โมรปริตร ฝ่ายมนตรยาน ในมหามายูรีวิทยาราชญี

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

โมรปริตร ฝ่ายมนตรยาน
ในมหามายูรีวิทยาราชญี คัมภีร์มนตรยาน
หมวดปัญจรักษา

स्वस्ति रात्रौ स्वस्ति दिवा स्वस्ति मध्यदिने स्थिते।
สฺวสฺติ ราเตฺรา สฺวสฺติ ทิวา สฺวสฺติ มธฺยทิเน สฺถิเตฯ


สวัสติ ราเตรา สวัสติ ทิวา สวัสติ มัธยะทิเน สถิเตฯ
ขอความสวัสดีจงมีในเวลากลางคืน
ขอความสวัสดีจงมีในเวลากลางวัน
ขอความสวัสดีจงมีแม้ในเวลาเที่ยงวัน

स्वस्ति सर्वम् अहोरात्रं सर्वबुद्धा दिशन्तु वः॥
สฺวสฺติ สรฺวมฺ อโหราตฺรํ สรฺวพุทฺธา ทิศนฺตุ วะ๚

สวัสติ สรรวัม อะโหราตรัม สรรวะพุทธา ทิศันตุ วะห์๚
ขอความสวัสดีจากปวงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จงมีแด่ท่านในทุกเวลาทั้งวันคืน

नमोऽस्तु बुद्धाय नमोऽस्तु बोधये।
นโม’สฺตุ พุทฺธาย นโม’สฺตุ โพธเยฯ

นะโมสตุ พุทธายะ นะโมสตุ โพธะเยฯ
ขอนอบนอมแด่พระพุทธเจ้า ขอนอบนอมแด่การตรัสรู้ ๚

नमोऽस्तु मुक्ताय नमोऽस्तु मुक्तये॥
นโม’สฺตุ มุกฺตาย นโม’สฺตุ มุกฺตเย๚

นะโมสตุ มุกตายะ นะโมสตุ มุกตะเย๚
ขอนอบน้อมแด่ผู้ปลดเปลื้องเป็นอิสระแล้ว
ขอนอบน้อมแด่ความปลดเปลื้องเป็นอิสระ[1] ๚


नमोऽस्तु शान्ताय नमोऽस्तु शान्तये।
นโม’สฺตุ ศานฺตาย นโม’สฺตุ ศานฺตเยฯ

นะโมสตุ ศานตายะ นะโมสตุ ศานตะเยฯ
ขอนอบน้อมแด่ผู้ถึงความสงบสันติแล้ว
ขอนอบน้อมแด่ความสงบสันติ[2] ๚

नमो विमुक्ताय नमो विमुक्तये॥
นโม วิมุกฺตาย นโม วิมุกฺตเย๚

นะโม วิมุกตายะ นะโม วิมุกตะเย๚
ขอนอบน้อมแด่ผู้หลุดพ้นแล้ว
ขอนอบน้อมแด่ความหลุดพ้น[3] ๚

ये ब्राह्मणा वाहितपापधर्माः। तेषां नमस् ते।
เย พฺราหฺมณา วาหิตปาปธรฺมาะฯ เตษํา นมสฺ เตฯ

เย พราหมะณา วาหิตะปาปะธรรมาห์ฯ เตษาม นะมัส เตฯ
พราหมณ์ผู้ลอยธรรมอันเป็นบาปเสียแล้วเหล่าใด ฯ ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่านเหล่านั้น[4] ฯ

मम सर्वसत्वानां च रक्षां कुर्वन्तु।
มม สรฺวสตฺวานํา จ รกฺษํา กุรฺวนฺตุฯ

มะมะ สรรวะสัตวานาม จะ รักษาม กุรวันตุฯ
ขอจงคุ้มครองรักษาข้าพเจ้าและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฯ

स्वस्ति मातुः।
สฺวสฺติ มาตุะฯ

สวัสติ มาตุห์ฯ
ด้วยความสวัสดีแห่งมารดาฯ

स्वस्ति पितुः।
สฺวสฺติ ปิตุะฯ

สวัสติ ปิตุห์ฯ
ด้วยความสวัสดีแห่งบิดา ฯ

स्वस्ति गर्भगतस्य।
สฺวสฺติ ครฺภคตสฺยฯ

สวัสติ ครรภะคะตัสยะฯ
ด้วยความสวัสดีแห่งเด็กผู้อยู่ในครรภ์ ฯ


स्वस्ति द्विपदानां।
สฺวสฺติ ทฺวิปทานําฯ

สวัสติ ทวิปะทานามฯ
ด้วยความสวัสดีแห่งบรรดาสัตว์สองเท้า[5] ฯ


स्वस्ति भवतु चतुष्पदानां।
สฺวสฺติ ภวตุ จตุษฺปทานําฯ

สวัสติ ภะวะตุ จะตุษปะทานามฯ
ด้วยความสวัสดีแห่งบรรดาสัตว์สี่เท้า ฯ


स्वस्ति बहुपदानां।
สฺวสฺติ พหุปทานําฯ

สวัสติ พะหุปะทานามฯ
ด้วยความสวัสดีแห่งบรรดาสัตว์หลายเท้า ฯ


स्वस्ति त्रिभवपर्यवपन्नानां।
สฺวสฺติ ตฺริภวปรฺยวปนฺนานําฯ

สวัสติ ตริภะวะปรรยะวะปันนานามฯ
ด้วยความสวัสดีแห่งผู้นับเนื่องในภพทั้งสาม[6] ฯ


स्वस्ति मम सर्वसत्वानां च स्वाहा॥
สฺวสฺติ มม สรฺวสตฺวานํา จ สฺวาหา

สวัสติ มะมะ สรรวะสัตวานาม จะ สวาหา๚
ด้วยความสวัสดีแห่งข้าพเจ้าและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ๚
๚ สฺวาหา๚

[1] มุกฺต ความปลดเปลื้องเป็นอิสระ เป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน
[2] ศานฺต ความสงบสันติ เป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน
[3] วิมุกฺต ความหลุดพ้น เป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน
[4] พราหมณ์ ในวัฒนธรรมอินเดีย คือ ผู้ลอยบาปหรือล้างบาปในแม่น้ำได้ แต่ พราหมณ์ ในบริบทของพุทธศาสนาในหมายถึง ความเป็นอรหันต์ ได้แก่พระสัมมาสัมพุทธ พระปัจจเจกพุทธ พระอรหันต์ เหตุว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ชำระล้างบาปมลทินแห่งตนได้
[5] สัตว์สองเท้า ในที่นี้มีความหมายถึงมนุษย์ และผู้นับเนื่องในเทวดา
[6] ภพทั้งสาม คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ

มหามายูรีวิทยาราชญี สันนิษฐานว่าเป็นธารณีสูตรต้นๆ ของฝ่ายมนตรยานยุคเริ่มแรก มหามายูรีวิทยาราชญี มีเค้าที่สืบเนื่องมาจากโมรชาดก ในพุทธดั้งเดิม

ส่วนนิกายมนตรยาน อ.เสถียร โพธินันทะ กล่าวว่า เป็นนิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ประมาณเวลาของกำเนิดมนตรยาน เห็นจะไม่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๘ ลัทธินี้มาปรากฏมีอิทธิพลขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ล่วงแล้ว ลักษณะพิเศษของมนตรยานที่แตกต่างจากลัทธิอื่น ๆ คือ นับถือพิธีกรรมและการท่องบ่นสาธยายเวทมนตร์อาคมเป็นสำคัญ นอกจากนั้นก็มีหลักธรรมไม่สู้แปลกจากลัทธิมหายานเท่าใดนัก

โมรชาดก [โม-ระ]ในพระสูตรดั้งเดิม ที่ปรากฎความในหมวดชาดก ขุททกนิกาย ของพระสุตตันตปิฎก หรือ โมรปริตร หรือเรียกอย่างลำลองว่า พระคาถาพญายูงทอง ในชั้นพระบาลีเป็นแต่คาถาการกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณเท่านั้น(มีแนบไว้ที่ภาคผนวกด้านล่าง) และมีขยายความในอรรถกถา ชื่อ คัมภีร์ชาตกัฏฐกถา อันเป็นอรรถกถาชาดก

เป็นเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้ภิกษุรูปหนึ่งฟังถึงโทษของกาม เนื่องจากภิกษุรูปนั้นอยากลาสึกเพราะเห็นสตรีแต่งกายสวยงามยั่วยวน ในอรรถกถาได้กล่าวว่า ทรงตรัสกับภิกษุรูปนั้นว่า ขึ้นชื่อว่าสตรีย่อมรบกวนจิตบุรุษทั้งนั้น แม้บัณฑิต(นกยูงโพธิสัตว์)แต่ก่อน พอได้ยินเสียงสตรี กิเลสที่สงบมายาวนาน ๗๐๐ ปียังกำเริบขึ้นมาได้

ครั้นแล้ว ทรงเล่าเรื่องเมื่อเสวยพระชาติเป็น นกยูงโพธิสัตว์ ให้ภิกษุรูปนั้นฟัง ว่าเมื่อพระองค์เกิดเป็น นกยูงโพธิสัตว์ ที่ทัณฑกหิรัญ นกยูงนั้นมีกิจวัตรประจำวันคือ สวดภาวนาพระคาถาหนึ่งอยู่เป็นประจำ ซึ่งป้องกันภยันตรายได้ อยู่มาวันหนึ่งพระมเหษีของพระเจ้าพาราณสี(องค์ที่หนึ่ง) ฝันว่า มีพญานกยูงมาแสดงธรรมให้ฟัง พระราชาจึงถามนายพรานว่า มีพญานกยูงจริงหรือไม่ นายพรานว่า ภูเขาทัณฑกะมีพญานกยูงอยู่จริง

พระราชาต้องการจะจับนกยูงโพธิสัตว์มาเพื่อให้แสดงธรรมแก่พระมเหษีฟัง จึงให้นายพรานไปจับ แต่จับเท่าไหร่ก็จับไม่ได้ จนนายพรานนั้นตายไปก่อน และพระมเหษีนั้นก็สิ้นพระชนม์ไป พระราชาองค์ที่หนึ่งนี้อาฆาตพญานกยูง จึงเขียนแผ่นทองไว้ในราชวังว่า ที่เขตหิมวันต์ (เทือกเขาหิมาลัย) มีภูเขาชื่อทัณฑกะ นกยูงสีทองอาศัยอยู่ ผู้ได้กินเนื้อของมัน ผู้นั้นจะไม่แก่ไม่ตาย ต่อพระราชาองค์ที่หนึ่งสิ้นพระชนม์

พระราชาองค์อื่นๆ ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงอ่านข้อความนั้น มีพระประสงค์จะไม่แก่ไม่ตาย จึงทรงส่งพรานคนอื่นไปแต่ก็ไม่สามารถจะจับพระโพธิสัตว์ได้ โดยทำนองนี้ พระราชาสิ้นพระชนม์ ไปถึง ๖ พระองค์ ครั้นถึงองค์ที่ ๗ ครองราชสมบัติ จึงให้นายพรานใช้วิธีใหม่คือ ใช้นกยูงตัวเมียมาเป็นนกต่อ

เมื่อนกยูงโพธิสัตว์ ได้ยินเสียงนกต่อ ก็เร่าร้อนด้วยกิเลส จึงบินไปหานางนกยูง จนลืมภาวนาพระคาถา และทำให้ไปติดบ่วงของนายพราน นายพรานจึงจับนกยูงทองไปถวาย พระเจ้าพาราณสีองค์ที่ ๗ ได้สนทนากันว่า ผู้ใดกินเนื้อเจ้า ผู้นั้นจะไม่แก่ไม่ตาย นกยูงทองทูลว่า คนกินเนื้อข้าพเจ้าจะไม่แก่ไม่ตาย ก็ช่างเถิด แต่ข้าพเจ้าจักตาย เมื่อข้าพเจ้าต้องตาย ผู้ที่กินเนื้อข้าพเจ้าแล้ว จะไม่ตายได้อย่างไรเล่า

ต่อมานกยูงโพธิสัตว์ จึงได้เทศนาเรื่องศีล เรื่อง นิพพาน พระราชาจึงทรงเลื่อมใสบูชาพระโพธิสัตว์จากนั้นจึงได้ปล่อยตัวไป เรื่องในเถรวาทมีเรื่องราวเท่านี้

ในประเทศไทย โมรปริตรเป็นส่วนหนึ่งของภาณวารหรือหนังสือบทสวดมนต์หลวง รวมถึงในบทสวดมนต์เจ็ดสองตำนาน และสิบสองตำนาน จึงเป็นที่นิยมสวดกันโดยทั่วไป เมื่อให้เกิดความเป็นมงคลสวัสดี

โมรปริตร นี้บรรดาชาวพุทธเถรวาทที่ยังเชื่อในพุทธาคมอยู่ เชื่อว่าข้อความในโมรชาดก เป็นหนึ่งในคาถาที่ใช้ปกป้องคุ้มครองไม่ให้เกิดอันตรายได้ ใน ตันตระแบบเถรวาท มีการจดจารคาถาในโมรชาดก ลงในตะกรุดบ้าง ทำเป็นผ้ายันต์พญานกยูงทองบ้าง หรือแม้แต่การสักลงบนร่างกาย

ในพระวิปัสนากรรมฐาน นิยมใช้ในการภาวนาด้วย เนื่องจากเชื่อว่ามีพุทธคุณในการเพื่อป้องกันภยันตรายยามเมื่อปฏิบัติธรรมในป่าซึ่งมีอันตรายมาก ยังเป็นการภาวนาเป็นเครื่องเตือนสติป้องกันอันตรายในชีวิตพรหมจรรย์ของภิกษุด้วย(อันเนื่องด้วยสตรี)

ผ้าที่หลวงปู่มั่นเขียนอักษรธรรม ว่า นโม วิมุตฺตานํ นโม วิมุตฺติยา จากหนังสือขันธะวิมุติสะมังคีธรรม อันเป็นคาถาในโมรชาดก

โมรชาดกเป็นพระสูตรที่น่าจะเป็นที่นิยมนำมาสวดกันมานานแล้ว เป็นบทสวดที่อยู่ในชุมนุมบทสวดที่เรียกว่า รักขา หรือ รักขามนต์ หรือพระปริตร นั่นเอง เป็นที่นิยมไม่ใช่เฉพาะในเถรวาท

แต่เรื่องราวในโมรชาดก ยังมีปรากฎอีกครั้ง ในคัมภีร์วินัยวัสตุ ไภษัชยวัสตุ ของนิกายมูลสรรวาสติวาท ภาษาสันสกฤต เทียบได้กับคัมภีร์พระวินัยของเถรวาทคือ คัมภีร์เภสัชชขันธกะ เป็นพระวินัยที่ว่าด้วยเรื่องยารักษาโรค โดย ไภษัชยวัสตุ กล่าวแตกต่างกับเถรวาท อยู่ โดยมีเรื่องประกอบเพิ่มเติมขึ้นมาเป็นเรื่องราวของภิกษุชื่อ สวารติ ถูกงูกัด ในบทนี้เป็นการอนุญาตให้ภิกษุให้เรียนมนต์อย่างหนึ่งเพื่อใช้รักษาพิษงู ในกรณีที่ภิกษุถูกงูกัดและรักษาทุกวิธีแล้วแต่ยังไม่หาย ให้สวดมนต์ที่ชื่อว่า #มหามายูรี ใช้รักษาพิษงู โดยคัมภีร์บอกที่มาของมนต์นั้น เรื่องราวก็คล้ายโครงเรื่อง มาจาก โมรชาดก แต่กล่าวอย่างสั้นๆ มีต่างกันอยู่เล็กน้อย คือ

อดีตชาติพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติ เป็น ราชานกยูงนามว่า สุวรรณาวภาสะ อยู่ที่ภูเขาแห่งหนึ่งในเทือกเขาใหญ่นามว่า หิมวันต์ ราชานกยูงนั้นท่องมนต์เป็นประจำทุกวัน ชื่อ มนต์มหามายูรี เวลาต่อมาราชานกยูงไปเที่ยวด้านข้างภูเขา ด้วยความประมาท เกิดความยินดีมักมากในกามราคะ จึงเข้าไปยังช่องภูเขา แล้วติดบ่วงสำหรับดักนกยูง ราชานกยูงเมื่อตัวติดบ่วงก็หมดสติไป เมื่อกลับได้สติแล้วจึงนึกถึงมนต์มหามายูรี จึงหลุดบ่วง (ด้วยความประมาทคือ ปกติท่องมนต์ แต่คราวนี้หลงลืม ก็เป็นได้ และไม่ได้บอกว่ามีนกต่อหรือไม่ แต่ความว่า ยินดีมักมากในกามราคะ น่าจะหมายถึงเข้าไปหาตัวเมีย )

แต่ไภษัชยวัสตุ ไม่ปรากฏพระคาถา(บทร้อยกรองมีความหมาย)แบบในโมรชาดก แต่ได้ใช้ ธารณีแทน (มนต์ที่แปลความหมายไม่ได้) ดังนั้น แต่เดิมนั้น มหามายูรี เป็นเพียงแต่ชื่อ ธารณีมนต์ ที่พระโพธิสัตว์นกยูงทองท่องสวดเท่านั้นซึ่งเชื่อว่านอกจากป้องกันอันตราย ยังรักษาพิษร้ายจากสัตว์ได้ด้วย

ต่อมา ฝ่ายมนตรยาน ซึ่งเป็นหนึ่งในแขนงความเชื่อย่อยในมหายาน ได้สร้างบุคลาธิษฐานของมนต์เป็นพระเทวีผู้รักษาพุทธศาสนาชื่อ #มหามายุรีวิทยราชญี จัดเป็นพระวิทยราชญีที่อยู่ในหมวดปัญจรักษา ๑ ใน ๕ องค์ มีคัมภีร์เป็นเอกเทศชื่อ มหามายุรีวิทยราชญี มีเนื้อหา เรื่องราวคล้ายในโมรชาดก และพระคาถา ที่คล้าย คาถาในโมรชาดกฉบับบาลี (พระคาถาที่นำเสนอด้านบน)รวมถึงมีเรื่องราวของภิกษุชื่อ สวารติ ที่ถูกงูกัด ธารณีมนต์บทต่างๆ รวมอยู่ด้วย

การสวดมหามายุรีวิทยราชญี มีปรากฎในของหรรษจริต (Harṣacarita) เป็นเรื่องราวของ พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ พระจักพรรดิแห่งอินเดียโบราณผู้อุปถัมภ์พระถังซัมจั๋งคราวไปอินเดีย(พระตรีปิฎกาจารย์เสวียนจั้ง)

ในหรรษจริต ได้กล่าวว่า พระบิดาของเจ้าชายหรรษวรรธนะซึ่งกำลังพระประชวรอยู่และกำลังจะสวรรคต ขณะนั้นได้มีการทำพิธียัชญะและพิธีกรรมและมีการสวดมหามายูรีด้วย

มหามายุรี เดิมมนตรยานในอินเดีย ให้เป็นพระวิทยราชญี หรือ มหาวิทยาฝ่ายสตรี มหาวิทยาเป็นเทพยดาผู้มีสัมมาทิฏฐิในพุทธศาสนาประเภทหนึ่งเค้ามูลมาจากพุทธตันตระ ต่อมาสืบมาเป็น มนตรยาน วัชรยาน มหาวิทยาบางองค์เป็น นิรมาณกายของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ตามลำดับ

มหามายุรีวิทยราชญี บนปกคัมภีร์ปัญจรักษา

คติมนตรยานนี้ได้ส่งต่อไปยังฝ่ายมหายานในภูมิภาคเอเชียตะวันออก บางครั้งอาจมีการเปลี่ยนเพศสภาวะให้เป็นบุรุษ อย่างมหายานเนื่องด้วยคติมนตรยานในจีน ญี่ปุน บางครั้งทำเป็นเป็นวิทยาราช 孔雀明王 เรียก มหามยุรีวิทยาราช บางครั้งก็ยกเป็นพระโพธิสัตว์ เรียกมหามยุรีวิทยราชโพธิสัตว์

ภาพพระบฏบนผ้าไหม Kujaku Myoo หรือ มหามยุรีวิทยาราช Tokyo National Museum

มหามยุรีวิทยราชโพธิสัตว์ ในไต้หวัน

โดยในเนื้อหาด้านพุทธคุณ มหามายุรีวิทยราชญี ของฝ่ายมนตรยาน กล่าวว่า อานุภาพของธารณี จะปกป้องคุ้มครองให้ผู้สาธยายให้พ้นจากอันตรายต่างๆ การป่วยไข้บาดเจ็บจากพิษทั้งปวง สารพิษ ยาพิษ สัตว์มีพิษ และพิษไข้ โดยเฉพาะ โรคไข้ต่างๆ ทุกชนิด (สรฺวชฺวร : सर्वज्वर : สรรวัชวะระ) โรคไข้อันผิดปกติ (วิษมชฺวร : विषमज्वर : วิษะมัชวะระ) อีกด้วย

ภาคผนวก โมรปริตร ภาษาบาลี

อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา
๏ พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง

หริสฺสวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส
อย่างเอกกำลังอุทัยขึ้นมาทอแสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี

ตํ ตํ นมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งทอ แสงอร่ามสว่างไปทั่วปฐพี

ตยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ ทิวสํ
ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มกันแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุข ตลอดวัน

เย พฺราหฺมณา เวทคุ สพฺพธมฺเม
พราหมณ์เหล่าใดผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง

เต เม นโม เต จ มํ ปาลยนฺตุ
ขอพรามหณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย

นมตฺถุ พุทฺธานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

นมตฺถุ โพธิยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ

นโม วิมุตฺตานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

นโม วิมุตฺติยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา
นกยูงนั้น เจริญพระปริตต์นี้แล้ว

โมโร จรติ เอสนา ฯ
จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหาร.

อเปตยญฺจกฺขุมา เอกราชา
พระอาทิตย์นี้ เป็นดวงตาของโลก เป็นเจ้าแห่งแสงสว่าง

หริสฺสวณฺโณ ปฐวิปฺปภาโส
อย่างเอก ส่องแสงสว่างไปทั่วปฐพีแล้วอัสดงคตไป

ตํ ตํ นมสฺสามิ หริสฺสวณฺณํ ปฐวิปฺปภาสํ
เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งส่องสว่างไปทั่วปฐพี

ตยชฺช คุตฺตา วิหเรมุ รตฺตึ
ข้าพเจ้าอันท่านช่วยคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน

เย พฺราหฺมณา เวทคุ สพฺพธมฺเม
พราหมณ์เหล่าใด ผู้ถึงฝั่งแห่งเวทในธรรมทั้งปวง

เต เม นโม
ขอพราหมณ์เหล่านั้น จงรับความนอบน้อมของข้าพเจ้า

เต จ มํ ปาลยนฺตุ
และขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าด้วย

นมตฺถุ พุทฺธานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

นมตฺถุ โพธิยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ

นโม วิมุตฺตานํ
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

นโม วิมุตฺติยา
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรมของท่านผู้หลุดพ้นแล้ว

อิมํ โส ปริตฺตํ กตฺวา โมโร วาสมกปฺปยีติ ฯ
นกยูงนั้นเจริญพระปริตต์นี้แล้วจึงสำเร็จการพักอยู่อาศัยแล.

อ้างอิง

A Critical Study of the Mūlasarvāstivādavinayavastu with Special Reference to Bhaiṣajyavastu
การศึกษาเชิงวิเคราะห์คัมภีร์มูลสรวาสติวาทวินัยวัสตุ-ศึกษาเฉพาะไภษัชยวัสตุ
http://ithesis-ir.su.ac.th/dspace/handle/123456789/1154

อรรถกถา โมรชาดก
ว่าด้วย นกยูงเจริญพระปริตต์
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=167

Mahāmāyūrīvidyārājñī
http://gretil.sub.uni-goettingen.de/gretil/corpustei/transformations/html/sa_mahAmAyUrIvidyArAjJI.htm

กระแสมนตรยานในนิกายเถรวาท
http://www.dharma-gateway.com/ubasok/satien/ubasok-16.htm

Loading

Be the first to comment on "โมรปริตร ฝ่ายมนตรยาน ในมหามายูรีวิทยาราชญี"

Leave a comment