วินัยปิฎกฝ่ายธรรมคุปต์ เทียบ วินัยปิฎกฝ่ายเถรวาท

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

ความเป็นมาและโครงสร้างจาตุรวรรคียวินัย ธรรมคุปตวินัย
และการจำแนกหมวดหมู่ในจาตุรวรรคียวินัย เทียบกับ คัมภีร์ในพระวินัยปิฎก พระไตรปิฎกบาลีเถรวาท

จาตุรวรรคียวินัย (四分律 : Sì fēn lǜ : ซื่อเฟินลวื่อ : พระวินัย ๔ วรรค) หรือ ธรรมคุปตวินัย เป็นพระวินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปต์ ซึ่งต่อมา เป็นพระวินัยปิฎกหลักของฝ่ายมหายานในปัจจุบัน

จาตุรวรรคียวินัย 四分律 จากแม่พิมพ์ไม้ ฉบับเกาหลี

นิกายธรรมคุปต์

นิกายธรรมคุปต์ เป็นนิกายนี้รุ่งเรืองในแคว้นคันธาระและเอเชียกลางนิกายหนึ่ง นักวิชาการจัดกลุ่มนิกายธรรมคุปต์ ว่าเป็นนิกายที่อยู่ในกลุ่ม สถวีรวาท คือ เป็นนิกาย ที่เห็นด้วย กับกลุ่มเถรวาทดั้งเดิม แต่ ไม่เห็นด้วย กับนิกายมหาสังฆิกะที่แยกตัวออกไป


และอยู่ในกลุ่มย่อย วิภัชชวาท เช่นเดียวกับ นิกายเถรวาทในลังกา คือปฏิเสธแนวคิดแบบนิกายสรรวาสติวาท


แต่มุมมองของนิกายธรรมคุปต์ กลับมีแนวคิดให้ความสำคัญเกี่ยวเรื่องโพธิสัตว์ ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับนิกายมหาสังฆิกะอยู่มาก และการไม่ยอมรับหลักการบางอย่างของนิกายสรรวาสติวาท ซึ่งเมื่อแรกนั้นนิกายสรรวาสติวาทถือว่าเป็นคู่ปรับกับฝ่ายมหายาน(แต่ภายหลังก็ถูกกลืนเป็นมหายาน) ทั้งสองข้อนี้อาจเป็นที่พึงพอใจของฝ่ายมหายาน

การสืบสายพระวินัยปิฎกฝ่ายนิกายธรรมคุปต์ในมหายาน

ภาพจากถ้ำเบเซลิก เป็นภาพพระภิกษุชาวจีนทำความเคารพพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ ที่มีลักษณะชาติพันธุ์คอเคเซียน ซึ่งอาจเป็นชาวเอเชียกลางหรืออินเดีย

ฝ่ายมหายาน ไม่ได้มีคัมภีร์พระวินัยหลักเป็นเอกเทศของตน หากแต่ถือตามสายพระวินัยของสาวกยานในนิกายใดนิกายหนึ่ง ตามที่ครูอาจารย์อุปัชฌาย์ของตนที่ได้สืบสายอุปสมบทมา ดังนั้นพระภิกษุมหายานในโบราณ จะบวชมาจากนิกายต่างๆกัน แต่จะถือและศึกษาในมหายานสูตรแบบเดียวกัน

เมื่อพุทธศาสนามหายานเข้าไปในประเทศจีนแรก ๆ ก็ปรากฎเหตุการอย่างในอินเดีย คือ พระภิกษุมหายานถือข้อปฏิบัติและอุปสมบทจากพระวินัยที่แตกต่างกัน โดยสายพระวินัยที่มหายานใช้ในอินเดีย มาจากในนิกายใหญ่ดังนี้ เช่น มหาสังฆิกะ สรรวาสติวาท มูลสรรวาสติวาท มหีศาสกะ ธรรมคุปต์ กาศยปิยะ หรือแม้แต่เถรวาทในลังกาเอง และมหายานในจีนเองก็ได้มีการแปลพระวินัยในนิกายเหล่านี้ไว้ในพระไตรปิฎกของตนด้วย

ภาพจิตรกรรมจากโบราณสถานในเขตซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน แต่เดิมก็นับว่าอยู่ในเขตภูมิศาสตร์เอเชียกลาง
มักพบภาพที่แสดงพระภิกษุอินเดียหรือเอเชียกลาง กับพระภิกษุจีนสังเกตได้จากการนุ่งห่มจีวร ปรากฎคู่กันอยู่บ่อยครั้ง พระภิกษุอินเดียหรือในเอเชียกลางนับว่า เป็นครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของกุลบุตรของจีนในยุคเริ่มแรก

เนื่องจากแนวปฏิบัติที่ต่างกัน ภายหลังทางการจีน ได้แก้ไขปัญหานี้ ในสมัยราชวงศ์ถัง ในรัชสมัยจักรพรรดิถังจงจง(中宗) ในค.ศ. ๗๐๙ ได้มีออกพระราชกฤษฎีกาประกาศให้พระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ กลายเป็นพระวินัยฉบับเดียวที่ใช้ในการอุปสมบทและการทำสังฆกรรมของพระภิกษุในอาณาจักรจีน

ซึ่งจีนเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่แนวคิดฝ่ายมหายานในเอเชียตะวันออก ทำให้มหายานในภูมิภาคนี้ที่ได้รับอิทธิพลของจีนก็ล้วนใช้วินัยฉบับนี้เป็นหลักด้วย ดังนั้นในปัจจุบันในฝ่ายมหายานในนิกายที่ยังรักษาพระวินัยอยู่ ล้วนแต่เป็นสายพระวินัยในนิกายธรรมคุปต์ทั้งสิ้น (ยกเว้นในฝ่ายวัชรยานแบบทิเบต ใช้วินัยจากนิกายมูลสรรวาสติวาท)

ซึ่งทำให้ปัจจุบัน สายพระวินัยที่ยังไม่ขาดสายเหลือเพียง ๓ สายเท่านั้น คือ
๑.สายเถรวาท
๒.สายธรรมคุปต์
๓.สายมูลสรรวาสติวาท


พระวินัย คืออะไร

พระวินัย คือ พระพุทธพจน์(ถ้อยคำของพระพุทธเจ้า) ในหมวดวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับกฎความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ อาจกล่าวได้ว่า เป็นธรรมนูญและกฎหมายประกอบของหมู่สงฆ์ก็ว่าได้

พระวินัยปิฎก คืออะไร

ปิฎก(ปิ-ดก : ฎอ ชฎา) เป็นคำไทยที่ แผลงจากคำบาลี ว่า ปิฏก (ปิ-ฏะ-กะ : ฏอ ปฏัก) แปลตามศัพท์ว่า ตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว พระวินัยปิฎก คือ ประมวลพระพุทธพจน์ หมวดหมู่ที่เป็นพระวินัย และคู่มือพระวินัยที่พระสังคีติกาจารย์(ผู้ทำสังคายนา) รวบรวมไว้คราวทำสังคายนา


โครงสร้างพระวินัยปิฎกของทุกนิกายมักมีโครงสร้างใหญ่ๆ คล้ายกัน ๓ ส่วนคือ

๑.วิภังค์

มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิกขาบทของพระภิกษุ “ใน” ปาฏิโมกข์ เถรวาทเรียก ภิกขุวิภังค์ หรือ มหาวิภังค์ ฝ่ายสันสกฤต เรียกว่า ภิกษุวิภังค์ ( भिक्षुविभङ्ग ในฉบับแปลจีน: 比丘分) และว่าด้วยสิกขาบทของภิกษุณี “ใน” ปาฏิโมกข์ เถรวาทเรียก ภิกขุนีวิภังค์ ฝ่ายสันสกฤต เรียกว่า ภิกษุณีวิภังค์ ( भिक्षुणीविभङ्ग : 比丘尼分)

๒. ขันธกะ

หรือในฝ่ายสันสกฤตเรียกว่า สกันธะ (สฺกนฺธก : स्कन्धक ในฉบับแปลจีน : 揵度) หรือ วัสตุ(วสฺตุ : वस्तु) เป็นรายละเอียด ที่มา การวินิฉัย ข้อบัญญัติสิกขาบท “นอก” ปาฏิโมกข์ เกี่ยวกับกฎความประพฤติ มารยาท ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ระเบียบวิธีต่างๆ และเรื่องที่เพิ่มเข้ามาหลังการทำสังคายนา อีก ๒ ขันธกะ ในเถรวาท ขันธกะ แบ่งส่วนนี้เป็น ๒ ส่วนเรียกว่า มหาวรรค และ จุลวรรค

๓.คู่มือพระวินัยของพระสังคีติกาจารย์

จากการทำสังคายนาครั้งแรก ในส่วนพระวินัย พระกัสสปเถระเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเถระ เป็นผู้ตอบ และสาธยายพระพุทธพจน์ที่เป็นพระวินัย ท่ามกลางเหล่าพระธรรมสังคหกาจารย์ หรือพระอรหันต์ผู้ทำปฐมสังคายนาในครั้งนั้น ได้มีมติยกสรุปความจากเนื้อหาในพระวินัยหมวดที่กล่าวมาก่อนข้างต้น ไว้เป็นคู่มือ มีเนื้อหาเป็นลักษณะคำถามคำตอบ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การสอน รวมไปถึงการซักซ้อมเพื่อให้เกิดความเข้าใจในพระวินัยโดยชัดเจน ในฝ่ายเถรวาทเรียกว่า ปริวาร

คัมภีร์ในลักษณะ ปริวาร ในฝ่ายสันสกฤต มีส่วนที่เนื้อหาคล้ายคลึงกันแต่แตกต่างกันอยู่ในส่วน วิธีการสรุปประเด็นและการดำเนินเรื่อง การจัดหมวดหมู่ มีเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละนิกาย เรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ของนิกายสรรวาสติวาท นำไปแยกย่อยอีกหลายหมวด ยกตัวอย่างเช่น อุปาลิปริปฤจฉา เอโกตตรธรรม อุภัยโตวินัย สัมยุกต์ เป็นต้น ของนิกายมูลสรรวาสติวาท เรียก วินัยอุตตรครันถะ (วินโยตฺตรคฺรนฺถ : วินย-อุตฺตร-คฺรนฺถ) ของนิกายธรรมคุปต์ แบ่งเป็น สัมยุกตวรรค(調部) และ วินัยเอโกตตระ(毘尼增一) (วินไยโกตฺตร : วินย-เอโกตฺตร)


จาตุรวรรคียวินัย หรือ ธรรมคุปตวินัย

ต้นฉบับดั้งเดิมของคัมภีร์อาจเป็น ภาษาสันสกฤต หรืออาจเป็น ภาษาปรากฤตคานธารี เป็นพระวินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปต์ เจริญมากในเขตอินเดียเหนือและเอเชียกลาง จาตุรวรรคียวินัย แปลเป็นภาษาจีน เมื่อราว ค.ศ.๔๑๐-๔๑๒ (พ.ศ.๙๕๓-๙๕๕) โดยพระพุทธยศ (佛陀耶舍 : buddhayaśa : พุทธะยะศะ) ปัจจุบันต้นฉบับสูญหาย เหลือเพียงเศษเสี้ยวคัมภีร์ภาษาปรากฤตคานธารีอยู่บ้างเล็กน้อย กับฉบับแปลจีนเท่านั้น

พระพุทธยศ


พระพุทธยศ ( 佛陀耶舍 ไม่ระบุแน่ชัด ราว ค.ศ.300 กว่า – 400 ต้นๆ ) เกิดในสกุลพราหมณ์ ชาวอินเดียเหนือ แคว้นกัศมีระ-คันธาระ (ปัจจุบันกินเนื้อที่ในอินเดียตอนเหนือ ปากีสถานตอนเหนือ อัฟกานิสถานตะวันออก) เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี บรรพชาเป็นสามเณร พออายุได้ ๑๙ ปี ท่านก็ทรงจำพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ของสาวกยาน และพระสูตรมหายานได้หลายคัมภีร์แล้ว ครั้นถึงอายุ ๒๐ ปีท่านก็ยังไม่อุปสมบท ท่านยังเรียนปัญจวิทยา ศาสตร์ต่างๆที่เป็นวิชาการทางโลก ๕ อย่างเพิ่มเติม กับอาจารย์ที่เป็นลุงทางมารดาของท่านก่อน จนอายุได้ ๒๗ ปี จึงเข้ารับการอุปสมบท

罽賓三藏佛陀耶舍
พระพุทธยศัส หรือ พระพุทธยศ พระตรีปิฏกาจารย์ ชาว แคว้นกัศมีระ-คันธาระ ( 罽賓 : Jì bīn) เป็นการเรียกภูมิศาสตร์ของจีนโบราณ แต่อาณาบริเวณจริงๆ ออกไปเกินแคว้นกัศมีระ คันธาระ ไปมาก ปัจจุบันกินเนื้อที่ในอินเดียตอนเหนือ ปากีสถานตอนเหนือ อัฟกานิสถานตะวันออก

พระพุทธยศพบพระกุมารชีพ


พระพุทธยศ เป็นบุคคลร่วมสมัยกับพระกุมารชีพ (ค.ศ.344 – 413) พระฟาเหียน (ค.ศ.337 – 422)

และปรากฏว่าพระพุทธยศเป็นพระอาจารย์ของพระกุมารชีพด้วย ท่านได้มีโอกาสสอนพระวินัยและพระอภิธรรม แก่พระกุมารชีพ ที่เมืองคัชการ์ ( ปัจจุบันตั้งอยู่ทางตะวันตกสุดของประเทศจีน เขตซินเจียงอุยกูร์ ใกล้พรมแดน อัฟกานิสถาน คีร์กีซสถาน ปากีสถาน และทาจิกิสถาน)

พระกุมารชีพ หรือ พระกุมารชีวะ จากสารคดีพระกุมารชีพภาคภาษาจีน ในช่อง CCTV

ในช่วงปี ค.ศ. ๔๐๘-๔๑๓ พระกุมารชีพได้เชิญชวนท่านมาแปลคัมภีร์ที่นครฉางอาน ท่านได้แปลพระสูตรในทีรฆาคม หรือ ทีฆนิกาย และพระสูตรมหายานจำนวนหนึ่ง และจาตุรวรรคียวินัย

อนุสาวรีย์พระกุมารชีพในประเทศจีน

ในการแปลจาตุรวรรคียวินัย นี้จากบันทึกกล่าวว่าเป็นการแปลจากการท่องจำคัมภีร์ต้นฉบับของพระพุทธยศเอง โดยมีพระผู้ช่วยชื่อ พระจุ๊ฝอเนี่ยน (Zhu Fonian 竺佛念) เป็นผู้ช่วยในการแปลในด้านภาษาจีน

ซึ่งสมดังในบันทึกพระฟาเหียนเป็นบุคคลร่วมสมัยกับพระพุทธยศ ใด้กล่าวว่า ในยุคนั้น คณาจารย์ในอินเดียเหนือ และจีน ยังนิยมสั่งสอนพระวินัยกันแบบมุขปาฐะอยู่ ท่านแสวงหาคัมภีร์พระวินัยในอินเดียเหนือ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สมบูรณ์ทั้งปิฎกไม่ได้เลย จึงต้องลงมาถึงมัชฌิมประเทศ ในแคว้นมคธ ถึงได้พระวินัยฉบับตัวเขียนที่สมบูรณ์ เป็นคัมภีร์ มหาสังฆิกวินัย และ สรรวาสติวาทวินัย และลงไปถึงลังกา ถึงได้ มหิสาสกวินัย

พระฟาเหียน หรือ พระฝาเสี่ยน จากสารคดีพระกุมารชีพภาคภาษาจีน ในช่อง CCTV

พระฟาเหียนกล่าวเสริมว่าคณะสงฆ์ในจีนขณะนั้น ก็มีพระวินัยเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เล่าเรียนสั่งสอนกันเป็นมุขปาฐะ คือสอนกันปากเปล่าจากอาจารย์สู่อาจารย์ และคณะสงฆ์ก็ไม่มีการขีดเขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษรเลย ท่านจึงสงสัยว่า พระวินัยที่ปฏิบัติกันในประเทศจีนนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ตามต้นฉบับหรือไม่ ท่านคงอยากใคร่อยากจะได้เห็นพระวินัยอันเป็นต้นฉบับตัวเขียนให้แน่ใจ

อนุสาวรีย์พระฟาเหียนในประเทศจีน

แต่อาจจะเป็นธรรมเนียมของปราชญ์บัณฑิตในจีน ที่เชื่อถือเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากกว่า แบบมุขปาฐะการทรงจำอันเป็นที่นิยม เป็นธรรมเนียมของปราชญ์บัณฑิตในอินเดียยุคเก่าก่อน ซึ่งคณาจารย์ในพุทธศาสนาฝ่ายเหนือยังนิยมรักษารูปแบบนี้ไว้ (แต่อินเดียในสมัยนั้นก็นิยมจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรมานานแล้วเช่นกัน)

ยุคทองของการแปลพระวินัยปิฎกในจีน

ในปี ค.ศ. ๔๐๔ – ๔๒๓ ซึ่งถือเป็นยุคทองของการแปลพระวินัยปิฎกในจีน สายพระวินัยในจีนซึ่งมีการถือรักษากันหลายสายหลายนิกายนั้น เริ่มมีการแปลและบันทึกพระวินัยปิฎกของนิกายต่างๆ ทั้งปิฎกเข้าสู่ประเทศจีน และทั้งสามท่านก็ได้แปลพระวินัยปิฎกในแต่ละนิกายต่างกันไป

ปี ค.ศ. ๔๐๔-๔๐๗ พระกุมารชีพและคณะ แปล ทศภาณวารวินัย (十誦律) พระวินัยปิฎกของนิกายสรรวาสติวาท

ปี ค.ศ. ๔๑๐-๔๑๒ พระพุทธยศและพระผู้ช่วยจุ๊ฝอเนี่ยน แปล จาตุรวรรคียวินัย (四分律) พระวินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปต์

ปี ค.ศ. ๔๒๐-๔๒๒ พระฟาเหียนและคณะ แปล มหาสังฆิกวินัย (摩訶僧祇律) พระวินัยปิฎกของนิกายมหาสังฆิกะ

ปี ค.ศ. ๔๒๓ พระพุทธชีพและคณะ แปล มหิศาสกปัญจวรรคีกวินัย (彌沙塞部和醯五分律) และพระวินัยปิฎกของนิกายมหิศาสกะ ที่พระฟาเหียนนำมาจากลังกา

มุขปาฐะ

ขออธิบาย มุขปาฐะ อีกสักหน่อย มุขปาฐะ คือรูปแบบการทรงจำคัมภีร์ต่างๆ รูปแบบหนึ่งต่างจากการเขียน โดยใช้วิธี การฟังจากผู้หนึ่งที่ทรงจำได้ แล้วท่องจำจนขึ้นใจและกล่าวเป็นเสียงออกมาทางปากอย่างคล่องแคล่วและแม่นยำ มีการส่งต่อโดยการสวดสอนให้ผู้อื่นฟัง แล้วก็ท่องไปอย่างนี้ส่งรุ่นต่อรุ่น แล้วสอบทานความถูกต้องโดยการ ซ้อมสวดเป็นหมู่ๆ ของตนพร้อมๆ กัน ช่วยกันจำ การท่องจำและมุขปาฐะ นี้เป็นธรรมเนียมอย่างกลางๆ ในอินเดียโบราณไม่ได้ใช้ในเฉพาะพุทธศาสนา แต่ที่ใช้โดยทั่วไปของศาสนาในอินเดียโบราณก่อนการมีพุทธศาสนา

ใช้ในการจดจำคัมภีร์ในศาสตร์อื่นๆ ด้วย มิใช่คัมภีร์ทางศาสนาเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่การบอกเล่าต่อๆกันมา ด้วยปากเปล่า อย่างที่เข้าใจกัน แต่มีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับการซ้อมสวดท่อง ตัวอย่างที่ตกทอดมาถึงในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น การสวดพระเวทของพราหมณ์ ในอินเดีย หรือที่หลงเหลือมาถึงในไทยปัจจุบัน เพียงบางส่วนเช่น การสวดพระปาฏิโมกข์ สวดพระสูตรสำคัญๆ เพียงบางพระสูตร การเรียนพระบาลีแบบในสายจารีต และหาได้เป็นเรื่องแปลกประหลาดเกินความสามารถมนุษย์ที่จะท่องจำไม่ เพราะปรากฏการท่องจำคัมภีร์ทั้งคัมภีร์ในศาสนาอื่นๆก็มี ในพม่าปัจจุบันก็มีผู้ทรงจำพระไตรปิฎกทุกปิฎกได้จำนวนหนึ่ง และทรงจำบางปิฎกได้หลายรูป

พระผู้ทรงพระไตรปิฎกของพม่า ที่เดินทางมาเยือนไทย ณ วัดจากแดง ปี 2557

โครงสร้างจาตุรวรรคียวินัย (ธรรมคุปตวินัย)

ธรรมคุปตวินัย ภาษาปรากฤตคานธารี อักษรขโรษฐี ที่พบในบาจัวร์ ปากีสถาน(Bajaur) เป็นส่วนของภิกษุวิภังค์ สิกขาบทนิสสัคคิยปาจิตตีย์ นิสสัคคิยะ ภาษาบาลี ในภาษาคานธารี เรียกว่า เณสะคิ (ṇesagi) ภาษาจีนทับศัพท์ว่า 尼薩耆 (Ní sà qí )

กลับมาที่ จาตุรวรรคียวินัย (四分律 : Sì fēn lǜ : ซื่อเฟินลวื่อ : พระวินัย ๔ วรรค) ชื่อนี้เป็นชื่อของฝ่ายจีน หมายถึง ธรรมคุปตวินัย หรือพระวินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปต์นั้นเอง

ส่วน ๔ วรรคในที่นี้ไม่ได้จัดเป็นหมวดหมู่อะไรโดยเฉพาะเจาะจง เพียงแต่จัดเข้าชุดเท่านั้น หากหมวดใดเนื้อหามากก็นำไปจัดเข้าวรรคถัดไป (คงดูจากปริมาณอักษรที่ลงในผูกหนังสือ) แต่ละวรรคมีเนื้อหาดังนี้

วรรคที่ ๑ (初分) มีเนื้อหา ภิกษุวิภังค์ 比丘分

วรรคที่ ๒ (第二分) มีเนื้อหา ภิกษุณีวิภังค์ 比丘尼分 และ และเริ่มหมวดสกันธะ 揵度 มีสกันธะ ๓ หมวด

วรรคที่ ๓ (第三分) มีเนื้อหา สกันธะอีก ๑๕ หมวด

วรรคที่ ๔ (第四分) มีเนื้อหาสกันธะอีก ๒ หมวด เรื่องประกอบการสังคายนา ๒ หมวด และส่วนคู่มือ คือ สัมยุกตวรรคหรือ วินีตกะ(調部) และ วินัยเอโกตตระ(毘尼增一)

เรียงเนื้อหาตามประเภทในจาตุรวรรคียวินัย เทียบกับ คัมภีร์ในพระวินัยปิฎก บาลีเถรวาทได้ดังนี้

๑. 比丘分 : ภิกษุวิภังค์ อยู่ในจาตุรวรรคียวินัย วรรคที่ ๑ เทียบกับ มหาวิภังค์

๒. 比丘尼分 : ภิกษุณีวิภังค์ อยู่ในจาตุรวรรคียวินัย วรรคที่ ๒ เทียบกับ ภิกขุนีวิภังค์

๓. 揵度 : สกันธะ ๒๐ หมวด เรื่องประกอบการสังคายนา ๒ หมวด รวม ๒๒ หมวด อยู่ในจาตุรวรรคียวินัย วรรคที่ ๒ ๓ และ ๔ เทียบกับ มหาวรรค และ จุลวรรค มี ๒๒ ขันธกะเท่ากัน

๔. 調部 : 毘尼增一 สัมยุกตวรรคหรือวินีตกะ และ วินัยเอโกตตระ อยู่ในจาตุรวรรคียวินัย วรรคที่ ๔ เทียบกับ ปริวาร

จาตุรวรรคียวินัย เทียบกับ คัมภีร์ในพระวินัยปิฎก

๑. 比丘分 : ภิกษุวิภังค์

๑. 比丘分 : ภิกษุวิภังค์ ในจาตุรวรรคียวินัย วรรคที่ ๑ เทียบกับ มหาวิภังค์ พระวินัยปิฎกเถรวาท

๑.๑. 四波羅夷法 ปาราชิกธรรม ๔
เทียบได้กับ เวรัญชกัณฑ์ (毘蘭若) และ ปาราชิกกัณฑ์ ในมหาวิภังค์

๑.๒.十三僧殘法 สังฆาวเศษธรรม ๑๓
เทียบได้กับ เตรสกัณฑ์ ในมหาวิภังค์

๑.๓. 二不定法 ธรรมอันไม่ได้กำหนด ๒ หรือ อนิยตธรรม ๒
เทียบได้กับ อนิยตกัณฑ์ ในมหาวิภังค์

๑.๔. 三十捨墮法 (三十尼薩耆波逸提法) ธรรมอันพึงสละออกยังให้ตกไป ๓๐ หรือ ไนห์สรรคิกปายัตติกธรรม ๓๐
เทียบได้กับ นิสสัคคิยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์

๑.๕. 九十單提法 (九十波逸提) ธรรมอันพึงแสดงแต่ส่วนเดียว หรือ ปายัตติกธรรม ๙๐
เทียบได้กับ ปาจิตติยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์

๑.๖.四提舍尼 (แบบย่อ) 四波羅提提舍尼法 (แบบเต็ม) ประติเทศนียธรรม ๔
เทียบได้กับ ปาฏิเทสนียกัณฑ์ ในมหาวิภังค์

๑.๗. 式叉迦羅尼法 (百眾學法) ศิกษาธรรม หรือ ธรรมอันพึงศึกษา ๑๐๐
เทียบได้กับ เสขิยกัณฑ์

๑.๗.๑ 七滅諍法 ธรรมอันพึงใช้ระงับอธิกรณ์ ๗
เทียบได้กับ อธิกรณสมถะ เสขิยกัณฑ์ ในมหาวิภังค์

จบภิกษุวิภังค์ จาตุรวรรคียวินัย

ภิกษุวิภังค์ นิกายธรรมคุปต์ มีหมวดหมู่เท่ากันกับ มหาวิภังค์ พระวินัยปิฎกเถรวาท สิกขาบทรวม ๒๕๐ สิกขาบท ต่างกันกับ เถรวาทที่มี ๒๒๗ สิกขาบท รายละเอียดสิกขาบทของธรรมคุปต์มี ดังนี้ ปาราชิก ๔ | สังฆาทิเสส ๑๓ | นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ | ปาจิตตีย์ ๙๐ | ปาฏิเทสนียะ ๔ | เสขิยวัตร ๑๐๐ | อธิกรณสมถะ ๗ ด้านข้อสิกขาบทแตกต่างกันด้านจำนวนสิกขาบทใน ปาจิตตีย์ และ เสขิยวัตร

นิกายธรรมคุปต์ เป็นกลุ่มพระวินัยคล้ายกับ กลุ่มสรรวาสติวาท คือ สรรวาสติวาท มูลสรรวาสติวาท ธรรมคุปต์ กลุ่มนี้มี ปาจิตตีย์ ๙๐ ข้อ ต่างกันกับกลุ่มสายพระวินัยที่เก่ากว่า คือเถรวาท และมหาสังฆิกะ มีปาจิตตีย์ ๙๒ ข้อ สิกขาบทที่น้อยกว่า ๒ ข้อนี้ เป็นสิกขาบทที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับส่วนที่ห้ามน้อมลาภของสงฆ์มาเป็นของตน ซึ่งมีอยู่ในหมวดนิสสัคคียปาจิตตีย์ อยู่แล้ว

และในทุกนิกายมีสิกขาบทใน เสขิยวัตร ไม่เท่ากันเลย ในนิกายธรรมคุปต์เจริญมากในเขตอินเดียเหนือและเอเชียกลาง เป็นนิกายที่นิยมการบูชาพระสถูปเจดีย์เป็นพิเศษ ทั้งอยู่ในเขตรอยต่อด้านวัฒนธรรม ต่างชาติต่างภาษาอยู่มาก จึงมีสิกขาบทในเสขิยวัตรเพิ่มเข้ามาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมารยาทการเคารพ พระวิหาร พระสถูปเจดีย์ ซึ่งบางข้อเป็นข้อสิกขาบทเดิมที่มีการขยายความให้รวมมาถึงพระวิหาร พระสถูปเจดีย์ บางข้อมีอยู่ในสิกขาบท นอก ปาฏิโมกข์(ขันธกะ)อยู่แล้ว


๒. 比丘尼分 : ภิกษุณีวิภังค์

ภิกษุณีวิภังค์ ในจาตุรวรรคียวินัย วรรคที่ ๒ เทียบกับ ภิกขุนีวิภังค์ พระวินัยปิฎกเถรวาท

๒.๑. 尼戒法八波羅夷法 ปาราชิกธรรมของภิกษุณี ๘
เทียบได้กับ ปาราชิกกัณฑ์

๒.๒.尼戒法十七僧殘法 สังฆาวเศษธรรมของภิกษุณี ๑๗
เทียบได้กับ สัตตรสกัณฑ์

๒.๓.尼戒法三十捨墮法 ไนห์สรรคิกปายัตติกธรรมของภิกษุณี ๓๐
เทียบได้กับ นิสสัคคิยกัณฑ์

๒.๔.尼戒法一百七十八單提法 ปายัตติกธรรมของภิกษุณี ๑๗๘
เทียบได้กับ ปาจิตติยกัณฑ์

๒.๔.๑ 波羅提提舍尼 ประติเทศนียธรรมของภิกษุณี ๘
เทียบได้กับ ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๒.๔.๒ สรุปท้าย ธรรมอันพึงศึกษา ๑๐๐ ธรรมอันพึงใช้ระงับอธิกรณ์ ๗ เช่นเดียวกับภิกษุวิภังค์
เทียบได้กับ เสขิยกัณฑ์ และ อธิกรณสมถกัณฑ์

จบภิกษุณีวิภังค์ จาตุรวรรคียวินัย

ภิกษุณีวิภังค์นิกายธรรมคุปต์ มีหมวดหมู่เท่ากันกับ ภิกขุนีวิภังค์ พระวินัยปิฎกเถรวาท มีสิกขาบทรวม ๓๔๘ สิกขาบท ต่างกันคือ เถรวาทมี ๓๑๑ สิกขาบท รายละเอียดสิกขาบทของธรรมคุปต์มี ดังนี้ ปาราชิก ๘ | สังฆาทิเสส ๑๗ | นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ | ปาจิตตีย์ ๑๗๘ | ปาฏิเทสนียะ ๘ | เสขิยวัตร ๑๐๐ | อธิกรณสมถะ ๗ ด้านข้อสิกขาบทแตกต่างกันด้านจำนวนสิกขาบทใน ปาจิตตีย์ และ เสขิยวัตร(กล่าวไปแล้ว)

ภิกษุณีวิภังค์นิกายธรรมคุปต์ มีปาจิตตีย์ ๑๗๘ เถรวาทมี ๑๖๖ มากกว่าเถรวาท ๑๒ ข้อโดยข้อที่เพิ่มมาเป็นข้อว่าด้วยการออกจากอารามของภิกษุณี การอุปสมบทภิกษุณีของปวัตตินี เรื่องที่ต้องเกี่ยวกับพระภิกษุ พระสถูป การสอนฆราวาส เป็นต้น บางข้อมีอยู่ในสิกขาบท นอก ปาฏิโมกข์(ขันธกะ)อยู่แล้ว

๓. 揵度 : สกันธะ

สกันธะ ๒๐ หมวด เรื่องประกอบการสังคายนา ๒ หมวด รวม ๒๒ หมวด อยู่ในจาตุรวรรคียวินัย วรรคที่ ๒ ๓ และ ๔ เทียบกับ มหาวรรค และ จุลวรรค พระวินัยปิฎกเถรวาท ๒๒ ขันธกะ เท่ากันดังนี้

สกันธะในจาตุรวรรคียวินัย วรรคที่ ๒ มี สกันธะ ๓ หมวด คือ


๓.๑. 受戒犍度 อุปสมบทสกันธกะ
ตรงกับ มหาขันธกะ มหาวรรค (หมวดใหญ่ว่าด้วย เหตุการณ์ต่างๆ ก่อนมีการอุปสมบทวิธี และการอุปสมบท)

การทำอุปสมบทกรรมให้แก่กุลบุตร ในฝ่ายมหายาน โดยใช้อุปสมบทวิธีแบบธรรมคุปตวินัย ด้วย ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา (白四羯磨)

๓. ๒.說戒犍度 โปษธสกันธกะ
ตรงกับ อุโปสถขันธกะ มหาวรรค (ว่าด้วยการทำอุโบสถกรรม และการแสดงปาติโมกข์)

ภิกษุในเกาหลี กำลังทำพิธีที่เรียกว่า 포살 (posal) ในวันอุโบสถ เป็นการทำโปษธะกรรม หรือ อุโบสถกรรม นั้นเอง หรือที่พระไทยใช้คำว่า ลงอุโบสถ หรือ ลงพระปาฏิโมกข์ 포살 มาจากคำสันกฤต คำว่า โปษธ (पोषध : poṣadha : โปษะธะ) หรือ อุโปสถ (อุโปสะถะ) ในภาษาบาลี ภาษาไทยใช้คำว่า อุโบสถ ในวันอุโบสถนี้ ภิกษุฝ่ายมหายานจะทำการทบทวนสิกขาบท ๒๕๐ ข้อ ในธรรมคุปตปราติโมกษ์

๓.๓.安居犍度 วรรษาสกันธกะ
ตรงกับ วัสสูปนายิกขันธกะ มหาวรรค (ว่าด้วยการจำพรรษา)

安居 การจำพรรษา (วรรษา) ในพุทธศาสนามหายานในเอเชียตะวันออก หรือเรียกการจำพรรษา แบบอื่นๆ ว่า 坐夏, 坐臘, 三安居 การพักในช่วงฤดูร้อนที่ฝนตก หรือการพักปฏิบัติสมาธิในช่วงฤดูร้อน หรือการจำพรรษา ๓ เดือน เป็นช่วงเวลานี้พระสงฆ์จะอยู่แต่ในอารามและใช้เวลาเพื่อมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติธรรม และบางอารามมีการปฎิบัติธุดงควัตรแบบมหายาน โดยเข้าพรรษากลางเดือน ๔ จีน (เทียบเดือนไทยราวเดือน ๖,๗) ออกพรรษากลางเดือน ๗ จีน คือวันวันสารทจีน (เทียบเดือนไทยราวเดือน ๙,๑๐)

สกันธะในจาตุรวรรคียวินัย วรรคที่ ๓ มี สกันธะ ๑๕ หมวด คือ

๓.๔.自恣犍度 ประวารณาสกันธกะ
ตรงกับ ปวารณาขันธกะ ในมหาวรรค (ว่าด้วยการปวารณากรรม ให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนได้)

ประวารณากรรม ในวันออกพรรษามหายาน (僧自恣日) จะกระทำในวันที่ ๑๕ เดือน ๗ จีน ตรงกับวันสารทจีน สงฆ์จะแนะนำตักเตือนในความประพฤติในช่วงเข้าพรรษา เป็นการเพื่อจะได้ปรับปรุงตนเองต่อไป


๓.๕.皮革犍度 จรรมะสกันธกะ
ตรงกับ จัมมขันธกะ มหาวรรค (ว่าด้วยการใช้สอยเครื่องหนัง รองเท้า เครื่องปูลาดที่นั่งที่นอน ยานพาหนะ)

皮革犍度 จรรมะสกันธกะ ตรงกับ จัมมขันธกะ มหาวรรค (ว่าด้วยการใช้สอยเครื่องหนัง รองเท้า เครื่องปูลาดที่นั่งที่นอน ยานพาหนะ)

๓.๖.衣犍度 จีวรสกันธกะ
ตรงกับ จีวรขันธกะ มหาวรรค (ว่าด้วยจีวร การตัดจีวร และการใช้ผ้าต่าง ๆ)

จีวรสำหรับพระภิกษุสงฆ์ทุกนิกายนั้นต่างถูกตัดเย็บตามลายคันนา ตามระบุไว้ในจีวรขันธกะ ตัวอย่างไตรจีวรฝ่ายจีนมี 5 7 9 ขัณฑ์


๓.๗.藥犍度 ไภษัชยสกันธกะ
ตรงกับ เภสัชชขันธกะ มหาวรรค (ว่าด้วยยารักษาโรค การรักษาโรค การฉันและการเก็บอาหาร)

๓.๘.迦絺那衣犍度 กฐินสกันธกะ
ตรงกับ กฐินขันธกะ มหาวรรค (ว่าด้วยผ้ากฐิน)

การทำกฐินกรรม หลังออกพรรษามหายาน ในประเทศจีน โดยหมู่สงฆ์จะมอบ ผ้ากฐิน(迦絺那衣) หรือ ผ้าแห่งบุญ(功德衣) ให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง


๓.๙.拘睒彌犍度 เกาศามพีสกันธกะ
ตรงกับ โกสัมพีขันธกะ มหาวรรค (ว่าด้วยเหตุการณ์สงฆ์แตกสามัคคีในกรุงโกสัมพี)

๓.๑๐.瞻波犍度 จัมปาสกันธกะ
ตรงกับ จัมเปยยขันธกะ มหาวรรค (ว่าด้วยเหตุการณ์ในกรุงจัมปา วิธีลงโทษของสงฆ์)

๓.๑๑.呵責犍度 นิครรหณียสกันธกะ
ตรงกับ กัมมขันธกะ จุลวรรค (หมวดว่าด้วยนิคหกรรม วิธีการลงโทษภิกษุเพื่อให้แก้ไขพฤติกรรม)

๓.๑๒人犍度 ปุทคลสกันธกะ
ตรงกับ สมุจจยขันธกะ จุลวรรค (ว่าด้วยการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส แบบต่างๆ)

๓.๑๓.覆藏犍度 ประติจฉาทนะสกันธกะ
ตรงกับ ปาริวาสิกขันธกะ จุลวรรค (หมวดว่าปริวาสกรรมสำหรับผู้ต้องสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้)

摩那埵 การอยู่มานัต ๖ คืน ในกรณีภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส จะถูกกักบริเวณ ๖ คืน และภิกษุนั้นจะต้องเพื่อทำการงานหนักเพื่อพระภิกษุทุกรูป รวมถึงทำความสะอาดกุฏิ ห้องพระ และสถานที่ในวัด

๓.๑๔.遮犍度 สถาปนะสกันธกะ
ตรงกับ ปาติโมกขฐปนะขันธกะ จุลวรรค (ว่าด้วยการงดสวดปาฏิโมกข์)

๓.๑๕.破僧犍度 สังฆเภทสกันธกะ
ตรงกับ สังฆเภทขันธกะ จุลวรรค (ว่าด้วยสงฆ์แตกกัน เรื่องราวของพระเทวทัต)

การประทุษร้ายพระพุทธเจ้าของพระเทวทัต จาก Fo Guang Shan Buddha Museum


๓.๑๖.滅諍犍度 อธิกรณศมถสกันธกะ
ตรงกับ สมถขันธกะ จุลวรรค (ว่าด้วยวิธีระงับอธิกรณ์)

๓.๑๗.比丘尼犍度 ภิกษุณีสกันธกะ
ตรงกับ ภิกขุนีขันธกะ จุลวรรค (ว่าด้วยภิกษุณี)

พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระแม่น้านาง มารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้า ผู้ที่เป็นภิกษุณีรูปแรกในพุทธศาสนา

๓.๑๘.法犍度 ธรรมสกันธกะ
ตรงกับ วัตตขันธกะ จุลวรรค (ว่าด้วยวัตรหรือข้อปฎิบัติต่างๆ)


สกันธะในจาตุรวรรคียวินัย วรรคที่ ๔ มี สกันธะ ๒ หมวด
เรื่องประกอบการสังคายนา ๒ หมวด คือ

๓.๑๙.房舍犍度 อาวาสสกันธกะ
ตรงกับ เสนาสนขันธกะ จุลวรรค (ว่าด้วยที่อยู่อาศัย )

๓.๒๐.雜揵度 กษุทรกะสกันธะ
ตรงกับ ขุททกวัตถุขันธกะ (ว่าด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ)

๓.๒๑.集法毘尼五百人 เรื่องคณะสังคายนาธรรมวินัย ๕๐๐ รูป
ตรงกับ ปัญจสติกขันธกะ จุลวรรค (ว่าด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑)

๓.๒๒.七百集法昆尼 เรื่องคณะสังคายนาธรรมวินัย ๗๐๐ รูป
ตรงกับ สัตตสติกขันธกะ (ว่าด้วยพระอรหันต์ ๗๐๐ รูป ในการสังคายนาครั้งที่ ๒)

จิตรกรรมกระเบื้องโมเสก พระอุโบสถ วัดโพธิ์แมนคุณาราม เรื่องพระอรหันต์ ประชุมสังคายนาพระธรรมวินัย


๔. ส่วนคู่มือพระวินัย

มี ๒ ส่วน เรียกว่า วินีตกะ 調部 หรือบ้างว่า สัมยุกตวรรค และ วินัยเอโกตตระ 毘尼增一 อยู่ในจาตุรวรรคียวินัย วรรคที่ ๔ เทียบกับ ปริวาร

๔. ๑.調部 วินีตกะ หรือ สัมยุกตวรรค หรือ สัมยุกต์
(สัมยุกตวรรค นักวิชาการบางท่านเรียกตามแบบสรรวาสติวาท) เป็นส่วนคู่มือว่าด้วย กรณีคดีตัวอย่าง คล้ายฎีกาในกฎหมายทางโลก เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงวินิจฉัยชี้ขาดเอง หรือที่เถรวาท เรียก วินีตวัตถุ มีข้อแตกต่างระหว่างเถรวาท และนิกายอื่นๆ คือวินีตวัตถุ ของเถรวาท อยู่ในส่วนของวิภังค์ ในตอนท้ายแต่ละสิกขาบทที่เกี่ยวข้องเลย ส่วนในธรรมคุปต์นั้นแยก วินีตวัตถุ มารวบรวมในส่วนท้ายของปิฎก


๔. ๒.毘尼增一 วินัยเอโกตตระ หรือ วินไยโกตตระ
( วินย+เอโกตฺตร = วินไยโกตฺตร : วินะไยโกตตะระ)
มีส่วนที่เนื้อหาคล้ายคลึงกันกับ คัมภีร์ปริวาร พระวินัยปิฎกเถรวาท แต่แตกต่างกันอยู่ในส่วนวิธีการสรุปประเด็นและการดำเนินเรื่อง
การจัดหมวดหมู่ ดำเนินเนื้อหา ในวินัยเอโกตตระ จัดเป็นหมวดหมู่ตามจำนวนหัวข้อวินัยต่างๆที่เป็นตัวเลข ชี้แจงศัพท์เทคนิคต่างๆ ในพระวินัย (คล้าย เอกุตตริกะ ในคัมภีร์ปริวาร) แทรกพระบัญญัติพระวินัยที่ทรงตรัสแก่พระอุบาลี (คล้าย อุปาลิปัญจกะ ในคัมภีร์ปริวาร หรือ อุปาลิปริปฤจฉา ของสรรวาสติวาทวินัย) และแทรกคำอธิบายหมวดแม่บทหัวข้อวินัย คล้ายกับปริวารในหมวดอื่นๆ

อ่าน จาตุรวรรคียวินัย (四分律) ที่: https://cbetaonline.dila.edu.tw/zh/T1428_001

พระอุบาลี


พระวินัยปิฎก คือ ประมวลพระพุทธพจน์ หมวดหมู่ที่เป็นพระวินัย และคู่มือพระวินัยที่พระสังคีติกาจารย์(ผู้ทำสังคายนา) รวบรวมไว้คราวทำสังคายนาในแต่ละครั้ง โดยถูกจัดเป็นหมวดหมู่ครั้งแรก ที่เรียกว่า ปฐมสังคายนา

หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระ เป็นประธานรวบรวมพระอรหันตสาวก จำนวน ๕๐๐ รูป ขึ้นเป็น สังคีติการกสงฆ์ คือ คณะสงฆ์ผู้เป็นกรรมการทำสังคายนา โดยมีการทบทวน สอบทาน และรวบรวมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าขึ้นเป็นหมวดหมู่

โดยการรวบรวมพระวินัยนี้ กระทำโดยมีพระมหากัสสปะเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบคำถาม ที่เรียกว่า การวิสัชนา มีการสาธยายทบทวนพระพุทธพจน์ในข้อบัญญัตินั้นๆ พร้อมทั้งอธิบาย โดยเป็นการถามตอบในท่ามกลางสังคีติการกสงฆ์ เป็นคณะกรรมการสอบทานอีกครั้งว่าเป็นพุทธบัญญัติจริงหรือไม่

กล่าวถึงพระอุบาลี(อุปาลี) เพราะเหตุใด ท่านต้องเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอุบาลีเป็นชาวกรุงกบิลพัสดุ์ เกิดในวรรณะศูทร ตระกูลช่างกัลบก หรือ ช่างตัดผม นับว่าเป็นสถานะที่ต่ำในสังคมสมัยนั้น ทำหน้าที่ตัดพระเกศา ประจำราชสกุลศากยะ

ภาพจากท่านอุบาลีและการอุปสมบทเจ้านายทั้ง ๖ ที่อนุปิยนิคม จากเจดีย์วิปัสนาสากล

ท่านได้ออกบวชพร้อมกับ บรรดาผู้เป็นเจ้านายของท่าน ในคราวพระเจ้าภัททิยะ ผู้เป็นศากยราชา สละราชสมบัติออกผนวชพร้อมกับราชกุมารเจ้าศากยะ อีก ๕ พระองค์ โดยบรรดาเจ้านายของท่าน ได้ขอให้อุบาลีได้อุปสมบทก่อน เพื่อเจ้านายเหล่านั้นจะได้ทำความเคารพอุบาลี ซึ่งเป็นผู้รับใช้ ในฐานะผู้บวชก่อน เพื่อเป็นการลดทิฐิมานะ กำจัดความถือตัวในวรรณะกษัตริย์ และกำจัดความถือตัวความเป็นพระราชาและเจ้าชายของตนลง

พระอุบาลี บวชได้ไม่นานท่านก็บรรลุพระอรหันต์ เมื่อจบกิจของท่านแล้ว ท่านก็ยังทำกิจช่วยพระศาสดา คืองานพระศาสนา ท่านเป็นผู้ทรงจำพระวินัยอย่างแม่นยำ มีความสามารถพิจารณาคดีความของสงฆ์(อธิกรณ์) ได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรม โดยเคยได้รับพุทธานุญาตให้วินิจฉัยอธิกรณ์สำคัญด้วย จากเหตุนี้ นั้นพระพุทธองค์ทรงยก พระอุบาลี ให้เป็นเอตทัคคะ หรือผู้เลิศในทาง ผู้ทรงพระวินัย


ในการสังคายนาในครั้งนั้นจึงจะเป็นผู้อื่นไม่ได้ ต้องเป็นพระอุบาลีเท่านั้น หรือแม้ในยุคที่พุทธศาสนาแยกกันออกเป็นนิกายต่างๆ พระอุบาลี ก็ยังถูกยกย่องนับถือว่าเป็น พระอรหันต์เถระผู้เป็นต้นสายพระวินัยของทุกๆนิกาย

ภาพธรรมสังคาหกาจารย์ ปฐมสังคีติ ผลงานของ ท่านธีรโพธิภิกฺขุ การปฐมสังคายนา ที่ถ้ำสัตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ พระมหากัสสปเถระเป็นประธานทำสังคายนา พระอานนท์เป็นองค์วิสัชชนาแสดงพระธรรม พระอุบาลี เป็นองค์วิสัชชนาพระวินัย มีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์

Loading

Be the first to comment on "วินัยปิฎกฝ่ายธรรมคุปต์ เทียบ วินัยปิฎกฝ่ายเถรวาท"

Leave a comment