曰:「大王情流佛法,廣樹福田,敢請紆駕,降臨我宅。」
ออกไปขวางเบื้องหน้าช้างพระที่นั่งแล้วทูลถามว่า ข้าแต่มหาราช หากแม้นพระองค์มีเจตนาให้กระแสพระธรรมของพระพุทธเจ้าแพร่ออกไป และหวังในการเพาะปลูกในปุณยเกษตร(เขตแห่งบุญ)ให้ไพบูลย์แล้วไซร้ หม่อมฉันขอท้าพระองค์ให้ลงจากช้างทรงและลดพระองค์เสด็จไปบ้านของหม่อมฉัน
————————-


王曰:「爾家安在,為近遠乎?」
พระราชาตรัสถามว่า “บ้านของท่านอยู่ที่ใหน ใกล้ไกลเพียงใด”
————————-


婆羅門曰:「我,此池之龍王也。承大王欲建勝福,敢來請謁。」
พราหมณ์ตอบว่า “หม่อมฉันเป็นพญานาคราชอยู่ที่สระแห่งนี้ ข้าแต่มหาราชได้ยินว่าพระองค์ปรารถนาจะสร้างบุญอันวิเศษ หม่อมฉันจึงกล้าที่จะมาเชิญชวนเพื่อขอทูลถามบางสิ่ง”
————————-

พระสถูปรามคาม และสระน้ำธรรมชาติในยามที่มีน้ำเต็มตลิ่ง


王受其請,遂入龍宮。
พระราชาทรงตอบรับการเชิญนี้ ทรงเสด็จเข้าไปในนาคพิภพ
————————-


坐久之,龍進曰:「我惟惡業,受此龍身,供養舍利,冀消罪咎,願王躬往,觀而禮敬。」
ครั้นพระราชาประทับคอยท่าอยู่นานพอสมควร นาคราชเข้าไปแล้วจึงตรัสว่า : “ด้วยอกุศลกรรมของหม่อมฉัน จึงเป็นเหตุให้เกิดมาด้วยรูปกายของนาค หม่อมฉันจึงกระทำบูชาต่อพระบรมสารีริกธาตุนี้ ด้วยหวังว่าจะขจัดโทษบาปนั้นลงเสียได้ หม่อมฉันจึงอยากให้พระราชาเสด็จไป ทอดพระเนตรและบูชาสักการะพระธาตุนั้นด้วยพระองค์เอง”
————————-


無憂王見已,懼然謂曰:「凡諸供養之具,非人間所有也。」
ครั้นพระเจ้าอโศกได้ทอดพระเนตรแล้ว ถึงกับตกพระทัยแล้วตรัสว่า “เครื่องบูชาสักการะทั้งหลายเหล่านี้ ในโลกมนุษย์หามีผู้ใดมีไว้ครอบครองไม่”
————————-


龍曰:「若然者,願無廢毀。」
นาคนั้นจึงว่าว่า : “หากเป็นเช่นนั้นแล้ว หม่อมฉันขอวิงวอน ขอจงอย่าได้รื้อถอนทำเสียหายแก่ที่แห่งนี้เลย”
————————-


無憂王自度力非其疇,遂不開發。出池之所,今有封記。
พระเจ้าอโศก ประเมินพระองค์แล้วว่ามีกำลัง ไม่สมกับพรรคพวกเหล่านั้น จึงละทิ้งความประสงค์ที่จะเปิดพระสถูป ในสถานที่ออกจากสระนั้น ในบัดนี้มีแผ่นจารึกตั้งอยู่
————————-


หมายเหตุ
[1] 印度境 สินธุประเทศ มักแปลไทยว่า ดินแดนอินเดีย หรือ ประเทศอินเดีย
印度 (Yìndù : อิ้นตู้) เป็นรูปแบบการทับศัพท์ เรียกดินแดนอินเดียโบราณในสมัยราชวงศ์ถังรูปแบบหนึ่งในหลายๆ รูปแบบ ศัพท์นี้พระอาจารย์เสวียนจั้ง ได้อธิบายว่า และเป็นการทับศัพท์ที่ออกเสียงใกล้เคียงกว่ารูปแบบอื่นมากที่สุด คำที่ใช้เรียกดินแดนนี้น่าจะมาจากคำว่า พระจันทร์ ในภาษาสันสกฤต คือ อีนฺทุ (ईन्दु : Īndu : อ่านว่า อีน-ดุ)

มีการศึกษาเพิ่มเติมในว่า อาจมาจากคำในช่วงร่วมสมัยเดียวกัน ภาษาโตคาเรียน ในอาณาจักรกุฉา เรียก ดินแดนอินเดียโบราณ ว่า เยนตุเก ( yentuke: เยนฺตุเก) ซึ่งยืมมาจาก ฮินดุกะ( hinduka) ในกลุ่มภาษาอิราเนียนโบราณ ซึ่งรากศัพท์มาจาก ภาษาเปอร์เซียโบราณ สมัยอะคีเมนิดอีกที (กล่าวในข้อความถัดไป)

และหาก 印度 มีเสียงคล้ายเดิมคล้ายกับกับคำว่า ईन्दु (อีน-ดุ) ก็ละม้ายกับการเรียกดินแดนอินเดียโบราณ ของพวกเปอร์เซีย และพวกกรีกและกรีกอาณานิคมในอินเดียเหนือและเอเชียกลางในสมัยก่อนหน้า โดยเรียกว่า ดินแดนอินเดีย แบบกรีกว่า อินโดส Ἰνδός (Indós) ซึ่งมาจากคำว่า ฮินดูซ (hindūš) ในภาษาเปอร์เซียโบราณ สมัยอะคีเมนิด อันเป็นคำเรียกชื่อแม่น้ำสินธุ และดินแดนในลุ่มน้ำสินธุ
ดังนั้นในที่นี้ขอใช้ศัพท์ว่า สินธุ แทนคำว่า อินเดีย อันเป็นคำภาษาละตินที่ภาษาอังกฤษยืมมาในชั้นหลัง
———————————-
[2] 尺 ฉื่อ (หรือ เชี่ยะ เฉี้ยะ ในฉบับแปลไทยอื่นๆ ) ในสมัยราชวงศ์ถัง มีความยาวประมาณ 24.75 ซ.ม ดังนั้น 100 ฉื่อ ประมาณ 24-25 เมตร ส่วนคำว่าสูงน้อยกว่า 100 ฉื่อ (สูงไม่ถึง 100 ฉื่อ) (高減) เป็นสำนวนการกะระยะอย่างหยาบ แต่ไม่สามารถระบุเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงได้ โดยใช้ความรู้สึกเทียบกับสิ่งเคยเห็นมาก่อนในความสูงหรือยาวที่ระบุไว้ ว่าต่ำกว่า ซึ่งความสูงจริงอาจจะต่ำกว่า 24-25 เมตร อยู่มาก
แม้ในบันทึกการเดินทางของพระฟาเหียน ( ฝาเสี่ยน) ก็ใช้สำนวนอย่างนี้ จากที่นี่ไปทางทิศตะวันออกน้อยกว่าหนึ่งโยชน์ ก็ถึงเมืองกปิลวัสตุ (從此東行減一由延到迦維羅衞城)

Loading

Be the first to comment on "พระธาตุข้าใครอย่าแตะ เรื่องเล่าของเหล่านาคแห่งรามคามสถูป ในพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ"

Leave a comment