คาถาในจันทิมสูตร และ สุริยสูตร ภาษาบาลี สันสกฤต จีน ทิเบต ประเด็นปัญหาการตีความเรื่อง ราหู และ คราส ในพระไตรปิฎก

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

ราหูเป็นเทพเก่าแก่ มีมูลเค้ามาตั้งแต่สมัยพระเวท ในฤคเวท พระราหู นามว่า สวรรภานุ เกิดรู้สึกอิจฉาพระอาทิตย์ จึงจับพระอาทิตย์กลืนไว้ พระอินทร์จึงตัดหัวสวรรภานุและปลดปล่อยพระอาทิตย์ออกมา

จันทิมสูตร และ สุริยสูตร หรือ จันทรสูตร, สูรยสูตร (บาลี.จนฺทิมสุตฺต : สุริยสุตฺต,สันสกฤต. จนฺทฺรสูตฺร : สูรฺยสูตฺร )

เป็นพระสูตรเก่าแก่พระสูตรหนึ่ง พบในสารบบพระไตรปิฎกฝ่ายบาลี และฝ่ายสันสกฤต และยังถูกถ่ายมาเป็นภาษาจีน และธิเบต ในภายหลัง

จันทิมสูตร และ สุริยสูตร ในสังยุตตนิกาย มีเนื้อหาเกือบจะคล้ายเลยทีเดียว ผิดแต่เปลี่ยนพระจันทร์ (จัมทิมเทวบุตร: -เทพบุตร) ถูกราหูทำร้าย เป็นพระสุริยะหรือพระอาทิตย์ (สุริยเทวบุตร : -เทพบุตร ) ถูกปองร้ายจากราหู ทั้งสองพระสูตรกล่าวอย่างคร่าวๆ ว่า เทวบุตร คือ สุริยเทวบุตร จันทิมเทวบุตร ถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว เทพบุตรนั้นจึงรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงตรัสให้อสุรินทราหูปล่อยตัวเทวบุตร อสุรินทราหูได้สดับดังนั้นจึงเกรงกลัวปล่อยตัวเทวบุตรนั้น

ตามข้อมูลจาก suttacentral ขอยกเฉพาะ จันทิมสูตร มีปรากฏ

ภาษาบาลี 1 ฉบับ ในพระไตรปิฎกบาลี สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
ภาษาจีน 2 ฉบับ ใน 月天子 พระมหาปิฎกไทโช หมวดสังยุกตาคม
ภาษาธิเบต 2 ฉบับ ใน zla ba’i mdo (ཟླ་བའི་མདོ། หรือ candra-sūtra.) พระไตรปิฎกธิเบต ฉบับปักกิ่ง


เดิมเข้าใจว่าต้นฉบับสันสกฤตนั้นสูญแล้ว ในช่วงปี 1902-1914 มีการค้นพบ เศษคัมภีร์จำนวนมาก ที่เตอร์กีสถาน หรือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีนปัจจุบัน หนึ่งในนั้นพบ พระสูตรภาษาสันสกฤต ในหมวดสังยุกตาคม (ฝ่ายบาลีเรียก สังยุตตนิกาย) คือ จันทรสูตร ต่อมาในปี 1970 Ernst Waldschmidt นักบูรพาคดีและนักภารตะวิทยา ชาวเยอรมัน รวบรวม เรียบเรียง และปริวรรตเป็นอักษรโรมัน



ขอยกตัวอย่าง คาถาสำคัญ เทียบบาลี – สันสกฤต ซึ่งมีคำแปลใกล้เคียงกัน (คาถาในที่นี้คือคำพูดที่เป็นอย่างบทร้อยกรอง หรือ บทกวี)

คาถาของจัมทิมเทวบุตร

#ฉบับภาษาสันสกฤต 
ปริวรรตเป็นอักษรโรมัน ของ Waldschmidt ปริวรรตเป็นอักษรไทยได้ว่า

นมสฺ เต พุทฺธ วีราสฺตุ วิปฺรมุกฺตาย สวตะ ฯ
สํพาธปฺรติปนฺโน ’สฺมิ ตสฺย เม ศรณํ ภว ๚

#ฉบับภาษาบาลี

นโม เต พุทฺธวีรตฺถุ วิปฺปมุตฺโตสิ สพฺพธิ
สมฺพาธปฏิปนฺโนสฺมิ ตสฺส เม สรณํ ภวาติ ฯ

แปลบาลีจากพระไตรปิฎกแปลไทยฉบับหลวง

ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้าพระองค์ถึงเฉพาะแล้ว ซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแห่งข้าพระองค์นั้น ฯ

—————————————–

#ฉบับจีน ยกตัวอย่างจาก 月天子 : 經藏 , 別譯雜阿含經 (一六七 )
จันทรเทวปุตรสูตร สังยุกตาคมสูตร สารบบที่ 2 แปลจีนสำนวนอื่นๆ สูตรที่ ๑๖๗ พระไตรปิฎกพากย์จีน ฉบับไทโช (พระไตรปิฏกภาษาจีนฝ่ายอุตรนิกาย ฉบับญี่ปุ่น)

คาถาของจัมทิมเทวบุตร

如來大精進,  我今歸命禮,
ข้าแต่พระตถาคตเจ้า ผู้เป็นมหาวีระ(ผู้แกล้วกล้ายิ่ง) ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์
能於一切處,  悉皆得解脫。
ผู้ทรงประกอบด้วยวิโมกษธรรม หลุดพ้นแล้วจากบรรดาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงโดยสิ้นเชิง
今遭大艱難,  願作我歸依,
บัดนี้ ข้าพระองค์ตกอยู่ในฐานะอันยากลำบากยิ่ง ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแห่งข้า

—————————————–

#ฉบับภาษาทิเบต ขอยกมาจาก สุริยสูตร พระไตรปิฎกภาษาทิเบตฉบับเดร์เก ที่คุณ สุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา 9 ประโยค) แปลไว้

คาถาของสุริยเทวบุตร

།སངས་རྒྱས་དཔའ་བོ་དེ་ལ་འདུད། །ཐམས་ཅད་མྱུར་དུ་གྲོལ་བར་གྱིས།
ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าผู้กล้าหาญพระองค์นั้น ผู้หลุดพ้นทุกสถานโดยพลัน
།བདག་འདིའི་ཁ་རུ་བཅུག་པས་ན། །བདག་ནི་ཁྱེད་ལ་སྐྱབས་སུ་མཆི།
ข้าพระองค์ถึงปากแห่งราหูนี้แล้ว ดังนั้น ข้าพระองค์จึงขอถึงพระองค์เป็นสรณะ

—————————————–

พระสูตรนี้เป็นที่ถกเถียงโดยเฉพาะในสังคมไทย ทั้งทางวิชาการและในวงสนทนาทางศาสนาแบบไม่เป็นทางการ 2 ประเด็นที่ถกเถียงกันคือ พระสูตรนี้ เป็นพุทธพจน์หรือไม่

พระสูตรทั้งสองนี้มักถูกนำไปอธิบายปรากฎการณ์ สุริยคราส และจันทรคราส (ราหูอมอาทิตย์ ราหูอมจันทร์) อย่างความเชื่อของพวกอารยันในอินเดียโบราณ ซึ่งขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน

#ประเด็นแรก มีผู้รู้นักวิชาการเสนอว่า คือ สุริยสูตร และ จันทิมสูตรอาจจะเป็นสูตรที่แต่งขึ้นใหม่ ไม่ใช่เป็นพุทธพจน์ โดยมีความเห็นที่รวบรวมได้ คือ

1. มีการยกพระสูตรที่เป็นความเชื่อของผู้คนในยุคนั้นขึ้นสู่สังคายนาชั้นหลัง อาจจะในลังกา
2. หรือถูกสอดแทรกเข้ามาในยุคที่นำเอาพระสูตรไปสวดเป็นปริตรป้องกันภยันตรายต่างๆ เช่นใน จตุภารณวารปาฬี ในลังกา

ราวพุทธศตวรรษที่ 5 มีการทำสังคายนาในลังกา เริ่มมีการจารึกพระไตรปิฎกบาลีลงบนแผ่นใบลานเป็นครั้งแรก สมัยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย พุทธศตวรรษที่ 9-10 เป็นยุคทองของอรรถกถา มีการแปลอรรถกถาจากภาษาสิงหลสู่บาลี รวมทั้งการแต่งปกรณ์วิเศษต่างๆเป็นภาษาบาลีมากมาย

ความเห็นทั้งสอง ก็มีข้อกังขาอยู่ว่า เหตุว่า สุริยสูตร และ จันทิมสูตร มีในนิกายอื่นด้วย มิใช่อยู่เฉพาะในคัมภีร์เถรวาทในลังกานิกายเดียว อย่างฉบับภาษาสันสกฤตนี้สันนิษฐานว่าเป็นของ นิกายสรรวาสติวาทซึ่งนิกายนี้เริ่มแยกตัวราวหลังปี พ.ศ 200 ไม่นานนัก และมีการแยกทำสังคายนาของตนเป็นเอกเทศ

แต่จะกล่าวให้ชัดไปกว่านั้นอีก มาดูประเด็นที่ไม่ยอมรับเนื่องจาก การตีความพระสูตรทั้งสองที่ถูกนำไปอธิบายปรากฎการณ์ สุริยคราส และจันทรคราส แต่นั้นก็เป็นการพยายามอธิบายพระสูตร จากการตีความในอรรถกถา ก็คือใน #คัมภีร์สารัตถปกาสินี ที่สืบมาจาก คัมภีร์มหาอรรถกถาภาษาสิงหล

คัมภีร์สารัตถปกาสินีอธิบายถึงลักษณะกายภาพของราหู และวิถีโคจรของพระจันทรและพระอาทิตย์ อันมีวิมานของเทวดาบางเหล่าสถิตย์อยู่ ถึงบางคราวราหู เข้าไปในวิถีโคจรก็เอามือบัง ใช้ปากอมบาง ถูกวิมาน เทวดาทั้งหลายที่สถิตอยู่ในวิมานก็เกิดความกลัว

ซึ่งก็เป็นการตีความในยุคที่ไม่มีวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่มาอธิบาย และความเชื่ออย่างนี้ก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในสมัยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นถ้ามีการแทรกเข้าไปก็คงเป็นการแทรกความเห็นในอรรถกถาตามอย่างการรับรู้ในสมัยนั้นเสียมากกว่า อาจไม่ได้เกี่ยวข้องในชั้นบาลีเลย

ส่วนใน #จตุภารณวารปาฬี ที่ใช้สวดกันในลังกา ได้บรรจุพระสูตรทั้งสองนี้ไว้ด้วย ก็อาจจะเป็นเพราะ ความเกรงกลัวคราสและราหู ในสมัยนั้น ซึ่งมีตั้งแต่สมัยโบราณ จะว่าไปแม้ในปัจจุบันในสังคมไทยก็ยังให้มีความเกรงกลัวกันอยู่

หินแกะสลักรูปราหู British Museum

ซึ่งปัจจุบันก็เป็นที่ทราบกันตามวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่แล้วว่า ราหูจริงๆแล้วก็คือจุดสมมุติ จุดหนึ่งของเส้นการโคจรของดวงจันทร์เมื่อโคจรรอบโลก (เส้นจันทรมรรค : Moon Path) ตัดกับเส้นการปรากฎของดวงอาทิตย์บนโลก (เส้นรวิมรรคหรือเส้นสุริยวิถี : Ecliptic) จุดตัดนี้จะเกิดขึ้นสองจุดเรียกว่า ที่เรียกว่า Ascending node

หรือในทางโหราศาสตร์อินเดียโบราณ เรียกว่า ราหู นั้นเอง อีกจุดคือ Descending node หรือในทางโหราศาสตร์เรียกว่า เกตุ ในโหราศาสตร์อินเดียโบราณ ได้ยกทั้งสองจุด รวมไว้ใน นวครหะ หรือ ดาวนพเคราะห์ ซึ่งในความเชื่อดังเดิมของพวกอินโด-ยุโรป ในสมัยโบราณมักเชื่อว่า ดาวที่เคลื่อนย้ายไปมาได้คือคือพระเป็นเจ้า เช่น ในกรีก เปอร์เซีย อินเดียโบราณ ต่างมีเทวปกรณ์ ตำนานเทพเจ้า เกี่ยวกับดาวเหล่านี้อยู่มาก่อนแล้ว โดยเฉพาะในอินเดียโบราณ ราหู เป็นเทพอสูร ที่น่ากลัวองค์หนึ่ง เพราะสามารถบดบังดวงจันทร์และอาทิตย์ได้ เป็นที่เกรงกลัวของผู้คน

—————————————–

#แต่ราหูในชั้นพระบาลี ต่างจากอรรถกถา แม้มีบ้างส่วนได้กล่าวถึงความเชื่อโบราณแบบนี้ก็จริง แต่กล่าวหากเป็นอุปมาอุปไมยให้คล้อยตามความเข้าใจคนในสมัยนั้นมากกว่า ไม่ได้เป็นการกล่าวเล่าเรื่องอย่างเทวปกรณ์ ตำนานเทพเจ้า เช่น

#ปัญญัติสูตร ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

บรรดาสัตว์ผู้มีอัตภาพ (ใหญ่) อสุรินทราหูเป็นเลิศ .. ฯลฯ .. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อันโลกกล่าวว่าเป็นเลิศในโลกทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์

#สุนทริกสูตร ในขุททกนิกาย สุตตนิบาต

ชนเหล่าใดปราศจากราคะ มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นแล้วจากการจับของกิเลส เปล่งปลั่งอยู่ เหมือนพระจันทร์ที่พ้นแล้วจากการเบียดเบียนของราหู สว่างไสวอยู่ ฉะนั้น

#อุปกิเลสสูตร อังคุตตรนิกาย

ราหูผู้เป็นจอมอสูรเป็นสิ่งมัวหมอง ที่เป็นเหตุให้ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ มัวหมอง ไม่ส่องแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง .. ฯลฯ .. เช่นเดียวกันแล อุปกิเลสที่เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมัวหมอง ไม่สง่า ไม่ผ่องใส ไม่รุ่งเรือง ๔ ประการนี้

ในส่วนข้อที่ว่าสองพระสูตรนี้ ไม่เป็นพุทธพจน์นี้ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันไม่มีข้อสรุปและยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มาสนับสนุน

#ประเด็นสอง ถ้าหาก สุริยสูตร และ จันทิมสูตร เป็นพุทธพจน์ พระองค์ทรงหมายถึงอะไร สรุปรวบรวมได้ 3 ความเห็นดังนี้

#ความเห็นที่1. ทรงอธิบายที่มาที่ไปเกี่ยวกับ ปรากฏการณ์สุริยคราส และจันทรคราส ตามคติเดิมของชาวอารยัน (เกี่ยวข้องกับเรื่อง เทวาสุรสงคราม) ข้อนี้ไม่ปรากฎการกล่าวที่ชัดเจนในชั้นพระบาลี แต่เป็นความเชื่อมาแต่โบราณ และเป็นข้อเสนอของผู้คัดค้านพระสูตรทั้งสอง

—————————————–

#ความเห็นที่2 ทรงอธิบายถึงเทวดาที่สถิตย์บนวิมานบนดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ โดนรังแกจากอสูร ณ จุดคราส เมื่อเวลาเกิดสุริยคราส และจันทรคราส และเทวดานั้นได้ขอถึงพระองค์เป็นสรณะ ทำให้รอดพ้นจากความกลัว #แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุ ของการเกิดปรากฏการณ์สุริยคราส และจันทรคราส

ข้อนี้เป็นการวิเคราะห์การตีความจากอรรถกถาใหม่ เนื่องอรรถกถา ได้แยกวิถีโคจรของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ที่เดินปกติอยู่แล้ว (จากความว่า แต่ราหูนั้นไม่อาจชลอความเร็วได้) ได้กล่าวแยกออกจาก วิมานของพวกเทวดาที่สถิตย์อยู่ในดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ในวิมานดังกล่าวมีเทวดาทั้งหลายที่ประทับบนวิมาน โดยหนึ่งในนั้นมี สุริยเทวบุตร ผู้สถิตอยู่ ณ สุริยวิมาน และ จันทิมเทวบุตร ผู้สถิตอยู่ ณ จันทรวิมาน

—————————————–

#ความเห็นที่3 ทรงแสดงธรรมแบบบุคลาธิษฐาน โดยให้เป็นตัวแทน สภาวะธรรม เช่น ดี-ชั่ว กุศล-อกุศล จิตที่กิเลสครอบงำ-จิตที่พ้นกิเลส และพระพุทธเจ้าเป็นสรณะอันประเสริฐ ในศาสนานี้

โดยอาศัย พระสูตรชื่อ อรรถกถาสูตร ใน อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต กล่าวสรุปว่า พระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัส ว่าโดยการแปลความหมาย มี 2 ประเภท คือ
– #เนยยัตถะ พระสูตรซึ่งมีความหมายที่จะต้องไขความ อันจะต้องเข้าใจความจริงแท้ที่ซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง
– #นีตัตถะ พระสูตรที่มีความหมายที่แสดงชัดโดยตรงแล้ว ซึ่งมีความหมายตรงไปตรงมา

ข้อนี้นักวิชาการก็เสนอไว้มาก และข้อความในพระบาลีสูตรอื่นที่กล่าวถึงราหูนั้นก็เป็นไปในแนวนี้ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว

—————————————–

ความเห็นที่ 3 มีน้ำหนักมากกว่าข้ออื่น กล่าวอย่างขยายความว่า ทรงแสดงธรรมในเรื่อง ราหู แสดงให้เข้ากับเหตุการณ์ในขณะนั้นๆ โดยใช้ความเชื่อเดิมเป็นคติเดิมของชาวอารยัน ยกขึ้นเป็นตัวดำเนินเรื่องหรือเกรินนำขึ้นก่อนให้กับพระสูตรอื่นๆ หรืออุปมาอุปไมยแบบบุคลาธิษฐาน

หลายท่านคงไม่ทราบว่า การยกพระธรรมขึ้นสู่สังคายนาเมื่อแรกนั้น ไม่ได้ลำดับตามเหตุการณ์ แต่ยกพระธรรมขึ้นเป็นหมวดหมู่ หรือตามประเภทความสั้น ยาว ของพระสูตรเป็นต้น แม้แต่ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พระพุทธประวัติ นั้นอยู่กระจัดกระจายเสียเป็นส่วนมาก จะเป็นเรื่องราวต่อเนื่องจริงๆ ก็มีในคัมภีร์ชั้นหลัง

การกล่าวถึงราหู ในพระไตรปิฎก นั้นมักกล่าวในเวลาที่พระพุทธเจ้าประทับในนครสาวัตถี แคว้นโกศล เสียส่วนมาก เช่น อุปกิเลสสูตร จันทิมสูตร และ สุริยสูตร ก็ทรงตรัสในนครสาวัตถี สุนทริกสูตร ที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า ก็ตรัสที่ ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา แคว้นโกศล นักวิชาการบางส่วนวิเคราะห์ว่า เกิดปรากฎการณ์ สุริยคราส และจันทรคราส ที่สังเกตได้ในแคว้นโกศล (ผู้เรียบเรียง เคยจำได้ว่ามีผู้เสนอการคำนวณทางดาราศาสตร์ในพันทิป แต่หากระทู้ไม่เจอเสียแล้ว )

และพระสูตรที่กล่าวถึง ราหู นั้นก็อยู่กระจัดกระจาย จนดูเหมือนว่า จันทิมสูตร และ สุริยสูตร อยู่อย่างเอกเทศแตกต่างจากพระสูตรอื่น ๆ

และความเกรงกลัวคราสและราหูในสมัยโบราณ เป็นไปได้หรือไม่ว่าทรงตรัส จันทิมสูตร และ สุริยสูตร ที่แคว้นโกศล เหมือนอย่างกับทรงตรัส รัตนสูตร ในนครไวสาลี ซึ่งมีข้อความนั้นไปในทั้งสองทางคือ ส่วนหนึ่งคือการให้กำลังใจชาวเมือง และส่วนหนึ่งคือการสอนธรรมะให้กับพุทธบริษัท

—————————————–

แม้คำพูดที่เป็นของพระสาวก หรือสาวกภาษิต ที่ทรงจำมาจากพระพุทธเจ้าก็กล่าวไปในทางเดียวกัน
ขอยกคำกล่าวของพระเถระ พระเถรีดังนี้ พระสารีบุตร พระยศกากัณฑกบุตร พระมุตตาเถรี ดังนี้

ในพระไตรปิฎก ชั้นสังคีติ คือ #อานาปานัสสติกถา ใน #คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ขุททกนิกาย ซึ่งภาษิตของ #พระสาริบุตร ท่านได้อธิบาย ถึงการเจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ดีแล้ว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก โดยได้ยกเรื่อง จันทิมเทพบุตร มาอธิบายว่า

คำว่า เหมือนดวงจันทร์พ้นจากหมอก อธิบายว่า กิเลสเหมือนหมอก อริยญาณเหมือนดวงจันทร์ ภิกษุเหมือน จันทิมเทพบุตร ภิกษุพ้นจากกิเลสทั้งปวง แล้ว ทำโลกนี้ให้สว่างไสว เปล่งปลั่ง และรุ่งเรือง เหมือนดวงจันทร์พ้นจากหมอก พ้นจากควันและธุลี พ้นจากฝ่ามือราหู ทำโอกาสโลกให้สว่างไสว เปล่งปลั่ง และ รุ่งเรืองฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เหมือนดวงจันทร์พ้นจากหมอก

ในพระไตรปิฎก ชั้นสังคีติ พระวินัยปิฎก #จุลวรรค #เรื่องภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ๑๐กล่าวเมื่อ หลังพุทธปรินิพพานราว 100 ปี

#พระยศกากัณฑกบุตร ผู้ชักชวน ทำสังคีติครั้งที่ 2 ได้กล่าวกับ ภิกษุวัชชีบุตรชาวกรุงเวสาลี
โดย ได้ยกพระพุทธพจน์ ในอุปกิเลสสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โดยระบุว่า

พระพุทธเจ้าทรงตรัสที่นครสาวัตถี เรื่อง อุปมาพระจันทร์พระอาทิตย์เศร้าหมอง ๔ ประการเปรียบเทียบ อุปกิเลสของสมณพราหมณ์ มี ๔ ประการ

๔. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง คืออสุรินทราหู จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง
ฯลฯ …..
๔. อนึ่ง สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพ ไม่งดเว้นจาก มิจฉาชีพ นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่สี่ ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์


ใน #มุตตาเถรีคาถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา กล่าวถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าสอน #นางมุตตา ชาวเมืองสาวัตถี ผู้บรรลุพระอรหัตตอนเป็นสิกขมานา ว่า

ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคทรงกล่าวสอนนางมุตตาสิกขมานาเนืองๆ ด้วยพระคาถานี้ อย่างนี้ว่า ดูกรนางมุตตา เธอจงเปลื้องจิตจากกิเลสเครื่องประกอบทั้งหลาย ดุจพระจันทร์ถูกราหูจับแล้วพ้นจากเครื่องเศร้าหมอง ฉะนั้น เธอมีจิตหลุดพ้นแล้ว จงไม่มีหนี้บริโภคก้อนข้าวเถิด.

และมุตตาเถรีคาถาแสดงถึงนัยยะใน จันทิมสูตร และ สุริยสูตร ได้ดี

ราหูคือกิเลส จิตคือพระจันทร์ จิตนางมุตตาสิกขมา ถูกกิเลสครอบงำ จึงอยู่ในฐานะอันคับขัน นางมุตตาสิกขมา มีสรณะแล้วใน ผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง กล่าวคือพระพุทธเจ้า ฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคอันสามารถขับกิเลสออกจากจิต ดุจพระจันทร์พ้นจากราหู ฉะนั้น

หากสนใจศึกษาเพิ่มเติ่ม

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค จันทิมสูตร
http://www.84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php…

พระสูรยสูตร ฉบับภาษาทิเบต:สุกัญญา เปมา เดเชน โชโซ
https://www.facebook.com/SukanyaPemaDechenChotsoCharoenwerakul/posts/2009426776050425

Saṃyuktāgama (2nd) 別譯雜阿含經 SA-2 167(一六七)
https://suttacentral.net/sa-2.167/lzh/taisho

“ราหูอมจันทร์” ในพระไตรปิฎกควรตีความอย่างไร? โดย พระมหาสมบูรณ์ วฑฺุฒิกโร, ดร
http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php…

Buddha Frees the Disc of the Moon “(Candrasūtra)” Ernst Waldschmidt
Bulletin of the School of Oriental and African Studies, University of London
http://www.jstor.org/stable/613334?

อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวปุตตสังยุต ปฐมวรรค สุริยสูตรที่ ๑๐
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=246

บทบาทของพระจันทร์ในอรรถกถาชาดก1
THE ROLE OF THE MOON IN JATAKATTHAKATHA
สุภัค มหาวรากร / SUPAK MAHAVARAKORN
ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Loading

Be the first to comment on "คาถาในจันทิมสูตร และ สุริยสูตร ภาษาบาลี สันสกฤต จีน ทิเบต ประเด็นปัญหาการตีความเรื่อง ราหู และ คราส ในพระไตรปิฎก"

Leave a comment