ทักขิณาวิภังคสูตร ฉบับภาษาปรากฤตคานธารี จากเศษคัมภีร์เปลือกไม้ อายุ 1,900 ปี เทียบภาษาบาลี

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

เศษคัมภีร์พระสูตร ทักขิณาวิภังคสูตร ในมัธยมาคม ฉบับภาษาปรากฤตคานธารี จากเศษคัมภีร์เปลือกไม้ อายุ 1,900 ปี จากเอกสารชุดบาจัวร์ (บาจูร์) เอกสารต้นฉบับแบบตัวเขียนอักษรขโรษฐี (The Bajaur collection: Kharoṣṭhī manuscripts)

มัธยมาคม คือหมวดพระสูตรหนึ่งในสูตรปิฏก ของพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ เทียบได้กับ มัชฌิมนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก ฝ่ายบาลี

เอกสารต้นฉบับแบบตัวเขียนอักษรขโรษฐี ชุดบาจัวร์ พบเป็นคัมภีร์จดจารบนเปลือกไม้ภูรชะ (Birch bark manuscript) ซึ่งเป็นวัสดุที่นิยมใช้ในในอนุทวีปในสมัยโบราณ ๑ ใน ๒ ชนิดหลักๆ คือ

๑. ภูรชปัตร (भूर्जपत्र : bhūrjapatra: ภูรฺชปตฺร)
แผ่นเปลือกไม้ภูรชะ (भूर्ज : bhūrja: ภูรฺช) หรือ ไม้เบิร์ชหิมาลายัน (Himalayan birch : Betula utilis) ซึ่งพบการบันทึกบนแผ่นเปลือกไม้ เบิร์ชสายพันธุ์ท้องถิ่น นิยมใช้ในอินเดียตอนเหนือ ในยุโรปตะวันออก เช่น รัสเซียโบราณในยุคนอฟโกรอด อีกด้วย ปัจจุบันก็ยังมีการผลิตและการซื้อขายกันอยู่ในอินเดียและปากีสถาน เรียกว่า Bhoj Patra ไว้สำหรับทำของที่ระลึก หรือใช้ในการทำเครื่องลางวัตถุมงคล สำหรับเขียนมนตร์ หรือ ยันต์

ไม้เบิร์ชหิมาลายัน หรือ ไม้ภูรชะ
หนังสือจากไม้ภูรชะ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นหนังสือชื่อ รูปาวตาร ของธรรมกีรติ


๒. ตาลปัตร (तालपत्र : tālapatra : ตาลปตฺร)
แผ่นใบปาล์มชนิดต่างๆ อย่างที่นิยมกันมาก คือใบของต้นลาน ตาลปัตร แต่คำนี้ในภาษาไทยยืมมาใช้ให้ความหมายถึง พัดใบตาล, พัดใบลาน (ปตฺร ภาษาไทยทับศัพท์ใช้คำว่า บัตร)

หนังสือปรัชญาปารามิตา จากใบลาน สมัยราชวงศ์ปาละ


เอกสารชุดบาจัวร์นี้ค้นพบ เมื่อ ปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ.2542) ดร. มูฮัมหมัด นาซิม ข่าน (Muhammad Nasim Khan) อาจารย์ประจำ ภาควิชาโบราณคดีของมหาวิทยาลัยเปศวาร์ (Peshawar University) ปากีสถาน

ดร. มูฮัมหมัด นาซิม ข่าน ผู้ก่อตั้งศูนย์คันธาระศึกษา และ พุทธศึกษา มหาวิทยาลัยเปศวาร์ ปากีสถาน

ได้รับกล่องบรรจุคัมภีร์เปลือกไม้ภูรชะ ค่อนข้างชำรุดมาก จำนวนหนึ่ง ระบุว่าค้นพบในทุ่งนา บริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ ชาวบ้านเรียกว่า มะฮัล (maḥal) ในเขตเมืองบาจัวร์(อังกฤษ : Bajaur พัชตุน,ปาทาน: باجوړ ولسوالۍ‎, อูรดู : ضِلع باجوڑ‎) ใกล้รอยต่อ หมู่บ้านมิอาน กิลิ (Miān Kili) เมืองดีร์ใต้ (Lower Dir) เขตพื้นที่ชนพื้นเมืองที่ปกครองโดยส่วนกลางบาจัวร์(Bajaur Agency) แคว้นไคเบอร์ปัคตูนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ซึ่งบริเวณมะฮัล นี้เคยมีการสำรวจภาคสนามก่อนหน้านี้ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นบริเวณที่ตั้งวัดในศาสนาพุทธในสมัยโบราณ จึงเรียกเอกสารชุดนี้ว่า เอกสารชุดบาจัวร์ (The Bajaur collection)

เขตพื้นที่ชนพื้นเมืองที่ปกครองโดยส่วนกลางบาจัวร์(Bajaur Agency)
ในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีการนับถือศาสนาพุทธ ภายใต้ราชวงศ์ที่อุปถัมภ์พุทธศาสนาติดต่อกัน ถึง 3 ราชวงศ์ 3 ชนชาติ คือ อินโดกรีก อินโดไซเทียน กุษาณะ

ในเอกสารชุดบาจัวร์ ประเมินอายุจากลักษณะอักษรแล้วอายุอยู่ในช่วง ค.ศ. 50 -150 (ราวพุทธศตวรรษ 6-7) จากการวิเคราะห์ ข้อความแล้วพบว่า เป็นข้อความใน พระวินัย ๒ คัมภีร์ พระสูตรจาก 1 คัมภีร์ ปกรณ์วิเศษ 4 คัมภีร์ คัมภีร์มหายาน 2 คัมภีร์ ตำราการปกครองและกฎหมาย 2 ตำรา

ภาพที่ ดร. มูฮัมหมัด นาซิม ข่าน ถ่ายไว้เมื่อได้รับ เศษคัมภีร์ เมื่อแรก

โดยเฉพาะ ข้อความพระวินัย ๒ คัมภีร์ พระสูตรจาก 1 คัมภีร์ นั้น มีข้อความและเนื้อหาคล้ายคลึงกับคัมภีร์เถรวาท ภาษาบาลีอยู่
ในวันนีัจะนำเสนอ ข้อความบางส่วน จากคัมภีร์พระสูตรในมัธยมาคม ภาษาปรากฤตคานธารี เอกสารชุดบาจัวร์ ที่ใกล้เคียงกับ ทักขิณาวิภังคสูตร ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย ที่กล่าวถึงการทำทักษิณาทานของพระแม่น้ามหาปชาบดีโคตมี

คัมภีร์พระสูตรในมัธยมาคม ภาษาคานธารี จากเอกสารชุดบาจัวร์ ที่เป็นแผ่นเปลือกไม้ภูรชะทั้งแผ่น


—————————————–
ทักขิณาวิภังคสูตร เป็นพระสูตรบาลี ที่นักวิชาการให้ความสนใจอยู่มาก เนื่องจากพบในข้อความต้นฉบับโบราณของคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายเหนือ ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกันอยู่หลายฉบับ หลายภาษา เช่น
๑. ภาษาปรากฤต คานธารี จาก เศษข้อความในเอกสารชุดบาจัวร์
๒. ภาษาสันสกฤต จาก เศษข้อความในเอกสารชุด Schøyen : หมายเลข MS 2379/15
๓. ภาษาสันสกฤต จาก เศษข้อความใน Sanskrithandschriften aus den Turfanfunden III : หมายเลข 979
๔. ภาษาจีน จาก เคาตมีสูตร ( 瞿曇彌經 : Qutanmi jing) แปลโดย ท่านเคาตมะ สังฆเทวะ ค.ศ 397-398
๕. ภาษาจีน จาก ทักษิณาวิภังคสูตร (分別布施經 : Fenbiebushi jing) แปลโดย ท่านทานปาละ ค.ศ 1001
๖. ภาษาธิเบต จาก อุปายิกา อภิธรรมโกศฏีกา ของ ศมถเทวะ (Chos mngon paʼi mdzod kyi ʼgrel bshad nye bar mkho ba zhes bya ba ) แปลโดย ท่านชยศรี
๗. ภาษาอุยกูร์โบราณ จาก ไมตริสิมิต โนม บิติค (Maitrisimit nom bitig) ที่แปลมาจาก ไมเตรยสมิตินาฏก (Maitreyasamitināṭaka) ฉบับภาษาโตคาเรียน

และโดยเฉพาะข้อความที่จะนำเสนอ นั้นก็พบในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทชั้นต้น ถึง ๓ คัมภีร์
๑.คัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ทักขิณาวิภังคสูตร
๒.คัมภีร์อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ทักขิณสูตร
๓.คัมภีร์กถาวัตถุปกรณ์ ทักขิณาวิสุทธิกถา ในพระอภิธรรม

ใช้การอ่านเอกสารต้นฉบับ และถอดเป็นอักษรโรมัน โดย พระธัมทินนา ภิกขุนีชาวอิตาลี ปริวรรตเป็นอักษรไทยโดย Thai-Sanscript ยกข้อความมาเพียงบางส่วน และจัดเรียงบรรทัดใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบ

พระธัมทินนา ภิกขุนีชาวอิตาลี ทำการศึกษาไว้ใน : Research on the Madhyama-āgama

คัมภีร์พระสูตรในมัธยมาคม ในส่วนที่ยกข้อความมาปริวรรต


—————————————–
ข้อความใน คัมภีร์พระสูตรในมัธยมาคม ภาษาคานธารี จากเอกสารชุดบาจัวร์
—————————————–
[01] จตฺวริเม อนํท ธกฺษิน ปริโศธิ กทร จตฺวริ
[02] อสฺติ ธกฺษิน ทยโท ศุช̄ติ น ปฑิคหโท
[03] อสฺติ ธกฺษิน ปฑิคหโท ศุช̄ติ น ทยโท
[04] อสฺติ ธกฺษิน เณวิ ทยโท ศุช̄ติ น ปฑิคหโต
[05] อสฺติ ธกฺษิน ทยโต จ ปฑิคหโต จ ศุช̄ติ
[06] กส̱ จ อนํท ธกฺษิน ทยโท ศุช̄ติ น ปฑิคหโต
[07] อิศ อนํท ทยโอ ศิลว โภติ กลนธโม ปฑิคหโอ ทุศิโล โภติ ปวธํโม
[08] อย อนท ธกฺษิน ทยโต ศุช̄ติ น ปฑิคหโต
[09] กสํ จ อนท ธกฺษิน ปฑิคหโต ศุช̄ติ น ทยโต
[10] อิศ อนท ปฑิคฺรหโอ ศิลว โภติ กลนธํโม ทยโอ ทุศิโล โภติ ปวธํโม
[11] อย อนํท ปฑิคเหอโท ศุช̄ติ น ทยโต


—————————————–
ข้อความใน ทักขิณาวิภังคสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย ภาษาบาลี
—————————————–
[01] จตสฺโส โข ปนิมานนฺท ทกฺขิณาวิสุทฺธิโย ฯ กตมา จตสฺโส
[02] อตฺถานนฺท ทกฺขิณา ทายกโต วิสุชฺฌติ โน ปฏิคฺคาหกโต
[03] อตฺถานนฺท ทกฺขิณา ปฏิคฺคาหกโต วิสุชฺฌติ โน ทายกโต
[04] อตฺถานนฺท ทกฺขิณา เนว ทายกโต วิสุชฺฌติ โน ปฏิคฺคาหกโต
[05] อตฺถานนฺท ทกฺขิณา ทายกโต เจว วิสุชฺฌติ ปฏิคฺคาหกโต จ
[06] กถญฺจานนฺท ทกฺขิณา ทายกโต วิสุชฺฌติ โน ปฏิคฺคาหกโต
[07] อิธานนฺท ทายโก โหติ สีลวา กลฺยาณธมฺโม ปฏิคฺคาหกา โหนฺติ ทุสฺสีลา ปาปธมฺมา
[08] เอวํ โข อานนฺท ทกฺขิณา ทายกโต วิสุชฺฌติ โน ปฏิคฺคาหกโต
[09] กถญฺจานนฺท ทกฺขิณา ปฏิคฺคาหกโต วิสุชฺฌติ โน ทายกโต
[10] อิธานนฺท ทายโก โหติ ทุสฺสีโล ปาปธมฺโม ปฏิคฺคาหกา โหนฺติ สีลวนฺโต กลฺยาณธมฺมา
[11] เอวํ โข อานนฺท ทกฺขิณา ปฏิคฺคาหกโต วิสุชฺฌติ โน ทายกโต
—————————————–
ข้อความใน ทักขิณาวิภังคสูตร แปลไทย ฉบับหลวง
—————————————–
[1] ดูกรอานนท์ ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นไฉน
[2] ดูกรอานนท์ ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก(ผู้ให้) ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก(ผู้รับ)
[3] บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
[4] บางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์
[5] บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก ฯ
[6] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร
[7] ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหก เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล
[8] ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
[9] ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายทายกอย่างไร
[10] ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล
[11] ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

เปรียบเทียบภาษาปรากฤตคานธารี กับ ภาษาบาลี รายบรรทัด มีการสลับตำแหน่งของภาษาบาลีบางบรรทัด เพื่อให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกัน

ดูอ้างอิงใน :

https://www.facebook.com/ThaiSanscript/posts/1606192576209810

Loading

Be the first to comment on "ทักขิณาวิภังคสูตร ฉบับภาษาปรากฤตคานธารี จากเศษคัมภีร์เปลือกไม้ อายุ 1,900 ปี เทียบภาษาบาลี"

Leave a comment