เอกาทศมุขธารณี กับความเข้าใจผิดบางประการ

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

เอกาทศมุขธารณี กับความเข้าใจผิดบางประการ

จากที่มีการเกริ่นถึง เอกาทศมุขธารณี ในบทความ ลักษณะประติมานของ พระนีลกัณฐโลเกศวร ไปบ้างเล็กน้อยแล้ว ในคราวนี้จะกล่าวถึง เอกาทศมุขอวโลกิเตศวรหฤทัยธารณีสูตร หรือ เอกาทศมุขธารณี หรือ ธารณีของพระอวโลกิเตศวร ๑๑ พักตร์ (หน้า)

ภาพ พระเอกาทศมุขอวโลกิเตศวร จาก Met Museum ระบุว่า ค้นพบในประเทศไทย อายุอยู่ในช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 10



[ #ข้อเข้าใจผิดของธารณี ]

เอกาทศมุขธารณี ธารณีที่เป็นที่นิยมในสื่อออนไลน์ เป็น ธารณีที่มีการเข้าใจผิดดังนี้

๑. เป็น นีลกัณฐธารณี หรือ มหากรุณาธารณี (大悲咒 ) ภาษาสันสกฤต
๒. เป็น มหากรุณาธารณีฉบับสั้น หรือ หัวใจของ มหากรุณาธารณี ภาษาสันสกฤต
๓. เป็น มหากรุณาธารณีแบบทิเบต หรือใช้ภาษาทิเบต ใช้เฉพาะวัชรยานแบบทิเบต

ความเข้าใจผิดบางประการของ เอกาทศมุขธารณี นี้ไม่ได้มีสาระสำคัญทางด้านเนื้อหาเท่าไหร่นัก เพียงแต่เป็นการบอกข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็นเท่านั้น

———–

พระเอกาทศมุขอวโลกิเตศวร หรือ พระเอกาทศมุขโลเกศวร หรือ พระอวโลกิเตศวร ๑๑ พักตร์ เป็นนิรมาณกายที่สำคัญอีกปางหนึ่ง ของพระอวโลกิเตศวร ที่นิยมกันมาตั้งแต่ใน อินเดียโบราณ มาจนถึงมหายานและวัชรยานในปัจจุบัน ปรากฎรูปสลักที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบมา ในถ้ำกานเหรี (Kanheri : कान्हेरी) รัฐมหาราษฏระ และพบในศิลปะทางพุทธศาสนาแบบมหายานและวัชรยานโดยทั่วไป



ปราชญ์ผู้รู้กล่าวว่า ๑๑ พักตร์ของอวโลกิเตศวร คือ ภูมิแห่งพระโพธิสัตว์ ๑๐ ภูมิ อันเป็นเหตุให้ถึง ๑ ภาวะสูงสุด คือ พุทธภาวะ


ปางเอกาทศมุข มีความเชื่อมโยง กับปางสหัสรภุชสหัสรเนตร หรือ พระอวโลกิเตศวร ๑๐๐๐ กร(มือ) ๑๐๐๐ เนตร (ตา) อยู่ค่อนข้างใกล้ชิด คือ รูปแบบทางศิลปะของ เอกาทศมุขอวโลกิเตศวร อาจจะทำตั้งแต่ ๒ กร ๘ กร ๒๒ กร และที่สำคัญคือ ๑๐๐๐ กร หรือที่เรียกว่า พระสหัสรภุชโลเกศวร ในบางครั้งศิลปินใช้ปางนี้แทน ปางสหัสรภุชสหัสรเนตร เพราะการทำพระเนตรนับพันนั้น ทำออกมาในรูปแบบงานศิลปะได้ยากกว่า

พระอวโลกิเตศวรพันกรและสิบเอ็ดพักตร์ พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งชาติเวียดนาม ฮานอย



———–

เอกาทศมุขธารณี เดิมไม่ใช่ มหากรุณาธารณี และไม่ใช่ธารณีที่ใช้กันเฉพาะเจาะจงในวัชรยานแบบทิเบตด้วย แต่เป็นธารณีกลาง ๆ ที่ใช้กัน พุทธศาสนามหายานโดยทั่วไปมาแต่โบราณ (ซึ่งรวมไปถึงวัชรยานแบบทิเบต และมนตรยานในญี่ปุ่น วัชรยานแบบเนวาร์ในเนปาลด้วย)

———–

ความเป็นจริงแล้ว ในแง่ของเนื้อความในธารณี ทั้ง ๒ ธารณีไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่กระนั้น ปัจจุบันก็มีการกล่าวว่า เอกาทศมุขธารณี เป็น มหากรุณาธารณีไปแล้ว (大悲咒 : Great Compassion Mantra/Dharani) แม้การสวดสาธยายในพุทธศาสนาแบบวัชรยาน ในปัจจุบันท่านก็อนุโลมเรียกตามกระแส ว่า มหากรุณาธารณี

———–

มหากรุณาธารณี เป็นชื่อที่มาจากจารีตมหายานแบบจีน คือ 大悲咒 ( ไต่ปุ่ยจิ่ว : ต้าเปย์โจ้ว) ซึ่งเป็นฉบับที่นิยมสวดในจีนมาตั้งแต่โบราณ

มหากรุณาธารณี ในจีนใช้สื่อถึงเฉพาะ นีลกัณฐธารณี ใน พระสูตรแห่งสหัสรภุชสหัสรเนตรอวโลกิเตศวรเท่านั้น และ นีลกัณฐธารณี นี้ก็ปรากฎในพระไตรปิฎกทั้งทิเบตและจีน ตัวธารณีภาษาสันสกฤต มีเนื้อหาค่อนข้างใกล้เคียงกัน

สรุปง่าย ๆ นีลกัณฐธารณี คือ มหากรุณาธารณี ที่มีอยู่ทั้งฝ่ายทิเบตและจีน

———–

[ #เอกาทศมุขฉบับโบราณ ]

เอกาทศมุขธารณี มีปรากฎในพระไตรปิฎกทิเบตและจีน และยังพบฉบับภาษาสันสกฤต อีกด้วย

ทุกฉบับไม่มีการเรียก เอกาทศมุขธารณีว่า มหากรุณาธารณี แบบนีลกัณฐธารณีเลย โดยฉบับสำคัญมีดังต่อไปนี้

—————-
ต้นฉบับโบราณ ภาษาสันสกฤต
—————-

๑. एकादश्मुखं नाम हृदयम्‌ (เอกาทศฺมุขํ นาม หฤทยมฺ‌)
เอกาทศมุขธารณี ฉบับที่พบใน กิลกิต ปากีสถาน ที่จดจารลงบนภูรชปัตร หรือ เปลือกไม้เบิร์ช เป็นอักษรคุปตะ จำนวน ๒๒ แผ่น ข้อความค่อนข้างสมบูรณ์ ทำการศึกษาวิจัยโดย อ. Nalinaksha Dutt ศาสตราจารย์ชาวอินเดียผู้เชี่ยวชาญ ภาษาสันสกฤตและบาลี มหาวิทยาลัยกัลกัตตา ชำระและตีพิมพ์ใน Gilgit Manuscripts Vol. 1 ปี ค.ศ. 1939

๒.अवलोकितेश्वरैकादशमुखधारणी (อวโลกิเตศฺวไรกาทศมุขธารณี)
เศษเสี้ยวคัมภีร์ เอกาทศมุขธารณี อักษรซอกเดีย ฉบับที่พบในหุบเขาทูย็อก เขตทูหลูฟาน หรือตูร์ฟาน เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Tuyoq Grottoes in Turfan)

๓. सहस्रभुजलोकेश्वरधारणी (สหสฺรภุชโลเกศฺวรธารณี) ฉบับที่อยู่ใน ธารณีสังคระหะ (คัมภีร์รวมธารณี) บางฉบับออกนามว่า ธารณีสังคระหะปุราณมหายานสูตร (ธารณีสํคฺรหปุราณมหายานสูตฺร) ต้นฉบับภาษาสันสกฤตจากฉบับตัวเขียนที่พบในเนปาล พบหลายแห่ง ราวคริตส์ศตวรรษที่ 17-19 ปัจจุบันเหลือต้นฉบับใบลาน อยู่ในมหาลัยชื่อดังหลายแห่ง และหอจดหมายเหตุแห่งชาติเนปาล

ปัจจุบันถูกรวบรวมและนำมาศึกษาชำระต่อโดย อ. Gergely Hidas นักวิชาการ แห่งพิพิธภัณฑ์บริติชมิวเซียม นักวิชาการด้านพุทธศาสนศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านมหายานแบบมนตรยาน โดยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ De Gruyter ในหัวข้อ Powers of Protection

—————-
ฉบับในจีน พระไตรปิฎกภาษาจีน ฉบับไทโช (ญี่ปุ่น) พระสูตรหมวดตันตระ
—————-

๑.佛說十一面觀世音神呪經 พุทธวจนะ-เอกาทศมุขอวโลกิเตศวรธารณีสูตร หมายเลข T1070 แปลโดย พระยโศคุปตะ(耶舍崛多) ราว ค.ศ. 561-577

๒. 陀羅尼集經 ธารณีสมุจจัยสูตร หมายเลข T901 เป็นชุดรวมธารณี แปลโดย พระอทิคุปตะ (阿地瞿多) ราว ค.ศ. 653-654

๓.十一面神呪心經 เอกาทศมุขหฤทัยธารณีสูตร หมายเลข T1071 แปลโดย พระถังซำจั๋ง หรือ เสวียนจั้ง(玄奘) ค.ศ. 656

๔.十一面觀自在菩薩心密言念誦儀軌經 เอกาทศมุขอวโลกิเตศวรหฤทัยธารณีสาธยายวิธีสูตร หมายเลข T1069 แปลโดย พระอโมฆวัชระ ฉบับนี้มีการรักษาต้นฉบับอักษรสิทธัม ภาษาสันสกฤต ไว้ที่หอพระไตรวัดหลิงหยุน ราว ค.ศ. 746-774

—————-
ฉบับในทิเบต
—————-
ใน พุทธวจนปิฎก (กันจูร์) ฉบับเดร์เก หมวดตันตระ กริยาตันตระ

๑.སྤྱན་རས་གཟིགས་ཞལ་བཅུ་གཅིག་པའི་གཟུངས
spyan ras gzigs zhal bcu gcig pa’i gzungs
อวโลกิเตศฺวไรกาทศมุขธารณี หมายเลข Toh 693 และ Toh 899 (ในหมวดธารณี) แปลโดย พระศีเลนโพธิ (*อวโลกิเตศฺวไรกาทศ = อวโลกิเตศฺวร+ เอกาทศ)

๒.སྤྱན་རས་གཟིགས་ཞལ་བཅུ་གཅིག་པའི་རིགས་སྔགས་སྙིང་པོའི་གཟུངས
spyan ras gzigs zhal bcu gcig pa’i rigs sngags snying po’i gzungs
มุไขกาทศ­วิทฺยามนฺตฺร­หฤทยธารณี หมายเลข Toh 694 แปลโดย Chödrup (Chos grub : ཆོས་གྲུབ ) (*มุไขกาทศ = มุข+เอกาทศ)
——–

จะเห็นว่าเอกาทศมุขธารณี นี้ไม่มีการเรียกว่าเป็น มหากรุณาธารณีเลย และในทิเบต มีบทธารณีทั้ง เอกาทศมุขธารณี และ มหากรุณาธารณี แยกกันชัดเจน

มหากรุณาธารณี ของจารีตวัชรยานทิเบต จริงๆ แล้วคือ ธารณีสูตรใน พุทธวจนปิฎก (กันจูร์) ฉบับเดร์เก หมวดตันตระ กริยาตันตระ หมายเลข Toh 691 ซึ่งแปลโดย Chödrup ซึ่งเป็นผู้แปลคนเดียวกันกับที่แปล เอกาทศมุขธารณี ดังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า และ หมวดธารณี หมายเลข Toh 897 แปลโดย พระชินมิตระ

ชื่อทิเบตเต็มคือ :
—————————–
འཕགས་པ་བྱང་ཆུབ་སེམས་དཔའ་སྤྱན་རས་གཟིགས་དབང་ཕྱུག་ཕྱག་སྟོང་སྤྱན་སྟོང་དང་ལྡན་པ་ཐོགས་པ་མི་མངའ་བའི་ཐུགས་རྗེ་ཆེན་པོའི་སེམས་རྒྱ་ཆེར་ཡོངས་སུ་རྫོགས་པ་ཞེས་བྱ་བའི་གཟུངས
—————————–

ชื่อสันสกฤตเต็มคือ :
—————————–
(อารฺยโพธิสตฺตฺวาวโลกิเตศฺวรสหสฺรภุชเนตฺราสงฺคมหาการุณิกจิตฺตวิสฺตรปริปูรฺณ นาม ธารณี)

ธารณี ชื่อ มหากรุณาจิตอันกว้างขวางสมบูรณ์ไร้สิ่งกีดขวางแห่งพระอารยโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรผู้มีพระเนตรและพระกรทั้ง ๑๐๐๐

—————————–
ชื่อทิเบตย่อคือ : སྤྱན་རས་གཟིགས་ཕྱག་སྟོང་སྤྱན་སྟོང་གཟུངས แปลว่า ธารณีแห่งพระอวโลกิเตศวร ๑๐๐๐ กร ๑๐๐๐ เนตร ซึ่งฉบับนี้มีความใกล้ชิดกันกับ มหากรุณาธารณีแบบยาว ฉบับแปลจีนโดย พระวัชรโพธิ



—————-
แล้ว เอกาทศมุขธารณี มาเป็น “มหากรุณาธารณี” อีกธารณีได้อย่างไร
—————-

บทเอกาทศมุขธารณี นี้ ถูกนำมาใช้เป็นเพลงทางพุทธศาสนามหายานและวัชรยานที่แสดงบ่อยที่สุด

โดยมีจุดเริ่มต้นจากสื่อบันเทิงและค่ายเพลงที่ใช้ภาษาจีน และที่ส่วนมากร้องโดยนักร้องที่พูดภาษาจีน

เพลงนี้เป็นที่รู้กันดีในภูมิภาคที่พูดภาษาจีนหรือชุมชนที่มีเชื้อสายจีน แม้แต่คนที่ไม่นับถือพุทธมหายานแบบจีน ที่อยู่ในชุมชนเหล่านี้ ก็ยังคุ้นเคยกับเพลงนี้

ต่อมาภายหลังเพลงนี้ ถูกตั้งชื่อผิดๆจากค่ายเพลง โดยใช้ชื่อ 大悲咒 (มหากรุณาธารณี) ซึ่งเป็นชื่อบทสวดที่ผู้นับถือพุทธมหายานแบบจีนรู้จักกันดี เพราะค่ายเพลงต้องการให้ชื่อเพลงนี้คุ้นหูผู้ฟังที่นับถือพุทธมหายานแบบจีน

โดยพื้นฐานเพลงนี้ทุก ๆ เวอร์ชันที่มีการทำใหม่ ใช้เนื้อหาเดียวกันทั้งหมด

โดยเนื้อเพลงเป็นบทเอกาทศมุขธารณี ที่ได้จากการชำระใหม่ในจีน(ไต้หวัน) ไม่ใช่ต้นฉบับดั้งเดิม จากคัมภีร์โดยตรง

ยังไม่การระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้ชำระให้ค่ายเพลงเหล่านี้ แต่พออนุมานได้ว่า อาจมาจาก หนังสือประเภทพุทธมนต์จากสำนักพิมพ์ 嘉豐出版社 (mantra.com.tw) ในไต้หวัน โดยผู้เขียนคือ ศาสตราจารย์ หลินกวงหมิง (林光明) นักวิชาการพุทธศาสนา ชาวไต้หวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านมนตร์ธารณี ทั้งในฝ่าย สันสกฤต-จีน-ทิเบต ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งค่ายเพลงแนวพุทธในไต้หวัน ใช้ในการทำเพลงแนวพุทธ

ศาสตราจารย์ หลินกวงหมิง (林光明)



โดยอาศัย เอกาทศมุขธารณี ฉบับทิเบต (ฉบับพระศีเลนโพธิ) ที่มีการถอดเสียงสันสกฤตด้วยตัวอักษรทิเบต (ซึ่งก็มีบางอักขระไม่ถูกต้อง) และ ฉบับจีน (ฉบับพระอโมฆวัชระ) ที่มีการรักษาเสียงสันสกฤตด้วยอักษรจีนและอักษรสิทธัม (ซึ่งมีอักขรวิบัติอยู่มาก) เป็นฉบับยืน (ฉบับหลัก)

และใช้ฉบับสันสกฤตอื่น ๆ เป็นฉบับสอบ (ฉบับเทียบเคียง)

การชำระในครั้งนี้ ทำให้ได้เป็นฉบับที่สมบูรณ์ ทั้งบทนมัสการและบทธารณี ที่ถูกต้องตามอักขรวิธีของภาษาสันสกฤต

หมายเหตุ : หากไม่นับเรื่องอักขรวิบัติ เอกาทศมุขธารณี ฉบับพระศีเลนโพธิ นี้มีความใกล้ชิดกับ ฉบับพระอโมฆวัชระ อยู่มาก ต่างกันแค่ ฉบับพระอโมฆวัชระ มีข้อความเพิ่มเข้ามาในตอนท้ายว่า “ปรมศุทฺธสตฺว มหาการุณิก” เท่านั้น

—————-

#ไทม์ไลน์เอกาทศมุขธารณีในฉบับขับร้อง ]

ปี ค.ศ. 1931 มีการพบต้นฉบับ เอกาทศมุขธารณี ภาษาสันสกฤต ซึ่งก่อนหน้านั้น เอกาทศมุขธารณี พบเฉพาะในพระไตรปิฎกจีน-ทิเบต เท่านั้น หลังปี ค.ศ. 1931 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการศึกษาค้นคว้า เอกาทศมุขธารณี และก็มีการค้นพบต้นฉบับใบลานในเนปาลอีก โดยถูกนำไปศึกษากันที่มหาลัยชื่อดัง อย่างมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และ มหาวิทยาลัยโตเกียว

—————-

ก่อน ปี ค.ศ.1997 (พ.ศ. ๒๕๔๐) มหากรุณาธารณี (นีลกัณฐธารณี หรือ ไต่ปุ่ยจิ่ว : ต้าเปย์โจ้ว) ที่ทำเป็นเพลงในขณะนั้น มักเป็นแบบออกเสียงตัวอักษรจีนทับเสียงสันสกฤต ซึ่งเป็นฉบับที่นิยมสวดในจีนมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งฟังก็ยังเป็นภาษาจีน มากกว่า เสียงภาษาสันสกฤต

—————-

มหากรุณาธารณี ยังไม่มีเพลงที่เป็นเนื้อที่เป็นภาษาสันสกฤตจริงๆ เพราะด้วย นีลกัณฐธารณี (มหากรุณาธารณี) ในภาษาสันสกฤต เพิ่งจะถูกทำเป็นเพลงโดย ไอมี โอย (Imee Ooi) ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน เมื่อปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. ๒๕๔๓)

—————-

แต่ เอกาทศมุขธารณี ภาษาสันสกฤต ถูกนำมาทำเป็นเพลงก่อน เป็นที่รู้จักกันเริ่มแรก เมื่อราว ๆ ค.ศ. 1998-1999 (พ.ศ.๒๕๔๑ – ๔๒) แรก ๆ นั้นมีเวอร์ชั่นภาษาสันสกฤต ที่ร้องติดสำเนียงจีน หลายเวอร์ชั่น ในชื่อเพลงว่า 十一面觀音陀羅尼 (ธารณีกวนอิม ๑๑ พักตร์ )

—————-

เอกทศมุขธารณี เป็นธารณีของพระอวโลกิเตศวร เช่นเดียวกันกับนีลกัณฐธารณี จึงทำให้ผู้คนจึงคิดว่าเป็นธารณีเดียวกัน และเมื่อมีการนำ เอกทศมุขธารณี ภาษาสันสกฤต นำมาทำเป็นเพลงก็ต่างเข้าใจว่า เป็น “ ไต่ปุ่ยจิ่ว ในภาษาสันสกฤต” หรือ มหากรุณาธารณีภาษาสันสกฤต

—————-

ปี ค.ศ. 1998 เพลงนี้ถูกทำให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยขับร้องขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อเพลง ตามความเข้าใจของผู้คน ว่า 梵唱大悲咒 แปลว่า มหากรุณาธารณีภาษาสันสกฤต ขับร้องโดยศิลปิน Miaolianhua (妙蓮華) นักร้องเพลงชาวจีน(ไต้หวัน) และเจ้าของค่ายเพลงสไตล์พุทธมหายานแบบจีน ซึ่งออกสำเนียงใกล้เคียงกับสันสกฤตมากขึ้น

—————-

ปี ค.ศ. 1999 เพลงนี้ได้เป็น เพลงในอัลบัม เพลงประกอบละครเรื่องพระโพธิธรรม ภาค 1 ( 達摩配樂精選一 : 1999) ซึ่งเป็นละครหลัง 2 ทุ่มของช่อง CTV ประเทศไต้หวัน จุดนี้แหละที่ทำให้มีการเรียก เอกทศมุขธารณี เป็น มหากรุณาธารณีอย่างแพร่หลาย

พระโพธิธรรม ภาค 1



—————-

ปี ค.ศ. 2000-2001 ก็ถูกทำให้เป็นที่รู้จักอีก เมื่อมีการทำซ้ำเป็นเพลง โดยทำเพื่อใช้เป็นที่ระลึกในงานประชุมวิชาการนานาชาติของสมาคมพุทธบูชาและสังฆทาน 2 ครั้ง ครั้งที่ 89 ( 2000) และ ครั้งที่ 90 (2001) ที่ประเทศไต้หวัน ในอัลบัม 八十九 และ 九十年度國際供佛齋僧大會紀念專輯 (妙音獻供)

ขับร้องโดย ศิลปินคู่ชายหญิง ชื่อ Xiāomànxuān และ luótiānzhōu (蕭蔓萱, 羅天洲) จากค่าย AIFA RECORD โดยใช้ชื่ออย่างเดิมว่า 梵唱大悲咒 คือ มหากรุณาธารณีภาษาสันสกฤต เป็นการตอกย้ำชื่อ มหากรุณาธารณี ไปอีก



—————-

จากนั้น เอกทศมุขธารณี ถูกผลิตซ้ำในประเทศที่ใช้ภาษาจีน และถูกขับร้องโดยนักร้องเชื้อสายจีน ในเวอร์ชั่นต่างๆ ในสื่อออนไลน์อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะใส่ทำนองสากล หรือแม้แต่ทำในทำนองเพลงแดนซ์ ที่ใช้สำหรับในการเต้น

—————-

ในปี ค.ศ. 2000 ไอมี โอย (Imee Ooi) ออกเพลง นีลกัณฐธารณี (มหากรุณาธารณี) ภาษาสันสกฤต ในชื่อเพลงว่า Nilakantha Dharani [The Great Compassionate Mantra] ซึ่งเป็นมหากรุณาธารณีจริงๆ

แต่ก็ยังดูเหมือนว่า เอกาทศมุขธารณี ภาษาสันสกฤต จะได้รับความนิยมมากกว่า นีลกัณฐธารณี (มหากรุณาธารณี) ภาษาสันสกฤต อยู่ดี

—————-

แต่ก็มีผู้ใช้สื่อออนไลน์บางคนกลับตั้งชื่อ เอกาทศมุขธารณี ใหม่ว่า หัวใจมหากรุณาธารณี (Great Compassionate Heart Dharani) หรือ มหากรุณาธารณีภาษาสันสกฤตฉบับสั้น ( Short Great Compassion Mantra Sanskrit ) เพื่อแสดงให้เห็นว่า เป็นฉบับสั้นที่มีใจความแบบย่อ เพื่อแยกออกไม่ให้สับสนกับ มหากรุณาธารณีภาษาสันสกฤตของ ไอมี โอย ซึ่งมีเนื้อหายาวกว่า

หรือบางคนก็เริ่มกลับใช้ชื่อที่ถูกต้องขึ้นคือ มหากรุณาธารณีพระอวโลกิเตศวร ๑๑ พักตร์ (Eleven-Faced Avalokitesvara Dharani | Great Compassion Mantra) หรือยังใช้ชื่ออย่างเดิมคือ มหากรุณาธารณีภาษาสันสกฤต แต่ถึงอย่างไร ก็มักมีคำว่า มหากรุณาธารณีติดมาด้วยแล้ว

—————-

หากไม่นับต้นฉบับที่ใช้ร่วมในการชำระ ถึงในตอนนี้ยังไม่มีผู้อ้างถึงความเป็น “ทิเบต” โดยเฉพาะเจาะจงของธารณีนี้

—————-

ปี ค.ศ. 2006 มีการนำ เอกาทศมุขธารณี มาทำเป็นเพลงอีก โดยมีนักร้องสองคน แต่ทั้งสองคนไม่ใช้ชื่อว่า มหากรุณาธารณี ในเพลงเลย

1. ไอมี โอย นักร้องแนวพุทธ เจ้าเก่า ออกเพลงชื่อว่า Arya Ekadasa: Mukha Dharani (อารยะ เอกาทศ : มุขะ ธารณี)

2. อานิ เชอยิง เดรอมา (Ani Choying Drolma) แม่ชีในวัชรยานทิเบต ชาวเนปาล นักร้องแนวพุทธแบบทิเบต ออกเพลงชื่อว่า Namo Ratna Traya Ya. ในอัลบัม Inner Peace (2006) โดยใช้ทำนองอย่างบทสวดสรภัญญะอย่างทิเบต (สรภัญญะคือการสวดเป็นทำนอง)



ทั้ง ๒ เพลง มีเนื้อเพลงเป็น เอกาทศมุขธารณี ฉบับที่เหมือนกันทุกประการ

ซึ่งจริงๆแล้วรวมถึงเพลงก่อนๆ ที่กล่าวมา ก็ล้วนแต่ใช้เนื้อเพลงภาษาสันสกฤต ฉบับชำระ ที่มีเนื้อเพลงเหมือนกันหมด แต่ต่างกันตรงสำเนียงการร้อง ว่าจะออกแบบสำเนียงและทำนองจีน หรือทิเบต รวมถึงจังหวะเร็วช้าเท่านั้น

—————-

ปี ค.ศ. 2007 อานิ เชอยิง เดรอมา ได้ไปแสดงในงานประชุมและคอนเสิร์ตใหญ่ ในงานฉลองในวันครบรอบ 10 ปีของการส่งมอบฮ่องกงให้จีน โดยมีพระในสายวัชรยานทิเบตจำนวนมากร่วมแสดงพระเหล่านั้นจะสวดบทเอกาทศมุขธารณี ภาษาสันสกฤตแบบสำเนียงทิเบต คลอไปกับเพลง

อานิ เชอยิง เดรอมา ได้ไปแสดงที่ฮ่องกง

และดูเหมือน เอกาทศมุขธารณี เวอร์ชั่นของ อานิ เชอยิง เดรอมา ในเพลง Namo Ratna Traya Ya เป็นที่นิยมกว่าเวอร์ชั่นของ ไอมี โอย อาจจะเป็นเพราะกระแสวัชรยานดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักในระดับสากล มีการทำซ้ำกันจำนวนมาก

—————-

ต่อมาก็เรียก เอกาทศมุขธารณี กันใหม่ว่า 藏傳大悲咒 หรือ มหากรุณาธารณีทิเบต แถมเรียก เอกาทศมุขธารณี เวอร์ชั่นที่มีมาก่อนก่อนหน้าว่า มหากรุณาธารณีทิเบต หรือ ฉบับธิเบต อีกด้วย

แม้แต่เพลง Arya Ekadasa: Mukha Dharani ของ ไอมี โอย ก็ถูกนำไปทำซ้ำบนสื่อออนไลน์และชาวเน็ตยังไปเปลี่ยนชื่อเพลง เป็น : มหากรุณาธารณี เวอร์ชั่นทิเบต ร้องโดย ไอมี โอย ??? ( Imee Ooi – Great Compassion Mantra Tibetan Version)

—————-

ต่อมาใน ปี 2011 ยิ่งตอกย้ำความเป็นทิเบตให้กับ เอกาทศมุขธารณี เมื่อ Margot Reisinger ศิลปิน นักเขียนเพลงและนักดนตรี สาวชาวโปรตุเกส ทำดนตรี ประกอบเสียงสวดของ Lama Tenzin Sangpo ที่สวด เอกาทศมุขธารณี ออกมาในด้วยเสียงที่เข้มขลังสไตล์วัชรยานทิเบต และการออกเสียงแบบทิเบต ในชื่อเพลงว่า Mantra of Avalokiteshvara หรือ มันตราแห่งพระอวโลกิเตศวร



—————-

แต่อย่างไรก็ดี ในปี 2021 อานิ เชอยิง เดรอมา ได้ทำเพลง Namo Ratna Traya Ya ใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น Namo Ratna (Great Compassion Mantra) ให้สอดคล้องกับชาวเน็ต และในการสวดสาธยายในพิธีกรรมต่างๆ ในปัจจุบันทางวัชรยาน ก็อนุโลมตามกระแส คือเรียก เอกาทศมุขธารณี ว่า Great Compassion Mantra หรือ มหากรุณาธารณี

ในคราวต่อไปจะอธิบายถึง เอกาทศมุขธารณี ในแต่ละฉบับ เพื่อให้เห็นว่าข้อแตกต่างแต่ละฉบับและพัฒนาการของฉบับที่ใช้ขับร้องกัน

—————-

Loading

Be the first to comment on "เอกาทศมุขธารณี กับความเข้าใจผิดบางประการ"

Leave a comment