ลักษณะประติมานของ พระนีลกัณฐโลเกศวร (พระอวโลกิเตศวรผู้มีคอสีนิล)

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

ลักษณะประติมานของ พระนีลกัณฐโลเกศวร (พระอวโลกิเตศวรผู้มีคอสีนิล)

 



จาก นีลกัณฐโลเกศวรหฤทัยธารณีสูตร (靑頸觀自在菩薩心陀羅尼經) พระไตรปิฎกภาษาจีน ฉบับไทโช (ญี่ปุ่น) หมวดตันตระ หมายเลข T1111

พระอโมฆวัชระ


พระสูตรนี้แปลเป็นจีนสมัยราชวงศ์ถัง เมื่อ ค.ศ. 746-774 เป็น นีลกัณฐธารณี ฉบับแปลจีน อีกเวอร์ชั่นของพระอโมฆวัชระ พระภิกษุมหายานฝ่ายมนตรยาน ชาวซอกเดีย เกิดที่เมืองซามาร์กันต์ (ปัจจุบันคือ ประเทศอุซเบกิสถาน) แปลไว้ ความว่า

———————–

次當說此青頸觀自在菩薩畫像法。其像三面,當前正面作慈悲凞怡貌,右邊作師子面,左邊作猪面。首戴寶冠,冠中有化無量壽佛。又有四臂,右第一臂執杖,第二臂執把蓮花,左第一執輪,左第二執螺。以虎皮為裙,以黑鹿皮於左膊角絡,被黑蛇以為神線。於八葉蓮花上立,瓔珞臂釧鐶珮光焰莊嚴其身,其神線從左膊角絡下。其青頸印

———————–

ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจักพรรณนาลักษณะประติมานแห่งพระนิลกัณฐโลเกศวรว่า :

ทรงมีพระรูปด้วย ๓ พระพักตร์ พระพักตร์ด้านหน้า เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา สงบเป็นสุข ด้านขวามีพระพักตร์เป็นหน้าสิงห์(สิํหมุข) ด้านซ้ายมีพระพักตร์หน้าหมูป่า (วราหมุข)

พระเศียรสวมรัตนมงกุฏ กึ่งกลางมงกุฎนั้นมีนิรมาณกายแห่งพระอมิตายุสพุทธเจ้าประทับอยู่

นอกจากนี้ ทรงมี ๔ พระกร : พระกรขวาบนทรงไม้คฑา พระกรขวาล่างทรงดอกบัว พระกรซ้ายบนทรงจักร พระกรซ้ายล่างทรงสังข์

ทรงหนังเสือเป็นผ้านุ่ง (วฺยาฆฺรจรฺมนิวสน) ห่มด้วยหนังละมั่งดำ(กฤษฺณาชิน) พาดเฉวียงบ่าทางซ้าย ใช้งูดำเป็นสายอุปวีต (กฤษฺณสรฺโปปวิต)

ประทับยืนอยู่บนดอกบัวแปดกลีบ ประดับตกแต่งองค์ด้วย สายสร้อยรัตนะ กำไล แหวน สายคาดสะเอว อันแวววาว สายอุปวีตของพระองค์คล้องเป็นแนวเฉียงจากไหล่ซ้ายห้อยลงมา

นอกจากนี้ คอของพระองค์มีสีน้ำเงิน

———————–

นิลกัณฐธารณี หรือ มหากรุณาธารณี เป็นชื่อธารณีที่นิยมในพระพุทธศาสนามหายานแบบเอเชียตะวันออก โดยมีที่มาจากมหายานฝ่ายมนตรยาน ธารณีนี้มีอยู่หลายฉบับ หลายสำนวน จำแนกประเภทได้ 2 แบบ มีฉบับย่อ และฉบับยาว นิยมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บทสวด ทำเป็นเพลง มีหลายรูปแบบและหลายธรรมนอง

โดยเนื้อหาเป็นในลักษณะประกอบด้วย บทนมัสการพระรัตนตรัย และพระอวโลกิเตศวร บทแสดงรูปความเป็นใหญ่(อิศวร) ของพระอวโลกิเตศวรในรูปนิรมาณกาย แบบนีลกัณฐโลเกศวร ปะปนด้วยบทธารณีมนตร์ศักดิ์สิทธิที่แปลเอาความทั้งประโยคไม่ได้ ตามรูปแบบธารณีในมนตรยาน

———————–

นีลกัณฐธารณี หรือ มหากรุณาธารณี ในฉบับต่าง ๆ ในคัมภีร์มักกล่าวว่าเป็น เป็นธารณีมนตร์ ประจำนิรมาณกาย อยู่ ๒ ปาง คือ

๑.สหัสภุชสหัสเนตร (พระอวโลกิเตศวร ๑๐๐๐ แขน ๑๐๐๐ ตา)
๒.นีลกัณฐะ (พระอวโลกิเตศวรผู้มีคอสีนิล)

โดยนักวิชาการกล่าวว่า ลักษณะปางต่าง ๆ ของพระอวโลกิเตศวรที่ปรากฎในคัมภีร์ มีลักษณะเชื่อมโยงกับพระผู้เป็นเจ้าของพราหมณ์

ซึ่งตามคติความเชื่อแบบพุทธมหายาน ไม่ได้ถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งภายนอกเข้ามาปน แต่เป็นปรากฎการณ์ของพระโพธิสัตว์ที่ไปโปรดผู้อยู่ภายนอกศาสนาต่างหาก มีปรากฎความในมหายานสูตรอย่าง สัทธรรมปุณฑริกสูตร และ การัณฑวยูหสูตร ว่าด้วยการสำแดงร่างของพระอวโลกิเตศวร

ทั้งสองปางนี้ นักวิชาการให้ความเห็นว่า เป็นการใช้พระอวโลกิเตศวรแทนที่ความหมายพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ดังนี้

——————

๑.สหัสภุชสหัสเนตร (๑๐๐๐ แขน ๑๐๐๐ ตา) อาจใช้แทนที่ ปุรุษะ ที่อยู่ในคัมภีร์ฤคเวท หมวดปุรุษะ สูกตะ ว่าด้วย ปุรุษะ พระผู้เป็นเจ้าผู้ดำรงอยู่ก่อนกาล มี ๑๐๐๐ ตา ๑๐๐๐ ขา ได้ประกอบในยัญพิธีจนชิ้นส่วนต่างๆ ของพระองค์กลายเป็นจุดกำเนิดของจักรวาลและมนุษย์ในวรรณะต่าง ๆ และเป็นจุดกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้า สำคัญองค์ต่าง ๆ ในคัมภีร์พระเวท

ซึ่งในการัณฑวยูหสูตร ก็กล่าวคล้ายคลึงกันกับฤคเวท แต่กลับกันว่า เทพเจ้าหรือพระผู้เป็นเจ้า ล้วนเกิดมาจากส่วนต่างๆ ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

——————

๒.นีลกัณฐะ ใช้แทนที่พระเป็นเจ้าสูงสุดของพราหมณ์ ๒ พระองค์ รวมกัน คือ พระศิวะและพระวิษณุ หรือที่รู้จักกันในนามว่า พระหริหระ เพราะในนีลกัณฐธารณี ต่างมีการระบุถึงคุณลักษณะพระอวโลกิเตศวร คล้าย ๆ กับ พระหริหระ คือ มีคุณสมบัติพระศิวะและพระวิษณุรวมกัน

นีลกัณฐะ หรือ ผู้มีคอสีนิล ทางความเชื่อของพราหมณ์นั้น เป็นพระนามหนึ่งของพระศิวะ เกิดจากการแสดงมหากรุณา ในคราวกวนเกษียรสมุทร แล้วเกิดพิษร้ายขึ้น ชื่อ หาลาหละ พิษนี้ทำให้สรรพสัตว์ทั่วทั้งจักรวาลตายทั้งหมด พระศิวะจึงช่วยเหลือด้วยการดื่มพิษนี้เข้าไปทั้งหมด จนคอพระองค์ไหม้ช้ำเป็นสีนิล หรือ น้ำเงิน



แต่ใน นีลกัณฐธารณี ของมหายานนั้น กลับกล่าวไปอีกทางหนึ่ง ว่า พระนีลกัณฐโลเกศวร มีมหากรุณาธิคุณมาก สามารถทำลายพิษ หลาหละ (หลาหลวิษ นิรฺชิต) อันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ให้โลกได้

ส่วนในด้านประติมาน หลายอย่างก็เหมือนอย่างพระวิษณุ โดยเฉพาะพระวิษณุ ปางไวกูณฐ์ จตุรมูรติ คือ มี หน้าสิงห์ หน้าหมูป่า ถือไม้คฑา ดอกบัว จักร สังข์ มีงูดำเป็นสายอุปวีต



——————

แล้วเหตุใด พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ จึงมักสำแดงกายเป็นพระผู้เป็นเจ้าของพราหมณ์ ?

คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร ในบทสมัตมุขปริวรรต กล่าวว่า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ สามารถแสดงธรรมแก่สัตว์บางจำพวกด้วยรูปกายที่ต่างกันได้ ตามจริตของสัตว์ทั้งหลายได้ สัตว์เหล่าใดที่มีจริตในการนับถือ เทพเจ้า พระผู้เป็นเจ้าต่าง ๆ (อิศวร มเหศวร) พระองค์ก็จะสั่งสอนธรรมด้วยนิรมาณกายเป็น เทพเจ้า พระผู้เป็นเจ้าต่างๆ เหล่านั้นเป็นต้น

ซึ่งในการัณฑวยูหสูตร ในบทที่ ๔ จันทราทยุตปัตติ กล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าต่าง ๆ ของพราหมณ์ ล้วนกำเนิดมาจาก พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ทั้งสิ้น แม้แต่ พระศิวะ(มเหศวร) ก็เกิดมาจากหน้าผากของพระโพธิสัตว์ พระวิษณุ(นารายณ์) เกิดมาแต่หัวใจของพระโพธิสัตว์ (ลลาฏานฺมเหศฺวระ.. หฤทยานฺนารายณะ)

แต่ภายหลังเมื่อกลียุค ยุคพระธรรมเสื่อม มนุษย์จะมีมิจฉาทิฎฐิมากขึ้น โดยพวกมนุษย์จะหลงคิดว่าเทพเจ้าเหล่านั้น เป็นพระผู้เป็นเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่งในจักรวาลจริง ๆ จะให้การสักการะบูชาและหลงลืมพระธรรมอันนำไปสู่พระนิพพาน

——————

ถ้าเช่นนั้น พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ จะเป็นพระผู้เป็นเจ้า หรือ พระเจ้าแบบเทวนิยม แทนกระนั้นหรือ ?

การัณฑวยูหสูตร ในบทที่ ๑๓ เทวะภวนะ ภระมณะ กล่าวไว้ โดยสรุปว่า

พระอวโลกิเตศวร มิใช่เทวดา มิใช่มนุษย์ หากแต่เป็นผู้พัฒนาตนจนกลายเป็นโพธิสัตว์แล้ว เป็นผู้ปรารถนาที่จะช่วยเหลือ ชี้แนะสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ไปสู่หนทางพระนิพพาน เท่านั้น

——————

ดังนั้นการสำแดงของพระอวโลกิเตศวร เป็นเพียงการสำแดงเพื่ออนุเคราะห์สรรพสัตว์เท่านั้น

——————

หมายเหตุ :

——————

นีลกัณฐธารณี นี้อาจจะมีต้นกำเนิดจาก พุทธศาสนาฝ่ายมนตรยานที่ แคว้นกัศมีระ หรือ แคชเมียร์ ข้อสังเกตคือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ปางสหัสภุชสหัสเนตร ไม่พบความนิยมในอินเดียตอนล่าง แต่พบความเชื่อในตอนเหนืออาจจะในแคว้นกัศมีระ แล้วแพร่ไปถึงจีน และ พระนีลกัณฐโลเกศวร ก็เช่นกันมีประติมานหลายอย่างคล้าย พระวิษณุ ปางไวกูณฐ์ จตุรมูรติ อันเป็นปางที่นิยมและการบูชาในแคว้นกัศมีระ

——————

อนึ่ง นิลกัณฐธารณี มักถูกสับสนกับ อวโลกิเตศวรเอกทศมุขหฤทัยธารณีสูตร หรือ เอกทศมุขธารณี หรือ มหากรุณาธารณีของพระอวโลกิเตศวร ๑๑ หน้า หรือที่มักให้ชื่อลำลองในสื่อออนไลน์ว่า Tibetan Great Compassion Mantra ( มหากรุณาธารณีทิเบต) ซึ่งจริงๆ แล้ว เอกทศมุขธารณี มีมาในพระไตรปิฎกภาษาจีน คือพระสูตร 十一面觀自在菩薩心密言念誦儀軌經 หมายเลข T1069 แปลโดย พระอโมฆวัชระ รักษาตัวธารณีภาษาสันกฤต ด้วยอักษรสิทธัม

เอกทศมุขธารณี เป็นที่นิยมในสื่อออนไลน์ พอๆกับ นิลกัณฐธารณี ซึ่งนับเป็นคนละธารณี ที่สับสนเพราะมักกล่าวว่าเป็น มหากรุณาธารณี เช่นเดียวกัน

——————

นี้เป็นการนำเสนอข้อมูลในความเชื่อเพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้กล่าวว่าศาสนาใดถูกหรือผิด แต่หากกล่าวในมิติทางวิชาการ และพัฒนาการทางศาสนา ก็จะเห็นว่ามีการใช้ วิธีคิดและความเชื่อ ในการขับเคี่ยวและแย่งชิงมวลชนกันอย่างดุเดือดในภูมิภาคอินเดียโบราณ ซึ่งปรากฎการณ์แบบนี้ไม่ได้มีแต่ในศาสนาพุทธหรือพราหมณ์ฮินดูเท่านั้น ในกลุ่มศาสนาอับราฮัม เช่น ศาสนายูดาห์, ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ก็มีเป็นลักษณะแบบนี้เช่นกัน หรือแม้แต่ศาสนาเดียวกันเอง ที่ต่างลัทธินิกายก็มีปรากฎการณ์เช่นนี้

Loading

Be the first to comment on "ลักษณะประติมานของ พระนีลกัณฐโลเกศวร (พระอวโลกิเตศวรผู้มีคอสีนิล)"

Leave a comment