พระสหัสรภุชสหัสรเนตรอวโลกิเตศวร และ พระนีลกัณฐโลเกศวร ในมหากรุณาธารณี มีเกี่ยวข้องกันอย่างไร กับพระวิษณุและพระศิวะ ?

แบ่งปันในสังคมออนไลน์
ภาพหินแกะสลัก พระวิศวรูป การสำแดงพระภาคสูงสุดของพระวิษณุ จากจัมมู-แคชเมียร์ อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ ๖ สมัยอาณาจักรกัษมีระโบราณ ที่ Met Museum

พระสหัสรภุชสหัสรเนตรอวโลกิเตศวร และ พระนีลกัณฐโลเกศวร ในมหากรุณาธารณี มีเกี่ยวข้องกันอย่างไร กับพระวิษณุและพระศิวะ ?

โปรดอ่านบทความ ประกอบย้อนหลัง เรื่อง ลักษณะประติมานของ พระนีลกัณฐโลเกศวร เพื่อความเข้าใจในแนวคิดเรื่องพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ ในมติของมหายานเสียก่อนจึงอ่านบทความนี้ ในคราวนี้จะลงลึกไปในรายละเอียด


————–
อักขระ ถ้อยความ หรือข้อมูลส่วนใดมีข้อผิดพลาดโปรดผู้รู้จงอนุเคราะห์ชี้แนะ
————–

พระนีลกัณฐโลเกศวร ที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นนิรมาณกาย คนละสารบบกับ พระนีลกัณฐโลเกศวร ในคัมภีร์สาธนมาลา และ สารบบพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ๑๐๘ ปาง แบบวัชรยานแบบเนวาร์ ในเนปาล ที่วัดเสโต มัจฉินทรนาถ



ลักษณะพระนีลกัณฐโลเกศวร จากทั้งสองแหล่ง ดังกล่าวแสดงออกในทางอำนาจแบบพระศิวะเพียงอย่างเดียว ลักษณะที่สำคัญๆ ในสาธนมาลา คือ ท่านั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ถือชามมณี[มณีกปาละ] พระศอ(คอ)มีสีน้ำเงินเพราะพิษ

พระนีลกัณฐโลเกศวร ที่สารนาถ สร้างตามแบบในคัมภีร์สาธนมาลา
พระนีลกัณฐโลเกศวร แบบวัชรยานแบบเนวาร์ ในเนปาล


แต่พระนีลกัณฐโลเกศวร ในมหากรุณาธารณี ฉบับที่แปลเข้าไปในจีน มีลักษณะทางประติมานผสมกันระหว่างพระวิษณุและพระศิวะ และมีบทสาธนะวิธีการภาวนา เป็นเอกเทศ อาจจะไม่เกี่ยวกับคัมภีร์สาธนมาลา ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากพุทธศาสนาแบบมนตรยานสายแคว้นกัษมีระ หรือใน เอเชียกลาง

มหากรุณาธารณี ถูกแปลในจีนหลายคราว ในฉบับแรกๆที่เข้ามาจีน แปลโดยพระภควัทธรรม ๑ ฉบับ พระวัชรโพธิ ๒ ฉบับ พระอโมฆวัชระ ๓ ฉบับ พระธยานภัทร ๑ ฉบับ แต่ละฉบับจะมีชื่อขึ้นต้นว่า สหัสรภุชสหัสรเนตรอวโลกิเตศวร หรือไม่ก็ นีลกัณฐโลเกศวร

ตัวข้อความธารณีแต่ละฉบับ ต่างมีข้อความใกล้เคียงกัน ถือเป็นธารณีเดียวกัน เพราะทุกฉบับ แม้ตัวคัมภีร์จะใช้ชื่อว่า สหัสรภุชสหัสรเนตร แต่ต่างก็ระบุชื่อธารณีในพระสูตรว่า นีลกัณฐะ

————–

แล้วสหัสรภุชสหัสรเนตรอวโลกิเตศวร พระนีลกัณฐโลเกศวร มีเกี่ยวข้องกันอย่างไร ? และไปเกี่ยวกับพระศิวะ และพระวิษณุอย่างไร ในบทความนี้จะขยายความลงรายละเอียดเพิ่มเติมจากคราวที่แล้ว

————–

มติของมหายาน เชื่อว่าพระโพธิสัตว์ที่พัฒนาตัวเอง ให้อยู่ในโพธิสัตวภูมิ ที่ไม่ถอยกลับแล้ว (ไม่เวียนลงไปเป็นปุถุชน หรือพระอริยสาวก) โดยเฉพาะพระโพธิสัตว์ที่อยู่ในโพธิสัตวภูมิสูงสุดอย่าง พระอวโลกิเตศวร นี้ จะมีฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ เกินจินตนาการ

ในพระสูตรมหายานอย่าง คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร กล่าวว่า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ สามารถสั่งสอนธรรม โดยนิรมาณกายเป็น เทพเจ้า พระผู้เป็นเจ้าต่าง ๆ ตามลัทธิศาสนา ของผู้นับถือในลัทธิศาสนาอื่น ๆ ได้ ในการัณฑวยูหสูตร พระผู้เป็นเจ้าต่าง ๆ ของพราหมณ์ ล้วนกำเนิดมาจาก พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ทั้งสิ้น อย่างที่เคยกล่าวไป

จากความเชื่อของมหายานในข้อนี้ ในบางท้องถิ่นจะมีการนับถือพระอวโลกิเตศวรมาก จนถูกเรียกอย่างลำลอง ว่า ลัทธิอวโลกิเตศวร หรือ ลัทธิโลเกศวร (Cult of Avalokiteshvara / Lokesvara)

อันเป็นอิทธิพลของ การัณฑวยูหสูตร มหายานสูตรที่กล่าวเกี่ยวกับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นพระสูตรที่กล่าวเกี่ยวกับมนตร์ ๖ พยางค์ ที่เป็นที่รู้จักกันคือ โอํ มณิปทฺเม หูํ

การัณฑวยูหสูตร ฉบับภาษาสันสกฤต จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเนปาล



แต่ลัทธิอวโลกิเตศวร ไม่ได้เป็นลัทธิจริงๆ ไม่ได้แยกเป็นเอกเทศจากมหายาน เป็นแต่เพียงการเรียกอย่างไม่เป็นทางการ ถึงกลุ่มพุทธศาสนามหายาน หรือวัชรยานที่นับถือพระอวโลกิเตศวรเป็นพระโพธิสัตว์สูงสุด หรือพิเศษกว่าพระโพธิสัตว์องค์อื่น ๆ เท่านั้น

ซึ่งมักเกิดจากพื้นที่มีการแข่งขันทางศาสนาสูง โดยเฉพาะแข่งกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ยกตัวอย่างที่มีหลักฐานเห็นได้ชัดยกตัวอย่างแถวบ้านเราก็ได้แก่ รูปแบบพุทธศาสนามหายานในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งจักวรรดิ์เขมรในอดีต เป็นต้น

พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนาในจักรวรรดิเขมรโบราณ



รูปแบบของลัทธิอวโลกิเตศวรนี้ ส่งผลถึงรูปแบบพุทธศาสนามหายานในเอเชียตะวันออก และวัชรยานแบบทิเบต จนถึงปัจจุบัน

———-

ด้วยความเชื่อนี้ ดังนั้น พระอวโลกิเตศวร จึงอยู่ในฐานะต้นกำเนิดและพลังอำนาจที่แท้จริงของพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ทั้งปวง พระอวโลกิเตศวรในนิรมาณกาย ๒ แบบ คือในภาคนีลกัณฐะ และภาคสหัสรภุชสหัสรเนตร ก็ต่างใช้แสดงถึงความเป็นสภาวะสูงสุด ของพระผู้เป็นเจ้าต่าง ๆ ของพราหมณ์

ทั้งนี้มหากรุณาธารณี มีแนวคิดและคติความเชื่อค่อนข้างใกล้ชิดกับ การัณฑวยูหสูตร ทั้งสองต่างมีอิทธิพลต่อการบูชาพระอวโลกิเตศวรในปัจจุบัน บทความนี้จะใช้การอ้างอิง ๒ ปกรณ์นี้เป็นหลัก

และแม้มหากรุณาธารณี จะมีส่วนบทธารณี ที่ส่วนมากมักไม่แปลเพราะถือว่ามนตร์ศักดิ์สิทธิ์ และตัวธารณี ก็มักแปลเอาความทั้งประโยคไม่ได้ หรือผิดไวยากรณ์ หรือปะปนไปด้วภาษาปรากฤต ตามรูปแบบธารณีในมนตรยาน แต่ในที่นี้จะแปลไว้พอเป็นสังเขปเพื่อให้เห็นอุปเทศของธารณี (ความหมายโดยนัยของธารณี)

———-

๑.ปางนีลกัณฐะ หรือ พระนีลกัณฐโลเกศวร แสดงอำนาจของพระอวโลกิเตศวรที่มีสูงสุดอย่างพระหริหระ

โดยพระหริหระ คือการรวมพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด ๒ พระองค์รวมกัน คือ พระวิษณุ (หริ) และพระศิวะ (หระ) ซึ่งเป็นพัฒนาการในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่จะพยายามรวมพระเป็นเจ้าสูงสุดทั้งไวษณพนิกาย และ ไศวนิกายเข้าด้วยกัน ซึ่งจะแสดงถึง สภาวะพรหมันสูงสุด

กล่าวคือ พลังอำนาจของทั้งของพระวิษณุและพระศิวะที่แท้จริง คือ การสำแดงจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ที่แสดงออกในนิรมาณกาย พระนีลกัณฐโลเกศวร เพื่อใช้ในการโปรดสรรพสัตว์

แม้ชื่อ นีลกัณฐะ จะเป็นฉายาของพระศิวะ แต่จริงๆ ในมหากรุณาธารณี มีกล่าวถึงคุณสมบัติของ พระวิษณุและพระศิวะปะปนกัน และมีลักษณะทางประติมานก็เป็นในรูปแบบพระวิษณุเป็นส่วนมาก

———-

๒.ปางสหัสรภุชสหัสรเนตร หรือ พระสหัสรภุชสหัสรเนตรอวโลกิเตศวร การสำแดงอำนาจสูงสุดจริงแท้แห่งจักรวาล

แม้ในกรุณาธารณีส่วนมากหลายฉบับมีระบุชื่อว่า สหัสรภุชสหัสรเนตรฯ ก็จริง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีเนื้อหาอธิบายถึงพระอวโลกิเตศวร ๑๐๐๐ กร ๑๐๐๐ เนตรเลย มีแต่เพียงกล่าวถึงตัวธารณี

ยกเว้น มหากรุณาธารณีสูตร ฉบับแปลของพระภควธรรม ชาวอินเดีย (千手千眼觀世音菩薩廣大圓滿無礙大悲心陀羅尼經 หมายเลข ๑๐๖๐) เท่านั้น ฉบับนี้เป็นฉบับที่นิยมสวดในจีนมาตั้งแต่โบราณ ( ไต่ปุ่ยจิ่ว : ต้าเปย์โจ้ว) ซึ่งจะมีเนื้อหา ที่มาของพระอวโลกิเตศวร ๑๐๐๐ กร ๑๐๐๐ เนตร มีการแจกแจงอานิสงค์ในการสวดสาธยายต่างๆ ด้วย

ได้อธิบาย ๑๐๐๐ เนตร ๑๐๐๐ กร ว่า พระอวโลกิเตศวรมีพระเนตรจำนวนพันไว้เฝ้ามองสรรพสัตว์ผู้มีความทุกข์และ มีพระกรจำนวนพันไว้ช่วยเหลือรักษาคุ้มครองสรรพสัตว์เหล่านั้น (千眼照見,千手護持)

———

แต่ถ้าจะมองให้เห็นภาพที่กว้างขึ้น ต้องมองคติเทววิทยา ศาสนารอบข้างของผู้คนในสมัยนั้นก็จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า มหายานใช้ กุศโลบายอันใด ในการขับเคี่ยวแข่งขันกับศาสนาอื่น ท่ามกลางการแข่งขันกันทางศาสนาอย่างรุนแรงอย่างไร

———

เทวลักษณะ ที่แสดงการมีอวัยวะนับพัน เป็นขนบตั้งแต่ในสมัยพระเวท ใช้สื่อถึงความยิ่งใหญ่และสำคัญ เช่น พระอินทร์ มี ๑๐๐๐ เนตร(ตา) เป็นประมุขแห่งทวยเทพ

และโดยเฉพาะ พระปุรุษะ เป็นจุดกำเนิดโลกและจักรวาล ผู้ให้กำเนิดพระผู้เป็นเจ้าองค์สำคัญต่าง ๆ ในสมัยพระเวท ซึ่งในคัมภีร์ฤคเวท คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่เก่าแก่ที่สุด บทปุรุษะ สูกตะ กล่าวอย่างสรุปว่า

ปุรุษะมี ๑๐๐๐ เศียร มี ๑๐๐๐ เนตร(ตา) มี ๑๐๐๐ บาท(เท้า) ปุรุษะปกปิดแผ่นดินทั้งหมดไว้ทุกด้าน … พระจันทระเกิดจากใจของปุรุษะ พระอาทิตยะเกิดจากตาของปุรุษะ พระอินทระและพระอัคนีเกิดจากปากของปุรุษะ พระวายุเกิดจากลมหายใจของปุรุษะ …

(ในการัณฑวยูหสูตร ของมหายานก็กล่าวคล้ายๆ กันดังจะกล่าวไว้ในตอนท้าย)

——————

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หลังยุคพระเวท พระอินทร์ ถูกลดบทบาทลง และคุณสมบัติของพระปุรุษะ และพระประชาปติ (พระเป็นเจ้าผู้สร้างจักรวาลในพระเวท อีกพระองค์หนึ่ง) ถูกรวมเป็น พระพรหม ทำให้พระพรหมกลายเป็นจุดกำเนิดโลกและจักรวาล แทน

และในยุคนั้นได้มีการอธิบายอภิปรัชญาขยายความด้านศาสนาโดยเฉพาะเรื่อง ปุรุษะ จุดกำเนิดของจักรวาลเป็นในลักษณะที่เรียกว่า ปรมาตมัน และ พรหมัน และยังขยายความ อันว่าด้วยปุรุษะ-ประกฤติ อันเป็นอภิปรัชญาสางขยะอีกด้วย

แต่ต่อมาก็มีการพัฒนาพระผู้เป็นเจ้าจากพระเวทอีก ๒ พระองค์ ให้เป็นพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด คือ พระวิษณุ และพระศิวะ

ทำให้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า ตรีมูรติ กล่าวว่า พรหมัน คือ สัจธรรมสูงสุด แสดงออกด้วยกับ พระผู้เป็นเจ้า ๓ พระองค์ ต่างทำหน้าที่ต่างกันใน วัฏจักรแห่งการกำเนิด และสิ้นสุดของจักรวาล คือ พระพรหมผู้สร้าง พระวิษณุผู้รักษา และพระศิวะผู้ทำลาย แต่ภายหลัง พระพรหม ที่เคยเป็นพระผู้เป็นเจ้าสำคัญก็ถูกลดบทบาทลงอีก เช่นเดียวกับพระอินทร์

มีความเห็นว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่พระอินทร์ และ พระพรหม ถูกลดบทบาทเนื่องจาก พระเจ้าทั้ง ๒ ถูกศาสนาที่กำเนิดขึ้นมาใหม่อย่าง ศาสนาพุทธ และ ศาสนาเชน นำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา

——————

ดังนั้นจึงเหลือเฉพาะ พระวิษณุ และพระศิวะ เท่านั้นที่อยู่ในฐานะเทพสูงสุดที่มีการนับถือกัน และมีการแยกนิกายกัน จำแนกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้คือ

กลุ่มผู้ที่นับถือพระวิษณุสูงสุด คือ ไวษณพนิกาย และ กลุ่มผู้ที่นับถือพระศิวะสูงสุด คือ ไศวนิกาย

แต่ละกลุ่มก็ต่างก็นิยามว่า พระผู้เป็นเจ้าของแต่ละฝ่ายเป็นปุรุษะ ในพระเวท (รวมถึงปรมาตมัน พรหมัน) เสียเอง คือเป็นสภาวะสูงสุด เป็นรูปที่แท้จริงแห่งจักรวาล หรือที่เรียกว่า วิศวรูป

ซึ่งการแสดงออกในภาพเทวลักษณะในสภาวะสูงสุดของพระเป็นเจ้า ในสมัยหลังต่อมา มักจะมีอวัยวะนับพันอย่างปุรุษะ หรือจะมีอวัยวะนับไม่ถ้วนอย่างวิศวรูป

——————-

ในจุดนี้ สหัสรภุชสหัสรเนตร และนีลกัณฐะ เกี่ยวข้องกันอย่างไร ? อ.โลเกศ จันทรา (Lokesh Chandra) นักวิชาการชาวอินเดียผู้มีชื่อเสียง ได้ทำการชำระมหากรุณาธารณีหลายฉบับ ได้อธิบายไว้ว่า พระภาคแห่งพระสหัสรภุชสหัสรเนตรอวโลกิเตศวร เป็นการแสดงวิศวรูปของพระนีลกัณฐโลเกศวร

กล่าวคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นสภาวะสูงสุดที่แท้จริงของทั้งพระวิษณุและพระศิวะรวมกัน ที่แสดงออกใน นิรมาณกายที่เป็น พระสหัสรภุชสหัสรเนตรอวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นการสำแดงในลักษณะของปุรุษะ จุดกำเนิดจักรวาล รวมถึงวิศวรูป รูปแห่งจักรวาล ดังที่จะอธิบายต่อไป

โดยฝ่ายมหายานอาจจะใช้ พระสหัสรภุชสหัสรเนตรอวโลกิเตศวร ๑๐๐๐ เนตร ๑๐๐๐ กร เป็นสัญลักษณ์สภาวะสูงสุดของพระโพธิสัตว์ ในการโต้ตอบกับปรัชญาไวษณพนิกาย และ ไศวนิกาย อีกทางหนึ่ง อธิบายดังต่อไปนี้

——————–
ในฝ่าย ไวษณพนิกาย
——————–

พระวิษณุและเครื่องทรงสี่ประการ


มักกล่าวถึง ปุรุษะ และ วิศวรูป บ่อยครั้ง ในวิษณุปุราณะ กล่าวว่า พระวิษณุ เป็น ปุรุโษตตมะ คือ เป็นปุรุษะ เป็นพรหมัน ผู้เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งและต้นกำเนิดพระเป็นเจ้าทั้งหลาย (รวมถึง พระพรหม พระศิวะด้วย) เป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

โดยกล่าวว่า พระองค์มีพระเศียรหนึ่งพัน พระเนตรหนึ่งพัน พระบาทหนึ่งพัน ซึ่งก็กล่าวคล้ายๆ ในฤคเวท ปุรุษะ สูกตะ

———-

และที่สำคัญ พระวิษณุสามารถแสดงพระภาคสูงสุด คือ วิศวรูป หรือ รูปแห่งจักรวาล ที่ถูกระบุไว้ใน มหาภารตะ และ ภควัตคีตา ซึ่งอวตารของพระวิษณุใน ภาคพระกฤษณะ ได้แสดงพระภาคสูงสุดนี้ให้แก่บุคคลต่างๆ ได้เห็น เช่น อรชุน

ในภควัตคีตา บทที่ ๑๑ บทเกี่ยวกับวิศวรรูป ถูกบรรยายว่า วิศวรรูป เป็นรูปแห่งจักรวาล และสิ่งมีชีวิตทั้งหมด เป็นเอกภพที่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดสิ้นสุด มีลักษณะมีแขน ท้อง ใบหน้า ปาก มากมายนับไม่ถ้วน (อเนกพาหูทรวกฺตฺรเนตฺรํ) แต่ในบางคราวก็ยังพบการเรียก วิศวรูปว่า พระผู้มี ๑๐๐๐ พระพาหา(แขน) (สหสฺรพาโห ภว วิศฺวมูรฺเต) อยู่เช่นกัน

ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่า คติวิศวรูป เป็นพัฒนาการจาก คติปุรุษะ ซึ่งพระวิษณุก็อยู่ในฐานะปุรุโษตตมะ อยู่แล้วดังที่ได้กล่าวมา

———-

ซึ่งก็พบความคล้ายกันในการัณฑวยูหสูตร ของมหายาน ในนิรวยูหะที่ ๑ ปกรณ์ที่ ๒ อวีจิโศษณะ และ ในนิรวยูหะที่ ๒ ปกรณ์ที่ ๒ โรมวิวรณาวรรณนะ กล่าวถึงว่า ปรากฎการณ์ที่สำแดงออกมาเป็นวิศวรูป ที่แท้จริงเกิดจากพระอวโลกิเตศวร ว่า

วิศวรูปของพระอวโลกิเตศวร มีพระกร(แขน)นับแสน มีพระเนตร(ตา) จำนวนแสนโกฏิ (๑ แสน คูณ ๑๐ ล้าน) มี ๑๑ พระเศียร (ศตสหสฺรภุชะ โกฏิศตสหสฺรเนโตฺร วิศฺวรูปี เอกาทศศีรฺษะ)

จากลักษณะดังกล่าว เป็นไปได้ว่า แนวคิดตั้งต้นให้กับนิรมาณกายของพระอวโลกิเตรศวร อยู่ ๒ ปาง ที่เป็นที่นิยมกัน คือปางเอกาทศมุข และปางสหัสรภุชะ-สหัสรเนตร

———-

โดย วิศวรูปของพระวิษณุ ในงานศิลปะ สมัยแรก ๆ ที่ปรากฏในสมัยคุปตะ ในมถุราและกัษมีระ ในส่วนขององค์หลัก ช่างมักทำมีสามเศียร: มนุษย์ (พระวิษณุ) ราชสีห์ (นรสิงหาวตาร) และหมูป่า (วราหาวตาร) มี ๔ กร แล้วด้านหลังทำเป็นอวตารต่างๆ ของพระวิษณุ และทวยเทพต่าง ๆ โผล่ออกมาจากร่างหลัก

———-

ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียง ลักษณะประติมานของ พระนีลกัณฐโลเกศวร ที่อธิบายโดยพระอโมฆวัชระ แต่มีการเอาลักษณะพระศิวะเข้ามาผสมด้วย คือ หน้ามนุษย์จะระบุว่ามีคอสีนิล ซึ่งสื่อว่าเป็นพระศิวะ ประกอบด้วยหน้า ราชสีห์ และหมูป่า มี ๔ กร ถือ จักร สังข์ คทา และดอกบัว อันเป็นสัญลักษณะโดยตรงของพระวิษณุ

แต่ คทา ในที่นี้ อาจเป็นสัญลักษณ์ใช้ร่วมกันระหว่างพระวิษณุ และพระศิวะ คือพระวิษณุใช้ ไม้กระบอง(คทา) พระศิวะในอวตารพระลกุลีศะ ถือไม้กระบอง (ลกุฏะ)

———-

ซึ่งก็ปรากฎความตรงในตัวมหากรุณาธารณีดังนี้

แด่พระผู้มีพระศอสีนิล สวาหา, แด่พระผู้มีพระพักตร์เป็นหมูป่า สวาหา, แด่พระผู้มีพระพักตร์เป็นนรสิงห์ผู้ยิ่งใหญ่ สวาหา (นีลกณฺฐาย สฺวาหา วราหมุขาย สฺวาหา มหานรสิํหมุขาย สฺวาหา)

แด่ผู้ใช้หัตถ์ถือดอกบัว สวาหา, แด่ผู้ถือไม้มหาลกุฏะ สวาหา, แด่อาวุธจักร สวาหา, แด่สังข์อันมีเสียงปลูกให้ตื่นรู้ สวาหา, (ปทฺมหสฺตาย สฺวาหา ฯ มหาลกุฏธราย สฺวาหาฯ จกฺรายุธาย สฺวาหา ฯ ศํขศพฺทนิโพธนาย สฺวาหา ฯ)

——————–
ในฝ่ายไศวนิกาย
——————–

พระศิวะดื่มพิษหลาหละ คราวกวนเกษียรสมุทร


ในศิวะปุราณะ มีกล่าวถึงพระศิวะ ว่าเป็นปุรุษะ อยู่หลายแห่ง

พระศิวะที่แสดงเป็นพระภาคสูงสุด คือ พระสทาศิวะ ถึงแม้พระภาคนี้จะไม่ได้มีเทวลักษณะ ที่แสดงถึงการมีอวัยวะจำนวนมากมาย แบบปุรุษะ หรือ วิศวรูป (แต่พระสทาศิวะ ก็มีลักษณะหลายพระเศียร หลายพระกรอยู่)

แต่มีการกล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นสภาวะนั้นอยู่เช่นกัน ใน รุทระ สังหิตา : สตี ขัณฑะ กล่าวว่า

อัธยายะที่ ๑๕ : กล่าวว่าพระศิวะ เป็นปุรุษะ มเหศะ ปรอีศะ มหาอาตมัน เป็นเป็นจุดกำเนิดของสรรพสิ่ง (รวมถึงเป็นสภาวะที่แท้จริงของ พระพรหม พระวิษณุ อีกด้วย ) อัธยายะที่ ๔๒ : กล่าวว่าพระศิวะ เป็นพระเป็นเจ้าแห่งจักรวาล เป็นวิศวรูป (วิศฺเวศฺวร วิศฺวรูปํ)

นอกจากพระศิวะเป็นสภาวะสูงสุดแล้ว ยังถือว่าเป็นพระเป็นเจ้า ผู้ทรงมหากรุณาจนได้พระนามว่า นีลกัณฐะ

ใน ศตรุทระสังหิตา อัธยายะที่ ๑๐ บทว่าด้วยเรื่องนฤสิงหะ : กล่าวว่าสรุปว่า
“ขอนอบน้อมแด่พระสทาศิวะ ก่อนหน้านี้พวกข้าพระองค์ประสบความความทุกข์ยาก พระองค์เป็นผู้ช่วยพวกข้าพระองค์ มหาสมุทรถูกกวนแล้วเหล่าทวยเทพก็ได้แบ่งเอารัตนะไปสิ้น ครั้นแล้วพระศิวะเจ้าจึงรับเอาพิษที่เหลือไว้เอง ข้าแต่พระองค์พระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ถูกกล่าวขานว่า นิลกัณฐะ (คอสีน้ำเงิน) หากพระองค์ไม่ดื่มพิษนั้น ทุกสิ่งก็จะกลายเป็นเถ้าถ่าน”

เหตุการณ์นี้ กล่าวถึงเหตุการณ์กวนเกษียรสมุทร จากเทพปกรณัมของชาวอินเดียโบราณ

การกวนหรือปั่นเกษียรสมุทร(มหาสมุทรน้ำนม) เพื่อทำน้ำอมฤต เปรียบเหมือนการปั่นน้ำนมเพื่อแยกเนยใสของชาวอินเดียโบราณ ในครั้งนั้นเหล่าเทวดาและอสูรใช้ภูเขามันทระมาเป็นไม้ปั่น และให้นาควาสุกรีเป็น เชือกปั่น

เมื่อปั่นเสร็จได้น้ำอมฤตและของวิเศษต่าง แต่มีพิษร้ายชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า หลาหละ (halāhala) ซึ่งจะทำลายทุกสิ่งออกมาด้วย

พิษนี้แม้แต่พระพรหม และพระวิษณุ ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ พระศิวะด้วยความกรุณาต่อสรรพสิ่งจึงทำการดื่มพิษนี้เข้าไป พระปารวตีเห็นเช่นนั้น เอามือจับพระศอ(คอ)พระสวามีไว้ เพื่อไม่ให้พิษเข้าสู่ร่าง พิษนั้นก็ค้างอยู่ที่พระศอ เผาไหม้จนทำให้พระศอพระศิวะซ้ำจะเป็นสีน้ำเงินเข้มหรือสีนิล จนถูกเรียกว่า นีลกัณฐะ (พระผู้มีพระศอสีนิล)

———-

ซึ่งก็ปรากฎความใน มหากรุณาธารณีด้วย แต่มีการเปลี่ยนความหมาย หลาหละ ว่าคือพิษกิเลสทั้ง ๓ ในพุทธศาสนา ความว่า

โอ้ พระนีลกัณฐะ โอ้ พระมหากาล ผู้ควบคุมหลาหละ พิษแห่งโลก ผู้ทำพิษแห่งราคะให้วินาศไป ผู้ทำพิษแห่งโทสะให้วินาศไป ผู้ทำพิษแห่งโมหะให้วินาศไป (เห นีลกณฺฐ เห มหากาล หลาหลวิษนิรฺชิตโลกสฺย ราควิษวินาศน ทฺเวษวิษวินาศน โมหวิษวินาศน)

——————–

สรุปทั้งฝ่ายไวษณพนิกาย ไศวนิกาย และฝ่ายมหายาน ต่างอ้างสภาวะสูงสุด และอ้างความเป็นจุดกำเนิดของอีกฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างโต้ตอบกันกัน

และบทความนี้แสดงให้เห็น ฝ่ายมหายานใช้ พระอวโลกิเตศวร (สหัสรภุชสหัสรเนตร และ นีลกัณฐ) เป็นสัญลักษณ์ต่อสู้ในทางความเชื่อ ความคิด และปรัชญาทางศาสนากับ ไศวนิกาย(พระศิวะ) และไวษณพนิกาย(พระวิษณุ) อย่างไร

สุดท้ายขอยกข้อความการปฏิเสธ การกล่าวคัดค้านของมหายาน ต่อพระเป็นเจ้าของพรามณ์ในปุราณะ ต่างๆ ดังจะยกมาดังนี้

——————–
วิษณุปุราณะ องค์ที่ ๑ อัธยายะที่ ๒
——————–
กล่าวถึงวิษณุว่า :

ขอนอบน้อมแด่องค์พระวิษณุ พระผู้ทรงเป็นโลกประกอบด้วยโลก เป็นมูลเหตุแห่งการสร้าง, การรักษา, และการทำลาย (สรฺคสฺถิติวินาศานํา) ผู้เป็นปรมาตมัน

และมีข้อความที่น่าสนใจเรื่อง กลียุค ในวิษณุปุราณะ องค์ที่ ๖ อัธยายะที่ ๑ ฤษีปราศระ กล่าวกับ ฤษีไมเตรยะ ยกจากข้อความที่น่าสนใจโดย สรุปว่า

ในกลียุค คนทั้งหลายจะถูกคนนอกศาสนาเบียดเบียน คนก็จะไม่บูชาพระวิษณุ ผู้สร้างสรรพสิ่ง พระผู้เป็นเจ้าของโลก ลัทธินอกศาสนาก็จะกล่าวกันว่า พระผู้เป็นเจ้า พราหมณ์ พระเวทไม่มีประโยชน์อะไร

ในกลียุค ผู้คนจะมีแต่วรรณะศูทรเป็นส่วนใหญ่ .. พวกศูทรจะถือพรตเลี้ยงชีพด้วยการขออาหาร ถือเพศบรรพชิตของลัทธิอันต่ำทราม เป็นพวกมีมลทินอาศัยการปฏิบัติตนกับพวกนอกศาสนา .. พวกขออาหาร (ภิกฺษวศฺ) จะมีอิทธิพลเพราะได้รับความนับถือรักใคร่จากมิตรสหายและพรรคพวกของตน

——————–
ในศิวะปุราณ รุทระสังหิตา สตีขัณฑะ อัธยายะที่ ๑๕
——————–

กล่าวถึงพระศิวะว่า :

พระองค์ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่อสูร ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่เดรัจฉาน ไม่ใช่พราหมณ์ ข้าแต่พระเป็นเจ้า พระองค์ผู้ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่กะเทย ไม่ใช่ ผู้ที่ไม่สร้างสิ่งต่าง ๆ ที่มีและไม่มีอยู่

เมื่อปฏิเสธสภาวะทั้งหมดแล้ว สภาวะของพระองค์ที่เหลืออยู่ก็คือ ทรงเป็นผู้สร้างจักรวาล ผู้รักษาจักรวาล ผู้ทำลายจักรวาล และอาตมันของจักรวาล (วิศฺวกฤทฺวิศฺว ปาลกะ. วิศฺวลยกฤทฺวิศฺวาตฺมา) ขอนอบน้อมแด่พระศิวะพระองค์นั้น

——————–
การัณฑวยูหสูตร ของมหายานกล่าวแก้ว่า
——————–

นิรวยูหะที่ ๑ ปกรณ์ที่ ๔ บทชื่อว่าจันทราทยุตปัตติ กลับกล่าวแก้ว่า พระอวโลกิเตศวร เป็นผู้ให้กำเนิดเป็นเจ้าของพราหมณ์ แบบปุรุษะ ว่า

พระอาทิตยะ และ พระจันทระ มาจากตา พระมเหศวร(ศิวะ)มาจากหน้าผาก พระพรหมมาจากบ่า พระนารายณ์(วิษณุ)มาจากหัวใจ พระเทวีสรัสวดีมาจากฟันเขี้ยว พระวายุมาจากปาก พระธรณีมาจากเท้า และพระวรุณมาจากท้อง เทวดาเหล่านั้นออกจากพระกายพระอวโลกิเตศวร

พระมเหศวร เมื่อในกลียุค สัตว์ทั้งหลายที่มีนิสัยเลวทราม จะกล่าวว่าท่านเป็น อาทิเทพ เป็นเทพเจ้าองค์ปฐม เป็นพระผู้กำเนิด เป็นพระผู้สร้าง สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจักเว้นเสียจากโพธิมรรคหนทางสู่การตรัสรู้

ในนิรวยูหะที่ ๑ ปกรณ์ที่ ๑๓ บทชื่อว่า เทวะภะวะนะภระมะณัม

พระอวโลกิเตศวร ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นพระโพธิสัตว์ที่ปรารถนาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายรอดพ้น
———-

หมายเหตุ : ภาพหินแกะสลัก พระวิศวรูป การสำแดงพระภาคสูงสุดของพระวิษณุ จากจัมมู-แคชเมียร์ อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ ๖ สมัยอาณาจักรกัษมีระโบราณ ที่ Met Museum

ซึ่งในการอธิบายพระพักตร์นั้น ๓ พระพักตร์นั้น ค่อนข้างใกล้เคียง ลักษณะประติมานของ พระวิษณุ ปางไวกูณฐ์ จตุรมูรติ และ พระนีลกัณฐโลเกศวร ที่อธิบายโดยพระอโมฆวัชระ

ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่า นีลกัณฐโลเกศวร และสหัสรภุชสหัสรเนตรอวโลกิเตศวร ในมหากรุณาธารณี และ ตัวพระสูตรการัณฑวยูหสูตร มีต้นกำเนิดมาจากแคว้นกัษมีระ

Loading

Be the first to comment on "พระสหัสรภุชสหัสรเนตรอวโลกิเตศวร และ พระนีลกัณฐโลเกศวร ในมหากรุณาธารณี มีเกี่ยวข้องกันอย่างไร กับพระวิษณุและพระศิวะ ?"

Leave a comment