การถามอันตรายิกธรรม ในการอุปสมบทภิกษุในนิกายต่าง ๆ

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

การถามอันตรายิกธรรม ในการอุปสมบทภิกษุในนิกายต่าง ๆ ทั้งฉบับภาษาบาลี จีนโบราณ สันสกฤต

ภาพการอุปสมบทที่วัดป่าอภัยคีรี สหรัฐอเมริกา
 
#อันตรายิกธรรม หมายถึง #ธรรมอันกระทำอันตราย คือเป็นเหตุขัดขวางต่าง ๆ
ใช้ในบริบทต่างกัน เช่น การแสดงพระปาฏิโมกข์ ท่านถือว่า สัมปชานมุสาวาท การโกหกทั้งที่รู้ตัว เป็นธรรมอันกระทำอันตราย สำหรับการแสดงพระปาฏิโมกข์ คือหากภิกษุรู้ตัวว่ามีอาบัติแต่ไม่แสดงอาบัติ จะเป็นเหตุให้ภิกษุไม่มีความสำรวมระวังในศีล เป็นเหตุให้ต้องอาบัติใหญ่น้อยต่อไป
 
การถามอันตรายิกธรรมในท่ามกลางสงฆ์ ซึ่งเป็นการผูกพัทธสีมาและการอุปสมบทครั้งแรกในประเทศยูกันดา ทวีปแอฟริกา ปี พ.ศ.2559
——————
ในการอุปสมบทก็มีธรรมอันกระทำอันตราย หรือ อันตรายิกธรรม คือข้อกำหนดการบวช เพราะถ้าหากละเมิดอาจสร้างความเดือดร้อนในแก่ตนเอง ผู้อื่น หรือคณะสงฆ์เองภายหลัง ดังนั้นในการบวช คณะสงฆ์จะถามอันตรายิกธรรมกับอุปสัมปทาเปกขะ (ผู้ประสงค์จะบวช) เมื่อทราบว่าไม่มีอันตรายิกธรรมดังกล่าว จึงจะอุปสมบทได้
——————
แต่ข้อกำหนดการคัดกรองในการบวชนั้นมีมากกว่าที่ปรากฏอยู่ในการถามอันตรายิกธรรม คือ บุคคลไม่ควรให้อุปสมบทอีก ๒๐ จำพวก และบุคคลไม่ควรให้บรรพชาอีก ๓๒ จำพวก ซึ่งในการถามอันตรายิกธรรมเพื่ออุปสมบทนั้น ในหลายนิกายก็จะนำข้อบัญญัติเหล่านี้ออกมาถามด้วย หรือเสริมรายละเอียดให้มากกว่าเดิม ทำให้รายละเอียดในแต่ละนิกายไม่เท่ากัน
 
พระอนุสาวนาจารย์ (教授阿闍梨) ถามอันตรายิกธรรม (遮難) ผู้อุปสมบท วัดผู่จี้ เขาผู่ถัว
 
การถามอันตรายิกธรรม ปรากฏในพระวินัยที่ยังคงเหลือมาถึงปัจจุบัน แบ่งกลุ่มตามความคล้ายคลึงกัน ๓ กลุ่ม ๖ นิกาย ดังนี้
——————
๑. สายสถวีรวาท กลุ่มวิภัชชวาท
 
  • ๑.๑ นิกายสถวีรวาทสายลังกา หรือ เถรวาท ยังเหลือต้นฉบับภาษาบาลีอยู่
  • ๑.๒ นิกายธรรมคุปตวาท เหลือเฉพาะในฉบับแปลภาษาจีน
  • ๑.๓ นิกายมหีศาสกวาท เหลือเฉพาะในฉบับแปลภาษาจีน
ในกลุ่มนี้มีการถามอันตรายิกธรรมอุปสมบทในลักษณะสั้นกระชับ โดยเถรวาทและธรรมคุปตวาท มีความคล้ายกันมาก ส่วนนิกายมหีศาสกวาท มีการถามถึงการบรรพชาในครั้งก่อนของผู้อุปสมบทโครงสร้างคล้ายกับนิกายสรรวาสติวาท แต่ยังคงความกระชับกว่า
——————
๒.สายมหาสังฆิกะ
 
๒.๑ นิกายมหาสังฆิกวาท หรือ มหาสางฆิกะ เหลือเฉพาะในฉบับแปลภาษาจีน
สายนี้เป็นเป็นสายที่แยกกับสถวีรวาทในช่วงแรก ระบบการจัดพระวินัยจะต่างจากสายสถวีรวาท คือ มีส่วนที่บัญญัติสิกขาบท ที่เรียกว่าวิภังค์ เหมือนกัน แต่ไม่มีส่วนที่เรียกว่า ขันธกะ(วัสตุ หรือ สกันธกะ) แต่จะจัดเป็นหมวดใหม่ที่เรียกว่า มหาวัสตุ ประกีรณะกะ และอภิสมาจาริกะแทน ซึ่งบางหัวข้อต่างจากพระวินัยขันธกะ อยู่พอสมควร
และในส่วนการถามอันตรายิกธรรมนั้น จะมีคำถามที่มีรายละเอียดย่อยมากกว่า ที่น่าสนใจมีคำถามเรื่องการกบฏต่ออาณาจักร และการเลี้ยงดูบุตร
——————
๓.สายสถวีรวาท กลุ่มสรรวาสติวาท
 
  • ๓.๑ นิกายสรรวาสติวาท เหลือต้นฉบับเป็นเศษคัมภีร์สันสกฤต ฉบับแปลภาษาจีน (นำเสนอเพียงฉบับจีน)
  • ๓.๒ นิกายมูลสรรวาสติวาท เหลือในต้นฉบับสันสกฤต ฉบับแปลภาษาจีน และฉบับแปลภาษาทิเบต แต่จะแตกต่างในรายละเอียดเล็กน้อย แต่อยู่ในโครงเรื่องแบบเดียวกัน (นำเสนอเพียงฉบับสันสกฤต และจีน)
สายนี้เป็นกลุ่มนิกายที่ถือตัวว่าเป็น พวกสถวีรวาท เป็นศัตรูโดยตรงกับกลุ่ม มหาสังฆิกะ เจริญเคียงคู่กันในแถบอินเดียเหนือแต่ในทางกลับกัน นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มสรรวาสติวาทอาจได้รับอิทธิพลพวกกลุ่มมหาสังฆิกะ ซึ่งการปะทะสังสรรค์นี้อาจเกิดขึ้นแถบเมืองมถุรา ซึ่งทำให้มีพระวินัยบางส่วนไปคล้ายคลึงกับพวกมหาสังฆิกะ
ในการถามอันตรายิกธรรมนั้น ในกลุ่มนี้ มีความละเอียดแยกย่อยไปหลายข้อ โดยเฉพาะนิกายมูลสรรวาสติวาท จำแนกละเอียดเช่นเดียวกับนิกายมหาสังฆิกวาท เช่นมีเรื่องการกบฏต่ออาณาจักร และมีลักษณะพิเศษของสายนี้คือ จะมีการจำแนกทาส ออกเป็นประเภทต่างๆ ละเอียดกว่าสายอื่น ซึ่งอาจรวมความไปถึง ข้ารับใช้ที่ไม่มีอิสระในตัว แต่ไม่อยู่ในระดับที่เป็นทาส แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในคัมภีร์มูลสรรวาสติวาทกรรมวากยะที่พระสมณะอี้จิง แปล กลับไม่มีการจำแนกลักษณะนี้ แต่ในฉบับสันสกฤต และทิเบตยังคงการจำแนกนี้ไว้
——————
ในการแปลครั้งนี้อาจมีข้อผิดพลาดอยู่โดยเฉพาะศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ อันเป็นศัพท์โบราณ บางคำพ้นกาลที่ใช้มาแล้ว ดังนั้นให้ถือว่า เป็นการกล่าวชื่อแต่พอสังเขป ในการแปลในครั้งนี้ หากมีการแปลผิดพลาดในส่วนใด ๆ ได้ขอผู้รู้จงโปรดแนะนำเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

เนื้อหาการถามอันตรายิกธรรม ในแต่ละนิกาย มีเนื้อหาดังนี้
——————
 
๑.นิกายเถรวาท จาก พระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ อุปสัมปทาวิธี ความว่า
——————

สุณสิ อิตฺถนฺนาม อยนฺเต สจฺจกาโล ภูตกาโล ยํ ชาตํ ตํ ปุจฺฉามิ สนฺตํ อตฺถีติ วตฺตพฺพํ อสนฺตํ นตฺถีติ วตฺตพฺพํ สนฺติ เต เอวรูปา อาพาธา กุฏฺฐํ คณฺโฑ กิลาโส โสโส อปมาโร มนุสฺโสสิ ปุริโสสิ ภุชิสฺโสสิ อนโณสิ นสิ ราชภโฏ อนุญฺญาโตสิ มาตาปิตูหิ ปริปุณฺณวีสติวสฺโสสิ ปริปุณฺณนฺเต ปตฺตจีวรํ กินฺนาโมสิ โกนาโม เต อุปชฺฌาโยติ ฯ
——————
แน่ะผู้มีชื่อนี้ เจ้าฟังนะ นี้เป็นกาลสัตย์ กาลจริงของเจ้า เราจะถามสิ่งที่เกิด สิ่งที่มี พึงบอกว่า “มี” ไม่มีก็พึงบอกว่า “ไม่มี” อาพาธเช่นนี้ของเจ้ามีอยู่หรือ คือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ[1] โรคลมบ้าหมู

เจ้าเป็นมนุษย์หรือ เจ้าเป็นชายหรือ เจ้าเป็นไทหรือ เจ้าไม่มีหนี้หรือ เจ้าไม่ใช่ราชภัฏหรือ มารดาบิดา
อนุญาตเจ้าแล้วหรือ เจ้ามีอายุครบ ๒๐ ปีหรือ บาตรและจีวรของเจ้ามีครบแล้วหรือ เจ้าชื่ออะไร อุปัชฌาย์ของเจ้าชื่ออะไร

  • [1] โรคมองคร่อ คือโรคถุงลมโป่งพอง ในบาลีว่า โสโส ซึ่งอาจจะหมายถึงโรคปอด อื่นๆด้วย
——————
๒. นิกายธรรมคุปตวาท จาก พระวินัยปิฎก จตุรวรรคียวินัย อุปสมบทสกันธกะ (四分律 : 受戒揵度) หมายเลข T1428 พระพุทธยศแปล
 
 
『善男子聽!今是至誠時實語時,我今問汝,汝當隨實答我。汝字何等?和尚字誰?汝年滿二十未?三衣鉢具不?父母聽汝不?汝不負債不?汝非奴不?汝非官人不?汝是丈夫不?丈夫有如是病:癩、癰疽、白癩、乾痟、顛狂病,汝今有如是病無?』

นี่แน่ะกุลบุตรนี้ เธอจงฟังด้วยดี ! บัดนี้เป็นเวลาแห่งความซื่อตรง ถึงเวลาที่ต้องกล่าวความจริง ฯ บัดนี้เราจักถามคำถามกับเธอ ฯ เธอพึงตอบความจริงกับเรา ฯ

เธอมีชื่อว่าอะไร ? อุปัชฌาย์ของเธอคือใคร ? เธออายุครบ ๒๐ แล้วหรือยัง ?ไตรจีวร บาตรมีครบแล้ว ใช่หรือไม่ ? บิดามารดาอนุญาตเธอแล้ว ใช่หรือไม่ ?เธอไม่มีหนี้สิน ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เป็นทาส ใช่หรือไม่ ?
เธอไม่ใช่เจ้าพนักงานของรัฐ ใช่หรือไม่ ? เธอเป็นบุรุษ ใช่หรือไม่ ?

โรคแห่งบุรุษเช่นนี้เธอป่วยอยู่หรือไม่ ? คือ โรคเรื้อน โรคฝีหนอง โรคเรื้อนขาว[1] โรคปอดต่างๆ โรคลมบ้าหมู เธอมีอาการเหล่านี้อยู่หรือไม่ ?

  • [1] ชื่อโรคแบบจีน เป็นโรคผิวหนังจำพวกเป็นขุ่ยหรือรอยสีขาว (กลาก,เกลื้อน,ด่างขาว, เรื้อนกวาง)
——————
๓ นิกายมหีศาสกวาท จาก พระวินัยปิฎก มหีศาสกปัญจวรรคีกวินัย อุปสมบทธรรม (彌沙塞部和醯五分律 : 受戒法) หมายเลข T1421 พระพุทธชีวะกับพระต้าวเซิงแปล
——————
『汝某甲聽!今是實語時,我今問汝,若實言實,不實言不實。人有如是等病:癩、白癩、癰疽、乾痟、癲狂、痔漏、熱腫、脂出。汝有不?』若言無,復應問:『汝不負人債不?非官人不?非奴不?是丈夫不?是人不?年滿二十不?衣鉢具不?受和尚未?汝字何等?和尚字何等?汝曾出家不?』若言曾出家,應問:『汝本出家持戒完具不?父母聽不?欲受具足戒不?眾中當更如是問汝,汝亦應如實答。』
——————
แน่ะ ผู้ชื่อว่า.. เธอจงฟังด้วยดี ! ถึงเวลาที่ต้องกล่าวความจริง ฯ บัดนี้เราจักถามคำถามกับเธอ ฯ หากสิ่งใดจริงจงตอบจริง สิ่งใดไม่จริงจงตอบไม่จริง โรคของมนุษย์ลักษณะนี้เธอป่วยอยู่หรือไม่ ? โรคเรื้อน โรคเรื้อนขาว โรคฝีหนอง โรคปอดต่างๆ โรคลมบ้าหมู โรคริดสีดวงทวารเน่า โรคไข้มีเนื้องอก[1] โรคอ้วนเกิน เธอมีอาการเหล่านี้อยู่หรือไม่

หากตอบ ไม่มี พึงถามอีกว่า : เธอไม่เป็นหนี้คนอื่น ใช่หรือไม่ ? เธอไม่ใช่เจ้าพนักงานของรัฐ ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เป็นทาส ใช่หรือไม่ ? เธอเป็นบุรุษ ใช่หรือไม่ ? เธอเป็นมนุษย์ ใช่หรือไม่ ? เธออายุครบ ๒๐ ใช่หรือไม่ ? เธอมีบาตรจีวร ใช่หรือไม่ ? อุปัชฌาย์ยอมรับแล้วหรือยัง ? เธอมีชื่อว่าอะไร ? อุปัชฌาย์มีชื่อว่าอะไร ?

เธอเคยบรรพชาแล้วหรือไม่ ? หากตอบว่า เคยบรรพชาแล้ว พึงถามว่า : การบรรพชาครั้งก่อนนั้น เธอรักษาสิกขาบทสมบูรณ์หมดจดดีแล้ว [2] หรือไม่ ?

บิดามารดาอนุญาตแล้วหรือไม่ ? มีความประสงค์จะอุปสมบทแล้วหรือไม่ ?

ซึ่งในท่ามกลางบริษัทนั้น ท่านจะถามเธอเช่นเดียวกันนี้ อีกครั้งหนึ่ง เธอก็พึงตอบด้วยความจริงอีกครั้งเช่นเดียวกัน

  • [1] อาจเป็นก้อนมะเร็ง ที่ปรากฎภายนอกร่างกาย
  • [2] เนื้อหาการถาม คือ เคยต้องอาบัติปาราชิก หรือไม่
——————
๔. นิกายมหาสังฆิกวาท จาก พระวินัยปิฎก มหาสังฆิกวินัย ประกีรณะกะ ปฐมวรรค : อุปสมบท (摩訶僧祇律 : 雜誦跋渠法之一) หมายเลข T1425 พระพุทธภัทรกับพระสมณะฝาเสี่ยน แปล
——————
「善男子聽!今是至誠時,是實語時,於諸天、世間、天魔、諸梵、沙門、婆羅門、諸天、世人、阿修羅。若不實者,便於中欺誑,亦復於如來、應供、正遍知聲聞眾中欺誑,此是大罪。今僧中問汝,有者言有,無者言無。父母聽不?求和上未?三衣鉢具不?是男子不?年滿二十不?非是非人不?非是不能男不?汝字何等?」若言:「字某。」「和上字誰?」答言:「字某。」

「不壞比丘尼淨行不?非賊盜住不?非越濟人不?非自出家不?不殺父母不?不殺阿羅漢不?不破僧不?不惡心出佛身血不(佛久已般泥洹故依舊文)?汝本曾受具足不?」答言:「曾受。」「不犯四事不?」若言:「犯。」應語:「去!不得受具足。」若言:「不犯。」次問十三事。「一一事中有犯不?」若言:「犯。」「受具足訖,此罪能如法作不?」答言:「能。」「本捨戒不?」答言:「捨。」

「汝非奴不?非養兒不?不負人債不?非王臣不?不陰謀王家不?汝黃門不?汝非二根不?汝是丈夫不?

汝無如是諸病:癬疥、黃爛、癩病、癰痤、痔病、不禁、黃病、瘧病、欬嗽、消盡、癲狂、熱病、風腫、水腫、腹腫,如是種種更有餘病著身不?」
——————
นี่แน่ะกุลบุตรนี้ เธอจงฟังด้วยดี ! บัดนี้เป็นเวลาแห่งความซื่อตรง ถึงเวลาที่ต้องกล่าวความจริง ฯ ไม่ว่าในสวรรค์ทั้งปวง โลกแห่งเทวมาร พรหมทั้งหลาย สมณพราหมณ์ เทวดาทั้งหลาย มนุษย์โลก อสูร หากผู้ใดกล่าวคำไม่จริง กล่าวตลบตะแลงเพื่อการหลอกลวง ในพระตถาคตเจ้าผู้เป็นบุคคลที่ควรบูชา ผู้ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง และหลอกลวงในท่ามกลางสาวกสงฆ์ ในลักษณะเช่นนี้เป็นมหาบาปอันยิ่ง

บัดนี้จะถามเธอในท่ามกลางสงฆ์ สิ่งใดมีอยู่ จงตอบว่ามี สิ่งใดไม่มีอยู่ จงตอบว่าไม่มี

บิดามารดาอนุญาตแล้วหรือไม่ ?แสวงหาอุปัชฌาย์แล้วหรือยัง ? มีไตรจีวรและบาตรแล้วหรือไม่ ? เป็นบุตรชาย ใช่หรือไม่ ? อายุครบ ๒๐ แล้วหรือไม่ ? ไม่เป็นอมนุษย์ ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นชายผู้ไร้สมรรถภาพ [1] ใช่หรือไม่ ?

เธอชื่อว่าอะไร ? เธอตอบว่า มีชื่อว่า..(ชื่อตน)
อุปัชฌาย์ชื่อว่าอะไร ? เธอตอบว่า มีชื่อว่า..(ชื่ออุปัชฌาย์)

ไม่เคยประทุษร้ายต่อพรหมจรรย์ของนางภิกษุณี ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นโจรหรือมีความเป็นอยู่อย่างขโมย ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นเดียรถีย์กลับมา ใช่หรือไม่ [2] ? ไม่เป็นผู้บวชเอาเอง ใช่หรือไม่ [3] ? ไม่เคยฆ่าพ่อแม่ ใช่หรือไม่ ? ไม่เคยฆ่าพระอรหันต์ ใช่หรือไม่ ? ไม่เคยทำสังฆเภท ใช่หรือไม่ ? ไม่เคยทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต ใช่หรือไม่ ? (แม้พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานนานมาแล้ว ยังคงไว้เพราะมาในคัมภีร์แต่ดังเดิม)[4]

เธอเคยรับอุปสมบทแล้วหรือยัง ? หากตอบว่า เคย [ถามต่อว่า] ไม่เคยต้องอาบัติ ๔ [5] ใช่หรือไม่ ?
หากตอบว่า เคยต้องอาบัติ พึงกล่าวว่า ออกไป ! ไม่ควรให้อุปสมบท .หากตอบว่า ไม่เคยต้องอาบัติ จงถามต่อไปถึงอาบัติ ๑๓ [6] ว่ามีข้อใดข้อหนึ่งในกองอาบัตินี้ ที่เคยต้องอาบัติหรือไม่ ? หากตอบว่า เคยต้องอาบัติ [ถามต่อว่า] การอุปสมบทจะสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อกระทำอาบัตินี้ให้เป็นไปตามธรรมบัญญัติ เธอสามารถทำได้หรือไม่ ? หากตอบว่า สามารถทำได้ [ถามต่อว่า] ก่อนหน้านี้ได้บอกลาสิกขาแล้วหรือไม่ หากตอบว่า ลาแล้ว [*กลับไปคำถามหลัก *]

เธอไม่เป็นทาส ใช่หรือไม่ ? ไม่ต้องเลี้ยงบุตรผู้เป็นทารก ใช่หรือไม่ ? ไม่มีหนี้สิน ใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่เป็นข้าราชการ ใช่หรือไม่ ? ไม่ใช่เป็นกบฏต่อราชสกุล [7] ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เป็นบัณเฑาะก์[1] ใช่หรือไม่ ?
เธอไม่เป็นผู้มีอวัยวะเพศสองอย่าง ใช่หรือไม่ ? เธอเป็นบุรุษ ใช่หรือไม่ ?

เธอไม่มีอาการของบรรดาโรคต่างๆ อันได้แก่ โรคกลาก โรคหิด โรคผิวเหลืองไหม้ โรคเรื้อน โรคฝี โรคริดสีดวง อาการเรื้อรังยังไม่หายอันอย่าง ดีซ่าน โรคไข้ป่า [*หรือโรคไข้กลับ] ไอไม่หาย[*เกี่ยวกับโรคปอด] หรือทำให้อาการเหล่านี้หายขาดได้ อันได้แก่ โรคไข้เรื้อรัง ลมบ้าหมู บวมลม[*โรคเกาต์] บวมน้ำ ท้องมาน อาการเจ็บป่วยอันหลากหลายเช่นนี้ยังมีอยู่เหลืออยู่ในกายหรือไม่ ?
——————
  • [1] 不能男 ชายผู้ไร้สมรรถภาพ หมายถึง ชายที่ไม่มีอวัยวะเพศ ผู้มีความบกพร่องทางเพศสภาพ (สันสกฤต : ศณฺฒ,ษณฺฒก) ได้แก่ ขันทีหรือผู้ชายที่ถูกตอน หรือไม่มีอวัยวะเพศ หรือไม่ปรากฏเพศที่แน่ชัด
โดยที่ซึ่งอีกคำคือ 黃門 ประตูเหลือง อันมีความหมาย ขันที ซึ่งประตูเหลือง เป็นเขตพวกขันทีในราชสำนักจีน แต่คำนี้ถูกโบราณจารย์จีนใช้แปลคำว่า คำว่า ปัณฑกะ ไปแล้ว หรือภาษาไทยใช้ว่า บัณเฑาะก์ อรรถาธิบายในนิกายอื่นๆ ก็อธิบายว่า มี ๕ ประเภทเช่นเดียวกับเถรวาท
แต่โดยจริงๆแล้ว ชายที่ไม่มีอวัยวะเพศ (โอปักกมิยบัณเฑาะก์) ผู้มีความบกพร่องทางเพศสภาพ (นปุงสกัปบัณเฑาะก์) ก็เป็นประเภทหนึ่งของบัณเฑาะก์ ในพระวินัยฉบับนี้กล่าวไว้ทั้งสองแบบ อาจเป็นไปได้;ว่าจำแนกในประเภทที่เป็นรสนิยมทางเทศ และลักษณะบกพร่องทางกายภาพจริงๆ
  • [2] เป็นการถามว่าเมื่อบวชแล้วสึกออกไปนับถือศาสนาอื่น (เดียรถีย์) แล้วกลับมาบวชใหม่อีกครั้ง ท่านห้ามไม่ให้อุปสมบทอีก ส่วนผู้ที่เป็นเดียรถีย์อยู่แล้วถ้าต้องการบวช ต้องเข้าติตถิยปริวาส ก่อนจึงจะอุปสมบทให้ได้
  • [3] บาลีว่า เถยยสังวาส ภาษาไทยเรียกว่า คนลักเพศ หมายถึง คนที่ขโมยรูปลักษณะ(เพศ) ลักษณะความเป็นอยู่(สังวาส) แบบภิกษุไป หรือ คนปลอมบวชนั้นเอง
  • [4] เชิงอรรถของพระเถระผู้แปลคัมภีร์ใส่เพิ่มมา
  • [5] อาบัติปาราชิก ไม่สามารถบวชได้
  • [6] อาบัติสังฆาทิเสส สามารถกลับมาบวชได้ แต่สถานะภิกษุจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อแก้ไขอาบัติสังฆาทิเสสที่เคยทำค้างไว้ก่อน
  • [7] ในการปกครองในระบบสามัคคีธรรม อย่างแคว้นวัชชี มัลละ ก็หมายถึงการกบฏ ต่อสภา หรือ ต่อรัฐนั้นเอง
——————
๕. นิกายสรรวาสติวาท จาก พระวินัยปิฎก ทศภาณวารวินัย : อุปสมบทวินัยวัสตุ (十誦律 : 受具足戒法 ) พระปุณยตารและพระกุมารชีพ แปล
——————
『汝某甲聽,今是至誠時、實語時,今僧中問汝,若實當言實,不實言不實。汝丈夫不?年滿二十未?非奴不?不與人客作不?不買得不?不破得不?非官人不?不犯官事不?不陰謀王家不?不負人債不?丈夫有如是病:若癩癰、漏瘭、疽痟、癲病,[ *หลังสมัยซ่งชำระเป็น 乾痟、癲狂* ] 如是病比有不?父母在不?父母聽不?先不作比丘不?』
若言:『作。』『清淨持戒不?捨戒時一心如法還戒不?三衣鉢具不?汝字何等?和尚字誰?』應言:『我名某甲,和尚某甲。』白僧:『頗有未問者不?若未問者當更問,若已問者默然。』
——————
เธอผู้มีชื่อว่า…นี้ จงฟังด้วยดี บัดนี้เป็นเวลาแห่งความซื่อตรง ถึงเวลาที่ต้องกล่าวความจริง บัดนี้จะถามเธอในท่ามกลางสงฆ์ หากสิ่งใดจริงจงตอบจริง สิ่งใดไม่จริงจงตอบไม่จริง ฯ

เธอเป็นบุรุษ ใช่หรือไม่ ? อายุครบ ๒๐ หรือยัง ? ไม่เป็นทาส ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นบุคคลผู้ซึ่งมีส่วนแห่งข้าศึกศัตรู [1] ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นคนอันเขาได้มาด้วยซื้อขาย [2] ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นคนอันเขาได้มาด้วยการทุบตี ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ใช่หรือไม่ ? ไม่ได้ก่อคดีความผิดอาญาแผ่นดิน ใช่หรือไม่ ?ไม่เคยก่อกบฏต่อราชสกุล ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นหนี้ผู้อื่น ใช่หรือไม่ ?

ด้วยโรคแห่งบุรุษเช่นนี้ ? คือ โรคเรื้อนต่างๆ โรคฝีหนองต่างๆ โรคเนื้อตายเน่า โรคเบาหวานเป็นแผลเรื้อรัง [*หลังสมัยซ่งชำระเป็น โรคปอดต่างๆ ] โรคลมบ้าหมู มีอาการป่วยเหล่านี้อยู่หรือไม่ ?

บิดามารดายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ? บิดามารดาอนุญาตแล้วหรือไม่ ?

ก่อนหน้านี้เคยเป็นภิกษุแล้วหรือไม่ ? หากเธอตอบว่า : เคย [ถามว่า] คราวนั้นศีลบริสุทธิ์หมดจดดีหรือไม่ ? [3] เมื่อเวลาบอกลาสิกขาไป ใจเธอยังอยู่ด้วยกับพระธรรมนี้ก่อนจะกลับมารับศีลหรือไม่[4]

มีไตรจีวรและบาตรแล้วหรือไม่ ?

เธอมีชื่อว่าอะไร ? อุปัชฌาย์ของเธอเป็นใคร ? พึงให้ตอบว่า ข้าพเจ้ามีชื่อว่า .[ชื่อดังนี้]. อุปัชฌาย์มีชื่อว่า..
แล้วตั้งญัตติแสดงแก่สงฆ์ว่า : มีข้อสอบถามใดที่ยังไม่ได้ถามหรือไม่ ? หากยังมีข้อที่ไม่ได้สอบถามก็จงถามอีก หากสอบถามหมดสิ้นแล้วขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้นิ่ง

——————
[1] 與人客作 บุคคลผู้ซึ่งมีส่วนแห่งข้าศึกศัตรู อาจหมายถึง ทาสเชลยศึก เช่น นักโทษ ตัวประกัน ข้าศึกศัตรู ของบ้านเมืองนั้นๆ (人客 หมายถึง แขก หรือผู้มาเยือน บางบริบทใช้เรียก ฝ่ายที่รุกรานประเทศอื่น หรือ ข้าศึก)

[2] หมายถึง ทาสที่มีพันธสัญญาผูกมัดเนื่องด้วยทรัพย์สิน อันอาจสามารถไถ่ถอนตัวได้ภายหลัง เช่น คนที่ถูกส่ง หรือคนลดตัวเองลงไปเป็นข้ารับใช้ เพื่อ ไปขัดดอกหรือฝากไว้เป็นประกัน หรือขายตัวเอง หรือมีผู้ขายลงเป็นทาส ในมูลสรรวาสติวาสจำแนกไว้หลายประเภท

[3] เป็นการถามว่าเคยต้องอาบัติปาราชิก ๔ หรือไม่

[4] เป็นการถามว่า เป็นเดียรถีย์แล้วกลับมาบวชใหม่อีกครั้ง หรือไม่
——————
๖. นิกายมูลสรรวาสติวาท จาก ชุดพระวินัยปิฎกมูลสรรวาสติวาท คัมภีร์มูลสรรวาสติวาทกรรมวากยะ (กรรมวาจา) (根本說一切有部百一羯磨 ) พระสมณะอี้จิง แปล
——————
『具壽!汝聽,此是汝真誠時、實語時,我今少有問汝,汝應以無畏心,若有言有、若無言無,不得虛誑語。汝是丈夫不?』答言:『是。』『汝年滿二十未?』答言:『滿。』『汝三衣鉢具不?』答言:『具。』『汝父母在不?』若言:『在。』者,『聽汝出家不?』答言:『聽。』若言:『死。』者,更不須問。『汝非奴不?』『汝非王臣不?』『汝非王家毒害人不?』『汝非賊不?』『汝非黃門不?』『汝非污苾芻尼不?』『汝非殺父不?』『汝非殺母不?』『汝非殺阿羅漢不?』『汝非破和合僧伽不?』『汝非惡心出佛身血不?』『汝非外道不?』(現是外道)『汝非趣外道不?』(先已出家,還歸外道,更復重來)『汝非賊住不?』『汝非別住不?』『汝非不共住不?』(先犯重人)『汝非化人不?』『汝非負債不?』若言:『有。』者,應可問言:『汝能受近圓已還彼債不?』言:『能。』者善。若言:『不能。』者,『汝可問彼,許者方來。』『汝非先出家不?』若言:『不。』者善。如言:『我曾出家。』者,『汝不於四他勝中隨有犯不?』『汝歸俗時善捨學處不?』答言:『犯重。』『隨汝意去。』若言:『無犯。』者善。問言:『汝名字何?』『我名某甲。』『汝鄔波馱耶字何?』答云:『我因事至說鄔波馱耶名,鄔波馱耶名某甲。』『又汝應聽!丈夫身中有如是病:謂癩病、癭病、癬疥、疱瘡、皮白、痶瘓、頭上無髮、惡瘡、下漏、諸塊、水腫、欬瘶、喘氣、咽喉乾燥、暗風、癲狂、形無血色、噎噦嘔逆、諸痔、痳癧、瘇脚、吐血、癰痤、下痢、壯熱、脇痛、骨節煩疼、及諸瘧病、風黃、痰癊、總集三病、常熱病、鬼病、聾盲、瘖瘂、短小、𤼣躄、支節不具,汝無如是諸病及餘病不?』答言:『無。』
——————
นี่แน่ะผู้มีอายุ [1] ! เธอจงฟังให้ดี บัดนี้เป็นเวลาแห่งความซื่อตรง ถึงเวลาที่ต้องกล่าวความจริง เราจะถามเธอสักเล็กน้อย เธออย่าได้เกรงกลัวใดๆ หากมีจงกล่าวว่ามี หากไม่มีจงกล่าวไม่มี อย่ากล่าวคำโกหก

เธอเป็นบุรุษ หรือไม่ ? ตอบว่า ใช่
เธออายุครบ ๒๐ แล้วหรือยัง ? ตอบว่า ครบแล้ว
เธอมีไตรจีวรและบาตรครบแล้ว หรือไม่ ? ตอบว่า มีครบแล้ว

บิดามารดาเธอยังอยู่ หรือไม่ ? หากตอบว่า ท่านยังอยู่ [ถามต่อ] ท่านอนุญาตเธอบรรพชาแล้ว หรือไม่ ? ตอบว่า อนุญาตแล้ว แต่หากตอบว่า ท่านเสียชีวิตแล้ว ไม่จำเป็นต้องถามคำถามนี้

เธอไม่เป็นทาส ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เป็นข้าราชการ ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เป็นบุคคลลอบวางยาหรือทำร้าย[*คือการเป็นกบฏ] ต่อราชสกุล ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เป็นโจร ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เป็นบัณเฑาะก์ ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เป็นผู้ประทุษร้าย[*คือการข่มขืน] ต่อนางภิกษุณี ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เคยฆ่าบิดา ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เคยฆ่ามารดา ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เคยฆ่าพระอรหันต์ ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เคยทำสังฆเภท ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เคยทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เป็นเดียรถีย์ ใช่หรือไม่ ? (หรือแม้เพียงแสดงตนว่าเป็นเดียรถีย์ก็ตาม) เธอไม่เป็นผู้เวียนกลับไปเป็นเดียรถีย์ ใช่หรือไม่ ? (ผู้ที่ก่อนหน้าเคยบวชแล้ว ลาสึกไปเป็นเดียรถีย์อีก ภายหลังกลับเข้ามาบวชอีก )

เธอไม่เป็นผู้ขโมยสังวาส [2] ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เป็นนานาสังวาส ใช่หรือไม่ ? เธอไม่มีสังวาส ใช่หรือไม่ ? [3] (ถามโทษบุคคลที่เกิดขึ้นก่อนหน้า)

เธอไม่ใช่สัตว์ผู้นิรมิตกายได้ ใช่หรือไม่ ? เธอไม่เป็นหนี้สินผู้อื่นใช่หรือไม่ ? หากตอบว่า ยังมีอยู่ พึงถามต่อว่า เธอจักชดใช้หนี้สินหลังการอุปสมบทนี้ได้หรือไม่ หากตอบว่า ได้ นั้นเป็นการดี แต่หากตอบว่า ไม่ได้ นั้น เธอพึงถามผู้นั้น ให้เขายินยอมมาเสียก่อน

เธอเคยบรรพชามาก่อนหน้านี้หรือไม่ ? หากตอบว่า ไม่ นั้นเป็นการดี หากตอบว่า กระผมเคยบรรพชามาแล้ว ดังนี้ [ถามต่อว่า] เธอไม่เคยต้องอาบัติข้อใดข้อหนึ่งในปาราชิก ๔ หรือ และเมื่อเวลาที่เธอกลับไปเป็นคฤหัสถ์เธอได้ลาสิกขาด้วยดีแล้วใช่หรือไม่ ? หากตอบว่า เคยต้องอาบัติ ให้กล่าวว่า เธอจงออกไป หากตอบว่า ไม่เคย นั้นเป็นการดี

จากนั้นถามว่า เธอมีชื่อว่าอะไร ? กระผมมีชื่อว่า …
เธอมีอุปัชฌาย์ชื่อว่าอะไร ? ตอบว่า กระผมมีเหตุที่ต้องกล่าวถึงชื่อพระอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์มีชื่อว่า…

นอกจากนี้เธอจงฟังด้วยดี ! กายบุรุษของเธอมีโรคเช่นนี้ คือ โรคเรื้อน โรคคอพอก โรคกลากและหิด โรคเริม โรคผิวด่าง โรคอัมพาต โรคศีรษะล้าน โรคฝีกาฬ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีเนื้องอก บวมน้ำ ไอไม่หาย(เกี่ยวกับโรคปอด) โรคหอบหืด คอแห้ง ลมกาฬ ลมบ้าหมู ตัวซีดไม่มีเลือดฝาด สำลักสะอึกอาเจียนอยู่เนื่องๆ ริดสีดวงทวารต่างๆ หนองใน เท้าบวมโต อาเจียนเป็นเลือด โรคท้องร่วง ไข้หนัก ซี่โครงหัก กระดูกหัก บรรดาโรคไข้ป่า ลมเหลือง(ดีซ่าน) ไข้สันนิบาตประชุมกันตั้งแต่ ๓ โรค เป็นไข้อยู่เป็นนิตย์ โรคอันเกิดจากภูตผี หูหนวก ตาบอด ใบ้ ง่อยเปลี้ยพิการ แขนขาไม่มี เธอไม่เป็นโรคเช่นนี้ หรือไม่มีอากรเหล่านี้เหลืออยู่ใช่หรือไม่ ? ตอบว่า ไม่มีโรคท่าน

——————
  • [1] ธรรมเนียมอินเดียโบราณใช้เรียก ผู้น้อย หรือผู้ที่เท่ากันหรืออ่อนกว่า บาลีใช้ว่า อาวุโส สันสกฤตใช้ว่า อายุษมัน
  • [2] เถยยสังวาส ภาษาไทยเรียกว่า คนลักเพศ หมายถึง คนที่ขโมยรูปลักษณะ(เพศ) ความเป็นอยู่(สังวาส) แบบภิกษุไป หรือ คนปลอมบวชนั้นเอง
  • [3] ถามในกรณีเคยบวชมาแล้วว่าเคยถูกลงโทษ ด้วยอุกเขปนียกรรม(ถูกตัดสิทธิชั่วคราว) หรือไม่ ถ้าเคยเรียกว่า นานาสังวาส (ผู้มีความเป็นอยู่ต่างจากพวก) และถูกลงโทษปัพพาชนียกรรม คือ คณะสงฆ์ขับไล่ออกจากหมู่คณะ เรียกว่า ไม่มีสังวาส (ผู้ไม่มีความเป็นอยู่ร่วมกันได้กับพวก)
๗. นิกายมูลสรรวาสติวาท คัมภีร์ภิกษุกรรมวากยะ (भिक्षुकर्मवाक्य) ฉบับภาษาสันสกฤต
โดยต้นฉบับสันสกฤต ของคัมภีร์นี้ พบ ๒ ฉบับ คือ ๑. ฉบับภิกษุกรรมวากยะ ที่พบในกิลกิต ปากีสถาน ๒.ฉบับอุปสัมปทาชญัปติ (ชำระโดยชินนันทะ) ที่พบที่ทิเบต ในที่นี้ใช้ ฉบับภิกษุกรรมวากยะ ที่พบในกิลกิต ปากีสถาน ฉบับชำระโดย อนิล บาเนอร์จี
——————
ศฤณุตฺวมายุษฺมนฺ อยํ เต ภูตกาละ ฯ อยํ สตฺยกาละ ฯ ยจฺจาหํ กิญฺจิตฺปฤจฺฉามิ ตตฺตฺวยา ลชฺชิเตน มา ภูตฺวา ภูตํ จ ภูตโต วกฺตวฺยํ อภูตํ จ อภูตโต ‘นิรฺเวฐยิตวฺยมฺ ฯ
ปุรุโษ ‘สิ ฯ ปุรุษะ ปุรุเษนฺทฺริเยณ สมนฺวาคตะ ฯ ปริปูรฺณวิํศติวรฺษะ ฯ ปริปูรฺณํ เต ตฺริจีวรํ ปาตฺรํ จ ฯ ชีวตสฺเต มาตาปิตเรา ฯ อนุชฺญาโตสิ มาตาปิตฤภฺยามฺ ฯ มาสิ ทาสะ ฯ มา อาหตกะ ฯ มา ปฺราปฺตกะ ฯ มา วกฺตวฺยกะ ฯ มา วิกฺรีตกะ ฯ มา ราชภฏะ ฯ มา ราชกิลฺวิษี ฯ มา ราชตตฺถฺยการี ฯ มา เต ราชาปถฺยํกรฺมกฤตํ วา การิตํ วา ฯ มาสิเจาโร ธชพนฺธกะ ฯ มา ศณฐกะ ฯ มา ปณฺฑกะ ฯ มา ภิกฺษุณีทูษกะ ฯ มา สฺเตนสํวาสิกะ ฯ มา นานาสํวาสิกะ ฯ มา มาตฤฆาตกะ ฯ มา ปิตฤฆาตกะ ฯ มา อรฺหทฺ ฆาตกะ ฯ มา สํฆเภทกะ ฯ มา ตถาคตสฺยานฺติเก ทุษฺฏจิตฺตรุธิโรตฺปาทกะ ฯ มา นาคะ ฯ มา ปศุะ ฯ มา เต กสฺยจิตฺกิญฺจิทฺเทยมลฺปํ วา ปฺรภูตํ วา ศกฺโนษิ วา อุปสมฺปทํ ทาตุมฺ ฯ มาสิ ปูรฺวํ ปฺรวฺรชิตะ ฯ จตุรฺณํา ปาราชิกานามนฺยตโม ‘นฺยตมามาปตฺติมาปนฺนะ ฯ กศฺจิทสิ เอตรฺหิ ปฺรวฺรชิตะ สมฺยกฺ เต พฺรหฺมจรฺยํ จีรฺณํ ฯ กิํนามา ตฺวมฺ ฯ กิํนามา เต อุปาธฺยายะ ฯ
ศฤณุ ตฺวมายุษฺมนฺ ฯ ภวนฺติ ขลุ ปุรุษาณามิเม เอวํรูปาะ กาเย กายิกาะ อาพาธาะ ฯ
ตทฺยถา กุษฺฐํ ฯ คํฑะ ฯ กิฏิภะ ฯ กิลาสํ ฯ ททฺรุะ กํฑุะ ฯ กจฺฉู ฯ รชตมฺ ฯ วิษูจิกา ฯ วิจรฺจิกา ฯ หิกฺกา ฯ ชฺวระ ฯ กฺษยะ ฯ กาสะ ฯ ศฺวาสะ โศษะ ฯ อปสฺมาโร ฯ โลหลิงฺคมฺ ฯ อาฏกฺกระ ฯ ปาณฺฑุโรคะ ฯ องฺคเวทะ [*องฺคเภทะ*] ฯ คุลฺมํ รุธิรํ ฯ ภคนฺทระ ฯ อรฺศําสิ ฯ จฺฉรฺทิะ ฯ มูตฺรโรคะ ศฺลีปทํ ฯ กฺลมะ ฯ องฺคทาหะ ฯ ปารฺศฺวทาหะ ฯ อสฺถิเภทะ ฯ เอกาหิกะ ฯ ทฺไวตียกะ ฯ ไตฺรตียกะ ฯ จาตุรฺถิกะ ฯ นิตฺยชฺวระ ฯ วิษมชฺวระ ฯ สนฺนิปาตะ ฯ มา เต เอวํรูปาะ กาเย กายิกา อาพาธาะ สํวิทฺยนฺเต ฯ อนฺเย วา เอวํรูปาะ ฯ
——————
ฟังนะ เธอผู้มีอายุ นี่เป็นเวลาเปิดเผยในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว นี่คือเวลาแห่งความสัตย์ และสิ่งที่เราถามจะถามเธอ เธออย่าได้เขินอาย สิ่งใดมีอยู่ ก็จงกล่าวขึ้นว่า มี และหากสิ่งใดไม่มีก็จงปฏิเสธว่าไม่มี

เธอเป็นบุรุษ หรือไม่ ? ประกอบด้วยบุรุษอินทรีย์ [*ร่างกาย จิตใจเป็นชาย] หรือไม่ ? อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แล้วหรือยัง ? เธอมีผ้าไตรจีวรและบาตรครบ แล้วหรือยัง ? มารดาบิดามีชีวิตอยู่ หรือไม่ ?มารดาบิดาอนุญาตแล้วหรือยัง ?

เธอไม่เป็นทาส ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นบุคคลที่ถูกจับลงเป็นกรรมกรถูกเฆี่ยนตี ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นบุคคลที่เขาเอามาค้ำประกัน ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นบุคคลที่ขายตัวเองหรือเอาตัวเองเป็นหลักประกัน ใช่หรือไม่ ?
ไม่เป็นบุคคลที่ได้มาจากการขาย ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นข้าราชการ ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นผู้ต้องด้วยราชอาญา ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นผู้ร่วมมือกันเป็นกบฎต่อพระราชา ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นกบฎต่อพระราชาด้วยตนหรือให้ผู้อื่นทำแทน ใช่หรือไม่ ?

เธอไม่เป็นโจรผู้มีชื่อ ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นชายผู้ไร้สมรรถภาพ ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นบัณเฑาะก์ ใช่หรือไม่ ?
ไม่เป็นผู้ประทุษร้ายต่อนางภิกษุณี ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นผู้ลักสังวาส ? ไม่เป็นนานาสังวาส ใช่หรือไม่ ?

ไม่เป็นผู้ฆ่าบิดา ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นผู้ฆ่ามารดา ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นผู้ทำสังฆเภท ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นผู้ทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต ใช่หรือไม่ ?

ไม่เป็นนาค ใช่หรือไม่ ? ไม่เป็นปศุสัตว์ ใช่หรือไม่ ?

เธอเคยเป็นหนี้ผู้ใดหรือไม่ ไม่ว่าจะน้อยหรือมากก็ตาม เมื่อหลังการอุปสมทเธอจักคืนเขาได้หรือไม่ ?

เธอเคยบรรพชามาก่อนหน้านี้หรือไม่ ? ธรรมอันชื่อว่า ปาราชิกทั้ง ๔ ไม่ว่าข้อใดก็ตาม เธอเคยต้องอาบัติในข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ ก็เมื่อครั้นบรรพชาเธอประพฤติในพรหมจรรย์ด้วยดีอยู่หรือไม่ ?

เธอมีชื่อว่าอะไร ?
เธอมีอุปัชฌาย์ชื่อว่าอะไร ?

ฟังนะ เธอผู้มีอายุ อาการเจ็บป่วยทางกายที่มีปรากฎอยู่ในร่างกายของบุรุษ ลักษณะเช่นนี้มีอยู่หรือ อันได้แก่ โรคเรื้อน โรคคอพอก โรคหิด โรคกลากเกลื้อน โรคเริม โรคฝี โรคผื่นคันอย่างมาก โรคด่างขาว อหิวาตกโรค โรคเรื้อนกวาง โรคสะอึกไม่หาย โรคไข้ไม่หาย วัณโรค โรคไอไม่หาย โรคหอบหืด โรคปอดต่างๆ โรคลมบ้าหมู โรคฝีฝักบัว โรคหิวไม่หยุด โรคดีซ่าน โรคไขข้ออักเสบ(รูมาตอยด์) โรคเนื้องอก โรคโลหิตจาง โรคฝีคัณฑสูตร โรคริดสีดวงทวาร โรคอาเจียน โรคทางเดินปัสสาวะ โรคเท้าช้าง โรคอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย โรคไข้ร้อนเผากาย ปวดแสบปวดร้อนทรวงอกหรือซี่โครง กระดูกแตก โรคต่าง ๆ อันเป็นประจำทุก ๆ ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน โรคไข้ที่เป็นอยู่เป็นนิตย์ โรคไข้ประหลาด โรคสันนิบาตอันประชุมกันหลายโรค อาการเจ็บป่วยทางกายเช่นนี้ หรือคล้ายกันนี้ มีปรากฎขึ้นในร่างกายของเธอ หรือไม่ ?

——————
หมายเหตุ : คำยากต่างๆ มีอธิบายไว้ในส่วนวินัยอื่นๆ ไว้หมดแล้ว สามารถย้อนอ่านได้ด้านบน
——————
อ้างอิงภาพ

https://www.putuo.org.cn/article/news/5454.shtml

Loading

Be the first to comment on "การถามอันตรายิกธรรม ในการอุปสมบทภิกษุในนิกายต่าง ๆ"

Leave a comment