โอวาทปาฏิโมกข์ และ อาณาปาฏิโมกข์ : ปาฏิโมกข์ ๒ ประเภท ที่แตกต่างกันของนิกายต่างๆ

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

ปาฏิโมกข์ ๒ ประเภท โอวาทปาฏิโมกข์ และ อาณาปาฏิโมกข์
[มีการเขียน ๒ รูปแบบ ปาฏิโมกข์ หรือ ปาติโมกข์ ขอใช้ปาฏิโมกข์ เป็นหลัก ส่วนข้อความที่มีมาในคัมภีร์เขียนอย่างไร ก็จะใช้อย่างนั้น โอวาทปาฏิโมกข์ และ อาณาปาฏิโมกข์ เป็นคำที่มีมาในอรรถกถา ใช้เพื่อให้ง่ายต่อการจำแนก]

ความหมายของ ปราติโมกษ์ ปาฏิโมกข์ ปาติโมกข์ (ปฺราติโมกฺษ , ปาฏิโมกฺข,ปาติโมกฺข)

คำว่า प्रातिमोक्ष ในภาษาสันสกฤต ปฺราติโมกฺษ หรือในบาลีเรียกว่า ปาฏิโมกฺข มีความหมายในนัยยะ เกี่ยวข้องกับความหลุดพ้น โดยมีความหลายในนัยยะหลักๆ ดังจะแสดงให้พอสังเขป

———————————-

นัยยะที่ 1 แปลว่า “ความหลุดพ้นเฉพาะ”

โดย ปฺราติโมกฺษ หรือ ปาฏิโมกฺข มาจาก [ ปฺราติ , ปฏิ = เฉพาะตัว ,ส่วนตัว] + [ โมกฺษ , โมกข= ความหลุดพ้น ]

———————————-

นัยยะที่ 2 แปลว่า “ธรรมอันนำไปสู่ความหลุดพ้น”

โดย ปฺราติโมกฺษ หรือ ปาฏิโมกฺข มาจาก[ปฺราติ , ปฏิ = สู่ ,ยัง ] +[โมกฺษ , โมกข = ความหลุดพ้น]

ซึ่งใน มหาสังฆิกะและโลโกตตรวาทปราติโมกษ์สูตร ฝ่ายสันสกฤต ก็ได้กล่าวว่า

तं प्रातिमोक्षं भवदुःखमोक्षंश्रुत्वान धीराः सुगतस्य भाषितं ।षडिन्द्रियसंवरसंवृतत्वात्करोन्ति जातीमरणस्य अन्तं ॥
ตํ ปฺราติโมกฺษํ ภวทุะขโมกฺษํ ศฺรุตฺวาน ธีราะ สุคตสฺย ภาษิตํ ฯษฑินฺทฺริยสํวรสํวฤตตฺวาตฺ กโรนฺติ ชาตีมรณสฺย อนฺตํ ๚


ผู้ฉลาด เมื่อได้สดับพระปราติโมกษ์อันเป็นภาษิตแห่งพระสุคตเจ้านั้น ย่อมนำมาซึ่งการหลุดพ้นจากความเป็นทุกข์ ย่อมมีสติสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ ให้ถึงซึ่งความดับแห่งชาติและมรณะ

มหาสังฆิกะและโลโกตตรวาทปราติโมกษ์สูตร

ในคัมภีร์ปรมัตถโชติกา ฝ่ายบาลีกล่าวไว้ใกล้เคียงกัน

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาฏิโมกฺขํ ได้แก่ ศีลคือสิกขาบท.อธิบายว่า ศีลคือสิกขาบทนั้น ชื่อว่าปาฏิโมกข์ เพราะยังสัตว์ผู้คุ้มครอง รักษาศีล คือสิกขาบทนั้นให้พ้นคือหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย มีทุกข์ที่ทำให้ต้องเกิดในอบายเป็นต้นความสำรวมระวัง ชื่อว่าสังวร ได้แก่การไม่ล่วงทางกาย ทางวาจา ความสำรวมคือปาฏิโมกข์ ชื่อว่าปาฏิโมกขสังวร

คัมภีร์ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ปัญจมวรรค กัลยาณสูตร

ในคัมภีร์ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย อิติวุตตกะ กัลยาณสูตร ฝ่ายบาลีกล่าวไว้

บทว่า ปาฏิโมกฺขํ ได้แก่ ศีลคือสิกขาบท. อธิบายว่า ศีลคือสิกขาบทนั้น ชื่อว่าปาฏิโมกข์ เพราะยังสัตว์ผู้คุ้มครอง รักษาศีล คือสิกขาบทนั้น ให้พ้นคือหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย

และยังอธิบายไว้อีกหลายความหมาย สรุปคร่าวๆ ดังนี้

๑. หลุดพ้นจากกิเลส ทุกข์

๒. หลุดพ้นจากเกินส่วน คือ กิเลส นิวรณ์

๓. หลุดพ้นสิ่งที่ทำให้ตกไปใน อบายทุกข์ สังสารทุกข์

๔. หลุดพ้นเฉพาะ ๆ คือ พ้นเป็นส่วนๆ ยังกิเลสให้ดับตามสมควร

๕. ดำเนินไปสู่ความหลุดพ้น คือ มุ่งหน้าสู่พระนิพพาน เป็นต้น

และยังมีอีกหลายความหมาย

นัยยะที่ 3 แปลว่า “การพ้นทั่วยิ่ง”

โดยนัยยะนี้ พระอรรถกถาจารย์ฝ่ายบาลีกล่าวไว้ โดยให้ความหมายจากคัมภีร์สุมังคลวิลาสีนี

บทว่า ปาฏิโมกฺเข แยกศัพท์เป็น ป อติ โมกฺขํ แปลว่า การพ้นทั่วยิ่ง คือศีลสูงสุดย่อมรักษาด้วยความวิเศษคือสุคติและย่อมให้พ้นจากภัยคือทุคติ หรือย่อมรักษาสุคติ ย่อมให้พ้นทุคติ เพราะฉะนั้น ศีลนั้นท่านเรียกว่า ปาฏิโมกฺขํ

คัมภีร์สุมังคลวิลาสีนี อรรถกถาทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร

นัยยะที่ 4 แปลว่า “ธรรมที่ควรรักษาเพื่อความความหลุดพ้น”

โดยนัยยะนี้ผู้รู้ภาษาบาลีกล่าวไว้เท่านั้นว่า ปาฏิโมกฺข มาจาก [ปาติ = ย่อมรักษา ] + [โมกข = ความหลุดพ้น] โดยให้ความหมายจาก คัมภีร์วิสุทธิมรรค ว่า

โย ยํ ปาติ โส ตํ โมเจตีติ ปาฏิโมกโขอันว่าบุคคลใด ย่อมรักษา ซึ่งธรรมใด อันว่าธรรมนั้นยังบุคคลนั้น ย่อมให้หลุดพ้น ดังนั้น ธรรมนั้น ชื่อว่า ปาฏิโมกข์



หลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติพระวินัย หรือสิกขาบทเป็นข้อๆ ให้พระได้รักษา เพราะพระสงฆ์สาวกในยุคแรกล้วน การประพฤติปฏิบัติดีถูกต้อง โดยไม่มีวินัยหรือสิกขาบท พระพุทธองค์เพียงแต่แสดงโอวาทที่สำคัญ ๆ เป็นหลักการหลักใหญ่ ๆ ให้เหล่าสาวกฟังเพื่อเตือนสติทุกกึ่งเดือนเท่านั้น เรียกว่า

คัมภีร์วิสุทธิมรรค


โอวาทปาฏิโมกข์

บาลี : โอวาท ปาฏิโมกฺข (ovāda pāṭimokkha)
สันสกฤต : ปราติโมกษ์ (ปฺราติโมกฺษ : prātimokṣa :प्रातिमोक्ष) หรือ ปราติโมกษ์สุภาษิต (ปฺราติโมกฺษํ สุภาษิตํ : prātimokṣaṃ subhāṣitaṃ : प्रातिमोक्षं सुभाषितं)


ทั้งในคติความเชื่อในพุทธศาสนา ถือว่าการให้โอวาทดังกล่าวเป็น พุทธประเพณีว่าพระพุทธเจ้าหลายพระองค์จะทรงแสดงธรรมนี้เหมือน ๆ กันอีกด้วย ทั้งในฝ่ายบาลี และสันสกฤตต่างกล่าวถึงว่าพระพุทธเจ้าทรงยกพระโอวาทตั้งแต่พระวิปัสสีพุทธเจ้ามา (พระวิปัศยินพุทธเจ้า ในฝ่ายสันสกฤต) ในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทได้แสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาฏิโมกข์” นี้ ด้วยพระองค์เอง ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ตลอด 20 พรรษาแรก

โดยเฉพาะการแสดงครั้งแรกใน #วันเพ็ญเดือนมาฆะ หลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน ได้ตรัสในที่ประชุมพระอรหันต์ 1,250 รูป เวฬุวันมหาวิหาร เป็นการแสดงปาฏิโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ 4 เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต หลังจากนั้นพรรษาที่ 21 คณะสงฆ์ขยายขึ้น พระพุทธเจ้างดแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ พระองค์ทรงบัญญัติวินัยและทรงวางข้อกำหนดไว้ เป็นข้อ ๆ เรียกว่า “สิกขาบท” ให้แก่ภิกษุ ภิกษุณี เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคณะสงฆ์ ให้ภิกษุ ภิกษุณีสวดแสดงกันเอง เรียกว่า


อาณาปาฏิโมกข์


หรือในชั้นพระบาลี เรียก ภิกขุปาฏิโมกข์ ภิกขุณีปาฏิโมกข์ หรือเรียกอย่างภาษาพูดว่า ศีลพระ
สันสกฤต : ภิกษุปราติโมกษ์ (ภิกฺษุ ปฺราติโมกฺษ : bhikṣu prātimokṣa : भिक्षु प्रातिमोक्ष)
ภิกษุณีปราติโมกษ์(ภิกฺษุณี ปฺราติโมกฺษ : bhikṣuṇī prātimokṣa : भिक्षुणी प्रातिमोक्ष)


มีพุทธบัญญัติให้สวดปาฏิโมกข์ชนิดนี้ในที่ประชุมสงฆ์ ทุกกึ่งเดือน(ในทุก ๆ วันขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ ในบางเดือนจันทรคติ) เรียกกันว่า การทำอุโบสถ หรือ การลงปาฏิโมกข์ ในส่วนการกระทำที่ละเมิด สิกขาบทดังกล่าว จะเรียกว่า “อาบัติ” อาบัติมีระดับชั้นต่าง ๆ ตามความหนักเบา สามารถแบ่งระดับอาบัติออกได้เป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นรุนแรงจนกระทั่งเบาที่สุด

การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ และ อาณาปาฏิโมกข์ ที่แตกต่างกัน

1. ในแต่ละนิกาย มีจำนวนคาถาใน “โอวาทปาฏิโมกข์” และ จำนวนสิกขาบทใน “ภิกขุ,ภิกขุณี ปาฏิโมกข์” ไม่เท่ากัน

ภายหลังพุทธปรินิพพานเกิดความแตกต่างในการตีความคำสอนและคิดเห็น ซึ่งเกิดจากการรับคำสอนซึ่งต่างกัน อยู่คนละสถานที่ และภาษาในการบันทึกต่างกัน จึงเป็นที่มาของความขัดแย้งในปรัชญาแนวความคิด จึงมีการแยกเป็นนิกายต่างๆขึ้นทำให้
แต่ละสายจึงมีสิกขาบทในในภิกขุ,ภิกขุณี ปาฏิโมกข์ สืบต่อมาในนิกายต่างๆ ไม่เท่ากัน แต่โดยมากมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน โดยแต่ละนิกายจัดหมวดหมู่เท่ากัน กล่าวคือ

1.ปาราชิก
2.สังฆาทิเสส
3.อนิยตะ
4.นิสสัคคิยปาจิตตีย์
5.ปาจิตตีย์
6.ปาฏิเทสนียะ
7.เสขิยวัตร
8.อธิกรณสมถะ

ในส่วนแต่ที่มีความแตกต่างกันมาก แต่ละนิกายมีไม่เท่ากันเลย คือ ส่วนที่เรียกว่าหมวดเสขิยะวัตร หรือหมวดศิกษา ซึ่งเป็นข้อธรรมเนียมและมารยาท ข้อเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น บางนิกายขยายความแยกย่อย บางนิกายรวมหลายข้อเข้าเป็นข้อเดียวกัน บางนิกายเพิ่มระเบียบบางอย่างเข้าไป

และในหมวด ปาจิตตีย์ นิกายที่มีปาจิตตีย์ 92 ข้อมักจะเป็นนิกายเก่ากว่าดั้งเดิมกว่า พวกนิกายที่มีปาจิตตีย์ 91 หรือ 90 ข้อ ซึ่ง ใน 1-2 ข้อที่ขาดไปหลายนิกายนำไปรวบไว้ที่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ส่วนหมวดอื่นๆนั้นโดยรวมแล้วเหมือนกัน

ตารางเปรียบเทียบจากสิกขาบทในพระปาฏิโมกข์เกิดขึ้นเมื่อใด : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ส่วนคาถาใน “โอวาทปาฏิโมกข์” ที่ปรากฏในแต่ละนิกายไม่เท่ากัน เถรวาทนั้นถือเอาเฉพาะคาถา เมื่อตรัสครั้งแรก คือ พุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ดังที่รู้จักัน ส่วนนิกายอื่นมีส่วนพระพุทธพจน์อื่นเข้ามาด้วย ซึ่งคาถาเหล่านั้นก็ปรากฏในคาถาธรรมบทในพระไตรปิฏกบาลีด้วย และจะแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างว่าพระพุทธเจ้าองค์ใด ตรัสคาถาได้ บางนิกายอาจกล่าวสลับกัน

2.เมื่อสวด “ภิกขุ ภิกขุณี ปาฏิโมกข์” จำเป็นต้องสวด “โอวาทปาฏิโมกข์” ต่อหรือไม่ ?

ในชั้นพระวินัยทั้งฝ่ายบาลี และสันสกฤต จีน มีการกล่าวไว้ อย่าไม่ชัดเจน ว่าการสวดปาฏิโมกข์ ต้องสวดพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่เป็นปาฏิโมกข์(โอวาทปาฏิโมกข์) ด้วยหรือไม่ เช่นใน

นิกายเถรวาท

สวดนิทาน สวดปาราชิก ๔ สวดสังฆาทิเสส ๑๓ สวดอนิยต ๒ จบแล้ว พึงสวดอุเทศที่เหลือด้วยสุตบท นี้เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๔. สวดโดยพิสดารหมด เป็นปาติโมกขุเทศที่ ๕.

ปาติโมกขุเทศ อุโบสถขันธกะ ของเถรวาท

นิกายมูลสรรวาสติวาท

[สวดแบบที่] 4.ตั้งชญปติแล้ว แสดงนิทาน แสดงปาราชิกธรรม 4 อย่าง สังฆาทิเสสธรรม 13 อย่าง อนิยตธรรม 2 อย่าง แล้วจึงสวดอุสเทสที่เหลือด้วยศรุตบท [สวดแบบที่] 5.แสดงปราติโมกษสูตรทั้งหมดโดยพิสดาร

มูลสรวาสติวาทวินยวัสตุ โปษธวัสตุ ปราติโมกษสูตโรทเทศ ของมูลสรรวาสติวาท (แปลไว้โดย พระมหาบุญเกิด เจริญแนว : 2013)

นิกายธรรมคุปต์

สวดแบบที่ 4 คือ สวดหมวด 4(ปาราชิก) สวดหมวด 13(สังฆาทิเสส) สวดหมวด 2 (อนิยตะ) สวดหมวด 30 (นิสสัคคิยปาจิตตีย์) สวดหมวด 90 (ปาจิตตีย์) ข้อที่เหลือพึงกล่าวว่า ตามปกติที่สงฆ์ได้ยินมา สวดแบบที่ 5 สวดทุกบท

ธรรมคุปตวินัย โปษธะสกันธกะ ปราติโมกโษทเทศ ของนิกายธรรมคุปต์

สุตบท ศรุตบท คือ บทที่ได้ยินมา การยกเป็นหัวข้อ ไม่ต้องสวดรายละเอียดเป็นข้อๆ สวดพิสดาร หมายความว่าสวดโดยละเอียด สวดหมดทุกบท

ประโยคที่ว่า สวดพิสดาร สวดทุกบท คำนี้ที่เป็นปัญหา คือการสวดปาฏิโมกข์ ปกติต้องสวดแบบที่ 5 คือ สวดพิสดาร สวดทุกบท นี้และครับ และตามปกติทุกนิกาย สวด 8 หมวดหมู่เหมือนกัน คือ ปาราชิก ถึง อธิกรณสมถะ แต่นิกายอื่นๆ ยกเว้นเถรวาท ถือว่า สวดพิสดาร สวดทุกบท นี้ต้องสวดพระโอวาทของพระพุทธเจ้าที่เป็นปาฏิโมกข์(โอวาทปาฏิโมกข์)ด้วย

จากคัมภีร์ภิกษุปราติโมกษ์ฝ่ายสันสกฤต ที่ยังเหลือต้นฉบับภาษาสันสกฤตอยู่นั้น และที่แปลเป็นจีนแล้ว ปรากฏว่า เมื่อจบภิกษุปราติโมกษ์ แล้วจะมีการสวดโอวาทปาฏิโมกข์ต่อ

ในส่วนคัมภีร์ของฝ่ายเถรวาทนั้นกล่าวว่า ไม่ให้สวด จาก คัมภีร์ปรมัตถโชติกา ความว่า

ก็พระปาติโมกข์มี ๒ อย่าง คือ อาณาปาติโมกข์ ๑ โอวาทปาติโมกข์ ๑. ใน ๒ อย่างนี้ คำมีอาทิว่า “สุณาตุ เม ภนฺเต” – ชื่อว่าอาณาปาติโมกข์. อาณาปาติโมกข์นั้น พระสาวกทั้งหลายเท่านั้น ย่อมสวดซึ่งสวดกันทุกกึ่งเดือน พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาสวดไม่.

ก็สามคาถาเหล่านี้ คือ “ขนฺติ ปรมํ ฯเปฯ สพฺพปาปสฺส อกรณํ ฯเปฯ อนูปวาโท อนูปฆาโต ฯเปฯ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ “-
ดังนี้ ชื่อว่าโอวาทปาติโมกข์. โอวาทปาติโมกข์นั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้นย่อมแสดง สาวกหาแสดงไม่.

ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โสณเถรวรรคที่ ๕ อุโปสถสูตร


ความเห็นจากผู้เรียบเรียง

จากข้อสังเกต นิกายมหาสังฆิกะ และนิกายสรรวาสติวาท นั้นเป็นศัตรูคู่ปรับกัน มีการโจมตีกันทางปรัชญาและธรรมวินัยอย่างรุนแรง จนถึงขั้นประนามว่าอีกฝ่ายเป็นพวกมิจฉาทิฐิ เป็นพวกนอกศาสนา แต่ใน คัมภีร์ภิกษุปราติโมกษ์ทั้งสองนิกาย กลับมีส่วนเหมือนกันคือ มีโอวาทปาติโมกข์ ในส่วนท้าย

ซึ่งนิกายสรรวาสติวาท แต่เดิมนั้นถือตัวว่าเป็นสถวีรวาท(เถรวาท) แต่ภายหลังได้มีความขัดแย้งด้านพระอภิธรรม กับ สถวีรวาท กระแสหลัก จึงแยกตัวออกมา นิกายสรรวาสติวาท นี้ใช้ภาษาสันสกฤตในการบันทึกพระธรรมวินัย และข้อพระวินัยกับพระสูตรนั้นใกล้เคียงกับ ฝ่ายบาลีมาก มีนักผู้เชี่ยวชาญบางส่วนจัดให้นิกายนี้อยู่ในสาย สถวีรวาท(เถรวาท) แขนงหนึ่งที่เรียกว่า “เถรวาทฝ่ายสันสกฤต” หรือ “เถรวาทแห่งเอเชียกลาง” เนื่องจากได้ขยายตัวแพร่เข้าสู่เอเชียกลาง และเจริญรุ่งเรืองในเอเชียกลาง

และจากที่มีอรรถาธิบายข้อวินิฉัยของฝ่ายเถรวาท ชี้ขาดในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ผู้เรียบเรียงจึงสันนิษฐานเอาเองว่า อย่างเร็วสุดก่อนสังคายนาครั้งที่ 3 อย่างช้าสุดก่อนการชำระอรรถกถา เถรวาทบางสายอาจมีการ สวดโอวาทปาฏิโมกข์ ต่อ เมื่อมีการสวด “ภิกขุ/ภิกขุณี ปาฏิโมกข์” จบลงก็เป็นได้


1. ภาพพระพุทธเจ้าทรงโอวาทปาฏิโมกข์ ในมหาสาวกสันนิบาต ผลงานท่านอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต


2. ภูมิพโลภิกขุ[ด้านซ้ายมือ] (ล้นเกล้ารัชกาลที่ 9) ทรงสดับภิกขุปาฏิโมกข์ ตามพระพุทธบัญญัติ อย่างพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499


3.ภิกษุณีธุบเตน ชอดรอน (Thubten Chodron) เป็นองค์แสดง ภิกษุณีปราติโมกษ์ อย่างพุทธศาสนาแบบทิเบต ณ ศราวัสตีแอบบีย์ รัฐวอชิงตัน (Sravasti Abbey) ที่มาจาก ภาพปกหนังสือ Bhikṣuṇī Poṣadha and Rites to Establish the Territory (อุโบสถกรรมสำหรับภิกษุณี[โปษธกรรม] และการผูกสีมา )


4. การทำอุโบสถกรรม(포살) อย่างพุทธศาสนาแบบเกาหลี นิกายโชเก ที่ยังรักษาพระวินัยแบบธรรมคุปต์ มีการแสดงปราติโมกษ์ (바라제목차) และปลงอาบัติเช่นกัน

Loading

Be the first to comment on "โอวาทปาฏิโมกข์ และ อาณาปาฏิโมกข์ : ปาฏิโมกข์ ๒ ประเภท ที่แตกต่างกันของนิกายต่างๆ"

Leave a comment