มหากรุณาธารณี ฉบับพระวัชรโพธิ พร้อมคำอ่านและคำแปล

แบ่งปันในสังคมออนไลน์

มหากรุณาธารณี ฉบับพระวัชรโพธิ พร้อมคำอ่านและคำแปล
มหากรุณาธารณี ภาษาสันสกฤต ที่เป็นต้นฉบับที่นิยมในสื่อออนไลน์ ในปัจจุบัน

พระอวโลกิเตศวรพันกร พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา ศิลปะทิเบตตะวันตก ต้นศตวรรษที่ 14 จาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะฟิลาเดลเฟีย



มหากรุณาธารณี จาก พระไตรปิฎกภาษาจีน ฉบับไทโช หมวดตันตระ พระสูตรหมายเลข ๑๐๖๑

千手千眼觀自在菩薩廣大圓滿無礙大悲心陀羅尼呪本
(สหัสรภุชสหัสรเนตระ – อวโลกิเตศวรโพธิสัตวะ – ไวปุลยะ – สัมปูรณะ – อนาวรณะ – มหากรุณาหฤทัยธารณี – มูลมนตร์ )

แปลว่า มหากรุณาหฤทัยธารณีมูลมนตร์แห่งพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ๑๐๐๐ กร ๑๐๐๐ เนตร ที่ยิ่งใหญ่ สมบูรณ์ ไร้อุปสรรค

ปริวรรตถอดเสียงเป็นอักษรจีน ราวปี ค.ศ. ๗๓๑ – ๗๓๖ โดยประมาณ โดยพระภิกษุ ผู้เป็นมันตราจารย์ชาวอินเดียใต้ (เกรละ) ฉายาว่า พระวัชรโพธิ (金剛智) โดยมีต้นฉบับอักษรสิทธัมอยู่ที่ หอพระไตรปิฎก วัดหลิงหยุน

ภาพวาดพระวัชรโพธิ ศิลปะญี่ปุ่น สมัยคามาคุระ (ศตวรรษที่ 14)


พระวัชรโพธิ เป็นพระธรรมทูตรูปหนึ่งที่เข้าไปเผยแพร่ศาสนาในจีน ในรัชสมัยจักรพรรดิถังเสวียนจง เป็นมันตราจารย์ผู้เป็นคุรุอาจารย์ของพระอโมฆวัชระ และเป็นพระราชครูของราชสำนักถังด้วย

———

มหากรุณาธารณี ฉบับนี้เป็นหนึ่งในหลายฉบับของมหากรุณาธารณี แม้ว่า มหากรุณาธารณีฉบับนี้จะมีชื่อว่า สหัสรภุชสหัสรเนตรฯ (ธารณีของพระอวโลกิเตศวร ๑๐๐๐ กร ๑๐๐๐ เนตร) แต่ฉบับนี้ มีเนื้อหาเฉพาะธารณีแบบ นีลกัณฐธารณี (ธารณีของพระอวโลกิเตศวรคอสีนิล) เพียงอย่างเดียว

ไม่ได้มีเนื้อหาเหมือนฉบับมหากรุณาธารณี ฉบับแปลของพระภควัทธรรม (千手千眼觀世音菩薩廣大圓滿無礙大悲心陀羅尼經 หมายเลข ๑๐๖๐) ซึ่งเป็นฉบับที่นิยมสวดในจีนมาตั้งแต่โบราณ ( ไต่ปุ่ยจิ่ว : ต้าเปย์โจ้ว) ซึ่งจะมีการบรรยายถึงที่มาของพระอวโลกิเตศวรว่ามี ๑๐๐๐ กร ๑๐๐๐ เนตร เป็นมาอย่างไร เพราะอะไร มีแจกแจงอานิสงค์ในการสวดสาธยายต่างๆ ด้วย

มหากรุณาธารณี ไม่ว่าจะเป็น ฉบับสหัสรภุชสหัสรเนตร หรือ นีลกัณฐะ ตัวข้อความธารณีต่างมีความใกล้เคียงกัน ถือเป็นธารณีเดียวกัน มีหลายฉบับ มีการถ่ายถอดเสียงกันหลายคราว จำแนกเป็นประเภทได้ ๒ ประเภทใหญ่ ๆ คือ แบบธารณีสั้น และแบบธารณียาว

มหากรุณาธารณี ฉบับพระวัชรโพธิ เป็น มหากรุณาธารณี แบบยาว ต้นฉบับอักษรสิทธัมอยู่ที่ วัดหลิงหยุน(靈雲寺) บางส่วนมีอักขระวิบัติ ถอดเสียงไม่ตรงตามภาษาสันสกฤตอยู่หลายจุด เช่น มหาโพธิสตฺตฺว ในฉบับตัวสิทธัม เป็น มหาโวธิสตฺตฺว หรือ “นีลกณฺฐ” เป็น “นิรกํฏ”

และบางคำแม้จะมีกำกับเสียงโดยอักษรจีนไว้อีกชั้น แต่ข้อความในตัวธารณีบางส่วนเป็นภาษาสันสกฤตแบบผสมเฉพาะถิ่น (Buddhist Hybrid Sanskrit) และบางคำไม่มีความหมายโดยตรงในภาษาสันสกฤต

แต่อย่างไรก็ตามฉบับพระวัชรโพธิ ก็นับว่าสมบูรณ์กว่าฉบับที่ถ่ายเสียงธารณีโดย พระภควัทธรรม และ พระอโมฆวัชระ ที่ดูเหมือนต้นฉบับจาก ๒ ท่านนี้จะมีความบกพร่องจากการถ่ายเสียง และการคัดลอกจดจารจากต้นฉบับในภายหลัง ที่มีอักขระวิบัติมากกว่า ฉบับพระวัชรโพธิ

อีกทั้งในฉบับ พระภควัทธรรม พระอโมฆวัชระ มักใช้ภาษาสันสกฤตแบบผสมเฉพาะถิ่นเอเชียกลาง ไม่ใช่ที่ใช้กันในอินเดียส่วนกลาง ตัวอย่าง “นีลกณฺฐ” เป็น “นรกินฺทิ” (那囉謹墀 ) และยังเจอรูปแบบอื่น “นิลกนฺทิ”, “นรกิธิ”

เหตุเพราะพระภควัทธรรม เป็นชาวอินเดียภาคตะวันตก ขึ้นมาอยู่ที่เอเชียกลางมีระบุว่าอยู่ที่อาณาจักรโขตาน ปัจจุบันคือ โฮตาน ซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน ส่วนพระอโมฆวัชระ เป็นชาวซอกเดีย (พวกอิหร่านโบราณกลุ่มหนึ่งใน เอเชียกลาง )

———

มหากรุณาธารณี ฉบับพระวัชรโพธิ จึงมีการชำระ อยู่ ๒ ฉบับใหญ่ กับ ๑ ฉบับย่อย ได้แก่

๑. ฉบับชำระ ปี ค.ศ. ๑๙๘๘ อ.โลเกศ จันทรา (Lokesh Chandra) นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงชาวอินเดีย นักวิชาการภาษาสันสกฤต ด้านงานคัมภีร์พระเวทและพุทธศาสนา ฉบับนี้ชำระ โดยเปรียบเทียบ กับฉบับอื่นหลายฉบับและเปรียบเทียบกับฉบับสันสกฤต ที่หลงเหลืออยู่ (ในที่นี้เรียก ฉบับโลเกศ)

———

๒. ฉบับชำระ ปี ค.ศ. ๑๙๙๙ พุทธสมาคมเมืองราวัง รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย (Rawang Buddhist Association) โดย อ. Chua Boon Tuan (จีนฮกเกี้ยน : 蔡文端 ) ผู้เป็นประธานสมาคม และเจ้าของเว็บไซต์ ธารณีปิฎก (dharanipitaka) โดยท่านศึกษาภาษาสันสกฤต และอักษรสิทธัมในพระไตรปิฎกจีนด้วยตัวเอง ฉบับนี้มีเนื้อหาพื้นฐานมาจากฉบับโลเกศ แต่มีการเพิ่มเติมและปรับแก้อยู่หลายคำ ตามความเห็นของท่านอาจารย์ (ในที่นี้เรียก ฉบับพุทธสมาคมราวัง)

———

๒.๑ ฉบับขับร้องของ อิมี โอย (Imee Ooi) ที่นิยมในสื่อออนไลน์ มีปรับปรุงแก้ไขเล็กน้อย ทำเป็นบทสวดและเพลงภาษาสันสกฤต โดยต้นฉบับหลักใช้จากฉบับพุทธสมาคมราวัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งก็มีการการปรับแก้คำเล็กน้อย เพื่อใช้ในการในการขับร้องของ อิมี โอย (Imee Ooi) นักร้องชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นนักร้องแนวเพลงพุทธร่วมสมัย ชื่อเพลงว่า Nilakantha Dharani [The Great Compassionate Mantra] ปี ค.ศ. ๒๐๐๐

———

แต่ในที่นี้จะใช้ ฉบับโลเกศ เป็นฉบับหลัก เพราะที่มีความใกล้เคียง กับต้นฉบับของพระวัชรโพธิมากที่สุด โดยใช้ จากต้นฉบับอักษรเทวนาครี ในหนังสือ The Thousand-armed Avalokiteśvara, (พระอวโลกิเตศวรพันกร) เล่มที่ ๑ อ.โลเกศ จันทรา ปี ค.ศ. ๑๙๘๘

———

ส่วนธารณีที่เผยแพร่กันใน Wikipedia ที่ระบุว่าเป็น ธารณีที่ชำระโดย อ.โลเกศ จันทรา จริงๆแล้ว เป็นฉบับที่มีการปรับอักขรวิธีเพิ่มเติมจากผู้เรียบเรียงบน Wiki เช่น มีการตัดบทสนธิ ปรับสระยาวเป็นสระสั้น

ในที่นี้จะใช้ต้นฉบับในหนังสือ โดยปริวรรตอักษรเทวนาครีเป็นอักษรไทย พร้อมคำอ่านอย่างง่ายและคำแปล มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ความใน มหากรุณาหฤทัยธารณีมูลมนตร์ ฉบับพระวัชรโพธิ ชำระโดย ท่านอาจารย์ โลเกศ จันทรา ประกอบด้วยเนื้อหา ๔ ส่วนดังนี้

———

๑. ประณามบท คือ บทนมัสการพระรัตนตรัยและพระอวโลกิเตศวร

๒. คาถาแจงอานิสงค์ เป็นคาถาอนุษฏุภฉันท์ ๑ บท

๓. ตัวบทธารณี โดยปกติบทธารณีมักจะไม่แปล เพราะถือเป็นถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ ให้สวดตามนั้น ซึ่งส่วนมากแปลเอาความหมายทั้งประโยคไม่ได้ เพราะว่า ๑.ไม่มีความหมายโดยตรง ๒.ผิดไวยากรณ์ หรือ ไม่ครบประโยค ๓.เป็นเสียงของมนตร์ที่เปล่งออกมาเป็นจังหวะ แต่ในที่นี้จะแปลไว้ให้เห็น ความหมายของศัพท์ ตามที่ผู้รู้ชาวจีนและ นักวิชาการแปล วิเคราะห์และให้ความเห็นไว้ ซึ่งความหมายของแต่ละคำจะมีอุปเทศของธารณี หรือความหมายโดยนัยของธารณีซ่อนอยู่ ไม่ได้มีความหมายโดยตรงตามคำแปล

๔. บทนมัสการจบ เป็นบทนมัสการพระอวโลกิเตศวร


——————
โดยมีเนื้อหาดังนี้
——————


ส่วนที่๑ 
ประณามบท 



๑. นโม รตฺนตฺรยาย ฯ นม อารฺยาวโลกิเตศฺวราย โพธิสตฺตฺวาย มหาสตฺตฺวาย มหาการุณิกาย สรฺวพนฺธนจฺเฉทนกราย สรฺวภวสมุทฺรโศษณกราย สรฺววฺยาธิปฺรศมนกราย สรฺเวตฺยุปทฺรววินาศนกราย สรฺวภเยษุตฺราณราย ฯ ตสฺไม นมสฺกฤตฺวา อิมํ อารฺยาวโลกิเตศฺวรภาษิตํ นีลกณฺฐนาม ฯ

————-

[อ่านว่า]
๑. นะโม รัตนะ-ตระยายะ ฯ
นะมะ อารยา-วะโลกิเต-ศวะรายะ โพธิ-สัตตวายะ
มะหา-สัตตวายะ มะหา-การุณิกายะ
สรรวะ-พันธะนะ-จเฉทะนะ-กะรายะ
สรรวะ-ภะวะ-สะมุทระ-โศษะณะ-กะรายะ
สรรวะ-วยาธิ- ประศะมะนะ กะรายะ
สรรเวต-ยุปะทระวะ -วินาศะนะ- กะรายะ
สรรวะ- ภะเยษุ-ตราณะ-กะรายะ ฯ
ตัสไม นะมัส-กฤตวา อิมัม อารยา-วะโลกิเต-ศวะระ-ภาษิตัม นีละกัณฐะ-นามะ ฯ


————-

[แปล]
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ฯ ขอนอบน้อมแด่ พระอารยอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ มหาสัตว์ ผู้ทรงมหากรุณา

ผู้ช่วยปลดเปลื้องพันธนาการทั้งปวง ผู้ทำให้มหาสมุทรแห่งภพทั้งหลายให้เหือดแห้งไป

ผู้บรรเทารักษาโรคาพยาธิทั้งปวง ผู้ทำลายอุปัทวะทั้งปวงให้วินาศไป ผู้ทรงช่วยให้รอดพ้นจากความกลัวทั้งหมดทั้งสิ้น

ครั้นขอถวายความนอบน้อมแด่พระองค์แล้ว ธารณีนี้มีชื่อว่า นีลกัณฐะ เป็นภาษิตแห่งพระอารยอวโลกิเตศวรที่ทรงแสดงไว้

(นีลกัณฐะ แปลว่า คอสีนิล หรือน้ำเงินเข้ม)



ส่วนที่ ๒
คาถาแจงอานิสงค์


๒. หฤทยํ วรฺตยิษฺยามิ สรฺวารฺถ สาธกํ ศุภมฺ ฯ
อเชยํ สรฺวภูตานํา ภวมารฺควิโศธกมฺ ๚

————-

[อ่านว่า]
๒. หฤทะยัม วรรตะ-ยิษยามิ สรร-วารถะ สาธะกัม ศุภัม ฯ
อะเชยัม สรรวะ-ภูตานาม ภะวะ-มารคะ-วิโศธะกัม ๚

————-


[แปล]
เราจักกล่าว หัวใจ[ คือ ธารณี] อันรุ่งเรืองนี้ ซึ่งจะทำให้สำเร็จประโยชน์ที่มุ่งหวังทั้งปวง ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเอาชนะได้ สามารถชำระทางแห่งภพของสรรพชีวิตให้บริสุทธิ์


ส่วนที่ ๓ ธารณีมนตร์ 
ธารณีมนตร์ ๑/๓

๓. ตทฺยถา ฯ โอํ อาโลก เอ อาโลกมติ โลกาติกฺรานฺต เอหิ หเร อารฺยาวโลกิเตศฺวร มหาโพธิสตฺตฺว ฯ เห โพธิสตฺตฺว เห มหาโพธิสตฺตฺว เห วีรฺยโพธิสตฺตฺว เห มหาการุณิก สฺมร หฤทยมฺ ฯ เอหฺเยหิ หเร อารฺยาวโลกิเตศฺวร มเหศฺวร ปรมารฺถจิตฺต มหาการุณิก ฯ กุรุ กุรุ กรฺม ฯ สาธย สาธย วิทฺยามฺ ฯ เทหิ เทหิ ตฺวรํ กามํคม วิหํคม วิคม สิทฺธโยเคศฺวร ฯ ธุรุ ธุรุ วิยนฺต เอ มหาวิยนฺต เอฯ ธรธร ธเรนฺเทฺรศฺวร ฯ จลจล วิมลามล ฯ อารฺยาวโลกิเตศฺวร ชิน ฯ กฤษฺณชฏามกุฏา’วรม ปฺรรม วิรม[1] มหาสิทฺธวิทฺยาธรฯ พลพล มหาพล มลฺลมลฺล มหามลฺล จล จล มหาจล ฯ กฤษฺณวรฺณ ทีรฺฆ กฤษฺณปกฺษ นิรฺฆาตน เห ปทฺม หสฺต ฯ จร จร นิศาจเรศฺวร กฤษฺณสรฺปกฤต ยชฺโญปวีต ฯ


[1] ต้นฉบับสิทธัมเป็นภาษาสันสกฤตผสมใช้ [อ]‘วรํม ปฺรรํม วิรํม ฉบับอักษรซอกเดียน ในตุนหวง และฉบับโลเกศชำระใช้ [อ]‘วรม ปฺรรม วิรม ซึ่งในรูปภาษาสันกฤตแบบแผนคือ อวลมฺพ ปฺรลมฺพ วิลมฺพ]

————-


[อ่านว่า]
————-
๓. ตัทยะถา ฯ

โอม อาโลกะ เอ อาโลกะ-มะติ โลกาติ-กรานตะ

เอหิ หะเร อารยา-วะโลกิเต-ศวะระ มะหา-โพธิ-สัตตวะ ฯ

เห โพธิ-สัตตวะ เห มะหา-โพธิ-สัตตวะ เห วีรยะ-โพธิ-สัตตวะ

เห มะหา-การุณิกะ สมะระ หฤทะยัม ฯ

เอห-เยหิ หะเร อารยา-วะโลกิเต-ศวะระ มะเห-ศวะระ ปะระ-มารถะ-จิตตะ มะหา-การุณิกะ ฯ

กุรุ กุรุ กรรมะ ฯ
สาธะยะ สาธะยะ วิทยาม ฯ
เทหิ เทหิ ตวะรัม กามัม-คะมะ วิหัง-คะมะ วิ-คะมะ สิทธะ-โยเค-ศวะระ ฯ

ธุรุ ธุรุ วิยันตะ เอ มะหา-วิยันตะ เอฯ
ธะระ ธะระ ธะเรนเทร-ศวะระ ฯ
จะละ จะละ วิมะลา-มะละ ฯ

อารยาวะ-โลกิเต-ศวะระ ชินะ ฯ
กฤษณะ-ชะฏา-มะกุฏา วะระมะ ประระมะ วิระมะ มะหา-สิทธะ-วิทยา-ธะระฯ

พะละ พะละ มะหา-พะละ
มัลละ มัลละ มะหา-มัลละ
จะละ จะละ มะหา-จะละ ฯ

กฤษณะ-วรรณะ ทีรฆะ-กฤษณะ-ปักษะ-นิรฆาตะนะ เห ปัทมะ-หัสตะ ฯ
จะระ จะระ นิศาจะเร-ศวะระ กฤษณะ-สรรปะ-กฤตะ ยัชโญปะวีตะ ฯ


————-
[แปล]

มีดังต่อไปนี้ :

โอม แสงสว่าง ถึง ปัญญาอันสว่างไสว การก้าวพ้นโลก ฯ

มาเถิด พระหริ[1] พระอารยอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ฯ

โอ้ โพธิสัตว์ ! โอ้ มหาโพธิสัตว์ ! โอ้ โพธิสัตว์ผู้มีความเพียร ! โอ้ มหากรุณา จงระลึกถึง หัวใจ[ธารณี]นี้ ฯ

มา ! มาเถิด พระหริ พระอารยอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระมเหศวร[2] ที่มีจิตอันเป็นปรมัตถ์ ด้วยมหากรุณา ฯ

ทำ ทำ กิจนั้น ! ฯ
[เสียงมนตร์ กุรุ หมายถึง ทำ]

ทำให้บรรลุ ทำให้บรรลุ ซึ่งวิทยา ! ฯ
[เสียงมนตร์ สาธะยะ หมายถึง กำลังจะสำเร็จหรือบรรลุ]

ประทาน ประทานให้โดยเร็ว เป็นไปตามความปรารถนา ลอยออกไปในท้องฟ้า ไปถึงความหลุดพ้น ด้วยเถิดพระสิทธโยเคศวร ฯ [3] (ผู้เป็นเจ้าแห่งการสำเร็จโยคะ)
[เสียงมนตร์ เทหิ หมายถึง ให้ ประทาน]

ค้ำไว้ ค้ำยันฟ้าสวรรค์ไว้ด้วยเถิดพระมหาวิยันตะ[4] (ผู้เป็นใหญ่แห่งฟ้าสวรรค์)
[เสียงมนตร์ ธุรุ เป็นการแผลงเสียง รูปแบบไม่ปกติ จากธาตุ ธฺฤ หมายถึง ยึด จับ ค้ำ สนับสนุน ]

แบก แบก ไว้เถิดพระธเรนเทรศวร[5] (ผู้เป็นเจ้าแห่งแผ่นดิน)
[เสียงมนตร์ ธะระ หมายถึง แบก ถือ มาจากธาตุ ธฺฤ เช่นเดียวกัน ]

เคลื่อนไป เคลื่อนไป สู่ความสะอาด ไร้มลทิน
[เสียงมนตร์ จะละ หมายถึง สั่น, เคลื่อนที่]

โอ้ พระอารยอวโลกิเตศวร ผู้มีชัย[6] ทรงมกุฎด้วยมุ่นมวยผมสีดำขลับ(ชฎามกุฎ)[7] และทรงเครื่องประดับระย้าที่พระศอและพระกร ผู้เป็นพระมหาสิทธวิทยาธร [8] (ผู้สำเร็จผู้ยิ่งใหญ่ผู้ทรงไว้ซึ่งความรู้)

พลัง พลังแห่งพระมหาพละ[9] (ผู้มีพลังอันยิ่งใหญ่)
[เสียงมนตร์ พะละ หมายถึง พลัง]

แข็งแกร่ง แข็งแกร่งแห่งพระมหามัลละ[10] (ผู้เป็นนักปล้ำสู้ผู้แข็งแกร่งยิ่ง)
[เสียงมนตร์ มัลละ หมายถึง แข็งแกร่ง]

เคลื่อนไป เคลื่อนไปสู่พระมหาอจละ[11] (ผู้ไม่สั่นไหวที่ยิ่งใหญ่)
[เสียงมนตร์ จะละ หมายถึง สั่น, เคลื่อนที่]

พระผู้มีวรรณะคล้ำ ในปักษ์ข้างแรมอันยาวนาน จงกำจัดให้สิ้น [12] โอ้ ผู้ในหัตถ์ถือดอกบัว [13]

จรไป จรไปเถิดพระนิศาจเรศวร[14] (ผู้เป็นเจ้าผู้ดำเนินไปในเวลาค่ำคืน) ข้าแต่ผู้ที่มีสายยัชโญปวีตเป็นงูดำ [15] [เสียงมนตร์ จะระ หมายถึง จร ย้าย เดิน ]



ธารณีมนตร์ ๑/๒
————————–


เอหฺเยหิ มหาวราหมุข ตฺริปุรทหเนศฺวร นารายณพโลปพลเวศธร ฯ เห นีลกณฺฐ เห มหากาล หลาหล วิษ นิรฺชิต โลกสฺย ราควิษวินาศน ทฺเวษวิษวินาศน โมหวิษวินาศน หุลุหุลุ มลฺล ฯ หุลุ หเร มหาปทฺมนาภฯ สร สร สิริ สิริ สุรุ สุรุ มุรุมุรุฯ พุธฺย พุธฺย โพธย โพธย ไมตฺริย นีลกณฺฐ ฯ เอหฺเยหิ วามสฺถิตสิํห มุข ฯ หส หส มุญฺจ มุญฺจ มหาฏฺฏหาสมฺ ฯ เอหฺเยหิ โภ มหาสิทฺธโยเคศฺวร ฯ ภณ ภณ วาจมฺฯ สาธย สาธย วิทฺยามฺ ฯ สฺมร สฺมร ตํ ภควนฺตํ โลกิตวิโลกิตํ โลเกศฺวรํ ตถาคตมฺ ฯ ททาหิ เม ทรฺศนกามสฺย ทรฺศนมฺ ฯ ปฺรหฺลาทย มนะ สฺวาหา ฯ

————-


[อ่านว่า]
————-

เอห-เยหิ มะหา-วะราหะ-มุขะ
ตริปุระ-ทะหะเน-ศวะระ
นารายะณะ-พะโลปะ-พะละ-เวศะ-ธะระ ฯ

เห นีละ-กัณฐะ เห มะหา-กาละ
หะลา-หะละ วิษะ นิร-ชิตะ โลกัสยะ
ราคะ-วิษะ-วินาศะนะ
ทเวษะ-วิษะ-วินาศะนะ
โมหะ-วิษะ-วินาศะนะ

หุลุ หุลุ มัลละ ฯ
หุลุ หะเร มะหา-ปัทมะ-นาภะ ฯ
สะระ สะระ สิริ สิริ สุรุ สุรุ มุรุ มุรุฯ
พุธยะ พุธยะ โพธะยะ โพธะยะ ไมตริยะ นีละ-กัณฐะ ฯ

เอห-เยหิ วามะ-สถิตะ-สิงหะ- มุขะ ฯ
หะสะ หะสะ มุญจะ มุญจะ มะหาฏ-ฏะหาสัม ฯ

เอห-เยหิ โภ มะหา-สิทธะ-โยเค-ศวะระ ฯ
ภะณะ ภะณะ วาจัมฯ
สาธะยะ-สาธะยะ วิทยาม ฯ
สมะระ- สมะระ ตัม ภะคะวันตัม โลกิตะ-วิโลกิตัม โลเกศ-วะรัม ตะถาคะตัม ฯ

ทะทาหิ เม ทรรศะนะ-กามัสยะ ทรรศะนัม ฯ ประหลาทะยะ มะนะห์ สวาหา ฯ


————-


[แปลว่า]
————-
มา ! มาเถิด พระผู้เป็นใหญ่ที่มีหน้าเป็นหมูป่า[16] พระผู้เป็นเจ้าผู้เผาทำลายตรีปุระ[17] ฯ พระผู้ประกอบด้วยกำลังอันทรงพลังด้วยการสำแดงกายเป็นพระนารายณ์ ฯ

โอ้ พระนีลกัณฐะ[18] โอ้ พระมหากาล[19] ผู้ควบคุม “หลาหละ” พิษแห่งโลก
ผู้ทำพิษแห่งราคะให้วินาศไป
ผู้ทำพิษแห่งโทสะให้วินาศไป
ผู้ทำพิษแห่งโมหะให้วินาศไป

หุลุ ! หุลุ ! แข็งแกร่ง !
[เสียงมนตร์ หุลุ เป็นเสียงเชียร์ หรือโห่ร้องด้วยความดีใจ ในวรรณกรรมสันสกฤต]

หุลุ ! โอ้พระหริ ผู้เป็นใหญ่ที่มีดอกบัวออกจากพระนาภี(สะดือ) [20]

สะระ ! สะระ ! สิริ ! สิริ ! สุรุ ! สุรุ ! มุรุ ! มุรุ ฯ
[เสียงมนตร์ สะระ จากธาตุ สฺฤ แปลว่า ทำให้เคลื่อนไป ผลักดัน ไหลลงมา ส่วน สิริ สุรุ เป็นการแผลงเสียงไม่ปกติ จากธาตุ สฺฤ เพื่อให้เป็นจังหวะ นัยว่าเป็นการอัญเชิญให้พระโพธิสัตว์ลงมา (Descend, come down, condescend) ส่วน มุรุ เป็นเสียงมนตร์ส่วนมากพบอยู่กับ สะระ สุรุ มุรุ ]

ตื่นรู้ ตื่นรู้ รู้แจ้ง รู้แจ้ง พระนีลกัณฐะผู้มีไมตรี
[เสียงมนตร์ พุธยะ หมายถึง ตื่น, รู้, เข้าใจ และ โพธะยะ หมายถึง รู้แจ้ง]

มา ! มาเถิด พระผู้มีหน้าเป็นสิงห์สถิตอยู่ด้านซ้าย [21] ฯ
หัวเราะ หัวเราะ ปลดปล่อย ปลดปล่อยด้วยเถิดพระอัฏฏหาสะผู้ยิ่งใหญ่ [22] (ผู้หัวเราะเสียงดัง) [เสียงมนตร์ หะสะ หมายถึง หัวเราะ ส่วน มุญจะ หมายถึง ปลดปล่อย ]

มา ! มาเถิด โอ้ข้าแต่พระสิทธโยเคศวร

กล่าว จงกล่าวถ้อยคำนี้ ฯ
[เสียงมนตร์ ภะณะ หมายถึง กล่าว, สวด, เปล่งเสียง]

ทำให้บรรลุ ทำให้บรรลุ ซึ่งวิทยา ! ฯ

ระลึก จงระลึกถึงพระองค์นั้น ถึงพระภควาน(ผู้มีโชค) [23] ถึงพระผู้ทรงเฝ้ามองและเพ่งดูอยู่ [24] ถึงพระโลเกศวร [25](พระผู้เป็นเจ้าแห่งโลก) ถึงพระตถาคตเจ้า [26] (ผู้ไปถึงแล้วอย่างนั้น)

จงโปรดประทานสิ่งข้าที่ปรารถนาที่จะเห็น ให้ข้าพเจ้าได้เห็น ฯ โปรดทำให้จิตใจของข้าพเจ้าให้เบิกบาน สวาหา [27] ฯ
————————–


ธารณีมนตร์ ๑/๓
————————–


สิทฺธาย สฺวาหาฯ มหาสิทฺธาย สฺวาหา ฯ สิทฺธโยเคศฺวราย สฺวาหา ฯ นีลกณฺฐาย สฺวาหา ฯ วราหมุขาย สฺวาหา ฯ มหานรสิํหมุขาย สฺวาหาฯ สิทฺธ วิทฺยาธราย สฺวาหา ฯ ปทฺมหสฺตาย สฺวาหา ฯ กฤษฺณสรฺปกฤตยชฺโญปวีตาย สฺวาหา ฯ มหาลกุฏ ธราย สฺวาหาฯ จกฺรายุธาย สฺวาหา ฯ ศํขศพฺท นิโพธนาย สฺวาหา ฯ วามสฺกนฺธเทศสฺถิต กฤษฺณาชินาย สฺวาหา ฯ วฺยาฆฺรจรฺม นิวสนาย สฺวาหา ฯ โลเกศฺวราย สฺวาหา ฯ สรฺวสิทฺเธศฺวราย สฺวาหา ฯ

————-


[อ่านว่า]
————-

สิทธายะ สวาหา ฯ
มะหา-สิทธายะ สวาหา ฯ
สิทธะ-โยเค-ศวะรายะ สวาหา ฯ
นีละ-กัณฐายะ สวาหา ฯ
วะราหะ-มุขายะ สวาหา ฯ
มะหา-นะระ-สิงหะ-มุขายะ สวาหาฯ
สิทธะ-วิทยา-ธะรายะ สวาหา ฯ

ปัทมะ-หัสตายะ สวาหา ฯ
กฤษณะ-สรรปะ-กฤตะ-ยัชโญปะวีตายะ สวาหา ฯ
มะหา-ละกุฏะ-ธะรายะ สวาหาฯ
จะกรา-ยุธายะ สวาหา ฯ
ศังขะ-ศัพทะ-นิโพธะนายะ สวาหา ฯ

วามะ-สกันธะ-เทศะ-สถิตะ- กฤษณา-ชินายะ สวาหา ฯ
วยาฆระ จรรมะ- นิวะ-สะนายะ สวาหา ฯ
โลเก-ศวะรายะ สวาหา ฯ
สรรวะ-สิทเธ-ศวะรายะ สวาหา ฯ


————-


[แปลว่า]
————-

แด่พระสิทธะ สวาหา ฯ (ผู้สำเร็จ)
แด่พระมหาสิทธะ สวาหา ฯ (ผู้สำเร็จผู้ยิ่งใหญ่)
แด่พระสิทธโยเคศวร สวาหา ฯ (ผู้เป็นใหญ่แห่งการสำเร็จโยคะ)
แด่พระนีลกัณฐะ สวาหา ฯ (ผู้มีคอสีน้ำเงินเข้ม)
แด่พระวราหมุขะ สวาหา ฯ (ผู้มีหน้าเป็นหมูป่า)
แด่พระมหานรสิงหมุขะ สวาหา ฯ (ผู้มีหน้าเป็นนรสิงห์ผู้ยิ่งใหญ่ )
พระสิทธวิทยาธร สวาหา ฯ (ผู้สำเร็จ ผู้ทรงไว้ซึ่งวิทยมนตร์)

แด่ผู้ในหัตถ์ถือดอกบัว สวาหา ฯ
แด่ผู้ที่มีสายยัชโญปวีตเป็นงูดำ สวาหา ฯ
แด่ผู้ถือไม้มหาลกุฏะ สวาหา ฯ
แด่ผู้มีอาวุธจักร สวาหา ฯ
แด่ผู้มีสังข์อันมีเสียงปลุกให้ตื่นรู้ สวาหา ฯ (สิ่งของต่างๆ ดูหมายเหตุ [28])

แด่ผู้ห่มหนังละมั่งดำ พาดเฉวียงบ่าทางซ้าย สวาหา ฯ [29]
แด่ผู้นุ่งหนังเสือ สวาหา ฯ [30]
แด่พระโลเกศวร สวาหา ฯ (ผู้เป็นใหญ่แห่งโลก )
แด่สรรพสิทเธศวร สวาหา ฯ (ผู้เป็นใหญ่แห่งความสำเร็จทั้งปวง)

ส่วนที่ ๔
บทนมัสการจบ

๔. นโม ภควเต อารฺยาวโลกิเตศฺวราย โพธิสตฺตฺวาย มหาสตฺตฺวาย มหาการุณิกาย ฯ สิธฺยนฺตุ เม มนฺตฺรปทานิ สฺวาหา ๚

————-
[อ่านว่า]
————-

๔. นะโม ภะคะวะเต อารยาวะโลกิเตศวะรายะ โพธิสัตตวายะ มะหาสัตตวายะ มะหาการุณิกายะ ฯ สิธยันตุ เม มันตระ – ปะทานิ สวาหา ๚

————-
[แปลว่า]
————-

ขอนอบน้อมแด่พระภควาน พระอารยอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ มหาสัตว์ ผู้ทรงมหากรุณา
ขอให้มนตร์ทั้งหลายแห่งข้าพเจ้าเหล่านี้จงสำเร็จเถิด สวาหา๚

————————–
หมายเหตุ :
ในธารณี มีกล่าวถึง นามต่าง ๆ ของพระวิษณุ และพระศิวะ ไม่ได้หมายความว่าเป็นบทบูชาพระอวโลกิเตศวร และพระผู้เป็นเจ้าของพราหมณ์อื่นๆ ด้วย


แต่ความหมายความหมายของธารณีนี้ หมายถึง พระอวโลกิเตศวรเพียงพระองค์เดียว โดยพระองค์ทรงเป็นคุณสมบัติของพระวิษณุ และพระศิวะ ที่แท้จริง โดยคุณสมบัติเหล่านั้นเป็นเพียงปรากฎการณ์จากพระอวโลกิเตศวร ตามที่ได้อธิบายไปในบทความก่อนหน้า

[1] หริ หมายถึง พระวิษณุ

[2] มเหศวร หมายถึง พระศิวะ

[3] โยเคศวร หมายถึง ผู้เป็นใหญ่แห่งโยคะ หมายถึง พระศิวะ และ พระกฤษณะ อวตารของพระวิษณุ

[4] “วิยนฺต” หรือ “วิยํต” เป็นรูปสันสกฤตผสม กล่าวว่า มาจากสันสกฤต คำว่า “วิยต” อันแปลว่าท้องฟ้า สวรรค์ แต่ ในมหากรุณาธารณีฉบับสั้นอื่นๆ ใช้ “วิชยต” แทน ซึ่งแปลว่า มีชัยชนะ

ส่วน “มหาวิยนฺต” คือ ผู้เป็นใหญ่แห่งฟ้าสวรรค์ ในมหากรุณาธารณี ฉบับสั้นอื่นๆ ใช้ “มหาวิชยต” หรือ “มหาวิชยนฺต” ผู้มีชัยยิ่งใหญ่ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวทั้งหมด พบในคัมภีร์พุทธฝ่ายสันสกฤต มักหมายถึง พระอินทร์ หรือ ท้าวสักกะ (ศักระ)

[5] ธร หมายถึง แบก, รองรับ ค้ำรองรับ สนันสนุน ในบางบริบทหมายถึง พระวิษณุ และในอวตาร “กูรมาวตาร” และ “พระกฤษณะ” ยังร่วมถึงพระศิวะด้วย ส่วน ธเรนฺเทฺรศฺวร (ธรา+อินฺทฺร+อีศฺวร) ในมหากรุณาธารณีฉบับสั้นอื่นๆ ใช้ ธราณิราช ธเรศฺวร (ผู้เป็นเจ้าแห่งแผ่นดิน) ซึ่งมักหมายถึง พระวิษณุ

[6] ตรงคำว่า ชิน แปลว่า ผู้มีชัย ในประโยคว่า อารฺยาวโลกิเตศฺวร ชิน ฯ กฤษฺณชฏามกุฏ ตรงนี้ดูเหมือนมีการเล่นคำในธารณี กับประโยคถัดไป คือ ชิน ฯ กฤษฺณ ซึ่งคล้ายกับการสลับคำว่า กฤษฺณาชิน (หนังละมั่งดำ)
ในการแปลมหากรุณาธารณีฉบบับนี้ ผู้รู้ชาวจีนบางครั้ง แปล ชินฯกฤษฺณ ว่า หนังละมั่งดำ (鹿皮衣深藍) แต่ กฤษฺณาชิน มาจาก กฤษฺณ+อชิน ไม่ใช่ ชิน ในการแปลบทความนี้ไม่แปลข้ามประโยค จึงใช้คำแปลว่า ผู้มีชัย

[7] การเกล้ามุ่นผมเป็นมวยสูงที่เรียกว่าทรงชฎามกุฎ เป็นสัญลักษณ์ของของมุนี หรือ ฤๅษี อย่างหนึ่ง และเป็นเทวลักษณะของเทพเจ้าและพระโพธิสัตว์องค์อื่นๆ อีกหลายองค์ เช่น พระอวโลกิเตศวร พระศิวะ

[8] มหาสิทธวิทยาธร มีความหมายแยกดังนี้ สิทธะ หรือ มหาสิทธะ หมายถึงผู้สำเร็จ ผู้บรรลุ แต่ในมนตรยาน มีความหมายอีกอย่างว่า ผู้บรรลุในตันตระ และ มนตร์ต่างได้อีกด้วย

ส่วน วิทยาธร ในมนตรยาน มีความหมายว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งวิทยา วิทยา ในมนตรยาน มักมีความหมายว่า มนตร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือที่เรียกว่า วิทยมนตร์

[9] มหาพละ คุณลักษณะและพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า และของพระศิวะในศิวปุราณะ ด้วย

[10] มหามัลละ เป็นพระนามหนึ่งของพระกฤษณะ จากการปราบนักมวยปล้ำชื่อจาณูระ ในมหาภารตะ

[11] มหาอจละ ในการออกมนตร์สันสกฤต คือ มหาจล มาจาก มหา+อจล หมายถึง ภูเขา (มั่นคง ไม่สั่นไหว) เป็นพระนามหนึ่งของของพระศิวะ ด้วย


[12] พระผู้มีวรรณะคล้ำ คือพระกฤษณะ อวตารพระวิษณุ ส่วน จงกำจัดให้สิ้น(นิรฺฆาตน) อาจสื่อถึงเหตุการณ์การสู้รบในสงครามกุรุเกษตรของพระกฤษณะ ในช่วงปักษ์ข้างแรม แต่นิรฺฆาตน ในความหมายทางพุทธศาสนา มักใช้กับการกำจัดตัณหา หรือ ความทะยานอยาก

[13] ผู้ในหัตถ์ถือดอกบัว หมายถึงพระวิษณุ

[14] นิศาจเรศวร เป็นพระนามหนึ่งของของพระศิวะในศิวปุราณะ

[15] สายยัชโญปวีตเป็นงูดำ สายยัชโญปวีตหรือสายธุรำ คือ เชือกหรือด้ายศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ สูงส่ง และศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องทรงพระศิวะด้วย

[16] หน้าหมูป่า เป็นพระพักต์ของพระวราหะ หรือ วราหาวตาร อวตารของพระวิษณุ ผู้ปราบหิรัณยากษะ

[17] พระตริปุรานตกะ เป็นพระนามหนึ่งของพระศิวะ หรือปางผู้ทำลายเมืองอสูรทั้งสาม

[18] พระนีลกัณฐะ เป็นพระนามหนึ่งของพระศิวะ คือผู้ดื่มพิษหลาหละ เพื่อปกป้องรักษาจักรวาลไว้ จนพระศอไหม้เป็นสีน้ำเงินเข้ม ในเหตุการณ์กวนเกษียรสมุทร

[19] พระมหากาล เป็นพระนามหนึ่งของพระศิวะ หรือปางผู้ทำลายล้างโลก

[20] พระวิษณุ ที่มีดอกบัวผุดขึ้นที่พระนาภี (สะดือ) เมื่อพระองค์บรรทม ก่อนที่จะสร้างจักรวาล ในตอนที่เรียกว่า วิษณุอนันตศายิน หรือ นารายณ์บรรทมสินธุ์

[21] หน้าสิงห์ เป็นพระพักต์ของพระนรสิงห์ หรือ นรสิงหาวตาร อวตารของพระวิษณุ ผู้ปราบหิรัณยกศิปุ

[22] พระอัฏฏหาสะ เป็นพระนามหนึ่งของพระศิวะ

[23] พระภควาน (ผู้มีโชค) ในวัฒนธรรมอินเดีย ใช้เรียก พระเป็นเจ้า หรือสิ่งที่ตนเองเคารพสูงสุด อย่าง พระศาสดาของศาสนา เช่น พระพุทธเจ้า พระมหาวีระ ไทยมักแปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า

[24] ผู้ทรงเฝ้ามองและเพ่งดูอยู่ เป็นคุณลักษณะของพระอวโลกิเตศวร

[25] โลเกศวร เป็นอีกพระนามที่นิยมอีกพระนามของพระอวโลกิเตศวร

[26] ตถาคต (ผู้ไปถึงแล้วอย่างนั้น) ใช้เรียกพระพุทธเจ้า

[27] สวาหา มนตร์ คำท้ายประโยค อาจมีความหมายถึง กล่าวดีแล้ว, ขอจงเป็นเช่นนั้น, ขอถวายความเคารพบูชา หรือ เป็นการขอพร

[28] สิ่งของทั้ง ๔ คือ ดอกบัว คทา จักร สังข์ เป็นสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของพระวิษณุ ในที่นี้ มีการใช้ ไม้มหาลกุฏะ แทน คทา โดยอาวุธทั้งสองมีลักษณะคล้ายกัน คือเป็นลักษณะไม้กระบอง ซึ่งไม้มหาลกุฏะ เป็นอาวุธประจำของพระลกุลีศะ อวตารของพระศิวะ

[29] กฤษฺณาชิน (กฤษฺณ+อชิน) แปลว่า หนังสัตว์สีดำ โดยมากมักหมายถึง หนังละมั่งดำ อันเป็นเครื่องนุ่งห่มของมุนี หรือ ฤๅษี อย่างหนึ่ง และเป็นเทวลักษณะของเทพเจ้าและพระโพธิสัตว์องค์อื่นๆ อีกหลายองค์ เช่น พระอวโลกิเตศวร พระศิวะ

[30] ผู้นุ่งหนังเสือ หมายถึง พระศิวะ
————–
อักขระ ถ้อยความ หรือข้อมูลส่วนใดมีข้อผิดพลาดโปรดผู้รู้จงอนุเคราะห์ชี้แนะ
————–

Loading

Be the first to comment on "มหากรุณาธารณี ฉบับพระวัชรโพธิ พร้อมคำอ่านและคำแปล"

Leave a comment